คติที่ ๑๖ ถ้าอ่อนให้อ่อนอย่างสำลี ถ้าแข็งให้แข็งอย่างเพชร


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๑๖ ถ้าอ่อนให้อ่อนอย่างสำลี ถ้าแข็งให้แข็งอย่างเพชร


ถ้าอ่อน ให้อ่อนอย่างสำลี

ถ้าแข็ง ให้แข็งอย่างเพชร


สำลีเป็นวัตถุสีขาว มีความอ่อนละมุนละไม เพชรเป็นวัตถุมีความแข็ง ความแข็งของเพชรเอาไปตัดกระจกได้ มวลหมู่รัตนชาติทั้งปวง เพชรมีความแข็งมากกว่าใครทั้งหมด เพชรมีความแข็งเป็นเอก ลักษณะเด่นของเพชรคือแข็ง และลักษณะเด่นของสำลีคือความอ่อน


ความอ่อนและความแข็งนี้ โบราณท่านใช้สอนเป็นคำเปรียบเทียบ เช่น ให้อ่อนเหมือนสนลู่ลม (ต้นสน) อ่อนเหมือนอ้อลู่ลม (ต้นอ้อ) อ่อนเหมือนไผ่ (ต้นไม้ไผ่) จงแข็งเหมือนก้อนศิลา แข็งเหมือนเหล็ก แข็งเหมือนเพชร เป็นต้น


ต้นอ้อ ต้นสน และต้นไผ่ เมื่อถูกลมแรง หากไม่ลู่ไปตามลมก็หัก นี่คือต้นไม้เหล่านี้มีกำลังน้อยกว่าลม เมื่อมีกำลังน้อย จึงต้องลู่ไปตามกำลังแรงที่มาปะทะ หมายความว่าผู้ที่มีกำลังน้อยย่อมแพ้แก่ผู้ที่มีกำลังมาก ผู้ที่มีกำลังมากเขาแรงมา ผู้มีกำลังน้อยก็ต้องอ่อนให้ มิฉะนั้น ผู้มีกำลังน้อยจะอยู่ไม่ได้ คือต้องหักแตกสลายไป


ตามที่บรรยายมานี้ ไม่เกี่ยวกับคติของหลวงพ่อ แต่เป็นการกล่าวโดยทั่วไป เพื่อประกอบความเข้าใจในการพิจารณาคติหลวงพ่อที่สอนว่า "ถ้าอ่อน ต้องอ่อนอย่างสำลี ถ้าแข็ง ต้องแข็งอย่างเพชร"


คติของหลวงพ่อที่ว่า "ถ้าอ่อน ให้อ่อนอย่างสำลี ถ้าแข็งให้แข็งอย่างเพชร" หลวงพ่อท่านหมายความอย่างไร เมื่อเราจะอ่อนแล้วให้มีความน่ารัก เพราะสำลีอ่อนอย่างละมุนละไม แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องแข็งก็ต้องแข็งให้ตลอด อย่าได้เปลี่ยนใจมาอ่อนทีหลัง แข็งแล้วมาอ่อนข้อให้ทีหลัง ใครๆ ก็ไม่นับถือ เพราะขาดความจริงใจขาดความเด็ดเดี่ยว โอนเอนเหมือนต้นอ้อ ขาดเหตุ ขาดผล จะเสียการทั้งหมด หากเป็นผู้นำ ก็จะนำใครไม่ได้ ไม่มีใครนับถือ เพราะเป็นคนไม่มีจุดยืน เป็นคนมีอารมณ์ไปตามอากาศ เสียหายมาก ดังนั้น จะอ่อนหรือจะแข็ง ต้องตัดสินใจให้ดี หาทางเลือกให้ดี อ่อนนั้นไม่มีปัญหา เพราะทำง่าย ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าตัดสินใจจะแข็งแล้ว ต้องให้แข็งจริงๆ ให้แข็งอย่างเพชร

เกี่ยวกับงานที่เราทำในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะทำงานกับผู้ใหญ่ จะมีการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ตลอดชีวิตที่เราทำงาน ว่า เราจะอ่อนอย่างสำลีหรือจะแข็งอย่างเพชร เพราะบางครั้งเราก็ต้องแข็งอย่างเพชรบ้าง และบางครั้งเราก็ต้องอ่อนอย่างสำลี


จบเรื่องอ่อนอย่างสำลี และแข็งอย่างเพชรเพียงนี้


มีเรื่องของหลวงพ่อเรื่องแข็งอย่างเพชร มาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็เกิดปัญญาแก่เรา เรื่องที่จะเล่านี้ ได้ยินสมเด็จป๋าทรงเปรย หลวงพ่อเราเคยถูกผู้ใหญ่สั่งให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกใจหลวงพ่อ หลวงพ่อเราทำอย่างไร


หลวงพ่อท่านยิ้มรับ หลวงพ่อไม่เถียง ไม่โต้แย้งอะไรหมด โต้เถียงหรือให้เหตุผลอะไรก็ไร้ผล หลวงพ่อท่านยิ้มรับ พูดจาอย่างนิ่มนวล อย่าให้เขารู้ว่าเราปฏิเสธอยู่ในใจ พบปะที่ใดก็ต้อนรับและปฏิสันถารเป็นอันดี พูดจาให้นิ่มนวลเข้าไว้ ผลสุดท้าย หลวงพ่อไม่เสียไมตรี ไม่เสียมิตร พูดให้ดีเข้าไว้ต่อหน้าและลับหลัง


นี่คือ แข็งอย่างเพชรของหลวงพ่อแล้ว เราต้องจำวิธีไว้ การโต้เถียงเอาชนะไม่เป็นผลดี การมาหักกันไม่เป็นผลดี การกล่าวโทษกันไม่ใช่วิธีของนักปราชญ์ เมื่อเราไม่ชอบ เราก็ไม่ติดต่อ เรื่องจะยุติด้วยดี


หลวงพ่อเคยถูกวิจารณ์เรื่องการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อ ต่างก็ให้ความเห็นในประการต่างๆ มีการพูดกันทั่วไป ข่าวนี้ทราบไปถึงหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านก็เฉยต่อคำวิจารณ์ คงปฏิบัติธรรมรุดหน้าต่อไป ท่านไม่สนใจคำวิจารณ์นั้น มีคนไปถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พูดว่า คนไม่รู้มาวิจารณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มันผิดหลักนักปราชญ์ สุดท้ายคำวิจารณ์นั้นก็เงียบไปเอง กลวิธีของหลวงพ่อคือ อย่าไปตอบโต้ ให้เราปฏิบัติธรรมให้รุดหน้าต่อไป


ก็ถูกของหลวงพ่ออีก ถ้าเราตอบหรือชี้แจง ผู้รับคำชี้แจงเขาไม่มีความรู้ ถึงเราจะพูดอะไร เขาก็ไม่รู้เรื่อง แล้วเราจะไปตอบโต้ทำไม เราคงปฏิบัติธรรมรุดหน้าต่อไป เกิดประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ เพราะสภาพใจของผู้ปฏิบัติสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่รับอารมณ์แห่งคำวิจารณ์ คำวิจารณ์มิได้กระทบกระทั่งจิตใจเรา กลับจะมีผลให้เกิดดการปฏิบัติแก่กล้าขึ้น กลายเป็นผลดีของผู้ปฏิบัติไป


คำนินทาก็ดี คำวิจารณ์ก็ดี เมื่อเราได้ยิน เราต้องพิจารณาทันที หากงานที่เราทำเป็นความดี เป็นความถูกต้องและบริสุทธิ์แล้ว ควรดำเนินการต่อไป แต่เราไม่ตอบโต้ เพราะโบราณท่านกล่าวว่า "รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ" เรื่องจะไม่ยาวความต่อไป หากแต่เป็นความบกพร่องตามคำวิจารณ์ เราต้องแก้ไขปรับปรุงทันที เพราะคำนินทา และคำวิจารณ์เป็นกระบวนการวัดผลอย่างหนึ่งในสังคม อย่างน้อยเราก็ได้สำรวจงานของเรา


*************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215315เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท