๕๘. ชรวย-คำแปง ณ สุนทร กับบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง : คู่ชีวิตผู้หมายมุ่งสู้สิ่งยากดั่งผันน้ำขึ้นโปรยอาบเขา


                                                                             กูจัก[๑]  ผันน้ำ ขึ้นโปรย อาบเขา
                                                                             กูจัก เอาสมุนไพรห่ม คลุ่มสมานแผล[๒]
                                                                             กูจัก หว่านหมื่นต้นไม้ เฝ้าดูแล
                                                                             กูจัก ผูกขวัญ มิ่งแม่ เป็นดงดอย[๓]

                                                                             กูจัก คืนพฤกษ์ สู่ไพร
                                                                             กูจัก คืนไผ่ สู่ป่า
                                                                             กูจัก คืนลูก สู่บ้าน
                                                                             กูจัก คืนงานศิลปะ สู่ท้องถิ่น
                                                                             กูจัก คืนกลิ่น เอื้อง เสียงซึง สู่ล้านนา

                                                                                                    ปณิธานบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง
                                                                                                    ถนนเชียงใหม่-สันป่าตอง

เมื่อวาน วันเสาร์ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ผมกับภรรยาได้ไปร่วมงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของครอบครัวรุ่นพี่ท่านหนึ่ง หลังร่วมถวายภัตตาหารเพลและร่วมรับประทานอาหารกันเสร็จแล้ว ก็ขับรถกลับ ระหว่างทางที่ผ่านอาคารไม้หลังใหญ่ข้างถนนเชียงใหม่-สันป่าตอง ซึ่งมีป้ายเขียนว่าบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ผมก็เลยขอชวนภรรยาแวะเข้าไปชมเหมือนกับหลายๆครั้งที่ก็เคยตั้งใจไปแต่ก็ให้บังเอิญตรงกับเขาหยุดและไม่ได้ชมอย่างที่มีความสนใจสักที ทั้งที่ผมเห็นบ้านและป้ายของ บ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่างนี้มาหลายต่อหลายปีแล้ว ผมก็จินตนาการไปต่างๆนานา แต่ก็นึกถึงร้านสะสมและขายงานหัตถกรรมโดยทั่วไปของทางเหนือที่มักจะมีผลงานของช่างพื้นเมืองฝีมือดี

ที่สนใจร้านนี้เป็นกรณีพิเศษก็เนื่องจาก ๒ เหตุผล คือ หน้าร้านนี้มีงานแกะสลักไม้ซึ่งวิธีออกลายให้ความเป็นท้องถิ่นล้านนาทั้งเชิงช่างทางศิลปะและเรื่องราวที่บันทึกลงบนตัวงาน กับความเป็นร้านซึ่งอยู่ย่านหางดง-สันป่าตองซึ่งอยู่ในถิ่นบ้านถวาย ชุมชนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมงานศิลปะและหัตถกรรมที่หลากหลายและเนื่องแน่นมากที่สุด แต่พอได้เข้าไปเยือนจริงในคราวนี้ ผมกลับได้พบกับหลายสิ่งที่ชวนตื่นตาตื่นใจ ทั้งต่องานสร้างสรรค์ทางศิลปะและงานช่างฝีมือที่สื่อสะท้อนจิตวิญญาณของแผ่นดินล้านนาที่ชวนอัศจรย์ใจสุดจะบรรยาย

บ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง น่าจะเรียกว่าเป็นกิจการขององค์กรธุรกิจเพื่อรับผิดชอบสังคม หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะเรียกว่าเป็นองค์กรจัดการธุรกิจเชิงสังคมวัฒนธรรม ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้วโดยครอบครัวสองสามีภรรยา ครูชรวย-พี่คำแปง ณ สุนทร ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า ๕ ไร่ ซึ่งค่อยๆซื้อและค่อยขยายไปเต็มพื้นที่ตามกำลัง ในอาคารหลักนั้น เป็นอาคารสูง ๗ ชั้น แบ่งเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงงานศิลปะหัตถกรรมเป็นจำนวนมาก

หากมองจำเพาะด้านที่เป็นเรื่องของการจัดการนั้น ครูชรวย พี่คำแปง ณ สุนทร และบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นผู้คัดสรรและจัดแสดงงานทางศิลปะ หรือ  Curator ที่เรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้อย่างเป็นระบบด้วยการเรียนรู้จากการดำเนินชีวิต สามารถทำให้ฝีมือและปรีชาญาณจากวิถีชีวิตของชาวบ้านได้รับการเจียรนัยให้เปล่งประกายพลังทางศิลปะและหัตถกรรมขึ้นอย่างเอกอุและหลากหลาย ทำให้งานจาฝีมืออันดูเหมือนต้อยต่ำ จากชาวบ้านและจากสังคมไทย มีความงามสง่า สูงส่ง และได้รับการยกย่องจากผู้มีรสนิยมทางศิลปะทั้งในหมู่คนไทยและจากทั่วโลก นับแต่สามัญชนไปจนถึงผู้นำของสังคมและประมุขของหลายประเทศในโลก ท่านกล่าวว่าท่านไม่มีฝีมือ แต่มีความคิดและยกย่องงานศิลปะแลหัตถกรรมของช่างล้านนา คนทำงานศิลปะและช่างมีฝีมือนั้น ท่านเปรียบว่าเป็นเหมือนดอยและภูเขาอันใหญ่โต ส่วนท่านนั้น เปรียบเสมือนยอดหญ้าที่ตีนเขา แต่ก็ขอเป็นหญ้าที่ปกคลุมให้ความฉ่ำเย็นแก่หมู่ดอยและตีนเขาใหญ่ ดังสะท้อนอยู่ในปณิธานบทหนึ่งในข้างต้นของบทบันทึกนี้

ในอาณาบริเวณของบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่างนั้น จัดการทั้งบริเวณให้เป็นแหล่งทำกิจกรรมได้หลายอย่างตามอุดมคติของครูชรวย-พี่คำแปง ณ สุนทร คือ

  • อาคารจัดแสดงงาน ซึ่งมีลักษณะการวบรวมงานแบบ ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ดังที่ตั้งเป็นชื่อบ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่างจริงๆ ประเมินหยาบๆทั้งหมดแล้วน่าจะมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ชิ้น และหลายชิ้นนับว่าเป็นงานสุดยอดของความเป็นศิลปะประติมากรรมแกะสลัก
  • การจัดแสดงงานกลางแจ้ง บูรณาการไปกับการจัดสวนอันร่มรื่น
  • ด้านหลังเป็นสวนศิลปะ แหล่งเรียนรู้ และสถานที่สำหรับศึกษาธรรม
  • มุมต่างๆสอดแทรกด้วยที่นั่งอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีที่พักและห้องนั่งสนทนาขนาดเล็กๆกระจายอยู่หลายหลัง จัดเตรียมสำหรับรับรองวิทยากร แขกที่เคารพนับถือกัน กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมและกลุ่มสนใจที่มุ่งมาศึกษาเรียนรู้
  • การเดินชมสิ่งของต่างๆ ทางบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่างจะตั้งตู้รับบริจาคไปด้วย เพราะทั้งระบบคงต้องใช้กำลังและทรัพยากรเพื่อการดูแลรักษามากทีเดียว

ทางบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง เป็นทั้งศูนย์รวบรวมผลงานของช่างล้านนามาบริหารจัดการเชิงธุรกิจด้วย อีกทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์และให้การเรียนรู้แก่สังคมด้วย ครูชรวยเป็นผู้มุ่งมั่นในการฟื้นฟูและส่งเสริมงานศิลปะและฝีมือการช่าง ต้องการให้เป็นสื่อความงดงามไปยังผู้คนทั้งชาวไทยและทั่วโลก อีกทั้งต้องการให้สล่าพื้นเมือง ครอบครัว และชุมชน ได้ดำรงชีวิตที่งดงามและทำสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของตนได้ การบุกเบิกริเริ่มมีความยากลำบาก ต้องล้มเหลวในชีวิตหลายรอบกระทั่งเคยคิดฆ่าตัวตายทั้งตนเองและครอบครัวมาแล้ว

พนักงานของบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง มีอัธยาศัยและให้การต้อนรับผู้คนด้วยบรรยากาศความเป็นชาวบ้านมากอย่างยิ่ง นำเราและแขกของบ้านเป็นกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาในบ้านพร้อมกัน ให้เดินชมและบรรยายให้ทราบเรื่องราวต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเแหล่งให้การเรียนรู้ศิลปะและหัตถัตถกรรม รวมทั้งระบบวิธีคิดของสังคมท้องถิ่นล้านนาที่มีพลังมากอย่างยิ่ง

หลังจากเดินชมในส่วนที่จัดแสดงทั่วไปหมดแล้ว เราก็กลับโชคดีอย่างที่สุดมากเข้าไปอีก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนเข้ามาในร้านบางตาลงพอดี ทางครูชรวยก็เลยได้มีจังหวะทักทายกับเรา ซึ่งก็เป็นการสันถวะอย่างทั่วไปต่อแขกเหรื่อของบ้านตามน้ำใจของท่าน แต่เราก็คุยกันไปได้หลายเรื่อง ที่สุดท่านก็พาผมและภรรยาไปหามุมนั่งคุยกันบนที่นั่งสบายๆบนเรือนชานเล็กๆใต้ร่มไม้ จากนั้น ก็ยังพาเดินเข้าไปในสวนศึกษาและปฏิบัติธรรมในสวนหลังบ้าน

การออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆอย่างสลับซับซ้อน อีกทั้งสื่อขั้นตอนการเดินเข้าสู่โลกภายในให้คืบหน้า ต่อเนื่อง และสัปปายะกับสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างเป็นระบบนั้น ก็ให้ตระหนักได้เป็นอย่างดีว่าผู้เป็นเจ้าของบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่างนี้ ประจงทำภูมิชีวิตของตนให้เป็นภูมิธรรมอย่างแยบคาย หมดจรดทุกแง่ทุกมุม

ทั้งอาณาบริเวณของบ้านนั้น เมื่อเดินไปจนสุดเขตชั้นในสุด ก็ทำเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของธรรมทั้งหลาย คือ แดนวิมุตติและแดนนิพพาน ซึ่งถ้าหากเห็นทั้งหมดในภาพรวมและพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน นับแต่การก้าวเดินเข้าสู่การจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ผู้คนที่เดินเข้าสู่พื้นที่บ้านได้สัมผัสกับการสร้างสติ ตั้งศรัทธามั่น กระทั่งอยู่กับอารมณ์เบิกบานอิ่มปีติทางศิลปะ ได้การเรียนรู้ เจริญภาวนากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาสุขภาวะกายและจิต จนถึงแดนวิมุตติและนิพพานเหล่านี้นั้น ทั้งหมดก็คือกระบวนการเรียนรู้ในวิถีแห่งพุทธะ หรือกระบวนการของโพชฌงค์ ๗ อันนับว่าเป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ทางสังคม ชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ศิลปะ และพุทธธรรม เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นการบูรณาการการเดินทางทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้และความรอบรู้จากการเรยนรู้ตลอดชีวิต การเห็นคุณค่าและความซาบซึ้งต่อศิลปะและหัตถกรรมที่ผุดขึ้นจากการดำเนินชีวิต ความสามารถในการจัดการในวิถีที่มุ่งสู่สังคม และจุดหมายเชิงอุดมคติเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจที่อยู่ไกลกว่าผลตอบแทนทางเงินทองและความมั่งคั่งมั่งมี

เราเดินรับฟังการสาธยายและชวนชมทุกสิ่งอย่างจากครูชรวยซึ่งถือไม้เท้าประคองตนเองเดินพาเราชมและพูดคุยอย่างต่อเนื่องทั้งหมดมากกว่า ๓ ชั่วโมง ผมได้เห็นครูทางจิตวิญญาณของสังคมและเห็นนักจัดการความรู้โดยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทยและของสังคมท้องถิ่นล้านนา ผมขออนุญาตท่านไว้ล่วงหน้าว่าจะขอไปเยือนอีกหลายๆครั้ง อีกทั้งจะขอเข้าไปถ่ายรูปและเก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆไว้ด้วย เพราะคราวนี้ ผมเคยเห็นป้ายหน้าร้านบอกว่าห้ามถ่ายรูป ก็เลยไม่ได้นำกล้องติดตัวไปด้วย.

......................................................................................................................................................................

หมายเหตุโดยผู้เขียน :

[๑]  เป็นปณิธานที่นำมาจากป้ายในบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ซึ่งจะมีป้านสื่อแสดงหลักคิดติดตั้งอยู่ทุกแห่งทั่วอาณาบริเวณของบ้านทั้งในและนอกอาคารมากว่า ๑,๐๐๐ ป้าย ในปณิธานนี้ ครูชรวย ณ สุนทร เขียน กู โดยมีเครื่องหมายขีดฆ่าสองขีดลงไปบนตัว กู ทุกตัวด้วย จึงนอกจากจะเป็นปณิธานแล้ว ก็นับว่าเป็นวรรณรูปที่ให้วิธีคิดต่อจุดหมายของการดำเนินชีวิตให้เป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อมุ่งสู่การทำให้ความเป็นตัวกูของกู บางเบาลง
[๒] คลุ่มสมานแผล ศัพท์ท้องถิ่นล้านนา หมายถึงการทายารักษาบาดแผล และการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยวิถีท้องถิ่น
[๓] วิธีคิดเรื่องขวัญ เป็นระบบความเชื่อในโลกทรรศน์หนึ่งของหลายวัฒนธรรมในโลกที่เชื่อว่ามนุษย์และสรรพสิ่งเกิดจากแม่เดียวกัน มีความเป็นพี่น้อง ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และเป็นปัจจัยแห่งชีวิตของกันและกัน สิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์ทุกคนเข้าด้วยกัน อีกทั้งเชื่อมโยงกับแม่ผู้ให้กำเนิด เรียกว่า ขวัญ ซึ่งในความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็เปรียบเสมือนรกที่เชื่อมต่อครรภ์มารดากับสะดือของลูก ในวิธีคิดดังกล่าวนี้ สิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับการดำรงอยู่ทุกอย่างก็คือสิ่งที่กอปรกันขึ้นเป็นชีวิต การก่อเกิด การงอกงามเติบโต การดำรงอยู่ และการเสื่อมสลาย ซึ่งก็ได้แก่ปัจจัย ๔, ธาตุทั้ง ๔ และทุกอย่างที่มนุษย์ต้องอาศัย ดังนั้น ขวัญของมนุษย์หรือรกที่เชื่อมโยงเข้ากับความเป็นแม่ จึงอยู่ในทุกสิ่ง อยู่ในอากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม ภูเขา แม่น้ำ ป่าไพร กลางทางเดิน ต้นไม้ ก้อนหิน ก้อนดิน จอมปลวก แนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการเรียกสิ่งต่างๆด้วยคำว่าแม่ เช่น แม่น้ำ แม่พระธรณี แม่พระโพสพ แม่พระคงคา ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตให้เติบโตงอกงาม เหล่านี้เป็นต้น วิธีคิดดังกล่าวนี้เป็นที่มาของประเพณีหลายอย่างเช่น การลอยกระทงและไหว้แม่พระคงคา วัฒนธรรมการกราบไหว้ข้าวก่อนเกี่ยว การกราบไหว้แม่พระธรณี การทำบุญสู่ขวัญ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 413361เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2010 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ..พี่ขอร่วมประทับใจในปณิธานและภูมิปัญญาที่มีคุณค่าเช่นนี้ค่ะ..จากนามธรรมสู่รูปธรรม ที่เอื้อต่อการขยายผลสู่ชุมชนในท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมเยือน..เพื่อการเล่าขานและปรับลงสู่จิตสำนึกสืบทอดต่อไป..

หากพี่ใหญ่ได้ไปนั่งคุยคงชอบครับ พูดภาษาแบบติสต์คือ ชีวิต วิธีคิด และวิธีเรียนรู้จากความจริงของครูชรวยนี่มันส์จริงๆเลยครับ ยังคิดว่าหากมีโอกาสพบปะกับกลุ่มคนที่สนใจเล็กๆที่เชียงใหม่ละก็ จะอาศัยไปนั่งคุยกับท่านและที่บ้านของท่านเสียเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท