เมลามีนเป็นพิษ - ปนเปื้อน หรือ ปนปลอม ?


ปนเปื้อน (contaminate) กับ ปนปลอม (adulterate) อาจต่างกันได้เป็นร้อยเท่า เป็นหมื่นเท่า หรือเป็นล้านเท่า

 

ภาพโครงสร้างทางเคมีของ melamine (ที่มา: Wikipedia)

โครงสร้างนี้ มีไนโตรเจนอยู่เยอะมาก ถึง 68 % หรือทุกเนื้อสาร 3 กรัม เป็นเนื้อไนโตรเจนถึง 2 กรัม

ในการวิเคราะห์โปรตีนโดยวิธีตรวจราคาไม่แพงนักเช่นวิธีตรวจแบบ Kjeldahl method (http://en.wikipedia.org/wiki/Kjeldahl_method)  ก็วัดปริมาณไนโตรเจน ไม่ใช่วัดโปรตีนโดยตรง เพราะวัดโปรตีนโดยตรง วัดยาก ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อนราคาแพง ๆ การวัดไนโตรเจนทำได้ง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่า

ดังนั้น มีคนหัวใส ใช้สารนี้ปลอมปนเข้าไปในสารอาหารประเภทโปรตีน เพราะหลอกวิธีตรวจทั่วไปได้ เพราะทำให้ปริมาณไนโตรเจนที่วัดได้ สูงขึ้นมาก ทำให้เวลาตรวจสอบคุณภาพอาหาร แล้วมีสารนี้ปนปลอมใส่เข้าไป คนตรวจโดยวิธี Kjeldahl อาจนึกว่า โห ! ครั้งนี้มีเนื้อโปรตีนเยอะจัง (โปรตีนเยอะเพราะตัวเองโดนตุ๋นซะเปื่อยนะสิ จะอะไรซะอีก เพราะจริง ๆ แล้วที่เขาเห็นคือ เห็นไนโตรเจนเยอะ)

จริงอยู่ว่าสารนี้ละลายน้ำดีมาก ดูเผิน ๆ น่าจะขับออกทางไตได้โดยไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือ มันโดนร่างกายเปลี่ยนโครงสร้างโดยปฎิกิริยา hydrolysis ได้ไม่ยาก

ร่างกายมีกลไกในการทำ hydrolysis อยู่แล้ว เป็นกระบวนการทางเคมีพื้นฐานของชีวิตประเภทหนึ่ง เมื่อมีสารที่เกิด hydrolysis ได้ ร่างกายก็ไม่ได้แยกแยะว่าเกิดแล้วจะน่ารักหรือเกิดแล้วจะน่าเกลียด ก็ทำหน้าที่ตามปรกติ คือจับมาเจี๋ยนโดยการ hydrolysis

เมื่อโดนร่างกาย hydrolysis แล้ว เกิดสารที่เรียกว่า cyanuric acid ซึ่งโครงสร้างคล้ายเดิมมาก และอยู่เดี่ยว ๆ ก็ละลายได้ดี (http://en.wikipedia.org/wiki/Cyanuric_acid) ดังภาพ

Cyanuric acid (ที่มา: Wikipedia)


แต่ปรากฎว่า ตัวสารตั้งต้น (เมลามีน) สามารถจับกับสารที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงไปในร่างกาย (cyanuric acid) เกิดเป็นโครงสร้างใหม่ที่ละลายแย่มาก แถมเป็นพิษสูง ก็จะไปตกตะกอนในไต (ดังที่มีรายงานข่าวว่า ไตวายกันเป็นเบือ) [ซึ่งหน้าที่หลักของไตคือกรองทิ้งสารที่ไม่ต้องการที่ละละลายน้ำได้]

ภาพmelamine จับกับ cyanuric acid เกิดสารประกอบเชิงซ้อนที่ไม่ละลายน้ำ

ที่มา:ภาพจาก Royal Society of Chemistry (http://www.rsc.org/ej/CS/2001/b008033k/b008033k-f6.gif)

 

ลองนึกถึงแผ่นกรองในระบบกรองน้ำ ถ้าป้อนน้ำใสเข้าไป กรองได้นานมาก แต่ป้อนน้ำสกปรกเข้าไป เดี๋ยวเดียวแผ่นกรองก็อุดตันเพราะตะกอน โมเลกุลยักษ์ของสารประกอบเชิงซ้อนนี้ ก็ทำตัวเหมือนตะกอนที่ว่า

คนที่โดนสารพิษตกตะกอนในไตนี่น่าสงสารมาก ชีวิตนี้ เหมือนจบสิ้นแล้ว เพราะต้องล้างไตกันตลอดชีวิต ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ถูก ๆ เพราะล้างไต ไม่เหมือนถอดแผ่นกรองในตัวกรองมาใส่ตระกร้าล้างน้ำ

ดังนั้น สาระหลักของเรื่องในกรณีนี้ อาจไม่ใช่ปัญหาเรื่องปนเปื้อน (contaminate) แต่เป็นปัญหาเรื่องปนปลอม (adulterant)

ปนเปื้อนคือการที่มีหลุด มีหลงมา จากสาเหตุที่ไม่ตั้งใจ มักมีน้อย แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องมีการควบคุมโดยมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ล้วนพยายามคุมให้มีน้อยที่สุด และมักมีมาตรฐานรองรับที่มักใช้การได้พอสมควรว่า ไม่ก่อปัญหาต่อสุขภาพเมื่อใช้ในสภาวะทั่วไป เช่น ภาชนะที่ใส่อาหารสำหรับเข้าไมโครเวฟ ก็จะผ่านการทดสอบมาตรฐานมาแล้วว่ามีเมลามีนหลุดออกมาได้ไม่มากถึงขั้นอันตราย (แต่ขนาดนั้น คนที่กลัวมะเร็ง ก็จะไม่กล้าใช้ภาชนะแนวนี้อยู่ดี - แต่ผมเองก็ใช้นะ เพียงแต่ใช้แบบกล้า ๆ กลัว ๆ คือเวลาจะนึ่งอาหารในไมโครเวฟ ผมใส่น้ำในถ้วยเมลามีน แล้วถ้วยอาหารแบบกระเบื้องเคลือบวางในน้ำอีกที แล้วปิดฝาครอบเมลามีนที่เจาะรู ก็จะเป็นเครื่องนึ่งที่อุ่นอาหารได้เร็วมาก โดยลดการที่อาหารสัมผัสกับพลาชนะพลาสติก ทั้งที่โดยเหตุและผลแล้ว มันก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าไหร่)

แต่ปนปลอม เป็นการใส่โดยตั้งใจ กลับแหกกฎเกณฑ์ ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยไม่แยแสถึงชีวิตคน สามารถสร้างผลกระทบที่รุนแรงกว่าอย่างมหาศาล

สมัยผมเด็ก ๆ กินข้าวเจอกรวดทราย ถ้ามีน้อย รู้ว่า เกิดจากการปนเปื้อนดินเปื้อนทราย กระสอบหนึ่ง อาจมีไม่กี่เม็ด แต่ถ้ามีมาก เกิดจากพ่อค้าหัวใส ใส่ดินใส่ทรายปนปลอม กระสอบหนึ่ง อาจปนได้เป็นกิโลกรัม (สมัยก่อนเป็นกระสอบร้อยกิโลกรัม)

ปนปลอม น่ากลัวกว่าปนเปื้อน เพราะใส่โดยเจตนา ไม่ใช่หลุดออกมาจากภาชนะ จึงรุนแรงกว่าได้นับล้าน ๆ เท่า

ผลกระทบ จึงไม่ต่างจากการที่ฆาตกรโรคจิต พยายามสังหารหมู่คนทั้งเมือง โดยโรยใส่ยาพิษให้คนกินในอาหาร

แต่ละปี ทั้งโลกผลิตเมลามีนไม่รู้กี่หมื่นตันไว้ใช้ในอุตสาหกรรมพื้นฐาน ใครจะไปรู้ว่ามีหลุดมาใช้เพื่อปลอมปนอาหารเท่าไหร่ ?

ประเด็นนี้ คงต้องขอเชิญอ่านต่อที่นี่

เนื้อหาที่เขียน ใช้ข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Melamine เป็นหลัก

หมายเลขบันทึก: 211913เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ที่มาเขียนเรื่องนี้ เป็นบันทึกเลย เพราะ คิดว่า มีคนอีกมากที่ ไม่ค่อยเข้าใจ เรื่อง การปนเปื้อน และการปนปลอม อีกทั้ง ไม่เข้าใจ ที่ไปที่มาของเรื่องจริง
ตามข่าว เขาใช้คำว่า  Adulteration  ค่ะ 
เรื่องนี้เป็นใหญ่มากนะคะ และตอนนี้ ก็สงสัยกันไปถึงขนมต่างๆที่มีนมผสมด้วยแล้ว
คนเอามาใส่นี่ แย่มากๆ นอกจากจะบาปกรรมแล้ว
เสียชื่อกันไปทั้งประเทศเลย
ตามข่าวที่เปิดเผยออกมา   คนขายนมวัวสด ใส่ สารเมลามีน เข้าไปเพื่อให้ดูว่ามีไนโตรเจนเยอะ คือโปรตีนมากนั่นเอง

น่าสงสารพวกเด็กๆที่กินนมแบบนี้เข้าไป
ต่อไปนี้
คงต้องเป็นนมแม่ จึงจะดีที่สุด พวกนมที่โฆษณา มีโน่นนี่มากๆ น่าสงสัยเสียแล้ว.
ตอนนี้ อย. ก็อายัดวัตถุดิบนม และเอาวัตถุดิบที่ผลิตโยเกิร์ต ไอสกรีม นมยูเอชที ส่งวิเคราะห์ด้วยค่ะ

แต่ ทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาส
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ฉวยจังหวะนี้ ออกมาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้นมแม่แก่ลูก
ในแถบเอเซีย แม่ให้นมแม่น้อยลง สังเกตจาก ยอดขายปลีกนมผงสูตรสำหรับทารก เพิ่มมากขึ้น 19 % โดยเฉพาะจีน ยอดขายเพิ่ม พุ่งถึง  29%
นอกจากเด็กๆแล้ว ก็ลาม ไปยังลูกสัตว์ด้วย ตามข่าวนี้ค่ะ...
SHANGHAI: A lion cub and two baby orangutans have developed kidney stones at a zoo near Shanghai, making them the latest victims of China’s tainted milk crisis

ชอบที่อาจารย์  ชี้ให้เห็น ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ปนเปื้อน กับ ปนปลอม จริง ๆ ก็มีเยอะมาก ว่าไปแล้ว ก็เหมือน "แมวไำม่อาบน้ำ" กับ "ย้อมแมวขาย" นั่นแหละครับ คือ ต่างกันที่สเกล และต่างกันที่เจตนา
เห็นภาพเลยค่ะ

สวัสดีครับ พี่ศศิ

  • ผมเคยรู้จักคนที่ไตวาย รู้ว่า ชีวิตของเขา ครอบครัวของเขา ต้องปวดร้าวขนาดไหน
  • คนที่ทำแบบนี้ได้ลง ก็เหมือนคนที่วางยาพิษสังหารหมู่เด็กทั้งเมือง เพราะไตวาย ก็เหมือนการประหารชีวิต
  • เรื่องจริงน่ากลัวกว่าข่าวครับ

ขอบคุณมากครับ

พอดีสนใจเรื่องนี้เลยค้นข้อมูลมาเรื่อยๆ จนเจอบทความนี้ ซึ่งอ่านแล้วยอมรับว่าเรียงลำดับชัดเจน ทำให้เข้าใจเรื่องราวดีมาก

จากที่นั่งอ่านมาหลายบทความ ทำให้แปลกใจว่า เรื่องเกี่ยวกับการปลอมปนเมลามีน เพื่อทำให้ดูว่ามีโปรตีนสูงนั้น เขาก็ตรวจพบและรู้ว่าจีนปลอมมาเป็นปีแล้ว ทำไมไม่มีการจัดการ ปล่อยให้ปัญหาคงอยู่และลุกลามมาจนขนาดนี้ได้ ไม่เข้าใจจริงๆ เดิมที่พบในอาหารสัตว์ มีสัตว์ตายมากมาย เห็นว่าเป็นสัตว์หรือไงจึงเฉย จนมีคนตายจึงจะเริ่มมาเอาจริงจัง เศร้าครับ

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ ตอนแรกอ่านในอนุทินของอาจารย์ที่เขียนไว้คร่าวๆ ก็เลยเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง T_T

สงสัยช่วงนี้ต้องเลิกดื่มนมไปซักพักแล้วล่ะครับ

สวัสดีครับ คณ สุรชัย

  • เรื่อง "เห็น แต่ไม่จัดการ" ปรกติ เป็นตัวชี้วัดคุณภาพระบบการเมือง และสังคม ว่ามีความเข้มแข็งแค่ไหน
  • เอาเข้าจริง ประเทศที่คุยว่าเข้มแข็ง ก็ไม่แน่ว่าจะเข้มแข็งจริงอย่างที่เราเห็นเท่าไหร่

 

สวัสดีครับ คุณ Mr.JoH

  • ผมคิดไปอีกทางครับ ว่าถ้าคนไม่ดื่มนมเลยเพราะกลัวเรื่องนี้ ต่อไป อุตสาหกรรมนมรายย่อยในประเทศจะลำบากจนล้มหายตายจาก กลายเป็นเปิดช่องให้นมจากต่างประเทศยึดพื้นที่ แล้วปัญหาเรื่องความเสี่ยงทำนองนี้กลับไม่ลดลง
  • ตอนนี้ ผมว่า นมไม่ใช่สารอาหารที่น่ากลัว เพราะคนที่เกี่ยวข้องเริ่มรู้ตัว แต่ไปเกรงว่าจะไปโผล่เอาอาหารประเภทอื่นที่คนคิดไปไม่ถึง (เป็นการคาดการณ์สะเปะสะปะ ไม่ได้อิงจากข้อมูล)
  • ส่วนเรื่องอ่านแล้วเข้าใจไปอีกทาง ผมก็สงสัยอยู่ตงิด ๆ ตั้งแต่แรก  เพียงแต่คิดว่า พอขยายความ คงแก้ไปได้เอง

อาจารย์คะ เรื่องนม ถ้าสำหรับเด็ก ตามประสบการณ์ัตัวเองนะคะ
1.พยายามให้เด็กกินนมแม่
2.ควรกินนมถั่วเหลือง หรือ นมที่ไม่มีสารโน่นนี่ แบบที่โฆษณา คือเป็นนมธรรมดา ตอนนี้ให้หลานกินนมธรรมดาเช่น จิตลดาอยู่ค่ะ

ตอนนี้ ลามไปใน หลายๆประเnทศอีก

Indonesia has confirmed that the toxin melamine has been found in 12 food items made in China recently pulled from shelves
ผลิตภัณฑ์ทั้ง 12 ชนิด แบ่งเป็นสินค้าผิดกฎหมาย 6 ชนิด และสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายอีก 6 ชนิด อาทิ โอรีโอ สติ๊ก เวเฟอร์, ช็อกโกแลตนมไส้ถั่วเอ็มแอนด์เอ็มส์, สนิกเกอร์ส บิสกิต และลูกอมรสนมตรากระต่ายขาว เป็นต้น

 


 

สว้สดีค่ะ

น่ากลัวนะคะ ปนเปื้อน (contaminate) ก็ว่าแย่แล้ว นี่ยังจะ...ปนปลอม (adulterant)

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ค่ะ

เพิ่งมีเวลามาอ่าน

เรื่องจริงคงน่ากลัวกว่าข่าวจริง ๆ

ขอบคุณอาจารย์ที่ค้นคว้าและเขียนบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์อธิบายได้เข้าใจง่ายจริงๆเลยคะ

อธิบายได้ชัดเจนตรงจุดประสงค์ที่ต้องการค้น

ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความรู้

ช่วยได้มากๆเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท