KMในวันสงกรานต์


เป็นอีกแนวปฏิบัติหนึ่งที่ได้เรียนรู้ และนำการจัดการความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราเอง
         สงกรานต์นี้กลับบ้านใหม?..........

         เป็นคำถามที่จะได้รับจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรู้จักมักจะถามเสมอ เมื่อใกล้จะถึงวันสงกรานต์  ทุกๆ ปีคำตอบของผมก็จะเหมือนๆ กัน คือไปวันนั้น-วันนี้  (ผมอยู่จังหวัดลำพูน / คุณนายที่บ้านอยู่จังหวัดเชียงใหม่)

          แต่คำของผมปีนี้แตกต่างออกไปครับ   เพราะผมตั้งใจที่จะไม่เดินทางไปไหนทั้งนั้น  เพราะสงกรานต์นี้ตั้งใจที่จะปลูกฝังและฝึกลูกสาวและลูกชายให้ได้เรียนรู้กับวัฒธรรม วิถีการปฏิบัติของ "คนเมือง(เหนือ)" ที่กำแพงเพชรนี้แหละ  หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้ลองปฏิบัติดูแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีแก่เด็กๆ  ที่จะได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ (ควันหลงวันสงกรานต์ปี 2549)

          หลายพื้นที่ หลายท้องถิ่น อาจมีการปฏิบัติหลักๆ ที่คล้ายกัน แต่อาจมีรายละเอียดย่อยๆ ต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นที่  สำหรับครอบครัวของผมนั้น  ได้วางแผนไว้นานแล้วโดยเลือกที่จะไปสร้างบ้านอยู่ในชุมชนคนเมืองในจังหวัดกำแพงเพชร  ซึ่งได้อพยพมาจากจังหวัดลำปางเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว    ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ไม่เฉพาะแต่งานวันสงกรานต์ยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (ถิ่นฐานเดิมมักจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว) สำหรับการไปเยี่ยมญาติพี่น้องทางลำพูน-เชียงใหม่ ค่อยไปในช่วงนอกเทศกาล เพราะการเดินทางช่วงนี้อันตรายครับ

            และในวันสงกรานต์ปีนี้เราได้ออกแบบกิจกรรมในบ้านไว้คร่าวๆ ว่าจะทำอะไรกันบ้าง เช่น

  • การทำความสะอาดในวันที่ 13 เมษายน  ซึ่งคนเมืองถือว่าเป็นวันสังขารล่อง ต้องปัดกวาด-ทำความสะอาดบ้านเรือน
  • วันที่ 14 เมษายน ถือว่าเป็นวันเนา  ก็จะร่วมกันทำอาหารและขนมเพื่อเตรียมสำหรับแจกจ่ายบ้านใกล้เรือนเคียง และไปทำบุญที่วัด
  • วันที่ 14 เมษายน ตอนเย็นก็จะไปขนทรายเข้าวัดกัน
  • วันที่ 15 เมษายน ช่วงเช้าจะไปทำบุญที่วัด  และช่วงสายๆ จะพาเด็กๆ ไปรดน้ำดำหัวคนแก่ที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน
  • ฯลฯ

          เป็นสาระที่เราได้รับรู้และซึมซับสิ่งเหล่านี้ผ่านการบอกเล่าและทำให้ดูมาตั้งแต่เด็กๆ  จากพ่อ-แม่  หากเราไม่ได้ส่งต่อหรือปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ปฏิบัติจริงๆ ในบ้าน  ในครอบครัวของเราเอง สิ่งเหล่านี้ก็คงจะถูกลบเลือน และทดแทนด้วยวิถีปฏิบัติหรือวัฒนธรรมที่เป็นเพียงเปลือกนอก ไม่รู้ว่าแนวทางและความเป็นมาเป็นอย่างไร  อีกหน่อยประเพณีวันสงกรานต์อาจเหลือเพียงวันหยุดยาว เพื่อการเที่ยวสาดน้ำ และตั้งวงดื่มกินกันเท่านั้นเอง  (การตั้งใจปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร-ขนม /การรดน้ำดำหัว จะกลายเป็นเพียงพิธีที่ทำเพื่อแสดงว่าเคยมี-เคยทำ ให้สำหรับแขกบ้านแขกมืองหรือนักท่องเที่ยวได้ดูชมกันเท่านั้น)

          เป็นอีกแนวปฏิบัติหนึ่งที่ได้เรียนรู้  และนำการจัดการความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราเอง โดยผ่านการทำจริง-ปฏิบัติจริง ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะส่งต่อวิถีปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนก็คงไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้วละครับ

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 89901เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2007 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก  เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการกลับไปเยี่ยมบ้านหากเราเลือกได้ไปช่วงนอกเทศกาลดีกว่า เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีข้อจำกัดในการหยุดงานมากกว่าเราได้ไปก่อน เราได้ช่วยลดความหนาแน่นของการจราจรไปได้หนึ่งครอบครัว

บันทึกของคุณได้ช่วยย้ำถึงความสำคัญของการส่งต่อความรู้ผ่านเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติจริงๆ ไม่ใช่พูดแบบว่าตามๆกันไปเหมือนคำขวัญวันเด็ก หากคนรุ่นเราๆไม่ช่วยกันอย่างเข้มแข็งวัฒนธรรมประเพณีของจริงที่มีจิตวิญญาณคงหมดเหลือแต่ทำโชว์นักท่องเที่ยวอย่างคุณว่า

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆที่จริงใจต่อความเป็นชาติไทย ขอให้มีกำลังใจทำต่อไปและมีความสุขในเทศกาลนี้ค่ะ

รู้สึกดีหลังอ่านบันทึก

เข้าใจ "ความดี" มากขึ้น  ว่าความดีทุกอย่าง  คิดอย่างเดียวไม่ได้  ต้องผ่านการฝึกฝน  ลงมือทำแล้วมันจะทะลุเข้าหัวใจได้

เรียน พี่สิงห์ป่าสัก

  • ขอแสดงความชื่นชมครับในวิถีครอบครัวสุขสันต์ของพี่ครับ น่าอิจฉานะครับ
  • สงกรานต์ผมไม่ได้กลับบ้าน (โคราช) เพราะวันที่ 21 ก็ต้องกลับไปงานแต่งงานเพื่อน ( กลับหลายรอบคงจะจน ก็ต้องกลับรอบเดียว )
  • ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็จะรักษาวัฒนธรรมที่ดีของเราไว้ได้ครับ
  • สุข สดชื่น วันสงกรานต์นะครับ
  • ดีจังคะได้อ่านบทความดีๆ ของคุณสิงห์ป่าสัก
  • ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนเหนือด้วย
  • ได้ซึมซับโดยไม่รู้ตัวว่าสงกรานต์ยังมีมากกว่าการเล่นน้ำ
  • สำหรับตัวจ๊ะจ๋า..ช่งสงกรานต์นี้ไปทำหน้าที่อาสาสมัครสอนภาษาไทยให้เด็กชาวเขาที่เชียงรายคะ..โครงการครูบ้านนอกของมูลนิธิกระจกเงาคะ
  • เป็นกิจกรรมในบ้านที่ดีมากครับ
  • ผมยังเห็นว่าหลายเรื่อง ๆ ที่ทำสืบทอดต่อกันมา คนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยสนใจในรายละเอียดที่คนรุ่นเก่าเค้าได้แฝงแนวคิด (Tacit) ไว้
  • ถ้าได้ลปรร.ระหว่างคนรุ่นเก่า-คุณรุ่นใหม่ จะทำให้เข้าถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของเรามากขึ้นครับ
  • เป็นบันทึกที่เนียนในชีวิตประจำวันจริง ๆครับ
ขอบคุณคุณยุทธที่เป็นตัวอย่างอันดีของการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของเราเอาไว้ เป็นสิ่งดีๆที่คนรุ่นเราจะสามารถถ่ายทอดต่อๆไปยังรุ่นลูกหลานนะคะ

          มาซึมซับเอาความดีงามประเพณีสงกรานต์ทางเหนือครับ...ขอบคุณที่เล่ากิจกรรมทำดีสืบทอดลูกหลานให้ทราบครับ

ทางใต้ไม่มี "การขนทรายเข้าวัด" อย่างอื่นมีหมดค่ะ..มีที่ต่างคือวันว่าง...เป็นงานนัดทำบุญกระดูกบรรพบุรุษ...ซึ่งวัดจะเป็นผู้ออกกำหนดวันเอง...โดยดูหลายอย่างประกอบกันค่ะ

เรียน  คุณนายดอกเตอร์

  • สวัสดีครับ
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ที่พวกเราต้องช่วยกันส่งต่อวัฒนธรรมและประเพณีไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป ร่วมกัน 
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามา ลปรร.และให้กำลังใจ

เรียน  คุณธวัชKMI คุณหมอนนทลี และน้องวิศรุต

  • เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติครับ ลงมือทำแล้วจึงรู้ว่าเราก็ยังต้องเรียนรู้อีกมาก พร้อมทั้งต้องช่วยกันหาวิธีการส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป
  • กิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติในช่วงวันสงกรานต์ครับ (ลิงค์)
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามา ลปรร. และให้กำลังใจ

เรียน     คุณจ๊ะจ๋า , คุณบอย  สหเวช , พี่โอ๋-อโณ ครูนงเมืองคอน , และท่านพี่เมตตา

  • ได้ปฏิบัติก็ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ที่แฝงไว้ในวัฒนธรรม ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำนอกเหนือไปจากการงานอันเป็นอาชีพอยู่แล้ว
  • ผมไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ท่านมีความสุขมากๆ ที่ลูกหลานและคนที่รู้จักได้มารดน้ำขอพร ก็เป็นความสุขที่มีเงินก็คงซื้อหาไม่ได้  จิตใจเราก็พลอยเป็นสุขด้วยครับ (ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เกิดที่กำแพงเพชร  เพียงแต่ได้รู้จักและเป็น"คนเมือง" ที่ย้ายถิ่นมาเหมือนกัน ซึ่งมีรากเหง้าของวัฒนธรรมที่เหมือนๆ กัน ก็เพียงพอที่จะเป็นญาติกันได้แล้วครับ)  
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามา ลปรร. และให้กำลังใจ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท