.:: นิพพาน…อย่างไร ::.


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

                    ๏๏๏๏๏๏๏๏ .:: นิพพาน…อย่างไร ::. ๏๏๏๏๏๏๏๏ 


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้สำรอกตัณหา ดับตัณหา  ไม่มีอาลัยในตัณหา  เมื่อพ้นจากตัณหาได้  ไม่มีเหตุแห่งทุกข์  ความดับทุกข์ก็เกิดขึ้น  เปรียบเหมือนความร้อนกับความเย็น  เมื่อไม่มีเหตุแห่งความร้อน  ความเย็นย่อมปรากฏขึ้น  ความดับทุกข์ย่อมเกิดขึ้นตามสัดส่วนแห่งตัณหาที่ละได้  เหมือนความมืดกับความสว่างเป็นข้าศึกกัน  เมื่ออย่างหนึ่งเพิ่มอย่างหนึ่งต้องลดลง  


นิโรธเป็นชื่อหนึ่งของนิพพาน  นิโรธกับนิพพานจึงเป็นอย่างเดียวกัน  เป็นไวพจน์ของกันและกัน  การเรียนรู้เรื่องนิโรธ  ก็คือการศึกษาให้เข้าใจซึ่งนิพพานนั่นเอง


นิพพาน  แปลตามตัวอักษรว่า  การออกจากตัณหาบ้าง  ความดับกิเลสบ้าง  ความสงบระงับความกระวนกระวายบ้าง  ยังมีคำอื่นอีกมากที่มีความหมายเท่ากับนิพพาน  เช่น  วิมุติ  เป็นต้น


การศึกษานิพพานในแง่ของความสงบ  ดูเหมือนจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น  เพราะความสงบเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยได้รับรู้ได้สัมผัสอยู่เสมอ  แต่มักเป็นความสงบชั่วคราว  แล้วกลับวุ่นวายใหม่อีก


คราวใดที่เรามีความรู้สึกต้องการ  หรือปรารถนาอะไรสักอย่างหนึ่ง  แต่ยังไม่ได้สิ่งนั้น  เวลานั้นจิตใจของเราย่อมกระวนกระวาย  ถ้ามีความต้องการรุนแรงมาก  ความกระวนกระวายก็มีมาก  พอเราได้สิ่งนั้นสมความต้องการแล้ว  ความกระวนกระวายก็สงบลง  กลายเป็นความสงบ  แต่เป็นความสงบชั่วคราว  ตัวอย่าง  เช่น  เรากระหายน้ำ  ความกระวนกระวายย่อมเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของความกระหาย  พอได้ดื่มน้ำในขนาดที่ต้องการ  ความกระวนกระวายนั้นก็สงบระงับลงระยะหนึ่ง  ไม่นานนักก็จะกระหายอีก  และต้องดื่มอีก  แต่ในขณะที่เราอิ่มอยู่นั้น  ใครจะเอาน้ำวิเศษอย่างไรมาให้เราก็ไม่ปรารถนาดื่ม  แต่ในขณะที่กระหายจัด  แม้รู้ว่าน้ำนั้นเจือด้วยของโสโครกบางอย่างซึ่งอาจให้เกิดโรคได้ภายหลัง  บางทีคนก็ยอมเสี่ยงเพราะไม่อาจทนต่อความกระหายได้


ความกระหายทางจิตก็เช่นเดียวกัน  ถ้ากระหายจัดบุคคลย่อมอาจทำอะไรลงไป  เพื่อระงับความกระหายนั้น  บางทีถูก  บางทีผิด  เพราะรู้บ้าง  เพราะไม่รู้บ้าง  บางทียอมทำทั้งๆ ที่รู้  เพราะไม่อาจหยุดยั้งความกระหายที่กำลังเร้าความรู้สึกอยู่อย่างรุนแรงนั้นได้  พอได้สมปรารถนาแล้ว  ความกระวนกระวายก็ระงับไป  เหลืออยู่แต่ความสงบ  ในขณะที่สงบอยู่นั้น  จิตของบุคคลย่อมหวนระลึกถึงเหตุผลความควรไม่ควร  ความรู้จริงเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรทำ  และควรเว้น  ท่านลองคิดดูว่า  แม้นิพพานอย่างโลกๆ ยังให้เหตุผลให้ความสงบสุข  ความสว่างไสวแก่ท่านถึงเพียงนี้  ถ้าเป็นนิพพานจริงๆ นิพพานซึ่งเกิดขึ้นเพราะการละกิเลสได้  จะให้ความสงบสุข  ความสว่างไสวแก่ท่านสักเพียงใด

เกี่ยวกับนิโรธ  หรือ  นิพพานนี้  ท่านแสดงไว้  ๕  ประการ  คือ


๑. ตทังคนิโรธ  คือ  ดับกิเลสได้ชั่วคราว  เช่น  เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้น  ความโกรธและความคิดพยาบาทคือความคิดเบียดเบียนย่อมดับไป  เมื่ออสุภสัญญา  คือ  ความกำหนดว่าไม่งามเกิดขึ้น  ราคะ  ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ย่อมดับไป  รวมความว่า  ดับกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว


๒. วิขัมภนนิโรธ  คือ  ดับกิเลส หรือข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลัง ฌาน  เช่น  ข่มนิวรณ์ ๕  ไว้ด้วยกำลังฌาน (นิวรณ์  คือ  สิ่งที่ขัดขวางจิต  ไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม  มี ๕ อย่าง  คือ  ๑.กามฉันท์  พอใจในกามคุณ  ๒.พยาบาท  คิดร้ายผู้อื่น  ๓.ถีนมิทธะ  ความหดหู่  ซึมเซา  ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านและรำคาญ  ๕.วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย    ฌาน  คือการเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่มีหลายลำดับขั้น)  ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป  ตลอดเวลาที่ฌานยังไม่เสื่อม  บุคคลผู้ได้ฌานย่อมมีอาการเสมือนหนึ่งผู้ไม่มีกิเลส  ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า  ตลอดเวลาที่ศิลาทับอยู่  หญ้าย่อมไม่อาจงอกงามขึ้นมาได้  เป็นเสมือนหนึ่งว่าตายแล้ว  แต่พอยกศิลาออกหญ้าย่อมงอกงามได้อีกและอาจงอกงามกว่าเดิมก็ได้  หรือเหมือนโรคบางอย่างที่ถูกคุมไว้ด้วยยา  ตลอดเวลาที่ยามีกำลังอยู่  โรคย่อมสงบระงับไป


๓. สมุจเฉทนิโรธ  ความดับกิเลสอย่างเด็ดขาด  เป็นความหลุดพ้นของท่านผู้ละกิเลสได้แล้ว  กิเลสใดที่ท่านละได้แล้วกิเลสนั้นไม่เกิดขึ้นอีก  ไม่หวนกลับมาหาท่านอีก  เปรียบเหมือนหญ้าที่ถูกขุดรากทิ้งแล้ว  ถูกแดดแผดเผาจนแห้งแล้ว  งอกขึ้นไม่ได้อีก  ตัวอย่างเช่น  การตัดกิเลสของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก  มีพระโสดาบัน  เป็นต้น  


๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ  ความดับกิเลสอย่างสงบระงับไปในขณะแห่งอริยผลนั่นเอง  ไม่ต้องขวนขวายเพื่อการดับอีก  เหมือนคนหายโรคแล้ว  ไม่ต้องขวนขวายหายาเพื่อดับโรคนั้นอีก


๕. นิสสรณนิโรธ  แปลตามตัวว่า  ดับกิเลสด้วยการสลัดออกไป  หมายถึง  ภาวะแห่งการดับกิเลสนั้นยั่งยืนตลอดไป  ได้แก่  นิพพานนั่นเอง  เหมือนความสุข  ความปลอดโปร่งอันยั่งยืนของผู้ที่หายโรคแล้วอย่างเด็ดขาด



ในบรรดานิโรธ ๕  นั้น  นิโรธหรือนิพพานข้อที่ ๑ นั้น  เป็นของปุถุชนทั่วไป  ข้อที่ ๒  เป็นของท่านผู้ได้ฌาน  ข้อ ๓ – ๕  เป็นของพระอริยบุคคล




****  พระอริยบุคคล  หมายถึงผู้ใด  ****


ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว  ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  ท่านเรียกว่า  พระอริยบุคคล  คือ  ท่านผู้ประเสริฐมีคุณธรรมสูง  มี  ๔  จำพวกด้วยกัน  คือ


๑. พระโสดาบัน  ละสังโยชน์กิเลส  (กิเลสซึ่งหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ)  ได้  ๓  อย่าง  คือ  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าขันธ์ ๕  เป็นตัวตนหรือของตน , วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน , สีลัพพตปรามาส  การลูบคลำศีลและพรต  กล่าวคือ  มิได้ประพฤติศีลหรือบำเพ็ญพรตเพื่อความบริสุทธิ์  และเพื่อความขัดเกลากิเลส  แต่เพื่อลาภสักการะ  ชื่อเสียง  เป็นต้น  การประพฤติศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงายก็อยู่ในข้อนี้เหมือนกัน  ฯลฯ


๒. พระสกทาคามี  ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบัน  แต่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น  ทำราคะ  โทสะ  และโมหะให้เบาบางลง


๓. พระอนาคามี  ละกิเลสเพิ่มขึ้นอีก  ๒  อย่าง  คือ  กามราคะ  ความกำหนัดในกามคุณ  และปฏิฆะ  ความหงุดหงิดรำคาญใจ


๔. พระอรหันต์  ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก  ๕  อย่าง  คือ  รูปราคะ  ความติดสุขในรูปฌาน  ,อรูปราคะ  ความติดสุขในอรูปฌาน , มานะ  ความทะนงตัว , อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน  ,อวิชชา  ความเขลา  ความไม่รู้ตามเป็นจริง

นิพพาน  หรือความดับทุกข์ นั้น  เป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์  ใครบ้างไม่ต้องการดับทุกข์  เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น  คนเราก็ทุรนทุรายใคร่ดับ  ถ้าดำเนินการให้ถูกวิธี  ก็ดับได้  ถ้าดำเนินการผิดวิธีก็ดับไม่ได้  หรือถ้าดับได้ก็เป็นอย่างเทียม  การดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่งเราเรียกกันเป็นโวหารว่า  “ความสุข”  ซึ่งมีทั้งอย่างแท้และอย่างเทียม  ความสุขที่เจือด้วยทุกข์จัดเป็นสุขเทียม  เช่น  สุขจากการสนองความอยากได้  หรือสุขที่ได้จากกามคุณ



ความสุขแท้จริงหรือสุขที่ไม่เจือทุกข์นั้น  ท่านมีคำเรียกว่า  นิรามิสสุข  เช่น สุขจากการบำเพ็ญคุณงามความดีต่างๆ เป็นสุขที่ละเอียดประณีตกว่า  ยั่งยืนกว่ามีคุณค่าสูงกว่า

นิโรธหรือนิพพานควรจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตคนทุกคน  เพราะถ้าปราศจากจุดมุ่งหมายนี้เสียแล้ว  มนุษย์จะว้าเหว่เคว้งคว้าง  หาทิศทางแห่งชีวิตที่ดำเนินไปสู่ความร่มเย็นไม่ได้


****    ความมีอยู่จริงและเป็นไปได้แห่งนิพพาน    ****


บางท่านอาจมีความเห็นว่า  นิพพานเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง  และเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะหมดกิเลสบรรลุสภาวะที่ทางศาสนาเรียกว่า  นิพพาน  ผู้ที่ข้องใจเรื่องนี้เป็นเพราะเขาไม่เคยฝึกจิตเลย  มีชีวิตอยู่ด้วยการตามใจตัวเองแต่ประการเดียว  ถ้าเขาต้องการยับยั้งตนบ้างก็เพราะในเวลานั้นหรือในเรื่องนั้นเขาไม่อาจตามใจตัวเองเพราะมีอุปสรรคอย่างอื่นขวางอยู่  เขาต้องอดทนด้วยความกระวนกระวายใจ  แต่พอโอกาสเปิดหรือมีช่องทางที่จะตามใจตัวเองได้  เขาก็ตามใจตัวเองอยู่ร่ำไป  เขาไม่รู้จักสำรวมตน  ไม่รู้จักยับยั้งตนหรือความต้องการของตน  จิตของเขาคลุกอยู่กับกิเลสจนเกรอะกรังมืดมิด  ไม่อาจเห็นแสงสว่างแห่งจิตได้  เปรียบเหมือนกระจกใสที่โคลนจับจนหนา  บุคคลไม่อาจเห็นความใสของกระจก  และเมื่อไม่เห็นความใสของกระจก  ก็ไม่อาจเห็นภาพของตน  ที่อาศัยกระจกนั้นสะท้อนออกมาได้  คือกระจกนั้นหมดคุณภาพในการสะท้อนภาพ  


แต่เมื่อบุคคลขัดเอาโคลนออกหรือฝุ่นละอองซึ่งจับหนาออกมาแล้ว  ทำกระจกนั้นให้ใส  เขาย่อมมองเห็นความใสของกระจกและเงาของตนตามเป็นจริงที่กระจกนั้นสะท้อนภาพออกมา  ทำนองเดียวกัน  เมื่อจิตสะอาด  มีรัศมีตามสภาพของมัน (ประภัสสร)  ย่อมเห็นตามเป็นจริง  เมื่อโสโครกด้วยกิเลส  ย่อมมองไม่เห็นเลยหรือไม่เห็นตามเป็นจริง


ปกติภาพของจิตนั้นผ่องใส  แต่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา  เมื่อสามารถกำจัดกิเลสได้จิตย่อมผ่องใสดังเดิม  เปรียบเหมือนน้ำ  ปกติภาพของน้ำคือใสสะอาดไม่มีสีไม่มีกลิ่น  แต่มีสีมีกลิ่นเพราะสารอย่างอื่นลงไปผสม  เมื่อสามารถกำจัดสารนั้นออกโดยวิธีกลั่นกรอง  หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง  น้ำนั้นย่อมบริสุทธิ์ดังเดิม  ดังที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า  “น้ำกลั่น”  คือน้ำที่กลั่นแล้ว  กลายเป็นน้ำบริสุทธิ์

อนึ่ง  กิเลสที่อยู่ตื้น เช่น  วีติกกมกิเลส  กล่าวคือ ความชั่วทางกาย  วาจา  บุคคลอาจละมันได้ด้วยศีล  หรือการสำรวมอินทรีย์  ควบคุมกาย วาจาให้อยู่ในสุจริต  ดีงามอยู่เสมอ  เมื่อนานเข้าย่อมกลายเป็นความเคยชิน  สามารถให้เป็นไปได้โดยง่าย  ไม่ต้องฝืน  เข้าทำนองการอบรมบ่มนิสัยจนอิ่มตัว  หรืออยู่ตัวแล้ว  ย่อมเป็นได้เองไม่ต้องบังคับ  


ส่วนกิเลสที่อยู่ละดับกลางที่เรียกว่า  ปริยุฏฐานกิเลส  ห่อหุ้มจิตอยู่ชั้นนอก  เช่น  นิวรณ์ ๕  มีกามฉันทะ  ความพอใจในกาม เมื่อได้ประสบอารมณ์อันน่าพอใจ  เป็นต้น  บุคคลย่อมกำจัดเสียได้ด้วยกำลังสมาธิ  เป็นการข่มไว้ชั่วคราวเหมือนกินยาคุมโรคไว้ไม่ให้ลุกลาม  และให้มีกำลังอ่อนลงเพื่อสะดวกแก่การกำจัดในขั้นสุดท้าย


กิเลสที่อยู่ลึกลงไป  เรียกว่า  อนุสัย  ห่อหุ้มจิตอยู่ชั้นใน เช่น  กามราคะ  ภวราคะ (ความพอใจในภพ)  เป็นต้น  บุคคลสามารถกำจัดเสียได้ด้วยปัญญา  ความรู้แจ้งในเรื่องชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนาปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง  เป็นศัตราอันคมกล้าสำหรับฟาดฟันกิเลสให้ขาดสะบั้นลง


เปรียบกิเลสเหมือนสัตว์ร้ายเป็นต้นว่า  งู  การควบคุมกาย วาจา  ให้เรียบร้อยปราศจากโทษ  เหมือนการขังงูไว้ในเขตจำกัดไม่ให้เลื้อยไปไหนตามใจชอบ  สมาธิ คือการทำจิตให้สงบเหมือนการเอาไม่หนีบคองูไว้ให้อยู่กับที่  และให้เพลากำลังลง (สมาธิเหมือนไม้หนีบ)  ปัญญาเหมือนศัตราอันคมฟาดฟันคองูให้ขาดสะบั้นแยกหัวกับตัวออกจากกัน  ไม่มีพิษอีกต่อไป

การละกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการอบรมกาย วาจา ใจ เมื่อการละกิเลสเป็นสิ่งเป็นไปได้  นิพพานก็เป็นสิ่งเป็นไปได้  เพราะนิพพานก็คือการละกิเลสมีตัณหา เป็นต้น  สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า  ตณฺหาย  วิปฺปหาเนน  นิพฺพานํ  อิติ  วุจฺจติ  “เพราะละตัณหาได้  เราเรียกว่า นิพพาน”


พระสารีบุตรได้ตอบปริพาชกผู้หนึ่ง  ชื่อชัมพุขาทกะว่า  “ความสิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ  อันนี้แลเรียกว่านิพพาน”


นอกจากนี้  ความดับภพก็เรียกว่านิพพานเหมือนกัน  สมดังที่พระสารีบุตรกล่าวกับพระอานนท์ว่า  “ภวนิโรโธ  นิพฺพานํ  การดับภพเสียได้ชื่อว่านิพพาน”  (อังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ หน้า ๑๑)


รวมความว่า  พระนิพพานหรือทุกขนิโรธนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง  เป็นไปได้จริงและมีเป็นขั้นๆ ละเอียดประณีตขึ้นไปโดยลำดับ

****    สภาพแห่งนิพพาน    ****


สภาพแห่งนิพพานเป็นอย่างไร  ยากที่จะอธิบายได้  แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็อธิบายในเชิงปฏิเสธว่า  อันนั้นก็ไม่ใช่  อันนี้ก็ไม่ใช่  แต่นิพพานมีอยู่แน่ๆ ดังเช่นพระพุทธดำรัสที่ปรากฏในขุททกนิกาย  อุทาน  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕  หน้า ๒๐๖  ว่า


“ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะนั้น(คือนิพพานนั้น) ไม่ใช่ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม  ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ,  ไม่ใช่วิญญานัญจายตนะ,  ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ,  ไม่ใช่โลกนี้  ไม่ใช่โลกอื่น,  ไม่ใช่ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  ไม่ใช่การมา  การไป  ไม่ใช่การดำรงอยู่,  การจุติ  และอุบัติ  อายตนะนั้นหาที่ตั้งมิได้,  ไม่เป็นไป  ไม่มีอารมณ์  แต่อายตนะนั้นมีอยู่  นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์”


 แปลความว่า  พระพุทธองค์ท่านไม่มีภาษาจะเรียกนิพพานเหมือนกัน  แต่ทรงยืนยันว่ามีอยู่แน่ๆ จะเปรียบด้วยอะไรก็ไม่เหมือน  ไม่มีคำเรียกในโลกียวิสัย  โดยอาจเปรียบให้ฟังว่า  เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่งเกิดในชนบท  เจริญเติบโตในชนบท  แต่ต่อมาเขาได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพ ฯ  และได้เข้าชมโบสถ์พระแก้ว  ได้นมัสการพระแก้วมรกต  เขาได้เห็นด้วยตนเอง  สัมผัสสถานที่นั้นด้วยตนเอง  ต่อมาเขากลับไปชนบทได้เล่าให้หมู่ญาติฟังว่าที่กรุงเทพฯ  มีสถานที่แห่งหนึ่งเขาเรียกว่า โบสถ์พระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  สวยงามมากงามเหลือเกิน  พวกญาติสนใจชวนกันซักถามขอให้เขาเล่าให้ฟัง  อุปมาให้ฟังก็ได้ว่าโบสถ์พระแก้วนั้นเป็นอย่างไร  เหมือนอะไรในหมู่บ้านนี้  ตำบลนี้  หรือในเมืองนี้เท่าที่เขาพอจะมองเห็นได้  บุรุษผู้นั้นมองไม่เห็นสิ่งใดเหมือน  จึงปฏิเสธเรื่อยไปว่า  อย่างนั้นก็ไม่ใช่อย่างนี้ก็ไม่ใช่  ไม่มีอะไรเหมือน  ไม่เหมือนอะไร  แต่โบสถ์พระแก้วมีอยู่จริง  มีอยู่แน่ๆ เขาได้เห็นมาแล้วด้วยตนเอง


อีกอุปมาหนึ่ง  เปรียบเหมือนสัตว์น้ำ เช่นปลาผู้เกิดในน้ำ  เจริญเติบโตในน้ำ  ไม่เคยเห็นบกไม่เคยขึ้นบก  ต่อมามีเต่าตัวหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก เที่ยวไปบนบก  ไปเห็นช้างซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตเหลือเกิน  จึงนำเรื่องนี้ไปเล่าให้หมู่ปลาฟัง  ฝูงปลาขอให้เทียบให้ดูว่าใหญ่อย่างไร  เหมือนอะไรที่พวกมันเคยเห็น  และพอจะนึกรู้ได้  เต่าก็ตอบปฏิเสธเรื่อยไปว่าไม่เหมือนอย่างนั้นไม่เหมือนอย่างนี้  แต่ช้างมีอยู่แน่ๆ เพราะได้เห็นกับตามาแล้ว

พระนิพพานก็เป็นทำนองนั้น  คือไม่เหมือนอะไร  และไม่มีอะไรเหมือน


คุณภาพแห่งนิพพาน
คุณภาพหรือคุณสมบัติแห่งนิพพาน  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มากอย่าง  ขอยกมากล่าวเพียง  ๒  ประการ  คือ


๑. พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  เพราะไม่ถูกกิเลส  มีราคะ  โทสะ  และโมหะ  เป็นต้นเบียดเบียน  ปุถุชนเดือดร้อนอยู่เพราะ ความอยากอันใด  ความยึดมั่นอันใด  ความอยากและความยึดมั่นอันนั้นไม่มีในนิพพาน  เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง


๒. พระนิพพานสงบอย่างยิ่ง  ประณีตอย่างยิ่ง  เป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง  เป็นที่สละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง  เป็นที่สิ้นตัณหา  เป็นที่คลายกิเลส  เป็นที่ดับแห่งกิเลสทั้งปวง



*********************************************************************
ข้อมูลจากนายวศิน  อินทสระ


 

หมายเลขบันทึก: 215445เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท