๙. สุขภาวะในองค์รวมแห่งชีวิต


“...ลูกของใครหนอ หากเป็นลูกสู ก็ให้มารับเอาไปเถิด หลังจากนี้แล้ว ก็เป็นลูกหลานของกู...”

แม่ถือกำเนิดหลังเกิดกบฏบวรเดช ๒๔๗๖ หนึ่งปี เป็นยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขุนศึกที่ขึ้นเป็นจอมพลและเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนานที่สุด อีกทั้งจัดระเบียบและสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทยอย่างมากมายนับแต่เรื่องวัฒนธรรมไปจนถึงสถาบันและโครงสร้างเชิงอำนาจระดับรัฐ

มีการบังคับจริงจังให้คนเลิกกินหมาก กล่าวทักทายกันว่าสวัสดีและอำลากันว่าราตรีสวัสดิ์ ทำข้าวผัดและผัดไทยกินพร้อมกับออกกฏหมายป้ายบริษัทห้างร้านของชาวไทยจีนให้มีชื่อภาษาไทยอยู่ข้างบนและใหญ่กว่าชื่อภาษาจีนและภาษาต่างประเทศ ไปจนถึงใช้กำลังทหารยึดวังและทรัพย์สินของเจ้าหลายพระองค์

แต่ยุคนั้นแถวบ้านเกิดเมืองนอนของแม่ที่บ้านห้วยถั่ว อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพื้นที่ในเขตอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ดังปัจจุบันนั้น ยังคงเป็นป่าและที่รกร้างห่างไกลความเจริญ แทบจะไม่ค่อยมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกโดยเฉพาะราชการเลย เพราะอยู่ไกลไปหมดไม่ว่าจะไปทางตะพานหินจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ หรืออำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

แม่ รวมทั้งคนรุ่นแม่และก่อนหน้านั้น จึงมีไม่น้อยที่ไม่รู้วันเดือนปีเกิดของตนเองเลย เพราะการตั้งชื่อ แจ้งเกิด ออกสูติบัตร และแจ้งการตาย เพิ่งจะเริ่มทำอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงหลังปี ๒๕๐๐ มาแล้ว ก่อนหน้านั้นชาวบ้านใช้จำเอาแล้วก็ให้ผู้ใหญ่หรือคุณครูไปแจ้งอำเภอให้ ซึ่งบางทีก็รวมกัน ๔-๕ ปีจึงจะไปทำให้กันสักครั้งหนึ่ง ซึ่งก็จำสลับกันบ้าง ลืมบ้าง จำไม่ได้เลยช่วยกันคิดขึ้นเองเสียใหม่กับข้าราชการบนอำเภอนั่นเลยบ้าง

มองในทางพัฒนาสังคมและประชากรศึกษาแล้ว ก็ต้องกล่าวว่าแม่ได้ผ่านยุคการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและยุคการพัฒนาทางวัฒนธรรมมาหลายช่วง นับแต่ยุคส่งเสริมให้คนมีลูกมากเพื่อสร้างความเป็นมหาอำนาจตามแนวคิดชาตินิยมของผู้นำสมัยนั้น สู่ยุคการวางนโยบายและบูรณาการแผนพัฒนาทางประชากรของประเทศไทยในปี ๒๕๑๒-๒๕๑๔ เข้าสู่แนวนโยบายและแผนการพัฒนาสาขาต่างๆของประเทศ

กระทั่งคลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดำเนินไปตรงกันข้ามคือจากการส่งเสริมคนให้มีลูกมาก ก็กลายเป็นลดขนาดครอบครัวเหลือมีลูกครอบครัวละ ๑-๒ คน และในภาพรวมก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุประชากรไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย ลดสัดส่วนพลเมืองเด็กและคนวัยหนุ่มสาวลงไปพร้อมไปกับมีกลุ่มประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ลูกของแม่ทั้งหมดมีครอบครัวและลูกหลานรวมกันแล้วไม่เท่ากับแม่หนึ่งคนมีลูก ๗ คนเลย จึงนับว่าสร้างพลเมืองและทำสิ่งต่างๆให้สังคมได้ไม่ถึงเสี้ยวของแม่

 

                          

 

เวลาแม่คลอดน้องๆออกมาเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเป็นวิถีสุขภาพแบบชาวบ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่คลอดลูก ๗ คนที่บ้าน หมอตำแยสำหรับทุกคนก็คือยาย ยายหนู เกษาแสง แม่ของแม่เอง ในหมู่บ้านและชุมชนแถวบ้านเกิดผมนั้น มีสตรีที่สามารถทำคลอดและเป็นหมอตำแยได้ ๒ คน คือ แม่ใหญ่แดงบ้านใต้ และยายหนู

แม่ใหญ่แดงก็มาช่วยและอยู่ดูแลแม่ตอนคลอดลูก ๗ คนในช่วง ๑๐ ปี แต่ยายหนูเป็นคนทำคลอดให้พวกเราทุกคน ก่อนแม่คลอด พ่อและพวกที่เป็นรุ่นพี่ๆของกันและกันก็จะหาฟืนอยู่ไฟและเตรียมสิ่งต่างๆเพื่อให้แม่คลอดและรับสมาชิกใหม่มาสู่บ้านของเรา เป็นห้วงเวลาที่ให้ประสบการณ์ชีวิตอันแสนประหลาด ทำงานกันไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพราะใจไม่หันเหไปสู่สิ่งอื่นเลยนอกจากตื่นเต้น อยากได้น้อง และกลัวแทนแม่

หลังคลอด ตัดสายสะดือด้วยผิวไม้รวกที่ยายเตรียม และอาบน้ำล้างคราบไขออกจากตัวเด็กแล้ว ก็ให้นอนในกระด้ง แม่จะนอนอยู่ไฟและใช้ชีวิตภายใต้การดูแลของยาย พ่อ แม่ใหญ่แดง และทุกคน อย่างใกล้ชิด แม่ต้องไม่อาบน้ำและนอนบนซีกไม้ซึ่งพ่อวางแผ่นสังกะสีก่อฟืนไฟให้ความร้อนเพื่อการอยู่ไฟของแม่ หากจะเช็ดเนื้อตัวก็ต้องต้มสมุนไพรในหม้อดินเป็นพวกไพล ข่า ใบมะขาม ให้แม่ดื่มและเช็ดตัว ข้างๆก็เจาะพื้นบ้านด้วยสังกะสีให้แม่ถ่ายหนักเบาอยู่บริเวณใกล้ๆนั้น

ใต้ถุนบ้านก็ขุดหลุม ทำเป็นส้วมหลุมชั่วคราวให้แม่ ลึกพอที่พวกเราจะเอาขี้เถ้าและดินกลบให้แม่ทุกครั้งโดยไม่เต็มหลุมกระทั่งแม่หยุดอยู่ไฟ รกของแต่ละคน พ่อจะนำไปฝังในกอไผ่หรือไม่อย่างนั้นก็กองไว้ตรงที่ก่อไฟให้แม่อยู่ไฟ ซึ่งก็จะแห้งและหายไปเอง

แถวบ้านผมชอบมีเรื่องผีกระสือว่าชอบกินไส้ รก และกินเด็ก ดังนั้น กลางคืนระหว่างแม่อยู่ไฟ พี่ชายผม ผม และบางครั้งก็น้องๆและเพื่อนๆจากบ้านญาติพี่น้อง ก็มักจะซุ่มแอบดูเข้าไปในความมืดนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณใต้ถุนที่ทำเป็นหลุมรองรับการขับถ่ายของเสียจากร่างกายแม่ ทำเป็นเฝ้ายามและเตรียมลุยกับผีกระสือ ซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับว่าเป็นกิจกรรมเล่นของเด็กๆ ทว่า ในตอนนั้น มันเป็นความจริงจังเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่และร่วมดูแลทุกข์สุขของแม่ร่วมไปกับผู้ใหญ่ซึ่งก็นั่งคุยกันไม่หลับไม่นอน สลับกับเสียงเด็กร้องอุแว๊-อุแว๊

ความรักและเห่อน้องมีมากขนาดที่แม้น้องจะขี้ใส่เวลาอุ้มหรือฉี่พุ่งใส่หน้า ก็นั่งหัวเราะและยังอยากเข้าไปห้อมล้อม อยากแย่งกันจับและอุ้มน้องแรกเกิดกัน

กิจกรรมสุขภาพแบบพึ่งตนเองในวิถีชาวบ้านและการทำเพื่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณเมื่อแรกเกิดอีกอย่างหนึ่งคือการต้อนรับจิตวิญญาณและผูกแขนรับชีวิตใหม่เข้ามาเป็นลูกหลานของแม่และทุกคน

หลังการเกิด ๓ วัน พ่อก็จะเตรียมอู่มาแขวน แล้วก็เอากล้วยน้ำว้าสุก ๑ ลูก ข้าวสวยปั้นเล็กๆ ๑ ก้อนวางลงในอู่เพื่อมอบเป็นของต้อนรับลูก จากนั้น ยายหรือญาติคนหนึ่งก็จะยกกระด้งขึ้นหมุนช้าๆ พร้อมกับร้องว่า ลูกของใครหนอ หากเป็นลูกสู ก็ให้มารับเอาไปเถิด หลังจากนี้แล้ว ก็เป็นลูกหลานของกู ร้องซ้ำๆและวนกระด้ง ๓ รอบแล้วก็วางลง จากนั้น ก็จะอุ้มลูกแม่ไปวางลงในอู่ให้พ่อและญาติๆเริ่มไกวเปล

แม่อยู่ไฟหลังการคลอดลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยแล้วก็จะอาทิตย์กว่าและไม่ถึง ๒ สัปดาห์หรือ ๑๔ วัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีเรื่องการห่วงการทำนาไร่ ดูแลงานบ้าน และดูแลลูกๆเท่านั้น ที่จะทำให้แม่ต้องรีบแข็งแรงและเลิกอยู่ไฟ ช่วงที่แม่อยู่ไฟ อาหารการกินทุกอย่างไม่อร่อยเลย แม่จะกินข้าวต้มกับเกลือ อย่างมากก็ปลาเค็ม และผมกับลูกๆทุกคนของแม่ก็ยินดีที่จะกินทุกอย่างเหมือนแม่หรือตามแต่จะมีให้กิน เพราะเป็นช่วงห่วงแม่และเห่อน้อง ไม่ค่อยหิวข้าวและเล่นอย่างอื่นก็ไม่ค่อยสนุก.

หมายเลขบันทึก: 291923เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดี ครับ อาจารย์

ผมเข้ามาชื่นชมงานเขียนของอาจารย์ ครับ

สุขภาวะในองค์รวมแห่งชีวิต

                       ...ศิษย์เก่า ม.ที่อาจารย์สอน คนหนึ่งครับ

(เสียดาย ที่ไม่เคยได้ฟัง lecture แต่ก็ภูมิใจครับ ที่มีโอกาสพบตัวตนของอาจารย์ ที่นี่)

  • เมื่อสักครู่ได้แวะเข้าไปอ่านงานเขียนของคุณแสงแห่งความดีด้วยแล้วครับ
  • เขียนดีมากจริงๆเลยครับ การได้เห็นความคิด จิตใจ และสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและสังคมในภูมิภาคอย่างนี้ สำหรับภาคใต้แล้ว หลังจากงานชุดเหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์แล้ว ผมหาอ่านไม่ค่อยได้เลย ได้อ่านแต่งานวิจัย หนังสือ และบทความวิชาการ 
  • งานที่สื่อออกมาจากความเป็นชีวิตจิตใจไม่ค่อยได้อ่านเลย พออ่านของคุณแสงแห่งความดีแล้วเลยชอบมากๆครับ
  • ทรรศนะการมอง ข้อมูล การเชื่อมโยงให้ได้การเรียนรู้สังคม และวิธีการนำเสนอ ดีมากจริงๆครับ จะตามอ่านบ่อยๆเพื่อเป็นเรื่องราวและข้อมูลท้องถิ่นนะครับ
  • เมื่อสักครู่ไปพิมพ์คุยในบันทึกของคุณแสงแห่งความดีแล้วครับ พอโพสต์ก็กลับแฮ๊งค์และดับไปเลย ไม่รู้ขึ้นหรือเปล่า
  • ดีใจและขอบคุณที่แวะมาเยือนครับ
  • อาจารย์ครับ

    เห็นงานเขียนนี้แล้วทำให้นึกอยากเขียนการคลอดลูกของชาวปกาเกอะญอเลยครับ

    คิดว่าลงหมู่บ้านคราวหน้าจะเก็บข้อมูลเรื่องราวนี้มาฝากชาว gotoknow ครับ

    • เห็นนามปากกาว่า หนานเกียรติ แล้วทำให้ยิ้มครับ ชอบครับ เป็นชาวบ้านๆดี
    • อยากไปเยือนชุมชนชาวปกาเกอะญอให้ได้สักวัน หาข้อมูลมาศึกษาบ้างแล้วครับ
    • ขอส่งเสริมแนวคิดที่จะใช้วิธีวาดรูปเมื่อลงชุมชน(ปกาเกอะญอ) ไม่ว่าจะบันทึกการคลอดลูก หรือเรื่องอื่นๆครับ
    • การวาดรูป ถ่ายรูป ใช้สัมผัสตรงอย่างไม่ต้องมีกรอบไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมานั่งทบทวนและวาดรูปกับชาวบ้าน จะทำให้ชาวบ้านเกิดการคิดอย่างเป็นระบบขึ้นจากฐานคติเขาเอง และไม่เคอะเขินที่จะทำงานความรู้-เป็นนักวิจัยได้ ช่วยแก้ข้อจำกัดในกรณีที่เครื่องมือและวิธีการที่ต้องใช้ตัวหนังสือมาก ทำให้ชาวบ้านแสดงศักยภาพที่เป็นตัของตัวเองไม่ค่อยได้ครับ
    • พัฒนาบทบาทของวิธีการทางศิลปะ ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องความสวยงามและสุนทรียภาพแล้ว ก็จะเป็นการเพิ่มความหลากหลาย-บูรณาการทางการวิจัย สร้างความรู้ และเป็นวิธีเสริมพลังศักยภาพผู้คนให้ออกมาจากข้างในได้อีกด้วยครับ
    • อย่างกรณีนี้ จะเห็นบางเรื่องที่สำคัญสำหรับการพัฒนาระเบียบวิธีและเทคนิคการวิจัยแบบบูรณาการไปด้วยครับ
    • หากข้อมูลและการทำการวิเคระาห์ไม่มาก ไม่แน่นพอ ก็ยากจะเขียนนำเสนอเป็นภาพได้ การนำเสนอออกมาเป็นรูปวาด ต้องทำงานข้อมูล การทำงานการคิด และการสรุปจุดยินของนักวิจัย มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยตารางมากพอสมควรครับ
    • ขณะเดียวกัน การเก็บบันทึกเป็นรูปวาดแล้วแสดงผลออกมาอย่างที่มีข้อมูล ในบางเรื่อง การทำโดยวิธีอื่นก็แทบจะทำได้ไม่ดีเท่าเลย อย่างรูปการคลอดที่เห็นนี่แหละครับ หากเราพรรณาโดยวิธีอื่นก็คงต้องว่ากันยาวเหยียด เห็นรายละเอียดมากมาย แต่นึกภาพไม่ออก พอวาดออกมาอย่างนี้ก็ร้องอ๋อกันได้เลย
    • ขอบคุณที่มาเยือนครับผม

    อาจารย์ครับ

    ผมนี่ชาวบ้านแท้ ๆ เลยครับ ได้เรียนหนังสือเพราะบวชเรียน

    หากอาจารย์จะลงไปเยี่ยมชุมชนปกาเกอะญอ ถ้าผมจะมีประโยชน์บ้าง (แนะนำ/พาไป ฯลฯ) ก็ยินดีนะครับ

    ล่าสุดเมื่อสักสองเดือนที่แล้วผมพาทีมวิจัยของ อ.สุกรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ลงพื้นที่หมู่บ้านลาหู่และปกาเกอะญอที่ตาก หลายแห่ง เพื่อเก็บข้อมูลดนตรีชาติพันธ์ สนุกมากครับ ได้ไปกับนักวิจัย/นักวิชาการ ทำให้เรามีแง่มุมไปมองปรากฏการณ์เดิม ๆ ที่เคยเห็น

    ผมไม่ค่อยจะมีดีทางศิลปะเท่าไรครับ แต่สนใจแนวคิดที่อาจารย์แนะนำ ไม่รู้จะฝึกขึ้นหรือเปล่า

    ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำครับ

    ตื่นเต้นมาก ๆ กับคำแนะนำของอาจารย์ครับ

    ชักอยากจะฝึกจริง ๆ ซะแล้ว

    หมอตำแยที่ทำคลอดครูอ้อยเล็กชื่อหมอพิม..เป็นหมอตำแยดังอยู่โพรงมะเดื่อ หมอพิมนี้ทำคลอดให้แม่คลอดน้องอีก 2คนต่อมา ส่วนคนสุดท้องแม่ไปคลอดที่โรงพยาบาลคามิลโล บ้านโป่ง ราชบุรี...

    แม่เล่าให้ครูอ้อยเล็กฟังไว้เป็นความรู้ว่าเมื่อคลอดอ้อยออกมาอ้อยนอนเงียบอยู่สามวันเป็นปกติของทารกหลังจากสามวันไปแล้วอ้อยเริ่มร้องไห้ ร้องทั้งวันทั้งคืนจนสะดือโป่ง แม่ก็คิดว่าสะดือโป่งเพราะว่าร้องมาก 7 วันแล้วที่ร้องติดต่อกันจนแม่เครียดลูกคนแรกทำไรไม่ค่อยถูก จนแม่สังเกตเห็นหนองที่สะดือเริ่มซึมออกมา แม่จึงรู้ว่าเหตุที่ลูกสาวร้องไห้ไม่เลิกเพราะสะดืออักเสบกลัดหนองนี่เอง..แม่ตัดสินใจเป็นตายเท่ากันแม่ว่าอย่างนั้นนะคะ..แม่ให้พ่อเหลาไม้ไผ่ให้แหลมที่สุดนำไปต้มน้ำฆ่าเชื้อ..มาสะกิด แม่บอกว่าหนองทะลักอออกมาอย่างท่วมท้นแม่หาไรไม่เจอเลยหยิบชามตราไก่ที่จะบดข้าวให้ลูกกินมาลองใส่ไว้เพื่อดูปริมาณของหนอง..แม่บอกว่ามันมากเป็นชามตราไก่เลยลูก..สยองแต่เด็กเลยเรา..ฮา..หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแม่บอกว่าอ้อยนอนเงียบเลยความสงบสุขจึงบังเกิดมีแด่แม่...น้อง 2 คนนั้นแม่จึงระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางสะดือค่ะ..อโหสะดือ..งิๆๆๆ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • หลายเรื่องหลายราวดูเหมือนลืมเลือนไปแล้ว
    • แต่พอเห็นภาพหรือได้อ่านเรื่องนั้น ๆ ก็ทำให้จดจำเรื่องใกล้ ๆ ตัวได้ผุดขึ้นมาอีกครา
    • คิดว่าแม่อาจารย์ได้อ่านงานชุดนี้คงจะมีความสุขใจอย่างมาก
    • หลุมส้วมใต้ถุนบ้านชั่วคราวช่วงอยู่ไฟนี้ ในหนองบัวจะนิยมนอนอยู่ไฟในเรือน ที่มีห้องเป็นสัดส่วนปิดมิดชิด
    • เหมือนอาจารย์ว่าเลยทั้งตื่นเต้นทั้งกลัว
    • หลุมส้วมจะเอากิ่งพุทราหรือไม้ที่มีหนามมาปิดล้อมหลุมส้วม
    • ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าสิบเอกดร.ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ที่พิษณุโลก จะมีเรือนจำลองการอยู่ไฟเห็นแล้วได้บรรยากาศเก่า ๆ ได้ความรู้สึกดี
    • หรือจะเข้าดูเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีก็ได้ที่นี่เลยhttp://www.jathawee.com

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พี่เราเข้ารอบแล้วยินดีด้วยค่ะคุณครูพี่ม่อย

    มาพร้อมกับ ครู อ้อยเล็ก  ร่วมแสดงความยินดีกับอาจารย์วิรัตน์ด้วยครับ

     

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • ขออนุโทนาแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้กับโยมอาจารย์วิรัตน์ด้วย
    • จงมีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณะต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • สวัสดีครับหนานเกียรติ แถวบ้านผม คนที่เป็นหนาน เขาเรียกว่าไอ้ทิดครับ
    • งั้นนำพวกนี้มาฝากหนานเกียรตินะครับ อันนี้เป็นการฝึกกระบวนการคิดผ่านการทำงานวาดรูป การคิดเชิงระบบ และการคิดแบบ Creative Thinking สำหรับงานออกแบบและการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ครับ
    • โดยมากแล้ว ชาวบ้านและคนที่อยู่ในพื้นที่มักมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งของตนเองและชุมชน บางครั้งวิธีคิด-วิธีมอง ดีกว่าและแหลมคมกว่าความรู้ของโลกภายนอกเสียอีก แต่บางทีไปติดอยู่ที่พิธีกรรมและเทคนิคทางวิชาการ การหารูปแบบและวิธีการที่ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมได้มากๆเท่าไหร่ ก็จะสามารถยืนขึ้นตรงที่ที่เราเป็นและมีอยู่ ให้ขาเราแข็งและหลังตรงที่สุดครับ
    • การวาดรูปและการลดข้อจำกัดในการบันทึกและสร้างความรู้ด้วยกัน เช่น ใช้การถ่ายรูป การนั่งคุย ซึ่งชาวบ้านทั่วไปทำอยู่แล้ว เพียงแต่ให้วิธีคิดและวิธีมอง ให้เข้าไปเป็นตัวกำกับเลนส์และกำกับมือที่วาดรูปเสียหน่อย ผู้คนอีกมากมายก็จะเป็นนักวิจัยชาวบ้านทำเรื่องของตัวเองให้เป็นทุนปัญญาสำหรับพัฒนาตนเองให้อยู่ได้ในโลกที่เป็นจริงดียิ่งๆขึ้นครับ
    • หากมีโอกาสจะเอาเรื่องวิธีวาดรูปเพื่อถอดบทเรียนตนเองเป็นกลุ่ม ของชาวบ้าน มาฝากครับ 

    เห็นหนานเกียรติลงไปเก็บข้อมูลเรื่องดนตรีมา เลยเอารูปแตรวงมาฝากครับ

                         

    เมื่อก่อนผมเล่นแตรวง รูปแตรวงนี้เป็นแตรวง ช.ลูกทุ่ง ผมเล่นอยู่ ๕-๖ ปี ที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เป็นแตรวงของชาวนาครับ ในรูป แตรวงกำลังแห่นาคเพื่อไปอุปสมบท ต้องออกจากหมู่บ้านตั้งแต่ยังไม่สว่าง และต้องเป่าแห่ไปตลอดทาง บางครั้งก็ต้องนั่งบนหลังคารถบรรทุกอย่างในภาพ ในเทศกาลที่มีการบวชนาค ชาวบ้านและคนเฒ่าคนแก่ได้ยินเสียงแตรวงก็สามารถร่วมอนุโมทนาบุญไปได้ตลอดเส้นทางที่แห่นาค

    • สะดือป่วยเมื่อตอนเด็กของคุณครูอ้อยเล็ก อ่านแล้วหวาดเสียวสะดือไปด้วยเชียว
    • ใช่เลยครับ ส้วมหลุมที่ทำขึ้นต้องสุมด้วยกิ่งพุดทรา กิ่งไผ่ที่มีหนาม หรือกิ่งไม้ที่มีหนาม กันหมาและสัตว์ต่างๆเข้าไปกินหรือเข้าไปเหยียบ รวมทั้งกันผีกระสือและการรักษาขวัญของเด็กแต่ละคนที่คลอด ขอบพระคุณ พระคุณเจ้าอย่างยิ่งครับ
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก คุณจตุพร และกราบขอบพระคุณ พระคุณเจ้าด้วยครับ

    สวัสดีค่ะอ. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ติดตามอ่านงานของอาจารย์อยู่อย่างสม่ำเสมอค่ะ

    อ่านแล้วคุ้มค่าเวลา ได้กลิ่นอายของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลช่วงที่คนไม่มีรากเรียนป.โท วัฒนธรรมศึกษาค่ะ

    สนุกมากและยังได้ชมภาพลายเส้นที่มีชีวิตชีวาของอาจารย์อีกด้วย

    เห็นมิติของวิถีชีวิตอย่างเป็นองค์รวมอย่างแท้จริงค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    (^___^)

    • สวัสดีครับคุณคนไม่มีราก  ยินดีและดีใจที่เขามาเยือนและร่วมแลกเปลี่ยนกันนะครับ ผมก็ชอบเข้าไปอ่านงานเขียนของคุณคนไม่มีรากอยู่เป็นระยะๆเช่นกันครับ
    • บางทีอ่านไปก็เหมือนกับภูมิใจความเป็นคุณคนไร้รากไปด้วย เพราะคุณคนไร้รากมีพื้นฐานมาจากสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่เข้าสู่เรื่องราวทางสังคม มานุษยวิทยา การศึกษา และวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกับเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขได้ดีจริงๆ ซึ่งหาคนสนใจและทำอย่างคุณคนไร้รากได้ไม่มากนัก
    • ขอบคุณครับ
    • โอ้โห..ได้เรียนรู้มากมายผ่านการเล่าและการสื่อสารที่บล็อกนี้
    • ขอบพระคุณค่ะที่มีเรื่องดีๆให้ได้เรียนรู้ค่ะ ซึ่งยุคนี้เรื่องแบบนี้หายากค่ะ
    • คนทำงานสุขภาพและสาธารณสุขคงได้มุมมองและความรู้ในอีกมิติหนึ่งของวิถีชุมชนกับการพึ่งตนเองทางสุขภาพของชาวบ้านนะครับ
    • คนทำงานทางประชากรศึกษากับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาสังคม ก็คงจะได้แนวการศึกษาและเรียนรู้ข้อมูลการทำงานระดับชุมชนและครอบครัว ที่ผสมผสานหลายอย่างเข้าด้วยกัน โดยให้ความเป็นคน ครอบครัว และชุมชน เป็นศูนย์กลางนะครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    • ดูละครสั้น ตอน "แม่ซื้อ" เมื่อวันก่อนทำให้ต้องย้อนกลับมาอ่านบันทึกหน้านี้ของอาจารย์อีกครั้งค่ะ
    • นอกจากเรื่องของสุขภาวะแบบพึ่งพาตนเองแล้ว ยังมองเห็นความรัก ความห่วงใยของลูกที่มีต่อสุขภาพของแม่ และพี่ๆ ที่มีต่อน้องใหม่ของครอบครัวด้วยค่ะ

    ความรักและเห่อน้องมีมากขนาดที่แม้น้องจะขี้ใส่เวลาอุ้มหรือฉี่พุ่งใส่หน้า ก็นั่งหัวเราะและยังอยากเข้าไปห้อมล้อม อยากแย่งกันจับและอุ้มน้องแรกเกิดกัน

    ผมกับลูกๆทุกคนของแม่ก็ยินดีที่จะกินทุกอย่างเหมือนแม่หรือตามแต่จะมีให้กิน เพราะเป็นช่วงห่วงแม่และเห่อน้อง ไม่ค่อยหิวข้าวและเล่นอย่างอื่นก็ไม่ค่อยสนุก.

    • แวะมาทวง ดังลมหายใจ เล่มที่ ๒ ค่ะ =)

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • เข้าใจกระตุ้นดีครับ ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
    • หนังสือดังลมหายใจนี่ให้ประสบการณ์ชีวิตผมเองไปด้วยดีมากจริงๆครับ เหมือนได้ทำหนังสือให้แม่สมดังความตั้งใจไป ๑ เล่มแล้ว หนังสือที่อยากเขียนให้แม่ เพื่อนๆ และคนอื่นๆนี่ อยากเขียนให้กันและกันตอนที่ยังมีโอกาสทำสิ่งต่างๆด้วยกันน่ะครับ
    • หนังสือเล่มนี้นำสิ่งดีๆและคนดีๆเข้ามาสู่ชีวิตหลายอย่างครับ ครูอาจารย์และผู้เคารพนับถือหลายท่านอ่านแล้วมีรอยยิ้มบอกว่าชอบ แค่นี้ก็พอแล้วครับ ญาติๆและชาวบ้านแถวบ้านหลายคนได้อ่านและคุยเรื่องราวต่างๆที่เป็นผลจากการอ่านหนังสือ อย่างไม่เคอะเขิน
    • ที่ประทับใจในชีวิตมากและเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่มีวันลืมเลยคือ เจ้าของโรงพิมพ์ สุทินการพิมพ์ ที่เชียงใหม่ครับ เป็นมิตรนิรนามคนหนึ่งที่ได้มาสร้างความประทับใจดีๆในชีวิตให้กันเพราะหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเมื่อตอนที่เขาพิมพ์เสร็จและผมอยากเอาไปให้แม่ได้แจกจ่ายในวันสงกรานต์แก่ญาติๆและชาวบ้านที่บ้านเกิดผมนั้น เขาส่งเสริมความตั้งใจผมอย่างเกินกว่าที่คิด คือนอกจากพิมพ์ให้เสร็จอย่างที่ต้องการแล้ว วันที่เขาเอาหนังสือมาส่งให้ผมนั้น เขาก็บอกว่า ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการพิมพ์เขาก็ช่วยอ่านและตรวจตราเหมือนกับเป็นบรรณาธิการให้อีกรอบ พออ่านและรู้เจตนาแล้ว เขาก็เลยทำให้ผมเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ อย่างคือ เขาเลือกกระดาษพิมพ์ให้เข้ากับลักษณะงานให้ผมด้วยตัวเองเพื่อให้หนังสืออกมาสวยออกอาร์ตๆ และพิมพ์เพิ่มให้ต่างหากให้ผมอีก ๑๐๐ เล่มแล้วก็นำมามอบให้ผมไปแจกจ่ายอย่างที่ต้องการ...หลังจากรับงานและจ่ายเงินค่าพิมพ์หนังสือนี้แล้ว ตรงส่วนที่เขาทำเพิ่มให้นี้ก็ไม่สามารถจ่ายได้เลยละครับ มันเกินกว่าจะประเมินค่าเป็นเงินได้
    • คนที่ทำอย่างนี้ให้กับคนอื่นได้นี่ เขาทำให้เป็นความดีงามในชีวิตของเขา ต้องขอคารวะอย่างเดียวต่อจิตใจของเขา ไม่สามารถตอบแทนได้ นอกจากเก็บความรู้สึกดีๆอย่างนี้ไว้ไปทำให้กับคนอื่นๆต่อไปแทน เป็นความประทับใจที่แปลกประหลาดครับ 
    • ที่ทำให้มีความสุขอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดความคึกคักในหมู่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ทำงานวิจัยเชิงคุณภาพได้ดีมากเลยละครับ อาจารย์และนักวิจัยชุมชน นักวิจัยเชิงคุณภาพหลายคนสะท้อนความเห็นว่าชอบวิธีนำเสนอแบบเขียนเล่าเรื่องและวาดรูปอย่างนี้ ทำให้เกิดความคิดทำงานแนวนี้มาอวดกันต่อเนื่องไปอีก
    • ทำงานอย่างเราๆนี่ก็มีความสุขในชีวิตแบบนี้แหละครับ สอนหนังสือและทำงานความรู้ ก็เห็นความหมายของชีวิตและการงานตรงที่ได้เห็นความงอกงามของผู้คน การเกิดสิ่งดีๆในสังคม ได้เขียนหนังสือและเป็นแรงบันดาลใจดีๆให้กับการอ่าน เล็กๆน้อยๆอย่างนี้แหละครับ

    สวัสดีปีใหม่ไทย..สุขใจเบิกบาน ทุกข์ภัยอย่ามี อย่าเจ็บ อย่าจน ไปทุกแห่งหนผู้คนรักใคร่พูดจาปราศรัยทุกคนพอใจ..พบคนมากมายล้วนมีน้ำใจและไมตรี

    ด้วยจิตคาระวะค่ะพี่อาจารย์

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท