นิมิต


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

นิมิต

 

นิมิต  หรือ  นิมิตต์  หมายถึง  เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน  ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน  นิมิตมี ๓ อย่าง  คือ


๑. บริกรรมนิมิต  คือ  นิมิตแห่งบริกรรม  นิมิตตระเตรียม  หรือ  นิมิตแรกเริ่ม  ได้แก่  สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน  เช่น  ดวงกสิณที่เพ่งดู  หรือพุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจ  เป็นต้น  บริกรรมนิมิตได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐


๒. อุคคหนิมิต  คือ  นิมิตที่ใจเรียน  นิมิตติดตา  ได้แก่  บริกรรมนิมิตนั้น  ที่เพ่งหรือนึกกำหนดจนเห็นแม่นในใจ  เช่น  ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา  หลับตามองเห็น  เป็นต้น  อุคคหนิมิตได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐


๓. ปฏิภาคนิมิต  คือ  นิมิตเสมือน  นิมิตเทียบเคียง  ได้แก่นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น  แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา  เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิ  จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น  และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา


ปฏิภาคนิมิตนี้ได้เฉพาะในกรรมฐาน  ๒๒  คือ  กสิณ ๑๐  อสุภะ ๑๐  กายคตาสติ ๑  และอานาปานัสติ ๑  เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น  จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ  จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารสมาธิ  เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ  ก็จะสำเร็จเป็นอัปปนาภาวนา



---->>>  อย่างไรก็ตาม  นิมิตที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดของสมาธินั้น  ไม่ใช่นิมิตในความหมายที่กล่าวข้างต้น  แต่เป็นนิมิตที่หมายถึงภาพที่เห็นในใจ  ซึ่งมีความหมายกว้างมาก  กล่าวคือ  เป็นภาวะจิตหนึ่งที่ไม่ตื่นตัวเต็มที่  คนที่อยู่ในภาวะจิตเช่นนี้จึงอาจจะเห็นภาพในใจซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของจิตได้  หรือไม่ก็เป็นภาพที่เกิดจากสัญญา (สัญญาในที่นี้หมายถึงภาพของสิ่งเก่าๆ ที่จิตเคยกำหนดหมายจำไว้)  คือ อาจเป็นภาพที่เกิดจากสัญญาเก่าหรือภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิต  ซึ่งโดยทั่วไปจะได้ประสบมากที่สุด  ก็คือในภาวะหลับที่ไม่สนิท  จะมีนิมิตปรากฏขึ้นมาที่เรียกเต็มๆ ว่า  สุบินนิมิต  แปลว่า  ภาพในฝัน  สุบินนิมิตนี้จะเกิดในลักษณะที่เรียกว่าตื่นอยู่ก็ไม่ใช่  หลับอยู่ก็ไม่เชิง  หรือจะเรียกว่า  ครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ได้  กล่าวคือเป็นภาวะจิตที่ไม่ถึงกับหลับ  แต่เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อยู่ในภาวะตื่นเต็มที่  


คนที่ฝึกสมาธิก็สามารถจะเกิดนิมิตดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน  คือเกิดภาพในใจขึ้น  ถ้าหากเป็นภาพนิมิตที่เป็นปกติธรรมดา  ก็คือภาพที่เกิดจากสิ่งที่ตนกำหนด  เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธินั้น (คือเป็นบริกรรมนิมิต  อุคคหนิมิต  หรือปฏิภาคนิมิต  อย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวข้างต้น)  หรือเกิดจากการที่ตนเอาจิตไปจดจ่อกับมันกลายเป็นสัญญากำหนดหมายจำเกิดเป็นนิมิต  เป็นภาพในใจ  แต่ทีนี้มันไม่ใช่เท่านั้น  คือมันมีการปรุงแต่งต่อ  หรือว่าจิตไม่ได้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น  เกิดภาพอื่นเข้ามา  เช่น  ภาพที่ตนไปพบไปเห็นไว้เป็นความจำเก่าๆ ผุดขึ้นมาในจิตใจ  ลักษณะเช่นนี้แสดงว่า  ขณะนี้จิตเริ่มจะเขว  คือ  จิตไม่จดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่กำหนดหรืออารมณ์กรรมฐาน  แต่กลับมีภาพของสิ่งอื่นเกิดขึ้นมาเป็นนิมิต  เรียกว่า  --> นิมิตนอกตัวกรรมฐาน <-- จึงอาจเห็นภาพต่างๆ ภาพเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการฝึกสมาธิ



ภาพนิมิตเหล่านี้อาจเป็นภาพสวยๆ งามๆ เป็นแสงสีอะไรต่างๆ ที่ถูกใจ  พอใจ  ชื่นชม  อาจจะเป็นสีที่สดใสสวยงาม  ชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจ  ติดใจ  หรือเป็นภาพของสถานที่  บุคคล  สิ่งที่น่ารักน่าชมก็ได้  จิตใจก็จะไปติดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น  เมื่อจิตใจไปติดเพลินก็คือการที่ออกจากการฝึกสมาธิแล้ว  จิตเวลานั้นก็จะไม่เป็นสมาธิ  จะไปหลงเพลิดเพลินอยู่กับภาพนิมิตนั้นในลักษณะนี้จึงเรียกว่า ปัญหา  เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการฝึกสมาธิ



ในทางตรงข้าม  ถ้าภาพที่เห็นนั้น  ไม่ได้เป็นภาพที่สวยงาม  แต่กลับเป็นภาพของสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว  เพราะว่าตนเคยมีความทรงจำอะไรบางอย่างหรือจิตผูกพันกับอะไรบางอย่างที่ตนปรุงแต่ง  เป็นภาพที่น่ากลัว  เป็นต้นว่าเห็นเป็นงูจะมากัด  เป็นภาพผีสางอะไรต่างๆ  สุดแล้วแต่จะเกิดขึ้นก็ทำให้ตกใจด้วยคิดว่าเป็นความจริง  ถ้าร้ายแรงก็อาจจะทำให้สติวิปลาสหรือเสียจริตไปก็ได้  นี้ก็เป็นปัญหาแก่การฝึกสมาธิ --->>> เพราะฉะนั้นจะต้องรู้เท่าทันว่า  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพนิมิตและหันกลับมากำหนดสิ่งที่เป็นอารมณ์กรรมฐานต่อไป...

 

การเจริญอานาปานัสสติกรรมฐาน  มีนิมิต ๓ อย่าง  คือ


๑. บริกรรมนิมิต  ได้แก่ลมหายใจเข้าออก

๒. อุคคหนิมิต  ได้แก่  ลมหายใจเข้าออกปรากฏดุจสายน้ำ  เปลวควัน  ปุยสำลี  ไม้ค้ำ  พวงดอกไม้  ดอกบัว  ล้อรถ  ลมต้าน

๓. ปฏิภาคนิมิต  ได้แก่  ลมหายใจเข้าออกปรากฏดุจดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  ดวงแก้วมณี  ดวงแก้วมุกดา


การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกในขณะที่มีบริกรรมนิมิต  อุคคหนิมิต  ปฏิภาคนิมิต  อย่างใดอย่างหนึ่งมีสมาธิอยู่ ๓ อย่าง  คือ


๑. บริกรรมภาวนาสมาธิ  ได้แก่สมาธิในขณะที่มีบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นอารมณ์อยู่

๒. อุปจารภาวนาสมาธิ  ได้แก่  การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ในระหว่างที่ยังไม่เข้าถึงรูปฌาณ

๓. อัปปนาภาวนาสมาธิ  ได้แก่  การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ที่เข้าถึงรูปฌาณแล้ว


ดังนั้น  ไม่ว่าจะเจริญอานาปานัสสติ  หรือแนวกสิณก็ย่อมเป็นเรื่องของการใช้บริกรรมนิมิตในการเจริญสมาธิเบื้องต้นทั้งนั้น  และได้ผลปฏิบัติในขั้นนิมิต ๓ และภาวนา ๓ ได้เหมือนกัน...

หมายเลขบันทึก: 215492เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท