คติที่ ๒๑ คนจริง ไม่กลัว แต่กลัวคนไม่จริง


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๒๑ คนจริง ไม่กลัว แต่กลัวคนไม่จริง


คติของหลวงพ่อ "คนจริง ไม่กลัว แต่กลัวคนไม่จริง" เราอ่านแล้ว เราคิดอย่างไร


หลวงพ่อไม่กลัวคนจริง แต่หลวงพ่อกลัวคนไม่จริง หากเราเข้าใจอย่างนี้ แปลว่าเราเข้าใจตรงกัน แต่ว่าจะตรงกับความหมายของหลวงพ่อหรือเปล่า เรื่องนี้เราต้องพูดกันยาวหน่อย


คนจริงหมายถึงอะไร และคนไม่จริงหมายถึงอะไร


คนจริงคือคนที่ทำอะไรทำจริง บากบั่น มั่นคง คนไม่จริงคือ คนที่ไม่ทำอะไรจริง ท้อแท้ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หลวงพ่อเป็นคนจริง ทำจริง บากบั่น มั่นคง เมื่อตัดสินใจว่าดีแล้วจึงทำ ทำด้วยความตั้งใจ ไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรค ทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย


คนจริงอยู่ที่ใด ขอให้หลั่งไหลมาเถิด ขอให้เราได้สมาคม ขอให้เราได้ใกล้ชิดกัน  นี่คือความหมายของคนจริงไม่กลัว


คนไม่จริงอยู่ที่ใด เราต้องลงทุนให้เขามากมาย หากจะให้การศึกษา ก็ต้องจ้างครูมาก ต้องควบคุมมาก ต้องสอนมาก ต้องปกครองมาก ลงทุนให้ถึงขนาดนี้ ยังเอาดีไม่ได้ เผลอไปนิดเดียวทำความเดือดร้อนให้ คนประเภทนี้น่ากลัวมาก เราไม่มีเวลาให้บริการแก่คนประเภทนี้มากนัก แต่เราก็ต้องพบประเภทนี้  กลืนไม่เข้าคายไม่ออก


หลวงพ่อพลาดไปแล้ว อย่างไรจึงว่าพลาด เพราะได้ลั่นวาจาไปแล้ว "ภิกษุใดที่ยังไม่มา ขอให้มา เมื่อมาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข" บริษัทที่เดินทางมาสู่นั้น มีทั้งคนจริงและคนไม่จริง เพราะไม่ได้มีแต่ภิกษุอย่างเดียว มีทั้งอุบาสกคือศิษย์วัดและอุบาสิกาด้วย หลวงพ่อต้องรับทั้งหมด หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าให้มาเฉพาะคนจริง


เมื่อบริษัทจำนวน ๑,๐๐๐ มาสู่วัดปากน้ำ วัดปากน้ำมีเนื้อที่ดินน้อย หลวงพ่อจะรับผิดชอบอย่างไร ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อจะต้องรับผิดชอบในทุกเรื่อง จะต้องจัดการศึกษาให้เขาทั้งหมด เป็นละครเรื่องยาวไปแล้ว เอาอย่างนี้ จะอ่านกันให้สนุกต้องไปอ่านหนังสือ"อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ" แล้วจะทราบความละเอียดกว่าที่บรรยายนี้


บริษัทมาแล้ว ทั้งคนจริงและคนไม่จริง หลวงพ่อก็ต้องให้การอุปการะทั้งหมด เขามามอบชีวิตแก่หลวงพ่อแล้ว เขามาอยู่ในปกครองของหลวงพ่อแล้ว เขามาเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อแล้ว ทั้งคนจริงและคนไม่จริง ต่างก็เป็นศิษย์ของหลวงพ่อ หลวงพ่อหมดสิทธิ์ที่จะเลือกที่รักมักที่ชังด้วยประการทั้งปวง


หลวงพ่อท่านไม่ได้ว่าอะไร หลวงพ่อท่านรับผิดชอบทั้งหมด แต่เมื่อทำงานไปแล้ว ได้รู้เห็นแล้ว เกิดประสบการณ์แล้ว หลวงพ่อมีความเห็นว่า "คนจริงไม่กลัว แต่กลัวคนไม่จริง"  เพราะคนจริงเราลงทุนน้อย คนไม่จริงเราลงทุนมากนั่นเอง


ที่ว่าคนจริงลงทุนน้อย ก็คือเรียนจบในเวลาที่กำหนด หลักสูตรเขาให้เรียน ๒ ปี สามารถเรียนจบใน ๒ ปี เราก็จ่ายเงินค่าเรียนเพียง ๒ ปี แต่คนไม่จริงเรียนบ้าง หลักสูตรเขาให้เรียน ๒ ปี แต่เราเรียน ๓-๔ ปี แทนที่เราจะจ่ายค่าเรียน ๒ ปี เราต้องจ่ายถึง ๔ ปี นี่คือค่าลงทุนเฉพาะการเรียน หากมาดูค่าเจ็บไข้ ค่ากินอยู่ ค่าเครื่องนุ่งห่ม และอะไรต่อมิอะไรอีก ยังไม่ทราบว่าอีกเท่าไรต่อเท่าไร ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ใครรับผิดชอบ ผู้รับผิดชอบก็คือกงสีใหญ่ และกงสีใหญ่ก็คือหลวงพ่อ


การที่หลวงพ่อท่านว่า "คนจริงไม่กลัว แต่กลัวคนไม่จริง" ก็คือลงทุนให้แก่คนจริงนั้น เราลงทุนไม่มาก แต่การลงทุนให้แก่คนไม่จริงนั้น เราเสียค่าใช้จ่ายมากมายเหลือเกิน หลวงพ่อท่านกลัวคนไม่จริง เพราะหลวงพ่อจ่ายมามากต่อมากแล้ว แต่หลวงพ่อก็ยินดีจ่าย เป็นความรับผิดชอบที่หลวงพ่อบ่ายเบี่ยงไม่ได้ เขาเรียก "หลวงพ่อ" เขาใช้คำว่า หลวงพ่อเพียงเท่านี้ หลวงพ่อก็ใจอ่อน ความเป็นพ่อเขา หลวงพ่อสู่จนกว่าจะจบการศึกษากันไปไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันรุ่นแล้ว นับจำนวนไม่ได้แล้ว


*****************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215323เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท