คติที่ ๔ เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ ฯ


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๔ เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ ฯ

เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา

เที่ยงแท้แน่หนักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ
จุติแล้วปฏิสนธิ์ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น
สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา


คำกลอนนี้ เวลาหลวงพ่อสอนให้เรียนภาวนาเบื้องต้น ท่านยกคำกลอนนี้ขึ้นกล่าว เนื้อหาสาระของคำกลอนนี้ก็คือ ให้เอาใจไปตั้งมั่นไว้ที่ศูนย์กลางกาย เพราะดวงธรรมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อใจหยุดจึงจะเห็นดวงปฐมมรรค เป็นดวงใสโตเท่าฟองไข่แดงของไก่ เมื่อเห็นดวงปฐมมรรคแปลว่า พบทางเดินแล้ว แล้วการเดินวิชาก็จะเริ่มจากดวงธรรมนี้ต่อไป


"สิบ" คือฐานที่ ๖ และ "ศูนย์" คือฐานที่ ๗ โบราณเรียกฐานที่ ๖ ว่าสิบ และเรียกศูนย์กลางกายว่าศูนย์ การตั้งใจที่ศูนย์กลางกายนี้มีมาแต่โบราณ ตามคำกลอนที่หลวงพ่อยกขึ้นกล่าว แต่เหตุไฉน การเรียนภาวนาตามวัดต่างๆ ยังกำหนดใจที่ปลายจมูก และกำหนดในที่อื่น ยังหาที่มาที่ไปไม่ได้


การตั้งใจคือการตั้งต้น เมื่อตั้งต้นพลาดไปแล้ว ก็จะพลาดตลอดไป ฝรั่งเขาถือเคร่งครัดมาก ไม่ว่าอะไรจะต้องตั้งต้นให้ดี ตั้งต้นให้ถูก หากตั้งต้นไม่ดีหรือไม่ถูก ถือว่าล้มเหลว เขาถือว่าถ้าตั้งต้นดี เท่ากับสำเร็จครึ่งหนึ่งแล้ว ฝึกพัฒนาใจก็เช่นกัน เมื่อตั้งใจผิดแล้ว เป็นอันหมดหวัง เพราะกิเลสมันจะพาใจเราไปที่ผิดเสมอไป ท่านจึงกล่าวว่า "ผิดศูนย์ผิดทาง" หมายความว่า หากไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกายแล้ว ถือว่าผิดทาง ก็เรียนมาร้อยวันพันปีแล้ว หากไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกายแล้ว มีใครเห็นธรรมกายบ้าง เราจะพบนักปฏิบัติที่ได้รับการยกย่อง ครั้นเราศึกษาลึกลงไป ว่าท่านเคยเห็นกายธรรมบ้างหรือไม่ กายธรรมมีลักษณะอย่างไร เราจะทราบว่าไม่เคยเห็น ไม่รู้ด้วยว่ากายธรรมคืออย่างไร ทั้งที่ทุ่มเทชีวิตปฏิบัติธรรมมาตลอดชีวิต


ดังนั้น การสอนทำภาวนาเบื้องต้น หลวงพ่อท่านจึงยุติประเด็น การตั้งใจก่อน ว่าจะตั้งที่ตรงไหน ดังคำกลอนที่ว่า "เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา" คือการเห็นดวงใสนั้น มี ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนแรก เห็นดวงใสที่ฐานที่ ๖ ก่อน (คือเห็นที่สิบ) เป็นดวงใสเล็ก ขั้นตอนที่สอง เห็นดวงใสนั้น ลอยจากฐานที่ ๖ ขึ้นมาอีก ๒ นิ้วมือตนเอง มาสู่ฐานที่ ๗ (คือเห็นที่ศูนย์) คราวนี้ดวงใสเล็กนั้นจะโตขึ้นกว่าเดิม มีขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ เท่าดวงจันทร์ เท่าดวงอาทิตย์ตามฐานะของธาตุธรรม ใครมีบารมีมากดวงธรรมจะใหญ่


มาถึงประโยคที่ว่า "เที่ยงแท้แน่หนักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ" เราอ่านแล้วก็เข้าใจ ไม่ต้องอธิบาย


มาถึงประโยคที่ว่า "จุติแล้วปฏิสนธิ์ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น" หมายความว่า สัตว์โลกที่จะเกิด มีขั้นตอนดังนี้


ลำดับแรก สัตว์โลกผู้จะมาจุติ จะย่อกายเป็นธาตุธรรมละเอียด เป็นดวงใสมีขนาดเท่าเมล็ดโพธิ์หรือเมล็ดไทร หากเป็นชายเข้าทางปากช่องจมูกขวาของบิดา หากเป็นหญิงเข้าทางปากช่องจมูกข้างซ้ายของบิดา แล้วจุดใสนี้ จะเดินไปตามฐาน ๗ ฐานของบิดา คือเพลาตา(หญิงซ้าย ชายขวา) จอมประสาท ปากช่องเพดาน(เพดานปาก) ปากช่องลำคอ ฐานที่ ๖ และฐานที่ ๗ ของบิดา ขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนปฏิสนธิคือการเข้าสู่ครรภ์ของมารดา ขณะที่บิดากับมารดาประกอบประเวณีกิจคือการร่วมเพศกัน จุดใสของผู้จะเกิดซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายของบิดา ก็จะเคลื่อนย้ายจากบิดามาสู่มารดา คือจะเคลื่อนจากฐานที่ ๗ มาฐานที่ ๖-๕-๔-๓-๒-๑ ของบิดา เข้าสู่ฐาน ๗ ฐานของมารดา คือถ้าเป็นชายเข้าทางปากช่องจมูกขวาของมารดา (หากเป็นหญิงเข้าทางซ้าย)นั่นคือจากฐานที่ ๑-๒-๓-๔-๕-๖ พอจุดใสมาถึงฐานที่ ๖ ของมารดา ช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มสุดขีดแห่งการร่วมเพศ เป็นขั้นตอนปฏิสนธิจิต คือใจของบิดา มารดา บุตร ประสมกัน เมื่อใจประสมกันแล้ว ขณะนั้นเป็นสุดขีดแห่งรสประเวณี แล้วจุดใสนี้ก็เข้าสู่ครรภ์มารดา เมื่อสุดขีดแห่งสรประเวณีสิ้นสุดลง หมายความว่าจุดใสของผู้เกิดสู่ครรภ์มารดาแล้ว คือสู่ฐานที่ ๗ แล้ว นับแต่วันนี้ไประดูของมารดาก็ขาด ต่อมาจุดใสของผู้มาเกิดก็เจริญเติบโต ในที่สุดเป็นตัวตน แล้วก็คลอดออกมาเป็นทารกน้อย


"จุติแล้วปฏิสนธิ์" อธิบายแล้ว "ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น" ก็คือว่า เกิดแล้วก็เวียนเกิดเวียนตายกันต่อไป


มาถึงประโยคที่ว่า "สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา" เมื่อเป็นสังขารร่างกายขึ้นมาแล้ว ร่างกายสังขารของเราไม่จีรังยั่งยืน เป็นทุกข์นับแต่วันที่เราเกิดนั้น


ทำไมเกิดแล้วเป็นทุกข์ เพราะ เห็น จำ คิด รู้ ของเรา มารเขาเอาดวงทุกข์และสมุทัยใส่เข้าไป เรื่องนี้ไม่ยาก เมื่อเรียนวิชาธรรมกายสูงขึ้นไปแล้ว ท่านจะได้เรียนรู้ในหลักสูตรคู่มือสมภารต่อไป


ตามที่บรรยายมานี้ กล่าวถึงสิบศูนย์ในการเกิด และการเห็นธรรมก็เห็นจุดเดียวกับการเกิด คือเห็นที่"สิบ" ก่อน แล้วจึงมาเห็นที่ "ศูนย์" ตามที่กล่าวแล้ว


******************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215295เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท