"ทำแท้ง" เปลี่ยนมุมมองสักนิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้


นี่เป็นบทความต่อเนื่องตอนที่สองของผมที่เกี่ยวกับการทำแท้ง ที่ลงในสารสูตินรีแพทย์สัมพันธ์
 

            เมื่อต้นเดือนสิงหาคมและกันยายน 2549 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ และเป็นวิทยากรในโครงการอบรมเรื่อง การป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อป้องกันการตายของมารดาจากการตั้งครรภ์ ซึ่งจัดโดย กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

งานนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื้อหาสาระหลักๆที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับคือ การแสดงให้เห็นภาพรวมของปัญหาการทำแท้งในประเทศไทย ภายใต้กฎหมายที่เก่าแก่และเข้มงวด โดยทางกองอนามัยการเจริญพันธุ์ (ในสมัยนั้นยังเป็นกองวางแผนครอบครัวและประชากร ก่อนจะมาเป็นกองอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างในปัจจุบัน) ได้ทำวิจัยเก็บข้อมูลจากทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งทำให้เราได้เห็นข้อมูลทั้งเบื้องตื้นและลึกเป็นอย่างดี พูดได้เลยว่า เป็นงานวิจัยเรื่องทำแท้งของเมืองไทยที่ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีการอภิปรายเรื่อง ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นมุมมองของนักสังคม นักกฎหมาย และจิตแพทย์ ซึ่งวิทยากรทั้งสามท่าน ได้แสดงให้เราเห็นว่า นอกเหนือจากมุมมองและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์แล้วนั้น  พวกเราที่เป็นแพทย์ทั้งหลาย หลายคนแทบไม่ได้มองอะไรไปมากกว่าการรักษาร่างกายเลย คงไม่มีใครเถียงว่า ทุกวันนี้เราหลายคนยังมีความรู้สึกเหยียดหยามผู้รับบริการที่มาขอทำแท้ง โดยที่อาจจะแสดงหรือไม่แสดงออกมา

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้แสดงให้เราเห็นถึงมุมมองของนักสังคม และผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิการเจริญพันธุ์ของสตรี สิทธิในการเป็นเจ้าของเรือนร่างของผู้หญิง ซึ่งสังคมชอบที่จะละเลยและยกภาระต่างๆมาใส่ไว้อย่างไร้ซึ่งความรับผิดชอบ (อันนี้ผู้เขียนขยายความเอง)  

รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้เสนอมุมมองของนักกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งไว้อย่างน่าสนใจ เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ บางครั้งเราแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำ เราเคยได้รับการสอนว่า มาตรา 305 ยกเว้นให้แพทย์ทำแท้งได้ในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา...... และเว้นเอาไว้ฐานที่เข้าใจว่า เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา เราเลยเข้าใจไปในขณะนั้นและตลอดกาลว่าต้องเป็นเพียงคดีข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น แท้ที่จริงกฎหมายเขาบอกว่า ต้องเป็นความผิดในมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือมาตรา 284 ซึ่งรวมถึง การตั้งครรภ์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (มาตรา 277 ถึงแม้จะสมยอมกันก็ยังเป็นการกระทำผิดทางอาญาอยู่ดี เพราะเขาอายุน้อยกว่า 15 ปี) สตรีที่ถูกล่อลวงมา (มาตรา 282, 283, 284 ทั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วหญิงนั้นจะสมยอมหรือไม่ก็ตาม)  

อย่างนี้ต้องถามว่า ใครเคยรู้บ้างยกมือขึ้นครับ

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ รศ.น.พ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์ผู้อยู่เคียงข้างผู้หญิง ท่านได้บรรยายเรื่องมิติทางด้านจิตใจ ผลกระทบทางจิตของผู้ที่ท้องเมื่อไม่พร้อมหรือต้องการทำแท้ง หรือกระทั่งถูกทำแท้งเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องที่สนุกไม่แพ้กันคือการบรรยายเรื่อง การให้การแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ จากอาจารย์ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ชนิดที่ไม่มีใครง่วงในช่วงบ่ายเลย

            สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดการอบรมในครั้งนี้คือ การแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการดูแลสตรีแท้งบุตร เนื้อหาใจความหลักๆนั้น เปิดโอกาสให้แพทย์ได้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อก่อนพวกเราทำผิดกฎหมายกันมาตลอด แต่ไม่มีใครมากล่าวหาหรือแจ้งความ เพราะเป็นเวชปฏิบัติที่เป็น norm of practice ข้อบังคับฯฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้สตรีตั้งครรภ์ที่ครรภ์นั้นมีผลกระทบต่อสภาพจิตสามารถร้องขอบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ ทำไมต้องเอาเรื่องจิตใจมาเกี่ยวข้อง ก็เพราะในนิยามของคำว่าสุขภาพนั้นย่อมรวมถึง สุขภาพกาย ใจ และจิตวิญญาณอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้อ้างตามนิยามขององค์การอนามัยโลกนั่นเอง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คงเกิดคำถามในใจขึ้นมากมาย แล้วอย่างนี้ ใครไม่อยากอุ้มท้องต่อ ก็มาอ้างว่าเครียดกันให้หมดเลยล่ะสิ แท้งเสรีบังเกิดแน่ๆ ใจเย็นๆครับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆที่เคารพ เรากำลังคิดและกลัวไปก่อน ทั้งๆที่ยังไม่ได้ไตร่ตรองกันหรือไม่ ทำไมประเทศอื่นที่เขาเจริญกันแล้ว อย่างฝรั่งเศส ออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งอเมริกา ประเทศเหล่านี้เปิดโอกาสให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้หลายกรณี ไม่เคร่งครัดเหมือนของเรา แต่เขากลับมีอัตราการทำแท้งต่ำกว่าเรา ภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งน้อยกว่าเรา ผู้หญิงของเขาแทบจะไม่มีใครตายจากการทำแท้งเลย

เจตนารมณ์ของข้อบังคับฯฉบับนี้พยายามให้คนที่มีปัญหาได้เข้ามาอยู่ในระบบบริการสาธารณสุข ทำไมหรือ? เพราะเราจะได้ให้การดูแลเขาอย่างมีองค์รวม ในที่นี่หมายถึง การให้การแนะนำปรึกษาอย่างดี ร่วมกันหาทางออก (ที่ไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการทำแท้งเสมอไป) การป้องกันการท้องแล้วทำแท้งซ้ำ รวมทั้งหากจะทำแท้งจริงๆควรจะพึงกระทำอย่างปลอดภัย อาจารย์รณชัยได้ให้ข้อคิดว่า ไม่มีคำว่าทำแท้งเสรีภายใต้ข้อบังคับฯฉบับนี้ แต่การที่เราเปิดโอกาสให้เขาไปทำแท้งเถื่อนเองอย่างทุกวันนี้ต่างหากที่เป็นการทำแท้งเสรี

            วันที่สองของการเข้าอบรม มีการเสวนากลุ่มเกี่ยวกับทัศนคติของแพทย์เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าระทึก ระทึกเสมอเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ หมอคนอื่นจะคิดอย่างไรหากเราเห็นว่าควรทำแท้งในกรณีเช่นนี้ อย่างนี้เป็นต้น ในช่วงเวลานี้ได้มีการนำเสนอกรณีตัวอย่างที่มาขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์

ช่วงนี้ผมและอาจารย์ประทักษ์จากรามาฯเป็นผู้ดำเนินรายการครับ

หนึ่งนั้นเป็นหญิงหม้าย ลูกสอง สามีเพิ่งเสียชีวิตจากการทำงาน ตนเองทราบว่าตั้งครรภ์หลังเสร็จงานศพ กรณีที่สองเป็นเรื่องราวของนักศึกษา โดยให้สมมติว่าเป็นนักศึกษาที่เราทุกคนในกลุ่มเสวนารู้จัก ซึ่งอาจจะเป็นลูกศิษย์ก็ได้ จากการพูดคุยผู้เขียนพอจะประเมินได้ว่า หมอส่วนหนึ่งก็ยังคงบ่ายเบี่ยงที่จะตอบตรงๆ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกสงสารและเห็นใจ แต่ยังไงเสียก็ไม่ควรทำแท้ง บางท่านบอกว่าจะเขียนใบสั่งยาแล้ววางไว้บนโต๊ะ เพื่อที่เขาจะได้ไปเบิกยาแล้วจัดการด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดก็มีการโหวด จากคำถามว่า แล้วท่านจะทำอย่างไรกับสตรีสองท่านนี้ ข้อแรกคือทำให้ สองคือไม่ทำให้แต่จะส่งต่อ ข้อสามคือ ไม่ทำให้และไม่ส่งต่อ (ค่อยมาตัดมดลูกและล้างไตทีหลัง) ผลการลงคะแนนอย่างไม่ลับพบว่า หนึ่งในห้าเท่านั้นที่ยอมยุติการตั้งครรภ์ให้เอง ที่เหลือนั้นจะไม่ทำเองแต่จะส่งต่อไปให้ผู้อื่นที่เขายอมทำ และมีบางท่านไม่ขอแสดงความคิดเห็น

มีคำถามตามมามากมาย อย่างเช่น ใครบาปมากกว่ากัน ระหว่างคนทำกับคนส่งให้ ทำไมต้องเป็นเราที่ต้องมารับภาระเรื่องนี้ เรามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหรือไม่ เรื่องอื่นในแต่ละวันยุ่งพออยู่แล้ว ทำไมต้องมาปวดหัวกับเรื่องนี้อีก อย่างไรก็ตามหลังจากการพูดคุยกันผู้เขียนพอสรุปได้ว่า อย่างไรก็ตามเรื่องการทำแท้งก็ยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก มีมิติที่จะต้องพิจารณาหลายด้าน ความรู้ที่เปลี่ยนไปเราสามารถหาอ่านและฝึกปฏิบัติได้ แต่ใจที่ไม่เปิดรับกลับเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการยิ่งกว่าสิ่งใดๆ

ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยเรื่องนี้จะไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย หากแพทย์ผู้ให้บริการวางเงื่อนไขเพื่อให้ตัวเองอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง

            สูติแพทย์เป็นหนึ่งในบุคคลที่โชคดี ที่เป็นผู้หนึ่งที่ให้บริการแก่ผู้ที่เป็นเพศแม่ คงไม่มีหมอคนไหนเข้าใจผู้หญิงได้ดีไปกว่าหมอสูติฯ สูติแพทย์ที่เข้าใจผู้หญิง เข้าใจข้อบังคับฯ จะเป็นหนึ่งในเฟืองชิ้นเล็กๆที่ร่วมกันขับเคลื่อนสังคม เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้หญิงไทยที่เคยแต่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้หลุดพ้นจากพันธนาการที่ใครก็ไม่รู้เป็นผู้กำหนด เขาควรจะเป็นคนที่เลือกทางเดินชีวิตเขาเอง เราน่าจะเป็นผู้ที่ให้การช่วยเหลือยามเมื่อเขามีความทุกข์มิใช่หรือ การตัดสินว่าคนที่มาขอทำแท้งนั้นชั่ว คนที่ทำให้นั้นบาป โดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองถึงเหตุที่มาและที่ไป ควรเป็นสิ่งที่พึงกระทำให้น้อยที่สุดตราบเท่าที่สติของเรายังติดอยู่กับตัว พึงระลึกอยู่เสมอว่า หากผู้รับบริการคนนั้นเป็นคนที่เรารัก เรารู้จัก เราคุ้นเคย จะช่วยทำให้เราสามารถดูแลใครก็ตามที่มาขอรับความช่วยเหลือได้อย่างดีที่สุด ท่านเชื่อหรือไม่

            ท้ายที่สุด

            เชื่อหรือไม่ วันที่สามของการอบรม ซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอพิษณุ ขันติพงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติฯ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานด้านการพิทักษ์สิทธิของสตรีและเด็กมาตลอด ทราบว่า วันนั้นมีหญิงคนหนึ่งอายุกว่าสามสิบปี กำลังตั้งครรภ์ที่สอง เขามีลูกแฝดอยู่คู่หนึ่งแล้ว วานก่อนสามีของเขาถูกไฟฟ้าแรงสูงช๊อตและถูกไฟลวกทั่วตัว น่าจะไม่รอด มาปรึกษาเพื่อขอยุติการตั้งครรภ์เพราะเขาจนมาก มันช่างเหมือนกับกรณีตัวอย่างจริงๆ

                 

รายละเอียดราชกิจจานุเบกษา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00178170.PDF

หมายเลขบันทึก: 112052เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุดท้ายแล้ว เราก็คงต้องมาจบลงตรงที่ว่า "ใจ"คือสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ถ้าใจเปิด ทุกเรื่องก็มีทางแก้ไข ไม่มีใครต้องทุกข์หนัก ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็น่าจะมาจาก ใจที่ยังคงปิด คิดและทำและยึดมั่นในสิ่งที่เคยเชื่อกันตลอดมา โดยไม่ได้เปิดรับฟัง กลั่นกรองให้รอบด้าน ถ้าเกิดกับคนที่ไม่ได้มีอิทธิพลหรือโอกาสในการช่วยชีวิตคนอื่น ก็คงไม่ร้ายเท่าไหร่ แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าค่ะ

ดีใจที่คนที่คิดกว้างๆ รอบๆด้าน และมีอิทธิพลต่อความรู้คิดของคนอื่นอย่างอาจารย์ออกมาให้ความคิดเห็นดังๆค่ะ อย่างน้อยก็คงจะทำให้คนที่ปิดใจแง้มๆออกบ้างล่ะน่า

พี่โอ๋รู้ไหมครับว่า

 ดีใจที่คนที่คิดกว้างๆ รอบๆด้าน และมีอิทธิพลต่อความรู้คิดของคนอื่นอย่างอาจารย์ออกมาให้ความคิดเห็นดังๆ

ประโยคนี้เคยมีคนพูดกับผมมาก่อนแล้ว เขาคือคนที่นำผมเข้ามาสู่งานนี้แหละครับ เป็นคนที่เปิดโอกาสให้ผมได้ค้นพบตัวเอง จะเรียกว่าค้นพบตัวเองก็ไม่น่าจะถูกครับ เอาเป็นว่า ช่วยให้ผมได้หัดมองรอบด้านมากขึ้นครับ

ผมไม่เคยลืมเลยครับ

หากเราไม่ช่วยผู้หญิงของเรา แล้วจะให้ใครที่ไหนมาช่วยเขา การช่วยเหลือไม่ใช่การทำแท้งให้ แต่เป็นการให้ความเห็นใจ เข้าใจ และช่วยกันหาทางออกด้วยกัน ท้ายที่สุดแล้ว เขาเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องของเขา หากแต่ได้มีโอกาสสักนิดที่จะได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เห็นทางเลือกที่เราหยิบยื่นให้ นี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากให้คนอื่น และลูกศิษย์เข้าใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท