๑๑. ฤดีกาล : เทศน์คาถาพัน ใส่บาตรพันก้อนกับแม่


"...เทศน์คาถาพันและใส่บาตรพันก้อน ที่แถวบ้านผมเรียกนั้น ก็คือ เทศน์มหาชาติ เป็นงานบุญที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและจัดขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างวางของชุมชน ..."

ในอดีตนั้น เดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสองหรือเดือนยี่ จะเป็นหน้าลมล่องข้าวเบา ข้าวหนักนาปีกำลังป็นข้าวเขียว ข้าวเบาจะเริ่มแก่ เหมาะสำหรับทำข้าวเม่า ทำข้าวยาคูหรือกวนข้าวทิพย์ และทำกระยาสารท

เป็นช่วงหลังออกพรรษา น้ำในคลองยังไหลเอื่อยและเริ่มใกล้จะทรงตัวเป็นน้ำนิ่งรอแห้งขอดเมื่อถึงหน้าแล้งในอีก ๒-๓ เดือนถัดไป ลมหนาวเย็นไหลล่องสม่ำเสมอ ทำให้เหมาะสำหรับการเล่นว่าว กลางวันและยามเย็นพัดเรื่ยทิวไผ่และไล้รวงข้าวเป็นริ้วคลื่น ตกกลางคืนก็ไหลลมบนส่งว่าวสนูทำเสียงสนูล่องลอยอยู่กลางเวหากล่อมผู้คนให้หลับฝันตลอดคืน

หลังออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านก็จะรอคอยงานบุญที่สำคัญที่สุดของปีคือเทศน์คาถาพันและใส่บาตรพันก้อน และหลังจากนั้นอีก ๒-๓ เดือนหลังฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งย่างเข้าสู่หน้าแล้ง ก็จะเป็นช่วงเทศกาลงานประจำปีของวัดต่างๆ ทั้งวัดกลาง วัดเกาะแก้ว วัดกระดานหน้าแกร เป็นฤดูธรรมและฤดีกาล เพื่อการพัฒนาจิตใจ สร้างความร่มเย็นเป็นสุข และบ่มสร้างความรื่นรมย์ในจิตใจของชุมชน

เทศน์คาถาพันและใส่บาตรพันก้อน ที่แถวบ้านผมเรียกนั้น ก็คือ เทศน์มหาชาติ เป็นงานบุญที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและจัดขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของชุมชน มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ซึ่งชาวบ้านก็จะรวมตัวกันขอเป็นเจ้าภาพ ๑๓ กลุ่มๆละ ๑ กัณฑ์ ใน ๑๓ กัณฑ์นั้นก็จะประกอบไปด้วยหมวดธรรมต่างๆรวมทั้งหมด ๑ พันคาถา จึงเป็นที่มาของการเรียกเทศน์คาถาพัน

                         

การเทศน์และการฟังธรรมจากเทศน์คาถาพัน ๑๓ กัณฑ์ให้ได้อานิสงน์มากนั้น เชื่อกันว่าจะต้องฟังเทศน์ให้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จังมักจัดเทศน์อย่างต่อเนื่องนับแต่ย่ำรุ่งตี ๔ ตี ๕  ถือเป็นเทศกาลทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชน

แม่ ญาติๆ และชาวบ้านในชุมชน จะระดมพลังกันเตรียมจัดศาลาก่อนถึงวันงานวันสองวันอย่างคึกคัก เสาศาลาทุกต้นจะสานชะลอมเล็กๆผูกติดไว้สำหรับให้ชาวบ้านเดินใส่บาตรข้าวเหนียวให้ครบพันก้อนซึ่งเรียกว่า ตักบาตรพันก้อน ทั้งศาลาก็ตบแต่งให้เหมือนกับป่าที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยผลหมากรากไม้เหมือนกับการจำลองป่าหิมพานต์  ประดับตามเสาและธรรมมาสน์ด้วยต้นกล้วย อ้อย และกล้วยเป็นเครือ ตามขอบศาลาและคาน ก็สานไม้ไผ่และทำดอกไม้จากต้นโสน  นั่งทำกันเป็นวันสองวันโดยงานฝีมือของคนจากหลายหมู่บ้าน ใครอยากได้บุญก็แวะเวียนไปช่วยกันทำ งามรานตาเต็มศาลาด้วยพลังบุญของชุมชน

การเทศน์มหาชาติจะเทศน์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้าตรู่ตี ๔-ตี ๕ โดยจะมีการละเล่นสลับบ้างอยู่เป็นระยะๆ ที่ขาดไม่ได้คือ การเล่นบทบาทสมมุติเป็นสัตว์และตัวละครในเนื้อหาของกัณฑ์เทศน์ต่างๆ โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก ซึ่งจะต้องหาเด็กมาเป็นกัณหา-ชาลี เฒ่าชูชก และฝูงหมา ซึ่งก็มักจะทำให้ชาวบ้านได้ทั้งความสนุกสนาน ตลกขบขัน และร้องไห้สงสารกัณหา-ชาลี ผู้ที่อาสาแสดงในปีหนึ่งๆก็มักจะเป็นที่ร่ำลือและจดจำกันไปทั้งชุมชน

เมื่อถึงเทศกาลเทศน์คาถาพันและตักบาตรพันก้อน พ่อแม่จะทำอาหารและเตรียมขนมมากเป็นพิเศษมากกว่างานอื่นของทั้งปี เมื่อถึงยาม ๔ ตอนไก่ขันครั้งแรกแม่ก็จะตื่นและชวนผมกับพี่ชายไปวัด แม่พายเรือและให้ผมนอนไปในเรือ แล้วก็พายไปวัดกลางซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมของชุมชน อากาศหนาวเย็นหน้าลมล่องข้าวเบาเย็นเฉียบไปตามแขนขาและใบหู ฝีพายแม่กระทบกราบเรือ ส่งเรือพุ่งแหวกผิวน้ำเป็นจังหวะที่มั่นคงและต่อเนื่อง เพ็ญเดือนอ้ายส่องแสงนวลเหมือนลอยไหลตามเรือไปด้วย เมื่อถึงวัดก็จัดแจงตักบาตรพันก้อนแล้วก็ไหว้พระฟังเทศน์ทั้งวัน  

                         

ดอกไม้จากไม้เนื้ออ่อนจำพวกต้นโสน เป็นงานฝีมือและทำเป็นดอกไม้ตบแต่งศาลาวัดจำนวนพันดอก  

 

ตอนกลางวันก็จะมีการทำโคมลอย โดยทำจากกระดาษแก้วหลายๆสี ติดแต่ละแผ่นให้ต่อกันเป็นผืนใหญ่ด้วยแป้งเปียกและยางมะตูม แล้วขึ้นรูปเป็นโคมขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเปิดออกและติดวงกลมทำด้วยไม้ไผ่ ทำเป็นขอบปากโคมลอยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ ฟุต พร้อมกับขึงเชือกซึ่งมัดก้อนผ้าชุบน้ำมันขี้โล้หรือขี้ไต้ซึ่งทำจากยางไม้สำหรับจุดไฟให้ควันและแสงไฟติดไปกับโคมลอย เมื่อจะปล่อยโคมลอย ชาวบ้านจะสุมควันไฟใส่เข้าไปในโคม โบกพัดกระทั่งโคมมีควันอัดเข้าไปจนโป่งลอย

จากนั้นก็จะช่วยกันห้อมล้อมและถือขอบปากโคมลอยให้ทรงตัวให้ดี  นำเอาจดหมายจากชาวบ้านและเศษสตางค์จำนวนหนึ่งติดไปกับโคม พร้อมกับจุดก้อนผ้าที่ปากโคมให้ติดไฟจนลุกท่วม จากนั้นก็จะรอจังหวะให้มีลมส่งและพัดออกไปในด้านที่โล่งที่สุด  เมื่อได้จังหวะดีแล้วก็จะช่วยกันปล่อยโคมลอยออกไป โคมลอยจะค่อยๆลอยไต่ระดับ บ้างก็เหมือนจะตกและบ้างก็ลอยขึ้นสูงวนไปมา ทำให้ชาวบ้านตื่นเต้นและได้ความสนุกสนาน

การปล่อยโคมลอย เป็นการบูชาด้วยดวงประทีปต่อพระรัตนตรัยในงานบุญประเพณีระดับชุมชนเท่านั้น ไม่เป็นที่นิยมทำในระดับปัจเจก ทั้งโดยเป็นสิ่งยุ่งยากที่ต้องทำช่วยกันเป็นกลุ่มก้อน ไม่มีกำลังทำ และเกินฐานะของบุคคล อีกทั้งเป็นโอกาสส่งข่าวสารเสี่ยงทายไปสู่ผู้คนและชุมชนที่โคมลอยจะลอยไปถึง ในจดหมายนั้น จะบอกกล่าวถึงชุมชน วัด และงานบุญประเพณีที่ทำและปล่อยโคมลอย พร้อมทั้งระบุวันที่ ปี ข้างขึ้น-ข้างแรม รวมทั้งมีสตางค์ติดไปด้วย

เมื่อโคมลอย ลอยสูงขึ้นไปจนถึงลมบน ก็จะมีลมส่งลอยไปไกลได้หลายวัน บางครั้งจากบ้านผมที่ชุมชนบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ดังในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะลอยไปตกถึงจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลกบ้าง ทางใต้ก็ไปจนถึงลพบุรีและสระบุรีบ้าง ก้อนผ้าจุดไฟและผูดติดที่ปากโคมลอยจะทำให้มองเห็นลูกไฟลอยในท้องฟ้าในยามค่ำคืน ชาวบ้านก็จะรู้ว่าเป็นโคมลอย

การรู้กันว่าบนโคมลอยมีสตางค์ อีกทั้งข่าวสารงานบุญที่จะร่วมอนุโมทนาและมีกระดาษแก้วซึ่งจะทำว่าวได้หลายตัว เหล่านี้ ก็จะทำให้เป็นสิ่งจูงใจให้เด็กๆและชาวบ้านปลายทางวิ่งตามเก็บโคมลอยและเปิดจดหมายออกอ่าน เมื่อรู้ข้อมูลของชุมชนที่ส่งและเสี่ยงทายโคมลอยแล้ว ชาวบ้านและชุมชนปลายทางก็จะมีธรรมเนียมนับความเป็นญาติพร้อมกับหาทางส่งข่าวกลับไปยังแถวบ้านผม จองกฐินหรือขอเดินถือจดหมายกลับไปสร้างความคุ้นเคยเป็นญาติ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลและทำบุญด้วยกันในอนาคต เป็นการสื่อสารและสร้างเครือข่ายไปตามศักยาพโดยวิถีชุมชนอย่างหนึ่ง

เดี๋ยวนี้ฤดูกาลทำนาและฤดูกาลธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปหมดจนแทบไม่เหลือร่องรอยต่างๆของอดีตแล้ว ชาวบ้านและชุมชนเกือบทั่วทุกท้องถิ่นไทยไม่ได้อาศัยเพียงน้ำหลากประจำปี และไม่ได้ใช้ข้าวหนักกับข้าวเบาสำหรับปลูกในที่นาลุ่มกับที่ดอนอีกต่อไป ลมล่องข้าวเบาก็ไม่มีความสัมพันธ์กับการทำอยู่ทำกินในวงจรชีวิตชุมชน

การทำนาในปัจจุบันจะเริ่มได้เร็วและในแต่ละที่ก็เก็บเกี่ยวไม่พร้อมกันเลย เมื่อถึงหน้าลมล่องข้าวเบาซึ่งจะเป็นปลายเดือน ๑๑ และเดือนอ้าย-เดือนยี่ อย่างในอดีต ก็อาจจะเป็นหน้าแล้งและไม่หนาวอย่างเมื่อก่อน  สิ่งที่ยังคงพอจะเห็นร่องรอยอย่างในอดีตจึงไม่ใช่ฤดูกาล ทว่า เหลือเพียงการทำบุญออกพรรษาแล้วก็ตามด้วยการเทศน์คาถาพัน ซึ่งยังขับเคลื่อนกิจกรรมชีวิตด้านในของชาวบ้านและชุมชนอย่างสืบเนื่อง เป็นฤดูธรรมและฤดีกาล.

หมายเลขบันทึก: 293232เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • เดี๋ยวนี้ไม่ได้ฟังเทศน์มหาชาติ
  • ไม่มีการลงแขกเกี่ยวข้าว
  • ไม่มีการตำข้าวเม่าแล้ว
  • เสียดายประเพณีเดิมๆๆ ดีใจที่ได้อ่านบันทึกอาจารย์
  • ทำให้ได้ระลึกถึงอดีตเหมือนกันครับที่
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/292965
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิต
  • แวะเข้าไปดูแล้วครับ เป็นเรื่องทายเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้าน
  • แถวบ้านผมเรียกเครื่องดักกบอย่างนี้ว่าอีแอ่บ สานด้วยไม้แล้วเวลาวางก็ต้องหาที่วางตามชายคลอง
  • หน้าหนาวและหน้าลมล่องข้าวเบานี่แหละครับเป็นหน้าดักกบเลยเชียว
  • ทางเหนือก็มีเช่นกันค่ะ 
  • เป็นความเหมือนที่แตกต่างค่ะ
  • อยากแลกเปลี่ยนกับอาจารย์แต่ว่าต้องสอบถามผู้รู้กว่าก่อนนะคะ
  • เป็นคนเหนือนี่ วัตถุดิบเรื่องวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเยอะเลยนะครับ เลยลิ๊งค์เครือข่ายสื่อสารสุขภาพเมืองแพร่มาให้ครับ ผมเคยไปช่วยเสริมศัยภาพวิธีเรียนรู้และเก็บข้อมูลชุมชนโดยผสมผสานวิธีการในการถอดบทเรียนหลายๆแบบให้เป็นวิธีทำงานสร้างความรู้ขึ้นจากชุมชนแล้วนำมาจัดการความรู้-สื่อสารเรียนรู้กับสาธารณะ เผื่อจะมีแหล่งทำงานสุขภาพชุมชนในอีกแนวหนึ่งครับ
  • ทางเหนือจะมีงานศิลปะและงานหัตถกรรมที่ทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในงานเทศน์มหาชาตินี้ที่เป็นเอกลักษณ์หลายอย่างครับ มีความพิถีพิถันและสื่อสะท้อนการสืบทอดหลักชีวิตและหลักธรรมต่างอยู่ในสิ่งต่างๆอยู่เสมอ
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์บอกว่าเทศน์คาถาพัน ๑๐ กัณฑ์
    • เลยนึกสงสัยว่าถ้าสิบกัณฑ์นี่คาถาภาษาบาลีจะไม่ครบ ๑,๐๐๐ คาถา นะอาจารย์ หรือรวมทั้งหมดจากสิบสามกัณฑ์เป็นสิบกัณฑ์หรืออย่างไร
    • ที่สุโขทัยมีเทศน์คาถาหมื่น(๑๐,๐๐๐) บวชมาตั้งนานฟังตอนแรกไม่เข้าใจพอฟังอธิบายก็เลยเข้าใจ คือ พระจะเทศน์คาถาภาษาบาลีครั้งละ ๑๐ รูป พร้อมกัน รวมกันเป็นหมื่นคาถา
    • สงสัยจะถือคติว่าได้ฟังคาถาพุทธพจน์เป็นจำนวนมาก ๆ น่าจะได้บุญเยอะมากมายคงเข้าประเด็นนี้มากกว่าอย่างอื่น(อาตมาคาดว่าอย่างนั้น)
    • เทศน์มหาชาติ พระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์(๑,๐๐๐ คาถา)

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • โอ้ใช่แล้วครับพระคุณเจ้า กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงยิ่งครับ
    • งั้นผมขอกลับเข้าไปแก้ไขให้เป็น ๑๓ กัณฑ์นะครับ แต่จะขอบันทึกทำหมายเหตุไว้ที่พระคุณเจ้ากรุณาทักท้วงครับ
    • นี่แหละครับเขาว่าเรียนรู้และสร้างความรู้ด้วยชุมชน-กลุ่มก้อนครับ ยิ่งในหัวข้อเรื่องของชุมชนหนองบัวก็จะเห็นว่าช่วยกันต่อ-ช่วยกันเติม รวบรวมไว้ก่อน สักระยะหนึ่งแล้วก็ค่อยมานั่งกรองกันอีกที ดีกว่าเขียนด้วยคนคนเดียวครับ
    • เลยก็ได้ความรู้ใหม่เพิ่มอีกจากคาถาหมื่นของท้องถิ่นสุโขทัยครับ
    • ผมกำลังหาประเด็นเปิดหัวข้อ สำหรับเป็นเวทีของคนหนองบัวใหม่ให้อีกนะครับ
    • จะให้เป็นเวทีเสวนาและค้นหาทางเลือกการพัฒนาของชุมชน ที่มาจากภาคประชาชน เวลามีเวทีปรึกษาหารือเรื่องสาธารณะที่สำคัญๆของท้องถิ่น  จะได้เป็นเวทีสร้างความรู้และเตรียมเครือข่ายคนให้มีทักษะ ไปร่วมคิดร่วมทำเรื่องต่างๆที่ดีๆให้กับชุมชนด้วยตนเองมากขึ้น แม้เล็กๆน้อยๆก็ยังดี ขอนั่งดูให้สักนิดหนึ่งก่อนนะครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพและขอขอบพระคุณอีกครั้งครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • อาตมาเชิญชวนชาวหนองบัวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเวทีนี้(บล๊อกของอาจารย์)ตั้งแต่เริ่มแรกก็ยังมีมาไม่มากนักฉะนั้นก็ยังต้องคอยต่อไป
    • ถ้าเปิดหัวข้อสำหรับท้องถิ่นหนองบัวละก็จะยินดีมาก ๆ
    • ได้ข่าวว่าท่านพระครูสมเจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาสท่านจะติดอินเตอร์เน็ตไม่รู้ว่าติดแล้วหรือยัง ทั้งวัดหนองกลับและวัดเทพฯที่ถือว่าอยู่ในเมืองหนองบัวยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารกับ
      โลกภายนอก
    • นั่งนึกอยู่ว่า คนเฒ่าคนแก่มาวัดทุกวันถ้าพระสงฆ์ท่านสนใจเรื่องเก่า ๆ ท่านเหล่านั้นสามารถยินดีเล่าให้ฟังได้อย่างมากมาย
    • ถ้าสองวัดนี้มีอินเตอร์เน็ตแล้วละก็ จะมีข้อมูลท้องถิ่นหนองบัวนั้น จะหลั่งไหลพรั่งพรูออกสู่โลกภายนอกเป็นจำนวนมาก
    • ก็ขอสนับสนุนอาจารย์ให้เปิดเวทีหนองบัวโดยเฉพาะอย่างเร็ววันก็แล้วกัน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • "ฉะนั้นก็ยังต้องคอยต่อไป"....ที่พระคุณเจ้ากล่าวมานี้ ทำให้ผมนึกถึงธรรมะว่าด้วย ขันติ และทมะ คือ ความอดทน อดกลั้น รอคอย และการข่มใจให้ตั้งมั่น ผมเคยฟังเทปการสาธยายธรรมของหระเดชพระคุณท่าน หลวงพ่อพุทธทาสเมื่อสัก ๑๐ ปีมาแล้วเห็นจะได้  ท่านว่า ขันติและความข่มใจ เป็นตบะที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ต้องภาวนาและปรารภในตนอยู่เสมอ พระคุณเจ้าสะท้อนออกมาอย่างนี้เลยต้องขอสาธุและอนุโมทนาครับ
    • เป็นท่าทีที่เหมาะสมดีครับ
    • หากมองด้วยหลักแห่ง มรรค ๘ ก็คงต้องกล่าวว่า ในสังคมที่ถือเอาเรื่องจิตใจและการพัฒนาด้านในของมนุษย์มาก่อนนั้น ทุกอย่างของการกระทำและปฏิบัติ ก็ต้องมีองค์ประกอบของการทำในใจให้แยบคาย ได้ความเห็นและข้อตกลงใจที่ถูกต้อง ควรแก่เหตุปัจจัย  หรือการมีสัมมา....กำกับออกมาจากจิตใจไปสู่การปฏิบัติอื่นๆ นับแต่สัมมาทิฏฐิ กระทั่งขยายออกไปกำกับโลกแห่งวัตถุและโลกภายนอก ดังนั้น ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์และการร่วมกันสร้างเวทีเรียนรู้ชุมชนของตนเอง อย่างกรณีที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี้ ก็คงต้องเปิดโอกาสให้ค่อยๆมีการเรียนรู้และเดินออกมาจากจิตใจและได้ผลจากการคิดใคร่ครวญพอสมควรของแต่ละคนเสียก่อนครับ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม ต้องการการเรียนรู้ ใช้เวลา แต่มีความศานติและยั่งยืนครับ
    • การมีฉันทะต่อสังคมแห่งการเรียนรู้ การเจริญสติปัญญาและสร้างความรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เป็นเจ้าของสังคมด้วยกันเหมือนกับเรา การรักต่อวิถีแห่งการใช้ปัญญาและความรู้ การรักและเมตตาผู้อื่น และอีกมากมายเหล่านี้ หากก่อเกิดและมีขึ้นก่อน ก่อนที่จะมีเครื่องมือและความทันสมัยที่ผิวเผิน ก็จะทำให้การเข้ามาใช้อินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และทุกๆอย่างเป็นเพียงทางเลือกและวิธีการใช้เหตุผลเพื่อสร้างสุขภาวะของสังคมอย่างหนึ่งที่คิดได้และเลือกปฏิบัติในสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น มากกว่าจะเป็นเป้าหมายที่อยากมีและอยากเป็นเพียงตามอย่างกันไปเฉยๆน่ะครับ
    • จะลองหาหัวข้อที่พอเหมาะพอควร สำหรับการประเดิมเวทีที่ยกระดับไปเรื่อยๆโดยให้เป็นเวทีสัมมนาและปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมที่มุ่งพัฒนาตนเองและท้องถิ่นหนองบัว ในด้านที่เป็นการมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะและมุ่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอนะครับ เป็น เวทีคนหนองบัว Nong-Bua Forum หรือเป็น มหาวิทยาลัยและชุมชนเสมือนจริงของคนหนองบัว Nong-Bua Virtual Community สำหรับเป็นเวทีสื่อสาร สร้างความรู้ เสวนา และขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆที่ใครก็ได้ที่เขาเดินเข้ามา ให้สะท้อนการมาตกผลึก คิด เรียนรู้ และสร้างความรู้ แล้วก็กลับออกไปทำให้ดีและแยบคายกว่าเดิม  กลับไปกลับมา รวมทั้งเป็นเวทีพัฒนาการเรียนรู้ของผู้คนที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม ทำให้สังคมมีกำลังในการพัฒนาตนเองได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้น ทำนองนี้พอได้ไหมครับ
    • ผลที่เกิดขึ้นไปด้วยก็จะเป็นข้อมูลท้องถิ่น ความรู้ ประวัติศาสตร์ชุมชนจากการบอกเล่าและสะท้อนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของคนที่อยู่เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน รวมทั้งหลายอย่างที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากต่อการเรียนรู้ของประชาชน ก็จะได้มีแหล่งเข้าถึงและช่วยกันระดมพลังสร้าง-สะสมไว้ทีละเล็กละน้อยนะครับ อย่างหัวข้อที่พระคุณเจ้าและทุกท่านเปิดไว้แล้วนั้น ก็จะเห็นเป็นตัวอย่างได้ว่ามันเริ่มเป็นเนื้อเป็นหนัง-เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นเรื่อยๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เวทีคนหนองบัว Nong-Bua Forum
    • หรือเป็น มหาวิทยาลัยและชุมชนเสมือนจริงของคนหนองบัว Nong-Bua Virtual Community
    • แหมชื่อที่อาจารย์เสนอมานั้นถูกใจทั้งสองเลย แต่รักชื่อที่สองมากกว่านิด ๆ
    • ออกพรรษาแล้วคงจะได้ไปหนองบัวน่าจะมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง
    • หลายท่านที่อาจารย์เสนอชื่อท่านไว้ในที่หลายแห่งทุกท่านล้วนแต่มีความรู้และอยู่ในหนองบัว แต่ยังไม่มีเวลาจะได้พบเจอกัน
    • ถ้าหากมีเวลาได้พบกับท่านเหล่านซึ่งเป็นผู้รู้คงจะมีเรื่องราวข้อมูลมากมายมานำเสนอทุกท่านได้แน่นอน
    • ถ้าได้เป็นสถาบัน Nogg-Bua Virtual Communuty ละก็ ปฐมอธิการบดีคนแรกต้องรีบจองตัว ดร.วิรัตน์ไว้ก่อนเลยแหละ
    • รองอธิการฯมหาวิทยาลัยชุมชนก็ต้องเป็น ดร.ขจิต
    • ส่วนคณะบดีมหาวิทยาลัยชุมชน คนที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนิสิตป.เอกคนนั้น คุณจตุพร
    • เปิดเมื่อไหร่คนเรียนเยอะแยะแน่นอน

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • น่าครึ้มอกครึ้มใจดีเหมือนกันนะครับ
    • แต่ผมขออนุญาตมีความเห็นต่างสักหน่อยนะครับ
    • ผมว่าทุกคนช่วยกันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันครับ ต่างก็เป็นครูและนักเรียนของกันและกัน เป็นคนหนองบัวเหมือนกัน
    • แล้วก็เป็นคนในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อทุกท่านที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นหนองบัว ก็จะได้ขอให้เห็นเวทีของคนหนองบัว เป็นเวทีของผู้คนทุกคนในสังคมเช่นกันครับ
    • เพราะผู้คนบนอินเตอร์เน็ตอย่างนี้ จะช่วยให้เราข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้แต่ละท่านช่วยกันมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตนเองทำได้ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • ไม่มีอะไรหรอกอาจารย์แค่อยากเห็นการเกิดขึ้นจริงในการเรียนรู้ของชุมชนเท่านั้นเองแหละ
    • ใจจริงอยาให้ทุกท่านเข้ามาแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันเพราะการเรียนรู้แบบนี้สนุกและได้ปัญญาอย่างสร้างสรรค์ในแต่ละชุมชนดีออก
    • อันที่จริงอยากเห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทั่ว ๆ ไปทุกด้าน
    • ชุมชนนี้เท่าที่มองเห็นก็เป็นการเรียนรู้กันได้อย่างกว้างขวางมาก
    • ขอใช้ภาษาเก่าหน่อยเป็นภาษาพระท่านเรียกว่ามาจากจตุรทิศ สามร้อยหกสิบองศา คือยินดีต้อนรับทุกท่านทุกคนท่าน ที่ยังไม่มาขอให้มา
    • ท่านที่มาแล้วก็ขอให้มีความสุข คือการสร้างวัด สร้างเสร็จแล้วจะปวารณาให้พระสงฆ์มาอยู่ได้เลยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่มีแบ่งคลาสแบ่งระดับ แบ่งเกรด แบ่งฐานะอะไรเลยนี่คือวัดคือชุมชนสงฆ์ ไร้ขีดจำกัด
    • ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนด้วยความเต็มใจยิ่ง

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

    • ด้วยความยินดีครับ ขอหาแนวคิดสักนิดเดียวครับ
    • คงเหมือนกับเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือเป็นเวทีเรียนรู้เพื่อสร้างพลังทางปัญญาของชาวบ้าน ของคนหนองบัว เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา ทั้งต่อสังคมท้องถิ่นและสังคมส่วนรวมทั่วไปนะครับ
    • ก็เป็นมหาวิทยาลัยชาวบ้านหรือชุมชนเรียนรู้ของคนหนองบัวอย่างที่พระคุณเจ้าให้ความสนใจด้วยนะครับ
    • แต่จะเน้นไปทางด้านไหนไหมครับ จะได้มีแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำซ้อนกับแหล่งอื่นๆ และเป็นการเพิ่มพูนความหลากหลาย เสริมกับสิ่งที่มีอยู่แล้วอื่นๆไปด้วย
    • ตอนนี้ ขอให้กลุ่มพริกเกลือซึ่งบอกว่าเป็นศิษย์เก่าหนองคอกทั้งสิ้น ซ้อมในเวทีของกลุ่มไปด้วยก็แล้วกันครับ เวทีที่เปิดขึ้นอีก จะรองรับการเสวนา เพื่อเชื่อมโยงพลังของศิษย์เก่า ให้เป็นพลังการพัฒนาท้องถิ่นหนองบัว พร้อมกับร่วมเป็นการเคลื่อนไหวเฉลิมฉลองวาระ ๕๐ ปีหรือกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึง สิ้นปี ๒๕๕๓ เลย ดีไหมครับ
    • ปรกติคนหนองบัวก็มักกลับไปเจอและทำกิจกรรมต่างๆ กระจัดกระจายด้วยกันอยู่แล้ว แต่วาระอย่างนี้ก็มีเวทีนี้ เปิดออกให้คนมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นส่วนบุคคลได้มากๆหน่อย คงจะเป็นพลังที่สร้างสรรค์ดีนะครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • พอเห็นอาจารย์เสนอให้มีเวทีร่วมรำลึกห้าสิบปีโรงเรียนหนองบัวตั้งแต่นี้ถึงสิ้นปี ๒๕๕๓
    • อาตมาก็นึกหัวข้อขึ้นมาได้แนวหนึ่งให้เป็นหัวข้อของศิษย์เก่าที่จะมาร่วมรำลึกช่วยกันขีดเขียนบันทึกเรื่องราวในอดีตปัจจุบันทั้งของตนเองทั้งของโรงเรียนและชุมชนหนองบัวในงานฉลองห้าสิบปีของโรงเรียนหนองบัว
    • เพื่อให้ศิษย์ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งสำคัญนี้โดยมีเวทีนี้เป็นสื่อกลางบอกกล่าวเล่าเรื่องราว
    • อยากเสนอแบบชาวบ้านและได้เห็นศิษย์เก่ามาร่วมกันแบบพี่น้องคนกันเอง
    • อย่างไรเสีย อาตมาก็จะขอมีส่วนร่วมแบบคนอยู่นอกรั้วโรงเรียนหนองบัวไปก่อน ตัวไกลแต่ใจอยู่ใกล้
    • คอลัมน์ที่นึกได้เร็ว ๆ ตอนนี้ก็มีแล้วและขอเสนอไว้ให้อาจารย์พิจารณา ถ้าไม่เข้าประเด็นหรือดูแล้วไม่เกี่ยวข้องก็คงตัดออกไปก่อน จะมีเรื่องแนวนี้แหละ
    •  เช่น หนองคอกรำลึก
    • ศิษย์เล่าความ
    • โรงเรียนหนองบัว วันวาน วันนี้ และอนาคต
    • ครึ่งชีวิต
    • คนหัวปี (โรงเรียนมัธยมแห่งแรก-มีนัยว่าเป็นคนโต คนหัวปี)
    • คุยกับ ดร.วิรัตน์
    • ศิษย์เก่า-ผลงาน-โดดเด่น-ครึ่งศตวรรษ
    • เอว่าแต่ว่า ถ้าเป็นกรรมการอาตมาก็เป็นคนนอก นอกจริง ๆ ก็ขอเสนอไว้ด้วยใจรัก แล้วแต่ท่านประธานจะเห็นสมควร.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • อยากให้เยาวชนในหนองบัวหรือนักเรียนในอำเภอหนองบัวหรือเด็ก ๆ หนองบัวและทั่ว ๆ ไปมีหัวข้อพูดคุย กับอาจารย์เป็นการถาม-ตอบในเรื่อง
    • ศิลปะ
    • การวาดภาพ
    • การถ่ายภาพ
    • การบันทึก
    • เทคนิคการจดจำเรื่องราวต่าง ๆ
    • ตอนนี้อาจารย์เป็นแรงบันดาลใจที่ปรากฏเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือคุณเสวก ใยอินทร์ อาจารย์นั้นถือเป็นไอดอลของเขาเลยจึงมีความฝันอยากเป็นนักเขียน ขณะนี้กำลังฝึกงานวาดภาพอยู่และเมื่อวานก็นำมาลงในไฟล์อัลบั้มส่วนของเขา ถือว่าก้าวหน้าค่อนข้างเร็วด้านศิลปะ(ถ้าเป็นไปได้อาตมาก็อยากเสนอคุณครูในหนองบัวช่วยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำให้ลูกศิษย์ของท่านมาศึกษาเรียนรู้เรื่องศิลปะ การวาดภาพ การถ่ายภาพ กับอาจารย์วิรัตน์ในที่นี้ -อยากเห็นจริง ๆ หัวข้อสำหรับเด็ก ๆ กับศิลปะ)
    • อีกหัวข้อหนึ่งอยากเห็นนักเรียนเป็นนักวิจัยตัวน้อย ฝึกทำวิจัยเรื่องราวท้องถิ่นหนองบัวโดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงหรืออาจมีอยู่แล้วก็จะเป็นการดีมากเลย ถ้าทำบ้างแล้วก็ขอช่วยให้นำมาเผยแพร่ศึกษาเรียนรู้กันในชุมชนนี้ได้เลย นี่ก็คือส่วนที่เพิ่มเติมรายละเอียดคอลัมน์คุยกับ ดร.วัรัตน์ คิดว่าเด็กน่าจะชอบหัวข้อนี้แน่เลยนะอาจารย์

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ศิษย์เก่า-ใหม่โรงเรียนหนองคอกและผู้อ่านทุกท่าน

    • โรงเรียนหนองบัวซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมแห่งแรงของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จะมีอายุครบรอบ ๕๐ ปีในปีหน้า(๒๕๕๓)นี้แล้ว
    • นึก ๆ ไปเหมือนจะไม่นานเลยเนาะพี่น้อง ถ้าเป็นคนละก็จะมีอายุครึ่งคนพอดี คนครึ่งคน(ไม่ใช่คนไม่เต็มบาทนะ)นี่ก็ถือว่ามีอายุอานามพอสมควร เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เป็นคนมีประสบการณ์คนหนงอบัวเรียกว่าเป็นคนโตแล้วแหละ
    • รุ่นอาตมาหรือหลังจากนั้นบ้าง ญาติผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายที่มีลูกหลานเรียนหนังสือมักจะถามลูกหลานว่า เมื่อไหร่พวกมึงจะได้ไปเรียนโรงเรียนแดงซะที คนรุ่นเก่าจะเรียกโรงเรียนหนองบัวด้วยกันสองชื่อคือ โรงเรียนหนองคอกกับโรงเรียนแดง(บริเวณนั้นมีหนองน้ำ-ที่เลี้ยงควาย และอาคารเรียนไม้หลังเก่าหลังคากระเบื้องมีสีแดง)
    • ปีหน้า(๒๕๕๓)ทางโรงเรียนคงจะจัดงานฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ของโรงเรียนหนองบัว ถ้าโรงเรียนมีข่าวสารอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงเรียนจะให้อาตมาและอาจารย์วิรัตน์ช่วยประชาสัมพันธ์ก็ได้ ยินดีที่จะได้มีส่วนร่วมในงานสำคัญครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ
    • ถึงแม้ไม่ได้เป็นศิษย์เก่าก็ไม่เป็นไร ช่วยได้ตามอัตภาพเท่าที่มีซึ่งก็ไม่ค่อยมีอะไรกับเขาเสียด้วยซิ

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ผมได้เปิดบล๊อกสำหรับคนหนองบัวให้แล้วครับ ชื่อ เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวยั่งยืน ครับ
    • อันที่จริงเขามีวิธีทำเว็บบล๊อกขึ้นมาโดยเฉพาะได้ แต่ผมทำไม่เป็นและเกรงว่าจะดูแลไม่ไหว เลยขอให้ใช้เวทีนี้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกๆ เพื่อให้แต่ละท่านที่เห็นความสำคัญและทำได้ดีกว่า พัฒนาต่อไปอีกนะครับ
    • หัวข้อแต่ละเรื่องของพระเจ้าที่เสนอมานั้น น่าสนใจมากเลยครับ และส่วนใหญ่ผมคิดว่าช่วยท้องถิ่นของเราได้ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าและสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ให้คนหนองบัวสักเล็กน้อยไปด้วยเลยนะครับ

    งานแสดงกตเวทิตาและมุฑิตาจิต เกษียณก่อนกำหนด คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว

    • ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว กรรมการศึกษา คณะครูอาจารย์และศิษย์เก่า จัดงานให้คุณครูที่โรงเรียน
    • ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ทางอำเภอหนองบัว สมาคมครู กรรมการศึกษาของอำเภอ จัดงานให้พร้อมกันของผู้เกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๒ ที่อำเภอหนองบัว
    • ขอบอกกล่าวและเชิญศิษย์เก่า หาโอกาสไปร่วมงานได้ตามอัธยาศัยครับ

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    เรียนท่านอ.

    ชั่วโมงนี้เด็กน้อยเรียนรู้เรื่องข้าวตอก ลาซากันค่ะ

    ก็มาอ่านบทความที่ให้ความรู้สึกที่ดีของการอยู่ร่วมกันด้วยคุณธรรม

    แล้วเลยมาที่บันทึกนี้ ก็ตื่นเต้นกับเส้นค่ะ

    เดี๋ยวเด็กๆจะลองวาดต้นไม้ด้วยลายเส้นตามบันทึกนี้ค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีครับkrutoitingครับ

    • คุณครูkrutoitingจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ให้ประสบการณ์แก่เด็กในการสังเกตและบันทึก ที่น่าจะให้ความจริงจังต่อการเรียนของเด็กๆมากเลยนะครับ
    • กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้อย่างนี้ นอกจากเป็นการให้ประสบกาาณ์การเรียนรู้อย่างบูรณาการมากอย่างยิ่งแล้ว หากได้เล่นบทเป็นพี่เลี้ยงและชี้แนะให้ได้หลักคิดที่ดีไปด้วย เด็กๆก็จะได้จิตวิญญาณความเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิธีสร้างความรู้ที่เป็นระบบจากการสังเกต บันทึก ใคร่ครวญ และได้ความแยบคายจากสิ่งที่ทำ
    • ขอบพระคุณที่อาจารย์มาเยี่ยมและแบ่งปันประสบการณ์กันครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท