๗๗.‘จงเชื่อมั่นในการย่างก้าวของตนเอง’ : เมื่อบอกเล่าและจุดประกายด้วยเพลงในวิธีของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์


การปลูกผักกินได้และเรียนรู้ความยิ่งใหญ่ในพัฒนาการของชีวิตจากสิ่งเล็กๆ ให้อารมณ์เดียวกันกับเพลงคงจะมีสักวัน ของ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ขอขอบคุณภาพถ่ายฝีมือของ kruposong บล๊อกเกอร์ของเว๊บล๊อก GotoKnow ในบล๊อก krukorkai : http://gotoknow.org/media/files/715404

เพลง คงจะมีสักวัน แต่งและร้องโดยเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์  ให้ทำนองและเรียบเรียงองค์ประกอบดนตรีโดยอัสนี โชติกุล ในมุมมองของผมนั้น เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ จัดว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างที่สุดต่อการก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในด้านเพลงและดนตรี ทั้งการก่อเกิดเพลงแนวสตริงกระทั่งทำให้เพลงแนวลูกกรุงหายไป การได้แบบอย่างในการปรับรูปแบบของเพลงและดนตรีลูกทุ่ง การกระตุ้นให้เกิดความเฟื่องฟูขึ้นของเพลงแนวหมอลำซิ่งและการก่อเกิดเพลงที่ผสมผสานกับความหลากหลายของสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้และสังคมล้านนา  

ผมชอบฟังเพลงของเต๋อที่ความคิดกับเรื่องราวที่บันทึกและสื่อสะท้อนไว้ในเพลง รวมทั้งวิธีทำดนตรีและเบื้องหลังของการจัดองค์ประกอบต่างๆในเพลงทั้งในแต่ละชุดและแต่ละเพลง ดังนั้น จึงมักนั่งอ่านเนื้อเพลงและสัมผัสอารมณ์เพลงไปกับการนั่งฟัง เพิ่งจะเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ผมได้หนังสือเพลงสลึง เล่มใหม่มาอีกเล่มหนึ่ง หนังสือเพลงสลึงนี้นักศึกษามหิดลนับแต่ยุคออกค่ายได้ทำขึ้นเพื่อใช้ร้องเพลงทำกิจกรรมกลุ่มและกิจกรรมรอบกองไฟ แล้วก็สืบทอดไว้จนเป็นมรดกระหว่างรุ่นต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในแต่ละเล่มที่ออกมาใหม่ ก็มักจะมีการนำเอาเพลงคัดสรรใหม่ๆตามแนวคิดของแต่ละรุ่นเพิ่มเข้ามาด้วย แต่ละเล่มจึงเหมือนกับเป็นการบันทึกรอยเท้าตนเองไว้ของคนรุ่นเยาว์ของสังคมกลุ่มหนึ่งเมื่อผ่านเข้ามาบ่มเพาะตนเองในรั้วมหาวิทยาลัยหลายรุ่นไปด้วย ก่อนหน้านั้นผมเองก็ไม่ได้ดูในรายละเอียดมากนัก ได้แต่ซื้อเก็บไว้เพื่อเป็นความทรงจำไว้รำลึกถึงในอีกมุมหนึ่งของความเป็นมหิดล นึกถึงบรรยากาศความเป็นบ้านนอกของมหิดลศาลายาและการได้อยู่ในท่ามกลางบรรยากาศที่กลุ่มนักศึกษารวมตัวกันจัดกิจกรรม นำเอาเพลงวงสลึงขึ้นไปเล่นและร้องบนเวทีกลางสนามหญ้าของโรงอาหารของมหาวิทยาลัยในตอนเย็นๆ

เมื่อได้เห็นความเป็นชุมชนนักศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาอยู่ในอริยาบทของการแสดงออกทางศิลปะและดนตรีบ้างแล้ว ก็มักได้ความประทับใจจากความที่ช่างดูเก้งก้างและกระโดกกระเดกกระดนโด่ ทว่า ได้พลังความใสบริสุทธิ์และดูงดงามในความเป็นธรรมชาติของการแสดงออก ซึ่งก็เป็นอีกมิติหนึ่งของจิตวิญญาณความเป็นมหิดลในด้านความละเอียดประนีตและลมหายใจอันอ่อนโยน

วันหนึ่งก็เลยเอามานั่งดู จึงได้พบว่ามีเพลงหลายเพลงที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีในหนังสือเพลงสลึงด้วย รวมทั้งเพลงของ วสันต์-อัสนี ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นวงอิสซึ่น หรืออีสาน กับเพลงของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ๒-๓ เพลง เลยเป็นครั้งแรกที่ลองร้องเพลงของเต๋อโดยเอาเพลง คงจะมีสักวัน มาลองร้อง ทำให้ได้ผ่อนคลายความคิด และเป็นโอกาสได้อยู่กับตนเอง พรอมกับรำลึกทบทวนหลายอย่างไปด้วย

แนวเพลงของเต๋อนั้นต่างกับแนวเพลงทั่วไปของยุคเดียวกันเกือบทุกมิติ หากเป็นเพลงรัก ก็จะไม่ใช่เพลงรักที่นำเสนอในแนวสร้างความดื่มด่ำหวานซึ้งและติดกรอบกับห้วงอารมณ์ความรักอย่างที่มักนิยมในเพลงยุคก่อนหน้านั้น โดยกลับมุ่งนำเสนอการค้นหาความเป็นตัวตนของปัจเจกและการตั้งคำถามในทรรศนะใหม่ๆต่อชีวิตและยุคสมัยของสังคม เช่น การตั้งคำถามต่อค่านิยมทางวัตถุและการเสพบริโภครูปแบบชีวิตที่ฉาบฉวยในเพลงดอกไม้พลาสติก การตั้งคำถามต่อสำนึกใหม่ต่อเพศภาวะของผู้หญิงและความเป็นตัวของตัวเองในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วในเพลงเจ้าสาวที่กลัวฝน การตั้งคำถามและชวนให้เปิดใจกว้างต่อการเห็นความหมายที่ฉาบฉวยพอกันของสังคมชนชั้นต่างๆ ในเพลง สรุปว่าเธอก็บ้า เหล่านี้เป็นต้น

กล่าวได้ว่า เป็นแนวเพลงที่สะท้อนการทำงานความคิด นำเสนอทรรศนะวิพากษ์และชวนคิดใคร่ครวญต่อชีวิต ค้นหาปรัชญาชีวิตหลังสมัยใหม่ และการมุ่งเคลื่อนไหวชีวิตสังคม ผ่านงานเพลงและดนตรี ซึ่งเป็นมิติใหม่ในความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ที่เริ่มเด่นชัดขึ้นในวงการเพลงและศิลปะการแสดงดนตรี หลังจากก่อเกิดในวงการอื่นๆหลากหลายพอสมควรแล้ว

หากเทียบกับเพลงและศิลปะดนตรีบางแนว ที่มีความเป็นปฏิบัติการเชิงสังคมอยู่ด้วย เช่น แนวเพลงแหล่ซึ่งทำหน้าที่อบรมถ่ายทอดคตินิยมสังคมของ ไวพจน์ เพ็ชรสุพรรณ. แนวเพลงนิทานธรรมและสืบทอดพุทธตำนานของพร ภิรมย์. การนำเอาวรรณคดีและวรรณกรรมมุขปาฐะมาเล่าใหม่ด้วยเพลงของชินกร ไกรลาส. การสืบทอดระบบคิดชาวบ้านและบอกเล่าธรรมมะเพื่อให้การเรียนรู้แก่สังคมในวัฒนธรรมแตรวง หมอลำ ลิเก เพลงฉ่อย ลำตัด. ซึ่งต่างก็เป็นแนวในการนำเอาความรู้ ระบบคิด และปัญญาทรรศนะ ที่มาในศาสนธรรมและตำนานต่างๆ มาสืบทอดส่งผ่านและบอกเล่าเพื่อปลูกฝังโลกทัศน์ชีวทัศน์แก่สังคมด้วยเพลง เหล่านี้แล้ว ก็กล่าวได้ว่า ห่างจากนั้นอีกนับกึ่งศตวรรษ แนวเพลงที่ทำหน้าที่ให้กับสังคมในลักษณะดังกล่าวที่นอกเหนือจากเพลงเพื่อชีวิต ก็ปรากฏขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไปในงานของ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ นี้นั่นเอง ความแตกต่างอยู่ตรงไหน

หากได้ฟังและพิจารณาใคร่ครวญไปด้วยแล้ว เราก็จะสังเกตได้ว่าการมีมิติสร้างการเรียนรู้และเคลื่อนไหวความคิดทางสังคมในแนวเพลงของเต๋อนั้น ไม่เพียงเป็นการถ่ายทอดและสืบสานระบบคิดของคนรุ่นก่อนไว้เท่านั้น ทว่า งานความคิดที่สื่อแสดงในเพลงและความสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดลงสู่มิติต่างๆ ได้เริ่มตกผลึกประสบการณ์ทางสังคมสะท้อนลงสู่การทำเพลง พร้อมกับเริ่มมีความมั่นใจที่จะยืนขึ้นและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆด้วยสำเนียงของตนเอง ค้นหาความเป็นตัวของตัวเองของยุคสมัย อีกทั้งทำให้การทำเพลงในแนวนี้ มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อมองในแง่นี้ ก็ต้องนับว่าการทำเพลงของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ นั้น เป็นการบันทึกและสะท้อนสังคมไว้ให้เราสามารถอ่านและสัมผัสได้เป็นอย่างดีจากเพลงนั่นเอง 

พลังความเป็นดนตรีในเพลงของเต๋อก็ต่างจากยุคก่อนหน้านั้นมาก เวลาดูโทรทัศน์นั้น ผมสังเกตเห็นว่าออร์แกนของ แกรนด์เอกซ์ นั้นไม่เหมือนกับวงอื่นๆและได้รู้จักในภายหลังว่านั่นคือการบุกเบิกนำเอาเครื่อง Synthesizer หรือคีบอร์ดที่ใช้คอมพิวเตอร์สังเคราะห์และตบแต่งเสียง สร้างบรรยากาศปูพื้นคุมโทนของดนตรีได้ เข้ามาใช้ในไทย ซึ่งก็เป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่เห็นในงานทำเพลงของเต๋อด้วยเช่นกัน แต่ว่าเต๋อนั้นไม่เพียงนำเอาอุปกรณ์แปลกใหม่มาเล่นเท่านั้น แต่ได้ทำให้งานเรียบเรียงเพลงและการจัดวางองค์ประกอบอย่างอื่นของเพลงและดนตรี เป็นงานความคิดและให้มุมมองเพื่อความสร้างสรรค์ใหม่ๆเกือบทั้งหมด รวมทั้งทำให้องค์ประกอบที่เคยเป็นงานแบ๊คอัพและพื้นหลัง ตลอดจนการเกิดขึ้นของความเป็นแด๊นเซอร์ซึ่งทำเอาหางเครื่องวงลูกทุ่งและหมอลำซิ่งต้องเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ตนเองเสียใหม่อย่างมากมายไปด้วย กลายเป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่น ผสมผสานไปกับดนตรีและเพลง อีกทั้งมีบทบาทมากกว่าความเป็นงานเบื้องหลังหรือการเป็นส่วนประกอบเสริมเล็กๆน้อยๆ อย่างที่เคยดำเนินมาในอดีต 

ก่อนหน้านั้น เพลงและดนตรีจะขึ้นต่อความดังของตัวนักร้อง ผู้แต่ง การลงทุนของบริษัทเทป และแรงเชียร์ของสื่อ ทว่า เต๋อกลับมุ่งไปที่การทำงานความคิดและการจัดการองค์ประกอบของดนตรี ที่มีความเป็นศิลปะในรายละเอียดมากขึ้น เขาทำให้เพลงและดนตรีจากที่เคยอาศัยการสร้างชื่อเสียงและความดังของนักร้อง ให้มีความเป็นศิลปะการแสดงหรือ Performance Art เข้าไปแทนที่ความเป็น 'การร้องเพลง' อย่างที่สังคมไทยและวงการเพลงไม่เคยคาดคิดมาก่อน ปัจจัยด้านความคิดและงานสร้างสรรค์ของคนชั้นกลางที่เป็นผลผลิตจากการศึกษาสมัยใหม่ดังตัวอย่างบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังเช่นเต๋อ, บทบาทของโทรทัศน์และสื่อยุคใหม่, การขยายตัวของฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่บริโภคงานความคิดในศิลปะ, พัฒนาการทางเทคโนโลยีและงานสตูดิโอ, กลุ่มประชากรแรงงานรุ่นใหม่ของเศรษฐกิจความสร้างสรรค์ทางศิลปะ เหล่านี้ ได้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการเข้าสู่การทำเพลงและดนตรีโดยเต๋ออย่างลงตัว และเป็นปัจจัยที่ร่วมกันก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในหลายด้านที่ยุคก่อนหน้านั้นจะทำไม่ได้

วิธีคิดและพัฒนาการดังกล่าวนี้ ทำให้บทบาทของวงแบ๊คอัพ กลุ่มนักร้องยืนร้องคอรัส การทำงานความคิดในเพลง การจัดวางองค์ประกอบต่างๆในการแสดงดนตรีแบบคอนเสิร์ต และอื่นๆ ซึ่งในอดีตนั้น เคยเชื่อกันแต่เพียงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงงานเบื้องหลังและไม่เคยมีความสำคัญ ก็กลายเป็นมีบทบาทในการกุมแก่นความคิดหลักของเพลง รวมทั้งเปลี่ยนหน้าตาและอรรถรสของการสื่อสารบันเทิงไปอย่างสิ้นเชิง จากการสื่อสารทางเสียงในยุครายการวิทยุและการตระเวนแสดงดนตรีตามงานมหรสพต่างๆ เข้าสู่ยุคของสื่อสมัยใหม่ที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นได้ทั้งภาพและเสียงอย่างโทรทัศน์ เหมือนกับการได้ชมการแสดงอย่างสมจริงสมจังไปพร้อมกันของมหาชน แสดงพลังของการสร้างวัฒนธรรมแบบมวลชนในยุคใหม่ให้ปรากฏขึ้น ส่งผลให้การทำเพลงและดนตรีจำเป็นที่จะต้องคิดทำมากกว่าขายความดังของหัวหน้าวง ทว่า ต้องนำเอาสิ่งที่เคยถูกมองข้ามมาออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆเสียใหม่ไปบนฐานความคิดของการที่จะต้องร้อง แสดง และได้อรรถรสจากการชมรายละเอียดได้ทั้งหมด จึงนับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่และพาวงการก้าวเข้าสู่ยุคการเป็น Performance Art ของศิลปะดนตรีอย่างแท้จริง

‘เพลงคงจะมีสักวัน’ เป็นเพลงในชุดที่ออกมาในยุคย่างเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๓๐ ต่อเนื่องกับบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปีกรุงเทพมหานครและการมีความเคลื่อนไหวของวิธีคิดในการพัฒนาประเทศที่แตกต่างไปจากอดีตที่สำคัญคือ เปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบรวมศูนย์และเน้นความมั่งคั่งในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไปสู่การพัฒนาเพื่อกระจายโอกาสและรายได้ ลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงานในชนบท เพื่อกระจายโอกาสและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม

ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาของการสลายตัวของจักรวรรดิสหภาพโซเวียตรัสเซีย สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ขั้วอำนาจของโลกเหลือเพียงอเมริกาเป็นขั้วอำนาจเดี่ยว ทั่วโลกเกิดการเคลื่อนตัวจัดระเบียบตนเองใหม่ในหลายกรอบ เช่นเดียวกับประเทศไทยก็ริเริ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เปิดประตูสู่อินโดจีน เปลี่ยนสนามรบสู่สนามการค้า ซึ่งแนวเพลงและดนตรีจำนวนหนึ่งก็ได้ทำหน้าที่บันทึกและสะท้อนภาพสังคมในห้วงดังกล่าวไว้ด้วยอย่างมีสีสัน อีกทั้งให้อารมณ์เพลงที่แตกต่างหลากหลายกันไป

คาราบาว สร้างเพลงบอกและเพลงเล่าเรื่อง นำเอาเรื่องราวสังคมและเรื่องราวของชีวิต ที่เคยได้อารมณ์ที่คล้ายกันในเพลงแหล่ เพลงฉ่อย ลิเก มาเล่าใหม่ด้วยวิธีการดนตรีแบบร็อคสมัยใหม่. จรัล มโนเพ็ชร สร้างเพลงเล่าเรื่องและนำเสนอโลกทรรศน์ของสังคมล้านนา ผสมผสานอารมณ์เพลงค่าวซอเข้ากับแนวเพลงคันทรีโฟล์คของบ็อบ ดีแลน สถาปนาและจัดวางความเป็นท้องถิ่นล้านนาและสังคมวัฒนธรรมพื้นเมืองอย่างงดงามในมิติที่ต่างออกไปจากการรับรู้ของสังคมในยุคก่อนหน้านั้น. อัสนี-วสันต์ โชติกุล เด็กหนุ่ม ๒ พี่น้องชาววังสะพุงเมืองเลย เพียงในวัยกำลังเป็นนักศึกษาโรงเรียนเพาะช่าง อีกทั้งเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์กำธร ทัพคัลไลย และ อาจารย์กมล ทัพคัลไลย อาจารย์คู่แฝดผู้เป็นมือสร้างหนังและรวบรวมเด็กแฝดในประเทศไทย ก็สร้างปรากฏการณ์นำอารมณ์ความคลั่งไคล้ของสังคมมหาชน ให้เกิดพลังการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นปัจเจกเสรีนิยม และความมั่นใจตนเองมากขึ้นของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ทั้งด้วยท่าชูมือ ลีลาการร้องแบบเสียงห้วนๆ การเพิ่มมิติดนตรีที่เรียบเรียงอย่างพิถีพิถันและการมีวงคอรัสเพิ่มเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นศิลปะดนตรี

ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น นอกจากความโด่งดังมากอย่างยิ่งของอัสนี-วสันต์ในด้านเพลงและดนตรีแล้ว ในด้านความเป็นมือเรียบเรียงองค์ประกอบเพลง จัดวางคอรัส และการมิกซ์เสียงของพวกเขา ก็นับว่าได้สร้างคุณภาพและมาตรฐานใหม่ๆเทียบชั้นกับเทคนิคของต่างประเทศให้กับวงการเพลงสตริงของไทย กระทั่งทำให้เกิดเพลงบางชุดของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่เป็นการเดินเข้าผสมผสานการทำงานร่วมกันของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ กับ อัสนี โชติกุล  ซึ่งเพลงคงจะมีสักวัน นี้ ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ได้จารึกการเดินบวกและผสานความสุดยอดในวงการเพลงและดนตรี ไว้ในลักษณะที่กล่าวมา

นอกจากบุกเบิกสร้างมิติใหม่ๆและสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สืบเนื่องจากอิทธิพลเพลงและวัฒนธรรมดนตรี ตลอดจนเปิดมิติใหม่ของการแสดงคอนเสิร์ตที่มีการจัดวางทางความคิดต่างๆ ซึ่งทำให้คนทำเพลงและทำงานดนตรีจำนวนหนึ่งมีความหมายมากกว่าความเป็นสื่อบันเทิง ทว่า เป็นผู้นำทางความคิดและปฏิบัติการเชิงสังคมอีกด้วยแล้ว เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ได้สร้างห้องสมุดให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับอัสนี-วสันต์ก็สร้างโรงเรียนและห้องสมุดให้กับวังสะพุงบ้านเกิดและอีกหลายแห่งของชนบท จรัล มโนเพ็ชรและผู้ชื่นชอบศรัทธารุ่นหลังๆนั้น ก็สร้างแหล่งสืบทอดศิลปวัฒนธรรมล้านนาในหลายรูปแบบ เสมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวีรชนทางสังคมวัฒนธรรม

นับว่าได้เปิดศักราชใหม่ของทุนทางศิลปวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดงด้านเพลงและดนตรีในการมีบทบาทใหม่ๆต่อการเคลื่อนไหวภาคสาธารณะในเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยหลังยุคสงครามเย็นของโลก ทั้งทางด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม การพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคมการเมือง และสังคมประชาธิปไตย ที่จัดวาระและเปิดพื้นที่ชีวิตความเป็นส่วนรวมขึ้นด้วยงานเพลงและดนตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราจะสามารถอ่านความสะท้อนรหัสนัยทางสังคมและสัมผัสหาความซาบซึ้งได้จากรายละเอียดในมิติต่างๆของเพลงคงจะมีสักวัน.

หมายเลขบันทึก: 437701เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

✿อุ้มบุญ ✿

  • มาเพื่อรับกำลังใจ
  • ซึมซับพลังแห่งการสร้างสรรค์
  •  ในวันดีดีในวันนี้
  •  งดงามลืกซึ้ง ในการถ่ายทอด.....
  • ผ่านบทเพลงประทับใจ
  • เหมือนการย้อนกลับ ไปเก็บความสุขในความทรงจำ ในอดีต
  • มาเติมพลังให้ชีวิตดำเนินต่ออย่างมีความหมาย เชียวค่ะ

 

 

 

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
เพลงนี้เป็นเพลงให้กำลังใจและเติมไฟชีวิตให้กันที่ดีมากเลยนะครับ
มีบางจังหวะที่ได้นั่งรำลึกเรื่องราวต่างๆในความทรงจำบ้างนี่
ก็ทำให้อยากทำสิ่งต่างๆเอาไว้รำลึกถึงในชีวิตที่ดีๆหลายๆแง่ไปด้วยเลยนะครับ

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากหลายท่านครับ
อาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง คุณจันทน์รักษ์ ดร.ภิญโญ
อาจารย์วัฒนา คุณประดิษฐ์ มะปรางเปรี้ยว และคุณอุ้มบุญ
ขอให้มีความสำเร็จและได้ความงอกงามในทุกย่างก้าวครับผม

สวัสดีครับอาจารย์

ว่าจะแอบเข้ามาแบบเงียบ ๆ เจอบันทึกนี้ของอาจารย์เงียบไม่ไหวแล้ว ชอบบันทึกนี้มากครับ

ผมเองสนใจเรื่องการสื่อสารของบทเพลงอยู่บ้างครับ

ผมอยากจะต้ังข้อสังเกตุว่า เพลงยุคนี้ไม่ได้เน้นการสื่อสารเนื้อหาของเนื้อร้องเท่าไร หรืออาจจะพูดได้ว่าการสื่อสารเนื้อหาทำให้ผู้คนอินนั้นลดลงกว่าแต่ก่อน ดังเช่นเพลงเพื่อชีวิต

คาราวานและคาราบาว ซึ่งต่างก็จะสื่อสารเนื้อหาในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือการสะท้อนสังคม/ปัญหาสังคม

ผมคิดว่าเพลงของคาราวานทำหน้าที่ได้ดี อย่างผมเองเพลงของคาราวานก็มีอิทธิพลของการก่อจิตสำนึกของผมหลายประการ แต่เพลงของคาราบาวไม่เป็นเช่นนั้น

ผมถามตัวเองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมตอบตัวเองได้แบบนี้ครับ

- เพลงคาราวานมิได้มุ่งหวังให้เพลงได้รับการนิยมมากไปกว่าการที่ทำให้คนเข้าถึงเนื้อหาของเพลง ส่วนคาราบาวมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะให้คนรู้จักและจดจำให้คนเข้าถึงได้จำนวนมาก ๆ

- คาราวานใช้ท่วงทำนอง และดนตรีแบบเรียบง่าย ไม่หวือหวา สืบทอดขนบดนตรีแบบพื้นบ้านมา แม้ว่าจะมีการใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ ส่วนคาราบาวนั้นให้ความสำคัญกับท่วงทำนองจังหวะลีลาของดนตรี วัยรุ่นจึงยกพวกตีกันได้แม้ขณะฟังเพลงเนื้อหาที่แสนเศร้าดังเช่นเพลงบัวลอย

ว่าจะแอบเข้ามาแต่อดไม่ไหว จึงขอนิดนึงครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ

คงจะเป็นอย่างที่หนานเกียรติสะท้อนทรรศนะมากๆเลยละครับ ที่ว่าเพลงของคาราบาวนั้นไปเน้นท่วงทำนองจังหวะลีลาดนตรี รวมไปจนถึงการเน้นความเป็นวัฒนธรรมมวลชนมากไปหรือเปล่านะครับ เลยทำให้เป็นเพลงเพื่อชีวิตที่คนฟังมักไปติดที่ความมัน จนเข้าไม่ถึงความคิดและเนื้อหาของเพลง ทั้งที่ในมุมมองผมแล้ว ผมว่าเนื้อหาเพลงของคาราบาวนี่สุดปราดเปรื่องมากจริงๆในการบอกและเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอประเด็นทางสังคม

แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เพลงของคาราวานนั้น เปรียบไปก็เหมือนกับเพลงเพื่อชีวิตแนวลูกกรุง ส่วนคาราบาวก็เสมือนเป็นเพลงเพื่อชีวิตแนวลูกทุ่ง หากกลุ่มคนที่ฟังเพลงคาราวานเป็นคนฐานใจ ให้ความดื่มด่ำและลึกซึ้งกับการทบทวนภายใน กลุ่มคนฟังคาราบาวก็คงจะเปรียบได้กับชีวิตที่ตั้งอยู่บนฐานกาย ดูและฟังเพลงแล้วก็มักจะอดชูมือและยืนกระดิกขาเขย่งๆไม่ได้

คนชนบทและคนใช้แรงงานชาวบ้าน-ชาวบ้านนี่ ได้ลุ๊คเพลงเพื่อชีวิตอย่างคาราบาวสะท้อนสู่ตนเองได้อย่างไม่เคอะเขินนัก แต่ฟังเพลงเพื่อชีวิตแนวลูกกรุงของคาราวานนี่คนชนบทและคนทั่วไปก็จะเข้าไม่ถึง

ผมเองก็ชอบฟังเพลงของคาราวานที่ให้อารมณ์เพลงและความเป็นดนตรีอย่างที่หนานเกียรติว่า เพลงขอคาราวานไม่ได้ต้องการร้องให้เพราะ แต่จะได้พลังการสื่อสะท้อนที่ออกมาจากข้างใน รวมทั้งความเป็นธรรมชาติของสมาชิกวงทุกคน

ขอน้อมคารวะและขอขอบพระคุณดอกไม้และกำลังใจ
จากอาจารย์หมอ JJ และคุณแก้ว เป็นอย่างยิ่งด้วยครับ
มีความสุขและเต็มไปด้วยพลังความสร้างสรรค์ในวันแรงงาน
ในฐานะคนงานความรู้ครับผม

ภาพผักสวนครัว ได้รับเกียรติได้เป็นนางเอกมิวสิคเพลงคงจะมีสักวันของบันทึกอาจารย์วิรัตน์ ย่อมตื่นเต้นเป็นธรรมดา

    ยินดีค่ะ และชอบเพลงนี้อยู่มาก เนื้อหาให้กำลังใจ และไพเราะกินใจ

ขอบคุณอาจารย์ที่ได้นำมาเติมเต็มค่ะ

 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมได้เคยฟังน้าหงาพูดในคราวหนึ่งว่า

เขาพยายามจะแต่งเพลงให้ชาวนาและกรรมกร แต่น้าหงาเองก็บอกว่าเนื้อหาที่พยายามจะสื่อไปไม่ถึง

ตรงกันข้ามกับโดนใจนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง

น้าหงาเล่าว่า ชาวนาบอกกับเขาว่า "เพลงม่วนเน๊าะ เพลงนี้น่าจะชื่อเพลงบุญคุณของชาวนา" (เพลงเปิบข้าว)

อาจารย์ผู้ใหญ่ผมคนหนึ่งก็บอกคล้าย ๆ กัน เพลงข้าวคอยฝนของคาราวาน กรรมกรฟังแล้วเฉย ๆ แต่อาจารย์ท่านนี้ที่เข้าไปเคลื่อนไหว ฟังเพลงนี้แล้วน้ำตาซึมเลย

สำหรับเพลงคาราบาว ซึ่งเข้าถึงคนได้กว้างขวาง ผู้ฟังฐานกว้างมากต้ังแต่ท้องทุ่งนาไปถึงกลางเมือง แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเนื้อหาของเพลงเข้าถึงผู้คนได้ไม่เท่าไร ส่วนใหญ่ออกจะมันส์เสียมากกว่าครับ

ผมจึงคิดว่าสิ่งที่สะกั้นมิให้คนเข้าถึงสารที่เพลงต้องการสื่อประการหนึ่งคือท่วงทำนอง

เขียนมาถึงนี้ทำให้นึกถึงเพลง ๆ หนึ่งของครูสลา เพลงเศร้าที่มันส์มากคือ "โบว์รักสีดำ" ผมคิดว่าใครต่อใครที่ได้ฟังเพลงนี้พร้อมที่จะโยกย้ายส่ายสะโพกมากกว่าที่จะเศร้าไปกับความช้ำของสาวที่ช้ำรักในเพลง

แหะ แหะ แลกเปลี่ยนประเด็นนี้สนุกจริง ๆ ครับ...

สวัสดีครับคุณครู krukorkai ครับ
ปลูกผักสวนครัว แซมด้วยดอกไม้และต้นหอม ดูงามและแข็งแรงดีจังเลยนะครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ
อีกส่วนหนึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะและประสบการณ์ของสังคมด้วยนะผมว่า สังคมส่วนใหญ่ยังพัฒนาการการฟังเพลงไปได้ไม่มาก เลยต้องฟังแบบเอามันส์ไว้ก่อน คงอีกนานถึงจะอิ่มตัวไปกับเพลงแบบโจ๊ะโล๊ะโจ๊ะโล๊ะกระมัง

รวมทั้งการร้องเพลงและแสดงดนตรีนั้น โดยมากแล้ว คนร้อง กับคนแต่งเพลง คนวางทำนอง กับคนเรียบเรียงองค์ประกอบต่างๆ ก็อาจจะเป็นคนละคน การร้องและทำเพลงเลยไม่ได้มุ่งถ่ายทอดอารมณ์เพลง แต่เป็นเรื่องของการร้องและนำเสนอในสิ่งที่ตนเองก็อาจจะเข้าไม่ถึง เพลงเศร้าก็เลยกลายเป็นเพลงฟังเอามันส์ไปได้เหมือนกัน

ว้าว ๆๆ โดนใจอีกแล้วค่ะอ.เซียนศิลป์คะ ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมอ. สามารถเข้าไปนั่งในใจของใครๆ หลายคนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว :)

เพลงคงจะมีสักวัน ปูดูมิวสิคเก่าๆ จากช่องมะจังเดือนก่อน แบบมีพลังใจเลยค่ะ มาวันนี้อีกแล้ว อ้าวมีเพลง สรุปว่าเธอจะบ้า ด้วยนะคะ โดนๆ ฝันดีค่ะ

สวัสดีครับคุณ Poo การมิกซ์เสียงกับการร้องคอรัสในเพลงของเต๋อในชุดสรุปว่าเธอก็บ้านี่  ลูกเล่นแปลกดี สนุกครึกครื้นแบบกรุ๊งกริ๊ง-กรุ๊งกริ๊ง ให้อารมณ์เพลงเหมือนเพลงแจ๊สปนกับเพลงเร๊กเก้และเพลงระบำฮาวาย เวลาฟังก็รู้สึกอย่างนั้นเลยนะครับ 

สวัสดีตอนเช้าค่ะ อาจารย์

          เคยเปิดดูภาพบรรยากาศบ้านที่เชียงใหม่ของอาจารย์แล้วชอบจัง 

ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ น่าอยู่นะคะ

          ได้เปิดยูทูปฟังเพลงคงจะมีสักวันที่เข้าใจของเต๋อแล้วค่ะ

อาจารย์ลองเอาเพลงมาลงเป็นส่วนเสริม คงเพราะและเข้ากับเนื้อหาบันทึกนี้นะคะ 

สวัสดีครับ krukorkai ครับ บ้านที่สันป่าตองเชียงใหม่ ตั้งใจกันว่าจะเป็นที่ทำงานและจัดไว้สำหรับได้พบปะกันของคนทำงานในแนวชุมชนกลุ่มเล็กๆครับ กำลังค่อยๆทำอีกหลายอย่างไปเรื่อยๆ สักวันคงได้มีโอกาสต้อนรับกลุ่มบล๊อกเกอร์ใน GotoKnow ที่ชอบแนวทางอย่างนี้บ้างนะครับ

  • ชอบฟังเพลงครับ
  • แต่ว่า ไม่ค่อยได้ฟังเพลงดีๆ
  • วันก่อนไปงานบวชลูกศิษย์ที่สุพรรณบุรี
  • เห็นภาพนี้
  • เลยเอามาฝากอาจารย์ด้วยครับ
  • เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้วจริงๆๆ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • เดี๋ยวนี้กลายเป็นวงดนตรีเคลื่อนที่เหมือนอย่างที่อาจารย์เห็นนี้ไปหมดแล้วละครับ
  • ผมเคยถามคนที่เขาทำดนตรีและเครื่องไฟแบบนี้ว่าทำไมเป็นเครื่องขยายเสียงดังมากไปหมดแล้ว เขาบอกว่าหากไม่ทำอย่างนี้ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเอาไปเล่น
  • ดูแล้วก็คงเป็นไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในอีกไม่กี่ปีก็คงไม่เหมือนอย่างนี้อีกเช่นกัน เผลอๆจะจัดงานทางออนไลน์เสียกระมังนะครับ
  • อาจารย์ไปอ่านบันทึกหนองบัวนะ
  • เรื่อง แย้  มันมากๆๆ
  • เพิ่งได้ใช้วิชาศิลปะมาถ่ายภาพนี่ละครับ
  • เอามาฝากอาจารย์ ต้องขอบคุณคุณพี่เหมียวและอาจารย์
  • จาก http://gotoknow.org/blog/yahoo/438086
  • ฝีมือไม่เบาเลยนะครับเดี๋ยวนี้
  • ประเดี๋ยวจะตามไปโดยพลัน ขอบคุณหลายๆครับผม

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะที่แวะไปเยี่ยมบันทึกงานเก่าเก็บนับสิบปีที่นำมาอัพบล็อคค่ะ

พออ่านสำนวนเก่าอีกที ก็นึกถึงที่อาจารย์วิจารณ์ไว้ เลยเห็นการพัฒนาการการเขียนของตัวเองขึ้นมาทันทีเลยค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • แสดงว่าเรียนตั้งนับ ๑๐ ปีแล้วสิครับ ตอนนี้คงก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว ยินดีด้วยมากอย่างยิ่งครับ
  • การเขียนของคุณณัฐรดาน่าอ่านน่าสนใจมากครับ เป็นนักเล่าเรื่องและสื่อสารเพื่อชวนสัมผัสโลกรอบตัวที่น่าสนใจมากครับ อ่านเรื่องต่างๆของคุณณัฐรดาแล้วเหมือนได้อ่านสื่อสารคดีในแนวหนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟิค ทำให้คนอ่านมีสมาธิ ได้เข้าใจตนเองพร้อมกับรู้จักโลกรอบข้างที่เชื่อมโยงออกไปจากเรื่องใกล้ๆตัว
  • เหมือนกับเป็นความรู้เพื่อค้นพบความสุขอยู่กับตนเองและแบ่งปันความรื่นรมย์ของชีวิตกับคนอื่น โดยใช้ศิลปะและเกร็ดความรอบรู้เป็นสื่อพาคนเดินเข้าไปสัมผัส

มาแก้ข่าวค่ะ ขอโทษค่ะที่เขียนย่อมากไปค่ะ

ที่ว่าสำนวนเก่า คือ สำนวนในบันทึก เพ้นท์ผ้าไหมลายดอกคัทรียาควีนสิริกิติ์น่ะค่ะ

ส่วนภาษาบาลี เพิ่งไปเรียนได้แค่ 2 อาทิตย์เองค่ะ มาขอบคุณค้วยค่ะ ที่อาจารย์แวะไปเยี่ยมบันทึก mind map ภาษาบาลี มาด้วยค่ะ

อ้าว กลายเป็นคุยกันคนละเรื่องเลยนะนี่ กำลังชอบวิธีอธิบายการเขียนภาษาบาลีอยู่น่ะครับ
แต่งานเพ้นท์ผ้าไหมทำปลอกหมอนก็ชอบครับ

Ico48    อาร์ม  ขอทักทายเจ้าหนูอาร์มสักหน่อย ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจนะครับ ตอนนี้เป็นพนักงานของฮอนด้า รวมทั้งมาอยู่ในบรรยากาศแบบกรุงเทพฯ-กรุงเทพฯ มีเพื่อนๆในอีกกลุ่มอาชีพหนึ่ง รอบตัวคงมีเรื่องราวให้เรียนรู้และปรับตัวมากมาย ขอให้ประสบความสำเร็จและได้ความสุขในการทำงานอยู่เสมอนะครับ

คุณเอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร ได้รับการไหว้วานของให้ไปช่วยร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์ต่างๆกับคณาจารย์และคนทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่อง General Education : การศึกษาศึกษาทั่วไป ขณะเดียวกัน ตอนนี้คุณจตุพรเองก็ย้ายที่พักจากหน้ามหาวิทยาลัยมหิดลไปพักอยู่แถวดอนเมืองแล้ว วันดีคืนดีก็คงนึกถึงบรรยากาศของมหิดลศาลายา เลยถือโอกาสแวะไปมหิดลพบปะผู้คนและครูอาจารย์ของเขา รวมทั้งแวะมาเสวนากับผมอย่างที่เขาก็มักทำ

เราคุยกันมากมายหลายเรื่อง ประมวลประสบการณ์ โยนความคิด และสะท้อนคิดสู่กันฟัง รวมทั้งใช้การพบปะให้เป็นสภาพแวดล้อมทางข่าวสารและขยายโลกแห่งความรู้แก่กัน โดยนำเอาเรื่องราวที่สัมผัสอยู่รอบข้างมาบอกเล่าและแบ่งปันกัน กลุ่มคนที่ทำงานสนามและมุ่งน้อมตนเข้าหาผู้คน ก็มักมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนี้ เขาเดินถือน้ำเปล่า ๑ ขวดสพหรับเขาเองและกาแฟเย็นไปฝากผม ๑ แก้ว แล้วเราก็นั่งคุยกัน

การศึกษาเพื่อทำให้คนเข้มแข็งและสร้างโอกาสให้เขาได้ค้นพบตนเอง : เราคุยกันเรื่องหน้าที่ของการศึกษาที่อยู่เหนือขั้นไปของการทำให้คนได้สำเร็จการศึกษาสาขาต่างๆแล้วออกไปมีการงานทำ ทำหน้าที่เป็นกลไกของระบบต่างๆในสังคมนั้นว่า ต้องทำให้คนหนุ่มคนสาวออกไปเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของสังคม สามารถพึ่งตนเองทางความริเริ่มสร้างสรรค์ พึ่งศักยภาพในการเรียนรู้ที่จะริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยตนเองก่อน ซึ่งตรงนี้คุณเอกใช้คำว่าต้องทำให้เขาเป็น 'คนที่มีแสงสว่างในตนเอง' เป็นกำลังนำการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆของสังคม ให้สามารถบรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ร่วมกันได้รุ่นต่อรุ่น

การสร้างคนเพื่อให้มีภาวะผู้นำและศักยภาพในความเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงที่ใช้วิถีแห่งปัญญาและการมีคุณธรรมต่อสังคมในลักษณะนี้ อาจจะได้เพียงบางส่วน และในสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในยุคสมัยนี้ ซึ่งการศึกษามักทำให้ต้องแยกเด็กออกจากการมีประสบการณ์ชีวิตและการมีประสบการณ์ตรงทางสังคม นับตั้งแต่อนุบาลกระทั่งไปถึงมหาวิทยาลัย อีกทั้งหลายทักษะก็ได้ทิ้งไปเพราะไปมุ่งได้การศึกษาเพื่อสอบแข่งขันกัน ทำให้ผู้คนมีประสบการณ์ทางการเรียนรู้และพัฒนาชีวิตตนเองจนห่างเหินโลกความเป็นจริงของตนเองไปมากนี้ คุณลักษณะอย่างนี้จึงต้องกลับไปมุ่งสร้างให้เด็กๆได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่เข้มข้น ครอบคลุมไปถึงการได้เรียนรู้จากชีวิตจริงและการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการปฏิบัติ ในสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบและบริหารจัดการปัจจัยที่เป็นกัลยาณมิตรตอ่การเรียนรู้อย่างดี การเรียนการสอนแบบใช้ความรู้ทั้งในและต่างประเทศมาถ่ายทอดให้แก่เด็กเป็นหลักจะไม่เพียงพอ

ความเปิดกว้างและเชื่อมั่นในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง : ผมกับคุณเอกจตุรพรมีเส้นทางชีวิตและประสบการณ์ในการทำงานกับผู้คนหลายอย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะการทำงานในภาคประชาสังคมและการทำงานแนวชุมชน แนวประชาคม ซึ่งได้สรุปบทเรียนคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกันว่า ตามประสบการณ์ในการทำงานกับผู้คนหลากหลายนั้น ความรู้และทักษะปฏิบัติอย่างที่เราเห็นในระหว่างการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่เพียงจะใช้เดินทำงานกับผู้คนไม่ได้เท่านั้น แต่อาจเป็นอุปสรรคโดยตัวมันเองอีกด้วย

คนจบมหาวิทยาลัยจึงมักจะต้องกลายเป็นพนักงานองค์กรหรือทำงานเชิงทักษะกลไกอยู่ในองค์กรที่เน้นภารกิจเชิงเดี่ยวและสามารถใช้ความรู้เฉพาะอย่างทำงานได้ ต่อเมื่อออกไปทำงานที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นสาธารณะมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ รวมทั้งภาวะผู้นำอย่างอื่น ที่สำคัญคือการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้บนความเป็นจริงของการปฏิบัติ ดังนั้น วิชาชีวิตที่ต้องใช้มากคือความเป็นผู้มีจิตใจที่เปิดกว้างและความเป็นยตัวของตัวเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งเป็นแง่มมุมที่ทำให้ผมกับคุณจตุพรได้นั่งคุยกันเรื่องเพลงนี้ของเต๋อ

ครู อาจารย์ ต้องเป็นผู้ให้กระบวนการและสถานการณ์เงื่อนไขเพื่อการเรียนรู้อย่างมีพลังและอย่างมีความหมายแก่คนหนุ่มคนสาวของเรา : นอกจากแนวทางการศึกษาเรียนรู้แะวิธีเรียนรู้เพื่อสร้างให้นักศึกษาเป็นคนมีแสงสว่างในตนเองแล้ว บทบาทของครูอาจารย์และผู้จัดปัจจัยสนับสนุนทางด้านต่างๆ ที่พอจะทำได้ ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงบทบาทไปสู่การเป็นสภาพแวดล้อมทางปัญญา และเป็นผู้ให้สถานการณ์ต่อการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นผู้ให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี มีความหมายที่สุดต่อคนหนุ่มคนสาวในห้วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้

เด็กๆและนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนรู้ได้ดีแต่เพียงมีอาจารย์เก่งวิชาความรู้เท่านั้น แต่ต้องมีครูและสภาพแวดล้อมในชีวิตการเรียนรู้ที่ให้ไฟชีวิต ให้ความบันดาลใจ จับมือไปสร้างประสบการณ์ต่อสังคม สร้างเครือข่ายวิชาการ สร้างทุนชีวิตให้แข็งแกร่งหนักแน่น รู้จักเปิดรับโลกกว้าง มีความรู้ ฉลาด มีปัญญา ก็ไม่พอ ต้องมีวิจารณญาณและรู้กาลเทศะแห่งความรู้ ให้ความรู้สึกว่ามีเพื่อนและที่ปรึกษาเพื่อความทุ่มเทต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นหลักชีวิตและหลักชัยในทุกสิ่ง เป็นแหล่งที่ให้โอกาสเขาได้ตั้งต้นใหม่และได้ความก้าวหน้างอกงามในตนเอง มั่นใจในชีวิต มั่นใจในความดีงาม มีน้ำอดน้ำทนต่อการเผชิญความทุกข์ยาก และเมื่อมีความสำเร็จก็มีคนส่องสะท้อนให้ได้สะสมคุณค่าทางจิตใจเพื่อยกระดับตนเองให้สูงขึ้นอยู่เสมอ

ความเป็นครูชีวิตและเสริมส่งชีวิตการเรียนรู้ : การจัดการศึกษาทั่วไป ต้องมุ่งให้เด็กๆได้มีอิสรภาพในชีวิต โดยพื้นฐานที่สุดต้องให้ได้สัมผัสกับชีวิตที่ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด พร้อมกับมีครูและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้เหมือนพ่อแม่และเครือญาติทางปัญญาหรือเครือญาติทางวิชาการ ผมหยิบยกคำกล่าวของรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย ซึ่งเป็น Academic Advisor ของคุณเอกจตุพรด้วย

ได้พูดถึงวิธีคิดในการเป็นครูแบบพี่เลี้ยงในงานบริหารจัดการ เพื่อให้สังคมการทำงานเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และทำให้คนทำงานมีความเติบโตงอกงามทางจิตใจไปด้วยว่าต้องมีบทบาทสำคัญ ๓ อย่าง ซึ่งเป็นแนวคิดที่กระชับดีและผมชอบมาก คือ

  • Protect ต้องดูแลให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีความเชื่อมั่น
  • Support ต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนในสิ่งที่ดี ถูกต้อง มีกำลังความคิด กำลังความริเริ่มที่จะปฏิบัติอยู่เสมอ
  • Facilitation ต้องเอื้ออำนวยให้สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆตามความริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเองอย่างเต็มที่ที่สุด

อาจารย์ครับ

ความเห็นข้างบนนี้น่านำไปเป็นบันทึกหนึ่งนะครับ

น่าสนใจมาก ๆ

บ๊ะ หนานเกียรตินี่ ช่างหยั่งรู้ได้ดีเหมาะเหมงเชียว ผมกำลังนั่งอ่านทบทวนดูเพราะเวลาเราพิมพ์หน้าตามันเป็นอีกแบบ แต่พอโพสต์แล้วก็จะจัดบรรทัดและการวรรคต่างๆอีกแบบ เลยดูอยู่ว่าน่าจะแยกออกไปเป็นบันทึกไว้ต่างหากดีหรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท