“ยึดมั่น” “ยึดติด” “ตัวตน” “นิมิต” และ “ปล่อยวาง” ในวิชชาธรรมกาย


“ยึดมั่น” “ยึดติด” “ตัวตน” “นิมิต” และ “ปล่อยวาง” ในวิชชาธรรมกาย 

(นิตยสารธรรมกาย  เล่มที่  ๔๔)
                           จัดพิมพ์โดย
มูลนิธิและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
   อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี



ถาม  :  ดิฉันเคยปฏิบัติเจริญภาวนาธรรมในสายอื่น  ที่สอนให้ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ   แม้เพียงตัวตนของเรา   ก็ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น   ตามขั้นตอนของการพิจารณาดูสังขารในสติปัฏฐาน ๔   แม้เพียงนิมิตก็ไม่ให้เอาเป็นอารมณ์หรือยึดติด   แต่เมื่อเข้ามาปฏิบัติ  ณ สถานที่แห่งนี้กลับตรงกันข้าม   แม้เอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ให้มา   ก็มีข้อความเป็นโดยนัยลักษณะเดียวกัน   อย่างนี้จะไม่เป็นการสอนให้ยึดมั่นถือมั่นหรือค่ะ   เช่นในหนังสือหลักการเจริญภาวนา (เล่มสีฟ้า)  หน้า ๒๒  ระหว่างบรรทัดที่ ๑  ถึงบรรทัดที่  ๑๘  เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเข้ากลางกายแต่ละกาย  ผู้ปฏิบัติจะต้องยึดกายที่เข้าถึงเป็นแบบไปอย่างนี้เรื่อยๆ  จนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด  ดิฉันสงสัยว่าจะถูกทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในหลักของมัฌชิมาปฏิปทา  และการปล่อยวางต่าง ๆ  หรือไม่?



ตอบ :   ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า  “ยึดมั่น”  หรือ  “ยึดติด” คำว่า  “ตัวตน”  คำว่า “นิมิต” และ “ปล่อยวาง”   ให้ดีเสียก่อนก็จะเข้าใจความหมายคำของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลเทพมุณี   (สด  จนฺทสโร)  ได้ง่า  กล่าวคือ



การปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน   ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งที่จะอบรมจิตใจให้สงบ  และ ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์  (ธรรมชาติเครื่องเศร้าหมองอันเป็นเครื่องกั้นปัญญา)   ควรแก่งาน  แล้วพิจารณาสภาวะของธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ได้แก่   อุปาทินนกสังขาร (สังขารที่มีวิญญาณครอง)  และอนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง) ทั้งปวง  ให้เห็นตามธรรมชาติที่เป็นจริงว่า   ไม่เที่ยง   (อนิจฺจํ)  เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ)  และมิใช่ตัวตนของใครที่ถาวรแท้จริง   (อนตฺตา)   เพื่อให้คลายอุปาทานความยึดถือ  (ยึดมั่น  ยึดติด)  ว่าเป็นตัวตน  (มีแก่นสารสาระของความเป็นตัวตนที่แท้จริง)  ว่าเป็น  บุคคล  เรา-เขา  ของเรา-ของเขา  ด้วยตัณหา  และทิฏฐิ  ความหลงผิด  (ความคิดว่าเป็นตัวตนนั้นเสีย)



เพราะอุปาทาน  คือความยึดถือสังขารธรรม  ทั้งปวงที่ไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นตัวตนที่แท้จริงของใครนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ด้วยตัณหา  และ ทิฏฐิ  (ความหลงผิดว่าเป็นแก่นสารสาระในความเป็นตัวตน  บุคคล  เรา-เขา)  นั้น เป็นทุกข์จริง   ๆ  แท้  (ทุกขสัจ)  ตามส่วนแห่งความยึดถือนั้น   ยึดมากก็ทุกข์มาก  ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย  ไม่ยึดเลยก็ไม่ทุกข์เลย



อุปาทาน ความยึดมั่น”  ณ ที่นี้หมายถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของเมื่อไปมีอุปาทาน  (ความยึดถือ)  คือมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นตัวตนที่เป็นเองโดยธรรมชาติไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งอยู่เสมอ ด้วยตัณหา  (ความทะยานอยาก)  และ ทิฏฐิ  (ความหลงผิด) จึงเป็นทุกข์  ดังตัวอย่างพระบาลีว่า   “สงฺขิตฺเตน  ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา  ทุกฺขา” กล่าวว่าโดยสรุปอุปาทานเบญจขันธ์เป็นทุกข์

ได้เคยมีบางท่านกล่าวว่า  “เพราะบุคคลมีอุปาทาน  จึงมีอัตตาถ้าไม่มีอุปาทาน อัตตาก็ไม่มี”  คำกล่าวเช่นนี้  ไม่ถูกต้อง



ฉะนั้นการพิจารณาดูสังขารในสติปัฏฐาน  ๔  ก็เพื่อให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาอันเห็นชอบ  คือเห็นถูกต้องตามพระพุทธดำรัสต่อไปนี้ว่า


สพฺเพ  สงฺขารา   อนิจฺจาติ ยทา  ปญฺญาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกฺเข เอส  มคฺโค  วิสุทฺธิยา

สพฺเพ  สงฺขรา  ทุกฺขาติ ยทา  ปญฺญาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกฺเข เอส   มคฺโค   วิสุทฺธิยา

สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ ยทา  ปญฺญาย  ปสฺสติ
อถ  นิพฺพินฺทติ  ทุกฺเข เอส  มคฺโค  วิสุทฺธิยา.


แปลความว่า   เมื่อใดบุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  ข้อนี้เป็นหนทางแห่งความหมดจด   เมื่อใดบุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาว่า  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์    เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ข้อนี้เป็นหนทางแห่งความหมดจด  เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาเมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  ข้อนี้เป็นหนทางแห่งความหมดจด.



คำว่า  ธรรมทั้งปวง  ณ  ที่นี้หมายเอาสังขารธรรม   มีเบญจขันธ์เป็นต้น   เท่านั้นที่เป็น  “อนัตตา”   เพราะไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นตัวตนที่ถาวรแท้จริงของใคร  และนี้ก็เป็นพระพุทธดำรัสในลำดับ “นิพพิทาญาณ”  ซึ่งเป็นขั้นตอนของการยกเอาสังขารมีเบญจขันธ์เป็นต้นขึ้นพิจารณาเพื่อให้เห็นแจ้งแทงตลอดพระไตรลักษณ์   อันจะนำไปสู่ วิราคะ  วิมุตติ  วิสุทธิ  สันติ   นิพพาน  จึงยังไม่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เพราะเหตุนั้นพระพุทธดำรัสว่า  “สพฺเพ  ธมฺมา   อนตฺตา”  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตานี้ จึงหมายเอา   “สังขารธรรมทั้งปวง” หรือธรรมชาติที่เป็นไปในภูมิ ๓   (กามภูมิ,  รูปภูมิ,อรูปภูมิ) ทั้งหมดเท่านั้น

ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนว่า ให้เข้ากลางของกลางแต่ละกาย  แล้วให้ผู้ปฏิบัติยึดกายที่เข้าถึงเป็นแบบไปอย่างนี้เรื่อย ๆ  จนถึงธรรมกายอรหัตละเอียด   นั้นหมายความว่าเมื่ออบรมใจให้หยุดให้นิ่งจนบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ด้วย และจิตใจไม่ปรุงแต่งด้วย  จึงยิ่งบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง  และจึงถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายต่อๆ   ไปอย่างนี้ จนสุดละเอียดก็จะถึงกายในกายที่บริสุทธิ์ผ่องใส   ณ ภายใน  ต่อ ๆ  ไปตามลำดับ   คือ ต่างจากกายมนุษย์หยาบ    ก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด  เมื่อถึงแล้วไม่ใช่ให้ดู  คือเพียงแต่เห็นเฉยๆ ถ้าเพียงแต่เห็นเฉย ๆ  ธรรมก็ไม่ก้าวหน้า  แต่ให้ดับหยาบไปหาละเอียด  คือให้ละอุปาทานกายหยาบ  ได้แก่   ละความรู้สึกทั้งหมดอันเนื่องด้วยกายมนุษย์หยาบ เข้าไป  (สวมความรู้สึก)   เป็นกายมนุษย์ละเอียดเพื่อให้ใจของกายมนุษย์ละเอียดที่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าของกายมนุษย์หยาบนั้น  ทำหน้าที่เจริญภาวนาต่อไปให้สมบูรณ์เต็มที่  เพื่อความเข้าถึง รู้- เห็น   และเป็นกายในกาย  (รวมเวทนา-จิต-ธรรม)  ที่บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ  ขึ้นไปตามลำดับ  



การเข้าถึง  รู้-เห็น  และเป็นกายละเอียด   (กายในกาย  เวทนา ในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม   เป็น ณ  ภายใน)  เป็นขั้น ๆ ไปอย่างนี้ “ดับหยาบไปหาละเอียด”  จนสุดละเอียดถึงธรรมกายต่อ ๆ  ไปจนสุดละเอียด  ถึงธรรมกายอรหัต   เป็นขั้น ๆ ไปอย่างนี้แหละที่หลวงพ่อท่านอธิบายว่า  เมื่อปฏิบัติถึงกายละเอียด  (กายในกายที่ละเอียดและบริสุทธิ์) แล้ว  ต้องยึดกายละเอียดที่เข้าถึงนั้นเป็นแบบ  คือ เป็นแนวทางปฏิบัติภาวนาให้ถึงกายและธรรมที่ละเอียด  ๆ  ที่บริสุทธิ์ ผ่องใส  ยิ่งกว่าเดิมต่อๆ  ไป   ตามลำดับ   ในทางธรรมปฏิบัติจึงเป็นการละอุปาทาน  (ความยึดถือ)  สังขารธรรมที่ไม่บริสุทธิ์  เพื่อความเข้าถึง  รู้-เห็น  และเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป   จนถึงธรรมกายอันเป็นกายที่พ้นโลก  พ้นความปรุงแต่ง  (สังขาร)  อันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ผ่องใส  โดยไม่ใช่ให้ยึดติด



ที่ว่า  “ให้ยึดกายที่เข้าถึงเป็นแบบ” นั้น  หมายถึง  ให้เอาเป็นแนวทางพื้นฐานในการเจริญภาวนาให้ถึงธรรมที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นต่อ ๆไปเหมือนการขึ้นบันไดทีละขั้น ๆ ไปถึงชั้นบนบ้านได้  ก็ต้องอาศัยบันไดชั้นสูงยิ่งขึ้นต่อ ๆ  ไป ตามลำดับ  จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องที่สุด



ถ้ามัวแต่ไปเพ่งที่คำพูด   แต่ไม่เข้าใจถึงความเป็นไปอันแท้จริงของธรรมปฏิบัติ จึงไขว้เขวได้อย่างนี้  มีเยอะ  มีแต่นักอ่าน  นักพูด  นักวิจารณ์   แต่ไม่เข้าใจถึงความเป็นไปอันแท้จริงของธรรมปฏิบัติ  ก็ไขว้เขวได้มากอย่างนี้   ยิ่งคนดัง ๆ พูดแล้วคนก็เชื่อมากเสียด้วย  เพราะฉะนั้นให้พยายามปฏิบัติต่อไปให้เข้าถึงกายที่ละเอียด ๆ  (เวทนาในเวทนา จิตในจิต  และธรรมในธรรม)   ถึงธรรมกายต่อ ๆ  ไปให้สุดละเอียด ก็พระนิพพานก็จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งไปเอง

เรื่อง   “นิมิต”  นั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้เป็นขั้นตอนของการเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อทำนิพพานให้แจ้งว่าดังนี้



ภิกษุทั้งหลาย   ภิกษุผู้ที่พอใจในความคลุกคลีกัน   เป็นหมู่ ๆ,  ยินดีในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ,  ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ,  เป็นผู้พอใจในหมู่,ยินดีในหมู่,  ตามประกอบความพอใจในหมู่, อยู่แล้วหนอ;   เธอนั้นจักมาเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบนั้น  ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้.


เมื่อไม่เป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว  จักถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตได้นั้นข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.


เมื่อไม่ได้ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตแล้วจักยังสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.


เมื่อไม่ทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนา  ให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์นั้นข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.


เมื่อไม่ทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผล  ให้บริบูรณ์แล้ว  จักละสังโยชน์ทั้งหลายนั้น  ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.


เมื่อไม่ละสังโยชน์ทั้งหลาย  จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น  ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้เลย.


ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ,  ไม่ยินดีในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ,ไม่เป็นผู้พอใจในหมู่ ไม่ยินดีในหมู่ไม่ตามประกอบความพอใจในหมู่,  อยู่แล้วหนอเธอนั้นจักมาเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดีในความสงัดเงียบนั้นข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.


เมื่อเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว  จักถือเอานิมิตแห่งสมาธิและวิปัสสนาจิตได้นั้นข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.


เมื่อถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตและวิปัสสนาจิตได้แล้ว  จักยังสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้นั้นข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.


เมื่อทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้แล้ว  จักยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้นั้นข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.


เมื่อทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้แล้ว  จักละสังโยชน์ทั้งหลายได้นั้น  ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.


เมื่อละสังโยชน์ทั้งหลายได้แล้วจักทำนิพพานให้แจ้งได้นั้น  ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้แล.

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ  เล่มที่ ๒๒,อังคุตตรนิกาย  ฉักกนิบาต,ข้อ  ๓๓๙,หน้า ๔๗๒-๔๗๓  (คำแปลจากหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์  ของกองตำราคณะธรรมทานไชยา   พ.ศ.  ๒๕๑๔ , หน้า  ๒๘๕-๒๘๖))

กล่าวโดยสรุป   “นิมิต”   เป็นขั้นตอนของการเจริญสมถภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  ให้จิตใจผ่องใสควรแก่งานและ  เป็นขั้นตอนของวิปัสสนาภาวนา  คือยกสังขารนิมิต   มีเบญจขันธ์เป็นต้น  ทั้ง ณ  ภายนอก  (ส่วนหยาบ)  และทั้ง  ณ  ภายใน  (ส่วนละเอียด)ขึ้นพิจารณาให้เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาพความปรุงแต่ง  และลักษณะอันเป็นเองของสังขารธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)  เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ)  และมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของใคร  (อนตฺตา)



ในขั้นสมถภาวนา  เมื่อสามารถถือเอาปฏิภาคนิมิตได้  ก็จะได้สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิอันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน  มรรคจิตอันประกอบด้วยสัมมาสมาธิ   จึงจะเริ่มสามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เพราะฉะนั้น  ถ้าใครปฏิเสธนิมิตเสียตั้งแต่สมาธิจิตยังไม่ได้ถึงอัปปนาสมาธิ  อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน  มรรคจิตก็ย่อมจะยังไม่เจริญขึ้นสมบูรณ์ให้สามารถทำหน้าที่ปหานสังโยชน์ได้เต็มกำลัง   เพราะขาดสัมมาสมาธิ (การเจริญรูปฌาน  ตั้งแต่ปฐมฌาน  ถึง จตุตถฌาน) อันเป็นไปเพื่อเจริญปัญญาเห็นแจ้งรู้แจ้งในสภาวธรรม และอริยสัจจธรรมตามที่เป็นจริงได้



อนึ่ง  เมื่อสมาธิจิตเป็นฌานจิต ตั้งแต่ปฐมฌาน  และเจริญขึ้นไปตามลำดับฌานนั้น  ย่อมละองค์แห่งฌานที่หยาบ  หรือเรียกว่า   “ดับหยาบไปหาละเอียด”ไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างสงสัยเลย



ในขั้นวิปัสสนาภาวนาถ้าไม่ยกสังขารนิมิต  อันตัณหาปวัตติ  (ปรุงแต่งให้เป็นไป)  ให้แจ้งสภาพความปรุงแต่ง  และลักษณะอันเป็นเองตามธรรมชาติของสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  และอนัตตาอย่างไรแล้ว   ภาวนามยปัญญา  (ปัญญาแจ้งชัด  จากการเจริญภาวนาจริง ๆ )  จะเกิดได้อย่างไร  ก็จะได้แต่เพียงสุตมยปัญญา  และจินตามยปัญญา  จากสัญญา  คือ ความจำได้หมายรู้จากตำรา  หรือจากที่ฟังเขาว่ามาเท่านั้นเอง



ใครสอนให้ละ  “นิมิต”  ตั้งแต่ขั้นแรกของสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ก็เท่ากับสอนให้ละฐานสำคัญที่จะให้เกิดสมาธิจิตในระดับปฐมฌานขึ้นไป อันจะนำไปสู่การเห็นแจ้งสภาวะของสังขตธรรมและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง  การเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะมีสภาพเป็น “วิปัสสนึก (เอาเอง)” เท่านั้น  ถึงแม้จะเป็นอุบายให้ได้รับผลเบื้องต้นในระดับหนึ่ง  แต่มรรคจิตก็ไม่สมบูรณ์พอจะปหานสังโยชน์โดยเด็ดขาดได้  ต่อเมื่อถึงฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปจึงจะมีพลังพอที่จะปหานสังโยชน์โดยเด็ดขาดได้  จึงขอให้บททวนพระพุทธดำรัสข้างต้นนี้ให้ดี  จะได้ไม่หลงทางปฏิบัติ วนอยู่แต่ในวิธี  “ขุดบ่อไม่ถึงตาน้ำ” .


 

หมายเลขบันทึก: 215505เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อุปมาเหมือนกับการขับรถเดินทางไปจังหวัดต่างๆ เช่น เดินทางเริ่มจากกรุงเทพฯไปนครสวรรค์ ก็ต้องเดินทางผ่านปทุมธานี อยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท จนถึงนครสวรรค์ ถามว่า คนเดินทาง ยึดติดสถานที่คือ ปทุมธานี อยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ยึดติด เพราะถ้ายึดติดแล้วมันเดินทางต่อไปถึงนครสวรรค์ไม่ได้ ในทางธรรมก็เช่นกัน การผ่านสิ่งต่างๆ ที่เห็นนั้น ไม่เหมือนกับการยึดติด ยึดติดคือ อยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าไป

หรืออีกนัยหนึ่ง การมองเห็นเป็นการยึดติดหรือไม่ การเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปนครสวรรค์นั้น ผู้เดินทางย่อมต้องมองเห็นทางเดินหรือสถานที่ที่ตนผ่านนั้นไปด้วย เพราะถ้ามองไม่เห็นก็เดินทางไปไม่ถูก หลงทางไปเสียก่อน การมองเห็นสิ่งของต่างๆ ในระหว่างเดินทางย่อมเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งได้ว่า ผู้เดินทางได้เดินทางถูกทางไปแล้ว การมองเห็นทางในระหว่างเดินทางนั้นจึงไม่ใช่การยึดติดสิ่งที่มองเห็น

หรืออีกนัยหนึ่ง ในคืนวันเพ็ญที่ทรงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น เจ้าชายสิทธิธัตถะทรงระลึกชาติได้ และทรงเห็นการไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลก การระลึกชาตหรือมองเห็นการไปเกิดมาเกิดได้นั้น ถามว่า เป็นการยึดติดภาพหรือไม่

สรุปคือ การมองเห็นภาพในจิตใจ ไม่อาจถือเป็นการยึดติดนิมิต (ภาพทางใจ) เสมอไป ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าภาพที่เรามองเห็นนั้น ทำให้กิเลสเราสิ้นไปเป็นลำดับได้หรือไม่ (กิเลสสิ้นไปเป็นลำดับหมายถึง การเดินทางได้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้หรือไม่)

นอกจากนี้ การไม่เห็นภาพ ก็ไม่ใช่ข้อที่แสดงว่า ท่านไม่ยึดติดอะไร หรือท่านสามารถปล่อยวางได้ เพราะการไม่เห็นภาพก็คือ ท่านเข้าถึงความว่างเปล่านั่นเอง ท่านอาจยึดติดความว่างเปล่าก็ได้ (สุดท้าย อาจหลงคิดไปว่า ท่านหมดกิเลสแล้วก็ได้)

สรุปคือ ความว่างเปล่า ไม่ใช่หลักประกันหรือตัวชี้วัดว่า ท่านหมดกิเลส

การบรรลุธรรม เป็นการบรรลุการมองเห็นด้วยใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นการมองเห็นไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (ของเหล่านี้มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พระพุทธองค์เพียงแต่ค้นพบ แล้วนำมาเปิดเผยเท่านั้นเอง) การมองไม่เห็น เพียงแต่รู้สึกหรือรับรู้อารมณ์นั้นก็เป็นได้แค่เพียงรับรู้อารมณ์ของสิ่งที่เรามองไม่เห็นได้นั่นเอง แต่ต้นกำเนิดอันเป็นบ่อเกิดแห่งอารมณ์หรือความรู้สึกดังกล่าวนั้นมีอยู่ แต่เรามองไม่เห็นเอง จะเหมาเอาว่า ถ้าผู้ใดมองเห็นบ่อเกิดแห่งอารมณ์หรือความรู้สึกนั้นได้ ผู้นั้นย่อมต้องยึดติดสิ่งที่มองเห็นนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวเช่นนั้นได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การรับรู้ถึงอารมณ์ความโลภ โกรธ หลงได้นั้น ไม่ใช่การบรรลุธรรม การบรรลุธรรมต้องสามารถมองเห็นถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความโลภ โกรธ หลง ได้ด้วย แล้วหาทางกำจัดมันออกไปจากจิตใจเรา (เพราะถ้าเรามองไม่เห็น เราจะไปกำจัดสิ่งใดได้ถูกได้อย่างไร จะไปควาญหาที่ไหนได้ถูก, มองไม่เห็นกิเลส จะกำจัดกิเลสได้อย่างไร)

หรืออีกนัยหนึ่ง การรับรู้ถึงความร้อนจากดวงอาทิตย์นั้น ไม่ใช่การบรรลุธรรม การบรรลุธรรมย่อมหมายถึงการมองเห็นว่าความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากดวงอาทิตย์แผ่รังสีความร้อนมากระทบร่างกายเรา การมองเห็นถึงดวงอาทิตย์และรังสีความร้อนที่มากระทบกายเรานั้น คือ การบรรลุธรรม

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้อยู่ในหลายที่ถึงคำว่า "ได้ดวงตาเห็นธรรม" การได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่หมายถึง การได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วยึดติดสิ่งที่เห็นนั้น การมองเห็นไม่ใช่การยึดติด แต่เป็นญาณทัสสนะหรือเครื่องมือในการกำจัดกิเลสอย่างหนึ่งเท่านั้น

เปรียบเหมือนการมองเห็นเชื้อไวรัส กล้องจุลทรรศน์คือ ดวงตาเห็นธรรม เชื้อไวรัสคือ กิเลส การมองเห็นเชื้อไวรัส คือ การมองเห็นกิเลส ถามว่ามองเห็นแล้วยึดติดกิเลสหรือเชื้อไวรัสหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ยึดติด ดังนั้น การมองเห็นกับการยึดติด ไม่ได้อยู่ความหมายเดียวกัน และไม่อาจสรุปได้ว่า การมองเห็นคือ การยึดติดนิมิต (สิ่งที่มองเห็นได้ทางใจ)

อนุโมทนาคุณขาวใสนะครับ อธิบายขยายความได้ชัดเจนมากเลยครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท