คติที่ ๑๑ พายเถอะนะเจ้าพาย (คำกลอน)


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๑๑.  พายเถอะนะเจ้าพาย  (คำกลอน)


               พายเถอะนะเจ้าพาย
               ตลาดจะวาย  สายบัวจะเน่า
               โซ่ไม่แก้  กุญแจไม่ไข
               จะไปกันได้อย่างไรละเจ้า


หลวงพ่อเป็นคนอำเภอสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ภูมิประเทศของท้องที่อำเภอสองพี่น้อง  เมื่อถึงฤดูน้ำท่วม  เราใช้เรือเป็นพาหนะ  คือใช้เรือพาย  เมื่อลงเรือแล้วต้องพาย  เรือจึงไปถึงจุดหมาย  เมื่อหมดธุระแล้ว  ต้องเอาเรือมาเก็บ  วิธีเก็บเรือ  ต้องใช้กุญแจด้วย  เพื่อป้องกันขโมย  นี่คือลักษณะการสัญจรไปมาในสมัยที่หลวงพ่อใช้ชีวิตฆราวาสที่บ้านเกิดของท่าน


ครั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระ  ภาพชีวิตยังติดตาติดใจหลวงพ่ออยู่โยงมาถึงการปฏิบัติธรรมของท่าน  ท่านเอาภาพพจน์แห่งชีวิตมาเปรียบเทียบเป็นคำกลอนตามที่ยกมานั้น


ประโยคที่ว่า  “พายเถอะนะเจ้าพาย  ตลาดจะวาย  สายบัวจะเน่า”  คือเมื่อเราลงเรือแล้ว  ให้รีบพาย  จะได้ไปถึงจุดหมายเร็วๆ หากล่าช้า  เมื่อเรือไปถึงตลาด  จะซื้อของไม่ได้  เพราะตลาดวาย  คือแม่ค้าเก็บสินค้าหมดแล้ว  เราซื้ออะไรไม่ได้แล้ว  สายบัวที่เรามีไป  ตั้งใจจะเอาไปขาย  เห็นจะขายไม่ได้เสียแล้ว  มันเน่ามาตามทางแล้ว  เพราะเราไม่เร่งพายเรือ  เป็นเหตุ  แปลว่าทุกอย่างเสียการหมด  ซื้อของไม่ได้  แถมสินค้าของเราก็เน่าเสีย  เพราะความล่าช้านั่นเอง


นี่คือ  ความหมายทางภาษา  แต่ความหมายที่หลวงพ่อต้องการก็คือ  สอนให้รีบปฏิบัติธรรม  เมื่อมีความตั้งใจแล้วให้รีบปฏิบัติ  อย่าผัดวันประกันพรุ่ง  จะรอเมื่อนั้นเมื่อนี้  จะเสียโอกาส  สุขภาพร่างกายของเรายังพอทำได้  ก็น่าจะรีบทำ  หากเกิดความชรา  เราจะทำได้น้อย  เพราะสุขภาพร่างกายไม่อำนวยเสียแล้ว


ประโยคที่ว่า  “โซ่ไม่แก้  กุญแจไม่ไข  จะไปกันได้อย่างไรละเจ้า”  เราตั้งใจจะไปกันแล้ว  เอาเข้าจริง  โซ่เรือยังไม่แก้  แม้กุญแจเรือก็ยังไม่ไข  ที่ว่าเราจะไปไหนกันนั้น  เป็นอันระงับ  เพราะไม่มีความพร้อมอะไรเลย


นี่คือ  ความหมายทางภาษา  แต่ความหมายของหลวงพ่อ  ท่านต้องการให้เรามีความพร้อม  เมื่อจะทำอะไร  ต้องเตรียมอะไรให้พร้อม  หากไม่พร้อมแล้ว  เราทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น


หลวงพ่อของเรามีประวัติว่า  ท่านปรารภจะบวช  แต่บวชไม่ได้เพราะห่วงมารดา  จึงขจัดความห่วงทั้งปวง  ด้วยการที่หลวงพ่อรีบทำการค้า  เพื่อให้มารดาของท่านมีเงินใช้ตลอดชีวิต  ครั้นมารดาของหลวงพ่อมีเงินก้อนใหญ่แล้ว  หลวงพ่อบวชทันที  คราวนี้ไม่มีห่วงแล้ว  เพราะแก้โซ่เรือแล้ว  ไขกุญแจเรือแล้ว  ความห่วงทั้งปวงและความกังวลทั้งปวงเป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรม


สรุปคติชีวิตของหลวงพ่อบทนี้ว่า  การเดินทางสร้างบารมีนั้น  ต้องรีบทำ  ต้องวางแผนว่าจะทำอะไร  เตรียมการให้เสร็จทุกเรื่อง  มิฉะนั้นงานสร้างบารมีดำเนินไปไม่ตลอด  เราก็เห็นหลวงพี่มาหลายรูป  ที่บวชอยู่แต่ต้องสึกออกมา  ทั้งที่ท่านทำหน้าที่ทางศาสนาได้เป็นที่ประทับใจเรา  เราพอใจฝีมือของท่าน  แต่ท่านก็รับใช้พระศาสนาไม่ได้นาน


บางคนมาคิดบวชเอาตอนแก่  เราทำกิจศาสนาไหวไหม  เราทำกิจวัตรลุลวงไหม  เพราะเราเป็นคนแก่  มาคิดเรียนภาวนาเอาตอนแก่  ใจของคนแก่ ดัดยาก  ไม่เหมือนใจของเด็ก  ใจของเด็กดัดง่ายกว่ามาก  ข้าพเจ้าเคยฝึกนักเรียนหญิงชั้น  ม.๖  จำนวน ๒๐๐ คน  ให้เจริญภาวนาวิชาธรรมกาย  เพียง ๒ คืน  นักเรียนฝึกได้ยกชั้น  จึงได้ข้อคิดว่า  อย่าไปทำอะไรในตอนที่เราอายุมากเลย  เพราะตลาดวายแล้ว  สายบัวเน่าแล้ว  จริงอย่างที่หลวงพ่อท่านว่า  โอกาสไม่ให้แล้ว  ร่างกายไม่เอากับเราแล้ว  สภาพใจของคนมีอายุกร้านมาก  ยากต่อการดัด  ไม่เหมือนใจของเด็ก  สภาพใจของเด็กดัดได้ง่ายกว่ามาก


อีกความหมายหนึ่งของคำ  “ตลาดวาย”  ก็คือในขณะที่มีครูอาจารย์ที่จะสอนให้ได้  ควรจะรีบเรียน   รับกระวีกระวาด  หากไม่มีครูไม่มีอาจารย์  แต่เกิดนึกอยากเรียนเอาตอนนั้น  นี่ก็เข้าลักษณะตลาดวายเหมือนกัน


หลวงพ่อของเรามีอะไรแปลกอยู่อย่างหนึ่ง  คือจะพูดอะไร  มักเป็นปริศนา  เราต้องตีความเสมอไป  เช่น  “พายเถอะนะเจ้าพาย  ตลาดจะวาย  สายบัวจะเน่า”  หมายความว่า  จะทำอะไรก็จงรีบทำ  หากล่าช้าก็จะเสียข้างเสียของ  “โซ่ไม่แก้  กุญแจไม่ไข  แล้วจะไปกันได้อย่างไรละเจ้า”  หมายความว่า  เมื่อดูไปแล้ว  พวกเราไม่มีอะไรพร้อมเลยเราจะไปเอามรรคผลนิพพานที่ไหนกัน  คือหลวงพ่อท่านเตือน  เราจะเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้  สุดแต่ว่าเราจะเอาความหมายอย่างไร  คือเรามีสิทธิ์ตีความได้หลายอย่าง

************************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม  คตินิยม  การดำเนินชีวิต  ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215306เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท