ฮาร์ดแวร์สำหรับการลด digital divide


เรื่องเริ่มตอนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผม ออกอาการว่าใกล้กลับบ้านเก่า

ผมใช้ระบบปฎิบัติการที่เก่ากว่าที่คนทั่วไปจะคาดถึง ทำให้เดือดร้อนในการเตรียมการย้ายข้อมูลหนีไปเครื่องใหม่ที่กำลังหาซื้อเมนบอร์ดรุ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ เพราะมีงานเก่าที่ยังย้ายไปหาระบบอื่นลำบาก จนถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่า ต้องทิ้งระบบเก่าให้ได้แบบหักดิบ โดยตั้งเป้าว่า ระบบต้องปลอดไวรัส เพราะหลายปีที่ผ่าน ใช้ชีวิตอย่างสงบ ไม่ต้องรบกับไวรัส เพราะระบบไม่อินเทรนด์ ไวรัสโปรแกรมเมอร์ไม่ปราถนาจะตามมา support ย้อนยุค ช่างสุขใจยิ่งนัก

ระบบที่ผมคิดถึง คือ Linux ซึ่งลือเลื่องว่า ฟรี และปลอดไวรัสรบกวน ที่หลายปีมานี้ ผมหนีมาตลอด เพราะไม่อยากลงทุนเรียนรู้

แต่เมื่อเลี่ยงไม่พ้น ผมก็เรียนรู้อย่างเข้มข้น ครึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมลงระบบ Linux Ubuntu 8.10 นับสิบรอบ เริ่มจากความรู้เป็นศูนย์ ติดขัดตรงไหนก็ใช้กูเกิลค้นไปทีละด่าน ลงระบบหลายรอบ ปรับโน่นแต่งนี่ไปเรื่อย ๆ มีต้องโทรปรึกษาเทพอูบันตูอยู่สองสามครั้งสำหรับด่านที่หาไม่เจอจริง ๆ

ผมลงระบบในฮาร์ดดิสก์แบบระบบใส่ลิ้นชัก สามารถถอดไปลองกับเครื่องอื่นในแวดวงที่เกี่ยวข้องได้หลายเครื่อง ที่สเป็คต่างกันมาก ทำให้ได้เห็นสมรรถนะที่คาดไม่ถึงของ Ubuntu คือ ลงระบบปฎิบัติการในเครื่องหนึ่ง ถอดฮาร์ดดิสก์ไปใช้กับเครื่องไหนก็ได้ ระบบฉลาดพอที่จะปรับตัวเห็นฮาร์ดแวร์และรู้จัก ระบบมัลติมีเดียก็เช่นกัน ผมไม่ต้องปวดหัวมางมหาไดร์เวอร์มาลงซ้ำอีก ระบบจัดการให้หมด จนลืมไปเลยว่าโลกนี้มีฮาร์ดแวร์ที่หลากหลายไม่เหมือนกัน

แต่ไม่ใช่ว่าจะลงตัว 100 % ในทุกระบบ เพราะลองไปเสียบใช้กับเครื่อง Notebook ปรากฎว่า บางรุ่นก็ใช้ไม่ได้ ออกอาการเอ๋อให้เห็นกันตั้งแต่ตอน login เข้าระบบครั้งแรกเลย

ใครจะซื้อ notebook ก็ต้องอย่าลืม ให้คนขายรับประกันด้วยว่า รุ่นที่ซื้อ เกิดอยากลง ubuntu ขึ้นมา ต้องลงได้

แต่ภาพใหญ่ ผมถือว่าสอบผ่าน เพราะตั้งแต่เคยใช้ระบบปฎิบัติการแบบกราฟฟิกมา ก็มีครั้งนี้ ที่ใช้ต่างเครื่องได้แบบราบรื่นเนียน ๆ แทบไม่รับรู้ว่าเปลี่ยนฮาร์ดแวร์แล้ว

ลงในฮาร์ดดิสก์แล้วสำเร็จ ก็สงสัยว่า ลงใน USB drive จะเป็นยังไง บูทจากนี่ได้มั้ย

ไปซื้อ USB drive แบบ 8 GB มาลอง พบว่า ระบบใช้เนื้อที่ไปราว 5-7 GB เป็นอย่างมาก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ถ้าซื้อแบบ 16 GB มาใช้นี่ จะลงตัวมาก เพราะจะเหลือที่ว่างอีกราว 10 GB ไว้ใช้งานทั่วไปได้สบาย

ทำใน USB drive ก็ลงตัวเหมือนกันครับ เพียงแต่การทำงานจะช้ากว่าในฮาร์ดดิสก์มาก ซึ่งไม่แปลกใจนัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าเขียนอ่านใน USB drive ช้ากว่า

ตอนนี้ก็เลยปวดหัวว่าจะโคลนนิงจาก USB 8 GB ไป USB 16 GB ได้ยังไงให้ราบรื่น เพราะดู ๆ แล้ว วิธีพอมี แต่ทำตามยากชะมัด กลัวพลาด เพราะกว่าจะจูนให้ได้โปรแกรมใช้งานตรงความต้องการของตัวเองนี่ ก็เสียเวลาหลายวันโขอยู่ (ช้าตอนโหลด update และช็อปปิ้งโปรแกรมใช้งานที่คิดว่าจำเป็น เพราะมีมากจนตาลาย)

มีรุ่นพี่ที่ศูนย์คอมพ์ของมหาวิทยาลัยทำก่อนหน้านี้ แต่ผมเพิ่งมาเห็น ทั้งทำ USB boot หรือลอง server แบบไร้ hard diskใน SD card สร้าง FTP server ซึ่งได้ข้อสรุปคล้ายกัน คือ "มันเวิร์ก" และประหยัดพลังงานอีกต่างหาก

การทำงานของ Ubuntu ใช้หน่วยความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ผลคือ ถ้าหน่วยความจำของเครื่องมาก เครื่องก็จะทำงานได้ฉิว

ผมก็สงสัยต่อว่า เอ ถ้ายังงั้น เวลาซื้อเครื่องใหม่มา ก็น่าจะลงหน่วยความจำเครื่องให้เยอะ ๆ ไปเลย แล้วใช้ USB drive เป็นตัว boot อาจได้ความเร็วที่ไม่แพ้ฮาร์ดดิสก์ที่หน่วยความจำไม่มาก

ร้านขายคอมพิวเตอร์เจ้าประจำเขาถามว่า แน่ใจหรือที่จะใส่ RAM เยอะ เพราะกรณีของ XP ก็รู้ว่า มองเห็นแค่ 4 GB ใส่เกินก็เสียของ

ลองค้นดู เออ จริงแฮะ Ubuntu ก็มีเพดานใช้หน่วยความจำที่ 4 GB เหมือนกัน

แต่ค้นต่อ เพราะเชื่อมั่นลึก ๆ ว่าอาจมีของดีซ่อนอยู่

เจอจริงด้วย คือต้องลง kernel อื่นที่สามารถจัดการ PAE ให้เกิน 4 GB (อาจเป็นการลงรุ่น 64 bit แท้ หรือรุ่น 32 bit ที่เลียนแบบ 64 bit ได้) ซึ่งหมายความว่า ลง 8 หรือ 16 GB ก็ได้ เพียงแต่ต้องลงโปรแกรมเสริมทีหลัง

ใช้ 64 bit มีข้อเสียคือ การอ้างอิงที่อยู่ในหน่วยความจำ ต้องใช้เนื้อที่มากขึ้นเท่าตัว ซึ่งหมายความว่า ถ้ามี 8 GB ก็อาจไม่คุ้มที่จะลง

ที่ไม่คุ้มเพราะถ้าใช้รุ่น 32-bit มี 4 GB ก็เทียบเท่า 64 bit มี 8 GB เพราะเหมือนกับคนตัวโตขึ้นเท่าตัว ขยายห้องขึ้นเท่าตัว ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

แต่ถ้ามีหน่วยความจำเกินจากนั้น เช่น 16 GB หรือ 32 GB ก็เป็นอีกเรื่อง

พอลองศึกษาดูรายละเอียด จึงได้รู้ว่า Ubuntu มีดีซ่อนอยู่เยอะ แต่เสียที่ซ่อนแบบต้องสั่งเรียกหาเป็นข้อความ ไม่ได้ทำระบบกราฟฟิกให้คลิกทุกรายการ ทำให้ยังใช้ยาก ทำให้ดูเผิน ๆ ยังเป็นรอง XP อีกก้าวใหญ่ ทั้งที่ของดีที่ซ่อนอยู่ คุณภาพไม่ได้ด้อยกว่า XP เลย เรียกว่า คุณภาพคับแก้ว 

ถ้าดูความเป็นมิตรกับผู้ใช้ Ubuntu ตอนนี้ ก็น่าจะเทียบได้กับ Windows 3.11 ที่การตั้งค่าหลายอย่าง ต้องไปสั่งระดับ DOS prompt

นั่นหมายความว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้า หาก Linux สามารถก้าวกระโดดเรื่อง usability ที่แต่เดิมเคยเป็นระบบ programmer-centered มาเป็น user-centered ให้ใกล้เคียงกับ WinME หรือ XP ความสามารถที่เคยซ่อนเร้น ก็จะเผยโฉมออก

ซึ่งหากวันนั้นมาถึง โรงเรียนไหนไม่สอน Ubuntu อาจเป็นตัวชี้วัดว่าคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ยังล้าหลังมาก

ผมลองคุยกับอาจารย์ธวัชชัย (UsableLabs) อาจารย์บอกว่า แนวคิดเรื่องใช้ฮาร์ดแวร์แบบลงทุนน้อย แต่ได้ผลดี จะเป็นการลดช่องว่างความรู้ทางดิจิทัล (ลด digital divide) ของสังคม ที่อาจารย์ใฝ่ฝันจะเห็นมานานแล้ว และอยากทำ แต่หันไม่ทัน เพราะตอนนี้งานเต็มมือมาก พร้อมชวนให้ผมมาเป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจทำเรื่องนี้ แต่ผมได้แต่หัวเราะแหะ ๆ เพราะขนาดทำใช้เอง ก็แทบแย่

ลด Digital Divide นี่ ผมอยากแปลว่า ลดช่องว่างความรู้ IT แบบหารสิบ

แปลไม่เชิงว่าตรงภาษาหรอก แต่ผมว่าความหมายยังครบถ้วน

ที่บอกว่าไม่เชิง ก็คือ Digit นี่ คือนิ้วทั้งสิบ ความหมายคือ ฐาน 10

Divide นี่แปลว่าหารก็ได้ ช่องว่างก็ได้

แปลว่า ช่องว่างหารสิบ ผมก็ว่า ความหมายไม่เสีย แม้จะเป็นการแปลที่ไม่ตรง

ลองนึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนในอีก 4 ปีข้างหน้านะครับ ใส่หน่วยความจำมาตรฐานตอนนั้น 32 GB ถือว่า กำลังดี

USB drive มาตรฐานหลักพันบาทต้น ๆ คงอยู่ที่ 256 GB และขนาดคงจะเล็กเท่าหัวแม่มือ

ถ้าใช้เครื่องสาธารณะ ที่ไม่ต้องมีฮาร์ดดิสก์ ทำเป็นตู้เข็น ล็อกเก็บไว้ให้มิดชิดกันขโมย โผล่แต่หน้าจอและ keyboard มาให้ใช้งาน ก็จะทำให้ใช้งานได้สะดวก

ถ้าต่อ internet ไร้สายด้วย จะทำให้ตู้ที่ว่า สามารถเข็นไปมาเหมือนโต๊ะเก้าอี้ได้ ย้ายห้อง ย้ายที่ได้ เข็นไปกองรวมกันห้องไหน ห้องนั้นก็กลายเป็น Virtual Computer Center หรือ ศูนย์คอมพ์ฯเสมือนไป

แล้วนักเรียนใช้ boot จาก USB drive ที่แต่ละคนพกมาเอง มาบูต มาทำงานจาก USB ส่วนตัว

ระบบปฎิบัติการอูบันตูถึงตอนนั้น อาจกินที่สัก 10 GB 

เปิดเครื่องขึ้น ระบบโหลดทุกอย่างบน USB drive ขึ้นไปเก็บในหน่วยความจำ (ตอนนี้เข้าใจว่ายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่า เทพอูบันตูน่าจะจัดการได้ไม่ยาก) ทำงานด้วยความเร็วแบบสายฟ้าแลบในหน่วยความจำล้วน ๆ (โดยใช้ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ทันสมัยนัก) ถ้าเกี่ยวข้องกับแฟ้มใน USB ระบบก็จะถ่ายโอนมาเก็บสำรองคืนใน USB เป็นระยะ

สิ่งที่โรงเรียนต้องทำคือ ใส่ Ubuntu ไว้ใน USB drive แล้วโคลนนิงแจกหรือขายราคาทุนให้นักเรียนใช้ส่วนตัว โดยนักเรียนอาจมี USB drive สำรองอื่นอีกสักลูกไว้ขยับขยายแหล่งเก็บเพื่อสำรองอีกชั้นหนึ่ง เผื่อตัวที่ใช้ประจำหล่นหายหรือตกน้ำป๋อมแป๋ม

หรือไปไกลกว่านั้นคือ Boot ไร้ฮาร์ดดิสก์จากระบบ server กลาง แต่แบบนี้ ข้อเสียคือ คนมาใช้ปรับแต่งระบบเองไม่ได้ เหมาะจะเป็นการบริการตามสถานที่สาธารณะเสียมากกว่า คือแทนที่จะเป็น hotspot แจกสัญญาณไร้สาย ก็เป็น hotspot แจกตู้เสียบใช้คอมพิวเตอร์ที่ฮาร์ดดิสก์ อยู่ใน USB ของผู้ใช้

สิ่งที่น่าทึ่งของระบบนี้คือ ไม่ต้องมีผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องตามล้างตามเช็ดไวรัส หรือซ่อมบำรุงระบบซอฟท์แวร์ แค่เช็คว่าฮาร์ดแวร์ยังใช้งานได้ดีเป็นปรกติเท่านั้นก็พอ

 

หมายเลขบันทึก: 252062เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แนวคิดเรื่องการนำไปใช้ในโรงเรียนนี่ดีนะคะ น่าสนใจมาก แต่จะทำได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ วันก่อนพึ่งอ่านเจอในบล็อกว่ามีการจัดอบรมครูให้ใช้ microsoft word อ่านแล้วก็คิดว่าอีกนานกว่าระบบการศึกษาคอมบ้านเราจะพร้อม แม้แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาเอง ส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้จัก open source ด้วยซ้ำ

P Little Jazz

 

  • เดี๋ยวนี้ เด็กเก่มคอมพ์มีเยอะครับ
  • ขอเพียงระบบโรงเรียนไม่ไปปิดกั้นเสียอย่าง ผมเชื่อว่า จะไปได้ไกลมาก

เป็นโครงการ OHPC ครับ One Handy-Drive Per Child อาจจะประสบความสำเร็จกว่า One Laptop Per Child นะครับ :-)

อาจารย์ ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • โครงการ OHPC นี้ ผมคิด ๆ ดูแล้ว ผมเชื่อว่า สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติในหน่วยงานบางแห่ง และคงมีหลายคนทำใช้ส่วนตัว เพราะมีโอกาสประหยัดได้มาก ทั้งซอฟท์แวร์(เพราะฟรี) และฮาร์ดแวร์ (ตัดทิ้งไปได้หลายเรื่อง คือ ไม่ต้องใส่ฮาร์ดดิสก์ ทำให้ลดพลังงาน ทำให้เครื่องเล็กลง กินไฟน้อยลง และลดต้นทุนการจัดการซอฟท์แวร์ระบบที่แต่เดิมมีมาก แต่มองไม่เห็น)
  • แต่ถ้าใช้กระบวนการทางสังคมบางอย่าง มาช่วยจุดพลุ อาจเร่งเวลาให้เกิดได้เร็วขึ้นอีก 2-3 ปี และแพร่เป็นวงกว้างได้เร็วกว่า
  • แต่ผมไม่มีไอเดียเรื่องจัดการทำนองนี้ เพียงแต่มองเห็นโอกาสในความเป็นไปได้

 

อาจารย์ ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • เรื่อง OHPC นี่ ยิ่งตรองดู ผมยิ่งเชื่อว่า เป็นไปได้
  • เหตุผลหลักคือ ต้นทุน และ การจัดการ
  • ต้นทุนต่ำ นี่ชัด
  • การจัดการนี่ก็ใช้ เพราะต้องการการจัดการน้อยเกือบเป็นศูนย์
  • สิ่งที่ขาด คือความรู้
  • ความรู้เรื่องฮาร์ดแวร์ เป็นเรื่องรอง พลอยไปกับเครื่องว่าง ๆ ที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะเครื่องบริจาค เครื่องร้าย ๆ ที่ฮาร์ดดิสก์พัง
  • แต่ความรู้เรื่องซอฟท์แวร์ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า
  • โดยเฉพาะ usability...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท