๔๗.แสงและสีสันในเงา : การเปิดมิติพิศวงและแสดงภาวะ Paradox โดยวิธีการทางศิลปะ


ผมได้ชมภาพถ่ายเล่นมิติแสง-เงาสวยๆหลายภาพ รวมทั้งการสนทนาเรื่องศิลปะกับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษาโครงการกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจล อีกทั้งมีภาพเขียนที่ทำงานแนวนี้ ซึ่งได้คุยและแลกเปลี่ยนกันชมอยู่ในหลายแห่ง หากรวบรวมมาไว้ในหัวข้อนี้ด้วยก็จะทำให้เป็นแหล่งได้เข้ามาอ่านและชมของผู้สนใจ ทั้งเพื่อได้มีความสุขและพัฒนาด้านในตนเอง รวมทั้งผู้สนใจศึกษาเรียนรู้และทำงานศิลปะ ก็จะได้เป็นแหล่งสะสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาแนวคิดและวิธีทำงานตามที่สนใจ ก็เลยขอนำมาเรียบเรียงและรวบรวมไว้ในบันทึกนี้ให้เป็นหัวข้อเฉพาะ 

ขอเริ่มที่การชมภาพถ่ายของพี่นงนาทครับ เป็นภาพถ่ายจากอาคารสูงบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ภาพแสงเงาแบบนี้ ในทางศิลปะภาพถ่ายและงานทัศนศิลป์เรียกว่าภาพย้อนแสง หรือ ภาพเงาดำ หรือ ภาพ Sillhouette หากไม่ได้ตั้งใจก็มักจะเชื่อกันว่าเป็นภาพเสีย แต่ถ้าหากเกิดจากความตั้งใจ ก็สามารถจัดองค์ประกอบทำเป็นงานศิลปะในอีกแนวหนึ่ง

หากพิจารณาแนวคิดและวิธีการสร้างความเป็นศิลปะในแนวนี้แล้ว ก็จะพบว่าเป็นวิธีทำให้เกิดคำถามและค้นพบคำตอบด้วยกรอบวิธีคิดที่คนทั่วไปอาจไม่ได้มอง รวมทั้งเป็นวิธีทำให้ผู้ชมสามารถเกิดประสบการณ์กับภาวะย้อนแย้ง หรือภาวะ Paradox อยู่บนปรากฏการณ์เดียวกันได้โดยวิธีการทางศิลปะ เนื่องจากจะมุ่งสร้างความเป็นศิลปะจากการสร้างรายละเอียดและบรรยากาศความประทับใจในเงา แสงสว่างในเงา ความมีสีสัน ความอบอุ่นและพลังของแสงในเงา ซึ่งเป็นภาวะที่ก่อเกิดจากการสร้างขึ้นร่วมกันของสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน สร้างเงาและน้ำหนักบนพื้นที่สว่าง ขณะเดียวกันก็กลับมุ่งสร้างความสว่างในเงา วิธีคิดอย่างนี้จะเหมาะสำหรับการให้ประสบการณ์ต่อการสร้างความรู้และการเข้าถึงความจริงแบบให้ความสำคัญกับบริบทจำเพาะและไม่ส่งเสริมวิธีคิดแบบเป็นขั้วที่แยกอิสระต่อกัน

Large_dscn2425

ภาพที่ ๑ : ท้องฟ้าใกล้ค่ำที่ตึก SCB ถ่ายภาพ : นงนาท สนธิสุวรรณ

กล้องถ่ายรูปเดี๋ยวนี้ถ่ายภาพแบบย้อนแสงหรือเงาดำได้ดีกว่าในอดีตมาก ในอดีตนั้น หากชอบถ่ายรูปและวาดรูปที่เพิ่มมิติการเล่นแสง-เงา ด้วยการถ่ายภาพย้อนแสงและวาดรูปแบบเล่นน้ำหนักเงาให้เป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว ก็ต้องมีอุปกรณ์และเทคนิคที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนเข้าช่วย มิฉะนั้นภาพก็จะมืดดำ ไม่ได้มิติความเป็นศิลปะดังที่ต้องการ ผู้ซึ่งเขียนภาพแนวย้อนแสงและโชว์ศิลปะของเงาในประเทศไทยนั้นมีไม่กี่คน แต่เดิมนั้น หากเป็นด้านการเขียนภาพ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำงานด้วยการปาดเกรยองหรือไม่ก็ภาพดรออิ้งแบบสีดำๆน้ำหนักเดียว ภาพย้อนแสงและภาพแสดงน้ำหนักขาวดำ จึงมักมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาพสีเอกรงค์หรือภาพ Monochrome แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะภาพแบบ Monochrome จะครอบคลุมถึงภาพขาว-ดำแบบทั่วไปซึ่งไม่ใช่ภาพย้อนแสงและไม่ใช่แนวภาพที่เน้นสร้างความเป็นศิลปะด้วยน้ำหนักแสง-เงากับไรแดดด้วย

เกรยองคือแท่งกราไฟต์คุณภาพดี อ่อนและทำให้มีน้ำหนักได้หลายระดับ เหมือนกับเป็นไส้ดินสอขนาดใหญ่ เราสามารถทำเกรยองหรือแท่งถ่านขึ้นใช้เองได้โดยเผาไม้เนื้ออ่อนให้เป็นถ่านแล้วใช้เขียนภาพ เช่น กิ่งตะขบ ต้นพริก แต่จะได้คุณภาพไม่สม่ำเสมอเท่าเกรยองที่ทำจากแท่งกราไฟต์

สำหรับคนเรียนศิลปะและช่างเขียนรูปนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าใครปาดเกรยองสวยและเขียนรูปจัดวางแสงเงาแบบย้อนแสงสวย ก็จะเป็นคนที่ตกผลึกและฝึกปรือจนอยู่ในขั้นที่จะทำสิ่งที่ไม่สวยอย่างไร ก็ให้สวยและมีเรื่องราวได้หมด แม้แต่สีดำพื้นๆสีเดียวหรือภาพย้อนแสงมืดๆซึ่งคนทั่วไปหากจัดวางไม่เป็นและไม่มีศิลปะ คนดูก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นรูปเสีย ดังนั้น มือปาดเกรยองและคนทำงานแนว Sillhouette ก็มักจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนสร้างสุนทรียภาพและสื่อสะท้อนความงามทางศิลปะด้วยการจัดวางวิธีคิด วิธีมอง และแม่นเรื่องการจัดองค์ประกอบ หรือ Composition ที่คนทำงานศิลปะชอบเรียกกันว่าการจัดคอมโพสต์

Large_ignite-5

ภาพที่ ๒ : ภาพถ่ายย้อนแสงและเน้นน้ำหนักเงา  ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

การถ่ายภาพย้อนแสงและทำงานแนว Sillhouette ในทางศิลปะภาพถ่ายจะให้ผลที่แปลกออกไปหลายประการ ที่สำคัญ น้ำหนักของเงาจะเน้นให้องค์ประกอบภาพแน่น ลงตัว คุมโทนทั้งภาพให้มีแนวคิดเชื่อมโยงกลมกลืน และถ้าหากรู้จังหวะหรือใช้แฟลชช่วยลดความเข้มของเงา ก็จะให้ผลเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ ภายในเงาทึบปื้นๆที่เหมือนกับไม่มีอะไรนั้น เมื่อมองให้ดีก็กลับมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก อีกทั้งภายในเงาและน้ำหนักทึบๆก็กลับจะมีสีที่อิ่มตัว เข้มข้น ซึ่งภาษาศิลปะเรียกว่ามีแมส-Mass มากกว่าด้านที่ให้แสงสว่างโพลนอย่างไม่มีมิติและไม่มีเรื่องราว            

ภาพที่ ๓  ภาพวาดลายเส้นแบบย้อนแสง  ผู้วาด : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

Large_drykhuntarn

ภาพที่ ๔ : ภาพย้อนแสง ลายเส้นป่าสักหน้าแล้งริมทางรถไฟถ้ำขุนตาล  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

รูปวาดแบบเงาดำและย้อนแสง เมื่อจัดวางดีๆก็กลายเป็นมีเรื่องราว ได้ความงามทางศิลปะ ให้การครุ่นคิด และให้ทรรศนะต่อการมองสิ่งต่างๆ ได้ดีมากอีกแนว ในการเขียนภาพแบบเซนและเต๋านั้น เชื่อว่าความงามและความจริงคือตัวกระบวนการทางปัญญาที่อยู่ข้างในของปัจเจกและชุมชน ดังนั้น ก็มักเน้นการสื่อสะท้อนด้วยการเขียนภาพสีเดียว ดำๆ หรือลายเส้นปื้นๆ เพราะมาจากแนวคิดพื้นฐานที่ว่าสีสันและความงามไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ในตัวเรา ซึ่งก็จะเป็นวิธีคิดที่ให้ความหมายแก่ศิลปะไปด้วยว่า ศิลปะคือการพัฒนาวิธีมองและการพัฒนาทรรศนะ เทคนิคและวิธีการภายนอกเป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อการเข้าถึงภาวะดังกล่าวนั้นเท่านั้น

จากภาพตัวอย่างซึ่งเป็นภาพวาดลายเส้น จะเห็นว่าภาพเขียนเป็นภาพแนวย้อนแสงและเล่นกับเงาดำ สีเดียว แต่พอเราจัดวางน้ำหนักได้ดี คนดูก็กลับจะไม้ได้มองเห็นอย่างที่รูปภายนอกมันเป็น เพราะเขาจะสามารถเห็นป่า เห็นและรู็สึกได้ถึงความร่มรื่น ความมีสีสัน และบรรยากาศความมีชีวิตชีวา ไม่ได้เห็นเป็นภาพขาวดำแบบทั่วๆ หากอธิบายด้วยแนวคิดที่ใช้ทำงานแนวนี้ก็คือ เป็นการเห็นการตื่นอยู่กับตนเอง เห็นด้วยกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตนเอง 

File:Monet dejeunersurlherbe.jpg

ภาพที่ ๕ : Claude Monet, Le déjeuner sur l'herbe,with Gustave Courbet, 1865-1866, Musée d'Orsay, Paris ผลงานของโมเนต์ เป็นภาพที่เล่าบรรยากาศความประทับใจด้วยไรแดดและภาพย้อนแสง กับภาษาของเงาและรายละเอียดภายในเงาที่เกิดภาพย้อนแสงอีกทีหนึ่ง (ขอบคุณภาพจาก Google)

วิธีคิดสำหรับการทำงานแนวนี้ แตกต่างไปจากวิธีคิดแบบทั่วไปพอสมควร เนื่องจากโดยทั่วไปนั้น ก็จะมีวิธีคิดและวิธีมองอีกชุดหนึ่งว่า ศิลปะและความงามเป็นอิสระออกจากตัวเราที่ผู้อื่นสร้างให้เราบริโภคได้ ดังนั้น ความงามก็อยู่ที่ผู้สร้างและอยู่ที่ชิ้นงานศิลปะอย่างสมบูรณ์ วิถีทรรศนะอย่างนี้ก็จะมีแนวการทำงานไปอีกแบบหนึ่ง และในการดูให้ได้ความซาบซึ้งก็จะต้องเข้าถึงด้วยทรรศนะอีกชุดหนึ่ง หากเรียนรู้เชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ ก็สามารถเทียบเคียงได้กับวิธีคิดในทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructivism ซึ่งก็เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนจะได้จากการปฏิสัมพันธ์กับแหล่งประสบการณ์การเรียนรู้ และต้องสร้างสร้างขึ้นเองอย่างเฉพาะตน ภายในตนเอง และด้วยตนเอง รวมทั้งสอดคล้องกับวิธีคิดเรื่องความรู้แบบ Tacit Knowledge และความรู้เชิงบริบทในทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม การทำงานศิลปะแนวนี้ จึงเปรียบเหมือนการทำงานเพื่อจัดวางปัจจัยแวดล้อมให้ผู้ชมเข้าถึงภาวะแห่งตนด้วยตนเอง หากผู้ชมดูโดยการหาความสวยงามจากข้างนอกอย่างเดียว ก็จะเห็นว่างานแนวนี้ไม่สวยงามอย่างใดเอาเสียเลย

งานศิลปะในแนวต่างๆก็มีวิธีวิพากษ์และมี Dialogue เพื่อนำเสนอทรรศนะดีๆมากมายเหมือนงานในสาขาอื่นๆเช่นกัน ที่สำคัญคือวิธีทำงานศิลปะมักเหมือนช่องทางไหลผ่านของความบันดาลใจจากสังคม สภาพแวดล้อม และการตกผลึกความร่วมสมัยของปรากฏการณ์ ดังนั้น จึงสามารถบันทึกและสะท้อนความเป็นสภาวการณ์ต่างๆของสังคมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงประสบการณอันลึกซึ้งต่อสังคมได้ แต่มันเป็นภาษาศิลปะ คนทำงานศิลปะในบ้านเราและในต่างประเทศใช้ศิลปะทำงานเชิงความคิด และบางทีก็จะไปได้ไกลกว่าวิธีการอื่น ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะโดยมากแล้วจิตรกรและศิลปินจะทำงานที่มีอิสรภาพภายในตนเองจากสิ่งจูงใจและที่ยึดเหนี่ยวภายนอกได้มากกว่าใคร งานความคิดที่มาก่อนกาลหรือก้าวหน้าจนพ้นยุคไปแล้วคนถึงจะถอดรหัสออกหรือตามทัน จึงมักจะเกิดผ่านวิธีทำงานศิลปะอยู่ตลอดมา

ในสังคมไทยนั้น บทบาททางศิลปะต่อสังคมอย่างนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนทำงานศิลปะก็มักจะเบื่อหน่ายที่จะคุยภาษาอื่น ส่วนชาวบ้านคนทั่วไปก็ห่างเหินและปีนขึ้นไปดูงานศิลปะไม่ค่อยถึง อีกทั้ง ความเป็นสังคมบริโภคทางวัตถุและการเลือกสรรประโยชน์เพียงการได้กำไร ซึ่งมีอิทธิพลไปทั่วทุกระบบของทุกสังคมในโลกนั้น อะไรที่แม้เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ดังเช่นธรรมชาติความงามทางจิตใจอย่างเรื่องศิลปะนี้ แต่มันไม่สามารถเป็นที่มาของการได้ประโยชน์ในรูปของกำไรและประโยชน์ทางวัตถุ สังคมก็จะใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ ก็เลยขาดการสั่งสมวิธีสร้างภูมิปัญญาและการเรียนรู้ตนเองไปอีกวิธีหนึ่ง 

จะว่าไปแล้วก็คือ ก็เหมือนกับต้องทิ้งความเป็นจิตวิญญาณทางสังคมออกไปเลย

หมายเลขบันทึก: 408596เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

*ขอบคุณมากค่ะที่อาจารย์ได้กรุณาขึ้นบันทึกนี้เพื่อ.. "รวบรวมมาไว้ในหัวข้อนี้ด้วยก็จะทำให้เป็นแหล่งได้เข้ามาอ่านและชมของผู้สนใจ ทั้งเพื่อได้มีความสุขและพัฒนาด้านในตนเอง รวมทั้งผู้สนใจศึกษาเรียนรู้และทำงานศิลปะ ก็จะได้เป็นแหล่งสะสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาแนวคิดและวิธีทำงานตามที่สนใจ ก็เลยขอนำมาเรียบเรียงและรวบรวมไว้ในบันทึกนี้ให้เป็นหัวข้อเฉพาะ ..."

* พี่ขอตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์ใส่ชื่อ กลุ่มศิลปะแสง-เงาและไรแดด  ซึ่งต่างจากคำสำคัญเดิมที่อาจารย์ตั้งว่า กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงาและไรแดด ตรงที่ ไม่มีคำว่า งาน และ เล่น จึงทำให้บันทึกนี้ไม่อยู่ใน กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงาและไรแดด ที่รวบรวมบันทึกในกลุ่มเดียวกันนี้ค่ะ...

* เพื่อให้บันทึกนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน รบกวนอาจารย์ copy คำว่า  กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงาและไรแดด ลงในคำสำคัญ แทนด้วยนะคะ..

  • มีผู้เสนอแนะไว้ให้ด้วยน่ะครับว่าควรแยกมารวมไว้ด้วยกันด้วย
  • ขอบคุณครับพี่ครับ บางทีก็เขียนอย่างคุยกันไปน่ะครับ
  • ในภาษาอังกฤษเขามีคำว่า Shadow Art ใช้ด้วยนะครับ หากใช้สั้นๆไว้ว่า ศิลปะเงา ตามที่เขาเรียกกันในภาษาอังกฤษ คนที่ไม่เคยรู้จักอาจจะจินตนาการไม่ออกเป็นแน่เลยครับ
  • เหมือนกับงาน Ligth and Sound ก็เหมือนกันครับ เมื่อก่อนก็ต้องเรียกว่า งานแสดง-แสง-สี-เสียง ซึ่งยาวและมากกว่าความเป็น Ligth and Sound แต่ที่สุดก็ต้องเรียกทับศัพท์ว่า  ไลต์แอนด์ซาวด์ หรือไม่ก็ งานแสดงแสงสีเสียง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท