อายตนะนิพพาน


นิพพานเป็นอายตนะหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปจากโลกายตนะและอายตนะทั้ง ๖ ทั้ง ๑๒ นั้น http://khunsamatha.com/

นิพพาน 

นิพพานเป็นอายตนะหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปจากโลกายตนะและอายตนะทั้ง ๖ ทั้ง ๑๒ นั้น เป็นอายตะนี่สูงกว่า วิเศษกว่า และประณีตกว่าอายตนะอื่น แต่ก็ทำหน้าที่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ โลกายตนะทำหน้าที่ดึงดูดสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพันอยู่กับโลกไว้ ไม่ให้พ้นไปจากโลกได้ ส่วนอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำหน้าที่ดึงดูด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตามหน้าที่ของตน ๆ และในทำนองเดียวกัน อายตนะนิพพานก็มีหน้าที่ดึงดูดพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เข้าไปสู่อายตนะของตน สถานที่อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าเรียกว่า อายตนะนิพพาน ส่วนพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในอายตนะนิพพานนั้น เรียกว่า “พระนิพพาน”



ในปาฏลิคามิวัคคอุทาน ฯ กล่าวไว้ว่า “อตถิ ภิกขเว ตทายตนํ ฯลฯ”.  


    ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเลย อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็มิใช่ โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็มิใช่ อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวเลยซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการยืน เป็นการจุติ เป็นการเกิด อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้นั่นแลที่สุดแห่งทุกข์



    อายตนะในที่นี้ ก็หมายถึง “อายตนะนิพพาน” ดังได้กล่าวแล้วว่า อายตนะนิพพานนั้น ต่างหากออกไปจากอายตนะพวกอื่น อายตนะนิพพานนี้มีอยู่ สูงขึ้นไปจากภพ ๓ นี้ เลยอกไปจากขอบเนวสัญญานาสัญญายตนะภพ พ้นออกไปจากวิถีภพนี้ ตรงขึ้นไปทีเดียว จะคำนวณระยะทาง ก็เห็นว่าหาประมาณไม่ได้ทีเดียว ไม่ได้มีอยู่ในดิน น้ำ ไฟ ลม และ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่มีอยู่ในนิพพาน ในอรูปภพทั้ง ๔ ก็ไม่ใช่ แม้นิพพานก็ไม่ได้มีลักษณะของอรูปภพทั้ง ๔ นี้เลย ในโลกนี้ โลกอื่นก็มิใช่ เพราะเหตุที่อายตนะนิพพานพ้นไปจากโลกจากภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพเหล่านี้สิ้นแล้ว นิพพานก็ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ แม้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในภพนี้ นิพพานจึงไม่ใช่สิ่งทั้งสอง และในที่สุดสิ่งทั้งสองนี้ ก็มิได้มีอยู่ในนิพพานเลย อนึ่ง อายตนะนิพพานก็ไม่มีการไป การมา การยืน การจุติ หรือการเกิด แต่ประการใดประการหนึ่ง ซึ่งแสดงว่า ไม่สามารถจะติดต่อกันได้โดยอาการปกติ แม้ที่สุดกำลังของอรูปฌานก็ไม่อาจไปถึงได้ เพราะว่านิพพานจัดเป็นสูงสุด เกินกำลังของผู้ที่อยู่ในภพจะไปถึงได้ และอายตนะนี้ก็หาที่ตั้งอาศัยมิได้ ไม่มีวัตถุหรืออารมณ์ชนิดใดเป็นที่ตั้งที่อาศัยทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองเป็นเครื่องยืนยันว่า อายตนะนิพพานนั้นมีจริงและไม่เกี่ยวข้องอยู่ในภพเลย พ้นออกไปต่างหากทีเดียว



    อนึ่ง นิพพาน ๓ คือ กิเลสนิพพาน ๑ ขันธนิพพาน ๑ ธาตุนิพพาน ๑ มีความหมายดังนี้ คือ


    เมื่อวันเพ็ญวิสาขมาส (กลางเดือน ๖) ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี พระสิทธัตถกุมารทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ ตัดกิเลสได้ขาดจากใจสิ้น บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ณ ภายใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ครั้งนั้น กิเลสาสวะทั้งปวงที่เคยประจำคอยกีดกันพระองค์ ให้ทรงว่ายเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารมานับจำนวนหลายหมื่นหลายแสนชาติเป็นอันมาก ไม่อาจจะกลับมาสู่พระองค์ได้อีก ความสิ้นไปแห่งกิเลสาสวะ อันเป็นเครื่องเสียบแทงพระองค์ตลอดมานั้นเรียกว่า   “กิเลสนิพพาน” 


    ความแตกทำลายแห่งขันธ์ของพระองค์ ซึ่งแม้ชาติใด ๆ ก็ตาม ขันธ์ในภพ ๓ นี้ ก็ต้องสวมพระองค์ตลอดมา ความแตกทำลายแห่งขันธ์ในชาติที่สุดนี้ ขันธ์เหล่านี้ก็มิอาจจะสวมพระองค์ได้ และพระองค์ก็มิกลับมาสวมขันธ์เหล่านี้อีกต่อไป เพราะพระองค์ทรงพ้นไปจากขันธ์เหล่านี้แล้ว ความแตกทำลายแห่งขันธ์นี้เรียกว่า   “ขันธนิพพาน” 


    พระพุทธเจ้าองค์ที่สุดนี้คือ พระสมณโคดม ปัจจุบันนี้พระบรมธาตุของพระพุทธองค์ยังคงอยู่ ไม่สูญสิ้นไป ก็ยังไม่เรียกว่าธาตุนิพพาน ต่อเมื่อใดเสร็จพุทธกิจของพระองค์ ที่จะต้องทำในภพนี้แล้ว ขณะนั้น พระบรมธาตุของพระองค์ก็จะสูญไปจากภพนี้ ความสิ้นไปแห่งพระบรมธาตุนี้เรียกว่า   “ธาตุนิพพาน” 


    ส่วนนิพพานที่ท่านจำแนกเป็น ๒ ประเภทนั้น คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ๑ อนุปาทิเสสนิพพาน ๑ สำหรับพวกทำสมาธิปัจจุบันเรียกกันง่าย ๆ อีกแบบหนึ่ง คือ นิพพานเป็น อันตรงกับ สอุปาทิเสสนิพพาน และ นิพพานตาย อันตรงกับ อนุปาทิเสสนิพพาน



    นิพพานที่เป็นสถานที่อยู่ของกายธรรมนั้น อยู่ในศูนย์กลางของกายธรรมนั้นเอง ที่กล่าวนี้หมายความถึง เวลาที่กายมนุษย์ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ ใช้กายธรรมเดินสมาบัติ ๗ เที่ยว ตามแบบวิธีเดินสมาบัติที่เคยกล่าวไว้แล้วนั้น กายธรรมก็จะตกสูญ เข้าสู่นิพพานในศูนย์กลางกายธรรมนั้น นิพพานนี้ชื่อว่า นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะเป็นนิพพานที่อยู่ในศูนย์กลางของกายธรรมที่ซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม-กายรูปพรหม-กายทิพย์-และกายมนุษย์ เป็นลำดับเช่นนี้ ยังอยู่ในกลางของกายที่ยังหมกมุ่นครองกิเลสอยู่ตามสภาพของกายนั้น ๆ ความบริสุทธิ์ของนิพพานที่อยู่ในท่ามกลางกิเลสเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า “สอุปาทิเสส นิพพาน” สภาพของนิพพานนี้มีลักษณะกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก แต่ทว่านิพพานนี้ เป็นนิพานประจำกายของกายธรรม จึงมีพระนิพพานหรือพระพุทธเจ้าประทับอยู่เพียงพระองค์เดียว ความจริงถ้าจะกล่าวตามส่วนและตามลักษณะ ตลอดจนที่ตั้งแล้ว ก็จะเห็นว่านิพพานเป็นหรือสอุปาทิเสสนิพพานนี้ เป็นที่เร้นอยู่โดยเฉพาะของกายธรรม ในเวลาที่ยังมีขันธ์ปรากฏอยู่


นอกจากนั้น สอุปาทิเสสนิพพานยังเป็นทางนำให้เข้าถึง “อนุปาทิเสสนิพพาน” หรือ “นิพพานตาย” อีกด้วย คือเวลาที่ขันธ์ซึ่งรองกายธรรมอยู่นั้นจะสิ้นไป พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ย่อมจะต้องเดินสมาบัติทั้ง ๘ และเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ขณะนี้เอง เป็นเวลาที่กายธรมเข้าสู่สอุปาทิเสสนิพพาน ทรงดับสัญญาและเวทนาสิ้นแล้ว จึงเดินสมาบัติปฏิโลมอีก คราวนี้กายธรรมก็จะตกสูญ เข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน ซึ่งมีลักษณะของรูปพรรณสัณฐานและขนาดดังที่กล่าวแล้วมาข้างต้นนั่นเอง


    ส่วน “พระนิพพาน” นั้นคือ กายธรรมที่ได้บรรลุอรหัตต์ผลแล้ว กายเหล่านี้มี กาย, หัวใจ, ดวงจิต, และดวงวิญญาณ วัดตัดกลาง ๒๐ วา เท่ากันทั้งสิ้น หน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ขาวใสบริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏ พระนิพพานนี้ประทับอยู่ในอายตนะนิพพาน บางพระองค์ที่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็ทรงประทับอยู่ท่านกลางพระอรหันตสาวกบริวาร เป็นจำนวนมาก บางพระองค์ที่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มิได้เคยสั่งสอนหรือโปรดผู้ใดมาก่อน ในสมัยที่ยังมีพระชนม์อยู่ องค์นั้นก็ประทับโดดเดี่ยวอยู่โดยลำพัง หาสาวกบริวารมิได้ ส่วนรังสีที่ปรากฏ ก็เป็นเครื่องบ่งให้รู้ถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เหล่านั้นว่า มากน้อยกว่ากันเพียงไร แค่ไหน แต่ส่วนกว้าง ส่วนสูง และลักษณะของพระวรกายนั้น เสมอกันหมด มิได้เหลื่อมล้ำกว่ากันเลย พระนิพพานนี้ทรงประทับเข้านิโรธ สงบกันตลอดหมด เพราะความนิโรธนี้เป็นความสุขอย่างยิ่ง และความที่อยู่ในนิพพาน มีกายอันยั่งยืนนี้เอง ท่านจึงได้กล่าวว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ”

ภาพทั้ง ๓ นี้ เป็นภาพที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงเทียบลักษณะและสถานที่อยู่ของภพ ๓ นิพพาน และโลกันต์ (ลักษณะผ่าครึ่ง เพื่อให้เห็นชัด เพราะความจริงต่างก็มีสัณฐานกลมรอบตัว และมีขอบนอกกลมรอบตัวเช่นเดียวกัน) ภพ ๓ นี้เป็นสถานที่อันดึงดูดสัตว์ที่เวียนว่ายทำความดีและชั่วในชั้นปานกลาง ดีที่สุดของภพ ๓ ก็ถูกอายตนะของอรูปภพดึงดูดเข้าไป ชั่วที่สุดของภพ ๓ ก็ถูกอายตนะของอเวจีดึงดูดเข้าไป แต่ถ้าหากดีจนเกินความดีในอรูปภพเสียแล้ว ก็จะต้องถูกอายตนะนิพพานดึงดูดเข้าไป เป็นอันว่าพ้นไปจากภพ ๓ นี้ทีเดียว สูงขึ้นไปเหนือภพ๓ นี้หาประมาณมิได้ พ้นการติดต่อกับภพ ๓ นี้ด้วยประการทั้งปวง กลมรอบตัวและใสบริสุทธิ์ยิ่ง นั่นแหละคือ นิพพาน แต่ก็พึงเข้าใจว่า ในนิพพานหาที่ตั้งที่อาศัยมิได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ในนิพพานซึ่งหาพื้นที่และที่อาศัยมิได้ นอกจากความว่างและสว่าง พระนิพพานจึงประทับอยู่ในนิพพานได้ ด้วยความเบาความบริสุทธิ์ของพระวรกายประดุจดังปุยนุ่นในอากาศ หาได้เหมือนบุคคลอาศัยอยู่ในพื้นพิภพนี้ไม่


    ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากความสงสัยว่า เมื่อนิพพานมีสัณฐานกลม แล้วพระนิพพานจะทรงประทับอยู่ได้อย่างไร จึงนับเป็นปัญหาอจินไตย คือ ปุถุชนไม่ควรคิด 


    และเมื่อมีที่อยู่อาศัยของผู้ที่ทำดีมากที่สุดแล้ว พึงทราบว่า ในภาวะที่ตรงกันข้ามกับความดีที่สุด ซึ่งหมายถึงผู้ที่ทำชั่วที่สุด ก็ต้องมีที่อาศัยเช่นเดียวกัน และอายตนะที่สำหรับดึงดูดผู้ทำชั่วที่สุด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากนิพพานและภพ ๓ นี้ ต่ำลงไปจากภพ ๓ พ้นออกไปจากภพ ๓ นี้ ลงไปหาประมาณมิได้ พ้นจากการติดต่อจากภพ ๓ นี้ด้วยประการทั้งปวง ลักษณะกลมรอบตัว มืดจนดำสนิทนั่นแหละ คือ อายตนะโลกันต์ เป็นที่สถิตอยู่ของผู้ที่ทำความชั่วที่สุด (หาได้อยู่ในระหว่างเขาจักรวาล ตามความเข้าใจของบางท่านไม่)


    แต่ผู้ที่อยู่ในอายตนะโลกันต์นั้น ขณะใดจิตใจสูงขึ้น คือ ความชั่วร้ายที่มีอยู่ในผู้นั้นจางลงไป จนพ้นจากภาวะของอายตนะโลกันต์แล้ว ผู้นั้นก็จะกลับมาสู่ภพนี้ได้อีก หรืออาจจะทำความดี จนกระทั่งสร้างบารมีบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ได้ ที่กล่าวนี้หมายถึง ผู้ที่อยู่ใน โลกันต์นั้น จนนับกัปป์นับกัลป์ไม่ถ้วน แล้วในที่สุดของภาวะผู้นั้นก็กลับมาสู่ภพอีก แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ในระหว่างที่มีภาวะอยู่ในโลกันต์นั้น จะอาจติดต่อกับภพ ๓ นี้ได้โดยอาการปกติธรรมดาเช่นนั้น หามิได้.


     อนึ่งความสงสัยอาจเกิดขึ้นว่า ไฉนทั้งภพ ๓ ทั้งนิพพานและโลกันต์ จึงมีสัณฐานกลมเหมือนกันหมด ทั้งนี้จะเทียบได้ว่า ธรรมดาสิ่งที่เกิดขึ้นมา โดยปราศจากบุคคลเสกสรรขึ้นแล้ว เบื้องต้นทีเดียว สิ่งนั้นจะต้องมีสัณฐานกลม เช่น กะละรูปหรือฟองไข่แดงของเป็ดหรือไก่ เป็นต้น แม้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว และภพตามที่คำนวณทางวิทยาศาสตร์ ก็ปรากฏว่ามีสัณฐานกลมด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้น ภพ ๓ นิพพานและโลกันต์ที่กล่าวว่ามีสัณฐานกลม จึงนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด


    (ที่ได้กล่าวถึง ภพ ๓ และโลกันต์ในบทของนิพพานเช่นนี้ ก็เพื่อแก้ความข้องใจบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่สรุปแล้วทั้งเรื่องภพ ๓ โลกันต์และแม้นิพพานที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็เป็นเพียงเรื่องย่อที่สุด สำหรับจะเป็นเครื่องนำให้ผู้ปฏิบัติธรรม ได้เรียนและได้พอรู้เป็นเค้าไว้บ้าง แต่ความจริงหากจะต้องการรู้ให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว การปฏิบัติธรรมให้เป็นให้เห็นเอง แล้วตรวจดู ก็คงเห็นแจ่มชัดหมดข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น หากจะอธิบายมากไปกว่านี้ ก็เห็นว่าจะทำให้เลอะเลือนไป เพราะเรื่องของพระอริยเจ้า ย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดประณีต เหลือวิสัยปุถุชนที่จะตามทำความเข้าใจให้กระจ่างได้ตลอด)


* * * * * *

****  ปรารภเรื่องนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์  ****



    เรื่องนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ มีมาอย่าไรนั้น ท่านได้อ่านความรู้ของหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว ข้าพเจ้าไม่สรุปและไม่เพิ่มเติมอะไร


    การเห็นนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ จะเห็นได้มากน้อย เห็นได้ละเอียดหรือเห็นได้หยาบนั้น เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การรู้และการเห็นนั้น ข้าพเจ้า(ท่านผู้เขียนหนังสือ)เห็นทุกวัน ได้สัมผัสทุกวัน ขอเรียนให้ท่านทราบไว้เป็นประการแรก


    เรื่องที่เราต้องคุยกันก็คือ ทั้งนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์นั้น เป็นอายตนะที่ละเอียด มองโดยตามนุษย์ไม่เห็น ต้องมองด้วยรู้และญาณทัสสนะของธรรมกายจึงจะรู้จะเห็นได้ และเมื่อทำวิชาละเอียดยิ่งขึ้นไป จะทราบว่า นิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ ที่มารเขาสร้างขึ้นนั้น ยังมีที่ละเอียดซึ่งเรายังไม่รู้ไม่เห็น แม้รู้และญาณทัสสนะของธรรมกายอันเลิศแล้ว ก็ยังไม่สิ้นสุดแห่ง นิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ ที่มารเขาทำไว้ ขอเรียนให้ท่านทราบไว้เป็นประการที่ ๒


    นิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ อย่างหยาบที่สุด คือ นิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ทำภาพแสดงภาพ และทำคำอธิบายไว้นี้ ดังนั้น ความรู้เรื่องนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ที่ท่านกำลังเรียนอยู่นี้ เป็นความรู้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขอเรียนให้ท่านทราบไว้เป็นประการที่ ๓


    ในการศึกษาเบื้องต้นนี้ ขอให้ทราบแต่เพียงว่า มีภพ ๓ ที่ใด ก็ต้องมีนิพพาน และโลกันต์ในที่นั้น เพราะภพ ๓ เป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก นิพพานเป็นที่อยู่ของผู้ที่พ้นจากการเวียนว่ายแล้ว ส่วนโลกันต์นั้น เป็นที่อยู่ของผู้ประกอบกรรมชั่วระดับหนึ่ง ประเด็นที่ว่า ภพ ๓ อยู่ตรงที่ใด นิพพานอยู่ตรงที่ใด และโลกันต์อยู่ตรงที่ใด เรื่องนี้เป็นความรู้ของพระอริยเจ้า และเป็นคามรู้ของผู้เป็นธรรมกายระดับแก่กล้า เพราะไม่มีศาสตร์ใด ๆ ในโลกจะไปเรียนรู้ได้เลย


    นิพพานเป็นที่อยู่ของผู้ได้มรรคผลนิพพาน พระเป็นผู้ทำ


    ภพ ๓ เป็นที่อยู่ของผู้เวียนว่ายตายเกิด ใส่วนที่เป็นภพของทิพย์ ภพของพรหม ภพของอรูปพรหม พระเป็นผู้ทำ


    ในส่วนที่เป็นโลกันต์นั้น เป็นที่ทุกข์ร้อน มารเขาเป็นผู้ทำ


    ใครทำดีพระปกครอง ใครทำชั่วมารปกครอง


    ภพ ๓ ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย มนุษย์ อสุรกาย เปรต สัตว์นรก และอเวจี พระจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ หากมนุษย์ทำกรรมดี พระปกครอง แต่มนุษย์ที่ทำกรรมชั่ว มารปกครอง


    อสุรกาย เปรต สัตว์นรก สัตว์อเวจี ได้แก่การกระทำของมนุษย์ที่พระปกครองไม่ไหวแล้ว เพราะไม่ทำกรรมดีแล้ว มารเขาก็มารับอาไป ผลการกระทำของเขาคือ กรรมชั่ว ๆ นานาประการ สุดท้ายไปเป็น อสุรกาย เปรต สัตว์นรก สัตว์อเวจี และสัตว์โลกันต์


    ดังนั้น นรก อเวจี โลกันต์ คือ ภพที่มารเขาทำไว้ทรมานสัตว์โลก คนทำบาป มารเขาเอาไปทำโทษ เมื่อสัตว์โลกใดตกล่วงลงไปในนรก อเวจี โลกันต์ โอกาสจะมาเกิดเพื่อสร้างบารมี แทบไม่มีเอาเสียเลย เขาจึงว่า “แผ่นดินยังพูดไม่ได้ ก็ยังไม่ได้เกิด”


    เพราะวิชาธรรมกายเท่านั้น ที่จะทำให้เราแจ้งเรื่องนี้ มีใครนำเรื่องเหล่านี้มาพูดบ้าง เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนบ้าง คำตอบก็คือ ไม่เคย และไม่เคย


    ขอภาวนาให้ทุกท่านมีความสำเร็จในวิชาธรรมกายทุกท่าน

หมายเลขบันทึก: 215435เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท