ตาย ตรงข้ามกับปรินิพพาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ตาย  ตรงข้ามกับปรินิพพาน



ความตายของคนเราเป็นความทุกข์ความโศกและความหลงเหมือนกันทั้งสิ้น  มากน้อยขึ้นอยู่กับกรรมและกรรมขณะใกล้ตายของผู้ตายแล้วกรรมนำพาไปเกิดใหม่อีก  ตามหลัก  กิเลส  กรรม  วิบาก


จิตดวงสุดท้ายของผู้ตายเรียกว่า  “จุติจิต”
  เมื่อไปเกิดใหม่เรียกว่า  “ปฏิสนธิจิต”


ส่วนนิพพาน  หรือปรินิพพาน  แบบอนุปาทิเสสนิพพานธาตุของพระอรหันต์คือนิพพานด้วยการดับขันธ์   ๕  ทั้งหมดนั้น เป็นการดับไปทั้งกิเลสที่ดับก่อนแล้วและดับขันธ์ทั้ง ๕  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ   สิ้นสุดหลุดภพหลุดชาติ  เป็นการดับที่ไม่มีความทุกข์ ความโศก ความหลงเลย   เพราะดับไปในขณะที่หมดกรรมแล้วไม่เกิดในภพไหน ๆ  อีกทุกภูมิทั้ง  ๓๑  ภูมิ



จิตดวงสุดท้ายของผู้นิพพานเช่นนี้เรียกว่า  “จริมกจิต”  เป็นจิตดวงสุดท้ายซึ่งจะดับไปเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

(พจนานุกรมพุทธศาสน์ประมวลศัพท์  ประยุทธ์  ปยุตโต)



การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและการดับขันธ์  นิพพานของพระอรหันตสาวกทั้งปวงดับไปด้วยอสัมโมหะ  เป็นการดับโดยการรู้ตัวด้วยปรินิพพาน  ประกอบด้วยญาณ  ๔  ประการเหล่านี้



๑.  สาตถกสัมปชัญญะ  เป็นญาณ  (ปัญญา)   รู้ตัวในกิจที่เป็นประโยชน์แก่ตัว


๒.  สัปปายสัมปชัญญะ  เป็นญาณรู้ตัวในปัจจัย  (เหตุ)   ที่สบาย


๓.  โคจรสัมปชัญยะ  เป็นญาณรู้ตัวในธรรมอันเป็นโคจร  (พระนิพพาน)


๔.  อสัมโมหสัมปชัญญะ    เป็นญาณรู้ตัวในความไม่หลง



จะเห็นว่าการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกนั้นรู้ตัวอยู่ทุกขณะ  เป็นการดับด้วยปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัว  เป็นปรินิพพานญาณ

(พระไตรปิฎกมหามกุฎฯ เล่ม  ๖๘  หน้า  ๘๙๖  สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย  ปฏิสัมภิทาวรรค)



เป็นการดับแบบไม่ทุกข์  ไม่โศกไม่หลง  แล้วไม่เกิดในภพทั้งหลายในโลกธาตุอีก


ปรินิพพาน   หรือ  นิพพานจึงไม่ใช่อาการตายของพระพุทธเจ้าหรือการตายของพระอรหันต์ดังที่มีปรากฏความหมายอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของเราตลอดมา



ขอเน้นย้ำว่าปรินิพพาน  และนิพพานไม่ใช่ตาย  แต่เป็นธรรมที่ตรงข้ามกับการตาย



พูดง่าย ๆ  ก็คือไม่ตายนั่นเอง

 

ใครจะเคยมีความรู้สึกในสัจธรรมอันวิเศษสุดของพระพุทธเจ้าบ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนวิชาไม่ตายไว้ให้พวกเรา


“วิชชาไม่ตาย”



พิจารณาเอาเองก็เห็นได้ว่า  นิพพานคือไม่ตาย  ดังเหตุผลที่ยกมาประกอบข้างต้น


น่าประหลาดใจไหมที่วิชาไม่ตายนี้เกิดมีขึ้นมาแล้วก่อน  ๒๕๔๘  ปี  (ขณะเขียนเรื่องนี้)  เสียอีก   คือตั้งแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ   ในมหาราตรีแรกก่อนปีพุทธศักราชเริ่มต้นถึง  ๔๕  ปี  แล้วต่อจากนั้นอีกไม่นานประมาณ  ๗  สัปดาห์ให้หลังพระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มแนะนำสั่งสอนคน


วิชาไม่ตายดังกล่าวเป็น  “วิชชา”



คือความรู้แจ้ง  ความรู้วิเศษ  ต่างกับคำว่า  “วิชา”  ความรู้  หรือ ความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียนหรือฝึกฝน



ฉะนั้นจึงควรเรียกวิชาไม่ตายนี้ว่า  “วิชชาไม่ตาย”
 เพราะเป็นความรู้วิเศษดังกล่าว



เป็นความรู้วิเศษ  ซึ่งคนธรรมดาสามารถศึกษาและปฏิบัติได้เพราะพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าก็ล้วนแต่เป็นคนธรรมดา ๆ  เหมือนเช่นพระองค์เองมาก่อนทั้งนั้น  จึงไม่ต้องกังวลใจว่าพวกเรามนุษย์ทั้งหลายซึ่งเป็นคนธรรมดาเช่นกันจะศึกษาและปฏิบัติวิชานี้ไม่ได้



“และไม่ยากด้วย”



มีคนธรรมดาหลายคนในครั้งพุทธกาลที่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ตั้งแต่อายุ ๗  ขวบเช่น  “สุขสามเณร”




ความตายไม่น่าเดินเข้าไปหา  มันเจ็บ  มันเศร้า  มันมืด  และหลงลืมหมดสิ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นอย่างนั้นแน่ ๆ  ทุกคนก็พอจะรู้อยู่  ยิ่งมีสัจธรรมความจริงในพระพุทธศาสนาให้เหตุผลรับรองอยู่ในพระไตรปิฎกดังกล่าวมันก็ยิ่งแน่นอน  เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่เป็นอื่นมรณะและชาตะ  เป็นเครื่องลบเลือนรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เก่าอย่างสิ้นเชิง



แต่ไม่ยักกะลบเลือน  “กรรมชั่ว”   ให้ด้วย


ทั้ง  “กรรมชั่ว”   และ “กรรมดี”   ทั้งสองอย่างไม่มีอะไรลบทิ้งได้ทั้งนั้น



นอกจากสร้างกรรมดีให้มันท่วมกรรมชั่วนั่นแหละ  กรรมชั่วมันจึงจะไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาปรากฏได้  แต่มันไม่หมดไป  เมื่อกรรมดีไม่ท่วมท้นกรรมชั่วมันก็จะโผล่ปรากฏอยู่   ความไม่ประมาทที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวเตือนไว้มากมายคือ  การไม่เผลอลืมสร้างกรรมดีจนกระทั่งมันไม่ท่วมท้นกรรมชั่วนั่นเอง  ส่วนกรรมชั่วจะประมาทหรือไม่ประมาทพื้นฐานของคนก็มักจะสร้างมันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน


“ความชั่วอย่าทำเสียเลยจะดีกว่า”



พุทธวจนะ
 ประโยคนี้ก็เป็นการทรงเน้นเตือนพวกเราว่าระวังตอมันจะโผล่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าไม่ทำความชั่วอีกและทำแต่ความดีที่เปรียบเสมือนน้ำมันก็จะท่วมท้นความชั่วอยู่เรื่อย ๆ จนกรรมชั่วปรากฏขึ้นไม่ได้เราก็จะเข้าถึงวิชาเศษคือวิชชาไม่ตายได้เร็วขึ้น



วิชชาไม่ตาย  ใช่ว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้าอย่างที่กล่าวกัน



แต่จะอยู่ดีกว่านั้นมากมายนัก  คือแม้ฟ้าก็ไม่มีที่จะค้ำสภาวะเช่นนั้นได้


เป็นสภาวะที่เข้าไปสู่มิติประณีตสุด  พ้นฟ้าพ้นอวกาศ  พ้นสิ่งกีดขวางทั้งปวง  เป็นเสรีสภาวะอย่างแท้จริง


นั่นคือพระนิพพาน  อายตนะมีอยู่


ไปได้ด้วย  ความขยันหมั่นเพียรอย่างที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวสาธิตในการปฏิบัติของพระองค์เองไว้ว่า  “เรามีความเพียรไม่ย่อหย่อน”
 



มีความสะอาดทั้งร่างกายและจิตใจด้วยศีล
เป็นเครื่องชำระล้างความสกปรกเหล่านั้น


มีความสบายตัว  จิตเป็นสมาธิ
 เข้าสู่ฌาน   สู่ญาณ  ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา   ทางสายกลาง


มีความสว่าง  คือรู้แจ้งเห็นจริงด้วยอริยสัจ ๔


มีความสงบเป็นที่สุด  คือพระนิพพานด้วยอนุตตรธรรม


ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นที่สุดว่า



“ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิณาณ”  คือตรัสรู้พระนิพพานด้วยพระองค์เองโดยชอบด้วยการรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔  เพราะปัญญาที่มาจากญาณจากฌาน  โดยมีศีลเป็นเครื่องนำส่ง   จากการบำเพ็ญเพียรเสมอต้นเสมอปลายเข้ามาในทางสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น



ขั้นตอนเหล่านั้นจึงทำให้คนธรรมดา (มนุษย์)  คนหนึ่งที่มีพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์กลายเป็นผู้วิเศษสุดยอด  ไม่ตาย  ไม่มรณะ  ไม่จุติ  มาตั้งแต่บัดนั้น  ทรงเป็นจอมศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้นทั้งปวง



ทั้งพระองค์ยังทรงเป็นกัลยาณมิตร  ช่วยเหลือเผื่อแผ่มนุษย์และเทวดาเป็นจำนวนมากมายให้เป็นผู้ไม่ตายเช่นพระองค์อีกด้วย  ดังที่ทรงกล่าวไว้



“ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ย่อมมีแสงอรุณขึ้นก่อนเป็นบุพนิมิตฉันใด  ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ  เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฏางคิกมรรคแก่ภิกษุฉันนั้น....

อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร  เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดาก็พ้นจากชาติ  ผู้มีชราเป็นธรรมดาก็พ้นจากชรา   ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาก็พ้นจากมรณะ...”



“ความตายไม่มีใครจะรอดพ้นได้”




ประโยคนี้ฝังลึกอยู่ในความรู้สึกของมนุษย์ชาติตลอดมาจนปัจจุบัน  พ.ศ. ๒๕๔๘ (ปีที่เขียนต้นฉบับ)


ที่ไหนได้  พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ไม่ตายและสอนวิชชาไม่ตายไว้ให้พวกเรามาก่อน  พ.ศ.   นี้ถึง  ๒๕๔๘  บวก  ๔๕  ปีแล้ว


ทำไมพวกเราไม่รู้กัน


แต่ก็ไม่สายเกินไปไม่ใช่หรือที่เราระลึกได้ในพ.ศ. นี้ว่า ....


“นิพพานนี่ไง  คือธรรมที่ตรงข้ามกับการตาย”



*********************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  "ตายเป็นอย่างนี้นี่เอง"  โดย  บัญช์  บงกช

หมายเลขบันทึก: 215485เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท