๔๐.ปลูกฝังจิตสาธารณะและสร้างวิถีชุมชนผ่านกิจกรรมเรียนรู้ด้วยศิลปะ


  สื่อกิจกรรมศิลปะเพื่อให้ประสบการณ์เรียนรู้สังคมอย่างบูรณาการ 

การรวมกลุ่มเพื่อจัดการการเรียนรู้และการได้มีส่วนร่วมทางการปฏิบัติที่ทำให้เกิดประสบการณ์ทางการเรียนรู้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ในเชิงปฏิรูปอย่างหนึ่ง เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว จะทำให้โครงสร้างในการปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน ตลอดจนโครงสร้างในการจัดความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ครูและผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนและผู้ถ่ายทอดเนื้อหาไปเป็นผู้จัดโอกาสและสนับสนุนให้เกิดพลังการเรียนรู้ ส่วนผู้เรียนก็เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้รอรับความรู้หรือ Passived Learner ไปเป็นผู้ปฏิบัติและสร้างประสบการณ์ที่จะก่อให้เกิดบทเรียนและกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ซึ่งเป็น Active Learner อีกทั้งก่อให้เกิดมิติความเป็นชุมชนและพลังการจัดการการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ให้ประสบการณ์ตรงอย่างบูรณาการแก่ผู้มีส่วนร่วมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากวิธีเรียนรู้คนเดียว

กระบวนการดังกล่าวนี้ เมื่อนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นเนื้อหาการเรียนรู้ ก็จะทำให้ผู้เรียนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มปัจเจก กลุ่มชาวบ้าน และเครือข่ายทำงานภาคสาธารณะระดับต่างๆ เกิดประสบการณ์ทางสังคมและได้บทเรียนที่เข้มข้น ทว่า เมื่อเป็นการเรียนรู้สังคมและชุมชน อีกทั้งเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติเป็นกลุ่มประชาคมนั้น หลายสิ่งอาจยากแก่การสื่อสารเรีนรู้ให้เพียงพอต่อการเกิดพลังความเป็นชุมชน  การใช้การวาดรูปและกิจกรรมศิลปะ มาเป็นเครื่องมือและวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างบูรณาการของกลุ่มคนที่หลากหลาย เป็นช่องทางเกิดประสบการณ์ต่อสังคมที่เข้มข้นและมีความลึกซึ้ง 

                         ภาพที่ ๑ การวาดรูปและสื่อกิจกรรมศิลปะ เป็นการรวบรวมข้อมูลด้วยภาษาภาพและการจัดวางองค์ประกอบที่มีความหมายจากสัดส่วนและความเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบย่อยๆให้เกิดชุดความหมายที่อยู่เหนือการอธิบาย ช่วยส่งเสริมการทำงานความคิด การปรึกษาหารือ การระดมความคิด และการนำเอาความเป็นส่วนรวมมาทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม ลดความแตกต่างทางสังคมและส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานด้วยกันในวิถีพลเมือง

  ปัจจัยและองค์ประกอบแห่งความสำเร็จของการออกแบบและจัดกระบวนการ

๑. ลักษณะกลุ่มทำงานและเรียนรู้ เหมาะสมสำหรับกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลาย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มคนทำงานประจำในองค์กรต่างสาขา กลุ่มทำงานสหสาขา กลุ่มที่มีความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม กลุ่มนานาชาติ ต่างศาสนา เชื้อชาติ ภาษา กลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารด้วยภาษาการพูด อ่าน เขียน สามารถออกแบบและจัดกระบวนการได้ถึง ๓๐๐-๕๐๐ คน แต่จะได้ผลดีมากขึ้นหากดำเนินการเป็นกลุ่มขนาด ๕๐ คนจนถึงกลุ่มขนาดเล็กต่ำกว่า ๑๐ คน
๒. ระยะเวลา ครึ่งวันหรือ ๑ วัน
๓. สถานที่ การจัดเวทีและการจัดสภาพแวดล้อม ควรเป็นห้องประชุมที่กว้างขวาง ไม่มีเสา นั่งกับพื้นหรือเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระพอสมควร ศาลาวัด ใต้ร่มไม้ ไม่มีความพลุกพล่านและสิ่งรบกวนให้เสียสมาธิ สามารถติดตั้งรูปภาพและติดกระดาษได้อย่างสะดวก หลากหลาย
๔. คำถามเพื่อการระดมความคิดและทำกิจกรรมเรียนรู้  พัฒนาประเด็นการทำกิจกรรม ตลอดจนประเด็นการทำงานบนเวทีให้เป็นคำถามหลักและคำถามย่อยๆที่สื่อความหมาย มีพลังต่อการทำงาน เพื่อวาดรูปและร่วมกันระดมความคิด ก่อเกิดประสบการณ์ทางสังคมและให้นัยต่อการเรียนรู้ชุมชนอย่างมีความหมาย
๕. การแบ่งกลุ่มย่อย ควรถือหลักแบ่งกลุ่มเพื่อให้การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติมีความทั่วถึง ซึ่งกลุ่มในการทำกิจกรรมกลุ่มย่อยที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่างกลุ่มละ ๕-๒๕ คน
๖. สื่อและโสตทัศนูปกรณ์ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์สองทาง ควรจัดหาและเตรียมสื่อโสตทัศนูปกรณ์ที่ส่งเสริมบทบาทของความเป็นสื่อบุคคลและเอื้อต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์สองทาง ผสมผสานหลายอย่างเพื่อครอบคลุมความจำเป็นและเพิ่มโอกาสการปฏิสัมพันธ์อย่างบูรณาการ
๗. วิทยากรกระบวนการและทีมดำเนินการ วิทยากรและครูผู้สอนที่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการสนับสนุนการเรียนรู้ ควรมีทักษะพื้นฐานสำคัญคือการทำงานเชิงความคิดที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่กิจกรรมต่างๆได้อย่างไม่จำกัด การตั้งคำถามและการแจกแจงเงื่อนไขการทำกิจกรรม การกำกับเวที การกระตุ้นการคิดและทำกิจกรรม และการสรุปบทเรียน วิทยากรที่ทำงานออกแบบเชิงความคิดและสร้างทีมให้เข้าใจการปฏิบัติได้ อาจมีเพียงคนเดียวและสร้างทีมขึ้นจากกลุ่มทำกิจกรรมไปตามความเหมาะสม

  วัสดุอุปกรณ์   

๑. กระดาษปรู๊ฟต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ สำหรับกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๑ แผ่นต่อ ๑ กิจกรรม
๒. สีเทียนกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๑ กล่อง หรือปากกาปากสักหลาดกลุ่มละ ๓-๔ สี
๓. บอร์ดขาตั้งตามจำนวนกลุ่มย่อยและสำหรับวิทยากรอย่างพอเพียง
๔. ตัวหนีบ กระดาษกาว สติกเกอร์ และวัสดุตบแต่งที่เอื้อต่อการวาดรูปและทำงานศิลปะ

  การจัดกิจกรรม  

๑. จัดกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อทำงานและมีส่วนร่วมให้ได้งานและได้การเรียนรู้อย่างเป็นกลุ่มก้อน
๒. ร่วมกันแสดงความคาดหวัง สร้างกรอบกติกาและวางแนวปฏิบัติ ที่สะท้อนความต้องการของเวทีให้มากที่สุด
๓. บอกวัตถุประสงค์ จุดหมาย หลักคิด ผลที่คาดหวัง เงื่อนไขความสำเร็จ
๔. แบ่งกลุ่มย่อย ให้โจทย์และประเด็นคำถาม ให้กิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ ระยะเวลา
๕. รวมกลุ่มเพื่อนำเสนอผลงานกลุ่มย่อย
๗. อภิปราย เสริมความรู้
๘. กิจกรรม ๔-๗ หมุนเวียนไปตามจำนวนประเด็นคำถามย่อย
๙. สรุปบทเรียน

ดังภาพตัวอย่างภาพที่ ๒ และ ๓ ต่อไปนี้ ........................

 วาดรูปอย่างมีส่วนร่วม  เพื่อสำรวจและเรียนรู้ชุมชนจากประสบการณ์

                                 ภาพที่ ๒ สำรวจและเรียนรู้ชุมชนจากประสบการณ์ : การวาดรูปเป็นกลุ่ม เมื่อแบ่งกลุ่มย่อยและทำงานกลุ่มตามขั้นตอน ๓-๗ เพื่อเป็นเครื่องมือเรียนรู้และวิธีวิเคราะห์ความเป็นชุมชนมิติต่างๆจากประสบการณ์ของสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมเวทีกิจกรรม  โจทย์และคำถามที่ ๑ : ชุมชนพุทธมณฑล มีสิ่งดีอะไรที่ทำให้มีสุขภาวะ และอยู่ตรงไหนบ้าง ? แล้วให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันวาดออกมาเป็นภาพชุมชน

 ร่วมกันวาดต่อเติม  สุขภาวะสังคมและชุมชนที่พึงประสงค์

                                 ภาพที่ ๓ ต่อเติมการร่วมสร้างสุขภาวะสังคมชุมชนอันพึงประสงค์ : ร่วมกันต่อเติมภาพที่วาดขึ้นรอบแรกภาพที่ ๑ เพื่อเรียนรู้ความเป็นเจ้าของชุมชนและร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ต่อชุมชน โจทย์และคำถามที่ ๒ : หากทุกคนต้องการทำให้ชุมชนพุทธมณฑล ยิ่งมีสุขภาวะที่ยั่งยืน เด็กๆได้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมพัฒนาด้วยตนเองอย่างเต็มที่ จะต้องทำสิ่งใดขึ้นมาอีกบ้าง ? แล้วให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันวาดออกมาเป็นภาพชุมชนในความคาดหวังและแนวคิดในการพัฒนาสุขภาวะที่พึงประสงค์ร่วมกัน

                         ภาพที่ ๔ หลังจากระดมความคิด วาดรูปชุมชนในกลุ่มย่อย และนำเสนอเพื่อเรียนรู้ด้วยกันในเวทีรวมแล้ว รูปภาพและผลงานกิจกรรมศิลปะที่เป็นเครื่องมือจัดการความรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานเป็นกลุ่ม ควรติดตั้งและจัดแสดงให้เป็นสภาพแวดล้อมของเวทีเรียนรู้ ทำให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานด้วยกันมากยิ่งๆขึ้น

 เคล็ดวิชากระบวนกร  Facilitators Tip 

๑. ฝึกฝนตนเอง เพื่อเลือกวัสดุเครื่องเขียน โดยเฉพาะกระดาษและสีให้สอดคล้องกับความถนัด นำกิจกรรมด้วยความเป็นธรรมชาติตนเองให้มากที่สุด ผ่อนคลาย ลดความกังวล สื่อสะท้อนพลังที่ออกมาจากจิตใจ จริงใจ
๒. เดินกระตุ้นการคิดและการทำงานให้สนุก ส่งเสริมกำลังใจ ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อยได้วาดความคิดตนเองออกมา
๓. เตรียมกิจกรรมสร้างความตื่นตัวสอดแทรกระหว่างกิจกรรมต่างๆอยู่เสมอ

  การสะท้อนการเรียนรู้ เสริมวิชาการ และสรุปบทเรียน 

วิทยากรจัดโอกาสให้เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสะท้อนทรรศนะ สิ่งที่เกิดการเรียนรู้ แนวคิดในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและในสถานการณ์อื่นๆ จุดอ่อน จุดแข็ง ข้อจำกัดและความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไข การสะท้อนทรรศนะต่อชุมชนและการรับรู้ต่อประเด็นสังคม การสะท้อนทรรศนะต่อการพัฒนาทักษะตนเองในการทำงานกับผู้อื่น การพัฒนาความเข้าใจตนเอง การพัฒนาความสามารถในการสื่อสารและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ การได้ประสบการณ์ในการคิดและแสดงออก การได้เรียนรู้ชุมชน เรียนรู้ผู้อื่น และการได้เพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้นต่อความเป็นกลุ่มก้อนและชุมชน

จากนั้น สิ่งที่ควรทำอยู่เสมอก็คือ การสร้างโอกาสให้เวทีได้มีความงอกงามทางการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เชื่อมโยงขึ้นจากพื้นฐานประสบการณ์เพื่อกลับออกไปดำเนินชีวิตและนำเอาสิ่งที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาและมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่เป็นความริเริ่มด้วยตนเองได้มากยิ่งๆขึ้นอยู่เสมอ โดยเสริมความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มกับการพัฒนาความเป็นพลเมืองและการปฏิรูปการเรียนรู้ทางสังคมในประเด็นที่เป็นความสนใจของชุมชนนั้นๆ.

หมายเลขบันทึก: 393223เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะ

มาเก็บความรู้ค่ะอาจารย์  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ เพราะต่อไปมีเวลาว่างและเป็นอิสระเต็มร้อย  มีความตั้งใจจะทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมบ้าง  ขอขอบพระคุณค่ะ

๖. สื่อและโสตทัศนูปกรณ์ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์สองทาง ควรจัดหาและเตรียมสื่อโสตทัศนูปกรณ์ที่ส่งเสริมบทบาทของความเป็นสื่อบุคคลและเอื้อต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์สองทาง ผสมผสานหลายอย่างเพื่อครอบคลุมความจำเป็นและเพิ่มโอกาสการปฏิสัมพันธ์อย่างบูรณาการ

****************************************************************

ขอบคุณค่ะพี่อาจารย์...

ขอบคุณค่ะ..เป็นกระบวนการร่วมกันคิด..ร่วมกันแสดงออกด้วยสื่อภาพที่ชัดเจน..บทบาทของวิทยากรกระบวนการและทีมงาน มีความสำคัญมากในการสนับสนุนการเชื่อมร้อยความคิดหลากหลายออกมาเป็นรูปธรรมตามที่พึงประสงค์...

       

เวทีเยาวชนกล้าใหม่-ใฝ่รู้ ปี๕ ภาคใต้ สร้างสรรค์ศิลป์ สะท้อนจิตสำนึกที่ดีเพื่อสังคม

 

แวะมาเยี่ยมอาจารย์

ด้วยความระลึกถึง ครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • นี่ผมแค่รับทราบก็รู้สึกใจหายไปด้วยนะครับ
  • คนที่เป็นครูสอนเด็กๆประถม-มัธยมนั้น ผมให้ความรู้สึกเหมือนคนเป็นพ่อ-เป็นแม่ ไม่สามารถลาออกได้ อย่างไรคนก็ให้ความเป็นครู เป็นสถาบันแห่งความเคารพศรัทธาในการเป็นผู้สร้างคนและให้ชีวิตที่ได้การศึกษาอบรม มากกว่าเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง
  • เลยเชื่อว่าคุณครูคิมก็ยังเป็นครูอยู่ต่อไป ที่อาจจะคล่องตัวและทำงานได้มากกว่าเดิมนะครับ
  • มีความสุขครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาเยี่ยม และเก็บเกี่ยวความรู้ค่ะ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • ปิ๊งไอเดียสักอย่างแล้วกระมัง
  • การเลือกสื่อเพื่อส่งเสริมบทบาทการปฏิสัมพันธ์กันของผู้เรียน-ผู้สอน และการปฏิสัมพันธ์กันของคนทำงานด้วยกันนั้น ต้องมีแนวคิดและเห็นความหมายของสื่อในแง่เป็นเครื่องมือและระบบจัดการให้เกิดวิถีปฏิบัติของคนในสถานการณ์หนึ่งๆมากเหมือนกันนะครับว่า กระบวนการการเรียนรู้อย่างมีความหมาย มิติสังคม รวมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างในสถานการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการดังกล่าวนั้น คืออะไร
  • ตัวอย่างเช่น การเขียนแผนภาพความคิดด้วยกระดาษบนบอร์ดขาตั้ง ยืนสนทนาพร้อมกับเขียนรูปบนกระดาษบอร์ด กับการใช้โน๊ตบุ๊ค โปรแกรม Mind Management  นั่งพิมพ์คีย์บอร์ดและฉายภาพขึ้นจอให้เห็นทั้งห้องนั้น  ปฏิสัมพันธ์กันของผู้เรียนกับผู้สอน กับลักษณะกิจกรรมการมีส่วนร่วม จะแตกต่างกันและให้มิติการเรียนรู้แตกต่างกันมาก หากต้องการเน้นการครอบคลุมการเรียนรู้ด้านการเข้าถึงเนื้อหาที่ทั่วถึงก็ต้องใช้โน๊ตบุ๊คและเครื่องฉายภาพขึ้นจอ แต่ถ้าหากมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีคิดและเสริมพลังความเป็นกลุ่มก้อน ก็ต้องเน้นการปฏิสัมพันธ์และใช้บอร์ดขาตั้งให้สื่อบุคคลมีบทบาทมากขึ้น ....เป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ  ที่สำคัญคือ ทำให้ Learning activities มีมิติทางสังคม สะท้อนจิตใจและมิติสุนทรียภาพของมนุษย์ มีความเข้มข้นทางการปฏิบัติ ผู้คนเกิดประสบการณ์และให้คุณค่าต่อการเป็นคนลงมือ ปฏิบัติกิจกรรม และทำงานด้วยกันเป็นหมู่คณะมากยิ่งๆขึ้นอีกวิธีหนึ่ง

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ เมื่อวันสองวันมานี้ผมนึกถึงอยู่นะครับว่าคุณแสงแห่งความดีหายไปไหนเป็นครู่ แต่ผมเองก็หายไปเหมือนกันครับ ช่วงนี้นักศึกษาของผมมีกิจกรรมเยอะและต้องให้เวลาเยอะครับ ทั้งไปศึกษาดูงาน ไปเรียนรู้นอกสถานที่ ทำวิทยานิพนธ์

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ เมื่อวานนี้ผมเพิ่งกลับมาจากไปเก็บข้อมูลการวิจัยแถวภาคเหนือมา ตอนเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นกล้วยไม้ของชาวบ้านที่เขาเก็บมาจากป่าและเอามาแขวนไว้ตามต้นไม้ในบ้านเยอะแยะเลยละครับ ยิ่งเป็นหน้าฝน ทั้งใบและดอกก็ดูเขียวสดใส

  • ผมชอบกิจกรรมแบบที่อาจารย์เขียนจัง
  • หลายอย่างเอาไปทดลองแล้ว work มาก
  • ไปตราดมา พบยายคนหนึ่งสานไม้อยู่(คิดถึงยายวงของอาจารย์เลย)เพิ่งเคยเจอชื่อต้นคลุ้ม
  • มีอีกต้นชื่อคล้า
  • เลยเอามาฝากอาจารย์ด้วยครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/393656
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • อย่างอาจารย์นั้น ดูท่าจะนำอะไรไปบวกด้วยก็จะสนุกครับ
  • อาจารย์มีศิลปะการสอนสูงมากนะครับ โดยเฉพาะการสอนที่มีความบูรณาการ ให้ความรอบรู้และความเชื่อมโยงทางการเรียนรู้

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

    ครูเอเป็นครูสอนศิลปะที่ไม่ได้มีความสามารถด้านนี้สักเท่าไหร่นะค่ะ แต่ชื่นชอบผลงานศิลปะทุกๆชิ้น  โดยเฉพาะศิลปะจากตัวตนของเขา  ขออนุญาตพูดเล่าเรื่องราวที่ประสบมานะค่ะ บ่อยครั้งที่ไปแข่งขัน  กับนักเรียนโรงเรียนเอกชน ทำให้แอบเห็นชิ้นงานที่มีแบบจาก  ครูผู้สอน ชี้แนะตั้งแต่การวาด การลงสีตามแบบ  สวยงามมาก แต่... รู้สึกว่า มันไม่ใช่ศิลปะ  เด็กไม่ได้มีส่วนร่วมในอารมณ์ศิลป์ที่เกิดขึ้น  เพราะเป็นความคิดแบบผู้ใหญ่  น่าเศร้า  แต่ ...สำหรับครูเอ   ในเวลาแข่งขัน เราปล่อยเขาจะบอกแค่ว่า  เธอต้องใช้ความสามารถของตนเองในการถ่ายทอดชิ้นงาน  เมื่อผลงานเสร็จ  สิ่งที่ทำได้คือ ...ยิ้มแล้วบอกว่า... ดีแล้ว  ถึงแม้จะเทียบผลงานคนอื่นไม่ได้เลย ในสถานะการณ์ของการแข่งขัน ทุกครั้ง แต่....แค่คำชมของครู  ก็ทำให้เด็กๆยิ้ม

 

สวัสดีครับคุณครูเอครับ

  • ชอบแนวคิดและกุศโลบายในการสอนของคุณครูเอมากเลยละครับ
  • คนทั่วไปมักติดอยู่กับด้านที่เป็นการวาดรูปให้สวยงามซึ่งเป็นการแสดงออกทางฝีมืออย่างหนึ่งเท่านั้น
  • แต่ไม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ศิลปะในแง่ที่เป็นการพัฒนาสุนทรียภาพและความสมดุลของภาวะด้านในกับการแสดงออกเพื่อได้ความเป็นศิลปะ แล้วให้แสดงออกที่การวาดรูปหรืออะไรก็ได้อย่างมีพลัง
เจตน์สฤษฎิ์ แก้วรากมุข

" ขอบพระคุณสำหรับ บทความ ศิลปะและสื่อเพื่อการพัฒนา ซึ่งผมเองนำมาเป็นข้อมูลในวิชาเอก สื่อผสม ชั้นปีที่4 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร บทความมีเนืื้้อหาที่ใกล้เคียงกับหัวข้อที่ผมทำงานชิ้นนี้อยู่ครับเป็นการทำงานศิลปะที่ใสื่อนำเสนอผ่านชุมชนน่ะครับ ยังไงขอคำแนะนำอาจารย์ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ "

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท