ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

กลัวสื่อสารกับลูกไม่เป็น


อย่ามาทำตัวเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนกลางที่บ้าน .. จำไว้

แนะ8 วิธีแก้เมื่อพ่อแม่สื่อสารกับลูกไม่เป็น

เมื่อลูกยังเล็ก หลายครอบครัวอาจมีเสียงบ่นแกมเอ็นดูว่าเด็ก ๆ นั้นช่างพูดเป็นต่อยหอย แต่ละวันมีเสียงเด็กตัวเล็ก ๆ เจื้อยแจ้วเรียกรอยยิ้มจากผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่หยุด แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเรื่อย ๆ เสียงที่เคยพูดจ้อกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ก็เริ่มขาดหาย กลายเป็นความเงียบเข้ามาแทนที่ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ อาจมีพ่อแม่พี่ป้าน้าอาหลายคน เริ่มรู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไป

เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้วจะมีโลกของ ตัวเอง และอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ด้วยซ้ำที่จะขอเป็นส่วนหนึ่งในโลกของลูกวัย รุ่นเหล่านั้น แต่การพยายาม "ต่อให้ติด" หรือสร้างลิงค์เชื่อมโยงพ่อแม่ลูกเข้าด้วยกัน ให้เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของกันและกัน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
       
      
คำแนะนำในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูก ให้สามารถเปิดใจถึงกันได้ ไม่ว่าจะเข้าสู่วัยใดก็ตามมาฝากกัน       


       
เป็นตู้เอทีเอ็ม"เวลา"
       
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อใครต้องการเงินสดก็สามารถกดได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ตู้เอทีเอ็ม พ่อแม่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้ลูก ๆ เข้าหา ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการ "เบิก" เวลาอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่ลูกเห็นว่าพ่อแม่กำลังเครียด หรือมีภาระงานมากเกินกว่าที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุย เขาก็จะถอยห่างออกจากคุณไป แต่เมื่อใดที่พ่อแม่อยู่ในอารมณ์สบาย ๆ และมีบรรยากาศเปิดใจพร้อมจะรับฟัง เด็กก็จะหาโอกาสเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ เพื่อพูดคุยกับพ่อแม่ของพวกเขาเช่นกัน

ถ้าเกิดพ่อแม่ ไม่ให้เวลาซะตั้งแต่ตอนนี้ คอยดูเหอะ พอลูกโต อย่าขอร้องให้กลับบ้าน รับรอง ลูกจะมีแต่อยากวิ่งหนี มีปัญหาก็ไม่ยอมบอก ตอนนี้คุยกับเค้าได้ ต้องรีบทำ อ้อ หรือหากหาเวลาไม่ค่อยได้ พยายามหาเวลาคุยกับเค้าแบบเป็นประจำ เช่น ทุกสองทุ่มครึ่ง(วันจันทร์ พุธ ศุกร์) จะมาดูหนังด้วยที่บ้าน เป็นต้น คือถ้าหาเวลาไม่ได้ ก็พยายามให้มีวันของครอบครัวจริงๆ 

เดี๋ยววันข้างหน้า เวลาพ่อแม่อยากคุยด้วย ลูกมันจะสวนกลับมา แบบว่า "ตอนหนู/ผมอยากคุย พ่อแม่ ไม่เคยสนใจ แล้วทีนี้จะมาเอาอะไรกับหนู/ผม จะคุยอะไรตอนนี้ ไม่ทันแล้ว"  


       
       
ไม่ซีเรียสมากเกินไป
       
พ่อแม่บางคนใช้ความพยายามผิดวิธีที่จะให้ลูก ๆ เปิดปากพูดคุยกับตัวเอง (จะง้างปากวัยรุ่นแบบชั้น ฝันไปเถอะอีพ่อ อีแม่) ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามที่กดดันเด็กจนเกินไป (อย่ามาทำตัวเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนกลางที่บ้าน .. จำไว้) จนทำให้บรรยากาศดูอึมครึม ซึ่งเด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง) ไม่ชอบบรรยากาศแบบนั้นแน่นอน และจะดีกว่าหากพยายามทำให้ทุกอย่างผ่อนคลายลง หรือถ้าทำไม่ได้ ก็ถอยห่างออกมาก่อน

 

ตอนเด็กๆ ผมก็เคยโดนนะ ต้องมานั่งฟังเพลงที่ลุงป้าน้าอาพากันร้อง โอ้ว นี่มันนรกชัดๆ ผมเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กเลยครับ แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ และพบว่า เดี๋ยวนี้ร้องเพลงพวกนั้นได้ดี ฮ่าๆๆ เอาน่ะ กิจกรรมจะทำอะไรก็พูดคุยกันหน่อยละกัน ถามความเห็นกันซักนิด แล้วก็สร้างข้อตกลงร่วมกันในครอบครัว ช่วยได้เยอะ แน่นอน

       
       
ทำกิจกรรมร่วมกัน
       
การทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว โดยเฉพาะกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้ลูก ๆ เปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่มากขึ้น กิจกรรมที่พ่อแม่ชอบ อาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกชอบ เข้าใจมั้ย ใครที่มีลูกๆน่ะครับ /


       ถามคำถามปลายเปิด
       
ลักษณะการถามคำถามปลายเปิด เช่น ทำไม, อย่างไร, เพราะเหตุใด จะช่วยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นของตนเองออกมา และหากพ่อแม่ถามต่อ ก็จะกลายเป็นการสนทนาที่ยาวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคงดีกว่าสำหรับพ่อแม่ที่ลูกจะตอบคำถามแค่ "ใช่ครับ-ไม่ใช่ครับ" จริงไหม

แม่ - ลูกมีแฟนแล้ว ใช่มั๊ย

ลูก - ไม่ใช่ (จะรู้ไปทำไมวะแม่)

แม่ - บอกความจริงมาเดี๋ยวนี้นะ

ลูก - อ้าว หนูก็บอกความจริงแล้วนิคะ (บอกความจริงแล้วทำไมไม่เชื่อกันบ้าง)

แม่ - ชั้นไม่เชื่อแกหรอก ยายแต๋ว ข้างบ้านบอกว่าเห็นแกไปกับผู้ชาย

ลูก - ไม่ใช่แฟนหนู (ทำไมแม่ชอบตัดสินคนแบบนี้นะ)

แม่ - ยังจะมาต่อปากต่อคำอีก

ลูก - หนูไม่มีจริงๆ (ทำไมแม่ไม่เชื่อเราวะ)

แม่ - เงียบ...

ลูก - เงียบ ...

ความสัมพันธ์ย่ำแย่ มาจนถึงปัจจุบัน ลูกมีแฟนไม่เคยคิดจะบอกแม่

ลูกแอบมีกิ๊ก ไม่เคยบอกแม่

ลูกมี เซ็กส์ ไม่เคยบอกแม่ แล้วไปหาคนอื่นๆ ที่รับฟังเค้าแทน (ฮ่าๆๆๆ)

 ชวนคุยในรถ
       
การชวนลูกคุยขณะนั่งรถก็เป็นอีกหนทางที่ดี โดยใช้ร่วมกับข้ออื่น ๆ เพราะเด็กจะไม่สามารถหนีออกจากรถเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยครั้งนี้ได้ และไม่ควรให้เด็กจดจ่ออยู่กับเกม หรือโทรศัพท์มือถือจนไม่สนใจการชวนคุยของพ่อแม่ในครั้งนี้ไปเสีย

ย้อนไปคิดข้อข้างบนประกอบ คุยด้วยหัวข้อที่เด็กน่าจะเล่าให้เราฟังได้ เช่น เป็นไงบ้างลูก วันนี้เตรียมตัวไปสอบดีรึยัง เมื่อคืนดูหนังสนุกมั้ย

แล้วค่อยๆ เข้าประเด็น ... ด้วยคำถามปลายเปิด เข้าใจ๋...
       
       
อย่าด่วนสรุป
       
การด่วนตัดสินในสิ่งที่ลูกทำ หรือจัดอบรมชุดใหญ่เมื่อทราบว่าลูกทำสิ่งที่คุณคิดว่า "ไม่เหมาะสม" จะทำให้เด็กรู้สึกว่าการคุยกับพ่อแม่เป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อหน่าย ตรงกันข้าม หากพ่อแม่พยายามฟังในสิ่งที่ลูกอยากบอก สังเกตในสิ่งที่ลูกอยากเป็น จะทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่สนใจในตัวเขาจริง ๆ
       
       
สร้างสัมพันธภาพแบบเพื่อน
       
สำหรับเด็กวัยพรีทีน หรือวัยที่เตรียมพร้อมจะก้าวสู่การเป็นวัยรุ่น การทำตัวเป็นเพื่อน หรือสัมพันธภาพแบบเพื่อนเป็นสิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจไม่แพ้การบทบาท การเป็นพ่อแม่ เด็ก ๆ อยากได้พ่อแม่ที่คุยได้เหมือนคุยกับเพื่อน แต่แน่นอนว่า การเล่นบทเพื่อนในครั้งนี้ไม่ใช่การปล่อยตัวเองให้กลายเป็นเพื่อนลูกไปจริง ๆ เพราะพ่อแม่ยังต้องคงไว้ซึ่งหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับลูก ๆ ต่อไป แต่สำหรับลูก ๆ วัยนี้แล้ว ช่วงเวลาแห่งการอบรม น้อยได้เท่าไรยิ่งดี 

คิดถึงตัวเองไว้เยอะๆ สมัยปู่ เคยสอนพ่อแบบนี้ ยายเคยสอนแบบนี้ เลิกคิดได้แล้ว 

ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ไปดูหนังฟังเพลงกับลูกบ้าง 

ชอปปิ้งด้วยกันบ้าง พูดคุยกันเรื่องความคิดของเค้าบ้าง 

เป็นเพื่อนเค้า... ให้ได้ ทำตัวเราเองน่ะแหละ ให้วัยรุ่น 

(แม่แฟนผม ย้อมสีผม ตัดผมแนว ใส่รองเท้าผ้าใบ ไปชอปกับลูก - อันนี้พยายามนิดนึง แต่ก็พอได้นะ) 

สมัยนี้ ห้างเยอะกว่าเมื่อสิบห้า ยี่สิบปีก่อน มือถือมีเกือบทุกคน คอมพ์มีเกือบทุกบ้าน 

ดังนั้น พ่อแม่เลิกทำตัวแก่ แล้วหันมาเป็นเพื่อนลูกๆ กันเถิดดดดดดดดดดดดด 
       
       

ทวนสิ่งที่ลูกพูดอีกครั้งหนึ่ง
       
การกล่าวทวนสิ่งที่ลูกพูดไปแล้วอีกครั้ง ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจฟังสิ่งที่เขาพูดจริง ๆ และทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจในสิ่งที่เขากำลังบอกเล่าให้ฟัง
       
       
สำหรับพ่อแม่ที่ประสบปัญหาด้านการสื่อสารกับลูก ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความไว้วางใจ เชื่อใจ หรืออยากจะกลับมาพูดคุยกับพ่อแม่เหมือนเดิม แต่ถ้าหากพ่อแม่พยายามเปลี่ยนแปลงอย่างอดทน ทุ่มเทและเต็มใจ กำแพงที่เคยกางกั้นความสัมพันธ์ในครอบครัวเอาไว้ก็มีวันพังทลายได้เช่นกัน

 

       
      

 

หมายเลขบันทึก: 273556เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ที่บ้านชอบเปิดประเด็นพูดตอนทานข้าวเย็น
  • เรื่องที่เปิดประเด็นบ่อยๆคือ การเมือง
  • เรื่องร้อนๆของประเทศ
  • ให้ลูกแสดงความคิดเห็น
  • ให้ลูกฟังเสียงคัดง้างความคิดของคนอื่นๆ
  • เห็นบ้างเถียงบ้าง เกิดมุมมองใหม่ๆคะ

คุณ ตั้งบรรเจิดสุข

เปิดประเด็นการเมืองบ่อยๆ ดีครับ

อย่าลืมถามไถ่ความรู้สึกของลูกๆด้วยนะครับ

การเถียงเพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ เป็นสิ่งดี

แหะๆ ส่วนตัวผมการเมืองไม่ถนัดครับ

พูดกับพ่อทีไร ไม่เข้าใจกันทู๊กที สรุป ก็เลยชวนกันไปเล่นเครื่องบินเล็กดีกว่า สนุกกว่ากันเยอะ

นักสังคมสงเคราะห์ตัวน้อยเองค่ะ

เป็นเทคนิคที่ดีมากๆเลยค่ะ หลายๆข้อ นักสังคมตัวน้อยก็เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

แล้วก็การทำงานด้วยค่ะ ข้อที่ชอบใช้มากที่สุด คือ การฟังค่ะ ฟังอย่างเข้าใจไม่ใช่แค่ได้ยิน ถ้าพ่อแม่รับฟัง ทำความเข้าใจในเหตุผลของลูก ไม่ตำหนิเวลาลูกผิดพลาดแต่ สอนให้เรียนรู้ความผิดพลาดแทน ลูกก็จะไว้ใจที่จะบอกทุกสิ่งทุกอย่างให้รู้ เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่ลูกไว้ใจมากที่สุดก็คือพ่อแม่ค่ะ

ดีใจที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่ตาเหลิมค่ะ จะเข้ามาติดตามผลงานเรื่อยๆค่ะ

เป็นวิธีการที่ดีมากค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท