ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดแสงสว่างไว้ในใจ สมาธิภาวนาอย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ญาณทัสสนะ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดแสงสว่างไว้ในใจ สมาธิภาวนาอย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ญาณทัสสนะ



พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู คือรู้เรื่องชีวิทุกประเภท ซึ่งคำว่า  "รู้ "  ในที่นี้หมายถึงรู้จักชีวิตเหล่านี้ทั้งหมด  "ทั้งได้เคยเห็น"   เคยเข้าใกล้ เคยเข้าไปสนทนาด้วย ดังจะเห็นได้จากเรื่องที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ดังนี้ :-



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงประทับอยู่ที่ภูเขาหินพื้นราบแห่งหนึ่งชื่อว่า คยาสีสะ ใกล้หมู่บ้านคยา ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า



"ภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่เรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ครั้งนั้นเรากำหนดเห็นแสงสว่างได้ แต่ครั้งแรกยังไม่เห็นรูปทั้งหลาย เราจึงได้เกิดความคิดว่า ถ้าหากเราจะพึงกำหนดเห็นแสงสว่างได้ด้วยและเห็นรูปทั้งหลายได้ด้วย ญาณทัสสนะของเราอันนี้ ก็จะพึงบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นอีก



ฉะนั้น ในเวลาต่อมา เราจึงไม่ประมาท พยายามปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น ครั้นแล้วเราก็กำหนดเห็นแสงสว่างได้ด้วยและเห็นรูปทั้งหลายได้ด้วย แต่จะอยู่ในสมาธิเจรจาไต่ถามกับเทวดาทั้งหลายยังไม่ได้ (กล่าวคือ พอจะถามอะไรกับเทวดา สมาธิก็ถอยออกมา แสงสว่างก็หายไป รูปของเทวดาก็หายไป) เราจึงได้เกิดความคิดว่า ถ้าหากเราจะพึงกำหนดเห็นแสงสว่างได้ด้วย เห็นรูปเทวดาทั้งหลายได้ด้วยและอยู่ในสมาธิเจรจาไต่ถามกับเทวดาทั้งหลายได้ด้วย ญาณทัสสนะอันนี้ของเราก็จะพึงบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นอีก



ฉะนั้น ในเวลาต่อมา เราจึงไม่ประมาท พยายามปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น ครั้นแล้วเราก็กำหนดเห็นแสงสว่างได้ด้วยและเห็นรูปทั้งหลายได้ด้วย และอยู่ในสมาธิเจรจาไต่ถามกับเทวดาทั้งหลายได้ด้วย แต่เราไม่รู้ว่าเทวดาองค์นั้นองค์นี้มาจากเทพนิกายไหน เราจึงได้เกิดความคิดว่า ถ้าหากเราจะพึงรู้ว่าเทวดาองค์นั้นองค์นี้มาจากเทพนิกายนั้นนิกายนี้ ญาณทัสสนะของเราอันนี้ก็จะพึงบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นอีก



ฉะนั้น  ในเวลาต่อมา เราจึงไม่ประมาท พยายามปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น ครั้นแล้วเราก็รู้จักเทวดาทั้งหลายว่าเทวดาองค์นั้นองค์นี้  มาจากเทพนิกายนั้นเทพนิกายนี้  แต่ยังไม่รู้ว่าเทวดาองค์นั้นองค์นี้จุติจากที่นั้นหรือที่นี้แล้วจะไปเกิดในที่ไหน  และด้วยวิบากของกรรมอะไร



ครั้นแล้วต่อมา  เราก็รู้ว่า   เทวดาองค์นั้นองค์นี้จุติจากที่นั้นหรือที่นี้แล้วจะไปเกิดในที่ไหนด้วยวิบากของกรรมอย่างนั้นอย่างนี้  แต่ไม่รู้ว่าเทวดาแต่ละองค์มีอาหารอย่างไรเสวยสุขและทุกข์อย่างไร



ครั้นแล้วต่อมา  เราก็รู้ว่า   เทวดาองค์นั้นองค์นี้  มีอาหารอย่างนั้นอย่างนี้เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้  แต่ไม่รู้ว่าเทวดาแต่ละองค์โดยปกติมีอายุยืนนานเท่าไร



ครั้นแล้วต่อมา  เราก็รู้ว่า   เทวดาองค์นั้นองค์นี้  มีอายุยืนนานเท่านั้นเท่านี้  แต่ไม่รู้ว่า  เราได้เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านั้นในครั้งก่อนหรือไม่  เราจึงได้เกิดความคิดว่า ถ้าหากเราจะพึงรู้ว่า  เราได้เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้ในครั้งก่อนด้วยหรือไม่  ญาณทัสสนะอันนี้ของเราก็จะพึงบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นอีก



ฉะนั้น  ในเวลาต่อมา  เราจึงไม่ประมาท  พยายามปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น



****    ปริวัฏ  ๘    ****


๑. ครั้นแล้วเราก็กำหนดเห็นแสงสว่างได้

๒. เห็นรูปทั้งหลายได้

๓. อยู่ในสมาธิเจรจาไต่ถามกับเทวดาทั้งหลายได้

๔. รู้ว่า  เทวดาองค์นั้นองค์นี้  มาจากเทพนิกายนั้นเทพนิกายนี้

๕. รู้ว่า  เทวดาองค์นั้นองค์นี้จุติจากที่นั้นหรือที่นี้แล้วจะไปเกิดในที่ไหนด้วยวิบากของกรรมอย่างนั้นอย่างนี้

๖. รู้ว่า  เทวดาองค์นั้นองค์นี้ มีอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้

๗. รู้ว่า   เทวดาองค์นั้นองค์นี้  มีอายุยืนนานเท่านั้นเท่านี้

๘. รู้ว่า  เราได้เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้ในครั้งก่อนด้วยหรือไม่



ภิกษุทั้งหลาย  อธิเทวญาณทัสสนะ  ซึ่งมีปริวัฏ ๘  ของเรา  ถ้ายังไม่บริสุทธิ์ดีเพียงใด  เราก็ไม่ปฏิญญาว่าเราได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  ในโลกนี้  ในเทวโลก  ในมารโลก  ในพรหมโลก  ในหมู่ประชา  ซึ่งมีทั้งสมณะ  พราหมณ์  เทวดา  และมนุษย์ทั้งหลาย  แต่เพราะเหตุที่อธิเทวญาณทัสสนะ  ซึ่งมีปริวัฏ ๘  ของเราบริสุทธิ์ดีแล้ว  ฉะนั้นเราจึงได้ปฏิญญาว่าเราได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  ในโลกนี้  ในเทวโลก  ในมารโลก  ในพรหมโลก  ในหมู่ประชา  ซึ่งมีทั้งสมณะ  พราหมณ์  เทวดา  และมนุษย์ทั้งหลาย  และญาณทัสสนะได้บังเกิดแก่เราด้วยว่า  ใจของเราได้หลุดพ้นแล้วโดยเด็ดขาด  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย  แต่นี้ต่อไป  การเกิดใหม่ไม่มีอีก"

(อังคุตตรนิกาย  อัฏฐกนิบาต ๒๓/๖๔/๒๕๐ มจร./๓๑๑ มมร./๓๒๖ ศน.)



->>  คำว่า  อธิเทวญาณทัสสนะ  นั้นแปลว่า  การรู้การเห็นเทวดาทั้งหลายอันสูงสุด  หรือจะแปลตามตัวว่า  ญาณทัสสนะที่เป็นไปทับซึ่งเทวดาทั้งหลาย  หมายความว่า  ญาณทัสสนะอันนี้สูงกว่าเทวดาทั้งหมด  หรืออีกนัยหนึ่ง  แปลว่า  ญาณทัสสนะ  อันนี้สามารถที่จะรู้และเห็นแม้กระทั่งเทวดาชั้นสูงสุด



->>  ขอให้สังเกตว่า  พระพุทธเจ้าเห็นพวกเทวดาเหล่านี้ได้  ก็เพราะพระองค์เข้าสมาธิไปแล้วมีแสงสว่างเกิดขึ้นในใจ  ซึ่งแสงสว่างที่ปรากฏในใจนี้สว่างมากเหมือนกับแสงสว่างในเวลากลางวันทีเดียว  จึงจะสามารถเห็นเทวดาทั้งหลาย  ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า  :-



"ภิกษุทั้งหลาย  ก็สมาธิภาวนาอย่างไหนที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ



ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดแสงสว่างไว้ในใจ  (อาโลกสญฺญํ  มนสิกโรติ)  และอธิษฐานให้สว่างเหมือนกลางวัน (ทิวาสญฺญํ  อธิฏฺฐาติ) เธอพยายามทำอยู่อย่างนั้น  ทั้งกลางวันและกลางคืน  กลางวันทำได้อย่างไร  กลางคืนก็ทำได้อย่างนั้น  หรือกลางคืนทำได้อย่างไร  กลางวันก็ทำได้อย่างนั้น  เธอมีใจสงบ  ไม่มีนิวรณ์หุ้มห่อ  ทำใจอันประกอบด้วยแสงสว่างให้เกิดขึ้น (สปฺปภาสํ  จิตตํ  ภาเวติ)  ภิกษุทั้งหลาย  สมาธิภาวนาอย่างนี้แลที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ


(อังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต  ๒๑/๔๑/๕๐ มจร./๕๗ มมร./๖๑-๒ ศน.)



>>>  จากหลักฐานที่อ้างมานี้จะเห็นว่า  ใครก็ตามในเมื่อสามารถเข้าสมาธิไปแล้ว  มีแสงสว่างเกิดขึ้นในใจและสว่างมากเหมือนกับแสงสว่างในเวลากลางวัน  พร้อมทั้งมีความชำนาญ  คือทำได้เช่นนี้เสมอไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน  คือเมื่อเข้าสมาธิไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนทั้งที่หลับตาแล้วมืดไม่เห็นอะไรเลยแต่ในใจไม่ได้มืดเพราะมีแสงสว่างเกิดขึ้น  และสว่างมากด้วย  เพราะมีแสงสว่างซึ่งเกิดจากใจที่เป็นสมาธิอย่างสูง  ด้วยแสงสว่างอันนี้จึงสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่ตาธรรมดามองไม่เห็น  เช่น อย่างพวกโอปปาติกะ(กายละเอียด)  หรือสิ่งต่างๆ ในโลกของโอปปาติกะ  ก็สามารถมองเห็นได้  แต่ขอบเขตของการเห็นนี้อาจจะไม่เหมือนกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิว่ามีมากน้อยแค่ไหน  ดังเช่น  ที่พระองค์ได้ตรัสกับพระอนุรุทธว่า :-


"อนุรุทธ  สมัยใดสมาธิของเราน้อย  สมัยนั้นจักษุของเราก็น้อย  เมื่อจักษุน้อยเราก็กำหนดเห็นแสงสว่างได้น้อย  และเห็นรูปได้น้อย  แต่ถ้าสมัยใด  สมาธิของเรามาก  สมัยนั้นจักษุของเราก็มาก  เมื่อจักษุมากเราก็กำหนดเห็นแสงสว่างได้มาก  และเห็นรูปได้มาก  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดคืนบ้าง  ตลอดวันบ้าง  ตลอดทั้งคืนทั้งวันบ้าง"


(มัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์  ๑๔/๒๔๓ มจร./๓๐๘-๙ มมร./๒๘๑ ศน.)


จากหลักฐานที่ยกมาให้เห็นนี้  ถ้าจะมีใครปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า  การฝึกสมาธิโดยใช้แสงสว่างเป็นนิมิตนั้น  พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติและได้บรรลุผลคือเกิดญาณทัสสนะ  สามารถเห็นรูปเห็นเทวดาต่างๆ  การเห็นรูปเห็นเทวดาต่างๆ ได้นั้น  แสดงให้เห็นว่าการฝึกสมาธิให้เกิดแสงสว่างในใจ  รูปที่เห็นมิใช่  "นิมิต"  แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากญาณทัสสนะอันละเอียด  และสิ่งที่เห็นเป็น "ของจริง"  เช่น  เรื่องเทวดาที่พระพุทธองค์ทรงเห็นและทรงพิจารณา อธิเทวญาณทัสสนะ  ซึ่งมีปริวัฏ ๘ จนบริสุทธิ์ดีแล้ว จึงทรงได้ปฏิญญาว่าพระองค์ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  


หรือท่านจะมีข้ออ้างอย่างอื่นนอกจากนี้  อย่างไรก็ตาม  ก็ขอได้โปรดคิดให้รอบคอบ  เว้นไว้แต่ท่านจะไม่ยอมรับว่า  เรื่องที่อ้างนี้เป็นพุทธพจน์  พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้  ถ้าอย่างนี้ก็เลิกพูดกันเพราะไม่มีประโยชน์อะไร  ที่จะถกเถียงกับบุคคลผู้ซึ่งมีนิสัยเข้าในลักษณะที่ว่า  "สิ่งใดชอบใจฉัน  ฉันเห็นด้วย  สิ่งใดไม่ชอบใจฉัน  ฉันไม่เห็นด้วย  หรือสิ่งใดลงรอยกับเรื่องที่เคยรู้  เคยเชื่อ  ก็ยอมรับ  ถ้าไม่ลงรอยหรือขัดกับเรื่องที่เคยรู้เคยเชื่อ  ก็หาทางปฏิเสธ"  



ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป...

อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

หมายเลขบันทึก: 144595เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท