๑๕. เซอร์เรียลลิสต์กับการเข้าถึงและรู้สึกต่อความจริง


".... ศิลปะแบบเหนือจริง จะต้องกลั่นให้ได้ประเด็นที่แรง หรือท้าทายการคิดใหม่ และกระทบใจผู้คนมากกว่านั้นเสียอีก จากนั้น จึงค่อยทำสิ่งที่พ้นไปจากเหตุผลและความจริง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่ไม่ติดกรอบไปกับความจริง เป็นศิลปะแบบเหนือจริง หรือเซอเรียลลิสต์...."

            เมื่อวันเสาร์ 20 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานชุมนุมช่างวรรณกรรม ประจำปี 2551  ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ของชมรมช่างวรรณกรรม และ การประกาศรางวัลช่อการะเกด ของวงการวรรณกรรม

           ไปอย่างไม่รู้ว่ากิจกรรมต่างๆ จะมีอะไรบ้าง  ใช้ความคุ้นเคยประมาณเอาว่า น่าจะมีการเสวนาทางวิชาการวรรณกรรมหรือการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิด  การแสดงปาฐกถา การแสดงานศิลปะ การแสดงกิจกรรมสร้างสรรค์บนเวที และการขายหนังสือดีๆ

           เมื่อไปแล้ว  กิจกรรมต่างๆ ก็เกือบจะเป็นไปอย่างที่คาด  ได้บทเรียนมากอย่างยิ่งว่า งานอย่างนี้ต้องมีเพื่อนฝูงหรือคนที่คุยกันได้ไปชวนกันคิด คุย และแลกเปลี่ยนทรรศนะ จึงจะสนุก แต่ผมก็ไม่รู้จะลากเพื่อนคนไหนไป ขนาดเพื่อนซี้บางคนที่เป็นคนเขียนและทำหนังสือยังทำท่าประหลาดใจเอาว่าไม่ได้เป็นนักเขียนและคนวรรณกรรม ก็จะไปเสวนาสังสรรค์กับกิจกรรมจำเพาะของกลุ่มสนใจไปหาพระแสงอะไร เลยก็ต้องลุยเดี่ยวแล้วก็อยู่ได้ตลอดตั้งแต่เกือบ 11 โมงกระทั่งเลิกงานเมื่อเกือบทุ่มหนึ่งเห็นจะได้ ได้หนังสือถูกใจมาหลายเล่มตามเคย ผมชอบอ่านและเห็นภาพสะท้อนสังคมในหนังสือ เห็นโลกและบันทึกเรื่องราวสรรพสิ่ง ผ่านงานวรรณกรรมและศิลปะ

          หนังสือ งานศิลปะ และงานวรรณกรรม ในทรรศนะผมนั้น มีพัฒนาการไปกับความเป็นอิสรภาพทางจิตใจและการแสดงออกทางปัญญาของพลเมือง จึงเป็นเหมือนลายมือ ลมหายใจ และจิตวิญญาณของสังคมหนึ่งๆ  (อันนี้ตกผลึกเอาจากประสบการณ์และความคุ้นเคยของตนเอง ท่านผู้อ่านไม่ต้องเชื่อครับ) ที่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนและการจารึกความเป็นชีวิตจิตใจของสังคมนั้นๆไว้

         เคยมีโอกาสไปต่างประเทศ  ญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์  อินเดีย  ก่อนกลับก็จะนั่งให้บทสรุปตนเองว่าประทับใจ ได้ความซาบซึ้ง และแว่วสรรพสำเนียงจากสัมผัสทั้งมวลอย่างไร แล้วก็ใช้อารมณ์การตกผลึกตรงนั้นไปเดินเลือกซื้อหนังสือกับงานหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของสังคมนั้นๆตามการให้บทสรุปในห้วงอารมณ์ดังกล่าว แล้วก็หอบประเทศ สังคม และผู้คน กลับมากับความทรงจำที่มีชีวิตราวกับเป็นส่วนหนึ่งกับตัวเอง

           เหตุนั้น การไปร่วมงานอย่างนี้ แม้ไม่ได้เป็นคนวรรณกรรม ก็เป็นคนอ่านและร่วมสร้างสังคมการอ่าน เขียน และส่งเสริมการอยู่กันด้วยความรู้-งานทางปัญญา จึงต้องหมั่นรู้จักตัวหนังสือเหมือนหมั่นเรียนรู้และรู้จักสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตตัวเอง แล้วก็ใช้นำชีวิต ทำงานทำการ ทำนองว่า เห็นให้กว้าง ร่วมรู้สึกให้ทั่วถึง แล้วก็สะท้อนลงสู่การทำด้วยมือของเราเองในสิ่งที่ตัวเองทำได้ และได้ทำ 

          มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง และประเด็นการเสวนาก็บังเอิญเป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่พอดี โดยเฉพาะเรื่องความสะท้อนซึ่งกันและกันและการมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ของวงการเขียนหนังสือ วงการวรรณกรรม หรือเหล่าช่างวรรณกรรม กับสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมยุคสมัย

         ผมพอจะสรุปเอาเองจำเพาะด้านที่อยู่ในความสนใจจากเท่าที่ได้นั่งฟังการเสวนา เป็นประเด็นที่สำคัญได้ว่า

  • คนทำงานมักขาดวัตถุดิบ บางทีความคิดตัน ขาดวัตถุดิบทำงาน เลยก็อาจทำงานออกมาที่ไม่สะท้อนความเป็นไปของสังคม  มีหลายท่านที่ทั้งยืนยันและเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า (นักเขียนจากภูเก็ต) อย่างในกรณีวิกฤติสึนามิที่ผ่านมา  มีนักวิชาการวรรณกรรมต่างประเทศ  ประเทศญี่ปุ่น  ได้เลือกสรรงานเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับสึนามิ เพื่อเชิญไปเสวนาและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกัน ก็พบว่า มีงานวรรณกรรมเรื่องสั้นน้อยมาก และเลือกสรรไปได้เรื่องเดียว  ในขณะที่เป็นวิกฤติที่ใหญ่และรุนแรงมาก
  • ขาดมิติกระแสสำนึก ขาดการให้ความสำคัญต่อเรื่องความเป็นปัจเจกและกระแสสำนึกต่อสังคมของปัจเจกที่สะท้อนสู่งาน
  • ขาดการสนับสนุนที่ดีของสังคม โดยเฉพาะรัฐบาลและสถาบันการศึกษา
  • วงการสื่อวรรณกรรมและวงการหนังสือยังมีข้อจำกัดมากมาย

        แล้วก็อีกหลายเรื่อง

        ที่น่าสนใจก็คือเรื่องการขาดวัตถุดิบในการทำงานและขาดการสื่อสะท้อนความเป็นไปของสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและของโลกนั้น ในแวดวงวิชาการ นอกวงวรรณกรรมก็เป็น อีกทั้งผมเองและคนในแวดวงทำงานด้วยกันก็เคยเสวนาในเรื่องอย่างนี้แล้วต่างก็หาทางทำงานกันตามแต่เงื่อนไขต่างๆ จะเอื้อให้ทำกันได้ อย่างนี้เหมือนกัน

        แต่ผมเห็นแง่มุมที่อาจจะทำให้สามารถขยายกรอบในการมองเห็นปัญหา และนำไปสู่การเกิดความร่วมมือระหว่างวงการที่แตกต่างกันได้  คือ  การมีเวทีและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวงการ อยู่เสมอๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดี สอดคล้องกับความซับซ้อนของสังคม อีกทั้งจะทำให้คนต่างวงการ ต่างสาขาอาชีพ ต่างก็จะเป็นผู้ที่นำเอาวัตถุดิบจากประสบการณ์ที่แตกต่างมาแลกเปลี่ยนกัน(1)

           คนในวงการวรรณกรรม ก็ถือว่าเป็นสาขาที่ให้พลังการคิดและให้ปัญญาแก่สังคม ส่วนคนในวงการอื่น ก็จะได้แบ่งปันประสบการณ์และสะท้อนวัตถุดิบดีๆ ให้กับคนทำงานทางวรรณกรรม ทำให้แต่ละวงการต่างก็เป็นตัวช่วย ให้ผู้อื่นข้ามข้อจำกัดและหาทางออกได้ อีกทั้งยิ่งทำให้สังคมส่วนรวมมีพลังสร้างสรรค์ร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น

       นอกจากกิจกรรมต่างๆแล้ว กลับมาก็ได้อ่านหนังสือวารสาร UNDERGROUND BULLTEEN ของคุณปราบดา หยุ่นและคณะ เล่มที่มีธีมของวารสารเป็นเรื่อง เซอร์ ซึ่งหมายถึงมิติต่างๆ ของศิลปะและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวเซอร์เรียลลิสต์ (Surrealistic) ซึ่งก่อเกิดในยุโรปยุคประมาณ 1920-1940

       อ่านแล้วก็น่าสนใจ ทั้งโดยเนื้อหาและโดยความเป็นงานของปราบดา หยุ่น คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีผลงานน่าสนใจมากคนหนึ่ง เลยก็ต้องอ่านรวดไปทั้งเล่ม ทำให้ได้แนวคิด ความรู้ และเห็นภาพความเป็นศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายมิติ ทั้งการก่อเกิด  แนวปรัชญาพื้นฐานและการปรับรูปไปในภายหลัง บทบาทและความเคลื่อนไหวในยุโรป  อเมริกา และทั่วโลก การสร้างสรรค์ทางจิตรกรรม  ประติมากรรม  ภาพยนต์  เรื่องสั้นและวรรณกรรม  รวมทั้งข้อวิพากษ์และการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

       แต่โดยรวมแล้ว อยากตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนครับ เนื่องจากศิลปะแนวนี้  เป็นแนวหนึ่งที่ผมคิดว่าผมเคยศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทำงานอยู่บ้าง  และคิดว่ายังมีบางมุมที่เชื่อว่าคนทั่วไป รวมทั้งทรรศนะโดยรวมจากวารสาร UNDERGROUND BULLTEEN  ยังไม่ค่อยได้เน้นและกล่าวถึง

       คนส่วนใหญ่ รวมทั้งทรรศนะใน UNDERGROUND BULLTEEN มักเห็นว่า แนวศิลปะ วรรณกรรม และการสร้างสรรค์งานความรู้ รวมไปจนถึงการสื่อสารมวลชนต่างๆ แบบเซอร์เรียลลิสต์ เป็นแนวศิลปะที่ปฏิเสธแนวคิดวัตถุนิยม เหตุผล จิตสำนึก และความจริงแบบวิทยาศาสตร์ แล้วก็มุ่งเน้นการทำลายกฏเกณฑ์ ส่งเสริมการแสดงออกและสร้างความจริงที่เน้นความไร้จิตสำนึก ความฝัน จินตนาการที่ปราศจากเหตุผล สุดขั้ว ดิบ ความก้าวร้าว รุนแรง เพื่อทลายสิ่งที่เชื่อว่าเป็นกรอบจำกัดความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของสังคมในลักษณะที่เรียกกันว่าเซอร์-เซอร์

         ทรรศนะเหล่านี้ อาจให้ความเข้าใจต่อความเป็นเซอร์เรียลลิสต์ไม่ตรงกับแง่มุมที่เป็นแก่นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าความเป็นจริงที่สุดของมนุษย์คืออะไร เราจะนำเสนอและแสดงออกให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างดีที่สุดอย่างไร ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานและวิถีปฏิบัติที่เป็นสาระสำคัญที่สุดของศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวเซอร์เรียลลิสต์

         ในความเป็นจริงนั้น ศิลปะและความเคลื่อนไหวทางสังคมแนวเซอร์เรียลลิสต์  เป็นแนวทางที่ต้องการเข้าถึงความเป็นจริงที่ยิ่งกว่าจะเข้าถึงได้โดยวิธีการทางเหตุผลและแบบกลไก ดังนั้น จะเห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วจึงไม่ใช่แนวที่ปฏิเสธปรัชญาวิทยาศาสตร์ (ซึ่งในวารสารก็เห็นได้อยู่จากคำกล่าวของ-Bretong เบรอตอง ผู้ก่อตั้งและสถาปนาแนวคิดคนสำคัญ) ทว่า กลับกลายเป็นว่า ต้องการวิธีที่ดีกว่าวิทยาศาสตร์เพราะเชื่อว่าวิทยาศาสตร์แนววัตถุและเหตุผลนิยมนั้นมีข้อจำกัดต่อการเข้าสู่ความจริง จึงต้องคิดและพัฒนาไปได้อีกโดยเฉพาะค้นหาวิธีเติมความเป็นมนุษย์เข้าไป(2)

          จึงพอจะกล่าวได้อย่างนี้ว่า เป็นแนวทางที่เชื่อว่า ต้องเรียนรู้และซาบซึ้งสิ่งนั้นๆให้รอบด้านจริงๆ ใช้ทั้งสมอง หัวใจ จิตวิญญาณ และภาวะการดำรงอยู่ทั้งหมดทั้งปวง ก่อนจะสะท้อนออกมาเป็นงาน จะเห็นว่าล้วนสะท้อนถึงการพยายามทลายกรอบจำกัดของสังคมที่ร่วมสมัยกับยุคที่ศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์ก่อเกิด ซึ่งในยุคนั้นสังคมยุโรป ให้คุณค่ามากต่อการผลิตแบบอุตสาหกรรมและความมั่งคั่งแบบวัตถุนิยม ความมีกฏเกณฑ์ กฏระเบียบ ที่ลดอิสรภาพของปัจเจก(3) งานแนวเซอร์เรียลลิสต์จึงเหมือนกับเป็นการวิพากษ์และแสดงการมีส่วนร่วมโดยวิธีการศิลปะเพื่อตอบโต้กับสภาพสังคมที่ผู้คนไม่ค่อยจะพอใจ ทว่า ในยุคต่อมา ผู้คนก็มักได้สัมผัสเพียงเทคนิคการทำงานแนวเซอร์เรียลลิสต์เท่านั้น แต่อาจเป็นการสร้างงานที่ไม่ได้จัดวางตนเองในสภาพแวดล้อมสังคมอย่างในยุคที่ก่อเกิด

          บริบทอย่างนี้จึงสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจ เพราะจะทำให้ผู้ชมสามารถดูงานศิลปะแนวนี้แล้วก็พอจะจำแนกได้ว่า แบบไหนเป็นการแสดงออกของปัจเจกโดยใช้วิธีการและเทคนิคศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์ และแบบไหนเป็นการปฏิบัติการเชิงสังคมและแสดงออกต่อสังคมของปัจเจกผ่านปฏิบัติการศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ แปรความรุนแรงของการปะทะต่อสู้กันโดยวิธีการอย่างอื่นให้เป็นการคุยกันด้วยภาษาศิลปะ ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง ๒ วิถีดังกล่าวนี้เหมือนกันก็แต่เพียงรูปแบบที่เป็นงานเซอร์เรียลลิสต์เท่านั้น ทว่า ที่มาของความบันดาลใจ กระบวนการทำงาน และผลที่ต้องการนั้นแตกต่างกันมาก 

          ดังนั้น การทำงานในแนวเซอร์เรียลลิสต์จึงต้องการทำงานเชิงความรู้และต้องการการเข้าถึงความจริงอย่างยิ่ง จนสามารถสร้างบทสรุปภาวะบางอย่างขึ้นมา แล้วใช้การ จัดองค์ประกอบขึ้นใหม่ ที่เหนือธรรมชาติและความเป็นจริง (Surrealistic) เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงและรู้สึกสะเทือนใจ จึงเรียกว่า เหนือจริง ซึ่งมิใช่มีนัยว่าปฏิเสธความจริง หรือไร้เหตุผล ไร้จิตสำนึก

          อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเห็นว่ามีกลุ่มทำงานศิลปะและเคลื่อนไหวทางสังคมแนวเซอร์เรียลลิสต์ ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย ที่เซอร์อย่างไม่เอาเลยเหตุผลและความจริงอย่างที่เห็นในกระแสสังคม แต่ก็เป็นคลื่นความเคลื่อนไหวที่ตามมาทีหลัง หลังผ่านการบุกเบิก เคลื่อนไหวและทำงานทางความคิด ตั้งคำถามแก่สังคมร่วมยุคสมัย สร้างทรรศนะเชิงวิพากษ์ ถกเถียง โต้แย้ง ปะทะ ต่อสู้ อย่างเข้มข้นมามากมายแล้ว 

          จึงนับว่า เป็นภาวะสะท้อนการเข้าถึงและตกผลึก สูงสุดคืนสู่สามัญ  เห็นจนออกจากกรอบได้ เข้าถึงแก่นแท้จนละวางและปฏิเสธความเป็นจริงที่ผิวเผินทางวัตถุได้ (ภาษาระเบียบวิธี มิใช่ภาษาบอกการกระทำปฏิเสธละทิ้ง) อีกทั้งอาจกล่าวได้ว่า งานศิลปะอย่างไม่ต้องมีเหตุผลโดยขาดการศึกษาและถ่องแท้ต่อความเป็นจริงพอสมควรก่อนนั้น เป็นการใช้รูปแบบเซอร์เรียลลิสต์แต่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่วิธีการเซอร์เรียลลิสต์เพื่อสามารถเข้าสู่ความจริงได้สูงสุด

         เราอาจจะลองนึกถึงตัวอย่าง วิธีนำเสนอความจริงให้เว่อร์เหนือความเป็นจริง เพื่อให้คนรู้เหตุผล เกิดอารมณ์ร่วมและได้สัมผัสความจริง ที่ลึกซึ้งมากกว่าระดับการใช้สมอง ตาเนื้อ และความรู้แบบแยกส่วนจะเข้าถึงได้ อย่างเช่นการแสดงละครเวที หรือการร้องลิปซิ๊งค์แบบการแสดงคาบาเรต์ ที่จะเห็นการแสดงหน้าตาและท่าทางที่แสดงอารมณ์ต่างๆให้ออกมามากกว่าความเป็นจริง ผู้ชมจึงจะเข้าถึงสถานการณ์ของบทที่แสดงได้ ก็คงจะพอนึกออกนะครับ

          การจะบอกให้รู้ว่าดีใจและเสียใจ ทุกข์โศก เมื่อแสดงให้เว่อร์กว่าความจริงหรือเหนือความเป็นจริงแล้ว ก็จะแรงพอที่จะทำให้คนเข้าใจทั้งเหตุผลและมิติที่มากยิ่งกว่าความเป็นเหตุผล ก่อเกิดแรงสั่นสะเทือนถึงระดับสุนทรียภาพ ซึ่งบางที เพียงแก๊กเดียวก็อาจส่งผลให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจและได้พลังชีวิต นำไปสู่การร่วมวิถีที่งานศิลปะสื่อสาร สะท้อนไปสู่การสร้างความเป็นตัวของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงตนเองไปทั้งหมดโดยกระบวนการที่เรียกว่า Voluntary action for change (4) ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อการได้ความเป็นตัวของตัวเองผู้อื่น มากกว่าการเข้าไปครอบงำและโน้มน้าวผู้อื่นให้เปลี่ยนแปลงอย่างที่ตนเองต้องการ

          ศิลปะแบบเหนือจริง จะต้องกลั่นให้ได้ประเด็นที่แรง หรือท้าทายการคิดใหม่ และกระทบใจผู้คนมากกว่านั้นเสียอีก จากนั้น จึงค่อยทำสิ่งที่พ้นไปจากเหตุผลและความจริงด้วยรูปแบบและวิธีการที่ไม่ติดกรอบความจริง จึงได้ศิลปะแบบเหนือจริงหรือเซอร์เรียลลิสต์ เพราะเชื่อว่า เมื่อสร้างแรงกระทบให้สะเทือนถึงธรรมชาติจิตใจของมนุษย์ให้มากที่สุดได้แล้ว มนุษย์จึงจะเกิดการใช้เหตุผล ปัญญา ความรู้ ที่ดีที่สุด ซึ่งคล้ายกับวิธีคิดต่างๆของโลกที่เน้นจิตใจมาก่อน เหมือนกัน อีกทั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสู่ความจริงเหมือนกับวิธีการวิทยาศาสตร์อีกด้วย แต่ไม่ได้ให้ความจริงสูงสุดเป็นศูนย์กลาง ทว่า มุ่งความจริงที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดของมนุษย์ในบริบทจำเพาะต่างๆ.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        (1)  มีงานวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม ที่สะท้อนแนวคิดนี้ไปสู่การลองค้นหาบทเรียนภาคปฏิบัติในสังคมไทยอยู่พอสมควรเหมือนกัน  ในมหาวิทยาลัยมหิดล  ก็มีกลุ่มที่ทำงานวิชาการแนวประชาสังคม แนวประชาคม และเครือข่ายการวิจัยบูรณาการ  ซึ่งนำเอาตัวแปรและมิติความเป็นจริงของสังคมด้านหนึ่งมาสังเกตและเรียนรู้เอาจากการปฏิบัติการในเรื่องต่างๆ  คือ  การพัฒนาวิธีเรียนรู้  ทำงาน และวิจัย แบบข้ามศาสตร์ ข้ามวิชาชีพ ข้ามกลุ่มสังคม  

           มีความพยายามเรียนรู้ที่หาวิธีทำงานร่วมกันระหว่างศิลปิน วิศวกร หมอ นักวิทยาศาสตร์ ผู้นำท้องถิ่น ปัจเจกในพื้นที่  เหล่านี้  ได้บทเรียนจำนวนหนึ่งว่า การทำงานเป็นกลุ่มในแนวราบ และการมีเวทีสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงเนื้อหา จากฐานประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมไปจนถึงวิถีการสื่อสารเรียนรู้ที่ให้พื้นทีแก่ความแตกต่างหลากหลายได้สร้างสรรค์พลังการเรียนรู้และสร้างความเคลื่อนไหวต่างๆที่สนใจด้วยกัน  จะทำให้ปฏิบัติการของแต่ละกลุ่มสังคมดีขึ้น และต่างให้เนื้อหา-วัตถุดิบ  สื่อสะท้อนกันและกันมากขึ้น  ซึ่งในระดับชุมชนก็ทำได้ อยู่ในขั้นของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง  แต่ก็เป็นตัวอย่างที่น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งของประเด็นปัญหาลักษณะนี้ (ข้อสังเกตเพิ่มเติม 23 ธันวาคม 2551)

         (2)  การเห็นศิลปะเซอร์เรียลลิสต์เล่นกับภาวะการไร้จิตสำนึก และการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากกรอบพันธนาการทั้งปวง เพื่อสื่อแสดงสิ่งอันเป็นเป้าหมายของตนผ่านงานศิลปะและงานสร้างสรรค์สาขาต่างๆนั้น วางอยู่บนความเชื่อเรื่องความจริงแท้ที่สุดของมนุษย์แนวจิตนิยม  คล้ายกับแนวคิดเรื่อง จิตประภัสสร ในหลักคิดพุทธศาสนา ที่เชื่อว่า จิตดั้งเดิมและพื้นฐานดั้งเดิมของความเป็นมนุษย์นั้น  มีความบริสุทธ์ สว่างไสว และมีพลังต่อการเรียนรู้ ที่สุด(ข้อสังเกตเพิ่มเติม 24 ธันวาคม 2551)

       (3)  การทำงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์ เอาจเทียบได้กับการแสดงออกทางปฏิภาณในสาขาต่างๆ ของศิลปะ เช่น  ดนตรีแนวแจ๊สและการด้นสด การเขียนภาพแนวแอ๊บแตร็ค  การร้องลำแบบสดๆ  ซึ่งการแสดงออกอย่างนี้  คนทำงานศิลปะรู้ดีว่า  ต้องผ่านขั้นตอนพื้นฐานที่แตกฉานมาก่อนจนสามารถเล่นแร่แปรธาติในสิ่งนั้นๆได้ โดยถือเอาการบรรลุจุดหมายและความไปกันได้กับเงื่อนไขจำเพาะ ให้ได้มากที่สุด  ดังนั้นจึงเป็นการทำอย่างคืนสู่ความไร้กรอบและเหนือเงื่อนไขความเป็นจริงอันจำกัด หลังจากผ่านการทำงานความคิด งานความรู้ และการทำความเข้าใจ จนตกผลึกเรื่องนั้นๆออกมา  ซึ่งมิตินี้  ต้องพิจารณาร่วมกับการที่สังคมและวัฒนธรรมการผลิตของยุโรปไปด้วย  ว่าได้ผ่านขั้นตอนการถึงขีดสุดของความเป็นวัตถุนิยม เหตุผลนิยม และสัจจนิยม ไปแล้ว จึงจะเห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องและมีเหตุมีผลในการเกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวนี้ได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้น (ข้อสังเกตเพิ่มเติม 24 ธันวาคม 2551)

         ในยุคนั้น เป็นยุคเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่วิถีคิดและวิถีความรู้แนววิทยาศาสตร์แบบกลไกยังมีอิทธิพลสูง กลบวิถีทรรศนะและวิถีความรู้ในแนวทางอื่นๆเกือบหมด  แม้แต่ความเป็นมนุษย์และเรื่องทางจิตใจ ก็มีกระบวนการทำให้เป็นวัตถุวิสัย ปฏิเสธความมีอยู่จริงหลายมิติของความเป็นมนุษย์ เช่น ความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  อารมณ์  ความรู้สึก  โดยถือว่าเป็นองค์ประกอบส่วนบุคคลของปัจเจกและอยู่ในขอบเขตที่อิสระออกจากมิติความเป็นส่วนรวมของสังคม  ดังนั้นจึงไม่ต้องให้ความสนใจ 

         วิธีคิดและวิถีทรรศนะดังกล่าวนี้  เป็นข้อโต้แย้งที่เด่นชัดที่สุดของศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวเซอร์เรียลลิสต์  ดังจะเห็นว่า งานแนวเซอร์เรียลลิสต์มักจะมีการพัฒนาประเด็นและวิธีนำเสนออย่างสุดขั้ว ของความรู้สึก อารมณ์ และจินตนาการ เกือบจะล้วนๆ และหลุดโลก

         แนวทางที่คล้ายกัน  ตั้งคำถามแหลมคม ก้าวร้าว รุนแรง และถือเอาประเด็นดังกล่าวมาเล่นแรงๆ ไม่แพ้กันก็มี มิใช่มีความเคลื่อนไหวแต่ในแนวเอซอร์เรียลลิสต์  ที่สำคัญคือ แนวอัตถิภาวนิยม (Excistentialistic) ซึ่งจะมีคำถามทำนองว่า ความเป็นจริงของสรรพสิ่งคืออะไร ฉันมีอยู่จริงหรือไม่ มีอยู่อย่างไร ก่อเกิดความเป็นฉันขึ้นมาได้อย่างไร  อะไรทำนองนี้ 

         คำถามอย่างนี้  ในยุคเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมาแล้ว ที่วิถีวิทยาศาสตร์แนวกลไก และกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมมีอิทธิพลเป็นกระแสหลัก กลบความเป็นปัจเจกและกลบมิติความเป็นชีวิตจิตใจของผู้คน ต้องถือว่าเป็นคำถามที่ก้าวหน้า นอกกรอบ ทวนกระแสและท้าทายสังคม  ซึ่งต่อมาหลังจากนั้น  งานความคิดและการแสดงออกทางสังคม  จึงเริ่มให้ความสำคัญต่อความมีเสรีภาพและการยอมรับโลกของความแตกต่างหลากหลาย

        จะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่า บทบาทของศิลปะจากคลื่นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  หาใช่เพียงการทำกิจกรรมทางศิลปะ และแสดงออกในเรื่องสวยๆงามๆ  หรือแสดงความเป็นอารมณ์ศิลป์ เท่านั้น  ทว่า เป็นงานกระทำทางความคิดและนำเสนอทรรศนะวิพากษ์เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เข้มข้นและจริงจัง ทรงพลังต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่สุดอย่างหนึ่ง 

        แต่กระนั้น  ก็ต้องตระหนักว่า เป็นเพียงแนวทรรศนะหนึ่งต่อศิลปะและงานทางสุนทรียภาพ  เท่านั้น  

       (4)  Voluntary action for change การเปลี่ยนแปลงด้วยความสมัครใจ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา  ที่มุ่งเน้นกระบวนการทางการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้  รวมไปจนถึงกระบวนการที่เรียกว่า IEC strategy ประกอบด้วย การให้ข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ (Information)  การให้การศึกษาเรียนรู้ (Education) และการเผยแพร่สื่อสาร(Communication) ทำให้ปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆ มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเพิ่มขึ้น มีพลังความรู้  ได้ข้อมูลข่าวสาร และเกิดพลังในตน (เป็นกระบวนการหนึ่งของ Empowerment Learning for change) ที่จะคิด ตัดสินใจ และสร้างทางเลือก เพื่อปฏิบัติไปตามเงื่อนไขชีวิตตนเอง อย่างเหมาะสมแก่สถานการณ์นั้นๆ ให้ดีที่สุด 

            บางแนวคิดและบางทฤษฎี ของทฤษฎีทางการศึกษา  เรียกแนวทางดังกล่าวนี้ว่า การสร้างความพร้อมให้แก่ปัจเจก (Learning and Change Readiness)

            แนวคิดและแนวดำเนินการนี้มีบทบาทต่อการพัฒนาและการจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายสาขา  เช่น การดำเนินโครงการทางประชากรศึกษา และการมีนโยบายทางประชากรในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศของไทยในช่วงทศวรรษที่ 2515  ซึ่งมีแนวปฏิบัติ เทคโนโลยี และระบบบริการ ให้ประชาชนพลเมืองเลือกวางแผนครอบครัวได้อย่างหลากหลายวิธี  แล้วก็ให้การศึกษาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  จนสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมแก่ตนเอง  ซึ่งก่อเกิดการปฏิวัติขนาดครอบครัวและเกิดความเปลี่ยนแปลงทางประชากรในหลายมิติ ก็เป็นกรณีตัวอย่างของโลกว่า เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างสมัครใจ (Voluntary action for change)

           การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ มีแนวทางต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เน้นกระบวนการทางการศึกษาและการให้การเรียนรู้แก่สาธารณะ  เช่น  กรณีประเทศจีน  มีการออกกฏหมายบังคับให้พลเมืองมีลูกหนึ่งคนและใช้มาตรการที่เด็ดขาด ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคมอย่างมากมายเหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบบังคับ เป็นคนละแนวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสมัครใจ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหาถูกผิดหรือดีเลวไปกว่ากันแบบเบ็ดเสร็จเพราะแต่ละสังคมจะมีเป้าหมาย สภาวการณ์ และบริบททางสังคมไม่เหมือนกัน ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ  http://www.irmgard-coninx-stiftung.de/fileadmin/user_upload/pdf/roundtable07/Papineni.pdf       

หมายเลขบันทึก: 231277เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณ อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ขอบคุณภาพมงคลวิถีและความปรารถนาดีงาม ขอตอบแทนศรัทธาด้วยบทกวีครับ (ความบันใจจากภาพที่นำไปฝาก)

................

ทิวทองท้องทุ่งพุทธมณฑล

วิถีชนท้องถิ่นไม่ทิ้งทุ่ง

ค้อมเคียวเกี่ยวข้าวไว้พอยุ้ง

เก็บบัวใส่กระบุงไว้แบ่งปัน

นบน้ำแนบดินพระมาดา

ปักเฉลวปูชาฟ้าแดดสวรรค์

สืบญาติสืบยางไว้ยืนยัน

อดีตปรัตยุบันอนาคต

...

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

ทุ่งสักอาศรม

โอ้โฮ งามจริงๆครับอาจารย์ ใช่เลย-ใช่เลย หากทำภาพชุดนี้ได้สัก 20 รูป จะนำมาคุยกับอาจารย์อีกนะครับ อยากมีงานหนังสือกับอาจารย์เป็นหมายเหตุชีวิตนะครับ มีความสุข สุขภาพดี มีพลัง เพื่อเป็นความบันดาลใจของเด็กๆ และทุกผู้ทุกคนนะครับ

บันทึกนี้อ่านแล้วสนุกในการคิดตามมากค่ะ

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจถ้าจะมีใครนำไปสานต่อ เช่น การเรียนรู้ข้ามวงการ...

ประเด็นเรื่องคนทำงานขาดวัตถุดิบนี่ได้ยินมานานแล้ว รวมถึงได้ยินเสียงเพรียกหาต้นฉบับงานเขียนดี ๆ ที่หาได้ยากขึ้น นักเขียนบางคนก็หันเหไปทำงานแปลแทน เพราะรู้สึกว่าไม่อยู่ในภาวะที่สามารถจะเขียนได้

ขอบคุณค่ะ ที่ทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงความสด ไม่ว่าจะเป็นการด้นสดในศิลปะแขนงต่าง ๆ  รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับชีวิตแบบสด ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า จู่ ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้เลย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นฐานที่ดีพอ

กำลังแลกเปลี่ยนกับกัลยาณมิตรในประเด็นนี้อยู่ แต่รู้สึกว่าตัวเองอธิบายได้ไม่ชัดเจน อ่านบันทึกนี้แล้วแจ่มแจ้งขึ้น

และกำลังหาความสมดุลของวิธีการทำงานที่ต้องใช้ความสดและการเตรียมตัว แค่ไหนหนอจึงพอดี แต่สนุกดีที่จะค้นหา..

สวัสดีปีใหม่ 2552  ค่ะ อ.วิรัตน์

ขอให้มีไฟในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเบิกบานกับการเรียนรู้ในทุกย่างก้าวของชีวิตค่ะ ..^__^..

 

  • สวัสดีปีใหม่นะครับคุณใบไม้ย้อนแสง ขอให้ทุกวันนำมาซึ่งการเรียนรู้  ได้ความทรงจำแสนงาม ได้พลังชีวิต จะทุกข์สุขอย่างไรก็ขออย่าได้จิตตก  มีความงอกงาม  เติบกร้า เบิกบานใจและมีความรื่นรมย์ในชีวิตอยู่เสมอ

 

  • เรื่องหนึ่งที่สังคมไทยน่าเน้นที่จะทำมากๆก็คือ การทำเรื่องพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือ การอ่าน การเรียนรู้ การสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตเพื่อการเรียนรู้  จะมีพลังทรัพยากรมนุษย์และพลังทางปัญญาขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาตนเองของสังคมมากมาย พลเมือง ครอบครัว และชุมชน จะมีวิจารณญาณในการมีส่วนร่วมเรื่องต่างๆได้อีกมาก ผมก็เลยสนใจ เพราะจะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจำเพาะภายในวงการคนวรรรณกรรม  แต่เป็นเรื่องของสังคมส่วนรวมของคนทั่วไปเหมือนกัน  การมีเวทีที่เคลื่อนไหวเรื่องราวต่างๆ ของกลุ่มคนข้ามวงการ  น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยกันขยายกรอบความร่วมมือทำเรื่องดีๆให้มีพลัง 

 

  •   วันที่ไปได้คุยกับอาจารย์ประพันธ์ ศรีสุดาด้วย  อาจารย์จัดแสดงผลงานเดี่ยวที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ในช่วงนั้นพอดี  เคยดูงานและได้อ่านงานเขียนของอาจารย์มาบ้างพอสมควร  แต่วันนั้นได้ชื่นชมผลงานย้อนหลังของอาจารย์อย่างจุใจ  แล้วก็ได้คุยกับอาจารย์ด้วย  อาจารย์เป็นคนทำงานศิลปะรุ่นเก่าที่ทำงานหนักและมีความรอบด้าน  หลายเรื่องสามารถคุยเพื่อเขียนประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า จากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ได้เลย  ก็เรียกว่าเป็นการด้นในชีวิตที่นำมาซึ่งเรื่องราวใหม่ๆ เล็กๆน้อยๆ เสมอไงครับ

ยอมรับว่าไม่ค่อยสนใจงานเซอร์เรียลลิสต์ ศิลปินคนเดียวที่รู้จักว่าวาดแนวนี้คือ Salvador Dali รู้จักจากสไลด์ที่ฉายในชั่วโมงประวัติศาสตร์ศิลปะ และมารู้จักดีอีกทีก็ตอนน้องชายไปช่วยงานผลิตเสื้อเพ้นท์ให้ No Problem พอตัวไหนทำเสียก็ต้องเอากลับมาใส่เองที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นภาพของ Dali ทั้งนั้น ใส่จนเบื่อเลยจำได้ว่ามีภาพอะไรบ้าง : )

  • งานแนวนี้ คนส่วนใหญ่จะนึกถึง Dali ครับ โดยเฉพาะภาพที่สื่อถึงความเจ็บปวด ความอดอยาก และความทรุดโทรมของสังคมจากสงครามกลางเมือง
  • เลยเอางานแนวนี้าฝากครับ

                        

  • สังคมไทย ๒๕๕๒

                       

  • ฤาแห้งโหยทางจิตวิญญาณ ๒๕๕๑

                        

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท