พูดจา 'ภาษากุหลาบ' (สมัยพระนางวิคทอเรีย)


ถ้าคุณไม่สนใจเจ้าหนุ่มนั่น ก็ไม่ต้องเปลืองดอกกุหลาบให้วุ่นวาย เพราะแค่ยื่นใบกุหลาบให้เพียงใบเดียว ก็เหมือนตัดบทว่า...

คิดว่าน่าจะโม้เกี่ยวกับดอกกุหลาบรับกับวันวาเลนไทน์ซะหน่อย (ส่วนจะหวานปานเยลลี่หรือไม่นั้นไม่รับประกัน)

 

คำว่า กุหลาบ ในภาษาไทยเรานั้น มาจากภาษาเปอร์เซียคือ กุล (แปลว่า ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้) + อาป (แปลว่า น้ำ) แปลรวมก็คือ น้ำดอกกุหลาบ

คำว่า อาป นี่คงจะทำให้คิดถึงคำว่า อาโป ในภาษาบาลีและสันสกฤตที่แปลว่า น้ำ เช่นกัน อย่างแคว้นปัญจาบในอินเดียก็แปลว่า แม่น้ำทั้งห้า เพราะมาจากคำว่า ปัญจ (ห้า) + อาป (น้ำ) (น่าสงสัยว่าคำว่า  'อาบ' ที่เป็นคำกริยาใน 'อาบน้ำ' 'อาบเหงื่อต่างน้ำ' หรือ 'อาบน้ำร้อนมาก่อน' จะเกี่ยวข้องกับ 'อาโป' ด้วยรึเปล่า ... วานปราชญ์ทางภาษาช่วยไขข้อข้องใจให้หน่อยเถอะครับ)

ส่วนคำว่ากุหลาบในภาษาอังกฤษ หรือ rose มาจากคำว่า rosa ในภาษาละติน (สะกดไม่เหมือนชื่อซอสมะเขือเทศยี่ห้อ Roza นะครับ!) โดยมีจุดน่าสังเกตคือ ถ้าย้ายตัวอักษร e จากท้ายคำไปไว้หน้าตัว r แล้วเขียนด้วยตัวใหญ่ ก็จะได้คำว่า Eros (อีรอส) คือ เทพแห่งความรักของกรีก หรือ Cupid (คิวปิด) ตามคติโรมัน ซึ่งเป็นเด็กน้อยที่ชอบแผลงศรรักปักอกคู่หญิงชายนั่นเอง (แต่เรื่องย้ายตัว e นี่ อย่าไปเล่าให้ใครฟังเชียว เพราะผมมั่ว ๆ ขึ้นมาเอง ;-) )

ถ้าคุณผู้อ่านย้อนอดีตกลับไปเกิดในอังกฤษ ในรัชสมัยของพระนางวิคทอเรีย คือ ราวปี พ.ศ. 2362-2444 (ค.ศ.1819-1901) ก็จะพบว่า สังคมอังกฤษสมัยนั้น 'พูดจาภาษาดอกไม้' กันเป็นปกติ เพราะดอกไม้แต่ละชนิดนั้นจะแทนความรู้สึกต่าง ๆ ได้เกือบครบถ้วนทีเดียว เพียงแค่กุหลาบอย่างเดียวนั้นก็มีความหมายหลายหลายแล้ว

 สมมติว่าคุณเป็นสุภาพสตรี แล้วมีชายหนุ่มมอบดอกกุหลาบสีแดงให้หนึ่งดอก ก็แสดงว่าเขาบอกว่า "ฉันรักเธอ" 

ถ้าคุณเออออห่อหมกด้วย ก็จะตอบกลับไปแบบสงวนท่าทีเล็กน้อยด้วยดอกกุหลาบสีเหลืองหนึ่งดอกว่า "แน่ใจแล้วหรือจ้ะ?" 

แต่ถ้าคุณยังไม่พร้อมจะยื่นดอกกุหลาบตูมสีขาวให้ โดยไม่ต้องบอกว่า "ฉันยังเด็กเกินไปสำหรับความรัก"

 

แต่ถ้าคุณไม่สนใจเจ้าหนุ่มนั่น ก็ไม่ต้องเปลืองดอกกุหลาบให้วุ่นวาย เพราะแค่ยื่นใบกุหลาบให้เพียงใบเดียว ก็เหมือนตัดบทว่า

"(หน้าอย่างแก) ฉันไม่สนใจร้อก!"

พอพ่อหนุ่มถูกหักอก เขาก็อาจจะถอยฉาก แล้วยื่นดอกกุหลาบหอมให้คุณหนึ่งดอก เพื่อเหน็บคุณนิด ๆ ก่อนจากกันว่า

"ความงามของเธอนั้นไม่จีรัง!" (องุ่นเปรี้ยวนั่นแหละ)

แต่ถ้าเขามั่นคงดุจขุนเขา เขาก็จะส่งดอกกุหลาบแดงตามมาสำทับอีกดอกเพื่อบอกว่า

"นี่รักแท้ ไม่ใช่แค่ 'กิ๊ก' นะจ้ะ!"

เอาเป็นว่า ผมมอบดอกกุหลาบให้คุณผู้อ่านหนึ่งดอก

ส่วนจะเป็นสีอะไรนั้น ลองจินตนาการกันเองก็แล้วกันครับ


 

อ่านเรื่องนี้ด้วยยิ่งแจ๋ว ^__^

หรือจะค้นอินเทอร์เน็ตด้วยคำว่า floriography หรือ language + flower ก็ได้ครับ


 

หมายเลขบันทึก: 78402เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2007 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

อาจารย์ ดร. บัญชา

เพิ่งเข้ามอ่าน...

ก็เลยเขียนทิ้งไว้เล่นๆ...

อาป รากศัพท์ได้ในความหมายว่า ทำให้เปียก

คำนี้ตรงกับคำไทยว่า อาบ ซึ่งน่าจะแปลว่า ทำให้เปียก เช่นเดียวกัน..

มีคำไทยเก่าๆ ซึ่งเป็นคำโดด และเป็นรากศัพท์ของคำบาลีหรือสันสกฤต ซึ่งน่าพิศวง..

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่พระมหาชัยวุธ

       ขอบพระคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น

       เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านหนังสือ มองภาษาไทยในแง่มุมของภาษาศาสตร์ เขียนโดย ศ. ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับความบ้งเอิญที่น่าสนใจคล้ายกันครับ

       ในเรื่อง แพง (ในพระแพง) และ ปิ๊ง เกี่ยวข้องกันหรือไม่ (หน้า 207-208) ระบุว่า คำว่า "ปิ๊ง" แบบที่วัยรุ่นปิ๊งกันนี่ ศ. ประเสริฐ ณ นคร บอกว่ามาจาก pink (สีชมพู) คล้ายๆ จะบอกว่า เวลาปิ๊งกันนี่หน้าจะแดง

       อย่างไรก็ดี มีคำศัพท์ในภาษาไทยอาหม คือ "ปิง (เปง)" แปลว่า ความรัก

       ผู้เขียนคือ ศ. ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ตั้งข้อสังเกตว่า

       "...คิดไปแล้วก็น่าเสียดายที่ ปิ๊ง ไม่ได้เป็นคำเดียวกันกับ ปิง ในภาษาไทยอาหม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปิ๊ง กับ ปิง เสียงก็ใกล้เคียงกัน ความหมายก็ใกล้เคียงกัน แม้ที่มาจะต่างแหล่งกันแต่ในที่สุดก็มาบรรจบกันได้"

น่าแปลกใจจริงๆ ครับที่บันทึกนี้มีคนคลิกเข้ามาเกิน 10,000 ครั้ง!

ผมเลยถือโอกาสเพิ่ม links เข้าไปท้ายเรื่อง เผื่ออยากจะค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม จะได้ทำได้เต็มที่ ^__^

โชคดีจังที่เข้ามาอ่านเป็นคนที่เกือบจะ 2 หมื่น..เลยได้ links มาเป็นของแถมด้วย 555 

 

Hello แม่นีโอ

       ใกล้ๆ 2 หมื่นแล้ว งงๆ เหมือนกันว่าทำไมคนมาอ่านเยอะจัง (สงสัยถูกส่งต่อ) รู้งี้เอาของมาขายที่บันทึกนี้ตั้งแต่แรกน่าจะดี...อิอิ

สวัสดีคะ ดร.บัญชร ธนบุญสมบัติ

พูดจาภาษาดอกไม้ สมัยก่อนคงต้องตั้งใจทั้งคิดสื่อความหมายและหาดอกไม้มาแทนคำพูด จะพูดอะไร บอกความรู้สึกอะไรกันสักครั้ง คงทุ่มทุนกันน่าดูเชียวนะคะ

สมัยนี้ข้าวยากหมากแพง ดอกไม้ก็แพง เอาแค่ คำพูดไพเราะฟังแล้วไม่บาดหู มันจะเป็นภาษาดอกไม้ในยุคนี้ได้ไหมคะ...

ขอบคุณมากคะ

---^.^---

สวัสดีครับ

      ใช่แล้วครับ เพียงแค่คำพูดไพเราะ ก็เปรียบเสมือนภาษาดอกไม้แล้ว

      แต่ดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา โดยเฉพาะนักการเมืองจะพูดดอกไม้ไม่ค่อยเป็นซะแล้ว..แป่วๆๆ

สวัสดีค่ะ พี่ชิว

บังเอิญมากๆเลยค่ะ

พอดีนีน่ากำลังค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับ ภาษาดอกไม้ หรือ floriography เอาไปเขียนอยู่พอดี เสิร์ชมาเจอของพี่ชิวจนได้ สนุกมากๆเลยค่ะ สมัยนั้นเขาสื่อสารกันด้วยดอกไม้จริงๆ บางทีเอาไข่มุก ปอยผม ดอกคาร์เนชั่น กระดาษ ลูกแพร์ สบู่ ถ่านไม้ กุหลาบ เส้นฟาง ซินนามอน เศษผ้า องุ่น ลวดเงิน ฯลฯ มาใส่ในกล่องแล้วส่งไปให้คนรัก คนรักก็จะหยิบคู่มือภาษาดอกไม้มาตีความเป็นชั่วโมงๆอย่างกับแกะปริศนาเล่น จนได้ความหมายว่า "ฉันรักคุณอย่างสุดซึ้งแต่คุณไม่รู้ตัวบ้างเลย สงสารฉันเถิด! ฉันแทบเจียนตายทุกชั่วยามด้วยไข้รักที่มีต่อคุณ กรุณาเมตตาฉันบ้าง ได้โปรดทำให้ความปรารถนาของฉันเป็นจริงเถิด ฉันทรมานด้วยไฟแห่งรักที่มอดไหม้ในอก ฉันเป็นดั่งทาสรักของคุณ ได้โปรดอย่าเบือนหน้าหนี จงรักฉัน จงกลับมาหาฉัน จงตอบกลับมาด้วยเถิด"

555 สุดๆไปเลยนะคะ นี่คือสาสน์รักที่ Lady Mary Wortley Montagu ผู้รวบรวมภาษาดอกไม้คนแรกๆส่งไปให้เพื่อนของเธอเพื่อสาธิตตัวอย่างจดหมายรักสไตล์ Turkish ที่เธอได้ศึกษาตอนไปอยู่ Constantinople กับสามีของเธอเมื่อครั้งเขายังเป็น ambassador ที่นู่นเมื่อปี 1716-1718

อย่างนี้น่าจะมีคนรวบรวมภาษาดอกไม้ไทยๆดูบ้างนะคะ พี่ชิว น่าสนใจ อย่างดอกกล้วยไม้ ก็กลายเป็น ใกล้ม้วย หรือเปล่า อันนี้ได้ยินตอนเด็กๆค่ะ ดอกบัวมีนัยยะเกี่ยวกับพุทธศาสนาใช่ไหม ฯลฯ

ว่าแต่ชอบตัวอย่างกุหลาบที่พี่ชิวเขียนจังเลยค่ะ ขำมากๆๆๆ น่าจะเอาไปใช้งานจริงนะเนี่ย!

ดูพี่ชิวยังติดใจเรื่องรากศัพท์ของภาษาต่างๆอยู่เลยนะคะเนี่ย สนุกจัง ^^

ปล. เว็บข้อมูลค่ะ

http://huntingtonbotanical.org/Rose/Subrosa/42/tussiemussies.htm

http://en.wikipedia.org/wiki/Lady_Mary_Wortley_Montagu

สวัสดีครับ บัน ^__^

       ดีใจจังได้คุยกันอีก เมื่อไม่นานมานี้เพิ่ง e-mail ไปหาแทน แต่สงสัยจะยุ่งๆ กับการเรียนอยู่หรือเปล่า ฝากความระลึกถึงไปหน่อย ^__^

       สาสน์รักของ Lady Mary Wortley Montagu นี่สุดๆ ไปเลย มีความรู้สึกแทรกซึมอยู่ทุกประโยค คนเดี๋ยวนี้อาจจะคิดว่าเว่อร์ไปอ้ะเปล่า  แต่ถ้ามานึกดูอีกที เพลงรักสมัยนี้มันก็ไม่ต่างกันเลย (ในแง่เนื้อหา และอารมณ์) ผิดกันแต่ภาษาที่ใช้เท่านั้น

       อ้อ! การที่ ดอกบัว (Lotus) เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนานั้น เคยอ่านพบมาว่า เป็นเพราะ ดอกบัวเกิดอยู่ในโคลนตม แต่ผิวของกลีบดอกบัวกลับมิได้แปดเปื้อนโคลนตมเลย เปรียบประดุจจิตของพุทธะอันบริสุทธิ์ที่มิได้แปดเปื้อนด้วยกิเลสซึ่งอยู่รายรอบฉะนั้น...สาธุ ;-)

       เรื่องรากศัพท์นี่พี่ยังสนุกอยู่ครับ ตอนนี้ไปเจอหนังสือ In Search of Indo-Europeans เข้า ยิ่งมันส์กันใหญ่

       เชื่อไหมครับว่า คำว่า รถศึก นี่ ภาษาสันสกฤตว่า ratha มีรากเดียวกับภาษาละติน rotas ที่แปลว่า ล้อ ส่วนคำว่า rotate และ rotation นั้น ก็มีรากศัพท์มาจาก rotas เหมือนกัน

       นั่นคือ รถ ในภาษาไทย ก็คือ ยานพาหนะที่เคลื่อนที่ไปด้วยล้อ (rotas - ละติน) ที่หมุน (rotate - ภาษาอังกฤษ) นั่นเอง!

       ลองออกเสียงคำว่า 'รถ' กับ 'rotate' กลับไปกลับมาก็ยังได้..สนุกไหมล่ะครับ

       บทความของบันต้องน่าอ่านแน่ๆ เขียนเสร็จเมื่อไร อย่าลืมบอกกัน นำไปลงที่ไหน จะได้ตามไปอ่านนะครับ ^__^ 

เจริญพร โยมอาจารย์บัญชา

บัววิคทอเรียที่มีใบขนาดใหญ่นั้น มาจากนามพระราชทานจากควีนวิคทอเรียหรือเปล่า และบัวสายพันธุ์นี้มาจากประเทศไหนโยมอาจารย์

เจริญพร

ว้าว น่าสนุกจังเลยนะคะ พี่ชิวเอามาเขียนเล่าเรื่อยๆสิคะ

อยากอ่านเยอะๆ

เวลาเจอความเชื่อมโยงกันระหว่างภาษาแล้วรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกำลังแกะรอยต้นกำเนิดอารยธรรมมนุษย์เลยค่ะ ราวกับว่าเราทุกคนทุกชนชาติล้วนแต่เคยมาจากที่ที่เดียวกัน ราวกับว่าเราเคยพูดภาษาเดียวกันเลยค่ะ

แต่มาอีกที ตอนนี้เวลาคนไทย คนฝรั่ง คนจีน พิมพ์ตัวหนังสือคุยกันบนอินเตอร์เน็ทกลับดูคนละเรื่อง ไม่น่าเกี่ยวกันได้เลย

อยากฟัง เอ๊ย อ่านงานพี่ชิวอีกค่ะ (เอาอีกๆๆๆ)

^^

พี่แทนฝากความรักความคิดถึงมาให้ด้วยค่ะ ตอนนี้กำลังมุ่งเรียนจนหน้าดำแล้ว 555

กราบนมัสการหลวงพี่ พระปลัด ครับ

       ผมเองไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพืชครับ แต่ลองไปค้นคว้าดู ก็พบข้อมูลดังนี้ครับ

        ข้อมูลจาก คลังปัญญาไทย :

       "บัววิกตอเรีย เป็นบัวมีใบใหญ่มาก ลักษณะกลม มีขอบยกสูงขึ้นมาคล้ายกระด้ง จึงเรียกว่า บัวกระด้ง ก้านใบมีหนามแหลม เป็นไม้ถิ่นเดิมในอเมริกาใต้ ได้มีการนำบัวพันธุ์นี้ไปเพาะบนเกาะอังกฤษได้สำเร็จ ดอกบัวดอกแรกที่ผลิบานได้ส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพราะทรงอนุญาตให้นำพระนามาภิไธยมาขนานนามบัวชนิดนี้ มีผู้นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในเมืองไทยนานแล้ว"

        ข้อมูลจากสารานุกรม Wikipedia เรื่อง Victoria (waterlily) :

        "Victoria is the genus of giant water lilies in the plant family Nymphaeaceae. The species of this classification have very large leaves that float on the water's surface, the most well known and largest, Victoria amazonica, has a leaf that is up to 3 m in diameter on a stalk 7–8 m in length. Victoria is named after Queen Victoria. Victoria amazonica was once called Victoria regia, but the species name was superseded - although in Brazil it is still referred to by that name."

 

        ภาพบัววิกตอเรียในเมืองโบราณ จากบันทึก ท่องอดีต ณ เมืองโบราณ (2) ภาคกลาง

 

หากใครมีข้อมูล หรือประสบการณ์ในแง่มุมอื่นๆ ก็นำมาฝากไว้ที่นี่ได้ ณ ครับ

 

สวัสดีครับ บัน

        คิดถึงแทนจัง เอาไว้อาจจะได้เจอกันในงานมหกรรมหนังสือ เดือนตุลาคม ปีนี้ครับ (หรือเจอก่อนได้ก็ดีนะ ^__^)

        ชวนไปอ่านเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับภาษาครับ

                 ถอดรหัส อักษรภาพไอยคุปต์

        เสร็จแล้วชวนไปเที่ยวเมืองโบราณ (มีทั้งหมด 9 ตอนต่อกัน)

                 ท่องอดีต ณ เมืองโบราณ (1) ภาคใต้  (ตอนแรกใน 9 ตอน)

        ไม่รู้ว่าเคยไปหรือยัง? ถ้ายัง...ลองหาโอกาสชวนแทนไปให้ได้นะครับ ^__^

สวัสดีค่ะพี่ชิว

ตามมาอ่านพูดจาภาษากุหลาบค่ะ ^^

เลยได้อ่าน สารรัก ที่คุณอาบัน นำมาเล่าด้วย

น่าตื่นเต้นจริงๆค่ะ ผู้ส่งตั้งใจหาดอกไม้และสื่อต่างๆ เพื่อ ส่งข้อความแทนคำพูด

และผู้รับก็ต้องเปิดคู่มือเพื่อค้นหาความหมาย บอกแบบอ้อมๆ มีลุ้นๆค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท