๓. ศิลปะและการ์ตูนกับเด็กๆกำพร้า HIV


...หนูอยากเป็นอะไร พอฟังเด็กบอกว่าอยากเป็นอะไร ก็ยิ่งรู้สึกเจ็บร้าว...ฝันของหนูจะอยู่ถึงวันพรุ่งหรือเปล่าหนอ ยินเสียงสะท้อนอยู่ในใจ... จู่ๆใจก็แว่บขึ้นมาว่า ไม่ต้องรอตอบคำถามในอนาคตหรอก ลุงจะทำให้หนูเห็นความฝันตนเองเดี๋ยวนี้เลย ครั้นแล้ว พอเด็กคนหนึ่ง บอกว่าอยากเป็นพ่อครัว ผมก็เริ่มวาด..ภาพของหนูเป็นพ่อครัวอยู่ในภัตตาคาร คนมายืนคอยอยู่เต็ม เด็กเห็นแล้วตาเป็นประกายขึ้นมาทันที...

          ได้มีโอกาสร่วมจัดกระบวนการเพื่อเก็บข้อมูลวิจัย โครงการวิจัยเพื่อประเมินสภาวการณ์เด็กกำพร้าและเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก HIV/AIDS ในประเทศไทย และรูปแบบความช่วยเหลือ

          เป็นข่ายการวิจัยร่วมกันของ  สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  มหาวิทยาลัยมหิดล  กองกุมารเวชกรรม และภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน  วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏ 

         คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

         จัดว่าเป็นการระดมพลังการวิจัยแบบสหวิทยาการ ของเครือข่ายเชิงพื้นที่  ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ  ประสานงานเครือข่ายและบริหารจัดการแบบ Multi-Centers Co-ordination Management  สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ

           วันหนึ่ง ก็ลงไปทำกลุ่มเพื่อเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและระดมความคิดเห็นกับหลายกลุ่ม ในจำนวนนั้น  ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่กำพร้าพ่อ-แม่ จาก สาเหตุ HIV/AIDS ทีมวิจัยได้ไปจัดกลุ่มที่ศูนย์สุขภาพเขต 10 คลองเตย 

         ทีมดำเนินการคือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏ และนิสิตปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

         ผมไปช่วยจัดกระบวนการเวที  เพื่อระดมการคิดและสร้างการมีส่วนร่วม เก็บข้อมูล  ถอดบทเรียน และสร้างพลังให้กับกลุ่มผู้มีส่วนร่วมไปในตัว

          ไปเห็นเด็กๆ  วัยเดียงสา 20-30 คนที่เป็นเด็กซึ่งจะต้องเติบโตและเผชิญชีวิตโดยขาดพ่อ-แม่แล้วก็สะเทือนใจ  บางคนหงอยเพราะเป็นไข้รุมอยู่ตลอดเวลา บางคนปวดหัวและต้องกินยาอยู่เป็นระยะ

          ปรกติก็ไม่มีทักษะที่จะจัดเวทีเด็กอยู่แล้ว  เมื่อมาเจอเด็กๆที่ต้องอยู่ในสภาพดังกล่าวนี้ ก็คิดอะไรไม่ออกเลย ภายนอกแล้วก็ดูเหมือนจะสามารถทำกิจกรรมไปโดยปรกติ  แต่ข้างในแล้ว  จิตใจมันปวดร้าวและโหยไห้ไปกับเด็ก 

         ใจมันวิตกจริตไปก่อนว่า  ทุกเช้าค่ำของชีวิต พวกเขาจะต้องประสบกับอะไรบ้าง เขาจะรู้บ้างไหม  ว่าเขากำลังเจออะไร และวันข้างหน้า จะเป็นอย่างไร

          ระหว่างที่ต้องนั่งซึมอยู่นั้น ในทีมก็พาเด็กเล่นเกมส์ หนูอยากเป็นอะไร พอฟังเด็กบอกว่าอยากเป็นอะไร ก็ยิ่งรู้สึกเจ็บร้าว......ฝันของหนูจะอยู่ถึงวันพรุ่งหรือเปล่าหนอ.......ยินเสียงสะท้อนอยู่ในใจ

         จู่ๆใจก็แว่บขึ้นมาว่า ไม่ต้องรอตอบคำถามในอนาคตหรอก ลุงจะทำให้หนูเห็นความฝันตนเองเดี๋ยวนี้เลย 

          ครั้นแล้ว พอเด็กคนหนึ่ง บอกว่าอยากเป็นพ่อครัว ผมก็เริ่มวาด..ภาพของหนูเป็นพ่อครัวอยู่ในภัตตาคาร  คนมายืนคอยอยู่เต็ม  เด็กเห็นแล้วตาเป็นประกายขึ้นมาทันที

         เด็กคนหนึ่งเห็นเข้า  บอกว่า หนูอยากเป็นนักการเมือง  ผมก็วาด..ภาพของหนูยืนปราศัย  ท่ามกลางประชาชนเนืองแน่น

         หนูอยากเป็นนักบิน...ภาพของหนูและทีมบริการบนเครื่องบิน ยืนสง่าข้างเครื่องบินลำใหญ่ ก็ผุดขึ้นมาบนกระดาษให้เห็นโดยพลัน

         หนูอยากเป็นครู   เป็นพยาบาล   เป็นเจ้าของอู่รถ  เป็น...........เด็กๆตีวงเข้ามาบอกเล่าความฝันใฝ่ในอนาคตของตัว  เมื่อได้รูปวาดก็ดีอกดีใจ  หัวเราะคิกคักและเอาไปอวดกัน

         ผมวาดภาพฝันของเด็กเหมือนคนบ้า วาดทุกความฝันและทุกคน ให้เด็กๆได้สัมผัสฝันของตัวและถือติดมือไป  จิตใจทั้งร่ำไห้และปลื้มปีติ 

         หนูเอย แม้นว่าวันนี้หรือวันไหน ขอให้ความฝันและความหวังของหนูยังคงอยู่...เพราะสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นพลังชีวิต 

         ในท่ามกลางเคราะห์กรรมในชีวิตนั้น ผู้คนในโลกนี้ได้มีชีวิตแบบตายไปจากความฝันเป็นจำนวนมาก วันคืนที่เหลืออยู่ของหนู จึงงดงามและเต็มไปด้วยความโชคดีกว่าใครๆอีกมากมายนัก 

         จงฝัน เติบโต และเปี่ยมด้วยพลังชีวิต  อย่าให้ภูมิชีวิตที่มีอยู่  เลือนไปจากชีวิตของหนู.....

         เมื่อเสร็จสิ้นเวที  พี่เลี้ยงซึ่งเป็นอดีตนักทำกิจกรรมจากธรรมศาสตร์  ชวนเด็กๆอวดรูปความฝันและพาเด็กๆกล่าวขอบคุณ  ผมต้องกลับมาซึม เห็นภาพเด็ก ค้างอยู่ในความคิดคำนึงอยู่เป็นเดือน...

 

หมายเลขบันทึก: 25927เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หนูเอย แม้นว่าวันนี้หรือวันไหน ขอให้ความฝันและความหวังของหนูยังคงอยู่...เพราะสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นพลังชีวิต  ในท่ามกลางเคราะห์กรรมในชีวิตนั้น ผู้คนในโลกนี้  ได้มีชีวิตแบบตายไปจากความฝันเป็นจำนวนมาก  วันคืนที่เหลืออยู่ของหนู จึงงดงามและเต็มไปด้วยความโชคดีกว่าใครๆอีกมากมายนัก  จงฝัน เติบโต และเปี่ยมด้วยพลังชีวิต  อย่าให้ภูมิชีวิตที่มีอยู่  เลือนไปจากชีวิตของหนู.....

ขอบคุณ อาจารย์ วิรัตน์

คำว่า ART ของอาจารย์นั้น เป้นคำย่อของ คำว่า Anti Retroviral Therapy การให้ยาต้านไวรัส ของผู้มีเชื้อเอดส์ด้วย

ART นี้เองพลิกชีวิตเด็ก ที่อดีตจะป่วย และตายเร็ว ให้มาเป็นโรคเรื้อรัง มีชีวิตที่ดี แข็งแรง แต่ต้องกินยาตลอดชีวิด

มีข้อแม้อยู่ว่า การกินยาต้องอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ตลอด คือ มากกว่า 95% ถูกขนาด ถูกจำนวน และถูกเวลาเป๊ะ

ตามประสบการณ์ ของดิฉัน  5 ปี ที่ดูแลให้ยาเด็กที่เชียงราย ยังไม่เคยเจอสัก ราย ที่กินยาถูกต้องทุกอย่าง(โดยมีพยานการกิน 100%ด้วย )มีการดื้อยา

รายที่ดื้อยาล้วนมีสาเหตุจาก กินยาไม่ได้ 100% ทั้งสิ้น

ตอนนี้ ที่ทีม ดิฉัน เผชิญ คือ เด็กบางคน พอเข้าวัยร่น จะมีปัญหา ที่เคยกินยาสม่ำเสมอ เริ่มเบื่อยา หยุดยา

เป็นไปตามธรรมชาติ ของวัยรุ่นมังคะ

ที่ ต้องการ 3 ประการสำคัญ คือ เขาจะเข้าสังคม เขาอยากไม่อยากจะแตกต่างจากเพื่อนเลย และสุดท้าย ต้องการความแข็งแรงอยู่ยงคงกระพัน(invincibility)

 แต่ การมีเชื้อ HIV ทำให้ ทั้ง สามสิ่งที่เขาต้องการนั้น เป็นไปได้ยาก อ่านเพิ่ม ที่นี่

 เคยมีผู้ดูงานจากหนังสือ แฟชั่น ELLE จากฝรั่งเศส ขอสัมภาษณ์เด็ก

สัมภาษณ์ เสร็จ  บรรณาธิการที่มา ตุยกับทีมว่า ทำไม เธอไม่เข้าใจ ว่ามันยาก อย่างไร ในการกินยา เธอก็ต้องกินยาวันละ 2 ครั้งเช่นกัน เพียงแต่ไม่ต้องตรงเวลา ไม่ยากเลยนะ

ตอนที่เธอถามก็ ตอบไม่ได้ ตอนนี้ นืก ออก ว่าเป็นเพราะการทราบว่าตัวเองมีสภาวะมีเชื้อนี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต ของเด็ก

การเจอเรื่องนี้ ทำให้เกิดภาวะที่เรียก post traumatic stress ในทุกคน ไม่มากก็น้อย

เหมือนคนเคยเจออุบัติเหตุรุนแรงจะหลบเลี่ยง  ไม่ใช้รถ ไม่นั่งเครื่องบิน ไม่พูดถึง จะ หวาดกลัวมากกว่าคนอื่น และเกิดความเครียดมาก เมื่อต้องเจอเข้าจริง

เด็กวัยรุ่นเหล่านี้เช่นเดียวกัน

นาฬิกาปลุกเตือน การกินยา การเห็นกล่องยา เม็ดยา การที่ผู้ปกครองเตือน แม้แค่มาโรงพยาบาล พบหมอ พบพยาบาล ก็เป็นสิ่งที่เตือนเขา ทำให้เกิดเครียด เกิดทุกข์ ทุกครั้งที่กินยา

เลยเลี่ยง ไม่เห็น ก็ ทำให้ลืมไป พอจะประคองจิตให้เป็นสุขได้ ชั่วคราว ก็ ยังดี

ขอบคุณค่ะ สำหรับบล็อกนี้ จุดประกายให้คิดต่อได้ยาวเลย

 

     ผมสนใจอยากเรียนรู้และนำมาใช้ในเนื้องานที่กำลังรับผิดชอบในปัจจุบัน กับประเด็นนี้ครับ "การระดมพลังการวิจัยแบบสหวิทยาการ และบริหารจัดการแบบ Multi-Centers Co-ordination Management" ขอความกรุณาอาจารย์จะแนะนำอย่างไรได้บ้างครับ

คุณหมอรวิวรรณ และคุณชายขอบครับ  ต้องขออภัยอย่างแรงที่เพิ่งสามารถเข้ามาตอบครับ  ผมได้เข้ามาอ่านตั้งหลายวันแล้วด้วยความซาบซึ้งใจ แต่ต้องรีบไปทำงานต่างจังหวัดเสีย 3-4 วันครับ  พอกลับมาก็เจองานติดพัน  กระทั่งเพิ่งสามารถเข้ามาอีกได้ในวันนี้ครับ 

ขอบคุณมากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยน  ไม่เพียงรู้สึกเป็นเกียรติมากเป็นอย่างยิ่งที่เป็นท่านทั้งสอง ทว่าได้ปัญญา ได้ความกระจ่าง ได้แนวการทำงานส่งเสริมสุขภาพที่ผสมผสานมากเป็นอย่างยิ่ง

วิธีคิดที่คุณหมอรวิวรรณช่วยแสดงแง่มุมที่ช่วยเชื่อมโยงความรู้และกลวิธีที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นสำหรับการทำงานกับกลุ่มทางสุขภาพที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษนั้น นอกจากช่วยการคิดที่เป็นระบบแล้ว ทำให้ผมสามารถมีแนวเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกันจากอีกศาสตร์หนึ่งด้วยวิธีที่ง่ายและเชื่อมต่อกับเรื่องเดิมที่ผมพอมีฐานอยู่  ขออนุญาตนำไปใช้เพื่อเป็นตัวเชื่อมวิธีคิดและองค์ความรู้ทาง Art / Health Science และ Positive Social Psychology เลยนะครับ  ดีจริงๆ และให้แรงบันดาลใจอย่างมากครับ

จากเมื่อครั้งลงไปช่วยเขาทำกระบวนการดังที่เล่ามาในบันทึกนี้  ก็ได้รับรู้จากผู้ป่วย  อาสาสมัครจากผู้ป่วย  อาสาสมัคร  และคนทำงานของ กทม ว่าการรับยาและการกินยาให้ครบ  ไม่เพียงมีปัญหาในกลุ่มเด็กกำพร้านี้เท่านั้น  ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็มีปัญหามากเลย  ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องทางจิตสังคมมากเป็นอย่างยิ่ง...

หลายคนไม่ต้องการติดต่อขอรับยาหรือไปพบปะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครบ่อยจนเป็นที่สังเกต  เลยไม่เปิดเผยตน  ไม่ไปรับยาและทำให้การเข้าถึงยาจัดการยากมากขึ้น  ไม่ค่อยอยากไปหาหมอหรือช่วยตนเองจนกว่าอาการจะทรุดหนัก   ทั้งหมดก็เพื่อไม่ต้องการให้คนรอบข้างและชุมชนรู้  (แบบแผนนี้เด่นชัดจำเพาะในเมืองใหญ่อย่าง กทม  ชนบทและต่างจังหวัดมากๆ หลายที่  ชุมชนสามารถยอมรับและร่วมกันดูแลญาติพี่น้องของตนเองได้) เพราะมันหมายถึงจะต้องตกงาน  การบาดเจ็บทางจิตใจ  และการบาดเจ็บทางจิตสังคม  ขอบคุณมากอย่างยิ่งครับ

เรื่องการระดมพลังการวิจัยแบบสหวิทยาการและการบริหารจัดการแบบ Multi-Center Coordination  ที่คุณชายขอบชวนแลกเปลี่ยน ก็คงต้องบอกตรงๆว่า อยู่ในกลุ่มที่กำลังเรียนรู้และพัฒนาทักษะทั้งของตนเอง  ทีม  และ เครือข่าย  หลายเรื่องเชื่อว่าคงทำได้ไม่ดีเท่าที่คุณชายขอบและเครือข่ายทางภาคใต้ทำ  แต่บางเรื่องก็ได้บทเรียนและเป็นฐานประสบการณ์เพื่อการริเริ่มสิ่งใหม่ๆให้ดีกว่าเดิมได้

มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า  วิจัยเป็นทีม  เป็นเครือข่าย  และเป็นสหวิทยาการนั้น เวลาทำอะไรได้ ก็จะได้ความรู้และการสร้างคนที่มีศักยภาพดีไปด้วย  แต่พลังที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้.....

  • ทีมและกลุ่มเป็นทั้งเครื่องมือวิจัยและกลไกบริหารจัดการแบบหลายโหนด

           วิธีวิเคราะห์ ปฏิบัติการวิจัย และวางแผนขับเคลื่อนทุกจังหวะ ต้องใช้กระบวนการกลุ่มเป็นเครื่องมือ  วัฒนธรรมกลุ่มและพลังความเป็นตัวของตัวเองสำคัญมาก  แต่ทุกคนต้องปรับวิธีประชุมที่ไม่ใช่เรื่องธุรการ ให้เป็นเวทีกระบวนการ  ซึ่งในที่สุดก็จะเหลือคนที่ทานทนได้ไม่มากนัก  แต่ก็ใช้ได้ครับถ้าไม่เอาความสำเร็จที่วางไว้ในรอบแรกเป็นตัวตั้ง

  • ถอดบทเรียน สร้างความรู้และยกระดับศักยภาพ และวางแผนกลับสู่วงจร

           ผมใช้การถอดบทเรียน  สังเคราะห์ข้อมูลบนเวที และวางแผนปฏิบัติการกลับเข้าสู่วงจรปฏิบัติใหม่  พร้อมกับเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการที่ลดภาระงานที่จะต้องทำต่อเนื่องนานๆ  ให้เสร็จเป็นส่วนใหญ่ด้วยโจทย์ย่อยๆในเวที  เป็นทางหนึ่งของการจัดการทีม จัดการความรู้  สื่อสาร และขยับกระบวนการที่ต้องประสานงานของหลายกลุ่มไปในตัวครับ

  • คนต้องบูรณาการและเป็นนักประสานงานสหสาขาตั้งแต่ระดับปัเจก

          คนประสานงาน  ทีมเลขา  ทีมผู้ช่วยนักวิจัย  ต้องฝึกทักษะที่รอบด้าน  พึ่งตนเองได้สูง  มีภาวะผู้นำเชิงวิชาการดี  ทำงานได้ทุกลูก

          สามเรื่องนี้พอจะแลกเปลี่ยนได้ครับ  แต่อื่นๆนี่ก็เรียนรู้เอาจากงานสนามล่ะเป็นดีที่สุดครับ  ที่สุดแล้ว  อยากจะบอกว่า จิตใจที่อดทน  จริงใจ  ซื่อตรง  ไม่มีเลศนัย พร้อมเดินเข้าหา เปลี่ยนแปลงตนเอง และพร้อมจะแลกจุดยืนที่เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดแต่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง.............ใช้หัวใจ ความจริงใจ และทอนตัวตนของตนลงให้ได้มากๆ  อาจจะเป็นตัวช่วยที่ได้ผลดีที่สุดครับ

         ในส่วนประเด็นการขับเคลื่อนและเครือข่ายเพื่อบริหารจัดการแบบสหสาขาในพื้นที่ของคุณชายขอบและเครือข่ายนั้น  ศูนย์เครือข่ายที่เป็นศูนย์จัดการย่อยๆ ที่น่าสนใจเยอะนะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท