๓๑.ปลาบู่มหิดล : ศิลปะเพื่อจิตวิญญาณรักถิ่นคนเมืองจันท์


 

                             อ้างอิงภาพ : ปลาบู่มหิดล Mahidolia mystacina valenciennes และกุ้งดีดขัน Alpheus microrhynchus
                             โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน
http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/thumbnail/65/Mahidolia.JPG

  ปลาบู่มหิดล   : สิ่งบ่งชี้นิเวศวิทยาชายฝั่งทะเลและความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น                                                    

  อาจารย์ผู้น้องท่านหนึ่ง   มาอ้อนวอนขอให้ผมวาดรูปให้สักรูปหนึ่ง เป็นรูปปลาบู่มหิดล เขาอยากได้เอาไปทำปกหนังสือ บอกว่าชอบฝีมือผมมากเลยอยากได้ เดินมาคุยและขออยู่เรื่อยหลายเดือนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผมฟังข้อมูลแล้วก็นึกว่าเขาพูดเล่น เพราะปลาบู่มหิดลนั้นค้นพบและมีการศึกษาวิจัยเผยแพร่อย่างเป็นหลักฐานมากมายมานานแล้ว จะไปศึกษาค้นคว้ามาพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือโดยไม่มีการศึกษาและการค้นพบใหม่ในมิติอื่นๆที่เป็นของเราเองได้อย่างไร

ที่สำคัญ การวาดรูปอย่างนี้จะต้องใช้ข้อมูลมาก และหลังจากศึกษาค้นคว้ามากมายแล้ว ก็ต้องวาดโครงร่างเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้อย่างที่ข้อมูลมี มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาขอกันเล่นๆ เขาก็เห็นอยู่ว่าผมจะเอาเวลาที่ไหนไปทำให้ได้ คงทักทายกันพอหาหัวข้อมาแลกเปลี่ยนและ Update ความรู้ให้กันมากกว่า เลยก็ไม่ได้มองความตั้งใจเท่าไหร่นัก แต่เจอกันทีไรเขาก็คุยกับผมแต่เรื่องปลาบู่จนคนแทบจะพากันเรียกเขาว่าดอกเตอร์ปลาบู่ กันหมดแล้ว

มาเมื่อเดือน-สองเดือนก่อน อาจารย์ผู้น้องท่านนี้ก็มาอีก คราวนี้หอบหนังสือและข้อมูลมาอวดมากมาย แล้วก็บอกว่าสิ่งที่เขาศึกษาวิจัยต่อยอดงานของคนอื่นนั้น เป็นด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาของท้องถิ่นที่มีปลาบู่มหิดล คือ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี บ้านของเขาเอง องค์ความรู้ของเขาจะเสริมต่อด้านที่คนอื่นศึกษาวิจัยไว้ก่อนหน้านั้น แต่จะทำให้ปลาบู่มหิดลมีสถานะเป็นตัวชี้วัดสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของท้องถิ่น เขาจะทำเพื่อให้เป็นฐานสร้างการเรียนรู้ท้องถิ่น และอีกด้านหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำด้วยสำนึกความเป็นคนมหิดล ต้องมีบางด้านของปลาบู่มหิดลที่สร้างขึ้นโดยคนมหิดล เพื่อเทอดพระนามมหิดลและเทอดพระเกียรติในหลวง เจตนารมณ์อย่างนี้เลยทำให้ผมหยุดฟังและขอดูข้อมูลใหม่

แต่ภาพที่มีอยู่จากหลายแหล่งนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพเดิมๆจนแทบจะเรียกว่าเป็นภาพเดียวกัน ข้อมูลและรายละเอียดที่พอจะจินตนาการเป็นภาพได้ก็น้อยมาก ทว่า ผมก็เพิ่งทราบว่าเพื่อนผู้น้องท่านนี้ของผมเป็นคนจันทบุรีและอยากทำงานวิชาการนอกจากเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะแล้วก็อยากทำเพื่อท้องถิ่นของตนไปด้วย

ผมชอบคนทำงานในเชิงอุทิศตนให้กับสังคม ซึ่งตั้งแต่เคยได้ฟังเขาคุยอย่างตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจบ้างนั้น ก็ไม่เคยเห็นว่าเขาจะให้เหตุผลเพื่อตนเองหรือเพื่อความมีชื่อเสียงของตนเลย เขาพูดถึงการที่ปลาบู่มหิดลจะสามารถเป็นสิ่งที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สังคมและสิ่งแวดล้อมของถิ่นฐานที่ง่ายสำหรับให้ชาวบ้านและคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วยภูมิปัญญาของตนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พูดถึงเอกลักษณ์และความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงการอนุรักษ์และคุ้มครองปลาบู่มหิดลที่กำลังจะสูญพันธุ์ เขาจะจัดตั้งศูนย์ศึกษาและเรียนรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในถิ่นที่อยู่ที่พบปลาบู่มหิดลที่อ่าวทะเลอำเภอแหลมสิงห์ จันทบุรี ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นบ้านเกิดและอีกหลายอย่างซึ่งล้วนเป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีและน่าสนใจมาก

ผมได้ทราบแล้วก็เลยรับปากว่าจะวาดให้และวันจันทร์หรือวันพรุ่งนี้ให้มารับได้ ทั้งที่แต่เดิมก็อยากหวงเวลาเอาไว้ทำงานมาก ดูข้อมูลและขนาดงานแล้วผมก็ปวดหัวจริงๆ แต่ผมรักความซื่อใสและความมีคุณธรรมต่อสังคมของเขา เลยก็ต้องมานั่งศึกษาข้อมูลเท่าที่มีแล้วก็จัดองค์ประกอบและวาดออกมาด้วยภาพลายเส้นแนว Scientific Illustration เลยก็ได้ความรู้ไปด้วยหลายอย่าง ลองเข้าไปศึกษาได้ที่นี่ครับ [Cilick here]

ปรกติข้อมูลเหล่านี้อยู่กันคนละส่วน อาจจะเนื่องจากถ่ายภาพได้ครั้งละอย่าง ไม่เคยสามารถถ่ายภาพของจริงของการอยู่ร่วมกันดังที่ข้อมูลการวิจัยต่างๆได้กล่าวถึงไว้ อีกทั้งคงจะไม่ค่อยได้มีการค้นคว้าและลองแสดงออกมาเป็นภาพ เลยมีแต่ภาพถ่ายและภาพวาดแบบเดียวกันเกือบทั้งหมด รูปที่เขียนขึ้นใหม่อีกนี้ จึงเป็นการประมวลภาพจากข้อมูลหลายๆแง่ที่เป็นระบบนิเวศการดำรงชีวิตของปลาบู่มหิดล แล้วใช้จินตนาการเขียนเป็นภาพ ต่อยอดข้อมูลภาพเท่าที่มีอยู่เพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้น จึงอาจจะเป็นเพียงรูปเดียวเท่าที่มีในเวลานี้ ที่ได้แสดงภาพของปลาบู่มหิดลกับกุ้งดีดขันซึ่งเป็นระบบนิเวศกันในการดำรงชีวิตแบบต่างพึ่งพาอาศัยกัน

 ปลาบู่มหิดล พบที่ปากแม่น้ำจันทบุรีเมื่อประมาณปี ๒๔๖๙ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ชาวอเมริกันซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรกได้ตั้งชื่อ มหิดล เพื่อน้อมเกล้าถวายเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลเดชวิกรม กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความสนพระทัยต่องานด้านการประมงและ ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ เห็นว่าจะทรงเป็นองค์ผู้เชี่ยวชาญในการประมงของประเทศ ก่อนที่ความเป็นจริงต่อมาจะทรงเป็นแพทย์และปวงชนได้ขอพระราชทานวโรกาสน้อมเกล้าถวายพระราชสมัญญาเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ของไทย

ปลาบู่มหิดลเป็นปลาที่หายาก นอกจากพบได้ที่จังหวัดจันทบุรีแล้ว ในประเทศไทยก็เคยมีการพบที่ระนองและภูเก็ต มักพบว่าอาศัยอยู่ด้วยกันในรูของกุุ้งดีดขัน ผมก็เลยนำมาจัดองค์ประกอบใหม่แล้วจินตนาการวาดเท่าที่มีข้อมูลทั้งปลาบู่มหิดลและกุ้งดีดขัน

การพบปลาบู่มหิดลในแหล่งธรรมชาติชายฝั่งทะเล จะสะท้อนถึงความสมดุลทางระบบนิเวศน์และสะท้อนถึงความสามารถขององค์กรท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของปัจเจกและชุมชนในการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จึงสามารถใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาวะสังคมและสภาวการณ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติของท้องถิ่น ที่ชาวบ้านสามารถใช้ภูมิปัญญาจากประสบการณ์ชีวิตเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลได้

หมายเลขบันทึก: 349687เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2014 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ขอขอบพระคุณสำหรับความรู้เรื่องปลาบู่มหิดล มากค่ะ
  • คนทำงานในเชิงอุทิศตนให้กับสังคม ไม่ทำเพื่อตนเองหรือเพื่อความมีชื่อเสียงของตนเลย
  • อยากให้สังคมมีแบบนี้มาก ๆ และดิฉันก็เชื่อว่าคนเช่นนี้มีมากในสังคมของคนไทย  แต่เนื่องจากเขาไม่ประกาศตัว  เราจึงค้นพบยาก  คนที่พบก็ไม่นำมากล่าวยกย่องชื่นชม  เพราะค่านิยมเปลือกนอกยังบดบังอยู่ค่ะ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ 

  • เมื่อก่อนนี้แถวบ้าน น่าจะรวมไปจนถึงแถวพิษณุโลกด้วย จะมีปลาบู่เยอะนะครับ
  • ลักษณะของเขาก็คงจะคล้ายกับในรูปนี้ แต่ไม่สวยอย่างนี้ เวลาติดไซรวมขึ้นมากับปลาอื่นๆ ก็จะนอนหงายไม่ดิ้นและพองเหงือกเหมือนปลาตาย ชาวบ้านก็จะจับโยนลงน้ำ ไม่เอามาทำอาหารกิน เวลาอยู่ในน้ำก็ลอยอยู่นิ่งๆ เหมือนจำศีล
  • คุณครูคิมพูดตรงกับความคิดตอนทำงานชิ้นนี้เลยครับ
  • อยากรักษาคนดี และเสริมกำลังใจคนที่คำนึงถึงความสร้างสรรค์สิ่งที่ดีสำหรับคนอื่นแล้วมุ่งได้ความสุขผ่านการสร้างสังคมที่ดีร่วมกับคนอื่น เป็นความร่วมทุกข์สุขด้วยกัน

Pทั้งที่ก็อยากหวงเวลาเอาไว้ทำงานมาก ดูข้อมูลและขนาดงานแล้วผมก็ปวดหัวจริงๆ แต่ผมรักความซื่อใสและความมีคุณธรรมต่อสังคมของเขา ...นี่แหล่ะพี่ใหญ่ของน้องๆล่ะ..ด้วยจิตคาระวะค่ะพี่อาจารย์ดร.

  สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก   อากาศร้อนแล้งและใกล้สงกรานต์ปีใหม่ไทยอย่างนี้ ขอให้น้องคุณครูอ้อยเล็กได้ความร่มรื่น เย็นใจ ได้ความหอมชื่นเย็นอย่างน้ำอบแป้งร่ำ มีกำลังวังชากระชุ่มกระชวย เพื่อตุนเอาไว้ลุยงานต่อตอนเปิดเทอมนะครับ

P...ขอบคุณในคำอวยพรค่ะ..พี่อาจารย์ก็เช่นกันค่ะ..ขอให้พี่อาจารย์ได้รับความสุขด้วยการให้วิทยาเป็นทาน เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ ยิ่งๆขึ้นไปค่ะ...

  • ขอบคุณครับ ได้ดูดอกบัวสวยๆอีกแล้ว
  • ก็ยังดูสวยงามและสงบนิ่งเป็นสมาธิดีครับ

สวัสดีค่ะ

งดงามจังค่ะ ชอบภาพวาดอาจารย์จัง

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่ส่งภาพหนังสือบนแผงให้ค่ะ แอบยิ้มเลยค่ะ

  สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ 

  • การวาดภาพแนวนี้เป็นการวาดภาพแบบ Scientific Drawing และ Illustration อย่างที่เคยแลกเปลี่ยนกับคุณณัฐรดาน่ะครับ โดยพื้นฐาน ระเบียบวิธี หลักวิชา รวมทั้งหลักคิดต่อความงาม ก็จะคล้ายกับ Botanical Drawing อย่างที่คุณณัฐรดาทำน่ะครับ
  • หลายเรื่องเราจะต้องนำเอาข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีมาเป็นฐานสำหรับสร้างจินตนาการและวาดออกมา ซึ่งบางเรื่องก็ท้าทายและต้องทำการบ้านเยอะกว่าการวาดภาพเพื่อความสวยงาม
  • อย่างกรณีนี้ ข้อมูลและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปลาบู่มหิดล บอกว่าขนาดเล็กและชอบไปอาศัยอยู่ในรูของกุ้งดีดขัน ซึ่งก็อยู่กันได้แบบพึ่งพาอาศัยกันโดยหลบอาศัยในรูซึ่งกุ้งดีดขันจะเป็นคนทำ ส่วนปลาบู่มหิดลก็จะเป็นคนคอยทำความสะอาด
  • แต่รูปของจริงขาดแคลนมาก รูปปลาบู่มหิดลอยู่ที่หนึ่ง และรูปกุ้งดีดขันก็มีอยู่อีกต่างหาก
  • พอจะวาดเป็นภาพและจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ได้ข้อมูลที่แสดงนิสัยและวิถีชีวิตของเขาด้วย ก็จะเกิดคำถามว่า หากวาดให้เหมือนกับเคลื่อนไหว เขาควรจะมีบุคลิกอย่างไร เลยก็ต้องไปค้นคว้าพฤติกรรมของปลาบู่ว่าการว่ายและเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร พอรู้ว่าไม่ใช่ปลาที่เคลื่อนไหวเร็ว ลักษณะคลีบก็ต้องไม่พลิ้วและลำตัวก็ต้องไม่มีลีลามาก
  • ขณะเดียวกับ เมือนำเอาข้อมูลจากคนละที่และเป็นข้อมูลภาพที่มีสัดส่วนเฉพาะ ไม่เห็นสัดส่วนเชิงเปรียบเทียบ เลยก็กะขนาดไม่ได้อีก คำถามที่ต้องจินตนาการก็คือ ปลาบู่กับกุ้งควรจะมีสัดส่วนเชิงเปรียบเทียบกันอย่างไร กุ้งใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า หรือเท่ากัน
  • เลยก็ต้องนั่งทบทวนว่าการอยู่ร่วมกันและใช้รูที่อาศัยด้วยกันได้นั้น ปลาบู่กับกุ้งดีดขันก็ควรจะมีขนาดที่พอๆกัน จากนั้นก็หาข้อมูลวิธีทำรูในพื้นทรายทะเลชายฝั่ง ซึ่งก็หาจากสัตว์ชนิดอื่นเพราะไม่มีข้อมูลของกุ้งดีดขันให้เลย
  • หากเป็นการวาดภาพที่ถูกต้อง ผมควรจะมีกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาลักษณะเกล็ดและองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็น Typical แต่นี่ก็ไม่มีเลย การจินตนาการเลยต้องช่วยมากเลยครับ ลักษณะการวาดภาพอย่างนี้จึงเหมือนเป็นการวิจัยและสรุปผลการวิจัยเพื่อรายงานด้วยภาพแล้วเผยแพร่ไปชั่วคราว เมื่อได้ข้อมูลและความรู้มาเพิ่มเติม ก็ค่อยๆวาดตบแต่งให้ได้ข้อเท็จจริงที่ดีขึ้นอยู่เสมอ ความสนุกและความท้าทายจึงมีอยู่ตลอดเวลา
  • ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่สงกรานต์มากๆครับ

 ปลาบู่ทอง แทน ความกตัญญูในนิทานพื้นบ้านไทย

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

ปลาบู่มหิดล สะท้อนความสมดุลย์ในระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ และเป็นตัวบ่งชี้สุขภาวะทางสังคมแล้ว ทำให้นึกถึง ปลาบู่ทอง แม่ปลาบู่ กับลูกเอื้อย ตัวแทนความเป็นลูกกตัญญู ในนิทานพื้นบ้านของไทยเราหนะค่ะ ซึ่งผู้จัดละครโทรทัศน์นำมาทำเป็นละครพื้นบ้านให้เด็กๆ ได้ชมอยู่หลายครั้ง หลายเวอร์ชั่นเลยทีเดียว คงมีเด็กๆ ไปนั่งริมคลอง นั่งคุยกับปลาซิว ปลาซ้อย แถวๆ นั้นเพื่อเลียนแบบพี่เอื้อยกันอยู่บ้างอ่ะนะค่ะ ^^

มันเป็นอำนาจวรรณกรรมอย่างที่อาจารย์เคยเขียนถึง >> เป็นหอยสังข์และเทพผู้คุ้มครองดูแลพ่อแม่ : อำนาจวรรณกรรมและการอ่าน << [คลิ๊ก]

เพิ่งไปเดินงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตต์มาค่ะ ปีก่อนๆ ไปและใช้เวลากับงานนี้แบบครึ่งค่อนวัน เดินเข้า-ออกบู๊ทนั้น บู๊ทนี้ อย่างมีความสุข เมื่อยก็นั่งลงกับพื้น(พรม) เปิดหนังสือที่ซื้อมาอ่านอย่างทะนุถนอม พอหายเมื่อยก็เดินชมตามบู๊ทหนังสือใหม่ ที่ผ่านมาจะมีความตั้งใจไปงานนี้ค่ะ จะมีการหาข้อมูลหนังสือ พ๊อคเก็ตบุ๊ค หรือจะนิยาย ที่เราสนใจไปก่อนล่วงหน้า เพราะไปถึงงานจะงงค่ะ เพราะสำนักพิมพ์ต่างๆ จะมางานนี้เยอะมาก หนังสือจะละลานตาไปหมด ทำให้เลือกไม่ถูก และทุกครั้งจะได้หนังสือที่นอกเหนือจากแผนที่เราตั้งใจจะซื้อแทบทุกครั้งไป เงินหมดเกลี้ยงกระเป๋าทุกที แม้จะรู้ว่าไอ้หนังสือตั้งที่บ้านก็ยังอ่านไม่หมดเล๊ย ^^" มาปีนี้เสียดายที่ว่าไม่ได้ค้นข้อมูลไปก่อนแต่ไปเพราะอาจารย์ปรีชาท่านอยากได้หนังสือ และคุณเริงวิชญ์โทรฯ ชวนก็ไปทันที เดินได้ประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็กลับกันแล้วค่ะ แต่ก็ยังได้หนังสือมานิดหน่อย ...

บรรยากาศของงานปีนี้ก็คึกคักอยู่นะค่ะ มาเป็นครอบครัว มากับเพื่อนๆ หรือมาเดี่ยวๆ ก็เยอะค่ะ ทำให้ดีใจค่ะว่าคนไทยยังไม่ทิ้งเรื่องของการอ่านหนังสือ หรือเจอพิษของเศรษฐกิจจนทำให้คนไม่กล้าที่จะซื้อหนังสือดีๆ มาอ่านกัน .....

  • รุ่นอาจารยณัฐพัชร์นี่ทันเรื่องปลาบู่ทองด้วยหรือนี่ นิทานเรื่องนี้ทำให้ปลาบู่ในแหล่งธรรมชาติจริงๆอยู่รอดได้อย่างดีด้วยนะครับ เพราะคนนอกจากไม่รังแก ไม่กินแล้ว เมื่อเจอก็มักจะช่วยจับโยนลงน้ำ
  • หนังสือและการอ่านเป็นทรัพยากรสร้างความสุข-สร้างสุขภาวะสังคมที่พิเศษที่สุดนะครับ คนหนึ่งใช้แล้ว คนอื่นก็ยังสามารถใช้อีกได้โดยที่ไม่ลดคุณภาพความสุขและการได้สติปัญญาให้น้อยลงไป
  • มีความสุขครับ
  • มาขอเรียนรู้ปลาที่หายาก"ปลาบู่มหิดล"กับอาจารย์ด้วยคน..ภาพสวยมากเช่นเคยครับ
  • ขอบคุณความรู้ครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
  • พอวาดแล้ว ก็เริ่มได้ข้อมูลเพิ่มอีกแล้วครับ ตอนนี้มีรายละเอียดที่เป็นลักษณะเฉพาะเพิ่มมาให้อีกแล้วครับ ผมตบแต่งรายละเอียดในภาพไปแล้วครับ หากมีโอกาสจะนำเอามาเปลี่ยนกับภาพในนี้ต่อไปครับ
  • ผมก็ได้ความรู้ไปด้วยเยอะเลยเช่นกันครับ
  • อือม์ จะว่าทัน หรือทันรุ่นไหนนี่ไม่แน่ใจค่ะ นิทานพื้นบ้าน ปลาบู่ทอง เคยอ่านจากหนังสือนิทานพื้นบ้านมาบ้าง ฉบับเผยแพร่ทางโทรทัศน์นั้นเคยเห็นทั้งเป็นละคร และเป็นฉบับการ์ตูนหน่ะค่ะ แต่ก็ไม่ได้ติดตามตลอด เห็นผ่านๆ เมื่อเปิดโทรทัศน์ไปเจอเข้าค่ะ ^^"
  • จำได้ว่าเป็นนิทานที่สอนให้รู้ถึงความกตัญญูของลูกเอื้อยที่มีต่อแม่ แม้ว่าแม่จะกลายเป็นปลาบู่ทอง เป็นต้นมะเขือ และเป็นอะไรอีก ๒-๓ อย่างก็ตาม ..... และที่แน่ๆ อย่างที่อาจารย์ว่าคือ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะจับปลาบู่มารับประทานเลยเชียว ..
  • ทราบว่าอาจารย์ได้ข้อมูลของปลาบู่มหิดลเพิ่ม และได้เพิ่มรายละเอียดของภาพปลาบู่มหิดลในภาพต้นฉบับไปนั้น ไม่อยากให้เป็นการนำภาพมาเปลี่ยนหน่ะค่ะ อยากให้เป็นการเพิ่มรูปภาพ พวกเราจะได้เห็นถึงข้อมูลที่อาจารย์ได้รับเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงของปลาบู่มหิดลจากภาพวาดลายเส้นของอาจารย์ด้วยค่ะ ขอเรียนรู้ไปด้วยคนค่ะ ...
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆ เช่นกันค่ะ .. ขอบพระคุณค่ะ =)
  • เห็นด้วยครับ ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยครับ
  • แต่อาจจะดึงมารวมกันไว้ในกล่องเดียวกันต่างหากดีกว่านะครับ
  • ส่วนการนำเสนอรวมกับเนื้อหานั้นอาจจะดึงเอาภาพเก่าออกแล้วใส่ภาพใหม่เข้าไปแทน
  • ส่วนภาพต้นฉบับทั้งสองภาพก็จะยังคงอยู่ในข้อมูลไฟล์ภาพ เหมือนกับข้อมูลภาพอื่นๆผมก็เก็บไว้อย่างนี้เช่นกันครับ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สำหรับรูปวาดลายเส้นที่ได้รับมาจากพื่ม่อย(อาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์) คงจะนำไปมอบให้กับทางศูนย์การเรียนรู้ปลาบู่มหิดลในเร็วๆนี้ ส่วนหนังสือคงเป็นหนังสือใน 2 รูปแบบ 1.อยู่ในรายวิชามม.ศท.ของมหาวิทยาลัยมหิดล 2.เป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้กับนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือโรงเรียนปากน้ำแหลมสิงห์(วันครู 2503) โรงเรียนวัดปากน้ำแหลมสิงห์ และโรงเรียนแหลมสิงห์วิทยาคม โดยมีรูปวาดลายเส้นเป็นหน้าปก พร้อมบรรยายเล็กๆว่า การพบปลาบู่มหิดลในแหล่งธรรมชาติชายฝั่งทะเล จะสะท้อนถึงความสมดุลทางระบบนิเวศน์และสะท้อนถึงความสามารถขององค์กรท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของปัจเจกและชุมชนในการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จึงสามารถใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาวะสังคมและสภาวการณ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติของท้องถิ่น ที่ชาวบ้านสามารถใช้ภูมิปัญญาจากประสบการณ์ชีวิตเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลได้. (พื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ คือพื้นที่ปากแม่น้ำจันทบุรี ที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ใกล้กับโครงการพระราชดำริ อ่าวคุ้งกระเบน ห่างกัน 14 กิโลเมตร)

* พื่ม่อยอยู่ในใจและในความทรงจำของชาวแหลมสิงห์ มิรู้ลืม หวังว่าพื่ม่อยคงมาเยี่ยมเยียนเราบ้างน่ะครับ ขอขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาส่งความระลึกถึงค่ะ

และเชิญชวนร่วมสร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้วยกันนะคะ

http://gotoknow.org/blog/rongkham/349984

ขอบคุณค่ะ

 สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ศุภฤต โสภิกุลครับ ผมร่วมส่งเสริมอาจารย์ กับ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชาวบ้านแหลมสิงห์ และชาวเมืองจันทบุรีในทางอ้อมโดยนำมาช่วยเผยแพร่ให้คนได้เข้ามาอ่าน ศึกษาเรียนรู้ ไปด้วยในนี้นะครับ

ผมเอารูปไปให้เขาถ่ายเอกสารแบบคมชัดสูงเพื่อเข้ากรอบเก็บไว้เป็นชุดสำหรับผมเองด้วยแล้วนะครับ ภาพปลาบู่มหิดลของอาจารย์จะเป็นหนึ่งใน Collection ส่วนตัว ในหอศิลปะของผมในชุมชนเล็กๆที่สันป่าตอง เชียงใหม่ และที่บ้านหนองบัว นครสวรรค์นะครับ ขอให้อาจารย์มีกำลังใจและได้ความงอกงามในสิ่งที่ทำด้วยน้ำใจอันดีงามนะครับ

  • สวัสดีครับคุณครูมีนาครับ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมยามกันนะครับ
  • แล้วก็ขอบคุณด้วยครับที่นำเรื่องสร้างสรรค์อย่างสร้างห้องสมุดมาบอกกล่าวให้ได้มีส่วนร่วมนะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับเบดูอินครับ ขอให้มีความสุข ความเย็นใจ เหมือนน้ำเย็นเทศกาลสงกรานต์นะครับ

มาชมภาพปลาดู่มหิดล...

พร้อมมาสวัสดีปีใหม่อาจารย์ครับผม...

สวัสดีปีใหม่ครับคุณดิเรก ขอให้มีความสุข มีกำลังปัญญา  ได้ทำงานที่ได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถมากมายที่มีอยู่ในตัวดิเรก เป็นกำลังสร้างสรรค์ให้กับสังคมทุกแห่งที่ได้ไปมีส่วนร่วมนะครับ

ผมได้ตั้งข้อสังเกตในกล่องสนทนากับคุณณัฐรดา ที่ dialogue box ๘ ว่าการวาดภาพในลักษณะนี้เหมือนกับการทำวิจัยรายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอผลด้วยภาพ ในขณะที่วาดภาพนั้น ไม่มีข้อมูลแสดงการอยู่ร่วมกันของปลาบู่มหิดลและไม่ทราบขนาดเชิงเปรียบเทียบเลย จึงต้องศึกษาข้อมูลทีละชนิด นำมาประเมิน สรุป และจินตนาการจากข้อมูลเท่าที่มีว่าควรจะอยู่ร่วมกันในลักษณะใด และขนาดเชิงเปรียบเทียบควรจะเป็นอย่างไร

ต่อมาก็ได้เห็นข้อมูลเพิ่มขึ้นในวิกิพีเดียและได้เพิ่งได้เห็นภาพการอยู่ร่วมกันของปลาบู่มหิดลและกุ้งดีดขัน ซึ่งใกล้เคียงมากกับภาพวาดที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและจินตนาการขึ้นจากข้อมูลที่มีในระยะแรก [คลิ๊กเข้าไปชมและอ่านรายละเอียดในวิกิพีเดีย]

นอกจากนี้ เมื่อ ๑๒-๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในงานสัปดาห์หนังสือมหิดล ก็ได้พบกับหนังสือ Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts เลยซื้อมาอ่าน ๑ เล่ม ราคา ๒ พันกว่าบาท

                        

หนังสือเล่มนี้มีแนวคิดสอดคล้องกับที่ผมและนักวิจัยจำนวนหนึ่งของมหิดล ซึ่งได้อาศัยการวาดรูปและการใช้ภาษาภาพทัศนศิลป์ช่วยสื่อสาร เก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอข้อมูลในเวทีชุมชน เคยสรุปบทเรียนและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า[คลิ๊กเข้าไปอ่านรายละเอียด] มิติหนึ่งของการวาดรูปและงานศิลปะคือเป็นเครื่องมือวิจัย เป็นวิธีวิเคราะห์และนำเสนอผลข้อมูล ที่ช่วยปฏิบัติการวิจัยกับชาวบ้านได้ดีมาก

กุ้งดีดขัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสเจออดีตเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์น้ำท่านหนึ่ง ระหว่างที่คุยเรื่องทั่วๆไปที่เคยเป็นประสบการณ์ในการทำงาน ท่านก็ได้พูดถึงกุ้งดีดขัน ผมก็เลยถามว่าขนาดและลักษณะเป็นอย่างไร ชื่อกุ้งดีดขันมีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะอย่างไรหรือไม่

ท่านก็เลยเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยเห็นและรู้จักกุ้งดีดขันเป็นอย่างดี กุ้งดีดขันมีขนาดประมาณหัวแม่มือเท่านั้น เมื่อจับไว้ก็จะดีดก้าม จนมีเสียงออกมาเหมือนคนดีดนิ้ว หากเอาขันหรือแผ่นสังกะสีไปรองรับก็จะดังเหมือนเอาไม้เคาะ

ขอร่วมรำลึกวันมหิดล ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท