คติที่ ๒๓ ทำความดีอะไรก็ทำเถิด แต่เรื่องทานอย่าละทิ้ง ฯ


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๒๓ ทำความดีอะไรก็ทำเถิด แต่เรื่องทานอย่าละทิ้ง ฯ 

           

ทำความดีอะไรก็ทำเถิด แต่เรื่องทานอย่าละทิ้ง 

นอกจากเป็นการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อกั

เมื่อไปเกิดในภพชาติต่อไป  จะได้ไม่แห้งแล้ง(ยากจน)



นี่เป็นคำสอนของหลวงพ่อ  จะทำความดีอะไรก็ทำไป  แต่อย่าลืมสร้างทานบารมี  เพราะทานบารมีจะส่งผลไม่ให้เกิดความขัดสนในภพเบื้องหน้า



หากจะว่าไปแล้ว  งานของหลวงพ่อก็คือเจริญทาน  เจริญศีล  เจริญภาวนา  อันเป็นข้อประพฤติของโพธิ์สัตว์  แต่ทานบารมีเป็นฐานของบารมีทั้งหลาย  หากไม่มีทานบารมีรองรับแล้ว  บารมีอื่นบำเพ็ญได้ยาก  เมื่อเกิดความขัดสนขึ้นแล้วไม่ว่าจะทำการใดๆ จะขัดข้องด้วยประการทั้งปวง  หลวงพ่อท่านสร้างทานบารมีด้วยการตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระ  ดังที่เราทราบนั้น  อุบาสิกาญาณี  ศิริโวหาร  เล่าว่าเริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่  มื้อละ  ๒  บาท  เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่ามื้อละกี่หมื่นบาท



ความรู้ว่าด้วยทานบารมีนี้  เคยได้ยินอุบาสิกาถนอม  อาสไวย์เล่าให้ฟัง  หลวงพ่อท่านทราบว่าอุบาสิกาถนอมจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระท่านเรียกไปสอนว่า ถ้าจะเลี้ยงต้องเลี้ยงให้เหลือเฟือ เราจะได้ไปพบแต่เหลือเฟือ หากเราเลี้ยงแบบพอดี หมูหมากาไก่ก็ไม่ได้กินกับเขา



บารมีทานนี้สร้างได้ยาก ต้องมีนิสัยปัจจัยมาแต่ปางหลังจึงจะทำได้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศน์ ท่านใส่บาตรทุกวัน ตอนเช้าท่านไปยืนหน้าวัด พระกลับจากบิณฑบาตตัองไปรับอาหารใส่บาตรจาดท่านก่อนจะเข้าวัด ทรงเล่าว่า วันใดไม่ได้ใส่บาตรเกิดความไม่สบายใจ



อีกรูปหนึ่ง จำลองแบบหลวงพ่อทีเดียว หลวงพ่อทำอย่างไรท่านก็ทำตาม หลวงพ่อตั้งสำนักบาลี ท่านก็ทำตาม หลวงพ่อมีโรงครัวท่านก็ทำตาม แต่วิปัสสนาธุระ ท่านมอบให้ข้าพเจ้าไปสอนที่วัดของท่าน ท่านผู้นี้ก็คือ ท่านเจ้าคณะอำเภอป่าโมก (พระครูปาโมกข์คณารักษ์) จังหวัดอ่างทอง ชีวิตข้าราชการของข้าพเจ้าย้ายไปเป็นศึกษาธิการอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ได้รู้จักท่าน และก็ชอบพอกัน ท่านตั้งโรงครัวเลี้ยงพระ มีพระ ๖๐ รูป สามเณร ๑๐๐ รูป เด็กวัด ๒๐๐ คน วันใดมีราชการไปตรวจโรงเรียน ถือโอกาสเยี่ยมวัดด้วย เห็นท่านมีโรงครัว ท่านบอกว่าทำมานานแล้ว เอาแบบหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระเณรของท่านมีจำนวนมากจะพึ่งอาหารบิณฑบาตไม่ได้ จึงตั้งโรงครัวขึ้น ทำมานานแล้ว สำนักเรียนบาลีของท่าน ได้เปรียญ  ๙  ประโยคไปหลายรูปแล้ว พูดถึงเปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ท่านดีใจมาก ท่านบอกว่าตัวท่านความรู้แค่ นธ.เอก แต่ทำให้ลูกศิษย์เป็นเปรียญไปมากแล้ว หากพูดถึงเปรียญแล้วเป็นที่ถูกใจและคุยกันได้นาน คุยไปคุยมา จึงทราบว่าท่านพระครูปาโมกข์ ฯ ศรัทธาสมเด็จป๋า



สมเด็จป๋าทรงมีเสน่ห์อย่างไรไม่ทราบ  ไม่ว่าใครนิยมท่านทั้งนั้น  ส่วนใหญ่เขาเรียกป๋า  นานๆ จะได้ยินสมเด็จป๋า  ทางฝ่ายสงฆ์มักเรียกสมเด็จป๋า  แต่ฆราวาสแล้วเห็นเรีบกป๋ากันทั้งนั้น  ใครจะเรียกอย่างไรป๋าขนารับทั้งนั้น


ความนิยมในสมเด็จป๋ามีอย่างไร  แม้ท่านพระครูปาโมกข์ ฯ ยังเล่าถึงว่า

"ศึกษา ฯ รู้ไหม"
"อะไรหรือใต้เท้า"
"ป๋าเราเฮี้ยนใหญ่แล้ว"
"เฮี้ยนอย่างไรหรือใต้เท้า"
"เวลานี้ใครจะถ่ายรูปป๋า  ถ้าป๋าไม่อนุญาตแล้ว  ถ่ายรูปไม่ติด"


เราฟังแค่นี้ก็ทราบความ  พระในบังคับบัญชาของป๋า  รักป๋าทั้งนั้น  จะไม่ให้คนนิยมป๋าได้อย่างไร  ก็หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านติวเข้มป๋ามาตลอด  เรื่องราวของป๋ากับหลวงพ่อยังสนุกอีกมาก  โปรดอ่านหนังสือ  "อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ"  ได้บรรยายละเอียดแล้วในหนังสือเล่มนั้น  รับรองว่าสนุกและบัณเทิง  สมเด็จป๋าเป็นคู่บารมีของหลวงพ่อวัดปากน้ำ



ชีวิตราชการของข้าพเจ้า  ย้ายไปเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร  ได้เผยแพร่วิชาธรรมกายที่วัดท่านเจ้าคณะจังหวัดคือวัดเจษฎาราม  ซึ่งท่านเจ้าคุณราชสาครมุนี  เป็นเจ้าอาวาส  การเผนแพร่ดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง  ได้ปรารภต่อเจ้าคุณว่า  ควรอาราธนาพระเถระที่เป็นธรรมกายมาเลี้ยงที่วัดเรา  ก็จะเป็นทานอันใหญ่  ท่านเจ้าคณะจังหวัดขานรับทันที  ได้อาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ครั้งนั้นยังเป็นพระพรหมคุณาภรณ์)  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ครั้งนั้นยังเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี)  และพระเถระอื่น  งานถวายทานพระที่เป็นธรรมกายเสร็จไปแล้ว  ยังมีผลให้งานเผยแพร่วิชาธรรมกายกว้างไกลไปด้วย  ต่อมาข้พเจ้าย้ายไปเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี  การติดต่อระหว่างข้าพเจ้ากับท่านคณะจังหวัดชักเหินห่างกัน  แต่งานเผยแพร่วิชาธรรมกายยังประสานกันอยู่  แต่ก็เกิดเหตุขัดใจกันขึ้นโดยบังเอิญ  คือท่านเจ้าคณะจังหวัดจัดบรรพชาสามเณรฤดูร้อน  ข้าพเจ้ารับคำว่าจะไปสอนวิปัสสนาให้  ถึงขนาดว่า  กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือขอตัวไปที่จังหวัดจันทบุรี  ข้าพเจ้ามีความตั้งใจจะมารับใช้  แต่เกิดเหตุทางราชการขึ้น  ข้าพเจ้าเดินทางไปรับใช้ท่านเจ้าคณะจังหวัดไม่ได้  จึงเกิดการขุ่นใจกันมาแต่วันนั้น



การติดต่อระหว่างข้าพเจ้าและท่านเจ้าคณะจังหวัด  ไม่เสมอต้นเสมอปลายเหมือนกาลก่อน  เพราะเราอยู่กันคนละจังหวัด  ท่านเจ้าคณะจังหวัดคงเคืองข้าพเจ้า  แม้อาพาธก็ไม่บอกให้ข้าพเจ้าทราบ  ข้าพเจ้าทราบข่าวมรณภาพจากหนังสือพิมพ์  ทันใดที่ทราบข่าว  เพราะเป็นข่าวด่วน  เนื่องจากท่านเจ้าคณะจังหวัดเป็นพระเถระสำคัญ  ข้าพเจ้ารับเข้าวิชาธรรมกายทันที  เข้าปกป้องท่านเจ้าคณะจังหวัดอย่างทันด่วน  ท่านเจ้าคณะจังหวัดไปไหน  อยู่ที่ใด  เรื่องนี้ขอให้อ่านหนังสือ  "อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ"  ได้กล่าวละเอียดแล้วในหนังสือที่กล่าวนั้น  ข้าพเจ้าต้องปกป้อง  เพราะท่านเจ้าคณะจังหวัดช่วยข้าพเจ้าเผยแพร่วิชาธรรมกายมาด้วยกัน


*****************************************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215326เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท