ความรู้คืออำนาจ: แม่ปราณี โนนจันทร์ กับกระบวนการวิจัยไทบ้านปากบุ่ง


ความรู้คืออำนาจ: แม่ปราณี โนนจันทร์กับกระบวนการวิจัยไทบ้าน

ปากบุ่ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ของชุมชน

วัชรี ศรีคำ

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แม่ปราณี โนนจันทร์ ชาวบ้านปากบุ่ง หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูน ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้หนึ่งที่เคยร่วมต่อสู้กับพี่น้องชาวปากมูน ในการเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยในการสร้างเขื่อนปากมูนมาหลายปี สิ่งหนึ่งที่แม่ปราณีได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการต่อสู้ครั้งนั้น คือ การสร้างเขื่อนปากมูนทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหลายประการ ซึ่งสิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการพึ่งพิงตนเองของชาวบ้านลดน้อยลง วิถีชีวิตที่เคยผูกพันพึ่งพิงธรรมชาติและชุมชน ต้องพึ่งพิงตลาดและปัจจัยจากภายนอกชุมชนมากขึ้น สิ่งนี้เอง ที่ทำให้แม่ปราณีเกิดความต้องการที่จะศึกษาให้รู้ซึ้งถึงที่มาของปัญหาและหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นที่มาของการเสนอหัวข้อการวิจัยเรื่อง “วิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวปากบุ่ง ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) เป็นจำนวนเงินประมาณ 500,000 บาท เพื่อทำการวิจัยในระยะเวลาสองปี กระบวนการทำวิจัยที่เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่ได้ทำให้แม่ปราณีท้อถอย แม้จะมีความรู้น้อย แต่ความตั้งใจและความใฝ่รู้ ทำให้แม่ปราณีและคณะผู้วิจัยจำนวนทั้งสิ้น 8 คน รวมทั้งผู้ช่วยวิจัยอีกราว 50 คน ร่วมกันเก็บรวบรวมข้อมูลวิถีชีวิตความเป็นมาและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ความหลากหลายของพรรณพืช พันธุ์สัตว์ในแง่ของแหล่งที่ให้ความมั่นคงด้านอาหารแก่ชุมชนและการฟื้นฟูองค์ความรู้ด้านพืชสมุนไพรของชุมชนจากคนเฒ่าคนแก่ผู้รู้ในชุมชน

ในอดีต ดอนตาดไฮอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม เนื่องจากการบุกรุกตัดไม้และเผาถ่าน รวมทั้งการขยายพื้นที่ทำไร่ปอ ในปี พ.ศ.2525 ชาวบ้านปากบุ่งเริ่มรวมตัวอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนตาดไฮ โดยห้ามตัดไม้เผาถ่าน ยกเลิกการเพาะปลูกบนพื้นที่ดอนตาดไฮ และพยายามปลูกต้นไม้ทดแทน ทำแนวกันไฟ รวมทั้งสร้างกฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่ดอนตาดไฮร่วมกัน ปัจจุบันนี้ความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มกลับมาสู่ดอนกลางน้ำแห่งนี้

ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่ได้ศึกษารวบรวมมา ทำให้แม่ปราณีมีข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำมาพิจารณาหาแนวทางในการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน โดยการปลูกพืชผักสวนครัวและผักพื้นบ้านเพื่อใช้บริโภคในครอบครัว ส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง เนื่องจากผลการสำรวจข้อมูลประเภทอาหาร ร้านค้าชุมชนและรถบริการตลาดเคลื่อนที่ ทำให้ทราบว่า เหตุใดชาวบ้านไม่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติและนิยมซื้ออาหารและผักจากรถบริการตลาดเคลื่อนที่ หลังบ้านแม่ปราณีปลูกผักกว่ายี่สิบชนิดหากเพื่อนบ้านต้องการสามารถนำไปบริโภคได้แต่ต้องมาช่วยกันเก็บข้อมูลเป็นการตอบแทน มีการศึกษาและสร้างบ่อเลี้ยงกบ เพาะพันธุ์และอนุบาลปลาแม่น้ำมูน สร้างเขตอภัยทานเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาริมแม่น้ำมูนด้วย

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลทรัพยากรรรมชาติในบริเวณภูนกเขาซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านปากบุ่ง ชาวบ้านหลายหมู่บ้านสามารถเข้าไปหาประโยชน์จากป่าได้ ทำให้ทราบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งบุกรุกที่ใช้ทำนา แม่ปราณีและคณะผู้วิจัยได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ และพยายามแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างสันติวิธี รวมทั้งขอให้สำนักงานที่ดินสอบแนวเขตป่าภูนกเขากับพื้นที่ในครอบครองของชาวบ้าน ส่วนหนึ่งให้ความร่วมมือคืนที่ป่าจำนวนครึ่งหนึ่งคืนมา และบางส่วนยังอยู่ในกระบวนการต่อรองของชาวบ้าน แม่ปราณีและชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าภูนกเขา กำลังขอสิทธิในการจัดการป่าภูนกเขาให้เป็นป่าชุมชนจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ชุมชนร่วมกันจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ป่าภูนกเขา ติดตั้งป้ายกติกาและข้อห้ามในพื้นที่โดยรอบ มีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทำแนวกันไฟ และมีการตรวจตราให้ร่วมกันปฏิบัติตามกติกาที่ตั้งไว้

แม่ปราณีมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรชาวบ้านและชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล กรมประมง สำนักงานเกษตรฯฯ สำนักงานที่ดิน องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อระดมทรัพยากรที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวบ้าน เช่นการขอพันธุ์ปลาจากกรมประมง ขอต้นกล้าจากสำนักงานเกษตรฯ เรียนรู้การเลี้ยงกบจากชุมชนอื่น เรียนรู้การอนุบาลปลาจากพรานปลาในชุมชน รวมทั้งสอบแนวเขตป่าภูนกเขาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและสำนักงานที่ดิน เป็นต้น

แม้ว่างานวิจัยที่แม่ปราณีทำผ่านมาแล้วหนึ่งปี ยังคงเหลือเวลาอีกหนึ่งปี กว่าโครงการวิจัยจะสำเร็จ แต่ความรู้และข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แม่ปราณีหาแนวทางแก้ปัญหาในด้านความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ต่อเนื่องไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างอาชีพเสริม เพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองของชาวบ้าน และกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักในสิทธิของตนเองและชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในอนาคต แม่ปราณีต้องการให้บ้านปากบุ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้สนใจ ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน เรียนรู้จากประสบการณ์อันเข้มข้นของแม่ปราณีและคณะนักวิจัยไทบ้าน เพื่อเป็นแนวทางและสืบสานขยายผลการวิจัยไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกันธำรงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 97765เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ปากบุ่งเป็นเลิศอยู่แล้ว

ขอเชิญ...ทุกท่านมาเรียนพระอภิธรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน หรือผู้ใหญ่

       เด็ก-เรียนวันเสาร์ อาทิตย์ เริ่ม 10.00น.-11.00น.

สอนโดย อ.มหาสุรไกร(นารทะ) สุเมโธ

      ผู้ใหญ่ -เรียนทุกวัน เริ่ม 16.00น.- 17.00น.

สอนโดย อ.มหานพพร จารุธมฺโม

ณ วัดดอนตาดไฮ ตั้งอยู่ที่เกาะกลางแม่น้ำมูล ระหว่างบ.ปากบุ่ง ต.คันไร อ.สิรินธร  และบ้านท่าเสียว ต.ทรายมูล อ.พิบูลย์ฯ จ.อุบลฯ

 

 

จ.อุบลราชธานี

 

ขอเชิญพระภิกษุสามเณร เรียนพระอภิธรรม วัดดอนตาดไฮ

และมาร่วมงานสัมมนาพระธรรมวินัย ในปี2554 ก่อนเข้าพรรษา 15 วัน

 

 

เรียนอภิธรรม วัดดอนตาดไฮ เด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ พระภิกษุสามเณรโทร.0821558238

เรียนอภิธรรม ติดต่ออีเมล [email protected]

โทร.0821558238 หรือ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท