สมาน กาญจนะผลิน “สังคีตประยุกต์” พัฒนาการของเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทย


ครูสมาน กาญจนะผลิน (พ.ศ.๒๔๖๔-๒๕๓๘) สืบเชื้อสายนักดนตรีไทยจากบิดาคือหมื่นคนธรรพ์ประสิทธิสาร (แตะ กาญจนะผลิน) ซึ่งเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทย และมีพี่ชายเป็นนักดนตรีไทยมีชื่อเสียงคือครูพริ้ง กาญจนะผลิน ครูสมานเรียนดนตรีจากครูที่มีชื่อเสียงเช่น ครูมนตรี ตราโมท พระเจนดุริยางค์ และครูพริ้ง กาญจนะผลินซึ่งเป็นพี่ชาย ครูสมานเคยรับราชการกรมศิลปากร ตั้งวงดนตรีกาญจนศิลป์ เป็นนักดนตรีวงดนตรีประสานมิตร เป็นหัวหน้าวงดนตรีธนาคารออมสิน และหัวหน้าวงดนตรีโรงงานยาสูบ มีความสามารถด้านการแต่งทำนองเพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน จึงมีผลงานการแต่งทำนองเพลงไทยสากลประเภทลูกกรุงไว้ประมาณ ๒,๐๐๐ เพลง เคยได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ๙ รางวัล ได้รับเหรียญพระปรมาภิไธย ภปร. รางวัลเสาอากาศทองคำ รางวัลสังข์เงิน และรางวัลอื่นๆ อีกเป็นอันมาก จนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๑ เพลงที่ครูสมานแต่งทำนองแล้วโด่งดังมากได้แก่เพลงสดุดีมหาราชา หยาดเพชร เรือนแพ ท่าฉลอม แสนแสบ ยามชัง ทุ่งรวงทอง รักคุณเข้าแล้ว เป็นต้น

ในบรรดาเพลงที่ครูสมานแต่งทำนอง มีเพลงที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเป็นจำนวนมากทั้งมากเพลงและมากทำนอง เพลงแรกที่ครูสมานแต่งโดยดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยได้แก่เพลงกลิ่นเนื้อนาง ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงดาวทอง (โศกพม่า) ๒ ชั้น สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ชาญ เย็นแข เป็นผู้ขับร้อง (ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://www.janicha.net/forum/index.php?topic=197.0)  แต่เพลงนี้ไม่โด่งดังเท่ากับเพลงทำนองไทยที่แต่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อให้เป็นเพลงประกอบละครเวทีเรื่องนางไพร ของสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เพลงนี้คือเพลงเดียวดาย ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงห่วงอาลัย (หรือเพลงแขกปัตตานี หรือเพลงคิดถึง) ๒ ชั้น ไสล ไกรเลิศ เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพลงนี้ยังคงเป็นที่รู้จักกันอยู่จนถึงปัจจุบัน (ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=O1IyN31Sywo)  

ครูสมานได้ริเริ่มการบรรเลงเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยในรูปแบบใหม่ที่ให้ดนตรีสากลบรรเลงสลับกับดนตรีไทย แทนการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีสากลล้วน ๆ  ซึ่งให้ลีลาอารมณ์ที่แปลกแตกต่างกันออกไปจากรูปแบบเดิม สร้างบรรยากาศที่น่าสนใจน่าชมน่าฟังโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบดนตรีไทย วิธีการแบบนี้ สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า “สังคีตประยุกต์” โดยเพลงแรกที่ครูสมาน กาญจนะผลินแต่งทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานแบบสังคีตประยุกต์คือเพลง “วิหคเหินลม” เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๙๖ ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวดอย (หรือลาวลอดค่าย) สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งเนื้อร้อง ขับร้องโดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี (ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=2OcURNJ87Ug แต่บันทึกเสียงใหม่เป็นแบบสากลล้วน ๆ) ต่อมายังได้เรียบเรียงเสียงประสานแบบสังคีตประยุกต์สำหรับเพลงซึ่งมิได้ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยอีกด้วย

สังคีตประยุกต์มีความแตกต่างกับสังคีตสัมพันธ์ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์ตรงที่สังคีตประยุกต์ใช้ดนตรีไทยบรรเลงสลับกับดนตรีสากลแบบเล่นกันคนละที แต่สังคีตสัมพันธ์ให้ดนตรีไทยสากลและดนตรีไทยบรรเลงไปด้วยกัน ความยากลำบากของการบรรเลงทั้งแบบสังคีตประยุกต์และสังคีตสัมพันธ์คือต้องปรับบันไดเสียงของดนตรีทั้งสองประเภทให้ลงอยู่ในระดับเสียงที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดเช่นให้ดนตรีไทยเล่นทางเพียงออล่าง (หรือทางในลด) ให้ดนตรีสากลเล่นคีย์เอฟ ทั้งนี้เพราะเมื่อเทียบเคียงกันแล้วระดับเสียงดนตรีสากลสูงกว่าระดับเสียงดนตรีไทยประมาณ ๑ เสียง หรืออีกทางหนึ่งต้องตั้งเสียงเครื่องดนตรีไทยให้สูงเท่าดนตรีสากล แต่ถึงอย่างไรเนื่องจากระบบเสียงของดนตรีไทยกับดนตรีสากลไม่เหมือนกันกล่าวคือ ดนตรีไทยเป็นระบบ ๗ เสียงเต็ม ดนตรีสากลเป็นระบบ ๕ เสียงเต็ม ๒ เสียงครึ่ง การบรรเลงด้วยกันจึงยังไม่แนบสนิทอยู่ดี ในปัจจุบันจึงมีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยระบบเสียงสากลขึ้นใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สังคีตประยุกต์เป็นการริเริ่มที่แปลกใหม่ แต่สังคีตสัมพันธ์น่าจะมีแบบแผนการบรรเลงร่วมที่เข้าใจว่ามีมาก่อนแล้ว กล่าวคือเมื่อดนตรีสากลเข้ามาในประเทศไทย ก็มีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาบรรเลงเพลงไทยแทนเครื่องดนตรีไทย และมีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลบางชิ้น (เช่น ไวโอลิน เปียโน) มาบรรเลงเพลงไทยร่วมกับเครื่องดนตรีไทย จึงเกิดวงดนตรีไทยแบบผสมดนตรีสากลเพื่อบรรเลงเพลงไทยเรียกชื่อว่าวงผสม เช่น วงเครื่องสายผสมเปียโน วงเครื่องสายผสมไวโอลิน ขึ้นมาก่อน สังคีตสัมพันธ์เป็นการบรรเลงแบบผสมเหมือนกัน แต่แทนที่จะใช้วงดนตรีไทยเป็นหลักก็ใช้วงดนตรีสากลเป็นหลักแล้วผสมเครื่องดนตรีไทยเข้ามา เพื่อให้บรรเลงเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยโดยเฉพาะ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ครูสมานได้ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้แทนศิลปินไทย นำโดยสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เพื่อไปแสดงที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเอาเพลงสังคีตประยุกต์ไปบรรเลงและขับร้อง ๓ เพลง คือเพลงนางอาย ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเขมรโพธิสัตว์ชั้นเดียว (ฟังได้ที่ http://www.4shared.com/audio/IsYeAwfG/05__-__.htm แบบสากลล้วน) เพลงคำคน ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงกลันตันรันทด ๒ ชั้น (ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://www.4shared.com/audio/BtGR9JJ-/_-_.htm แบบสากลล้วน) และเพลงชีวิตเมื่อคิดไป ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง (ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://www.4shared.com/audio/lY4gK5_u/_-__.htm แบบสังคีตประยุกต์) ความไพเราะเพราะพริ้งของการบรรเลงแบบสังคีตประยุกต์เป็นที่ประทับใจและได้รับความนิยมจากประชาชนชาวจีนอย่างมากมาย ครูบุญยงค์ เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง-ดนตรีไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๑) ซึ่งเป็นผู้ตีระนาดเอก ได้รับคำชมจากประธานเหมา เจ๋อ ตุง และนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ถึงกับเอ่ยปากชมว่า “เสียงระนาดที่เล่นเหมือนกับไข่มุกหล่นบนจานหยก” ครูบุญยงค์ เกตุคงจึงได้สมญาว่า “ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก” ตั้งแต่บัดนั้น (ฟังลีลาการเดี่ยวระนาดเอกแบบไข่มุกหล่นบนจานหยกของครุบุญยงค์ได้ที่http://www.4shared.com/audio/RvZshDHn/___.html#Scene_1)

(หมายเหตุ สังคีตประยุกต์และสังคีตสัมพันธ์เป็นเทคนิคทางดนตรีขั้นสูง ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจระดับพื้นฐาน จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เชี่ยวชาญทางดนตรีช่วยอธิบายขยายความเพื่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้นสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่นักดนตรีแต่เป็นผู้บริโภคดนตรีเช่นเดียวกับผม ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าครับ)

ครูสมานถือเป็นอัจฉริยะด้านการเรียบเรียงทำนองเพลงไทยสากลประเภทเพลงลูกกรุง ที่มีผลงานการแต่งเพลงเป็นจำนวนมากและเพลงที่ท่านแต่งจำนวนมากยังคงเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน บางเพลงคนร้องได้ทั่วประเทศ เช่นเพลงสดุดีมหาราชา สำหรับการดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิมไปเป็นเพลงไทยสากล ก็มีเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทย ซึ่งเป็นผลงานของครูสมาน กาญจนะผลินเป็นจำนวนมาก และเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเพลงคู่ เช่น เพลงรัก เพลงจูบเย้ยจันทร์ เพลงบทเรียนก่อนวิวาห์ เพลงพ่อแง่แม่งอน เพลงนกเขาคูรัก เป็นต้น เพลงไทยสากลทำนองไทยที่เป็นผลงานครูสมานบรรเลงแบบสังคีตประยุกต์เท่าที่ยังพอมีหลักฐานปรากฏและรวบรวมได้มีดังนี้

๑. เพลงนกเขาคูรัก แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงนกเขาขะแมร์ ๓ ชั้น คำร้องโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

๒. เพลงสัญญารัก ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงยะวา (บางส่วน) คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

๓. เพลงง้อรัก ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวเฉียง ๒ ชั้น คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

๔. เพลงจำใจจำจาก ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวเจริญศรี ๒ ชั้น คำร้องโดยเกษม ชื่นประดิษฐ์

๕. เพลงจำพราก ดัดแปลงทำนองเพลงพม่าแปลง ๒ ชั้น คำร้องโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

๖. เพลงจำปาทองเทศ ดัดแปลงทำนองเพลงจำปาทองเทศ ๒ ชั้น ชาญ เย็นแข ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/6MMoHZeY/_-__.htm

นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่น ๆ อีกเช่น เพลงไม่แน่ใจ ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเขมรพายเรือ ๒ ชั้น เพลงรักเจ้า ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงแขกต่อยหม้อ ๓ ชั้น เพลงแอบรัก ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงช้างประสานงา ๒ ชั้น เพลงฉันคนเศร้า ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงบังใบ ๒ ชั้น เพลงกรุ่นปรางนวล ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า ๒ ชั้น เพลงแสงธรรมริมธาร ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลมพัดชายเขา ๒ ชั้น เพลงขอรักครึ่งเดียว ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวเจ้าซู ๒ ชั้น เพลงอำลารัก ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวแพนน้อย ๒ ชั้น เพลงคอยรักคืน ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวสมเด็จ ๒ ชั้น และเพลงคอยคนดี ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงสารถีแปลง คำร้องโดยวรพรรณ นิทัศน์ ละอองศรี ขับร้อง เพลงชุดนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คงต้องหาฟังจากเพลงต้นฉบับซึ่งไม่แน่ใจว่ายังมีจำหน่ายอยู่หรือไม่

การเรียบเรียงเสียงประสานแบบสังคีตประยุกต์ของครูสมานยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน เพลงที่เรียบเรียงเสียงประสานแบบสังคีตประยุกต์หรือใกล้เคียงแบบสังคีตประยุกต์ ตัวอย่างเช่น

  • เพลงน้ำตาตกใน ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงนาคบริพัตร ชวนชัย ฉิมพะวงษ์ แต่ง หนู มิเตอร์ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=JixTKx4P4E4
  • เพลงอดีตรัก ดัดแปลงทำนองเพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/GBQYOabh/_-__.htm
  • เพลงเชือดกระแต ดัดแปลงทำนองเพลงกระแตเล็ก คำร้องโดย พยงค์ มุกดา รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=YDoNSyyoILQ
  • เพลงไอ้หนุ่มเครื่องไฟ ดัดแปลงทำนองเพลงกระต่ายเต้น ชลธี ธารทอง แต่ง เสรี รุ่งสว่าง ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/jXUy0AkS/04-_-.htm http://www.youtube.com/watch?v=icCJprVZyTk
  • เพลงรอรักพี่ ดัดแปลงทำนองเพลงมอญส้มปิ่น ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง น้ำค้าง เวียงพิงค์ ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/yC78W07k/__-_.htm
  • เพลงหลานสาวเจ้าแม่กวนอิม ดัดแปลงทำนองเพลงจีนเจ๋ไจ๋ยอ ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/7qsMtewa/_-__.htm
  • เพลงอยู่เพื่อลูก ดัดแปลงทำนองเพลงธรณีกันแสง ยังไม่มีข้อมูลผุ้แต่ง ลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์ ขับร้อง http://www.4shared.com/audio/EKor0f2x/_-__.htm

วิพล นาคพันธ์

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

อ่านบันทึกข่าวสารของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

 

หมายเลขบันทึก: 425368เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณพิมล นาคพันธิ์มากครับที่ทำให้ผมได้รับรู้ในขอ้มูลของเพลง

ทั้งลูกทุ่งลูกกรุงในเรื่องของทำนองเพลง มีที่มาอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท