อัตตลักษณะของวิสังขารธรรม


อัตตา

อัตตลักษณะของวิสังขารธรรม


อัตตลัษณะของวิสังขารธรรม คือ อัตตลักษณะของพระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน  (อนตฺตปฏิกฺเขป)  ของสังขารธรรม  (สังขตธรรม)  ทั้งปวง  ซึ่งจะปรากฏเป็น  โลกุตตรปัญญา  แก่พระโยคาวจรขณะเมื่อเจริญโลกุตรวิปัสสนา    หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม   จนถึงได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วพิจารณาปัจจเวกขณ์  ๕  คือ  พิจารณามรรค  พิจารณาผล และพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว     พิจารณากิเลสที่ยังเหลือ (ในกรณีพระเสขบุคคล)   และ พิจารณาพระนิพพาน   ทั้งโดยสภาวะนิพพาน  ผู้ทรงสภาวะนิพพาน และ อายตนะนิพพาน  จากการที่ได้ทั้งเห็นแจ้งรู้แจ้ง  และ  ได้บรรลุเป็นพระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์นั้น  โดยความเป็นสภาพเที่ยง  (นิจฺจตา)  เป็นบรมสุข  (ปรมํ  สุขํ)  และ  โดยความเป็นตัวตน  (อตฺตตา)  แท้   ดังนี้

 

 (๑)  นิจฺจตา   ความเป็นธรรมที่เที่ยง เพราะ...
(พระสูตรและอรรถกถาแปล  ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ  เล่ม ๔๕ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. พ.ศ.๒๕๒๕, หน้า ๓๑๐.)    


(ก)  เป็นธรรมอันไม่เคลื่อน  (อจฺจุตํ)   อันไม่ตาย  (อมตํ)
(พระสูตรและอรรถกถาแปล  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่ม ๔๒ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. พ.ศ.๒๕๒๖, หน้า ๔๕๕.)


(ข)  เป็นธรรมที่มั่นคง   (สสฺสตํ)  ไม่กำเริบ  (อกุปฺปํ)   ยั่งยืน  (ธุวํ)
(เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน,พระสูตรและอรรถกถาแปล  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่ม ๔๒ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. พ.ศ.๒๕๒๖, หน้า ๔๕๕.)


(ค)  เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน  (น  ฐิตสฺส  อญฺญถตฺตํ  ปญฺญายติ)  จึงเป็นธรรมที่ไม่มีความเสื่อมสลาย ( น   วโย  ปญฺญายติ)
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่ม ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, ข้อ ๔๘๗. หน้า ๑๙๒.)  


ดังที่ท่านพระสารีบุตรมหาเถระได้แสดง อมตนิพพาน  ว่า


“ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ  ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้น  มิได้มี  ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้   นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง   ยั่งยืน   มั่นคง   มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อันอะไร ๆ นำไปไม่ได้  ไม่กำเริบ.”
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร. ข้อ ๔๘๗. หน้า ๔๘๗, หน้า ๑๙๒. และดูเล่มที่ ๓๐ ข้อ ๖๕๙. หน้า ๓๑๕.)

 

 


(๒) ปรมํ  สุขํ  เป็นสุขอย่างยิ่ง  เพราะ...

เป็นอสังขตธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์   จึงเป็นธรรมที่ไม่ปรากฏความเกิด  (น  อุปฺปาโท  ปญฺญายติ)
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, ข้อ ๔๘๗. หน้า ๑๘๒.)  

จึงไม่แก่  ไม่เจ็บ  คือ ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ  
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๑, ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, ข้อ ๗๓๕, หน้า ๖๓๐-๖๓๑.)


และ เป็นธรรมที่ไม่ตาย  (อมตํปทํ)  ดังพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า


“ด้วยบทว่า  “น  อุปฺปาโท  ปญฺญายติ” เป็นต้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความไม่มีแห่งความ  เกิดขึ้น  ทั้งความแก่  และ  ความแตกดับ  ก็เพราะไม่มีลักษณะมีการเกิดขึ้นเป็นต้น  จึงปรากฏเป็นอสังขตะ.”
(พระสูตรและอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร เล่ม ๓๔ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๒๖, หน้า ๒๐๖.)


(๓) อตฺตตา  ความเป็นตัวตน  (แท้)   เพราะ...

(ก) เป็นธรรมที่ปฏิเสธ  คือมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับอนัตตา (อนตฺตปฏิกฺเขปโต)


(ข) เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงหลักเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของธรรม  ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เป็น “อนัตตา”  กับฝ่ายที่เป็น “อัตตา”  แท้ ๆ โดยนัยว่า  รูปเป็นอนัตตา  ก็ (ถ้า) รูปนี้จักได้เป็นอัตตา
 แล้ว   รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  ก็เพราะว่ารูปนี้เป็นอนัตตา  ฉะนั้น  รูปนี้จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ   เป็นต้น   ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า


“รูปํ  ภิกฺขเว  อนตฺตา. รูปญฺจ  หิทํ  ภิกฺขเว  อตฺตา  อภวิสฺส.  นยิทํ  รูปํ อาพาธาย   สํวตฺตติ.”
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๔, วินัยปิฎก มหาวรรค, ข้อ ๒๐. หน้า ๒๔-๒๖)

แปลความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย   รูป (คือสังขารร่างกายนี้)   เป็นอนัตตา (มิใช่ตน) ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็  (ถ้า)   รูปนี้จักได้เป็นอัตตา (ตน)  แล้ว  รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  (ความลำบาก).... ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะรูป  (นี้) แล  เป็นอนัตตาฉะนั้นรูป  (นี้)  จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ


เป็นอันแสดงว่า   พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงหลักการพิจารณาความเป็นอนัตตา  (อนตฺตตา)  และความเป็นอัตตา  (อตฺตา)  ให้ทราบโดยนัยไว้แล้ว  ว่า  ธรรมที่เป็นอนัตตา   ย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธส่วนธรรมที่เป็นอัตตา  ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ  ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธนี้ ก็คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ ซึ่งเป็นอสังขตธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งให้ต้องแตกดับ  (ตาย)  จึงไม่ต้องมีความเกิด เพราะไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดอีก  ไม่ต้องแก่  ไม่ต้องเจ็บ  และไม่ต้องตายอีก


พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์นั้น  มีลักษณะเป็นตรงกันข้ามกับสังขารธรรม (สังขตธรรม)  โดยสิ้นเชิง    คือ เป็นอัตตา (แท้)   (มิใช่อัตตาเทียมอย่างที่ชาวโลกเขาสมมุติหรือบัญญัติกันว่าเป็นอัตตา)ด้วยประการฉะนี้

(ค)  เป็นธรรมที่มีเจ้าของ  (สามิกโต)   คือ เป็นของพระอริยเจ้าผู้บรรลุเฉพาะตน  อันพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงพระนิพพานธรรมว่า   “เป็นของตน”   คือตรัสว่า  “ชญฺญา  นิพฺพานมตฺตโนติ”  ซึ่งแปลความว่า   “พึงรู้พระนิพพานของตน”    ดังนี้  ได้มีอรรถกถาอธิบายไว้ว่า


“ชญฺญา   นิพฺพานมตฺตโนติ    อญฺเญสํ  ปุถุชิชนานํ   สุปินนฺเตปิ   อโคจรภาวโต  อริยานํ  ปน  ตสฺส   ตสฺเสว   อาเวณิกตฺตา    อตฺตสทิสตฺตา จ  “ อตฺตาติ   ลทฺธโวหารสฺส  มคฺคผลญาณสฺส  สาติสยวิสยภาวโต   เอกนฺตสุขาวหํ  นิพฺพานํ   อสงฺขตธาตุ   “อตฺตโนติ    วุตฺตํ,  ตํ  นิพฺพานํ  ชญฺญา  ชาเนยฺย,  มคฺคผลญาเณหิ  ปฏิวิชฺเฌยฺย.  สจฺฉิกเรยฺยาติ   อตฺโถ ,  เอเตน   อริยานํ   นิพฺพาเน อธิมุตฺตํ    ทสฺเสติฯ”
(พระธรรมปาละเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน: โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๒๐๑.)


แปลความว่า “บทว่า   ชญฺญา  นิพฺพานมตฺตโน  (พึงรู้พระนิพพานของตน)  ความว่า   พระนิพพานอันเป็นอสังขตธาตุนำมาซึ่งความสุขโดยส่วนเดียว    โดยเป็นอารมณ์อันดีเยี่ยมแก่มรรคญาณ  และผลญาณ   ซึ่งได้โวหาร  (ชื่อเรียก)     ว่า “อัตตา”    เพราะพระนิพพานไม่เป็นอารมณ์ของปุถุชนอื่น  แม้โดยที่สุดความฝัน   แต่เพราะพระนิพพานเป็นแผนกหนึ่งแห่งมรรคญาณและผลญาณนั้น ๆ   ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย   และเพราะ พระนิพพาน  เป็นเช่นกับอัตตา    จึงตรัสว่า  “อตฺตโน”   (ของตน)   พึงรู้ คือ พึงทราบพระนิพพานนั้น, อธิบายว่า  พึงรู้แจ้ง  คือ พึงทำให้แจ้งด้วยมรรคญาณและผลญาณทั้งหลาย    ด้วยคำนั้น  ทรงแสดงถึงความที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตน้อมไปในพระนิพพาน.”

(ง)   เป็นธรรมที่เป็นแก่นสาร  (ธมฺมสารํ  นิพพานํ)   โดยความเป็นสภาพเที่ยง  และโดยความเป็นสภาพที่ประเสริฐที่สุด   (นิจฺจภาวโต  เสฏฐาภาวโต  จ)
(พระสูตรและอรรถกถา แปล ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่มที่ ๔๕: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๓๑๐.)

(จ)   พระนิพพานเป็นธรรมที่ไม่ว่าง (อริตฺตํ)   ไม่เปล่า  (อตุจฺฉํ)   (คือ  เป็นธรรมที่มีสาระแก่นสาร  ในความเป็นตัวตนแท้นั่นเอง  -  ผู้เขียน)   แต่เป็นธรรมที่สูญอย่างยิ่ง  (ปรมํ  สุญฺญํ)
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๑, ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, ข้อ ๗๓๕, หน้า ๖๓๒.)


คือ เป็นธรรมที่สูญ   กล่าวคือว่างอย่างยิ่งจากกิเลส  ตัณหา  อุปาทาน
   และ ว่างเปล่า  (สุญฺญโต)  จากสังขาร  หรือ  อัตตาเทียมอันชาวโลกสมมติว่าเป็นตัวตน   และ   ว่างจากสิ่ง ที่เนื่องด้วยตนนั้น  เช่น  บริขาร  เป็นต้น  อุปมาดัง  “เรือนว่าง  หม้อว่าง”  ซึ่งหมายความว่า  เรือนหรือหม้อนั้น  ว่างจากสิ่งที่ไม่มีแก่นสารเท่านั้น  ส่วนเรือน   และ หม้อที่เป็นแก่นสารนั้น  ยังคงมีปรากฏอยู่   หาได้เสื่อมสลาย   (น  วโย. นอญฺญถตฺตํ  ปญฺญายติ)   สูญสิ้นหมดไป    (ดังเช่นสิ่งที่ไม่มีแก่นสารที่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์   คือ ความเป็นอนิจฺจํ  ทุกขํ   อนตฺตา) ด้วยไม่   ดังเช่นพระมหานามเถระได้อธิบายว่า


“สุญฺญํ   อตฺเตน  วา  อตฺตนิเยน  วาติ   “การโก   เวทโก  สยํวสีติ  เอวํ  โลก  ปริกปฺปิเตน   อตฺตนา   จ   อตฺตาภาวโตเยว   อตฺตโน สนฺตเกน  ปริกขาเรน   จ  สุญฺญํ   อตฺตา  จ  เอตฺถิ  นตฺถิ  อตฺตนิยญฺจ   เอตฺถ  นตฺถิ  ,   ตสฺมา  สุญฺโญ   โลโกติ   วุจฺจตีติ   อตฺโถ.   โลกุตฺตโรปิ   จ  ธมฺโม  อตฺตตฺตนิเยหิ  สุญฺโญ เอว.   ปุจฺฉานุรูเปน   ปน  โลกิโยว   ธมฺโม  วุตฺโต.   สุญฺโญติ    จ  ธมฺโม  นตฺถีติ  วุตฺตํ     น  โหติ ,   ตสฺมี  ธมฺเม  อตฺตตฺนิยสารสฺส   นตฺถิภาโว  วุตฺโต  โหติ.   โลเก  จ “สุญฺญํ      ฆรํ   สุญฺโญ  ฆโฏติ  วุตฺเต  ฆรสฺส  ฆฏสฺส   จ  นตฺถิภาโว  วุตฺโต  วุตฺโต  น  โหติ .   ตสฺมึ   ฆเร  ฆเฏ   จ  อญฺญสฺส  นตฺถิภาโว  วุตฺโต  โหติ.  ภควตา  จ  “อิติ  ยํ  หิ  โข  ตตฺถ  น  โหติ, เตน  ตํ  สุญฺญํ  สมนุปสฺสติ   ยํ  ปน   ตตฺถ  อวสิฉฐํโหติ.  ตํ  สนฺตํ  อิทมตฺถีติ   ปชานาตีติ   อยเมว อตฺโถ  วุตฺโต.  ตถา  ญายคนฺเถ  จ  สทฺทคนฺเถ  จ  อยเมว  อตฺโถ  อิติ  อิมสฺมึ  สุตฺตนฺเต  อนตฺตลกฺขณเมว  กถิตํ.”

(พระมหานามเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๒ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๒๗๘-๒๗๙.)


แปลความว่า “คำว่า  “สูญ  (ว่างเปล่า)  จากอัตตาหรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา”   ความว่า   สูญจากอัตตาที่โลกกำหนดไว้อย่างนี้ว่า  “ผู้ทำ  ผู้เสวย  ผู้มีอำนาจเอง”    และ จากบริขารอันเป็นของตน  เพราะความไม่มีอัตตานั่นแหละ    จักษุเป็นต้นทั้งหมดเป็นธรรมชาติที่เป็นของโลก,  จักษุเป็นต้นนั่นแหละ  ชื่อว่าโลก  เพราะย่อมสลายไป   อนึ่ง   เพราะอัตตาไม่มีในโลกนี้    และ  สิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาก็ไม่มีในโลกนี้,   ฉะนั้น  ท่านจึงกล่าวว่า   “โลกสูญ”   แม้โลกุตตรธรรม  ก็สูญจากอัตตาและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตานั่นเอง.แต่ท่านกล่าวถึง โลกิยธรรมเท่านั้น  โดยสมควรแก่คำถาม.


อนึ่ง คำว่า   “สูญ”  ท่านไม่กล่าวว่า “ธรรมไม่มี”  ท่านกล่าวถึงความไม่มี    สาระในอัตตาและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาในธรรมนั้น. อนึ่ง  เมื่อเขาพูดกันในโลกว่า   “เรือนสูญ  หม้อสูญ”  ก็มิใช่กล่าวถึงความไม่มีเรือนและหม้อ,  (แต่)  กล่าวถึงความไม่มีสิ่งอื่นในเรือนและในหม้อนั้น.


อนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความนี้ไว้ว่า   “ก็สิ่งใดแลไม่มีในสิ่งนั้น  ภิกษุย่อมพิจารณาสิ่งนั้นว่าสูญด้วยเหตุนั้น   แต่สิ่งใดมีเหลืออยู่ในสิ่งนั้น  สิ่งนั้นมีอยู่  ภิกษุย่อมรู้ว่า สิ่งนั้นมีอยู่.....”  ในพระสูตรนี้  ท่านกล่าวถึงอนัตตลักขณสูตรเท่านั้น.

หมายเลขบันทึก: 144276เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้กล่าวตู่พระพุทธพจน์ ไม่ไปดี.

ทีหลังหัดอ่านภาษาบาลีบ้างนะครับ.

อ่านภาษาไทยแล้ว มั่วกันมากจริงๆ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท