ธรรมทั้งปวง อนัตตา...อย่างไร


ธรรมทั้งปวง

ธรรมทั้งปวง อนัตตา...อย่างไร

ลักษณะโลกุตตรวิปัสสนา  มี  ๒  นัย คือ


ก)  สัจจลักษณะ  อันมีลักษณะ ๒  แห่งอริยสัจ  ๔  กล่าวคือ    สังขตลักษณะ  ๑  อสังขตลักษณะ  ๑


ข)  อัตตลักษณะของวิสังขารธรรม  คือ  พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์  ๑


ดังจะได้อธิบายแต่เพียงสังเขป  พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาสัมมาปฏิบัติต่อไป

 

๑.       ลักษณะอนุวิปัสสนา  (ติลักขณานุปัสสนา)


คือ  ไตรลักษณ์  หรือ  สามัญลักษณะ  คือ  ความเป็นสภาวะที่เป็นเอง  และ  มีลักษณะที่เสมอกันหมดของสังขารธรรม  (สังขตธรรม)  ทั้งปวง  หรือของธรรมทั้งปวงที่เป็นไปในภูมิ  ๓  ทั้งหมด  อัน  เป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา  โดยไม่มีส่วนเหลือ  ดังที่พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงไว้ว่า


“วิปสฺสนาย  อารมฺมณภูตา  เตภูมกธมฺมา  หิ  อิธ  “สพฺพนฺติ  อนวเสสโต  คหิตา.”
(พระธรรมปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ, โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๕๙.)


แปลความว่า “ก็  บทว่า  สพฺพํ  ในที่นี้ท่านถือเอาธรรมเป็นไปในภูมิ  ๓  อันเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา  โดยไม่มีส่วนเหลือ.”

ซึ่งจะปรากฏเป็น  วิปัสสนาปัญญา  แก่พระโยคาวจรใน  ขั้นอนุวิปัสสนา ขณะเมื่อพิจารณาสภาวะของสังขารธรรมมีเบญจขันธ์เป็นต้น  มีดังต่อไปนี้...

ก)  อนิจฺจตา   ความเป็นของไม่เที่ยง  เพราะ


๑.  เป็นธรรมที่มีความแปรปรวน (วิปริณามธมฺมํ)

(พระธรรมปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ, โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๒๒๗-๒๒๘.)

๒. เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏ  (จิตสฺส  อญฺญถตฺตํ  ปญฺญายติ)
(พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, ข้อ ๔๘๖, หน้า ๑๗๙.)

ข)  ทุกฺขตา  ความเป็นทุกข์  เพราะ


๑.  มีความเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท  ปญฺญายติ)
(พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, ข้อ ๔๘๖, หน้า ๑๗๙.  เรื่องเดียวกันหน้าเดียวกัน)


๒.  ไม่เป็นไปในอำนาจ  (อวสวตฺตนตฺเถน) ว่า (สังขาร/สังขต)  ธรรมทั้งปวง  จงอย่าแก่  (มา  ชีรนฺตุ)  จงอย่าตาย  (มา  มียนฺตุ)  ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา (วิประณามธมฺมโต)  และต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด  จึงเป็นธรรมที่ต้องตาย  (มตธรรม)
(พระพุทธโฆษาจารย์. อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  ภาค ๗ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๒, หน้า ๖๒.)


๓.  เป็นธรรมที่ต้องเป็นไปเพื่ออาพาธ  (อาพาธาย  สํวตฺตติ)
(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ  เล่มที่ ๔, วินัยปิฎก มหาวรรค, ข้อ ๒๐, หน้า ๒๔-๒๖.)

ค)  อนตฺตตา  ความเป็นของมิใช่ตน  (คือ เป็นเพียงอัตตาเทียม ที่ชาวโลกสมมุติว่า    เป็นตัวตน  บุคคล  เรา  เขา  ของเรา   ของเขา)   เพราะสังขารทั้งหลายเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  (สงฺขตา)  จึง


๑.  เป็นธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย  (ยถาปจฺจยํ  ปวตฺตมานา  สงฺขารา)  จึงไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)  สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์  (ยทนิจฺจํ  ตํ  ทุกฺขํ)  สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา  (ยํ  ทุกฺขํ  ตทนตฺตา)
(พระธรรมปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย  เถรคาถา ภาค ๒ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๒๙๘.)


๒. เป็นธรรมที่มีความเสื่อมสลายปรากฏ  (วโย  ปญฺญายติ)
(พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, ข้อ ๔๘๖, หน้า ๒๙๘.)

๓.  เป็นธรรมที่ไม่มีแก่นสาร  (อสารโต)  
(พระธรรมปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา ภาค ๒ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ. ๒๕๓๓. หน้า ๑๗๙.)

๔.  เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปในอำนาจ  (อวสวตฺตนโต)
(เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกันกับข้อ ๓)

๖.  ปฏิเสธ  คือ มีลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามกับอัตตา (อตฺตปฏิกฺเขปโต)
(เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกันกับข้อ ๓)

๗.  เป็นธรรมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  (อสฺสามิกา)  ไม่มีอิสระ  (อนิสฺสรา)
 
(พระพุทธโฆษาจารย์, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภาค ๗ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๒. หน้า ๖๒.)

ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า


“สพฺเพ  สงฺขารา  อนิจฺจาติ ยทา  ปญฺยาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกเข เอส  มคฺโค  วิสุทฺธิยา
สพฺเพ  สงฺขารา  ทุกฺขาติ ยทา  ปญฺญาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกฺเข เอส  มคฺโค  วิสุทฺธิยา
สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ ยทา  ปญฺญาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกเข เอส  มคฺโค  วิสุทธิยา”

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, ข้อ ๓๐, หน้า ๕๑-๕๒.)


แปลความว่า    

“ เมื่อใดบุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ข้อนี้เป็นทางแห่งความหมดจด
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ข้อนี้เป็นทางแห่งความหมดจด
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ข้อนี้เป็นทางแห่งความหมดจด”


พระพุทธดำรัสว่า  “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” นี้  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในลำดับแห่ง นิพพิทาญาณ  ซึ่งพระโยคาวจรยังไม่ได้ถึงโคตรภูญาณที่จะให้ได้พระนิพพาน  (วิสังขาร)  เป็นอารมณ์เลย  จึงทรงหมายเอาเฉพาะสังขารที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  (สังขตธรรม)  ได้แก่  เบญจขันธ์  อายตนะ  ๑๒  ธาตุ  ๑๘  หรือ  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  เท่านั้น

แม้พระอรรถกถาจารย์จะได้แสดงสงเคราะห์ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  เข้าด้วยกันพระคาถาว่า  “สพฺเพ  ธมฺมา”   ท่านก็เพียงหมายถึงบรรดาธรรมที่เกี่ยวเนื่องในกายของตน  (อัตตาโลกิยะ)  เท่านั้น  หาได้รวมไปถึงวิสังขารที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง   (อสังขตธรรม)   คือ  พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ด้วยไม่  ดังปรากฏในอรรถกถาต่อไปนี้ว่า



“ตตฺถ  สพฺพธมฺมมูลปริยายนฺติ  สพฺเพสํ  ธมฺมานํ มูลปริยายํ.  สพฺเพสนฺติ  อนวเสสานํ.  อนวเสสวาจโก  หิ   อยํ  สพฺพสทฺโท.  โส  เยน  เยน  สมฺพนฺธํ  คจฺฉติ, ตสฺส  ตสฺส  อนวเสสตํ  ทีเปติ.  ยถา “สพฺพํ  รูปํ  อนิจฺจํ  สพฺพา  เวทนา  อนิจฺจา สพฺพสกฺกายปริยาปนฺเนสุ  ธมฺเมสูติ,

(พระพุทธโฆษาจารย์, อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภาค ๑ :โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๒, หน้า ๑๙.)


“บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  สพฺพธมฺมมูลปริยายํ  แปลว่า  พระสูตรว่าด้วยเหตุที่เป็นมูลฐานแห่งธรรมทั้งปวง  บทว่า  สพฺเพสํ  แปลว่า  ไม่มีส่วนเหลือ.จริงอยู่ ศัพท์ว่า  สัพพะ  นี้  บ่งถึงความไม่มีส่วนเหลือ.  ศัพท์ว่า  สัพพะ  นั้น ย่อมแสดงถึงสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ให้เหลือ  เหมือนอย่างในประโยคเป็นต้นว่า  รูปทั้งปวงไม่เที่ยง  เวทนาทั้งปวงไม่เที่ยง  ในบรรดาธรรมที่เกี่ยวเนื่องในกายของตนทั้งหมด  ดังนี้.”



พึงเข้าใจ   “สพฺพ”   ศัพท์  ในพระพุทธดำรัสว่า  “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา”  นี้  เมื่อใช้ในความหมายว่า  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๔  พึงเข้าใจว่าเป็นการแสดงความหมาย  “สพฺเพ  ธมฺมา  (ธรรมทั้งปวง)”  โดยมีส่วนเหลือ  (สาวเสสโต)  เพราะยังมีเนื้อความที่จะต้องแนะนำ (เนยฺยตฺถตฺตา)ความหมายให้ชัดเจนลงไปอีก  แต่เมื่อใช้ในความหมายว่า  “ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  เท่านั้น”  พึงเข้าใจว่า  เป็นการแสดงความหมาย  “สพฺเพ  ธมฺมา  (ธรรมทั้งปวง)”  โดยไม่มีส่วนเหลือ  (อนวเสสโต)    ดังมีอรรถาธิบายแสดงไว้ในอรรถกถามูลปริยายสูตรว่า



“เนยฺยตฺถตฺตา   จสฺส   สุตฺตสฺส  น  จตุภูมิกาปิ  สภาวธมฺมา   สพฺพธมฺมาติ
เวทิตพฺพา.  สกฺกายปริยาปนฺนา  ปน  เตภูมิกธมฺมาว   อนวเสสโต  เวทิตพฺพา.”


(พระพุทธโฆษาจารย์, อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภาค ๑ :โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๒, หน้า ๑๙.)



แปลความว่า

“อนึ่ง  สภาวธรรมทั้งหลาย  แม้ที่เป็นไปในภูมิ  ๔  ไม่พึงเข้าใจว่า  ชื่อว่าธรรมทั้งปวง (โดยสิ้นเชิง)  เพราะเหตุที่สูตรนั้นมีเนื้อความที่จะต้องแนะนำ. แต่สภาวธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  เท่านั้น  ที่นับเนื่องในสักกายทิฏฐิ  พึงเข้าใจว่าธรรมทั้งปวงโดยไม่มีส่วนเหลือ.”

ดังมีพุทธดำรัสว่า

“วุตฺตํ  เหตํ   ภควตา   วุตฺตมรหตาติ  เม  สุตํ   สพฺพํ  ภิกฺขเว   อนภิชานํ  อปริชานํ  ตตฺถ  จิตฺตํ  อวิราชยํ   อปฺปชหํ  อภพฺโพ  ทุกฺขกฺขยาย   สพฺพญฺจ  โข  ภิกฺขเว  อภิชานํ   ปริชานํ   ตตฺถ  จิตฺตํ   วิราชยํ   ปชหํ  ภพฺโพ  ทุกฺขกฺขยายาติ.  เอตมตฺถํ  ภควา  อโวจ.  ตตฺเถตํ   อิติ  วุจฺจติ.
โย  สพฺพํ   สพฺพโต   ญตฺวา   สพฺพตฺเถสุ  น  รชฺชติ  
สเว   สพฺพํ  ปริญฺญา  โส   สพฺพํ   ทุกข์  อุปจจคาติฯ
อยมฺปิ  อตฺโถ  วุตโต  ภควตา  อิติ  เม  สุตนฺติ.”

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕. ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ, ข้อ ๑๘๕, หน้า ๒๓๒.)


แปลความว่า  

 “จริงอยู่  พระสูตรนี้  พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุไม่รู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงที่ควรรู้ยิ่ง  ไม่กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงที่ควรกำหนดรู้นั้น   ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในธรรมที่ควรรู้ยิ่งและในธรรมที่ควรกำหนดรู้นั้น  ยังละกิเลสวัฏไม่ได้  เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ส่วนภิกษุรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งทั้งปวง  กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ทั้งปวง  ยังจิตให้คลายกำหนัดในธรรมที่ควรรู้ยิ่งและธรรมที่ควรกำหนดรู้นั้น  ละกิเลสวัฏได้  เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์.


และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า

“ผู้ใด  รู้ธรรมเป็นไปในภูมิ  ๓  ทั้งปวง  โดยส่วนทั้งปวง
ย่อมไม่กำหนดในสักกายธรรมทั้งปวง    ผู้นั้นกำหนดรู้ธรรม
เป็นไปในภูมิ  ๓  ทั้งปวง  ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้โดยแท้.”


ดังมีตัวอย่างการใช้  “สพฺพ”   ศัพท์  ในความหมายว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๔  ซึ่งเป็นการแสดงความหมายของคำว่า  “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”  โดยมีส่วนเหลือ  เพราะยังมีเนื้อความที่จะต้องแนะนำหรืออธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีก  ดังนี้...

ตัวอย่างที่  ๑  

สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ  สพฺเพปิ  จตุภูมิกา  ธมฺมา  อนตฺตา.  อิธ  ปน  เตภูมิกธมฺมา  ว  คเหตพฺพา.  เต  หิ  อสารโต  อวสวตฺตนโต   สุญฺญโต  อตตปฏิกฺเขปโต  จ  อนตฺตาติ  วิปสฺสิตพฺพา.”

(พระธรรมปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา ภาค ๒ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๒๘๓.)


แปลความว่า

“คำว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา  ความว่า  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๔  แม้ทั้งหมดเป็นอนัตตา   แต่ในที่นี้ควรถือเอาเฉพาะธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  เท่านั้น.  จริงอยู่ธรรมเหล่านั้น  พึงพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา  เพราะไม่มีแก่นสาร  เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ  เพราะว่างเปล่า  และเพราะปฏิเสธอัตตา.”





“ตตฺถ สพฺเพ  ธมฺมาติ  ปญฺจกฺขนฺธาเอว  อธิปฺเปตา.  อนตฺตาติ  มา  ชีรนฺตุ  มา  มียนฺตูติ  วเส  วตฺเตตํ  น  สกฺกาติ  อวสวตฺตนตฺเถน  อนตฺตา  สุญฺญา  อสฺสามิกา  อนิสฺสราติ  อตฺโถ.”

(พระพุทธโฆษาจารย์, อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท ภาค ๗ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๒๑๙.)


แปลความว่า

“คำว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  ในพระคาถานั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาขันธ์  ๕  เท่านั้น  คำว่า  อนัตตา  ความว่า  ชื่อว่า  อนัตตา  คือ ว่างเปล่า  ไม่มีเจ้าของ  คือ ไม่มีอิสระ  เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจว่า  ใคร ๆ  ไม่อาจให้เป็นไปในอำนาจว่า  ธรรมทั้งปวง  จงอย่างแก่  จงอย่าตาย.

ตัวอย่างที่  ๒
 
“ยสฺมา  ปน  โลกุตตรธมฺมา  เหตุสมุจฺเฉเทน  สมุจฺฉินฺทิตพฺพา  น  โหนฺติ, ตสฺมา  สพฺพธมฺมสทฺเทน  สงฺคหิตาปิ  โลกุตฺตรธมฺมา  สมุจฺเฉทวเสน  สมฺภวโต  อิธ น  คเหตพฺพา,  เหตุสมุจฺเฉเทน  สมุจฉินฺทิตพฺพา  เอว  เตภูมกธมฺมา   คเหตพฺพา.”

(พระมหานามเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๓๓๘.)

แปลความว่า

ก็เพราะโลกุตตรธรรมมิใช่ธรรมที่ต้องตัดขาด  ด้วยการตัดขาดเหตุ,  ฉะนั้นโลกุตตรธรรม  (ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔ )  แม้ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยศัพท์ว่า  สพฺพธมฺม  ก็ไม่พึงถือเอาในที่นี้  เพราะเป็นธรรมที่เกิดพร้อมด้วยอำนาจแห่งการตัดขาด  (สมุจเฉท),  พึงถือเอาเตภูมิกธรรม  (ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๓  )  ที่ต้องตัดขาดด้วยการตัดขาดเหตุเท่านั้น.

ตัวอย่างที่  ๓

อรรถกถาแสดงว่า  “นิพพาน”  ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  ก็รวมอยู่ในคำว่า   “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา”  ก็มีเนื้อความที่จะต้องอธิบายแนะนำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกว่า “เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ”
 เป็นต้น  ดังตัวอย่าง...

ตัวอย่างที่  ๓.๑
 
สพฺเพ  ธมฺมาติ  นิพฺพานมฺปิ  อนฺโตกริตฺวา  วุตฺตา.  อนตฺตา  อวสวตฺตนฏเฐน.

(พระอุปเสนเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๒๑๙.)


แปลความว่า

  “บทว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  ท่านกล่าวทำแม้นิพพานไว้ภายใน.   ชื่อว่า เป็นอนัตตา  เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.

ตัวอย่างที่  ๓.๒

สพฺเพ  ธมฺมาติ   นิพฺพานมฺปิ  อนฺโต  กตฺวา  วุตฺตา.  อนตฺตาติ  อวสวตตนฏเฐน.”

(พระมหานามเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๖๘.)


แปลว่า

“บทว่า สพฺเพ  ธมฺมา  ท่านกล่าวทำแม้นิพพานไว้ภายใน.  ชื่อว่าเป็นอนัตตาเพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.


อนึ่ง  อาจจะมีอรรถกถาบางแห่ง  (แต่ก็เป็นส่วนน้อย)   ที่แสดงเนื้อความสั้น  ๆ  ว่านิพพานนับรวมอยู่ใน  “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา”  ด้วย  โดยมิได้อธิบายหรือแนะนำเพิ่มเติม  ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า  ที่ว่า  พระนิพพาน  หรือ ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  ซึ่งรวมอยู่ในความหมายของ   “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา”   ด้วยนั้นเพราะเหตุไร?   หมายเอาธรรมส่วนไหน?   ผู้ศึกษาสัมมาปฏิบัติสมถวิปัสสนาที่ได้ผลดีพอสมควรย่อมเข้าใจได้เลยว่า “เพราะไม่มีแก่นสาร  เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ  เพราะว่างเปล่า  และ เพราะปฏิเสธอัตตา”  นั่นเอง  ดังตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างที่  ๓.๓

สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ   นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา   วุตฺตํ.”

(พระอุปเสนเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย จูฬนิเทส: โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๘.)


แปลความว่า   “บทว่า  สพฺเพ   ธมฺมา  อนตฺตา   ท่านกล่าวทำนิพพานไว้ภายใน.”




สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ   สพฺเพ   จตุภูมกธมฺมา  อนตฺตร.”

(พระพุทธโฆษจารย์, อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ภาค ๒ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๓๔๖.)


แปลความว่า “คำว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา  ความว่า  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๔  ทั้งหมดเป็นอนัตตา.”



และจะเห็นชัดเจนตามที่ปรากฏในคัมภีร์บริวาร  พระไตรปิฎกเล่มที่  ๘  วินัยปิฎก  ซึ่งแสดงว่า  บัญญัติคือ  พระนิพพาน  (พระนิพพานที่ยังเป็นบัญญัติ)  เท่านั้น  ที่เป็นอนัตตา  ดังปรากฏเนื้อความต่อไปนี้



“อนิจฺจา  สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา  จ  สงฺขตา
นิพฺพานญฺเจว  ปณฺณตฺติ อนตฺตา  อิติ  นิจฺฉยา.

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๘, วินัยปิฎก ปริวาร, ข้อ ๘๒๖, หน้า ๒๒๔.)


แปลความว่า

 
“สังขารทั้งปวง ที่ปัจจัยปรุงแต่ง   ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์   เป็นอนัตตา  และบัญญัติ  คือ พระนิพพาน (เท่านั้น)  ท่านวิจัยว่า เป็นอนัตตา.”



นี่เป็นคำแปลตามพระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง  พ.ศ.   ๒๕๒๑    เล่มที่  ๘  พระวินัยปิฎกบริวาร  ข้อที่  ๘๒๖  ซึ่งเป็นคำแปลที่ถูกต้อง



๑)      ตามความหมายที่แท้จริง  ตามสภาวะที่เป็นจริง  ของธรรมที่เป็น  “บัญญัติ”  ซึ่งมีสภาวะที่เป็นตรงกันข้ามกับ “ปรมัตถธรรม”


๒)    ตามมติอรรถกถา   และ หลักไวยากรณ์   ซึ่งมีคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ว่า


“อนตฺตา  อิติ  นิจฺฉยาติ   อนตฺตา   อิติ  วินิจฺฉิตา.”

(พระพุทธโฆษาจารย์, อรรถกถาวินัย ภาค ๓ : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๔๒๒.)


แปลความว่า

“คาถาว่า  อนตฺตา  อิติ  นิจฺฉยา  มีความว่า   บัญญัติคือ พระนิพพาน  ท่านวินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา.



ซึ่งแสดงความหมายของคำว่า “นิจฺฉยา”  เป็นอย่างเดียวกันกับคำว่า   “วินิจฺฉิตา”
ซึ่งเป็น กิริยากิตก์  กัมมวาจก  มีรูปเป็นอิตถีลิงค์  เอกวจนะ   จึงต้องแปลตามหลักไวยกรณ์โดยใช้คำว่า  “ปณฺณตฺติ” (บัญญัติ)  ซึ่งมีรูปเป็นอิตถีลิงค์  เอกวจนะ  ตรงกับกิริยา  เป็นประธานของกิริยา  “นิจฺฉยา”  (แปลว่า   “ท่านวินิจฉัยว่า....” )  



แต่มีบางท่านที่แปลประโยคบาลีที่ว่า  “นิพพานญฺเจว  ปณฺณตฺติ  อนตฺตา  อิติ  นิจฺฉยา” นี้ว่า “พระนิพพานและบัญญัติ  นั่นเอง  เป็นอนัตตา  มีวินิจฉัยดังนี้” หรือแปลว่า “พระนิพพานและบัญญัติ  นั่นเอง  ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา  ดังนี้”  เป็นการแปลที่ไม่ถูกต้องตามสภาวะที่เป็นจริงของธรรม ๒ ฝ่าย   คือ  บัญญัติธรรม และปรมัตถธรรม  ซึ่งมีสภาพธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และ เป็นการแปลที่ขัดกับมติอรรถกถาและหลักไวยากรณ์อีกด้วย  จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ  ที่นี้ด้วย


ตัวอย่างที่  ๔

“พึงทราบวินิจฉัยในอุปปาท สูตรที่  ๔  ดังต่อไปนี้

บทว่า ธมฺมฏฐิตตฺตา  ได้แก่ภาวะที่ทรงตัวอยู่ได้เองตามสภาพ  บทว่า ธมฺมนิยามตา  ได้แก่  ความแน่นอนตามสภาพ  บทว่า  สพฺเพ  สงฺขารา  ได้แก่  สังขารอันเป็นไปในภูมิ  ๔  บทว่า อนิจฺจา  ความว่า  ชื่อว่า  อนิจฺจา  ด้วยอรรถว่า เป็นแล้วกลับไม่เป็น  บทว่า ทุกฺขา  ความว่า  ชื่อว่าทุกข์  ด้วยอรรถกถาว่าบีบคั้นเสมอ  บทว่า


อนตฺตา  ความว่า  ชื่อว่า  อนตฺตา  เพราะอรรถว่า  ไม่เป็นไปตามอำนาจ  ในพระสูตรนี้เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสลักษณะ ๓ อย่างไว้คละกัน  ดังพรรรณนามาฉะนี้.”
(พระสูตรและอรรถกถา แปล  อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต  เล่มที่ ๓๔ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๒๖, หน้า ๕๗๕. )


ข้อนี้แสดงว่า  พระพุทธดำรัสว่า “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา”  แม้ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔ จะสงเคราะห์  เข้าด้วยศัพท์  “ธรรมทั้งปวง” ด้วย    แต่ก็ทรงหมายเฉพาะส่วนที่เป็นสังขาร คือ  ธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  (สังขตธรรม) เท่านั้น  หาได้หมายความรวมถึงวิสังขาร  อันเป็นธรรมชาติที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (อสังขตธรรม)  คือ  พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ด้วยไม่   เพราะสังขาร (สังขตธรรม)  เท่านั้นที่เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปในอำนาจ   เพราะ เป็นธรรมที่เมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวนไป (วิปริณามธมฺมโต)  ส่วนพระนิพาพานธาตุโดยปรมัตถ์  เป็นอสังขตธรรม  ซึ่งเป็นธรรมที่เมื่อตั้งอยู่หาได้ปรากฏความแปรปรวนไม่

ตัวอย่างที่ ๕

แม้ในพระพุทธดำรัสว่า “ธรรมทั้งปวง  ไม่ควรยึดมั่น”  ก็หมายถึงแต่เฉพาะสังขาร  (สังขตธรรม)  อันได้แก่  ขันธ์  ๕  อายตนะ  ๑๒  ธาตุ  ๑๘  เป็นต้น เท่านั้น   ดังมีอธิบายว่า



“ในคำว่า สพฺเพ  ธมฺมา  นาลํ  อภินิเวสาย  นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้  ชื่อว่า  ธรรมทั้งปวงคือ  ขันธ์   ๕  อายตนะ  ๑๒  ธาตุ  ๑๘  ธรรมทั้งหมดนั้น ไม่ควร  คือไม่ถูกไม่ชอบ  ไม่เหมาะ  ที่จะยึดมั่นถือมันด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ   เพราะเหตุไรธรรมจึงไม่ควรถือมั่น  เพราะธรรมเหล่านั้น  ไม่ตั้งอยู่โดยอาการที่จะยึดถือไว้  จริงอยู่  ธรรมเหล่านั้นแม้ตนจะยึดถือเอาว่า  สังขารทั้งหลายเป็นของเที่ยง  เป็นสุข   และเป็นอัตตาก็ย่อมสำเร็จผลว่า   เป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์   และเป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง   เพราะเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  ไม่ควรถือมั่น  ดังนี้.”

(พระสูตรและอรรถกถา แปล  อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต  เล่มที่ ๓๗ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,  พ.ศ.๒๕๒๕, หน้า ๑๘๙.)



เพราะเหตุนั้น   ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมพึงต้องกำหนดพิจารณาถึงเหตุปัจจัยธรรมทั้งปวง  เป็น  อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  ให้ดี  มิฉะนั้นจะกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ  หรือ  อนัตตสัญญาตกขอบไป  และ



จงสำเหนียกพระพุทธดำรัสของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ได้ประทานหลักในการพิจารณาสภาวะอันเป็นของธรรมใด  ที่เป็น  อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  และ  อนตฺตา ว่า



“ยทนิจฺจํ   ตํ   ทุกฺขํ   ยํ   ทุกฺขํ   ตทนตฺตา.

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ  เล่มที่ ๑๗,  สังยุตตนิกาย  ขันธวารวรรค,  ข้อ ๙๑, หน้า ๕๖. )



แปลความว่า  

“ สิ่งใดที่ไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์  สิ่งใดเป็นทุกข์  สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.”

อนึ่ง  สำหรับผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ   พึงพิจารณาอรรถกถาอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ว่า  อนิจจฺจตา  ทุกฺขตา  อนตฺตตา  นั้นเป็นเหมือนโซ่  ๓  ห่วงคล้องติดกัน คือ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหมด  เมื่อเห็นลักษณะหนึ่ง  ก็เป็นอันเห็นอีก  ๒ ลักษณะที่เหลือ  เพราะฉะนั้นลักษณะ  ๓  นี้จึงชื่อว่า  “ไตรลักษณ์”  คือ เป็นลักษณะทั้ง ๓  ที่ไม่แยกเป็นอิสระจากกัน   ดังมีอรรถาธิบายว่า



อนตฺตสญฺญา  สณฺฐาตีติ  อสารกโต  อวสวตฺตนโต   ปรโต  ริตฺตโต  สุญฺญโต  จ  “สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ  เอวํ  ปวตฺตา  อนตฺตานุปสฺสนาสงขาตา  อนตฺตสญฺญา   จิตฺเต  สณฺฐาติ,  อติทฬฺหํ   ปติฏฐาติ.  อนิจฺจลกฺขเณ   หิ  ทิฏเฐ อนตฺตลกขณํ   ทิฏฐเมว    โหติ.   ตีสุ  หิ   ลกฺขเณสุ  เอกสฺมึ  ทิฏเฐ   อิตรทฺวยํ  ทิฏฐเมว  โหติ.  เตน  วุตฺตํ  “อนิจฺจสญฺญิโน  หิ  เมฆิย   อนตฺตสญฺญา  สณฺฐาตีติ  อนตฺตลกฺขเณ   ทิฏเฐ  อสฺมีติ  อุปฺปชฺชนกมาโน  สุปฺปชโหว   โหตีติ  อาห  “อนตฺต สญฺญี  อสูมิมานสมุคฺฆาตํ   ปาปุณาตีติ.”

(พระธรรมปาลเถระ,  อรรถกถาขุททกนิกาย  อุทาน : โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๓, หน้า ๒๕๑.)



แปลความว่า

 “คำว่า   “อนัตตสัญญาย่อมดำรงอยู่”  ความว่า  อนัตตสัญญา  กล่าวคือ   อนัตตานุปัสสนาที่เป็นไปอย่างนี้ว่า   “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” เพราะไม่มีแก่นสาร  เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะเป็นอื่น  เพราะว่าง  และเพราะสูญ  ย่อมดำรงอยู่  คือย่อมตั้งมั่นคงยิ่งในจิต.  จริงอยู่   เมื่อเห็นอนิจจลักษณะ   ก็เป็นอันเห็นอนัตตลักษณะเหมือนกัน.   ก็บรรดาลักษณะทั้ง ๓   เมื่อเห็นลักษณะ  ๑  ก็เป็นอันเห็นลักษณะ  ๒  อย่างนอกนี้เหมือนกัน.   เหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า


“ดูก่อนเมฆิยะ  ก็อนัตตสัญญาย่อมดำรงอยู่แก่ผู้ได้อนิจจสัญญา  เมื่อเห็นอนัตตลักษณะ  มานะที่เกิดขึ้นว่า  “เรามี” ก็ชื่อว่า ละได้ด้วยนั่นเอง   เหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “ผู้มีความสำคัญในสังขารว่าเป็นอนัตตา   ย่อมถึงการถอนอัสมิมานะเสียได้.”


เพราะฉะนั้น ตามที่มีผู้หลงเข้าใจผิดว่า ธรรมที่เที่ยง  เป็นสุข  คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ซึ่งเป็นวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม  ก็เป็นอนัตตาได้นั้นไม่ถูกต้อง   เพราะขัดกับสภาวะที่เป็นจริงของธรรมชาติสองฝ่าย  คือ  สังขาร  (สังขตธรรม)  กับวิสังขาร  (อสังขตธรรม)  แล้วยังเป็นการค้านแย้งต่อพระพุทธพจน์  และ  ขัดกับมติอรรถกถา  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  



**************************************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ทางมรรคผลนิพพาน โดย พระมหาเสริมชัย  ชยมงฺคโล
ป.ธ. ๖, รป.ม. (เกียรตินิยมดี) มธ.

หมายเลขบันทึก: 144279เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท