คติที่ ๙ เห็นใดฤามาตรแม้นธรรมกาย ฯ (คำประพันธ์)


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติ

คติที่ ๙  เห็น ใดฤามาตรแม้น ธรรมกาย
             จำ สนิทนิมิตหมาย มั่นแท้
             คิด ทำเถิดหญิงชาย ชูช่วยตนแฮ
             รู้ ยิ่งเบญจขันธ์แท้ แต่ล้วนอนิจจัง

     คำกลอนนี้ คือเรื่อง เห็น จำ คิด รู้ นั่นก็คือเรื่องของใจ ใจก็คือ เห็น จำ คิด รู้ หลวงพ่อท่านสอนว่า ให้เอา เห็น จำ คิด รู้ มารวมกันให้เป็นจุดเดียวกัน เอาไปตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายตัวเราเอง แล้วบังคับให้หยุด อย่าปล่อยให้เห็น จำ คิด รู้ พรากจากกันเป็นอันขาดทีเดียว เห็น จำ คิด รู้ เมื่อบังคับให้หยุดแล้ว จะเห็นธรรมทันที ถ้ายังไม่หยุด ก็ยังไม่เห็น หยุดเมื่อไร เห็นธรรมเมื่อนั้น

     ธรรมที่ว่านี้ ในเบื้องต้นเห็นเป็นดวงใส โตเท่าฟองไข่แดงของไก่ ครั้นเอาใจจรดอยู่กับดวงใสนี้ให้มั่นคงแล้ว เราจะเห็นธรรมในลำดับต่อไป คือ เห็นกายธรรม เป็นพระพุทธรูปขาวใสเกตุดอกบัวตูม กายธรรมที่ว่านี้คือ ธรรมกาย อันเป็นกายวิเศษ เมื่อเห็นได้เมื่อเข้าถึงได้ จะช่วยให้เราพ้นทุกข์พันภัยเป็นอเนกประการ

     ที่เราได้ยินว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย” นั้น ก็คืออย่างที่กล่าวนี้

     หลวงพ่อท่านสอนว่า เห็นใดฤามาตรแม้นธรรมกาย คือ ไม่มีอะไรเลิศเลอไปกว่าการเห็นธรรมกายอีกแล้ว จำสนิทนิมิตหมาย มั่นแท้ ก็คือว่า การฝึกใจให้เป็นธรรมกายนั้น หลวงพ่อท่านสอนให้กำหนดดวงนิมิตขึ้นก่อน เพราะการที่จะทำใจให้หยุดนั้น ทำได้ยาก ต้องมีวิธีการ 2 อย่างประกอบกัน คือ กำหนดดวงนิมิตขึ้นก่อน เป็นการนึกขึ้นโดยใจ คือ นึกเห็นดวงเพชรใสที่เจียระไนแล้ว เป็นดวงกลมโตเท่าแก้วตา เอาดวงเพชรใสนี้ไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย นี่เป็นวิธีการที่หนึ่ง และประกอบด้วยวิธีการที่สอง คือ เอาใจจรดนิ่งลงไปที่ดวงนิมิตนั้น แล้วบริกรรมในใจด้วยคาถาว่า สัมมา อะระหัง บริกรรมเรื่อยไป จนในที่สุดเกิดสภาพใจหยุดใจนิ่ง ดวงนิมิตเพชรใสจะหายไป แล้วเราจะเห็นดวงธรรมในท้องของเรา เป็นดวงขาวใสบริสุทธิ์ แปลว่า เราเห็นดวงธรรมเบื้องต้นแล้ว ต่อไปเราก็เอาใจจรดนิ่งกลางดวงธรรมที่เราเห็นนั้น แล้วเราก็จะเห็นธรรมกายต่อไป ความยากของการฝึกอยู่ที่การกำหนดดวงนิมิต หลวงพ่อจึงกำชับว่า จำสนิทนิมิตหมายมั่นแท้

     “คิดทำเถิดหญิงชายชูช่วยตนแฮ” ก็คือ หลวงพ่อท่านชักชวนให้ฝึกแต่บัดนี้ ให้คิดรีบเรียนรีบฝึกตั้งแต่วันนี้ทีเดียว อย่ารอไว้วันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้เราอาจตายไปก่อนก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ที่แน่นอนคือ วันนี้ ให้เรียนเดี๋ยวนี้

     “รู้ยิ่งเบญจขันธ์แท้แต่ล้วนอนิจจัง” เมื่อเป็นธรรมกายแล้ว ให้เร่งฝึกเร่งเรียนความรู้ชั้นสูงต่อไป พระบรมศาสดาทรงเรียนอย่างไร เราก็เรียนอย่างนั้น ขอบข่ายของความรู้วิชาธรรมกายนั้นกว้างขวาง ละเอียด ลึกซึ้ง หลวงพ่อท่านเขียนเป็นตำราไว้ 3 เล่ม คือ

     1. ทางมรรคผล 18 กาย เล่มนี้เป็นเล่มเบื้องต้น ทุกคนต้องเรียนได้

     2. คู่มือสมภาร เป็นความรู้ชั้นสูง มี 15 บท หากรวมบทภาคผู้เลี้ยงเข้าด้วย เป็น 30 บท

     3. วิชชามรรคผลพิสดาร เป็นความรู้ชั้นสูง มี 46 บท

     ข้าพเจ้าได้พัฒนาวิชาธรรมกายให้ง่ายต่อการเรียนของคนรุ่นใหม่ มีความประสงค์ให้วิชาธรรมกายง่าย ให้ทุกคนเรียนได้ ให้เป็นสากล ไม่เจาะจงเฉพาะผู้มีบารมีธรรมเท่านั้น ทุกคนต้องเรียนได้ ทุกคนต้องฝึกได้

     หนังสือวิชาธรรมกายของหลวงพ่อทั้ง 3 เล่ม เมื่อได้มาขยายความให้ง่าย แล้วทำแนวเดินวิชาแล้ว เป็นดังนี้

          1. เล่มทางมรรคผล 18 กาย ให้ชื่อในเล่มใหม่ว่า “ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย”

          2. เล่มคู่มือสมภาร ให้ชื่อเล่มใหม่ว่า “แนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภาร ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ”

          3. เล่มวิชชามรรคผลพิสดาร ให้ชื่อใหม่ว่า “แนวเดินวิชาหลักสูตรวิชชามรรคผลพิสดารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ”

     เหตุผลที่นำหนังสือวิชาธรรมกายของหลวงพ่อมาขยายความและทำแนวเดินวิชา เกิดจากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเผยแพร่วิชาธรรมกายในต่างจังหวัด สมัยที่ข้าพเจ้ามีตำแหน่งราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอ พระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ มักเชิญข้าพเจ้าไปเป็นวิทยากรสอนวิชาธรรมกาย ส่วนใหญ่เป็นงานปริวาสกรรม มักจะมีพระสงฆ์มารวมกันมาก ๆ เจ้าสำนักมักจัดให้มีการฝึกภาวนา หน้าที่สอนภาวนาเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้นำหนังสือ 18 กายของหลวงพ่อไปถวาย แล้วก็ติดตามดูว่าจะเกิดผลอะไรบ้าง ท่าที่ได้ฟังมา พระท่านบ่นว่า หนังสือเล่มนี้บอกแต่หลักการ ไม่บอกแนวปฏิบัติ จึงยากต่อการฝึก อ่านตำราแล้วก็ว่าทำได้ ครั้นหลับตาเดินวิชาแล้ว กลับเป็นว่าทำไม่ได้ตามตำรา คำวิจารณ์นี้ได้ยินมานานแล้ว

     แม้ได้ยิน แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เพียงแต่รับฟังไว้เท่านั้น

     เป็นอันว่า เมื่อท่านใดเห็นดวงธรรม การเดินวิชา 18 กาย เราจะต้องบอกวิชาเองทั้งหมด วิทยากรเหนื่อยมาก บางครั้งต้องต่อวิชาคราวละ 100 ราย วิทยากรแทบไม่ได้พักเลย เพราะการสอนกันทีละขั้นตอนไปทีเดียว ก็เล่มเบื้องต้น มีปัญหาถึงขนาดนี้ แล้วเล่มวิชาธรรมกายชั้นสูง จะมีปัญหาขนาดไหน

     นี่คือที่มาของการเรียนขยายความและทำแนวเดินวิชาธรรมกาย ครั้นทำแนวปฏิบัติแล้ว ก็ง่ายต่อการเดินวิชา ใคร ๆ อ่านก็เข้าใจ บัดนี้ หนังสือทั้ง 3 เล่มพิมพ์ออกสู่ตลาดแล้ว ขอเชิญท่านติดตาม

     เมื่อเราเรียนสูงขึ้นไปแล้ว เราก็เห็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ นั่นคือเราได้เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า เบญจขันธ์ รูปคือกาย เวทนาคือเห็น สัญญาคือจำ สังขารคือคิด วิญญาณคือรู้ พูดอย่างเข้าใจง่ายก็คือ กายกับใจเป็นทุกข์ เพราะมารเขาเอาทุกข์และสมุทัยมาใส่ไว้ สัตว์โลกจึงแก่ เจ็บ ตาย รู้เห็นได้ด้วยรู้ญาณของธรรมกาย เท่านั้น จะรู้เห็นโดยวิธีอื่นไม่มี

     ที่ เราได้ยินเขาพูดกันว่า เบญจขันธ์เป็นทุกข์ นั่นคือ การรู้ตามตำรา แต่เรายังไม่เห็นกับตา จะเห็นได้ก็ต้องฝึกใจให้เป็นธรรมกาย เพราะรู้ญาณของธรรมกายสามารถเห็นอริยสัจได้ไม่มีวิธีอื่นเลย

คำประพันธ์ของหลวงพ่อบทนี้สำคัญมาก

     ขอให้ท่านท่องจำให้ได้ เพราะมีความสำคัญสุดยอด ที่ว่าสำคัญ ก็คือ เรื่องธรรมกายนั้น เป็นธรรมวิเศษที่พระพุทธองค์ทรงเห็นในวันวิสาขบูชา พูดอย่างถ้อยคำทางพระก็ว่า เป็นธรรมวิเศษที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาหลังจากที่ทรงทำความ เพียรมา 6 ปี หลังจากที่ทรงเห็นธรรมกายแล้ว ธรรมกายของพระองค์ก็บอกปิฎก 84,000 ธรรมขันธ์ ตามที่เราศึกษาเล่าเรียนปิฎกนั้นในทุกวันนี้ ไม่ว่าใครเมื่อตรัสรู้แล้ว ถือว่ามีฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องบัญญัติพระไตรปิฎกอย่างนี้ทั้งนั้น

     เรื่องที่เราต้องพูดกันในวันนี้ ก็คือ วิชาธรรมกายนี้มารเขาหวง เพราะหากใครได้เข้าถึงได้เห็น ย่อมจะมีรู้มีญาณไปเห็นวิชาของมารเข้า ว่าเขาข่มเหงสัตว์โลกอย่างไร เริ่มตั้งแต่ทำให้เรา แก่ เจ็บ ตาย เกิดวิบัติ ข้าวยากของแพง สารพัดเรื่องที่เขาจะทำ โดยไม่มีใครไปรู้เห็นวิธีการ ของเขา วิชาธรรมกายนี้เป็นสื่อสำคัญที่จะต่อรู้ส่องญาณให้เราไปรู้เห็นความลี้ลับ ความเร้นลับที่อยู่ของมาร ว่าเขาอยู่กันอย่างไร ไปรู้เห็นวิชาที่เขาทำไว้เพื่อข่มเหงรังแกสัตว์โลก เขาจึงดับวิชา ธรรมกายโดยเร็วพลัน เมื่อพระบรมศาสดาเข้านิพพานได้ไม่นาน วิชาธรรมกายก็ดับสูญ ไม่มีพระสงฆ์ปฏิบัติสืบต่อ ทำให้มรรคผลนิพพานขาดตอนมาแต่บัดนั้น ให้สังเกตดูพระไตรปิฎก จะมีเรื่องวิชาธรรมกายอยู่บ้าง ดูว่าเล็กน้อยเหลือเกิน แต่วิชาของมารมีเต็มเมือง เช่น ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา เล่นแร่แปรธาตุ เป็นต้น

     เป็นโชคดีของชาวโลก ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำมาเกิด ค้นวิชาธรรมกายมาได้อีกครั้งหนึ่ง เราต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันเรียน โดยเฉพาะตำราวิชาธรรมกายของหลวงพ่อ 3 เล่ม ที่กล่าวแล้วนั้น ต้องเรียนกันให้ได้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น หากไม่เป็นวิชาธรรมกายแล้ว มรรคผลนิพพานไกลสุดเอื้อม พูดตรงแล้ว พูดสั้นแต่ได้ความ

เกิดมาชาติ นี้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น หากไม่เป็นธรรมกายแล้ว ไม่มีประโยชน์เลย ถึงจะรวยล้นฟ้า ถึงจะมีอำนาจล้นโลก ดูว่ามีประโยชน์น้อยนัก เพราะไม่เห็นของจริง อำนาจก็ดี ความรวยก็ดี ติดตัวไปในวันตายไม่ได้ทั้งนั้น แต่ธรรมกายติดตัวเราในทุกโอกาสและทุกสถานะ ช่วยเราได้ทุกโอกาสและทุกสถานะ

 

 

****************************************************************
จากหนังสือ คติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215303เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท