๒๔.ศิลปะเพื่อการวิจัยและพัฒนาสุขภาวะ


เครือข่ายประชาคมพุทธมณฑลเพื่อสุขภาวะสาธารณะ กับเครือข่ายวิจัยและพัฒนาสุขภาวะชุมชนแนวประชาคม จะจัดกิจกรรม สื่อสานสุขภาวะสาธารณะชีวเกษม เสาร์ ๗-จันทร์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ถนนพุทธมณฑล สาย ๔ อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม

มีนิทรรศการศิลปะกับงานวิจัยชุมชนและศิลปะเพื่อการภาวนา โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ปาฐกถา เสวนา กับคนทำงานชุมชน นักวิจัย คนทำงานสุขภาพชุมชน กลุ่มประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ มีขายหนังสือ แจกเอกสารและเผยแพร่สื่อสำหรับคนทำงานศิลปะ นักวิจัยชุมชน คนทำงานแนวประชาคม กลุ่มชาวบ้านและชมรมเพื่อการทำงานเชิงสังคม

พบหมู่มิตรและอยู่ในบรรยากาศรื่นรมย์ งดงาม เรียนรู้ และฟรีตลอดรายการ คลิ๊กเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในนี้ครับ สื่อสานสุขภาวะสาธารณะชีวเกษม 

หมายเลขบันทึก: 311162เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (45)

อาจารย์ครับ

ขอบคุณสำหรับประชาสัมพันธ์นี้นะครับ เอ...ร้านหนังสือเบิกม่าน อยู่ตรงไหนเหรอครับ??

สำหรับการเตรียมงาน ผมสามารถช่วยอะไรได้บ้างครับ>?

 

หากมีเวลา ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เดินไปตัวว่างๆ สบายๆ แล้วไปนั่งคุยให้คนทำงานได้ใช้เป็นข้อมูลเปิดหัวข้อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันให้หลากหลาย ก็จะเชิญร่วมนั่งเสวนาด้วยความยินดีมากเลยนะครับ ไปกินข้าว ร้องเพลง เล่นดนตรี อ่านบทกวี อยากคิดและอยากแบ่งปันสิ่งดีอย่างไรก็เชิญได้เลยครับ เอ หนานเกียรติหายไปไหนหมู่นี้ ขอเชิญด้วยเลยนะครับ หากไปในวันเปิดตอนเย็นวันศุกร์ได้ ก็จะชวนนั่งเสวนาด้วยเลย คนคงไม่เยอะหรอก แต่เวทีนี้มีประสบการณ์ทำสิ่งต่างๆในเงื่อนไขแวดล้อมยากๆมากกว่า ๑๐ ปี แล้วก็คุยกันสบายๆครับ

เรียน อาจารย์ครับ

ผมจะไปในวันเปิดครับ ตอนช่วงเย็นๆ ...ยินดีเข้าไปร่วมนั่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาครับ

พี่หนานเกียรติ เดินทางไป de musoi ที่ดอยมูเซอ ตากครับ คิดว่าจะกลับวันอาทิตย์นี้ และมีประชุมงานที่โรงเเรมใน กทม. ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ นี้ครับผมจะได้พบพี่เขาอีกครั้งก็วันนั้นเลย

หากมีหนังสือแจก บทความที่อยากแบ่งปันกับผู้คน ก็ขนไปวางได้ตามอัธยาศัยเลยนะครับ บรรยากาศเหมือนศาลาวัด จะมีข้าวห่อใบบัวด้วย เพื่อนๆ พี่ๆน้อง ป.เอก ป.โท อยากไปนั่งเปลี่ยนอริยาบทชีวิต แต่ได้ความสร้างสรรค์ทางประสบการณ์ไม่น้อยไปกว่าในเวทีวิชาการ ก็เชิญด้วยเช่นกันครับ

สวัสดีครับ อาจารย์วิรัตน์ กณรุณาลบ คห.ที่ 5 ให้ด้วยครับ " ถ้าไม่ติดภาระกิจ อยากไปร่วมฟังครับ"

"

จริงด้วยครับ อย่างวอญ่าผู้เฒ่านี่ ต้องงานแนวนี้นะครับ แต่ครั้งนี้ก็เป็นการชิมลางเพื่อเตรียมทำงานถอดบทเรียนและจัดอีกครั้งครับ

อาจารย์ครับ

ผมเพิ่งทราบว่าร้านเบิกม่าน อยู่ห่างจากที่พักผมไม่เกิน ๑๐๐ เมตร 

Believe it or not !!!

ผมจะชวนเพื่อน ๆ แวะไปจุดประกายและหาแรงบันดาลใจที่งานนี้ด้วยนะครับ...

มีแผนที่ให้ด้วยหรือนี่ ดีจังเลยนะครับ

แวะไปผ่อนคลายนะครับคุณดิเรก เติมความสุขเล็กๆให้กับชีวิต แต่ส่วนที่เป็นกระบวนการเรียนรู้คือการร่วมกันค้นหาและร่วมสร้างพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ เพื่อได้ความสุขทางจิตใจในสภาพแวดล้อมของสังคมเมือง

ร้านเข้ากรอบรูปซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีหนึ่ง เอารูปที่นำไปเข้ากรอบมา ๔๗ รูปมาส่งให้แล้วครับ ประทับใจและทึ่งมากเลยว่าเขาทำกรอบได้สวยงาม เรียบร้อย และนำมาส่งให้ก่อนเวลาที่คาดหวังเสียอีก แต่เดิมนั้น รูปเยอะขนาดนี้ก็คิดว่าน่าจะเสร็จอย่างเร็วก็ตอนเย็นวันศุกร์นี้ แต่นี่กลับเสร็จก่อนตั้งครึ่งวัน เลยมีเวลาพิถีพิถันให้กับการติดตั้งได้อีกเยอะเลย

                  

ดูงานแล้ว หลังจากการจัดเวทีครั้งนี้ ซึ่งขอถือเป็นเวทีซ้อมและพัฒนารูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยและงานวิชาการแก่สาธารณะอย่างนี้ไปด้วยแล้ว ก็เห็นแนวทางทำองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาเสริมให้ลงตัวมากยิ่งๆขึ้นได้อีกหลายอย่าง ได้บทเรียนอย่างไรแล้วจะนำมาถ่ายทอดไว้ในนี้ให้แก่ผู้ที่สนใจครับ

สวัสดีค่ะ

น้ำยายไหยยืด

จะได้มาสนุกสนานกับบรรยากาศงานวัดด้วยมั๊ยน้า

ได้ผลอย่างไรแล้วจะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังแก่คุณณัฐรดาและทุกท่านที่สนใจนะครับ ช่วยกันเตรียมสบายๆครับ ไม่ดันทุรังใส่ความคิดความคาดหวังเกินไปกว่าการดำเนินชีวิตปรกติ เพราะอยากจะลองหาวิธีทำที่เราจะสามารถทำได้อีกเรื่อยๆและนานๆครับ 

โอกาสหน้า หากเห็นวิธีจัดได้ดีๆ จะเชิญชวนคุณณัฐรดาด้วยนะครับ รวมทั้งจะชวนชมรมศิลปะสีน้ำของโอเคเนชั่นด้วยนะครับ บอกกล่าวเสียแต่เนิ่นๆเลย  แต่ครั้งหน้านี้คาดว่าจะไปต่างจังหวัดครับ ไม่ไกลหรอกครับ

สวัสดีค่ะพี่ชาย

P
  •   ถ้าอยู่ใกล้ๆสุขภาพดีๆ ขับรถมาชมงานเองแล้วค่ะ

         

  เห็นภาพท่านั่งนี้แล้วนึกถึงน้องสาวของพี่จัง กิริยามารยาทเหมือนกับเปี๊ยบเลยค่ะ

               

รายงานภาพ นิทรรศการศิลปะและเวทีเสวนาชุมชน : สื่อและศิลปะสานสุขภาวะสาธารณะชีวเกษม

เมื่อวานนี้งานได้เปิดและเริ่มแสดงแล้วครับ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๐๐-๒๑.๐๐ น. เลยขอนำภาพกิจกรรมมารายงานเพิ่มอีกครับ

                     

งานนี้เหมือนกับจะเป็นการพัฒนาการเผยแพร่ผลการวิจัยและการจัดเวทีวิชาการในเชิงปฏิบัติการสังคม แนวคิดและเนื้อหาหลักของเวทีเป็นเรื่องสุขภาวะสาธารณะแบบชีวเกษม และประเด็นที่นำมาจัดกิจกรรมกันก็คือ สื่อและศิลปะเพื่อวิจัยและพัฒนาสุขภาวะสาธารณะ

สุขภาวะสาธารณะเป็นทั้งเป้าหมายและมรรควิถีดำเนินชีวิตทั้งของปัจเจกและของชุมชนระดับต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาเพื่อยกระดับให้มีความละเอียดประณีตให้มากยิ่งๆขึ้นได้ นับแต่จากความสุขที่ขึ้นต่อวัตถุ สิ่งกระตุ้น และปัจจัยภายนอกสู่ความสุขทางปัญญาและความสุขทางจิตใจระดับต่างๆ  ซึ่งจุดหมายสูงสุดทางสังคมก็คือ ความสุขอันสมบูรณ์ที่ปราศจากทุกข์ ในทางพุทธศาสนาก็มีแนวคิดดังกล่าวที่เรียกว่าภาวะนิพพาน และถ้าหากเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็สามารถเรียกการดำเนินชีวิตดังกล่าวได้ว่าการมีวิถีชีวิตอันเกษม ซึ่งเป็นภาวะสูงสุดในวิธีคิดที่เป็นวิถีแห่งปัญญาเกี่ยวกับ มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

สภาพแวดล้อมปัจจุบัน สุขภาวะสาธารณะดังกล่าว ควรให้ความสำคัญต่อการที่ปัจเจก กลุ่มก้อน และชุมชนระดับต่างๆ จะมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะแบบปัจเจก ให้มุ่งสู่ความเป็นสุขภาวะสาธารณะให้มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากการที่สังคมในกระแสหลักของการพัฒนานั้น มักถูกแรงกดดันให้มุ่งเอาตัวรอด เห็นแก่ตัว มุ่งได้ความสุขอย่างหยาบ ฉาบฉวย และมีขอบเขตอยู่เพียงตนเอง มุ่งความเป็นตัวกูของกูที่เหนือกว่าผู้อื่น และสร้างสังคมให้แข่งขันกันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

วิถีสังคมดังกล่าวจะทำให้คนส่วนน้อยเอาตัวรอดได้ แต่สุขภาวะของส่วนรวมจะขาดการดูแล สังคมเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน อีกทั้งคนส่วนน้อยที่เอาตัวรอดได้ ก็ได้ความสุขที่กอปรด้วยทุกข์ที่ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นสุขภาวะที่ไม่ยั่งยืน

วิธีการและกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาความสุขอย่างหยาบของปัจเจกให้เพิ่มพูนความเป็นสุขภาวะสาธารณะและมีความละเอียดประณีต ลดเบียดเบียนและก่อทุกข์ ลดการสร้างผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสังคม แต่เพิ่มพูนการให้คุณค่าทางด้านจิตใจและเพิ่มพูนสุขภาวะในวิถีแห่งปัญญาให้มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับนั้น มีอยู่หลายแนวคิดและหลากหลายวิถีปฏิบัติ สื่อและศิลปะเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะสาธารณะก็เป็นแนวทางหนึ่ง

หากเราพัฒนาและสร้างความรู้เพื่อชี้นำ ขยายผลให้แก่การพัฒนาภาคสาธารณะของสังคมโดยกระบวนการและวิธีการอย่างนี้ให้ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและในเมืองต่างๆของชนบททั้งในประเทศไทย หมู่ประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนประเทศที่อิ่มตัวหรือล้นเกินทางวัตถุมากแล้ว ก็จะทำให้สังคมสามารถจัดการภาวะกดดันจากความเปลี่ยนแปลงและการพัฒาตนเองอันซับซ้อน ให้ปัจเจกและความเป็นส่วนรวม มีสุขภาวะสาธารณะที่ยกระดับที่มีความงดงาม ดีงาม ศานติ และสงบเย็น ปราศจากทุกขภาวะได้ดีกว่าการขึ้นต่อวัตถุและปัจจัยกำหนดจากภายนอกอย่างเดียว ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

การพัฒนาทางสังคมและการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะยิ่งมีทางเลือกที่ดีๆมากยิ่งๆขึ้น บทบาททางศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศาสตร์การพัฒนาทางสังคม ก็จะเห็นความลงตัว สมดุล บูรณาการกันได้ ไม่แยกส่วน พอเพียง ได้ดีมากยิ่งๆขึ้น

การนำมาจัดแสดงและเผยแพร่นี้ เป็นการบูรณาการเข้ากับการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่ทำงานเชิงสังคมและเรียนรู้ไปด้วยกันโดยโครงสร้างแนวราบ เข้าไปศึกษาแนวคิดและบทเรียนกรณีต่างๆจากหัวข้อวิถีประชาศึกษาของผมได้ครับ

                     

                    

                    

                    

ช่วยกันทำอย่างพึ่งแนวคิดและการลงมือของตนเองให้มากที่สุดครับ ติดและทำงานทางความรู้อย่างมากมายที่สุดเพื่อสะท้อนลงสู่การลงมือทำเล็กๆให้พอเพียงกับกำลังของทุกคนที่จะทำและเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

                    

                    

ผลงานมีความหลากหลายอย่างทุ่มทุนสร้างครับ โดยไม่สนใจว่าจะมีคนมาดูและร่วมกิจกรรมมากน้อยเพียงใด เราคำนึงถึงแต่ทำอย่างที่สุดที่เราทำได้ภายใต้เหตุปัจจัยที่เอื้อให้ทำ มีงานจิตรกรรมของท่านเขมานันทะ หรือท่านโกวิท เอนกชัย ศิษย์สวนโมกข์และศิลปินแห่งชาติ  งานประติมากรรมดินเผาของนายดี ช่างหม้อ การจัดวางดอกไม้ ของคณะครูและเจ้าของโรงเรียนอนุบาลพลอยภูมิ โรงเรียนวิถีพุทธของเอกชนในแนวผสมผสานการศึกษาทางเลือกแห่งหนึ่ง ผลงานจิตรกรรมสีน้ำของคุณแหม่ม นัฏนันท์ สุวรรณรัตน์ ศิลปินหญิง

                    

                    

                    

                    

ในส่วนผลงานของผมนั้น เป็นผลงานจิตรกรรมทั้งหมดกว่า ๕๐ ชิ้น ประกอบด้วยงาน ๓ ชุดในปี ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นงานสีน้ำบันทึกข้อมูลและสภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะนำเสนอและเผยแพร่ผลการวิจัยขับเคลื่อนกลุ่มประชาคมในชุดวิถีสังคมชาวนาบัว ซึ่งทำขึ้นและจัดแสดงที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มมหาวิทยาลัย ไปครั้งหนึ่งแล้ว และผลงานในช่วงปลายปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ ซึ่งเป็นงานเขียนบันทึกข้อมูลและเผยแพร่งานวิชาการในบล๊อกโอเคเนชั่นกับบล๊อก GotoKnow

                    

งานนี้เชิญคุณแม่งึ้น เทียมปฐม อายุ ๙๓ ปี มาเป็นประธานเปิด คุณแม่งึ้นเป็นคุณแม่ของนายแพทย์วัฒนา เทียมปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑล ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิจัยชุมชนของเราด้วย คุณแม่งึ้นเคาะระฆังรัวสามรา ด้านข้างซ้ายคือ รองศาสตราจารย์จิตรประภา ศรีอ่อน อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล 

                     

                    

กิจกรรมวันเปิดนี้ เริ่มต้นจากกราบอาราธนาพระเดชพระคุณท่านพระครูปิฎกวัฒน์ แห่งวัดญาณเวศกวัน มาเป็นกำลังใจและเสริมกำลังสติปัญญาแก่เวทีโดยแสดงปาฐกถานำ เรื่อง สุขภาวะสาธารณะชีวเกษม จากนั้น ก็นิมนต์ท่านได้เมตตาชื่นชมดูความคืบหน้าของการทำงานเชิงสังคมแนวนี้ในระยะ ๑๑ ปีที่ผ่านมาโดยดูงานนิทรรศการรูปเขียนร่วมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม พระคุณเจ้าเป็นวิทยากรแก่เวทีอย่างนี้ให้แก่กลุ่มประชาคมและเครือข่ายที่ทำงานในแนวนี้มาตลอด ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา

                     

                    

ศิลปะก็เหมือนอาหารใจและสิ่งหล่อเลี้ยงทางมโนปัญญา ในอีกมิติหนึ่งเลยมีอาหารกาย คือ ข้าวห่อใบบัว เพื่อเรียนรู้และเจริญสุขภาวะสาธารณะจากการบริโภคที่มีการเรียนรู้และมีองค์ประกอบแห่งสติปัญญา

จากนั้นก็นั่งสนทนาสร้างความคุ้นเคยและความเป็นญาติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันสิ่งดีในชีวิตให้แก่กัน บรรยากาศเหมือนกับการนั่งกินข้าวด้วยกันบนศาลาวัดในวิถีชนบท เพื่อสานพลังทุนทางสังคมที่มีอยู่แต่เดิมของสังคมชนบทไทยในกลมกลืนเข้ากับวิถีสังคมเมืองอย่างไม่แยกส่วนขาดตอนจากกัน

จนถึงสามทุ่ม นอกจากเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มและเวทีเรียนรู้อย่างนี้ที่จะต้องมีการตกผลึก หาบทเรียน และสังเคราะห์ให้ได้หลักคิดและบทเรียนดีติดตัวกลับออกไปใช้ในชีวิตและการงานสักระยะหนึ่งแล้ว ฝนก็กลับตกลงมาอีก

                     

เลยมีคนเหลืออยู่กลุ่มหนึ่งที่นั่งคุยกัน ร้องเพลง และให้ผมสาธิตเป่าขลุ่ยไทยให้ฟัง ผมเป่าเพลงลาวดำเนินทราย | ทานตะวัน ของ ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี  | และบางท่อนที่มีระดับเปลี่ยนเป็น ๓ ชั้นของ เพลงแขกวรเชิด ซึ่งมีเค้ามาจากเพลงแตรวงบางเพลงของวังบ้านหม้อ เป็นที่ถูกอกถูกใจของหมู่มิตร แต่ก็ดูทำหน้าประหลาดใจที่ผมเล่นเพลงไปก็ให้การเรียนรู้ไปด้วยว่า ที่ผมเป่าอยู่นี้ไม่ใช่เพลงขลุ่ยแต่เป็นทางเดินของคลาลิเน็ตและแซกโซโฟน ผมไม่เคยหัดขลุ่ยและไม่รู้นิ้วมือของขลุ่ยเลย แต่มีพื้นฐานจากการเล่นแตรวง และสามรถเป่าเพลงขลุ่ยแบบทดระดับคีย์ไปทั้งหมดในเพลงต่างๆได้ เพราะผมเล่นคลาลิเน็ต แซกโซโฟนทั้งเทอนเนอร์ อัลโต้ และแซกโซโฟนได้ หากเป็นงานเชิงสังคมก็เรียกว่าในแต่ละเรื่อง แต่ละเงื่อนไขนั้น เราสามารถเปลี่ยนทั้งชุดเหมือนเปลี่ยนกระบวนทรรศน์หรือเปลี่ยนองค์ประกอบต่างๆไปทั้งกระบิได้นั่นเอง 

                     

เมื่อกลับออกไปทำงาน เครือข่ายจากเวทีของเราก็จะมีโอกาสสะท้อนสิ่งต่างๆไปสู่การทำงานและการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาและพึ่งตนเองในการนำการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา การทำธุรกิจและประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งการเป็นจิตรกรและนักวิชาการอิสระ ต่อเนื่องและคู่ขนานกับการดำเนินชีวิตตลอดไป

สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์

ผมแก้ไขรูปภาพและข้อความอยู่พอดี พอโพสต์กลับเข้ามาใหม่ก็เจอของคุณครูจุฑารัตน์น่ะครับ อันที่จริงงานนี้ต้องให้คุณครูจุฑารัตน์และลูกศิษย์ รวมทั้งชาวหนองบัวได้มาดูด้วยกัน หรือต้องไปจัดที่หนองบัว เพราะบรรยากาศเป็นเรื่องเกี่ยวกับบัว ชุมชนชาวนาบัว ปรัชญาและภูมิปัญญาเกี่ยวกับบัว รวมทั้งงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับระบบคิดที่สื่อผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับบัวและวิถีชีวิตชุมชนได้ แต่ไม่เป็นไร กำลังคิดและเตรียมการอยู่ว่าจะไปจัดที่หนองบัวและบ้านเกิดที่ห้วยถั่วด้วยครับ

ระยะนี้คงต้องฝืนตนเองไม่ให้รีบเร่งไปทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวแรงๆที่จะทำให้กระดูกเชื่อมต่อกันไม่ดีนะครับ ขอให้สุขภาพดีวันดีคืนนะครับ คนทำงานเก่ง ดี และอยู่กับการงานเพื่อเด็กๆ มีเทวดาและคุณพระคุ้มครองอยู่แล้วเนาะ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เห็นภาพกิจกรรมนี้แล้วรู้สึกปลื้มปีตีสุขใจ

สงสัยชื่อสมณศักดิ์ของท่านพระครูปิฏกวัฒน์ ไม่ทราบพิมพ์ตกหล่นไปหรืออย่างไร

อาตมาคิดว่าชื่อเต็มๆ น่าจะเป็นพระครูปลัดปิฏกวัฒน์

ท่านเป็นพระฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)

ถ้าได้เลื่อนสมณศักดิ์ก็เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ(ชื่อหลังนี้มีชื่ออยู่ในวัดญาณเวศกวัน)

ท่านคงไม่ถือสาอะไร ถ้าถูกต้องแล้ว ก็ขออภัยด้วย

เจริญพร

ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องนี้ อยู่ครับ

เอาภาพข้าวห่อใบบัวมามาประเดิม

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ถูกต้องอย่างที่พระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลมานี้แหละครับ

ต้องขอกล่าวถึงคนสำคัญอีกท่านหนึ่งสักหน่อย คือ คุณเอก จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร

งานนี้มีคุณเอกบล๊อกเกอร์ขวัญใจของชุมชนบล๊อกเกอร์ GotoKnow นี้ไปช่วยกันด้วย เห็นความเป็นผู้มีพลัง ทำงานได้เร็วและยืดหยุ่นสูงได้ดีมากจริงๆ แทบจะเรียกได้ว่าการจัดกลุ่มติดตั้งงานให้มีความหมาย การวางแนวคิดเพื่อกุมองค์ประกอบทั้งหมดให้อยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว รวมทั้งการแขวนรูปทั้งหมด เป็นผลงานจากแรงคิดและแรงมือของคุณเอก

หากสังเกตดูดีๆแล้ว จะเห็นรูปเขียนเกือบทั้งหมดไม่มีบอร์ดและผนังติดครับ ต้องใช้เอ็นแขวนคานให้ลอยอยู่กลางอากาศแทบทุกรูปเเกือบ ๘๐ รูป รูปที่ติดตามเสาและคาน ด็เดินตอกตะปู

ทั้งหมดนี้เป็นคอนเซ็ปและฝีมือแรงกายแรงใจของคุณเอก จตุพรมากกว่าครึ่งหนึ่งครับ ช่วยทำกับชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและชาวพุทธมณฑลอย่างกับรู้มือกันสัก ๑๐ ปี  พอวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเปิดก็ได้แวะไปร่วมกิจกรรมอีกทั้งวัน พลังชีวิตเยอะจริงๆ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กลับมาอ่านอีกครั้ง "ผลงานมีความหลากหลายอย่างทุ่มทุนสร้างครับ โดยไม่สนใจว่าจะมีคนมาดูและร่วมกิจกรรมมากน้อยเพียงใด เราคำนึงถึงแต่ทำอย่างที่สุดที่เราทำได้ภายใต้เหตุปัจจัยที่เอื้อให้ทำ"

ประทับใจท่านประธานเปิดงานโยมคุณแม่งึ้น เทียมปฐม อายุ ๙๓ ปี ดูอบอุ่นน่ารักจัง

อ.วิรัตน์ แนะนำตัวก่อนค่ะ อยู่จ.แพร่ ได้มีโอกาสร่วมเรียนรูกับอาจารย์2 ครั้ง ที่

โรงแรมภูมิไทยการ์เด้น เวทีนักสื่อสารุสขภาพ (ของอ. ดวงพร) ได้ใช้วิทยายุทธ์ที่ได้รับจากอาจารย์ในการปรับใช้การทำงาน มากๆ ต้องขอบพระคุฯค่ะ การเขียนเรื่องลงในบล็อกgotoknow ก็ได้ดูของอาจารย์ที่มาแพร่ ครั้งแรก ดีใจที่อาจารย์เข้ามาเขียนเรื่องเล่า ที่ทำให้พวกเราได้อ่านและเห็นสิ่งดี

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ผมก็เช่นกันครับ ประทับใจและปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด เพราะคุณแม่งึ้นนั้น เป็นคนดั้งเดิม สามีก็เป็นชาวบ้านดั้งเดิมที่ถือว่าเป็นปัญญาชนชาวบ้านซึ่งมีบทบาทหลายอย่าง ทั้งเป็นคนที่มีภูมิรู้มากมายและยาวนานเกี่ยวกับชุมชนนครชัยศรีและท้องถิ่นพุทธมณฑล เป็นนายกองนาคอยเก็บภาษีที่ดิน ของผืนดินซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเจ้านายหลายพระองค์ รวมทั้งสร้างวัดและศูนย์รวมจิดใจหลายอย่างของชุมชน ดังนั้น แม่งึ้นจึงเสมือนเป็นประวัติศาสตร์มีชีวิตทั้งของชุมชนท้องถิ่นพุทธมณพลและประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของประเทศครับ

ตอนที่พวกเรากราบเรียนเชิญแม่งึ้นให้เมตตาเป็นประธานเปิดนั้น แม่งึ้นก็ไม่ลังเลและไม่รีรอเลย พวกเรารุ่นลูกหลาน เตรียมระฆังแขวนไว้และมีเหล็กเคาะให้เป็นสัญญาณเปิดงาน แม่งึ้นก็ยื่นมือรับเหล็กเคาะระฆังแล้วก็ตรงแน่วไปยังระฆัง เอื้อมมือซ้ายจับยึดไว้ แล้วก็ตีรัวถี่ๆ ๓ รอบ ผมได้ยินแล้วก็ต้องยิ้มครับ เพราะผมฟังออกว่าแม่งึ้นตีรัวแบบเสียงกลองเพลงนั่นเอง

                    

                     ซ้าย รองศาสตราจารย์จิตรประภา ศรีอ่อน อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และศิษย์เก่าดีเด่นของคณะพยาบาลศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลาง แม่งึ้น เทียมปฐม และริมขวาสุด คุณสุวรีย์ แสวงสุข ครูสอนโยคะ นักแปล และนักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นและบ้านอยู่ใกล้ๆกับที่จัดงาน

ขนาดอายุ ๙๓ ปีแล้วสังเกตไหมครับว่าแม่งึ้นนั่งและเดินหลังตรงแหนวเลย สายตาก็ยังดี ไม่ต้องใส่แว่น หูก็ยังได้ยินชัดเจน  เลยเป็นความงดงามและเป็นกำลังใจที่สมบูรณ์มากสำหรับเวทีครับ เพราะเจ้าประคุณพระครูปลัดปิฎกวัฒน์ ก็เมตตาเป็นประธานพิธีและปาฐกถานำ แม่งึ้นก็เป็นเหมือนพรหมที่เปิดกิจกรรมศิลปะและสื่อสานสุขภาวะสาธารณะแบบชีวเกษมของเราครั้งนี้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์

เสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมงาน ทราบจากคุณเอกหลังจากงานผ่านไปแล้ว

ต้ังใจจะพาเฌวาไปชมนิทรรศการด้วยครับ

แต่อาการไข้ของเฌวายังหายไม่ขาด

P
ท้องฟ้า สวัสดีครับคุณท้องฟ้า จำได้ครับ ประทับใจกับเครือข่าย นสส.แพร่ในแง่ความเป็นเครือข่ายที่เดินออกมาทำงานของจังหวัดและท้องถิ่นด้วยกัน ด้วยน้ำใจและความสำนึกต่อส่วนรวมของท้องถิ่นคู่ขนานไปกับการทำงานในองค์กรของสมาชิกแต่ละคนครับ กลับไปแล้วผมก็ยังได้สะท้อนประสบการณ์กับท่าน อ.ดวงพรว่าเสียดายว่ามีเวลาทำเวทีกิจกรรมด้วยกันสั้นจัง เพราะเครือข่าย นสส.ของคนเมืองแพร่นั้นจริงจัง สปิริตดี ประสบการณ์และมุมมองไปยังอนาคตก็ดี ผมมีโอกาสได้เจอสมาชิกของ นสส.แพร่หลายท่านในหลายโอกาสด้วยเหมือนกันครับ คงมีโอกาสได้ร่วมงานกันบ้างนะครับ ดีใจและขอบพระคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมเยือนและสนทนากันครับ
P
หนานเกียรติ สวัสดีครับหนานเกียรติ หายไปไหนมาหรือเปล่าครับเนี่ย รู้สึกเหมือนไม่ค่อยเห็นหนานเกียรติอยู่เป็นครู่นะครับ รูปที่ผมวาดเฌวาใส่บาตรกับย่าและพ่อก็เอามาแสดงด้วยครับ ลูกไม่สบายนี่พ่อแม่ก็คงป่วยและทุกข์ใจไปด้วยเลยนะครับ ลยก็ขอให้ลูกหายเร็วๆพร้อมกับได้ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในอนาคตนะครับ

สวัสดีค่ะ

เห็นภาพกิจกรรมแล้ว น่าปลื้มใจจังค่ะ

บรรยากาศเป็นกันเอง มีส่วนทำให้งานศิลป์ดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้นนะคะ ไม่มีความรู้สึกว่าต้องปีนบันไดดู

ที่จริงวันเสาร์ก็เข้ากรุงเทพค่ะ แต่ไปไม่ถึงพุทธมลฑล พอดีคุณพ่อป่วยอยู่โรงพยาบาล เลยไม่ได้แวะมา โอกาสหน้าคงมีโอกาสมาชมงานด้วยค่ะ

จะได้มีเวลาไปกับเข้าบ้างไหมเนี่ย..ตั้งหวังว่าคงมีโอกาส..

น่าทานจัง..

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

บรรยากาศดีมากทีเดียวครับ ผมเห็นแง่มุมดีๆหลายอย่างที่คิดว่าจะค่อยๆเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันทำและเรียนรู้ไปกับคนอื่นๆ แล้วจะย่อยด้านที่ผมมองเห็นออกมา เพื่อเสริมกำลังสิ่งที่ผู้คนเขาริเริ่มกันได้ ให้มีการเผยแพร่และขยายผลได้ดีมากยิ่งๆขึ้นครับ

ในส่วนของผมเองนั้น ในฐานะที่เป็นคนจากสังคมวิชาการ ก็คิดว่าน่าจะทำบทบาทแปรประสบการณ์ที่คนเขาได้ลองพิสูจน์ด้วยการทำกันดูในชีวิตจริงนั้น มาสู่การเขียนความรู้ แล้วก็หาวิธีจัดการความรู้ต่างๆเหล่านั้น ให้กลับเข้าไปบูรณาการอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนอีก กลับไปกลับมา  เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมเมืองอีกแนวทางหนึ่ง

ในแง่ของศิลปะและบทบาทต่อการสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุดครับ ผมคิดว่าคนทำงานศิลปะอย่างเช่นคุณณัฐรดาและอีกหลายคน ที่อยากค้นหาการทำงานศิลปะ การใช้ชีวิตในการทำงานศิลปะ และการผสมผสานบทบาทการทำงานศิลปะ ไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กับการพัฒนาสังคมในมิติอื่นๆด้วย คงจะสนใจ ซึ่งจากเวทีนี้ก็มีสิ่งผุดบังเกิดให้เห็นและจับต้องได้หลายอย่างที่บอกได้ว่าศิลปะและการจัดการเชิงปฏิบัติการสังคม เป็นปัจจัยและเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้น

มีคนของมหาวิทยาลัยมหิดลท่านหนึ่ง จบปริญญาโทจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์และทำงานส่วนรวมของมหาวิทยาลัยด้วยกันกับผมหลายโอกาสมากว่า ๒๐ ปี เป็นคนมีภาวะผู้นำดี มีจิตสาธารณะ ในกิจกรรมชุมชนและงานส่วนรวมนั้น สังคมรอบข้างมักรับรู้ว่าเขาเป็นพิธีกร เป็นโฆษกกิจกรรมสันทนาการ เป็นนักกีฬาและกรรมการกิจกรรมกีฬาส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชน ผมเองก็มีภาพของเขาอย่างนั้น

แต่วันที่เปิดและแสดงงาน เขาก็เดินเข้ามาร่วมกิจกรรมและเดินดูงาน ผมก็ร่วมสันถาวะด้วยความยินดี  พอพาเดินดู เขาก็คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยความสนุก มีเรื่องราวอีกมากมายในความรู้ทั้งทางวิชาการและจากประสบการณ์ชีวิต ที่ผมไม่เคยทราบมาก่อนและเขาก็ไม่เคยมีเวทีได้แสดงตัวตนทางด้านนี้ออกมามากนัก ภาพเขียนเกือบทั้งหมด เป็นตัวกำหนดหัวข้อให้เขาดึงเอาข้อมูลและความรู้จากการตัวเขาออกมาคุย เสวนาได้อย่างสนุก

เมื่อมองอย่างชุมชน GotoKnow ก็พอจะปะติดปะต่อเรื่องราวและสร้างการอธิบายได้อย่างดีว่า ศิลปะและการจัดกระบวนการเรียนรู้สาธารณะในรูปแบบอย่างนี้นั้น สามารถเป็นการจัดการความรู้ และทำให้เกิดกระบวนการอื่นๆขึ้นอย่างบูรณาการไปด้วยได้อย่างไร เช่น ปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้เป็นชุมชนอย่างรอบด้าน การปรึกษาหารือกิจการของชุมชนที่ติดมากับกลุ่มคนที่ร่วมเวที ทั้งแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข นักการศึกษาและครูอาจารย์ ผู้บริหารและคนทำงานท้องถิ่น เครือข่ายคนทำงานการศึกษาทางเลือก มูลนิธิ และกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ด้วยบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตร แล้วก็ได้ความคิดและแนวปฏิบัติดีๆกลับออกไปทำงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้สังคมและภาคสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลเมือง ไปช่วยเสริมสร้างให้เกิดความมีสุขภาวะสาธารณะได้หลากหลายมากยิ่งๆขึ้น เห็นและสัมผัสได้ด้วยตนเองอยู่ครับ

หากมีโอกาสจะเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมกำลังใจคุณณัฐรดาและหลายท่านที่สนใจทำในแนวอย่างนี้อยู่แล้วอยู่เรื่อยๆตามแต่จะมีโอกาสนะครับ 

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก มีกลุ่มคนทำงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมไปร่วมด้วยเหมือนกันครับ แต่เป็นเครือข่ายที่มีการติดต่อสื่อสารกันอยู่เป็นระยะๆก็เลยพอจะบอกกล่าวกันได้อย่างปากต่อปาก

รูปถ่ายข้าวห่อใบบัวรูปนี้ของคุณเอก จตุพร ทั้งสวยและสื่อความหมาย บอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ดีมากจริงๆนะครับ

ข้าวห่อใบบัวนี้ กลุ่มคนที่ทำมาจากหลายแหล่งที่เป็นคนทำเรื่องอาหารกับสุขภาพ แล้วก็พอมาบวกกับแนวคิดแบบชีวเกษม ก็มีมิติของกระบวนการเรียนรู้และการเจริญสติภาวนาเข้าไปด้วย

อีกทั้งมีการเสริมเข้ากับการที่พวกเราทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องชุมชนชาวนาบัวกับการนำเสนอเป็นงานศิลปะเข้ามาอีก การคิดข้าวห่อใบบัวมื้อนี้จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะ ซึ่งเป็นแก่นของเรื่องในเวทีครั้งนี้ด้วยเช่นกัน พี่ที่เป็นหัวหน้าทีมเรื่องนี้ต้องเดินทางมาจากศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม สุพรรณบุรี

กลุ่มคนที่เก็บใบบัวให้นั้นเป็นชาวบ้านและชาวนาบัวในชุมชนอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม คือ กลุ่มผู้ใหญ่บ้านหญิงท่านหนึ่งชื่อผู้ใหญ่อาภรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ ตำบลศาลายา กลุ่มที่ล้างและนำมาห่อข้าวเป็นกลุ่มครูและผู้บริหารของโรงเรียนอนุบาลพลอยภูมิ โรงเรียนวิถีพุทธ

ห่อแล้วก็เดินเสริฟ ต่างก็เป็นการปฏิบัติธรรมและวิถีการภาวนาผ่านการทำงานบริการสาธารณะของเขาเหล่านี้เช่นกันครับ ขออนุญาตกล่าวถึงเพื่อแสดงความเคารพในความดี และความงาม ที่เล่นหาความรื่นรมย์ชีวิตไปกับการคลายตัวกูของกูเหล่านี้ครับ

กลุ่มคนที่มีความแยบคายในกิจกรรมชีวิตนั้น เพียงเราได้เห็นวิถีปฏิบัติ และกิจกรรมกลุ่มก้อนของเขาเท่านั้น ก็สามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ เป็นกัลยาณมิตรและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งมากครับ

ต้องกราบขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลเป็นอย่างมากครับที่ได้ทักท้วงและตั้งข้อสังเกตเรื่องสมณศักดิ์ของท่านเจ้าประคุณ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ตรงความเห็นที่ ๑๗ น่ะครับ ผมลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วครับ ที่ถูกต้องคือ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ อย่างที่พระคุณเจ้าบอกจริงๆครับ ต้องกราบนมัสการขอบพระคุณพระคุณเจ้าอีกครั้ง อีกทั้งต้องกราบขออภัยท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ เป็นอย่างยิ่งด้วยครับ 

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

โอ..น่าเสียดายจริง ๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะติดภารกิจงานอบรมอยู่ในช่วงวันเปิดงาน

เพิ่งเห็นบันทึกนี้ค่ะ พลาดสายตาไปได้ยังไงเนี่ย..

ดูจากภาพที่นำมาลงในช่องความคิดเห็น พร้อมคำอธิบายแล้ว ต้องขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ บรรยากาศอบอุ่นน่าประทับใจ มีคนคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บางท่าน

ไม่ได้ไปงานเปิด ขอไปงานปิดแทนก็แล้วกันค่ะ นัดกับคุณณัฐพัชร์ไว้แล้วค่ะ ใบไม้ฯ จะไปชมงานวัดปิดแสดง แล้วจะได้ช่วยใช้แรงงาน...

ขอบคุณอีกครั้งนะคะที่ช่วยตอบคำถามให้ความสงสัยของใบไม้ฯ ทำให้เข้าใจมากขึ้นเรื่องแนวทางการวิจัยที่หลากหลาย

ขอให้เบิกบานกับงานสร้างสรรค์นะคะ ...^__^...  

จริงด้วยครับ เวทีแนวนี้ต้องมีคุณใบไม้ย้อนแสงด้วยถึงจะมีกลุ่มคนมานั่งต่อความคิดกันให้หลากหลายได้อีก  แต่ก็ทำกันไปตามแต่จะยืดหยุ่นตนเองกันได้น่ะครับ ทุกคนมีงานในมือกันทั้งนั้น เลยบอกกล่าวหมู่มิตรกันได้ไม่ทั่วถึง ที่ติดต่อกันทันก็มาไม่ได้อีกเยอะ และเมื่อผ่านไปแล้วก็ค่อยนึกถึงคนโน้นคนนี้ได้ 

อันที่จริงก็เป็นวิธีประเมินความเป็นจริงของกลุ่มคนที่ทำงานในแนวนี้ในพุทธมณฑลเหมือนกันครับ โดยเฉพาะในชมรมชีวเกษมซึ่งมีพี่ปรีชา ก้อนทอง ร้านหนังสือเบิกม่าน เป็นแกนหลัก ว่าทำในสภาพแบบไม่เบียดเบียนตนเองจนเกินไปนักนั้น งานอย่างนี้ในขั้นต่างๆเราจะทำกันได้ขนาดไหน เพราะวางแผนกันว่าพอเสร็จแล้วก็จะถอดบทเรียนและยกระดับการทำงานกันอีก ซึ่งเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มานั่งคุยกันไปแล้วครับ จะก่อตั้งเป็นสถาบันชีวเกษม ครับ

รายละเอียดที่หารือกันโดยสรุปก็คือ มุ่งทำงานในประเด็น สร้างสุขภาวะสาธารณะ : Healthy Public โดยทำ ๒-๓ อย่าง คือ (๑) วิจัยและพัฒนารูปแบบการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อดำเนินชีวิต ทำงาน และสร้างสรรค์ชุมชน ให้มีชีวิตอันเกษม (๒) อบรม ถอดบทเรียนเสริมศักยภาพปัจเจกและกลุ่มคน เพื่อสร้างมฆมานพให้แก่สังคม มฆมานพคือ เครือข่ายคนทำงานและดำเนินชีวิตให้เป็นการเข้าถึงความลึกซึ้งของตนเองเรื่อยๆ เหมือนกับปฏิบัติธรรมขัดเกลาและยกระดับตนเองให้สุขภาวะสาธารณะดีขึ้นและความเป็นตัวกูลดลงไปตามลำดับ มองในทรรศนะของคนทำงานแนวประชาสังคม ก็เห็นภาพล่ะครับว่ามุ่งเสริมพลังเครือข่ายปัจเจกหรือกลุ่มคนชั้นกลางบางส่วนที่มีจิตสาธารณะและเป็นคนที่มีวิถีทำงานส่วนรวมในแนวประชาคม มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตและการทำงาน (๓) พัฒนาเอกสาร สื่อ สิ่งตีพิมพ์ หนังสือแนวคัดสรร เพื่อเคลื่อนไหวทางความคิด สร้างงานวิชาการแนวทางเลือก ตลอดจนส่งเสริมแนวคิดและการปฏิบัติการสร้างสุขภาวะสาธารณะในแนวทางชีวเกษม ให้แพร่หลาย (๔) สื่อสาร ขยายผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคม โดยเน้นเวทีเรียนรู้ชุมชน  สื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ และสื่อสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อเสริมพลังการสร้างสรรค์ของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆ

นั่งทบทวนตนเองเองกันแล้วก็มีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาคนและสร้างเสริมสุขภาวะที่เป็นทักษะของกลุ่มอยู่พอสมควร มีการศึกษาอบรมและการเจริญสติภาวนาเป็นศูนย์กลาง คือ กิจกรรมออกกำลังกายเสริมกำลังใจ กิจกรรมเปิดประตูใจ กิจกรรมรณรงค์เรื่องอาหารและการกินอยู่ ศิลปะเพื่อการเจริญสติภาวนาและการพัฒนาตนเองของปัจเจก 

ทั้งหมดนำเอาสิ่งที่ทำกันอยู่แล้วมาวิเคราะห์และวางแนวทางดำเนินการให้เป็นหมวดหมู่ ด้านหนึ่งก็เป็นการบำบัดเยียวยาผู้ประสบวิกฤติปัญหาในชีวิต เครียด อ่อนล้า สุขภาวะทางจิตใจ ซึ่งเท่าที่ทำกันอยู่ ก็มีแหล่งกิจกรรมที่ผสมผสานอยู่ในกิจการและความเป็นส่วนตัวของสมาชิกอยู่แล้ว เช่น มีร้านหนังสือเบิกม่านซึ่งจัดกิจกรรมส่วนหนึ่งเหมือนเป็นคลินิคดูแลสุขภาวะจิตใจให้แก่คนทั่วไป มีกิจกรรมค่ายศิลปะเยียวยาและเจริญสติภาวนา มีศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมที่สุพรรณบุรี

ส่วนอีกด้านหนึ่งการทำงานในเชิงสร้างเสริมสุขภาวะ ดูแลชีวิตที่สุขภาพดีให้มีคุณค่าและความหมายต่อการสร้างสุขภาวะของสังคมในระดับต่างๆ มีโครงการกิจกรรมที่ทำกับเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ มีบ้านของสมาชิกที่ทำห้องประชุมและแหล่งจัดกิจกรรมทางศิลปะ การเสวนาทางวิชาการ ทางด้านการศึกษาและพัฒนาคนรุ่นใหม่ก็มีโรงเรียนพลอยภูมิ พัฒนารูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ เหล่านี้เป็นต้น

มีการระดมความคิดเรื่องตราสัญลักษณ์ของสถาบันชีวเกษม แล้วก็วางกลุ่มตั้งต้นเป็นกลุ่มเล็กๆขึ้นมากลุ่มหนึ่งก่อน จะว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยมีใครอื่นไกลหรอก คุณใบไม้ฯคงเคยสัมภาษณ์และรู้จักหลายคนน่ะ

สวัสดีค่ะพี่ชาย อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์


วันอาทิตย์ที่ 29 พ.ย.จะไปขอสูตรข้าวห่อใบบัวนะคะ

ถ้ามีให้ชิมด้วยจะขอห่อกลับบ้านค่ะ อิอิ ..

สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ : เห็นคุณเอก จตุพร พูดถึงว่าน้องนก-คุณครูจุฑารัตน์ จะไปดูงานหรือไปประชุมที่ไหนนี่แหละ แล้วจะแวะไปแถวศาลายา ไปดูงานแสดงศิลปะครั้งนี้ด้วย พี่ตั้งใจว่าจะไปร่วมต้อนรับและพาเดินดูให้ด้วยนะครับ 

เมื่อวันพฤหัสฯพี่ได้เจอและคุยกับ อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ หนองบัว สามีอาจารย์สุนันท์ของโรงเรียนหนองคอกด้วย อาจารย์กำลังพาทีมมาประชุมหารือเพื่อพัฒนาเครือข่ายปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนแน่ะ

คณะของคุณครูจุฑารัตน์ จากสำนักงานขเตพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร กับพัฒนากร อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ไปดูงานศิลปะที่ผมและเครือข่ายสถาบันชีวเกษมกับชุมชนอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จัดกันขึ้นที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

                     

                    

                     

                    

                    

                    

ครูจุฑารัตน์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร และพัฒนากร อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี และบล๊อกเกอร์ GotoKnow เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะและศึกษาดูงานสถาบันชีวเกษม ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมต้อนรับและนั่งเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะ ประกอบด้วย คุณปรีชา ก้อนทอง และคุณวริชฌตา ปลั่งสำราญ เจ้าของร้านหนังสือเบิกม่าน คุณจิตริสา ไชยเสน เลขานุการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสนั่น ไชยเสน นักวิชาการศึกษา สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายวิจัยประชาคมพุทธมณฑล และ Ph.D.Candidate สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักวิชาการสาธารณสุข / บล๊อกเกอร์ GotoKnow / และนักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและเพื่อน ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อาจารย์/นักวิจัย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้จัดแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นงานบันทึกชุมชน นำเสนอผลงานวิจัย พัฒนาการเรียนรู้และวิธีจัดการความรู้เพื่อสร้างพื้นที่ทางปัญญาในแนวประชาสังคม ในชุมชนเมือง อาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น.

สวัสดีค่ะอาจารย์

เมื่อวานเพิ่งไปชมภาพมาค่ะ

งามนัก

ฝากขนมเล็กๆน้อยๆไว้ อาจารย์ลองชิมหรือยังคะ

คนอยู่ไกลๆเขามาถึงที่แล้วค่ะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์..แล้วดูคนใกล้ดิ..ยังไม่ได้ไปไหนกับเขาเล้ย...ใกล้ๆน่ะ..ไปทีลพบุรีโน่น..นี่ก็กำลังเตรียมแก้ไขงานจะส่งไปกาญจนบุรีอีกแล้ว.....

 

 

อาจารย์ทราบข่าวคุณนก Giant Bird ( Supalak) หรือยังคะ

การเดินทางบนโลกของเธอ สิ้นสุดลงแล้ว

  • เสียดายจังเลยค่ะ ที่ไปไม่ทัน ขนาดรีบบึ่งรถไปเต็มที่แล้วค่ะ ^^"
  • งั้นขอทักทาย สวัสดี ครูจุฑารัตน์ (NU 11 ) และคณะ ตรงนี้อีกครั้งนะค่ะ เมื่อเที่ยงได้พบกันแป๊บเดียวเองค่ะ ...

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ : พี่ปรีชา ก้อนทอง ที่ได้ต้อนรับและพาคุณณัฐรดาดูรูปเขียนได้โทรเล่าให้ฟังด้วยครับ เสียดายที่พวกเราไม่ได้เจอและร่วมต้อนรับนะครับ ของฝากนั้น วันนี้ทางคุณพี่ปรีชา ก้อนทอง ก็บอกและท่องในใจอยู่นะครับว่าอย่าลืม แต่พอแยกย้ายกันกลับก็ลืมจนได้

ข่าวการสูญเสียคุณนก Giant Bird ( Supalak)นั้น ผมได้ทราบจากบันทึกของสมาชิกใน GotoKnow นี้แหละครับ โดยเฉพาะจากบันทึกของ ดร.กะปุ๋ม ผมไม่รู้จักหรอกครับ แต่มักอ่านบันทึกของ ดร.กะปุ๋มก็เลยได้ทราบ แต่พออ่านแล้วก็สะเทือนใจไปด้วย ยังเป็นคนหนุ่มคนสาวอยู่เลย เสียดายจังเลยนะครับ ขอแสดงความเสียใจกับหมู่มิตร ญาติพี่น้องของเธอ และเพื่อนร่วมงานของเธอด้วยครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก เอาไว้เมื่อน้องครูอ้อยเล็กมีโอกาสและงานในมือเบาลงสักหน่อยก็คงได้มีโอกาสเจอและทำงานด้วยกันในฐานะที่เป็นคนนครปฐมด้วยกันบ้างนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ ก็ยังได้สันถวะกันแป๊บนึงนะครับ ว่าจะขอเชิญทุกท่านไปเลี้ยงข้าวมื้อเที่ยงสักหน่อย แต่คุณครูจุฑารัตน์และเพื่อนจะต้องไปซื้อต้นไม้และของเอาไปจัดกิจกรรมโรงเรียนที่สนามหลวง ๒ ดูแล้วคงต้องใช้เวลามากครับ เลยต้องแยกย้ายกันไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็คงได้นั่งพูดคุยกันต่อจนอาจารย์ณัฐพัชร์ได้ร่วมวงเสวนาด้วย

แต่ถึงแม้จะรีบๆอย่างนั้นก็นั่งกันกว่าสองชั่วโมงนะครับ เป็น Empowerment Visiting and Learning Together ที่ดีสำหรับคนทำงานในแนวนี้มากครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • วันนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้...จากคณะของท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์ ซึ่งผมได้ติดตามอ่านบันทึกของท่านอาจารย์มาตลอด...วันนี้ได้รับความรู้ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมายซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ
  • ผมต้องขออนุญาตท่านอาจารย์นำแนวทางมาใช้ในการจัดเวทีชุมชนซึ่งจะเป็นประโยชน์ในงานพัฒนาชุมชนเป็นอย่างมาก....ได้พบทีมงานของท่านอาจารย์แล้วหายเหนื่อยเลยครับ....
  • อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบงานศิลปะการวาดภาพลายเส้นอยู่แล้ว...พอมีพื้นฐานอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย(จากใจชอบและฝึกพื้นฐานจากครูที่โรงภาพยนต์ใกล้บ้าน)ยิ่งได้คำแนะนำและเห็นกิจกรรมภาพวาดของท่านอาจารย์แล้วได้เรียนรู้อะไรมากมายเลยครับ...ขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยนะครับ
  • ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ปรีชา ก้อนทอง ,อาจารย์วริชฌตา ปลั่งสำราญ,อาจารย์จิตริสา ไชยเสน ,อาจารย์สนั่น ไชยเสน ,น้องเอกคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูรและท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในการให้การต้อนรับและแนะนำเป็นอย่างดี...ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณมรกตครับ ยินดีมากด้วยเช่นกันครับที่ได้พบและเสวนากัน หากมีโอกาสพบเจอกันก็ขอฝากความรำลึกถึงกลุ่มคนทำงานผู้สูงอายุ งานสร้างเสริมสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัดิการชุมชนของอุทัยธานี จ่าโก้ คุณสิริพร และอำเภอสว่างอารมณ์ พี่มน คุณไพรวัลย์ คุณรัตนาวดี และทุกๆท่านเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท