ประตูอมตะ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ประตูอมตะ



...เรื่องจริงที่มีผู้รู้อยู่  แต่ไม่มีใครกล่าวถึง...



ประตูแห่งความไม่ตายเดินเข้ามาแล้วไม่กลับออกไปเกิดอีกเดินเข้ามาได้ด้วยบทธรรมแห่งพระนิพพาน  ผู้ที่จะเข้าใจในบทธรรมได้ก็ต้องเริ่มต้นที่ความศรัทธาเชื่อถือ  ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงายหรือติดอยู่  เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วพิจารณาด้วยเหตุผลว่าเป็นจริงไหม   ถ้ายังไม่ได้เหตุผลอย่างเพิ่งเชื่อ  ถ้าได้เหตุผลชัดแจ้งแล้วจงอย่าหยุดอยู่แค่ความเชื่อเท่านั้น   ต้องน้อมจิตให้เกิดความเลื่อมใสด้วยคือเห็นชอบในเหตุผลที่ทำให้เชื่อนั้นว่าเป็นจริง



เมื่อเข้าสู่ความเห็นชอบในเหตุผลก็เท่ากับท่านได้ก้าวเข้ามาถึงธรณีประตูอมตะแล้ว  เพราะท่านกำลังจะเกิดสัมมาทิฏฐิ   ความเห็นชอบเห็นถูกต้อง  อันเป็นมรรคข้อที่  ๑  เมื่อเห็นแล้วก็ยกเท้าย่างก้าวเข้ามาข้ามธรณีประตู เข้าไปแล้ว   เข้าไปในประตูอมตะนั้นสักกายทิฏฐิ  เป็นสังโยชน์ข้อที่ ๑  เครื่องผูกมัดใจสัตว์ให้ติดอยู่กับกิเลสที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ย่อมถูกละขาดไปพลัน   ด้วยความเห็นชอบ ถูกและตรง  แน่นอน  สังโยชน์ข้อที่  ๒  คือวิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยย่อมสิ้นไปโดยพลันด้วย  และสังโยชน์ข้อที่ ๓   คือสีลัพพตปรามาส  การถือศีลพรตอย่างงมงายก็จะไม่เกิดขึ้นโดยพลันเช่นกัน



ท่านเดินเข้าประตูอมตะ   ด้วยอมตบทเรียบร้อยแล้ว  ถ้ายังไม่เดินทะลุเรื่อยไปจนถึงประตูสุดท้าย   คือประตูแห่งพระอรหันต์ท่านก็ได้ชื่อว่าเข้าสู่ประตูแห่งพระอริยะแล้ว     ประตูแรกแม้จะเป็นเพียงพระโสดาบัน   ก็ย่อมเข้าสู่การแสพระนิพพาน  มีความไม่ตายรออยู่ข้างหน้าแค่เอื้อม  อย่างมากจะเป็นผู้มีความตายและเกิดอีกไม่เกิน  ๗  ครั้งแน่นอนแล้วไม่ตายอีกต่อไป



ประตูอมตะประตูแรกเป็นประตูพระโสดาบัน  บทธรรมอมตบทที่พึงพิจารณาเพื่อความเห็นชอบแล้วละขาดเสียซึ่ง


๑. สักกายทิฏฐิ  คือความเห็นตัวเป็นตน  ความยึดถือว่าเป็นตัวตน

๒. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย

๓. ลีลัพพตปรามาส  ความงดงามติดในการถือศีลพรต



กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ทั้ง  ๓  ประการนี้  ให้ละขาดเสีย  โดยการเห็นชอบ  เห็นถูก  เห็นตรง
ว่ามันไม่มีตัวตนอะไรเลย  ที่เราจะไปยึดมั่นถือเอาเพราะที่แท้มันไม่มีตัวตนอะไรทั้งสิ้น  เมื่อขันธ์ทั้ง  ๕  เลิกประชุมอยู่ด้วยกันแล้วที่ประชุมนั้นก็ไม่มีใครอยู่เลย  ว่างเปล่า  เงียบสงัดสงบนิ่ง  เป็นอนัตตาอยู่เช่นนั้นโดยธรรมชาติที่ไม่มีใครมาปรุงแต่งให้มันดีหรือชั่ว  มันเป็นกลาง ๆ  เป็นอัพยากฤต  หรืออัพยาตธรรม  เป็นแม่บทแห่งพระนิพพาน




ประตูที่จะออกไปนอกโลก เหนือโลก  พ้นโลก  ประตูอมตะบานแรกเมื่อก้าวพ้นก็เกินพอสำหรับปุถุชนชาติ  เช่นเรา ๆ  แม้จะยังก้าวไปไม่ถึงความไม่ตายได้  แต่ก็เป็นที่รับรองอย่างมั่นเหมาะแล้วว่าสักวันหนึ่งไม่นานเกินรอ  เราจะไปถึงจุดหมายนั้นแน่นอน



เมื่อเสื่อมใสว่าความไม่ตายจริง ๆ  มีอยู่ใครบ้างจะไม่ขวนขวายเดินเข้าไปสู่ประตูนั้น เรามาช่วยกันไขกุญแจเปิดประตูนั้นให้เห็นกันชัดแจ้งได้ไหมว่าประตูนั้นมีอยู่จริง ๆ   เป็นประตูที่พระพุทธเจ้าเปิดไว้ให้ตั้งแต่เริ่มต้นแห่งการทรงสั่งสอนธรรมที่ตรัสรู้แด่เวไนยสัตว์



ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ชาติเห็นธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้าได้เห็นประตูอมตะที่จะเดินเข้าไปด้วยความขวนขวาย  เห็นอมตบทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วอย่างชัดแจ้งขึ้นอยู่กับพวกเราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลายมิใช่หรือ  ที่จะช่วยกันผลักดันความจริงที่เห็นอยู่  มีอยู่  ให้พวกเราและพวกอื่นเห็นในความวิเศษนั้น

 

โฆษณาชวนเชื่อบ้างได้ไหม  ชวนเชื่อในสิ่งที่ดีที่เป็นความจริงแท้  ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติทั้งมวล   แทนที่จะมาลับ ๆล่อ ๆ กล้า ๆ กลัว ๆ ในการโฆษณาเพื่อเผยแผ่ความดีมีคุณแบบครึ่ง ๆกลาง ๆ ไม่สุดยอดของพุทธธรรมกันอย่างที่กระทำอยู่ทุกวันนี้



เป็นต้นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานหรือพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพาน  ก็โฆษณาว่าเป็นอาการตายของพระพุทธเจ้าหรือเป็นการตายของพระอรหันต์   พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือพระนิพพานก็ว่า  พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพียงแค่อริยสัจจ์  ๔  เท่านั้นมันถูกอยู่แต่ไม่ถูกที่สุด  ไม่ถูกสุดยอด  ธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้าจึงยังด้วนอยู่เพราะเหตุนั้นอย่างน่าเสียดาย



ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ  “อนุตตรธรรม”   เป็นธรรมวิเศษสุดยอดไม่มีธรรมใดจะเทียบได้อีกแล้ว   ย่อมหมายถึง  “พระนิพพาน”  เป็นโลกุตตรธรรม  ส่วนอริยสัจ ๔  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  นั้น ทุกข์ สมุทัย  มรรค  ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่  นิโรธ  ตัวเดียวเท่านั้นที่เป็นโลกุตตรธรรม  ถ้าจะกล่าวให้สุดยอดต้องกล่าวว่า  พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระนิพพาน  การกล่าวว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔  ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้ายยังเป็นการกล่าวที่ไม่สุดยอด



ความจริงธรรมสุดยอดเหล่านี้เป็นต้นว่า  “ปรินิพพาน   หรือ นิพพาน  หมายถึงไม่ตาย”   ก็ดี  พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระนิพพาน  ก็ดีเป็นอนุตตริมนุสสธรรมวิเศษ  ธรรมอันล้ำลึกที่ไม่ควรแสดงแก่ปุถุชนโดยไม่จำเป็น  เพราะถ้าปุถุชนไม่เชื่อก็จะเป็นอกุศลทั้งผู้ไม่เชื่อและผู้แสดง
 คือไม่ได้ประโยชน์แก่ผู้ใดในทางกุศล แต่การเรียกชื่อธรรมเหล่านั้นให้ตรงความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการแสดง  เมื่อเรียกชื่อตรงตามความเป็นจริงแล้วใครจะคิดได้หรือคิดไม่ได้ย่อมเป็นไปตามปัญญาของแต่ละคน  เป็นสิ่งควรทำ  ถ้าเรียกชื่อไม่ตรงต่อความเป็นจริงเสียแล้วแต่แรก  แม้ผู้มีปัญญาที่ควรจะคิดจะรู้ได้ก็กลับคิดไม่ได้  รู้ไม่ได้  กว่าจะคิดได้รู้ได้ก็นานเกินรอ  เสียเวลานิพพานไปเปล่า ๆ  จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง



ถ้ากล่าวว่า   “นิพพานไม่ตาย”   มาแต่ต้น  สองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วนั้นป่านฉะนี้คนทั้งโลกคงหันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนากันหมดแล้วแต่เพราะเรียกผิด ๆ  กันมาให้ความหมายไม่ถูกต้องกันมา  พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่มีคนน้อยนิดศรัทธาเลื่อมใสกันถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายจะช่วยกันขวนขวายแก้สิ่งที่ผิดที่ไม่ถูกต้อง  ให้ถูกให้ตรงให้ถูกต้องแล้วนำมาเผยแผ่ให้ชาวโลกเข้ามาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประตูอมตะ   เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงของมนุษย์ชาติตามที่พระพุทธองค์ทรงตั้งปณิธานไว้

ความวิเศษสุดในพุทธธรรมมีอยู่  ผู้รู้ถึงจริง ๆ มีน้อย ตามความเห็นจริงพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงสั่งสอนธรรมให้ยากเย็นอะไร  พระพุทธองค์  ทรงสอน ทรงกล่าวแบบง่าย ๆ  สั้น ๆ  แต่เต็มไปด้วยเนื้อหา


“ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว”

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

“สัตวโลกเป็นไปตามกรรมของตน”

“เธอหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น”


ต่าง  ๆ  เหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ง่าย สั้น  และจริง ไม่มีอะไรยุ่งยาก  แล้วทำไมรู้ตามเห็นตามกันยากนัก  คงจะเป็นเพราะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ทรงมีแนวโน้มที่จะไม่สอนธรรมเหล่านี้แก่สัตวโลก  เพราะทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เป็นธรรมที่ทวนกระแสความเป็นไปของสัตวโลก  อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง  กระแสคนในโลกจึงไม่ค่อยน้อมจิตเข้าไปฟังธรรมของพระพุทธองค์เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่าย ๆ


ก็เป็นกรรมของสัตว์อีกประการหนึ่งที่ของดีมีอยู่ต่อหน้าต่อตากลับไม่รับเอาแต่พากันดิ้นรนไปหาของเลว ๆ  สารพัดเลวถึงขนาดแย่งกันต่อสู้กัน  รบราฆ่าฟันกันเพื่อจะได้สิ่งเลว ๆ  เหล่านั้นมาตามกระแสโลกที่เป็นอยู่  เห็นอยู่


มันก็เป็นกรรมของสัตวโลก


บัวเหล่าใดยังไม่ยอมพ้นน้ำก็ช่างเขา  ปล่อยให้เป็นอาหารแก่เฒ่าปลาไป  ส่วนบัวบางเหล่ารอที่จะพ้นน้ำและเบ่งบานขึ้นในยามเช้า  หรือยามค่ำคืนก็มีถมเถไป  เชิญเถิดเชิญบัวที่จะเบ่งบานเชิญเข้ามาสู่ประตูอมตะเถิด



“เราเปิดประตูอมตบทแก่ท่านแล้ว  สัตว์เหล่าใดจะฟังปล่อยศรัทธาเถิด”




พุทธวจนะของพระพุทธองค์ยังคงก้องกังวานรับเธอทั้งหลายอยู่  อยู่ในประตูอมตะบานสุดท้ายนี้แหละ  เดินเข้ามาเถิด เดินเข้ามา  ผ่านเข้าไป  ผ่านเข้าไป   พระตถาคตทั้งหลาย   และพระอรหันต์ทั้งปวงรอท่านอยู่ที่นั่นเป็นอเนกอนันต์นับไม่ได้

สัตวโลกธาตุทั้ง  ๓๑  ภูมิที่เห็นว่ามีมากมายเหลือคณานับได้แต่ละโลกธาตุไม่มีพระพุทธเจ้า สถิตอยู่ตลอดไป  แม้เพียงพระองค์เดียวแต่ในโลกแห่งประตูอมตะซึ่งเปรียบเสมือนมหานครอันเกษมมีพระพุทธเจ้าอยู่ครบทุกพระองค์  ซึ่งพระสมณโคดมทรงกล่าวไว้ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่ามีจำนวนหลายแสนพระองค์  ส่วนพระอรหันตสาวกนั้นไม่ต้องกล่าวถึงมากมายจนนับไม่ได้แน่นอนมากกว่าสัตวโลกธาตุที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จบนี้มากนัก


เป็นสิ่งยืนยันว่าการก้าวผ่านเข้าไปในประตูอมตะนี้ไม่ใช่ของยากเกินไปที่สัตวโลกพึงทำได้เพราะมีอริยพระอรหันต์เข้าไปแล้วมากมายนัก  ส่วนพวกเราปุถุชนที่เห็นว่ายากก็เพราะอวิชชา  ตัณหาอุปาทาน  ช่วยกันก่อกิเลสเป็นม่านทึบบดบังไม่ให้เราเห็นธรรมวิเศษในประตูอมตะได้  มาเถิดมาช่วยกันแหวกม่านกิเลสเหล่านั้นให้คลี่คลายออก  ประตูอมตะมีอยู่ตรงนั้น  ก้าวข้ามไปพอพ้นเจ้ากิเลสทั้งหลายก็จะค่อย ๆ  คลายหายตัวไปเองในที่สุด


ประตูนี้เมื่อเข้าไปแล้วไปเลย   แม้จะเป็นเพียงบานแรกแห่งประตูพระโสดาบัน ก็เป็นการปิดอบายภูมิ  ดิรัจฉาน  เปรต  อสุรกาย และสัตว์นรก  ไม่สามารถจะดึงดูดให้เราไปเกิดได้  เราจะสร้างกรรมดีเพื่อหลุดพ้นยิ่ง ๆ  ขึ้นไปเป็นอัตโนมัติ   เพื่อละกิเลสอันเป็นเครื่องผูกมัดใจสัตว์ให้หลุดลงไปตามลำดับจนกว่า  จะเข้าประตูสุดท้ายแห่งอริยพระอรหันต์   เมื่อนั้นประตูอมตะจะปิดสนิท  ปิดโลกธาตุทั้งมวลมิให้เราตายและกลับลงมาเกิดรับกรรมรับทุกข์อีกต่อไป



**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  ตายเป็นอย่างนี้นี่เอง  โดย  บัญช์  บงกช


 

หมายเลขบันทึก: 215487เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท