อัตตา - อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา


อัตตา - อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา
อัตตา - อนัตตา  และ  อัตตา - นิรัตตา

ในสุตตนิบาต  มีพุทธพจน์  หลายแห่งตรัสถึงพระอรหันต์  คือ  ผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิต  ประเสริฐแล้ว   หรือท่านผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้วว่า  เป็นผู้ที่ไม่มีทั้งอัตตาและนิรัตตา  หรือทั้ง  อตฺตํ  และ นิรตฺตํ   แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ไม่มีข้องในความยึดถือทั้งอัตตาและไร้อัตตา  หรือไม่มีทั้งตัวตน  และไร้ตัวตน

คัมภีร์มหานิทเทสอธิบาย  “อตฺตา”  หรือ  “อตฺตํ”  ว่าได้แก่  อัตตานุทิฏฐิ  คือ  ความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตน  หรือสัสสตทิฏฐิ  คือ ความเห็นว่า  มีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป และ  “นิรตฺตา”   หรือ “นิรตฺตํ”  ว่า  ได้แก่  สิ่งที่จะต้องละหรือปล่อย  ถือเอาใจความว่า   “พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง   หรือท่านผู้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่มีทั้งความยึดถือตัวตนและทั้งความยึดถือว่าไม่มีตัวตน  (อุจเฉททิฏฐิ)   ไม่มีทั้งสิ่งที่ยึดถือเอาไว้  และทั้งสิ่งที่จะต้องปล่อย  ผู้ใดมีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ  ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ยึดถือไว้  พระอรหันต์ล่วงพ้นการยึดถือและการปล่อยละไปแล้ว

(ขุ.ม.๒๙/๒๒/๖๖-๖๗.  ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ,๒๕๐๐)

ความเข้าใจในพุทธพจน์  และอรรถาธิบายข้างต้นนี้จะช่วยให้เข้าใจความหมายของหลักอนัตตาครบถ้วนสมบูรณ์  ยิ่งขึ้น

ธรรมดาว่า  ปุถุชนย่อมมีความยึดถือในตัวตนอย่างเหนียวแน่น  อย่างหยาบ ๆ  ก็ถือเอารูป คือ  ร่างกาย  เป็นตัวตน  เมื่อคิดลึกซึ้งลงไป   เห็นว่าร่างกายเป็นตัวตนไม่ได้  เพราะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้อย่างชัด ๆ  ก็เลื่อนไปยึดเอาจิต  หรือคุณสมบัติบางอย่างของจิต  เช่นความรู้สึก  ความจำ  ปัญญา  การรับรู้  ว่าเป็นตัวตน  ถ้าใช้ศัพท์ทางธรรมก็ว่ายึดเอาขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอัตตาบางทีก็ยึดถือรวม ๆ  คลุมๆ  ทั้งกายและใจ  คือ  ขันธ์  ๕   ทั้งหมด   ว่าเป็นตัวตน

บ้างคิดแยบยลลึกซึ้งต่อไปอีกว่าทั้งกายและใจ  หรือขันธ์  ๕   ทั้งหมด  เป็นตัวตนไม่ได้  แต่มีตัวตนอยู่ต่างหาก  เป็นอัตตาหรืออาตมันตัวแท้จริงเป็นแก่นสารของชีวิตซ้อนอยู่ภายในขันธ์  ๕  หรืออยู่นอกเหนือจากขันธ์  ๕   แต่เป็นตัวครอบครองควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง  

เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เจ้าปัญญาผู้สามารถทั้งหลายพากันคิดค้นเรื่องตัวตนนี้  โดยโยงเข้ากับการค้นหาสภาวะแท้ที่มีจริงในขั้นสุดท้าย หรือตัวสัจธรรมหรือบรมธรรม  บางท่านก็ประกาศว่าตนได้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นแล้ว  อันเป็นแท้ตัวจริงเป็นอัตตาหรืออาตมันสูงสุด อย่างที่บัญญัติเรียกว่า  ปรมาตมันบ้าง  พรหมันบ้าง  พระผู้เป็นเจ้าบ้าง  

ต้องยอมรับว่า  เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เหล่านั้น  เป็นเจ้าความคิดอย่างสูง   มีความรู้ความสามารถมากอย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นสมณพราหมณ์   ผู้ประเสริฐหรือเป็นเจ้าทฤษฏีชั้นพรหม  และสภาวะที่ท่านเหล่านั้นกล่าวถึงก็ประณีตลึกซึ้งอย่างยิ่ง  แต่ตราบใดที่สภาวะนั้นยังมีความเป็นตัวตนติดอยู่หรือยังเป็นเรื่องของตัวตน  ก็พึงทราบว่ายังไม่ใช่สภาวะที่แท้จริง  ไม่ใช่ปรมัตถธรรม  ไม่ใช่บรมธรรม เพราะยังถูกเคลือบคลุม  และยังพัวพันด้วยความยึดถือ

สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่  มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย  แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยสภาพเก่า ๆ  ที่ผิดพลาด  และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยึดติดในภพเก่าที่ยึดพลาดนั้น  

การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก  ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย  ก็เพราะว่าแม้ว่าสมณพราหมณ์  หรือ  เจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า  ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อนไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้  และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์  ๕  แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง  ๒  อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้ายกล่าวคือ

๑.  บัญญัติแห่งอัตตา  คือ   มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ยึดติดในตัวตนระดับหยาบระดับร่างกาย   แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด   มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง   และเป็นภาพแห่งความหลงผิด   ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใด ๆ  เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น  ทำให้มีสิ่งกั้นบัง  เกิดความพร่ามัว   หรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ  ไม่ใช่สภาวะจริงแท้ที่ล้วน ๆ  บริสุทธิ์

๒.  ความยึดติดถือมั่น  (อุปาทาน)  ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบ ๆ ขั้นต้น  ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว  เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วยและนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้  ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้

ถ้าพูดอย่างสั้น ๆ   ก็คือ  สมณพราหมณ์  หรือเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นยังไม่หลุดพ้นนั่นเอง  ยังไม่หลุดพ้นจากบัญญัติหรือภาพที่หลงผิด   และยังไม่หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น  ซึ่งว่าที่จริงก็พันกันอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน   คือ  พูดรวมเข้าด้วยกันได้ว่า   พวกเขาหลงผิดหยิบเอาภาพอัตตาที่ติดมาจากอุปาทานเดิมของตนไปปิดทับสภาวะหรือกระบวนการที่มีอยู่ตามธรรมชาติเสีย   เลยวนเวียนติดตันอยู่ตามเดิม   ความหลุดพ้นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้เข้าถึง  หรือรู้ประจักษ์สภาวะที่จริงแท้ได้  เพราะสภาวะจริงแท้ขั้นสุดท้ายหรืออสังขตธรรม   มีภาวะตรงข้ามกับสภาวะฝ่ายปรุงแต่ง   เพราะสภาวะจริงแท้ขั้นสุดท้ายหรือ อสังขตธรรม  มีภาวะตรงข้ามกับสภาวะฝ่ายปรุงแต่งหรือสังขตธรรม  เป็นสภาวะที่ถึงเมื่อสภาวะฝ่ายสังขตะสิ้นสุดลง   คือเป็นสภาวะที่จะเข้าถึงเมื่อละความยึดถือในอัตตาได้แล้ว
แม้แต่จะพิจารณาในระดับสังขตธรรมคือสังขาร  ถ้าพิจารณาตามแนวพุทธธรรมที่ว่า    อัตตาหรือตัวตนเป็นสิ่งสมมติ   สภาวะที่จริงแท้ย่อมเป็นสิ่งตรงข้ามกับสมมติ   เป็นคนละเรื่องคนละด้านกัน     เมื่อพ้นจากสมมติจึงจะเข้าถึงสภาวะจริงแท้  สภาวะจริงแท้ของสมมติจะเป็นอัตตาไม่ได้  พูดง่าย ๆ   อย่างชาวบ้านว่า  สมมติบัญญัตินั้นๆ แท้จริงเป็นอนัตตา  

ตัวการสำคัญของความหลงผิด   ก็คือ  บัญญัติหรือภาพของอัตตา  กับความยึดติดถือมั่นหรือความยึดถือ  ในเมื่ออัตตาหรือตัวตนไม่มีอยู่จริง  เป็นเพียงสมมติบัญญัติ   มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่ถูกยึดถือเอาไว้   ฉะนั้น   ในสุตตนิบาตที่อ้างข้างต้น  คำว่า  “อตฺตา”  หรือ  “อตฺตํ”   จึงแปลได้  ๒  อย่าง  คือ   แปลว่าตัวตนหรือการยึดถือตัวตนก็ได้  แปลว่า   สิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้  หมายความว่า  ตัวตนก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง   มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริงในภาวะสมมตินั้น  

อีกประการหนึ่ง  ในสุตตนิบาตที่อ้างถึงนั่นแหละ ท่านกล่าวถึง  “อตฺตา”   คู่กับ  “นิรตฺตา” หรือ  “อตฺตํ”  คู่กับ “นิรตฺตํ”   และบอกว่า  พระอรหันต์หรือผู้ปฏิบัติชอบไม่มีทั้งอัตตาและอัตตัง  และไม่มีทั้งนิรัตตาและนิรัตตัง  นิรัตตาหรือ   นิรัตตังก็แปลได้  ๒  อย่างเช่นเดียวกับอัตตาหรือ อัตตัง  คือแปลว่า   (การยึดถือว่า) ไม่มีอัตตาหรือการถือว่า  (อัตตา)ขาดสูญก็ได้  แปลว่า  สิ่งที่จะต้องปล่อยละหรือสลัดทิ้งก็ได้  ข้อนี้หมายความว่าเมื่อไม่ยึดถืออีกว่า  ไม่มีอัตตาตัวเองจะเป็นอิสระสบายดีอยู่แล้ว แต่ไปจับยึดสิ่งที่พาให้ผิดเข้า

เมื่อเลิกจับเลิกยึดได้แล้ว  ก็จบเรื่องไม่ต้องไปจับไปยึดอะไรอีก  เมื่อไม่มีสิ่งที่ยึดถือเอาไว้   ก็ไม่มีสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อย  เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า  “นตฺถิ   อตฺตา  กุโต   นิรตฺตํ   วา  (สิ่งที่ยึดถือไว้ก็ไม่มีแล้วสิ่งที่ต้องปล่อยละจะมีแต่ที่ไหน)

(ขุ.สุง๒๕/๙๒๖/๕๑๕; และคำอธิบายใน ขุ.ม.๒๘/๑๕๔/๒๙๒-๒๙๓.ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ,๒๕๐๐.)

พึงสังเกตด้วยว่า  ถ้าจะพูดกันให้ถูกต้องจริง ๆ  แล้ว  แม้แต่คำว่าความยึดถืออัตตา   ก็ใช้ไม่ได้ต้องพูดว่าความยึดถือในภาพของอัตตา   หรือยึดถือบัญญัติอัตตา   เพราะอัตตาเป็นเพียงสิ่งที่สมมติ  ไม่มีอยู่จริง  ในเมื่ออัตตาไม่มีอยู่จริง   ก็เพียงไม่ยึดถือ (ว่ามี) อัตตา  หรือไม่ยึดถือบัญญัติของอัตตาเท่านั้นไม่ต้องละอัตตา   เพราะไม่มีอัตตาที่จะยึดถือได้  จะไปละอัตตาที่ไหน  การถือ  (ว่ามี)  อัตตา  ก็คือการสร้างภาพอีกอันหนึ่งขึ้นมาซ้อนสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นไปอยู่  สิ่งที่จะต้องทำก็เพียงเลิกสร้างภาพเท่านั้น   ถ้าไม่เลิกสร้างภาพนั้น   แม้เลิกยึดอย่างหนึ่งแล้ว  ไปจับสิ่งอื่นอะไรก็ตาม  ก็จะเอาภาพหรือคราบของอัตตาไปปะติดหรือป้ายหรือฉาบทาสิ่งนั้นให้ไม่เห็นตัวจริงหรือเห็นผิดเพี้ยนไป  ดังนั้นกิจที่จะต้องทำก็คือ  เลิกถอนความยึดติดถือมั่นในภาพอัตตาที่เคยมี  แล้วไม่เป็นไปตาม  ไม่ขึ้นต่อความยึดถือของตน   ในเมื่อตัวตนเป็นสิ่งสมมติ   เป็นบัญญัติ  (Concept)   เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร  ถ้าเราเพียงแต่รู้เท่าทัน  ใช้โดยไม่ยึดติดมันก็ไม่มีพิษสง  ไม่ก่อให้เกิดโทษความเสียหายอันใด   และถ้าเราเคยยึดถือมันก็เพียงแต่เลิกยึดเท่านั้น  เมื่อไม่มีการยึดแล้ว  ก็เป็นอันจบเรื่อง  ไม่ต้องเอาภาพอัตตาไปใส่ให้อะไรอีก  ไม่ต้องไปคว้าเอาอะไรมายึดเป็นอัตตาอีก   ตลอดจนไม่ต้องไปค้นหาอัตตาที่ไหนอีก

เพราะฉะนั้น  ภาระในการสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีเพียงแต่ทรงสอนให้เลิกยึดถืออัตตาที่ยึดถืออยู่แล้วเท่านั้น  คือให้เลิกยึดถือขันธ์  ๕   เป็นอัตตา  เมื่อเลิกยึดอัตตาแล้ว   ก็เป็นอันหมดเรื่องกับอัตตา  ต่อนั้นไปก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้ซึ่งมีอยู่   แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับอัตตา(สมมติ)  เป็นเรื่องพ้นจากการยึดถืออัตตาแล้วและก็ไม่ต้องไปยึดถือต่อไปอีกว่า  มีอัตตาหรือไม่มีอัตตา  สิ่งที่ไม่มี  เมื่อรู้ว่าไม่มีแล้วก็เสร็จเรื่องกัน   จากนั้นก็เข้าไปหาสิ่งทีมีจริงหรือสภาวะจริงแท้คือ อสังขตธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของอัตตาและความยึดถืออีกต่อไป

จากคุณ : ปราชญ์ขยะ - [ 23 ส.ค. 50 19:01:31 ]
หมายเลขบันทึก: 144286เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท