คติที่ ๖ ผิดศูนย์ผิดทาง ไม่เข้ากลางออกนอก


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๖ ผิดศูนย์ผิดทาง ไม่เข้ากลางออกนอก

     นี่คือ เรื่องของความรู้มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ความรู้ธรรมดา มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีจุดตั้งต้น ถ้าตั้งต้นผิด มรรคผลนิพพานก็ล่มสลาย จะเป็นจริงไปไม่ได้ ได้แต่ปรารถนาเท่านั้น เรื่องตั้งความปรารถนานั้น ก็ปรารถนามรรคผลนิพพานกันทุกคน การที่เราบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ก็เพื่อหวังมรรคผลนิพพาน

     ถ้าจะให้ได้มรรคผลนิพพาน ก็ต้องตั้งต้นที่ศูนย์กลางกาย คือ ทำใจหยุดที่ศูนย์กลางกาย เพราะศูนย์กลางกายเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อตั้งต้นแล้วก็เดินทาง และการเดินทางนั้น จะเดินอย่างไร ท่านให้เข้ากลางเรื่อยไป ถ้าไม่เข้ากลาง ก็จะออกนอกเส้นทาง คือ เข้าป่าเข้ารกไป เมื่อเข้าป่าเขารกแล้ว เป็นอันว่าไม่ถึงนิพพาน คงอยู่ในป่าในรกนั้น

     เหตุนี้เอง ท่านจึงสอนว่า ผิดศูนย์ผิดทาง ไม่เข้ากลางออกนอก

     จะเริ่มมรรคผลนิพพานหรือยัง ถ้าเริ่มก็จงเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกาย จะเดินทางหรือยัง ถ้าเดินก็จงเข้ากลาง มีกฎเกณฑ์อย่างนี้ ต้องเรียนรู้ ต้องจดจำกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย

     การเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายนั้น ได้อธิบายมาแล้ว ตั้งแต่วิธีฝึก ฝึกเป็นแล้วเห็นดวงธรรม เห็นดวงธรรมแล้วเห็นกาย เห็นกายธรรมตามที่กล่าวแล้วในคติธรรมที่ผ่านมานั้น จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้อีก

     คราวนี้มาถึงประเด็นที่ว่า ไม่เข้ากลางออกนอก คือ การเดินวิชา ว่าเดินวิชาอย่างไร เราทราบแล้วว่า กลางก็คือกลางดวงธรรม จะมีจุดใสเท่าปลายเข็ม ให้ส่งใจลงที่จุดใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรม แล้วจะเห็นดวงธรรมอื่นเป็นลำดับไป เมื่อเห็นกายต่าง ๆ ตั้งแต่กายโลกีย์จนถึงกายธรรม ไปถึงกายใด ให้ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงธรรมในกาย และจรดใจลงไปที่จุดใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมเสมอไป แล้วจุดใสเล็กกลางดวงธรรมจะว่าง จากดวงธรรมหนึ่งไปถึงอีกดวงธรรมหนึ่งด้วยการเข้ากลางเสมอไป เราจะได้ยินเขาพูดว่า กลางของกลาง ดับหยาบไปหาละเอียด นี่ก็คือ เข้ากลางนั่นเอง ท่านไม่ให้ส่งใจไป นอก ใน ซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ระหว่างหัวต่อกาย เพราะเป็นป่ารก เพราะเป็นเส้นทางที่กิเลสจะนำพา เป็นทางตัน ท่านจึงห้ามไม่ให้เดินวิชาไปทางนั้น

     เส้นทาง ที่เขาให้เดิน คือ ทางสายกลาง ทางคือ ดวงมรรค ได้แก่ดวงธรรมต่าง ๆ สายกลางอยู่ตรงกลางดวงธรรม ก็คือ ตรงจุดใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมนั้น สายที่เขาห้ามเดินคือ นอก ใน ซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง หัวต่อกาย เส้นทางที่จะเดินได้เป็นทางเส้นเดียวเท่านั้น ไม่มีสอง ไม่มีสาม เป็นเอกายนมรรค เป็นทางเอก

     กิริยาที่ใจเดิน คือ กิริยาหยุด ถ้าใจหยุดคือ ใจเดิน ถ้าไม่หยุด แปลว่า ใจไม่เดิน

     จุดหมายที่ใจไปสู่ คือ มรรคผลนิพพาน อย่างไรจึงเรียกว่ามรรคผลนิพพาน เรื่องนี้ต้องเรียนวิชาธรรมกายตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นจนความรู้ชั้นสูง แล้วจะทราบเอง

     สรุปแล้ว ผิดศูนย์ผิดทาง ไม่เข้ากลางออกนอก” ก็คือ ตั้งต้นถูก เดินวิชาถูก นี่คือสูตรสำเร็จ

****************************************************************
จากหนังสือ คติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215298เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท