คติที่ ๒๐ ไม่สู้แต่ไม่หนี


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๒๐ ไม่สู้ แต่ไม่หนี

คติ “ไม่สู้ แต่ไม่หนี” ของหลวงพ่อ มีความพิสดารมากมายต้องค่อยๆ อ่าน แล้วประมวลเรื่องให้ติดต่อกัน จึงจะเข้าใจได้

ข้อมูลที่มาของเรื่อง มีความเป็นมาอย่างไร เราต้องทราบก่อน แล้วจึงจะมาถึงคติ “ไม่สู้ แต่ไม่หนี”

เหตุเกิดจากอะไร เกิดจากหลวงพ่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ผลที่ตามมาเนื่องจากหลวงพ่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ทางวัดปากน้ำไม่ยินดี พูดอย่างเข้าใจง่ายก็คือ เขาต่อต้าน การต่อต้านแสดงออกโดยการวิจารณ์

ผลที่เกิดแก่หลวงพ่อ ก็คือหลวงพ่อโดนมรสุมชีวิต โดยที่หลวงพ่อไม่คาดคิดมาก่อน

สถานภาพวัดปากน้ำในครั้งนั้น วัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวง แต่วัดมีความเป็นอยู่กึ่งสภาพวัดร้าง ไม่มีอะไรเจริญ มีแต่ปัญหาน้อยใหญ่ ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ทางการสงฆ์ต้องคัดเลือกพระมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อไป

ทางการสงฆ์ทราบปัญหาของวัดปากน้ำเป็นหรือไม่ ทางการสงฆ์ทราบปัญหาของวัดปากน้ำเป็นอันดี กำลังคิดแก้ไข วิธีแก้ของทางฝ่ายสงฆ์ ก็คือคัดเลือกพระดีๆ มาเป็นเจ้าอาวาส เพื่อจะได้แก้ปัญหาทั้งปวงนั้น

วัดปากน้ำในตอนนั้น อยู่ในปกครองของวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ในครั้งนั้น คือสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺต) และหลวงพ่อในครั้งนั้น เป็นพระลูกวัดของวัดโพธิ์ นั่นคือ สมเด็จพระวันรัต เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ สมเด็จฯ ทรงทราบปัญหาของวัดปากน้ำ หากยอมให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างนานไป ยิ่งจะเกิดปัญหาต่อไปอีก เห็นว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นพระเคร่งวินัยและสนใจในการเจริญภาวนา หากให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาทั้งปวงได้ นี่คือแนวคิดของพระเถระผู้ใหญ่

การจะเอาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาสไม่ใช่เรื่องทำง่าย ในตอนนั้น พระสด จันทสโร ยังมีอายุน้อย กำลังสนุกอยู่กับการศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านภาษาบาลีและวิปัสสนาธุระ หากสมเด็จฯ จะใช้อำนาจทางสงฆ์แต่งตั้งโดยทันที จะเป็นการกระทบใจหลวงพ่อมาก จึงหาวิธีหว่านล้อมด้วยประการต่างๆ ประการแรกต้องให้หลวงพ่อยินยอมเสียก่อน แล้วสมเด็จพระวันรัตท่านก็ดำเนินการทันที ในฐานะที่เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ สมเด็จฯ ท่านยกย่องว่าหลวงพ่อเป็นนักปกครอง หลวงพ่อเป็นนักการศึกษา หลวงพ่อเป็นวิปัสสนาจารย์ที่มีความรู้ หลวงพ่อเป็นพระเคร่งวินัย หากได้เป็นเจ้าอาวาส ก็จะช่วยกิจการพระศาสนาได้มาก สมเด็จฯ ทรงกล่าวทั้งในที่ประชุมและในที่ลับ แต่ยังไม่บอกว่าจะให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่ไหน

หลวงพ่อทราบข่าวว่าสมเด็จฯ อาจารย์ยกย่องก็ดีใจ แต่ยังไม่ยอมรับจะเป็นเจ้าอาวาส เพราะยังสนุกอยู่กับการเรียน วันหนึ่งสมเด็จฯ ทรงเรียกเข้าพบ แจ้งเรื่องวัดปากน้ำให้หลวงพ่อทราบ ขอร้องให้หลวงพ่อรับคำเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อก็นิ่ง ไม่ตอบอะไร แต่พอสมเด็จฯ อาจารย์บอกว่า ขอให้คิดว่าช่วยพระศาสนาเถิด คำนี้เองชนะใจหลวงพ่อ และหลวงพ่อรับคำทันที

ต่อมา หลวงพ่อก็มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

แล้วหลวงพ่อก็พบมรสุมชีวิตทันที คือเจ้าถิ่นเขาไม่ยอมรับ

ในวันที่หลวงพ่อมาถึงวัดปากน้ำ หลวงพ่อทำ ๒ เรื่อง คือ

๑. เข้าไปไหว้พระประธานในโบสถ์ อธิษฐานใจว่า "ภิกษุใดที่ยังไม่มา ขอให้มา เมื่อมาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข"


๒. หลวงพ่อประชุมพระเณรและอุบาสิกา เรื่องที่หลวงพ่อกล่าวสรุปแล้ว มีดังนี้ ขอให้เคารพในปกครอง ขอให้ช่วยกันทำกิจของพระศาสนา ขอให้ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย หากเราซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยแล้ว เราก็จะเจริญ

งานการศึกษาของวัด ยังไม่มี หลวงพ่อจัดทันที เปิดเรียนทั้งฝ่ายบาลีและนักธรรมและวิปัสสนาธุระ หลวงพ่อจัดครูเข้าทำการสอนส่วนวิปัสสนานั้นหลวงพ่อสอนเอง

หลวงพ่อเอาจริงกับงาน ทุกวันต้องรายงานว่ามีใครขาดเรียนบ้าง ขาดเรียนเพราะอะไร ทำบัญชีนักเรียนทุกระดับการศึกษาไว้ เพื่อเป็นข้อมูลตรวจสอบจำนวนสมาชิก

ในสมัยนั้น ยังไม่มีสะพานพระพุทธยอดฟ้า การคมนาคมไม่สะดวก แม้โรงเรียนประถมศึกษาก็ยังมีไม่แพร่หลาย ทำให้เด็กเล็กไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง พูดถึงการศึกษาแล้วยังด้อยอยู่มาก หากเกิดเป็นเด็กชาย จะได้รับการศึกษาก็เป็นการศึกษาจากวัด คือเรียนจากญาติที่บวชพระเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเด็กหญิงแล้ว โอกาสทางการศึกษาสิ้นสุดลงทันที ไม่รู้จะไปเรียนที่ใด วัดปากน้ำอยู่ติดกับบ้านเรือนเอกชน มีเด็กจำนวนหนึ่งเข้ามาเล่นในวัด ล่อแหลมต่อการกระทบกระทั่งกันระหว่างบ้านกับวัด หลวงพ่อคิดขึ้นว่า หากเราตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น ให้ผู้ปกครองนำลูกหลานมาเรียนฟรี ปัญหาน่าจะหมดไป

แล้วหลวงพ่อก็จั้งโรงเรียนประถมศึกษาของวัดขึ้น โดยให้ผู้ปกครองนำลูกหลานมาเรียน ทางวัดให้เรียนฟรี ไม่เสียค่าบริการใดๆ อุปกรณ์การเรียนการสอนและค่าจ้างครู หลวงพ่อท่านรับเป็นเจ้าภาพ

เมื่อหลวงพ่อตั้งโรงเรียนให้เรียนฟรีนั้น เสียงวิจารณ์ลดลงมาก เพราะเห็นความดีของหลวงพ่อ

หลวงพ่อกวดขันการศึกษาฝ่ายสงฆ์มาระยะหนึ่ง ปรากฏว่าพระเณรสอบธรรมสนามหลวงได้มาก ทำให้สำนักเรียนวัดปากน้ำเป็นที่สนใจของทางคณะสงฆ์ทันที วัดปากน้ำเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นแล้ว สุดท้ายทางการสงฆ์กำหนดให้วัดปากน้ำเป็นสนามสอบธรรมสนามหลวง แล้ววัดปากน้ำก็เป็นที่นิยมของคนทั่วไปมาตั้งแต่บัดนั้น

มาถึงยุคหนึ่ง ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๔ มีข้อมูลออกมาว่า วัดปากน้ำมีพระเณรมากที่สุดในประเทศไทย เฉพาะพระเณรมี ๑,๐๐๐ รูป หากรวมอุบาสิกาและศิษย์วัดเข้าด้วย เบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ เหตุใดบริษัทของหลวงพ่อจึงมากขนาดนั้น

เป็นเพราะหลวงพ่ออธิษฐานต่อพระประธานในโบสถ์ในวันที่มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ "ภิกษุใดที่ยังไม่มา ขอให้มา เมื่อมาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข" นั่นเอง ไม่ได้มาแต่ภิกษุ สามเณรและอุบาสิกา รวมทั้งศิษย์วัดก็มาพร้อมกัน

เสียงวิจารณ์หลวงพ่อเปลี่ยนไปอีกแนวหนึ่ง กลายเป็นว่า เป็นห่วงหลวงพ่อ กลัวหลวงพ่อเลี้ยงไม่ไหว ผู้คนมากมายขนาดนั้น จะเลี้ยงกันอย่างไร คำตำหนิติเตียนกลายเป็นเคารพยกย่องสรรเสริญ

ต้องว่าวัดปากน้ำจัดการศึกษาของสงฆ์ได้ครบ ๒ ธุระ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ แต่วัดทั่วๆ ไป จัดได้ธุระเดียวคือ คันถธุระ เท่านั้น

กลับมาพิจารณาคติของหลวงพ่อที่ว่า "ไม่สู้ แต่ไม่หนี" นั้นมีความหมายอย่างไร

"ไม่สู้" คือไม่ตอบโต้อะไร ใครว่าอย่างไรก็เรื่องของเขา เมื่อเราประพฤติบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจแล้ว งานนั้นก็เป็นงานสะอาด เป็นงานที่มีคุณมีประโยชน์ หากไปตอบโต้เข้า จะเป็นบ่อเกิดแห่งการแตกร้าว ดังนั้น จึงไม่ควรตอบโต้ และคำที่ว่า "แต่ไม่หนี" นั้นคืออย่างไร เราจะหนีไปไหน ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด เราก็ทำความดีทั้งนั้น หนีกับไม่หนีมีค่าเท่ากัน แล้วเราจะหนีทำไม เสียเวลาทำความดีของเราไปเปล่าๆ


นี่คือ "ไม่สู้ แต่ไม่หนี" ของหลวงพ่อ

คติของหลวงพ่อ "ไม่สู้ แต่ไม่หนี" ควรที่เราเอามาเป็นแบบอย่างเพราะชีวิตของเรานั้น ไม่ราบรื่นเสมอไป จะต้องพบกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่มีลาภ ไม่ได้ยศ นินทา ทุกข์ ตามหลักของโลกธรรม ส่วนใหญ่เรามักพบแต่ ไม่มีลาภ ไม่ได้ยศศักดิ์ นินทา ทุกข์ เป็นประจำ หากเรายอมแพ้แก่ชีวิตด้วยเรื่องเหล่านี้ เราจะไม่มีผลงานไว้ให้ลูกหลานได้ชมเชย เกิดมาเพื่อตายอย่างเดียวหรือ ขึ้นชื่อว่าความดีแล้ว ทำยากทั้งนั้น หลวงพ่อท่านทำกรรมดี คนเขายังว่าไม่ดี กว่าเขาจะว่าดี เราก็แทบตาย อย่าได้ย่อท้อต่อชีวิตเลย หลวงพ่อท่านทำตัวอย่างไว้ให้ดูแล้ว เราควรจำเอาเป็นตัวอย่าง

ขอให้เอาแบบอย่างที่ดี ที่ไม่ดีอย่าเอา เห็นเขาเป็นโรคเอดส์ก็เป็นตามเขา เห็นเขาติดยาเสพติด ก็เสพตามเขา เห็นเขาสักตามเนื้อตามตัวก็ไปสักตามเขา เห็นเขากอดกันในที่สาธารณะก็เอาอย่างเขา การที่เด็กของเราไปนิยมตามเขานั้น เกิดปัญหาขึ้นแล้ว เป็นตัวสกัดกั้นความเจริญของบ้านเมืองไปแล้ว จะต้องใช้คนอีกเท่าไร จะต้องใช้เงินอีกเท่าไร จะต้องใช้ความรู้อีกเท่าไร เพื่อแก้ปัญหานี้ โปรดช่วยกันคิดเถิด
ไม่มีเหา แต่ไปหาเหาใส่หัว ไม่มีเรื่อง ไปหาเรื่องใส่ตัว เวรกรรม เวรกรรม


***************************************************************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ


หมายเลขบันทึก: 215320เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท