แดนเกษม ซึ่งผู้มาจากความตายมาไม่ถึง


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

แดนเกษม ซึ่งผู้มาจากความตายมาไม่ถึง 

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ  ณ  เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี  ใกล้กรุงสาวัตถีสมัยนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงความเคลือบแคลงใจของเหล่าภิกษุที่สงสัยว่าพระนิพพานที่ว่าว่างเปล่าเป็นอย่างไรหนอ  จึงทรงชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลาย  ทรงชักชวนให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมิกถาอันปฏิสังยุต (เกี่ยวข้อง) ด้วยพระนิพพาน  และภิกษุเหล่านั้นก็สนใจ  ใส่ใจ  ตั้งใจ  เงี่ยโสตสดับพระธรรม



ลำดับนั้นแล  พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นจึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า



“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะนั้นมีอยู่  ในอายตนะนั้น ในอายตนะนั้นไม่มี ดิน,  น้ำ,  ไฟ,  ลม, ไม่มีอากาสานัญจายตนะ, (แหล่งที่มีอากาศไม่มีที่สิ้นสุด),   วิญญานัญจายตนะ (แหล่งที่มีวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด),  อากิญจัญญายตนะ (แหล่งที่ไม่มีอะไรเลย),  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  (แหล่งที่มีความจำได้ก็มิใช่  ไม่มีความจำได้ก็มิใช่),  ไม่มีโลกนี้,   ไม่มีโลกอื่น,  ไม่มีพระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง, เราย่อมไม่กล่าวถึงอายตนะนั้นว่ามิใช่การมา,   มิใช่การไป, มิใช่การตั้งอยู่,  มิใช่การจุติ (การเคลื่อนจากที่เดิม), มิใช่เป็นการเกิดขึ้น,  ไม่มีที่ตั้ง,  ไม่มีความเป็นไป,  ไม่มีอารมณ์  นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์”



อุทาน ๒๕/๒๐๖
(พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน  สุชีพ  ปุญญานุภาพ  หน้า ๑๐๕)

นิพพานแดนเกษม  เป็นแดนพิเศษวิสุทธิภูมิ  มีอายตนะ(เครื่องรู้และสิ่งที่รู้) อยู่,  รู้ว่า (จากเครื่องรู้)  สงบหนอ  เกษมหนอ  สบายหนอ...ฯลฯ  (สิ่งที่รู้) รู้ว่าในแดนนี้ไม่มี ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม,  ไม่มีอากาศ, ไม่มีวิญญาณ,  ไม่มีความสูญเปล่าซึ่งไม่มีอะไรเลย,  ไม่มีความคลับคล้ายคลับคลาอันเกิดจากความจำได้ก็ไม่ใช่หรือไม่มีความจำได้ก็ไม่ใช่,  ไม่มีโลกเช่นที่เราอยู่นี้,  ไม่มีโลกอื่นเช่นสวรรค์หรือพรหม,  ไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งหลาย  รู้ว่าแดนนี้สัตว์โลกทั้งปวงไม่อาจมา  ไม่อาจไป  ไม่อาจตั้งอยู่  ไม่อาจตายแล้วเคลื่อนมา  ไม่อาจเกิดขึ้น  ไม่มีที่ตั้งให้เกิด  ไม่มีความเป็นไปให้ไป  ไม่มีสิ่งที่เครื่องรู้จะไปยึดเหนี่ยวด้วยกิเลสตัณหาทั้งสิ้น  เป็นแดนเกษมที่พ้นแล้วจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  คือการดับกิเลสและดับขันธ์อย่างสิ้นเชิงเท่านั้นจึงจะสู่อมตมหานิพพานได้  โดยประการอื่นย่อมสู่ไม่ได้  ไม่ว่าจะตายแบบมนุษย์หรือตายแบบเทวดา  หรือตายแบบรูปพรหม  อรูปพรหม (นอกจากพรหมสุทธาวาส ๕)  ก็สู่แดนเกษมนี้ไม่ได้  



จะให้ทานรักษาศีลมากมายเพียงใดก็สู่ไม่ได้  ต้องปฏิบัติภาวนาด้วยจึงจะได้  แม้ภาวนาจะเพียงแต่สมถภาวนาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้  ต้องวิปัสสนาภาวนาด้วยจึงจะได้  ดังที่พระอานนท์ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า



“ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  ภิกษุในศาสนานี้ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น  เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่  มรรคย่อมเกิด  ภิกษุนั้นเสพ  เจริญ  ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น  เมื่อภิกษุนั้นเสพ  เจริญ  ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ย่อมละสังโยชน์ (เครื่องร้อยรัด)  ได้  อนุสัยย่อมสิ้นไป


อีกประการหนึ่ง  ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น  เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่มรรคย่อมเกิด  ภิกษุนั้น เสพ  เจริญ  ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นย่อมละสังโยชน์ได้  อนุสัยย่อมสิ้นไป


อีกประการหนึ่ง  ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป  เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะ  เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ  ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่  ย่อมละสังโยชน์ได้  อนุสัยย่อมสิ้นไป...”




ผู้จะถึงนิพพานธาตุ  (ภาวะนิพพาน)  ได้ก็ด้วยการเจริญภาวนาเป็นสำคัญ  ทั้งสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา  หรืออย่างน้อยก็ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยมีพื้นฐานจิตขั้นต้นเป็นสมาธิจวนจะแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ)  และก่อนจะบรรลุก็ต้องเข้าถึงองค์ปฐมฌาน (ฌาน ๑) ซึ่งเรียกว่าอัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่)  เสียก่อน  ทางอื่นนอกจากนี้ถึงนิพพานไม่ได้  


ผู้เจริญวิปัสสนาเพ่งลักษณะพิจารณาไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ด้วยปัญญาญาณชัดแจ้งแล้ว  วิชชาย่อมเกิด  อวิชชาย่อมดับ  เมื่อถึงนิพพานธาตุชั้นแรกซึ่งเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  คือดับกิเลสสิ้นมีเบญจขันธ์เหลือ  เป็นนิพพานเป็นหรืออมตนิพพาน  ด้วยอมฤตธรรมคือธรรมที่ทำให้ไม่ตาย  ธรรมซึ่งเปรียบด้วยน้ำอมฤตอันทำผู้ดื่มไม่ตายเช่นกัน (จึงไม่สมควรที่จะเรียกว่านิพพานตาย  ดังที่เคยเรียกกันมา)



อมฤตธรรม  คือธรรมที่ทำให้ไม่ตาย,  ธรรมซึ่งเปรียบด้วยน้ำอมฤตอันทำผู้ดื่มให้ไม่ตาย  หมายถึงพระนิพพาน  ไม่ว่าผู้ที่ถึงพระนิพพานแบบนิพพานเป็น  หรือนิพพานพิสุทธิ์  ก็จะเป็นผู้ไม่ตายทั้งสิ้น  คำว่า  “ไม่ตาย” ในที่นี้มิใช่ว่าเบญจขันธ์คือขันธ์ ๕ อันได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  จะไม่ดับ  ขันธ์ ๕  ของผู้นิพพานจะต้องดับไปเมื่อถึงกาลอันควรเสมอ  แต่  “อายตนะ”   คือเครื่องรู้และสิ่งที่รู้ใน ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์  คงพร้อมบริบูรณ์อยู่  และยิ่งพิสุทธิ์เต็มที่เมื่อเครื่องร้อยรัดคือ ขันธ์ ๕  ได้ดับสิ้นแล้ว  



ซึ่งต่างกับการตายของสัตว์โลกที่ยังไม่หลุดพ้น  ที่ขันธ์ ๕ แตกดับ  อายตนะคือเครื่องรู้และสิ่งที่รู้  เช่น ตาเป็นเครื่องรู้ และรูปเป็นสิ่งที่รู้ ย่อมดับไปด้วยกับความตาย  ซึ่งเป็นความแตกแห่งขันธ์ ๕  ทั้งหลาย  ฉะนั้นพึงกล่าวได้ว่า  ผู้ถึงนิพพานธาตุคือพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ตายเช่นสัตว์โลกทั้งปวง

ที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกในเรื่องความเห็นผิดของนิกายราชคิริกะ  และสิทธัตถิกะ  ซึ่งถูกซักให้นึกถึงเรื่องที่อาจมีผู้ฆ่าพระอรหันต์ได้ในหัวข้อ “เรื่องพระอรหันต์ไม่มีการตายเมื่อยังไม่ถึงคราว” (นัตถิ  อรหโต  อกาลมัจจูติกถา)  ตามหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน  สุชีพ  ปุญญานุภาพ  หน้า ๗๓๖  ดังนี้



ถาม  :  พระอรหันต์ไม่มีการตายเมื่อยังไม่ถึงคราวใช่หรือไม่

ตอบ  : ใช่

ถาม  :  ผู้ฆ่าพระอรหันต์ไม่มีใช่หรือไม่

ตอบ  :  ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น  



(นิกายราชคิริกะ  และสิทธัตถิกะมีความเห็นผิดข้อนี้จึงถูกซักให้นึกถึงเรื่องที่อาจมีผู้ฆ่าพระอรหันต์ได้  ในกรณีเช่นนั้นก็ชื่อว่าตายในเมื่อยังไม่ถึงคราว)”



ดังกล่าวนั้น  แสดงว่าพระอรหันต์ย่อมตายเมื่อยังไม่ถึงคราวก็ได้  และเมื่อถึงคราวก็ย่อมตายทั้งสิ้น  ในพระไตรปิฎกดังที่ได้กล่าวมุ่งไปถึงกาลเวลาที่พระอรหันต์จะดับขันธนิพพานแบบอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เมื่อยังไม่ถึงกาลอันสมควรก็ได้  เช่นกรณีมีผู้ฆ่าพระอรหันต์  การฆ่าเป็นการทำลายเบญจขันธ์ที่ยังเหลือให้แตกดับไปก่อนที่จะถึงเวลาที่เบญจขันธ์จะแตกดับไปโดยธรรมชาติเอง  แต่เนื่องจากว่าพระอรหันต์เป็นผู้ทรงอยู่ด้วยโลกุตตรจิต  คือกุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นอยู่เหนือโลกและจิตที่เป็นผลของโลกุตตระ  เป็นผู้มีจิตยกไว้ในนิพพานแดนเกษมแล้วสำหรับเบญจขันธ์ที่เหลืออยู่เป็นขันธ์ในโลก  เมื่อผู้ฆ่าทำลายขันธ์เหล่านั้นเป็นการทำลาย  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ในโลกให้แตกดับ  ส่วนโลกุตตรจิต  หรือโลกุตตรวิญญาณ  ผู้ฆ่าหาอาจทำลายได้ไม่  เพราะเป็นจิตหรือวิญญาณที่อยู่เหนือโลกพ้นโลกแล้ว  ผู้ฆ่าก็คงฆ่าได้เพียงเบญจขันธ์ในโลกของพระอรหันต์เท่านั้น  แต่โลกุตตรจิตหรือโลกุตตรวิญญาณของพระอรหันต์ที่อยู่เหนือโลกพ้นโลกแล้วนั้น  มิได้แตกดับเพราะการฆ่าดังกล่าว  คงแปรสภาพเป็นกองธรรมที่กลมกลืนอยู่ด้วย ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์เป็นพิสุทธิ์อยู่  ฉะนั้นดังที่กล่าวว่า  พระอรหันต์ตายก็หมายถึงตายตามที่ปุถุชนสมมุติและยึดถืออย่างที่เข้าใจผิดกันอยู่  แต่ตามความหมายอันแท้จริงซึ่งเป็นปรมัตถธรรมจะเห็นได้ว่าพระอรหันต์มิได้ตาย  เป็นการดับขันธ์สู่อมตมหานิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุเท่านั้น

ดังได้กล่าวไว้แล้ว  นิพพานธาตุมี ๒ อย่าง  คือสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  คือการดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ (นิพพานเป็น)  และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  การดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ (นิพพานพิสุทธิ์  ซึ่งเคยเรียกกันว่า นิพพานตาย)  แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าคำว่านิพพานหรือปรินิพพานหมายถึงการตายเท่านั้น  แม้กระทั่งราชบัณฑิตทั้งหลายยังให้ความหมายไว้ว่า



นิพพาน  คือความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์,  ดับกิเลสและกองทุกข์,  ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์) ฯลฯ


ปรินิพพาน  คือ  การดับรอบ,  การดับสนิท,  การดับโดยไม่เหลือ เรียกอาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ฯลฯ

(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๒๕  และ ๒๕๔๒)



ถาม  :  เมื่อท่านกล่าวว่า  นิพพาน  หรือ  ปรินิพพาน  แปลว่าตายหรืออาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์  แล้ว  “สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”  แปลว่าอะไร



ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๒๕  ต่อมาแก้ไข ๒๕๔๒  เล่มเดียวกันได้กล่าวไว้ว่า


อมต,  อมตะ  แปลว่าไม่ตาย,  เป็นที่นิยมยั่งยืน,  พระนิพพาน,  อมตบท,  ทางพระนิพพาน  ฯลฯ


ถาม  :  แต่คำว่า  นิพพาน  ทำไมถึงแปลว่า ตาย



การดับขันธนิพพานแบบอนุปาทิเสสนิพพานธาตุของพระอรหันต์  เมื่อถึงกาลอันสมควรก็เช่นกัน  เมื่อพระอรหันต์ถึงกาลอายุขัยไม่มีผู้ฆ่า  แต่มารซึ่งเรียกว่า  มัจจุ  หรือ  มัจจุมาร  เป็นผู้ทำลายเบญจขันธ์ไปโดยธรรมดาธรรมชาติ  มารทำลายเบญจขันธ์ของพระอรหันต์ได้เพราะเป็นขันธ์ในโลก  แต่จะติดตามกำกับบงการให้โลกุตตรจิตหรือโลกุตตรวิญญาณของพระอรหันต์ที่อยู่เหนือโลกพ้นโลกพ้นกรรมแล้วนั้นให้ไปเกิดในภพหนึ่งภพใดตามกรรมอีกไม่ได้  เพราะไม่มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะชักนำให้ไปเกิดอีกแล้ว



เมื่อเบญจขันธ์ของพระอรหันต์ถูกมารทำลาย  โลกุตตรจิต  หรือโลกุตตรวิญญาณของพระอรหันต์ได้แปรสภาพเป็น  กองธรรม  คือ  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์  สู่อมตมหานิพพาน  มารจึงตามหาไม่พบ  ดังเรื่อง  พระวักกลิเถระ  ซึ่งนิพพานแล้วด้วยการทำลายเบญจขันธ์ของมัจจุมาร  ตามกาลอายุขัยแล้วมารก็พยายามตามหาวิญญาณของพระวักกลิเพื่อจะนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ตามกรรมของสัตว์โลก ซึ่งจะต้องเป็นไปตามวิบากกรรม (ผลแห่งกรรม)  แต่ค้นหาไม่พบ  คราวนั้น  พระพุทธองค์  ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า



“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่ม
หมอกกลุ่มควันลอยไปทางทิศทั้งหลายอยู่หรือไม่
นั่นแหละคือมาร (มัจจุมาร) หยาบช้าค้นหาวิญญาณ
ของวักกลิกุลบุตร  ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร
ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  วักกลิ
กุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่  ปรินิพพานแล้ว”



 
พระวักกลิเถระ  พระอรหันต์ มีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่  ปรินิพพานแล้วเพราะวิญญาณแปรสภาพเป็นกองธรรมขันธ์อยู่ในแดนเกษมแห่งอมตมหานิพพานแล้ว  เหนือโลกพ้นโลก (โลกธาตุ) เกินกรอบที่มารทั้งหลายจะติดตามค้นหาได้ถึง  มารทั้งหลายค้นหาทั่วทุกทิศก็หาไม่พบ  ถ้าเป็นการตายแบบสัตว์โลก  ไม่ว่าจะเป็นการตายของสัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  เดรัจฉาน  มนุษย์  เทวดา  และพรหม (ทั้งรูปพรหม  อรูปพรหม  นอกจากพระอนาคามีซึ่งเป็นอริยพรหมสุทธาวาส ๕  ที่ได้เจริญภาวนาโดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์จะเลื่อนขึ้นสู่นิพพานแดนเกษมพ้นอำนาจมารด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุเอง)  มารจะค้นหาพบทั้งนั้นเพื่อนำไปรับกรรมตามกรรมที่ยังมีอยู่ต่อไปไม่พ้นไปได้เลยสักรายเดียว


**************************************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียง  :  ธรรมบัญชา  โดย  บัญช์  บงกช

หมายเลขบันทึก: 215461เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท