สอนงานผ่านบล็อก : 29. สร้างฝันร่วมกัน (อย่าฝันคนเดียว)


คือทุกคนต้องมีจุดมุ่งหมาย มีฝันเดียวกัน

อ่านตอนที่แล้ว สอนงานผ่านบล็อก : 28. คิดให้เชื่อมโยง

 

การทำงานในยุคปัจจุบัน  คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้ยินได้ฟังคำแปลกๆ ใหม่ๆ   ที่คนนิยมพูดและใช้กันโดยทั่วไป   หลายคนมักจะตำหนิว่าเห่อตามหลักการทำงานที่เป็นของนอก   เป็นแฟชั่น   แต่ก็คงไม่ว่ากันหากได้วิเคราะห์ดูแล้วว่ามีความเหมาะสม และสามารถปรับใช้ได้กับงานของเรา  ทำให้งานของเราดีขึ้น  คิดเสียว่าเป็นการปรับตัวและพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงก็แล้วกันนะครับ

 

การสร้างฝันร่วมกัน หรือเราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่ามีวิสัยทัศน์ร่วมกัน  โดยรวมของคำๆ นี้ ตามความเข้าใจของผม  ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้   ก็คือการที่เราจะทำงานอะไร  เราจะต้องมีเป้าหมาย  มีความมุ่งหวังว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  คือทุกคนต้องมีจุดมุ่งหมาย  มีฝันเดียวกัน  ซึ่งก็จะตรงกันข้ามกับการที่ต่างคนต่างมีจุดมุ่งหมาย   หรือต่างคนก็ต่างมีฝันของตนเองที่ต่างกันไป  งาน/หน่วยงานจึงไม่มีเข็มมุ่งอันเดียวกัน  ต่างคนต่างทำ

 

ทำไมผมถึงนำประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนกับนักส่งเสริม-พัฒนา   ก็เป็นเพราะว่าจากประสบการณ์การทำงาน   มักจะพบสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการที่ทุกคนมีความฝันร่วมกัน   คือพบกับการที่คน  ไม่มีฝันร่วมกัน บ่อยมากนั่นเอง  และมักจะพบตรงจุดที่สำคัญมากๆ   ในสองจุดเสมอๆ ก็คือ

 

        จุดที่หนึ่ง ภายในองค์กรของคนทำงาน  ที่ต้นน้ำของการทำงาน  ที่จะก่อให้เกิดการทำงานในเชิงของการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้-องค์กรแห่งการพัฒนานั้น  ที่ต้นน้ำคือ การมีวิสัยทัศน์ร่วมกันของคนในองค์กร มักจะหาไม่ค่อยเจอ   คือต่างคนก็ต่างฝัน    ปลายน้ำคงพอจะเดาออกว่าจะเป็นอย่างไร  เมื่อต่างคนต่างฝัน   พลังของทีม  พลังของการทำงานก็ลดน้อยลง  ไม่เต็มศักยภาพหรือขีดความสามารถของคนในองค์กร  แม้มีคนเก่ง  แม้มีคนอยู่เป็นจำนวนมากก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรมากนัก

 

        จุดที่สอง ที่นักส่งเสริม-พัฒนา จะต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษก็คือการมีฝันร่วมของชาวบ้าน-เกษตรกร ต่อกิจกรรมหรืองานที่ดำเนินอยู่ในชุมชน (โดยเฉพาะงานที่เราเข้าไปดำเนินการ)  ที่หากไม่ใช่เกิดจากการสร้างฝัน   มีเป้าหมาย   หรือเกิดจากความต้องการจำเป็นของชาวบ้าน-เกษตรกรจริงๆ แล้ว   กิจกรรมหรืองานที่ทำก็คงจะพอเดาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน   ว่าจะบรรลุผลสำเร็จอย่างแท้จริงได้ยากมาก  งานอาจเสร็จ...แต่ไม่สำเร็จ   เพราะเป็นฝันข้างเดียวของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาคพัฒนา   ซึ่งฝันกลางวันนั่นเอง

 

        จากสองตัวอย่างที่นำมาแลกเปลี่ยน    คิดว่าเราในฐานะคนที่จะลงไปทำงานในหน่วยงาน/ในพื้นที่  จะต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้    ดังนั้น  เราจะต้องทำความเข้าใจและรำลึกไว้เสมอในสองจุดที่ว่านี้   จุดแรกภายในองค์กรต้องเริ่มที่การสร้างฝันร่วมกันของคนในองค์กรของเราก่อน  เมื่อมีเข็มมุ่งไปในที่เดียวกัน  เส้นทางที่จะเดินไปนั้นก็ไม่น่าจะยากที่จะฝ่าฟันให้ไปให้ถึงจุดหมายได้    

         ส่วนจุดที่สองในการทำงานกับชาวบ้าน-เกษตรกร  กิจกรรมหรืองานที่จะทำจะต้องเป็นฝันร่วมกันของชาวบาน-เกษตรกรด้วย    ไม่เป็นฝันหรือความต้องการของเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว  ต้องสร้างฝันร่วมกันระหว่างเราที่จะต้องส่งเสริม-พัฒนา    และชาวบ้าน-เกษตรกรก็ต้องการจะปรับปรุง/พัฒนาอาชีพให้มีรายได้หรือความมั่นคง เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย...  

   .....งานเป็นผล  คนเป็นสุข......

 

บันทึกมาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

วีรยุทธ  สมป่าสัก

24  มีนาคม  2552

 

หมายเลขบันทึก: 250437เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2009 06:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • มาอ่านวิธีการสอนงาน  ผ่านบล็อก
  • เผื่อจะเอาไปใช้บ้าง ขออนุญาตไว้เลยนะคะ
  • และแวะมาบอกว่า
  • คุณสิงห์มาเชียงใหม่เมื่อไหร่
  • จะพาไปทำความรู้จักค่ะ
  • เอาบรรยากาศการพบปะมาฝากให้ขอบตาร้อนๆ
  • ตามไปดูนะคะ
  • ไม่ค่อยจะได้อ่านบล็อคของ คุณสิงห์ป่าสัก หมดทุกบล็อค เนื่องจากไม่มีเวลาเป็นของตัวเองมากนัก อีกเหตุผลก็ส่วนใหญ่เป็นงานของนักส่งเสริม บันทึกข้อมูลเช่นเราเอาไปปรับใช้ได้ก็เป็นบางหัวข้อเท่านั้น

 

  • สวัสดีครับ อ.มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)
  • ยินดีมากเลยครับหากจะนำไปใช้ต่อยอด
  • ตามไปดูแล้วครับ
  • เยี่ยมมากๆ เลยครับ
  • บรรยากาศของบล็อกเกอร์เวลามาพบกันล้วนชื่นมื่น
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท