ชีวิตดั่งภาพถ่าย (2) - ขีดจำกัด


 

การถ่ายภาพมีขีดจำกัด ขีดจำกัดในเรื่องของแสงเงา ขีดจำกัดของสมรรถนะกล้อง ขีดจำกัดขององค์ประกอบภาพที่อาจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

   
นี่คล้ายกับชีวิตของคน ทุกย่างก้าวล้วนมีขีดจำกัด ขีดจำกัดทางร่างกาย ขีดจำกัดทางจิตใจ ขีดจำกัดทางสติปัญญา ขีดจำกัดของสภาพตั้งต้น

 


ขีดจำกัดเหล่านี้ อาจเอาชนะได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

 

ในโลกตะวันตก เคยมีผู้เชื่อมานานว่าธรรมชาติสร้างร่างกายคนให้วิ่งไม่เร็วเกินหนึ่งไมล์ใน 4 นาที (four-minute mile)  จนมีนักวิ่งผู้หนึ่งชี้ว่า นั่นเป็นเพียงขีดจำกัดทางจิตใจ โดยวิ่งพิสูจน์ และสามารถล้มล้างความเชื่อดังกล่าว เขาเผยว่าเคล็ดลับคือการเตรียมใจ ให้รู้สึกเสมือนเพิ่งเริ่มวิ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้อื่นนำไปทำตาม ก็ทำได้ จนปัจจุบันกลายเป็นสถิติธรรมดาไป

 

หรือขีดจำกัดเรื่องอายุขัยเฉลี่ยของคน เมื่อความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้าไป ก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 3 เดือน ทุกปีมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งได้มาด้วยการสั่งสมประสบการณ์ในระดับมหภาค อย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดจากคนเพียงคนเดียว



การทลายขีดจำกัดเหล่านี้ บางครั้ง อาจไม่คุ้มค่าที่จะทำ หรืออาจไม่ทันเวลาที่จะทำ

 

การถ่ายรูปกลับสอนเราได้ประการหนึ่ง:

แม้เราจะไม่สามารถเอาชนะขีดจำกัดที่มีอยู่ได้อย่างง่ายดายนัก แต่เราอาจสามารถอ้อมผ่านขีดจำกัดเหล่านี้ไปได้ จนบางครั้ง เราอาจลืมไปเลยว่าข้อจำกัดเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วน เพียงแต่ไม่มีผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรงอีกต่อไป

 

โดยอาศัยการสังเกต ตรึกตรองอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อทดลองหารูปแบบการจัดการใหม่ ๆ เราอาจก้าวอ้อมผ่านปัญหานั้นไปเฉย ๆ ราวไม่มีปัญหานั้นอยู่

 

 

เมื่อถ่ายรูปคนที่ผิวคล้ำ หรือผิวหน้าไม่เนียนเรียบ การถ่ายรูปโดยใช้แสงแดด อาจขับเน้นกว่าที่ตามองเห็น

 

แต่เมื่อใช้วิธีถ่ายภาพให้โอเวอร์ขึ้นไปครึ่งถึงหนึ่งสต็อป หรือถ่ายในที่ร่มที่มีแสงแดดสะท้อนจากพื้นขึ้นมา หรือสวมใส่ชุดสีคล้ำ และร่วมกับการล็อคโฟกัสส่วนมืดในภาพ แล้วเลื่อนมาถ่ายส่วนที่สว่าง ก็จะได้ภาพที่ผิวขาวขึ้น หน้าเนียนเรียบขึ้น บางครั้งอาจได้คุณภาพของภาพที่ดีกว่าการตกแต่งประทินโฉมเสียอีก



เมื่อถ่ายรูปโดยกล้องอัตโนมัติบางรุ่นในงานกลางคืน ภาพอาจไม่สามารถล็อคโฟกัสได้เพราะมืดไป เราอาจต้องหันไปล็อคโฟกัสที่ภาพอื่นแทนไปก่อน ที่แสงสว่างและขอบภาพคมชัดเหมาะสมแล้วหันกล้องที่ล็อคโฟกัสค้างอยู่ กลับไปถ่ายภาพที่ต้องการในภายหลัง



แต่หากขีดจำกัด ทั้งไม่สามารถเอาชนะ ทั้งไม่สามารถอ้อมผ่าน สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ คือการยอมแพ้ ได้แต่ต้องยอมรับแล้ว

 

แต่การอ้อมผ่านขีดจำกัดในชีวิต ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

 

คนที่สุขภาพร่างกายไม่ดี อาจเพียงแค่ยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น และใช้วิถีชีวิตที่สอดคล้องต้องกัน ไม่ใช้สุขภาพตนเองอย่างหักโหม ไม่แน่ว่ายังสามารถมีคุณภาพชีวิตทางร่างกายดียิ่งกว่าคนที่เคยเป็นนักกีฬาเสียอีก

หรือในกรณีของคนที่ขี้ลืม ไม่แน่ว่าผ่านวันเวลาที่สุขสมกว่าผู้ที่จดจำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง

คนขี้ลืม กับเรื่องราวที่เกิดความผิดพลาดสับสน กลับคิดตกว่าเกิดจากการที่ตนเองอาจจะลืมไป ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งหาผู้ผิดอื่นให้วุ่นวายอีก อาจทำให้ต้องเกิดระบบบันทึกที่ดี เพื่อเยียวยาอาการขี้หลงขี้ลืมของตนเอง ซึ่งอาจได้ผลดีไม่แพ้ความทรงจำของผู้ที่มีความจำดีกว่า

 

 

การอ้อมผ่านจุดอ่อนไม่ใช่การปฏิเสธจุดอ่อน

 

การปฏิเสธ คือการไม่ยอมรับรู้ถึงการดำรงอยู่

 

การอ้อมผ่าน คือการยอมรับถึงการดำรงอยู่ของจุดอ่อนนั้น แต่ไม่หักหาญเอาชนะ

 


การอ้อมผ่านขีดจำกัดทางจิตใจ ก็เป็นเช่นเดียวกัน หากตระหนักถึงจุดอ่อนทางจิตใจของตนเอง ก็ไม่จำเป็นกลายเป็นปมด้อย หรือกลบเกลื่อนให้จิตใจแข็งกระด้างด้วยการสร้างปมเด่นอีก

 

เพียงอ้อมผ่านไปด้วยการยอมรับความจริงว่านี่คือจุดอ่อนที่เรายังเอาชนะไม่ได้ แสวงหาความช่วยเหลือของผู้ไร้จุดอ่อนนั้น ผลกระทบย่อมลดระดับความรุนแรงลง จนอาจถึงขั้นไร้ความหมาย

 

 

ในมุมกลับ เมื่อเราเดินอ้อมหลีกจุดอ่อนของตัวเองได้ กลับไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเลือกใช้จุดแข็งที่มีอยู่ เพื่อเป็นฐานกระโจนสู่ห้วงความเป็นไปได้อันไม่จำกัดของชีวิต

 

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิต#ถ่ายภาพ
หมายเลขบันทึก: 185019เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาเมน...ได้รับทั้งเทคนิคการถ่ายภาพและแนวคิดสำหรับชีวิต Two in one : )

เทคนิคในการดำรงชีวิต น่าสนใจและนำไปปฏิบัติมากๆค่ะ

แต่หากขีดจำกัดที่ไม่สามารถเอาชนะ ทั้งไม่สามารถอ้อมผ่าน สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือการยอมแพ้ ได้แต่ยอมรับแล้ว

การอ้อมผ่านจุดอ่อนไม่ใช่การปฏิเสธจุดอ่อน

การปฏิเสธ คือการไม่ยอมรับรู้ถึงการดำรงอยู่

การอ้อมผ่าน คือการยอมรับถึงการดำรงอยู่ของจุดอ่อนนั้น แต่ไม่หักหาญเอาชนะ

***********************************************

เหมือนทำตัวเป็นน้ำ เปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะที่ใส่

เหมือน อุเบกขาในทางพุทธ

เหมือน ความยืดหยุ่น หลาย ๆ อย่างในชีวิต

ใช่มั้ยคะ

ขอบคุณข้อคิดดี ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท