วิวัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตอนที่ 2


เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร์เป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้น  ภายใต้กฎหมายตราสามดวงมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและฐานะทางกฎหมายของราษฎรไว้พอสมควร  เช่น  สิทธิถือครองที่ดินของราษฎร  สิทธิในความเป็นเจ้าของให้บังคับได้ระหว่างราษฎรด้วยกัน  สิทธิในการสืบมรดก  และสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา เป็นต้น  อย่างไรก็ตามกฎหมายตราสามดวงไม่ได้รับรองสิทธิของบุคคลให้เสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย  เพียงแต่มุ่งหมายให้ราษฎรมีสิทธิได้รับความเป็นธรรมตามที่กฎหมายรับรองไว้เท่านั้น   การแบ่งชนชั้นทางสังคมหรืออภิสิทธิ์ชนอันเนื่องมาจากชาติกำเนิดยังคงได้รับการรับรองเป็นพิเศษตามกฎหมายอยู่  ราษฎรในสมัยนั้นจึงมีสิทธิตามกฎหมายได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะทางสังคมของยุคสมัยนั้น

 

กรุงรัตนโกสินทร์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเมื่อพุทธศักราช 2475  เป็นความพยายามของนักคิดรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากชาติตะวันตกซึ่งมีรูปแบบการปกครองที่ทันสมัย มีความเจริญก้าวหน้าและมีการรับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย   ทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของชาติตะวันตกและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวไทย คือ  พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475  แม้ธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของไทยจะมิได้กล่าวถึงหรือรับรองสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจนสิทธิมนุษยชนเลย  แต่จากคำประกาศของคณะราษฎร์[1] ที่ได้นำหลักการของสิทธิมนุษยชนไปใช้ในทางปฏิบัติและระบุรับรองให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน  แสดงให้เห็นการตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว  จึงวิเคราะห์ได้ว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร์เป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา

 

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ถูกร่างและประกาศใช้ในปี พ.ศ.2475 ซึ่งนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของไทย คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475  ได้ปรากฏบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิ เสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยไว้ในหมวดที่ 2  ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม ซึ่งมีสาระสำคัญให้การรับรองหลักความเสมอหน้ากันในกฎหมาย  เสรีภาพในการนับถือศาสนา  เสรีภาพในร่างกาย  เคหสถาน  ทรัพย์สิน  การพูด  การเขียน  การโฆษณา  การศึกษาอบรม  การประชุม  การตั้งสมาคม และการอาชีพ  โดยบทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นการให้ความรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก

 

ขณะเดียวกันนั้นประเทศสยามได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศและเป็นที่ยอมรับของรัฐต่างชาติ  ด้วยความมุ่งหมายที่จะเรียกร้องเอกราชทางการศาลกลับคืนมาเป็นของไทย  แนวความคิดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ  อีกทั้งมีความพยายามสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้โดยตรงและโดยอ้อมผ่านทางสถาบันตุลาการด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477  มีบทบัญญัติที่ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา [2] ซึ่งแตกต่างจากระบบจารีตนครบาลที่มีมาแต่เดิมอย่างสิ้นเชิง

 

ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 และเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และเสรีภาพในการจัดตั้งคณะพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ  ส่วนเสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ได้เปลี่ยนเป็นเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ [3]

 

ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีผลใช้บังคับ ปี พ.ศ.2490  ปรากฏกระแสที่สำคัญคือ เกิดการรวมตัวของกรรมกรในชื่อว่า สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกรรมกรจากกิจการสาขาต่างๆ เช่น โรงเลื่อย โรงสี รถไฟ เป็นต้น เนื่องจากกรรมกรเหล่านี้ถูกกดขี่ค่าจ้างแรงงานอย่างมากอันเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว  ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  กระแสความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องต่อสังคมและรัฐให้สนองตอบความต้องการที่จำเป็นของตน  ทำให้สังคมตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน  อันเป็นการแสดงออกถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการกระทำของเอกชนด้วย

 

ในปี พ.ศ.2491 สหประชาชาติได้ประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 พอดี   รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492  จึงได้รับอิทธิพลจากการประกาศใช้ปฏิญญาสากล  ของสหประชาชาติ   มีบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพเป็นจำนวนมากและละเอียดกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ 

 

หลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948   ที่ได้รับการบรรจุลงไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5  นอกเหนือจากสิทธิที่เคยรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ[4]  ได้แก่  หลักการได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกันตามรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีกำเนิดหรือนับถือศาสนาแตกต่างกันก็ตาม (มาตรา 26)  สิทธิของประชาชนที่จะไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน ทั้งนี้เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะซึ่งเกิดขึ้นโดยฉุกเฉิน  เฉพาะเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือภาวะสงครามหรือในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น (มาตรา 32)  เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางไปรษณีย์หรือทางอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 40)  เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่และการประกอบอาชีพ (มาตรา 41)  สิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองในครอบครัวของตน (มาตรา 43)  ตลอดจนการให้การรับรองแก่บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำอื่น และพนักงานเทศบาล ที่จะมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหมือนดังพลเมืองคนอื่นๆ (มาตรา 42) 

 ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกประการคือ มีการนำเอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย  เช่น

- หลักที่ว่า บุคคลจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา  เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้(มาตรา 29) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินคดีอาญา และได้รับการบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

- หลักความคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิดก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด  รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาในการประกัน และการเรียกหลักประกันพอสมควรแก่กรณีด้วย (มาตรา 30)  และ

 

- สิทธิที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขัง หรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่ากรณีใดๆ  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้สามารถกระทำได้ (มาตรา 31)

 

นอกจากนี้แล้วการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ในหมวด 5  อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยแนวทางสำหรับการตรากฎหมาย และการบริหารราชการตามนโยบาย  ซึ่งแม้จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐหากรัฐไม่ปฏิบัติตาม  แต่ก็เป็นการกำหนดหน้าที่แก่รัฐซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวพันกับการส่งเสริมและพัฒนาหลักสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา

 

ในทางปฏิบัติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้รับการรับรองคุ้มครองอย่างจริงจังเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจสังคม  ตลอดจนทัศนคติของผู้ปกครอง  เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธินั่นเอง เพราะต่อมาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7  ไม่ปรากฏบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด [5]  และการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 [6] เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515  ช่วงรัฐบาลเผด็จการไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยเลย    จนกระทั่งภายหลังเกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยโดยนักคิดนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราอาณาจักรไทย พ.ศ.2517  เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492  และมีการวางหลักการใหม่ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น  ทั้งในด้านที่มีการจำกัดอำนาจรัฐที่จะเข้ามาแทรกแซงอันมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  และในด้านการเพิ่มหน้าที่ให้แก่รัฐในการให้บริการแก่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เช่น  ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน (มาตรา 28)  สิทธิทางการเมืองในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และสิทธิออกเสียประชามติ (มาตรา 29)  สิทธิที่จะไม่ถูกปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์ (มาตรา 40)  เสรีภาพในทางวิชาการ (มาตรา 42)  การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องแสดงที่มาของรายได้และการใช้จ่ายโดยเปิดเผย (มาตรา 45)  และเสรีภาพในการเดินทางภายในราชอาณาจักร (มาตรา 47)          นอกจากนี้แล้วสิทธิในทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องหาและจำเลยยังได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ได้แก่  สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม  สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความ (มาตรา 34)  สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง อันจะทำให้ตนถูกฟ้องเป็นคดีอาญา และถ้อยคำของบุคคลที่เกิดจากการถูกทรมาน ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังบังคับหรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ถ้อยคำนั้นเป็นไปโดยไม่สมัครใจไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ (มาตรา 35)  และสิทธิที่จะได้ค่าทดแทน หากปรากฏในภายหลังว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด (มาตรา 36)

 

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2519  ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11  ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้เพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนับว่าเป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิเสรีภาพกว้างขวางมาก  แต่ไม่มีการกำหนดว่าเป็นสิทธิเสรีภาพชนิดใด    ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12   ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 นำบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพมาบัญญัติไว้อีกโดยมีสาระสำคัญส่วนใหญ่เหมือนกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517  แต่ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับรองความเสมอภาคของชายและหญิง  เสรีภาพในทางวิชาการ และเสรีภาพในการประกอบอาชีพออกไป

 

ภายหลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำการยึดและควบคุมการปกครองประเทศไว้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534  และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 แล้ว ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 แทน โดยให้ไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งไม่ปรากฏมีบทบัญญัติใดเลยที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน

 

ต่อมาในปี 2538 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 โดยเพิ่มหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตามที่ประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538  ซึ่งนำเอาบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาบัญญัติไว้อีกครั้ง  แต่ได้ตัดเสรีภาพในทางวิชาการออกเสีย  และเพิ่มบทบัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน (มาตรา 41)  สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ (มาตรา 48) และสิทธิในการได้รับทราบข้อมูล  หรือข่าวสารจากหน่วยงานราชการ (มาตรา 48 ทวิ)

 

ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  แม้จะถูกขัดขวางโดยปัญหาการเมืองการปกครองเป็นบางเวลา  แต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยทางอ้อมปรากฏให้เห็นผ่านทางกลไกของรัฐ  เช่น  กรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาและออกกฎหมายที่ไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป  การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ  การตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยฝ่ายบริหารเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน การพิจารณาพิพากษาคดีขององค์กรตุลาการโดยยึดหลักกฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน  เหล่านี้นับว่าเป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้จะมิได้มีความมุ่งหมายให้เป็นผลโดยตรงก็ตาม

 การดำเนินการขององค์กรรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรงปรากฏขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน (สคช.) สังกัดกรมอัยการ เมื่อพ.ศ.2525  ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.)   แต่การดำเนินงานขององค์กรมีขอบเขตจำกัด สืบเนื่องจากกรอบอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการตามกฎหมายต่างๆ   ส่วนการดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชนเพิ่งมีการก่อตัวขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังเกิดเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516  และ 6 ตุลาคม 2519  องค์กรแรกที่ถูกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2519  คือ สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  และในปีเดียวกันนั้นก็มีการก่อตั้งกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม(กศส.) [7]  หลังจากนั้นก็มีการรวมตัวกันของบุคคลทั้งในรูปองค์กร สมาคม  มูลนิธิ  คณะกรรมการ  คณะทำงาน  กลุ่ม  ศูนย์  สถาบันต่างๆ  เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ  เสรีภาพ  ตลอดจนสิทธิมนุษยชนในแง่ต่างๆ แก่ประชาชน   เช่น สิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม  สิทธิของเกษตรกร  สิทธิเด็ก  สิทธิสตรี  สิทธิผู้ใช้แรงงาน  และสิทธิทางการเมือง  เป็นต้น



[1] หลักการสำคัญในคำประกาศของคณะราษฎร์ คือ            1) ต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  ได้แก่  เอกราชในทางการเมือง การศาล การเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง            2) ต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก            3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ทุกคนทำ  และจะต้องวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ  ไม่ละเลยให้ราษฎรอดอยาก            4) ต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน            5) ต้องให้ราษฎรมีอิสรภาพ  มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดหลักดังกล่าวข้างต้น            6) ต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร.
[2] จำเลยมีสิทธิแต่งทนายเพื่อมาแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  หรือชั้นพิจารณาคดีทั้งในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา  จำเลยมีสิทธิพูดจากับทนายความหรือผู้ที่จะเป็นทนายความสองต่อสอง  จำเลยมีสิทธิตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณา และคัดสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม  จำเลยมีสิทธิจะตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐานและคัดสำเนาหรือภาพถ่ายสิ่งอื่นๆ ได้  สิทธิที่จะขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน  การห้ามพนักงานสอบสวนจัดให้การมีล่อลวง ขู่เข็ญ หรือให้สัญญาแก่ผู้ต้องหาเพื่อจูงใจให้เขาให้การ  การพิจารณาคดีและการสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลย  และต่อมาภายหลังได้ขยายไปถึงสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางคดีโดยจัดหาทนายความให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และในคดีที่เด็กอายุไม่เกิน 18 ปีตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อให้จำเลยใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่.
[3]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 มาตรา 14 และ 15.
[4] ได้แก่  หลักความเสมอภาคกันในกฎหมาย (มาตรา 27)  เสรีภาพในการนับถือศาสนา (มาตรา 28)  เสรีภาพในร่างกาย (มาตรา 31)  เสรีภาพในเคหสถาน (มาตรา 33)  สิทธิในทรัพย์สิน (มาตรา 34)  เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา (มาตรา 35)  เสรีภาพในการศึกษาอบรม (มาตรา 36)  เสรีภาพในการชุมนุม (มาตรา 37)  เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม (มาตรา 38)  เสรีภาพในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง (มาตรา 39)  และสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ (มาตรา 42).
[5] กรณีดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความโดยพิจารณาตามมาตรา 20  ที่ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด  ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย...  จึงถือว่ายังมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพอยู่ ซึ่งเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง.
[6] นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 9 ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้น 22 มาตรา.
[7] องค์กรนี้แต่เดิมใช้ชื่อว่าศูนย์ประสานงานศาสนาเพื่อสังคม  ทำหน้าที่ในการส่งเสริมศาสนาธรรมให้แก่สังคม  เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม  เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น  โดยมีงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก.
หมายเลขบันทึก: 51974เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท