เห็นนิมิตนอกตัวกับนิมิตในตัว แตกต่างกันอย่างไร


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

 

เห็นนิมิตนอกตัวกับนิมิตในตัว   แตกต่างกันอย่างไร
(นิตยสารธรรมกาย  เล่มที่  ๔๐)


ถาม : เห็นนิมิตนอกตัวกับเห็นนิมิตในตัว แตกต่างกันอย่างไร?
ตอบ :
  เห็นนิมิตนอกตัวกับเห็นนิมิตในตัว  แตกต่างกันมากสำหรับผลการปฏิบัติ  ยกตัวอย่างให้ฟัง   หลวงปู่มั่นท่านนั่งเห็นนิมิตเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ใสแจ่มในเบื้องต้น   ท่านเห็นอยู่ข้างนอก  ทีนี้ท่านก็ตามนิมิตไปเรื่อย จะเห็นอดีตก็ได้  เห็นอนาคตก็ได้  บางทีก็แม่นบางทีก็ถูก  บางทีก็ผิด   ถูกค่อนข้างมากเหมือนกัน  ไป ๆ  ก็เห็นอดีตของตนเองก็ได้

หลวงพ่อบอกว่า  เอ ! เห็นอย่างนี้อยู่ตั้ง  ๓-๔  เดือน  ไม่รู้จะทำอย่างไร  มันเรื่องอะไรกันนี่  สรุปแล้วหลวงพ่อก็ทราบว่า   นิมิตนอกตัวถูกหลอกได้โดยง่าย   และมิได้เป็นไปเพื่อสติปัฏฐาน  ๔  หลวงพ่อหรือหลวงปู่มั่นจึงเพ่งนิมิตเข้าไปในตัว   ท่านเรียกว่า   ดวงพุทโธ จะขอยกตัวอย่างให้ฟัง   ท่านก็สอนศิษยานุศิษย์  ถ้าเห็นนิมิตนอกตัวให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา   อย่าไปตามนิมิตนั้น   ตามไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่มีการกำจัดกิเลสสักที  แต่นิมิตในตัว  (ได้เห็นในประวัติของท่าน  ซึ่งหลายท่านคงได้อ่านประวัติแล้ว)   ท่านเรียกว่า  ดวงพุทโธมีชาวป่าชาวเขาที่ท่านได้เคยไปพักห่างจากหมู่บ้านพอประมาณ  ท่านเดินจงกรม  ดูดวงใส  ชาวป่าชาวเขาสังเกต เอ !  ท่านดูอะไรหนอ เลยมาถามท่าน  “ตุ๊เจ้า  ดูอันหยัง เดินหาอันหยังท่านบอกว่า  เดินหาดวงพุทโธ ชาวเขาถามท่านว่า  ตัวเขาอยากจะช่วยตุ๊เจ้าหาบ้างได้ไหม?  ท่านบอกว่า  ได้ซิ  หาเถิด  ดวงพุทโธนี้พระพุทธเจ้าประทานมาให้แต่บางทีมันก็หาย  ต้องเดินหา

อุบายของท่านลึก  แต่ว่าหาได้นะ  หาได้ก็เป็นของตัวเอง  คนป่าคนเขาก็หา  ลองทำดูว่าทำอย่างไร  ท่านก็ว่าพุทโธ  สอนไป   พวกเจ้าเหล่านั้นไปเดินก็หาพบจริง ๆ    บางคนพบแล้วถึงธรรมกาย  ในประวัติหลวงพ่อบอกว่าเจ้านี่ถึงธรรมกาย  ท่านเล่าอยู่ในประวัติของท่าน

ที่กล่าวมานี่เป็นเรื่องย่อ   แม้ที่ปฏิบัติพุทโธ  เขาก็เอานิมิตเข้าในพิจารณาภายใน ไม่ได้เอาไว้ข้างนอก  เหตุเพราะอะไร?   เพราะข้างนอกเป็นนิมิตหลอก  เป็นกสิณ  เป็นปฏิภาคนิมิต  ติดปฏิภาคนิมิตบางครั้งก็จริงบ้าง  เพี้ยนบ้าง  เพราะเห็น  จำ คิด  รู้  ไม่ได้ซ้อนกัน   ฝรั่งเขาเรียกโฟกัสซ้อนกัน  เหมือนเราปรับกล้องถ่ายรูป   เหมือนแว่นแก้วหรือแว่นสายตา   จะปรับโฟกัสหรือจุดรวมแสง  คล้ายกันอย่างนั้นไม่ได้มีหยุด   ณ  ภายใน  ไม่ได้หยุด  ณ  ที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม   อันเป็นที่ตั้งธาตุละเอียดของขันธ์  ๕,อายตนะ ๑๒, ธาตุ  ๑๘, ซึ่งเขาตั้งอยู่กลางกันและกันตามลำดับ   ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม   แตกต่างกันอย่างนี้   จึงไม่มีสภาวะจะไปพิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา    จิตในจิต   และธรรมในธรรม   กิเลสก็ไม่หมด   และการเห็นนิมิตภายนอกกาย  ด้วยความเห็น  (ด้วยใจ)   ความจำ  ความคิด   ความรู้   บางครั้งก็เที่ยง   บางครั้งก็เล่ห์  คือไม่ตรงตามที่เป็นจริง  เพราะถูกภาคมารเข้าสอดละเอียด  ให้เห็นนิมิตหลอกได้ง่าย


เพราะฉะนั้นให้ไปถามบูรพาจารย์ของเราที่ดี ๆ  ประเสริฐ ๆ  ท่านต่างเพ่งไปข้างในหมดทั้งนั้น   จึงจะถึงนิพพาน  เพราะที่นั่นจะสามารถพิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา   จิตในจิต  และธรรมในธรรมทั้ง  ณ  ภายในแบบเบื้องต้น   คือเอาปัจจัยในตัวเรา   กายมนุษย์นี้แหละเป็นปัจจัยในการน้อมนำกาย เวทนา  จิต ธรรม   ของคนอื่นมาเป็นอารมณ์เป็นเครื่องพิจารณา  ณ  ภายนอก

 

 

แต่ถ้าทำละเอียดไป ๆ ก็เหมือนอย่างวิธีปฏิบัติของเรา   กายในกาย เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม   ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไป  ณ  ภายใน


แต่การจะเข้าถึง  กาย  เวทนา  จิต  ธรรม ณ  ภายใน  ต้องเหมือนขึ้นบันได  ขึ้นบันไดขั้นที่  ๑  เมื่อขึ้นไปยืนแล้ว   เรายืนบนชั้นที่  ๑  แล้วจึงก้าวขึ้นบันได  ที่ ๒  เอาชั้นที่ ๑  เป็นฐาน  จึงก้าวขึ้นชั้นที่  ๒  ยืนอยู่บนชั้นที่  ๒ เรียบร้อยมั่นคงแล้ว   เอาชั้นที่  ๒  เป็นฐาน  ก้าวขึ้นสู่ชั้นที่ ๓  ชั้นที่ ๔  ตามลำดับดังนี้ใจก็เหมือนกัน  ที่จะสามารถบริสุทธิ์  ต้องอาศัยฐานที่ตั้งฐานในการพิจารณา  ฐานในการกำจัดกิเลสเป็นชั้น ๆ  ไป กิเลสของเรามีตั้งแต่หยาบไปจนสุดละเอียด



กิเลสหยาบ  มี อภิชฌา  พยาบาท  มิจฉาทิฏฐิ  หนาเตอะอยู่ในกายมนุษย์หยาบ

กิเลสละเอียด  ต่อไป  โลภะ  โทสะ  โมสะ  อยู่ในใจของกายทิพย์

ราคะ  โทสะ  โมหะ  อยู่ในใจของกายรูปพรหม  นี้ละเอียดไป

ปฏิฆะ  กามราคะ  อวิชชา  นั่นกิเลสละเอียดค้างอยู่ในใจของกายอรูปพรหม



แต่ว่ากายหยาบลงมามีกิเลสทั้งหมด  ที่ละเอียด  ๆ  ไป ก็กิเลสที่เหลือ ๆ  บางลงไป ๆ  จากกิเลสหยาบไปเป็นกิเลสละเอียด ๆ ๆ  อยู่ที่ไหน? อยู่ในธาตุธรรมเห็น  จำ คิด  รู้  นั่นเอง  แต่เมื่อสุดละเอียดของกายรูปพรหมอรูปพรหม  พ้นจากอรูปภพ   นั่นเป็นธาตุธรรมบริสุทธิ์ที่พ้นโลก  คือธรรมกาย  เพราะฉะนั้น  จะเข้าถึงธรรมกาย  เข้าถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติภาวนาธรรมให้ทั้งรู้ทั้งเห็น  และทั้งเป็น  ธาตุธรรมที่บริสุทธิ์  ชำระกิเลสเป็นชั้น ๆ  ผ่านกาย  เวทนา  จิต  ธรรม  ทั้ง ณ  ภายนอก  และ ณ  ภายใน  ละเอียด  ไปสุดละเอียดเป็นชั้น ๆ   ไป



การจะไปรู้เห็นอย่างนั้น  ใจจะต้องหยุดอยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  จึงไปพิจารณาเห็นอยู่ตรงนั้น  คนไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่รู้   เลยเหมาเอาว่าการปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย  ติดนิมิต  แต่เขาไม่รู้  เมื่อเอาใจเข้าใน  หยุดนิ่งกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว   เราก็ดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไปจนสุดละเอียด  จะติดนิมิตเดิมที่ไหน   คนพูดไม่รู้  พูดตำหนิเขาอย่างง่าย ๆ นั่นตัวเองไม่รู้ตัว  เพราะไม่รู้ว่านิมิตเป็นอย่างไร นิมิตนั้นเรากำหนดขึ้นเพื่อรวมใจ  เพราะสายตาเนื้อมองไม่เห็นว่าใจมีรูปร่างเป็นอย่างไร   เพราะใจไม่มีรูปร่าง  แต่ธาตุละเอียดเขามี  เห็นได้ด้วยตาใน  ตาเนื้อมองเห็นไม่ได้   เพราะฉะนั้นต้องอาศัยอุบายวิธีรวมธรรมชาติของใจ  ๔  อย่าง  คือ  ความเห็นด้วยใจ  ความจำ  ความคิด   และความรู้  ให้มาหยุดข้างใน   ก็ต้องให้นึกเห็นนิมิตข้างในไว้   นึกให้เห็นเครื่องหมายหรือนิมิต   “นิมิต”  แปลได้หลายอย่าง    ความฝันก็ได้  สิ่งที่เห็นอย่างอื่น  เรียกนิมิตก็ได้  นิมิตนึกให้เห็นเครื่องหมาย  หรือนิมิตด้วยใจ  เรียกกำหนด  “บริกรรมนิมิต”  เป็นเครื่องหมายที่นึกเห็นด้วยใจเพื่อรวมใจเข้ามาอยู่ในองค์บริกรรมนิมิต    เมื่อใจค่อย ๆ มาหยุดนิ่งแล้วเห็นสิ่งที่เราเอามาเป็นเครื่องหมายนั้นใส  แต่เห็นเดี๋ยวเดียวก็หาย  เห็นได้ชั่วคราว  เรียก “อุคคหนิมิต”



ถ้าว่าใจแค่นึกเห็นได้ บริกรรมนิมิตคือกำหนดนิมิตได้นั้น เป็นสมาธิอยู่ในระดับ
ขณิกสมาธิ  คือสมาธินิดหน่อย   แต่พอเอาเกศา  (ผม)มาเพ่ง   คือนึกให้เห็นด้วยใจ  และบริกรรมภาวนา  คือนึกท่องในใจว่า  “เกศาๆๆ”  จนกระทั่งเห็นเกศาใส  เรียกว่าพอสามารถถือเอา “อุคคหนิมิต”  ได้  นี้ เป็นสมาธิในขั้น “อุปจารสมาธิ” ขั้นตอนนิมิตอันมีผลให้เกิดสมาธิระดับต่าง ๆ เป็นไปอย่างนี้



ถ้าจิตนิ่งสนิท   เห็นใสแจ่ม  ทีนี้เส้นเกศานิดเดียว   จะขยายให้เท่าตึกนี้ก็ได้  ย่อลงมาเล็กนิดเดียวก็ได้  ใสอย่างนี้เรียก   “ปฏิภาคนิมิต” นิมิตติดตา  ลืมตาก็เห็น  ยืนก็เห็น  เดินก็เห็น  หลับตาก็เห็น  เรียกว่า ได้ปฏิภาคนิมิต  นี้เป็นสมาธิระดับ อัปปนาสมาธิ



นิมิตนี้ตั้งแต่นึกให้เห็นด้วยใจ  เพื่อรวมใจเข้ามา  ใจก็ค่อย ๆหยุด   เครื่องหมายเดิมที่คิดเห็นมาเป็นเห็นใส  จากใสก็เห็นติดตาติดตาติดใจเป็นปฏิภาคนิมิต  ลืมตาก็เห็น  หลับตาก็เห็น   นอนหลับไปแล้ว  ตื่นมาก็เห็นอีก  ก็อย่างนี้



เพราะฉะนั้นนิมิตเป็นเครื่องช่วยให้ใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ  โดยมีนิมิตหรือเครื่องหมายเป็นสื่อให้รวมใจมาหยุดมานิ่ง  ณ จุดใดจุดหนึ่ง  ถ้าเห็นนิมิตอยู่ภายนอกนั้นเป็นปฏิภาคนิมิตล้วน ๆ ภายนอกนั้น  เห็น จำ  คิด  รู้  คือ  ใจ   มันเล่ห์ได้เช่นว่าพอใครเห็นนิมิตอยู่ภายนอก  จะอธิษฐานเห็นอะไร   ๆ เดี๋ยวเดียวก็เห็น  ใจลำเอียงนิดเดียวก็เห็น  ตามที่ใจนึกลำเอียงไว้ก่อนได้  เพราะใจหยุดยังไม่จริง   ไม่หยุดนิ่งจริงความปรุงแต่งจึงยังมิได้  บางทีก็มีมากด้วย



แต่การนึกให้เห็นด้วยใจในครั้งแรก  เป็นอุบายวิธีที่กระทำขึ้นเพื่อรวมใจเข้ามา  ตั้งแต่บริกรรมนิมิต  นึกให้เห็นด้วยใจ   อย่างนี้ไม่ผิดถูกทีเดียว   เป็นวิธีให้ได้อุคคหนิมิต  และปฏิภาคนิมิต  ให้ได้สมาธิตั้งแต่ระดับขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ  แล้วใจหยุดนิ่งสนิทจริง ๆ  เมื่อได้ปฏิภาคนิมิต  ก็เป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ  อันเป็นเบื้องต้น  ของปฐมฌาน

คนที่เจริญสมาธินอกศาสนา  กระทำสมาธิโดยไม่รู้ที่ตั้งของใจเพราะเขาไม่รู้มัชฌาปฏิปทาคือทางสายกลาง  ไม่รู้วิธีเจริญภาวนามีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  อันเป็นเอกายนมรรค  คือทางสายเอกว่า  ฐานที่ตั้งของใจควรจะอยู่ที่ไหน  ก็ต้องอยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้เอง  แต่เขาไม่เคยเห็น  ก็เลยไม่รู้ว่าเอกายนมรรคอยู่ตรงไหน  รู้แต่เพียงตัวหนังสือ  นี่ ความแตกต่างจากอ่านหนังสือกับการลงมือปฏิบัติภาวนา  แตกต่างกันอย่างนี้  ประสบการณ์ไม่มี  จึงต่างกันตรงนี้



ความจริงการเจริญภาวนาสมาธิ  มีตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณนานมาแล้ว  ก่อนพุทธกาลก็มี  แต่เป็นมิจฉาสมาธิ  คือมิได้เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา  มิได้เป็นไปเพื่อละกิเลส  แต่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีบุญบารมีจะพัฒนาวิธีปฏิบัติเข้าไปสู่จุดนี้เอง  ได้แก่  หลวงปู่มั่น  หลวงปู่สด  เป็นต้น ท่านจึงเอานิมิตเข้าไปพิจารณา  ณ ภายใน



หลวงปู่สดหรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ท่านทราบเหตุและผล  จึงได้ชี้แจงอธิบายออกมาเลยทีเดียวว่า    เมื่อใจไปหยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม   จิตดวงเดิมตกศูนย์  จิตดวงใหม่ที่ผ่องใสก็จะลอยเด่นขึ้นมา  จิตนี้เป็น  “วิสุทธิจิต”  วิสุทธิจิตนี้มิได้เป็นเพราะการอ่านหนังสือแล้ว  เรียกวิสุทธิจิต แต่ต้องรู้  ต้องเห็น  ต้องเป็นที่ใจ  ซึ่งอยู่ท่ามกลางวิสุทธิศีล  หรือศีลวิสุทธิ  ศีลที่บริสุทธิ์อยู่ที่ใจ  เจตนาความคิดอ่านผ่องใสอยู่นั่นเป็นสีลานุสติ   หลวงพ่อท่านเรียก   “ศีลเห็น”



ศีลเห็นเป็นอย่างไร? ถ้าศีลมัวหมอง  เห็นเลย  ข้างใน  ไม่ได้เรื่องมัวหมอง  ในใจนี่แหละ  สีลานุสติ  หรือ  ศีลวิสุทธิ  ตั้งอยู่ในท่ามกลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  -  มนุษย์ละเอียดนี่เอง



เมื่อใจไปจรดนิ่งอยู่ตรงนั้นเข้า  ถูกดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายจิตดวงเดิมตกศูนย์  ดวงใหม่ลอยเด่นขึ้นมา   ตั้งอยู่ในท่ามกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายดวงใหม่ที่ผ่องใส  เพราะฉะนั้นจิตดวงใหม่ละคือปล่อยนิมิตไปแล้ว  ดวงเก่าไปแล้ว  ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายและใจดวงใหม่  จึงปรากฏขึ้นมา  จึงไม่ใช่ปฏิภาคนิมิตดวงเดิมแล้ว   เป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย  แล้วเขาก็ดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไป  ถึงกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  เป็น ณ  ภายในต่อ ๆ ไป  จนสุดละเอียดถึงธรรมกาย



ถ้าจะนับว่า  กรณีที่เห็นกายในกาย  ธรรมในธรรม  นี้เป็นนิมิต คือสิ่งที่สัมผัสและเห็นได้  เหมือนเรากำลังเห็นซึ่งกันและกัน  เห็นอาคารบ้านเรือน  เรียกว่านิมิตก็ได้  แต่เป็นการเห็นนิมิตของจริงโดยสมมติ  เห็นของสมมติ  จะเรียกว่านิมิตก็เรียกไป  นิมิตนั่นแหละ สิ่งที่เห็นนั้นมีอยู่จริงในใจเรา  ในกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของเรา  คือ  
การพิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรมจากสุดหยาบของกายเนื้อไปสุดละเอียดของกายมนุษย์ละเอียด  กายทิพย์
-กายทิพย์ละเอียด,  กายรูปพรหม
-กายรูปพรหมละเอียด,  กายอรูปพรหม
-กายอรูปพรหมละเอียด ไปสุดละเอียดถึงธรรมกาย



นิมิตในส่วนที่กล่าวนั้น  ของโลกิยะ  ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบไปสุดละเอียด  ไปถึงกายอรูปพรหม  นั่นแหละเป็นของจริงโดยสมมติ เป็น “บัญญัติ” ที่เราเรียกว่า   “อ้อ !  นี่ตัวตนของเรา”  บัญญัติขึ้น  ที่แท้จริงไม่ใช่ตัวตนแท้จริง  เป็นอนัตตา  ตรงนี้แหละเข้าใจให้ดี



ถ้าพ้นนิมิตที่เรียกว่า  ตัวตนโดยสมมติ  หรือว่า  ของเราโดยสมมติ  พ้นสิ่งนี้ไปแล้ว  เป็นกายธรรม  เป็น  “ธรรมกาย”  นั้นเป็นปรมัตถธรรมปรมัตถธรรมนั้นไม่ใช่ส่วนนิมิตที่เป็นสมมติแล้ว   เป็นธรรมในธรรมที่ละเอียดไปสุดละเอียด  พ้นโลกแล้ว  เพราะฉะนั้นให้เข้าใจ  คนไม่เข้าใจก็บอกว่า  “ติดนิมิต  ติดธรรมกาย” ถ้าท่านได้ปฏิบัติถึงธรรมกาย  เป็นธรรมกายแล้ว  ท่านจะรู้ว่า    ที่ด่ามา  ท่านต้องรีบไปกราบขอโทษให้ทั่วนะ  เพราะการปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้วมีคุณมหาศาลนับประมาณมิได้  อย่าว่าแต่ปฏิบัติได้ถึงธรรมกายเลย  ได้แค่ดวงใสอยู่ตรงศูนย์กลางกาย  เห็นใสแจ่มอยู่ก็มีคุณมโหฬารแล้ว  คุณค่ามหาศาล  นับประมาณมิได้  สามารถจะปฏิบัติให้ถึงมรรคผลนิพพานแม้ในชาตินี้ก็ได้ในเบื้องต้น  ถ้าได้เพียงเห็นดวงใส  ไม่ต้องพูดถึงธรรมกายหรอก  ถึงอย่างไรก็จะต้องถึงธรรมกายจนได้แหละ

เพราะฉะนั้น  คนไม่รู้  พูดไปก็บาป  เพราะธรรมกายนั่นไมใช่นิมิตแล้ว จริงอยู่เห็นได้  สัมผัสได้  แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้มีในนิพพานสูตร


อตฺถิ  ภิกฺขเว  อชาตํ   อภูตํ  อกตํ  อสงฺขตํ  
โน เจ ตํ  ภิกิขเว  อภวิสฺส อชาตํ  อภูตํ  อกตํ  อสงฺขตํ
นยิธ  ชาตสฺส  ภูตสฺส  กตสฺส  สงฺขตสฺส  นิสฺสรณํ
ปญฺญาเยถ  ยสฺมา  จ  โข  ภิกฺขเว  อตฺถิ  อชาตํ  อภูตํ
อกตํ  อสงฺขตํ   ตสฺมา  ชาตสฺส  ภูตสฺส  กตสฺส  สงฺขตสฺส
นิสฺสรณํ  ปญฺญายติ.



แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว  ไม่เป็นแล้ว  อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว  ปรุงแต่งไม่ได้แล้วมีอยู่  ภิกษุทั้งหลาย  ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้ว  อันเป็นปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว  ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว  จักไม่ได้มีแล้วไซร้  การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว  เป็นแล้ว  อันปัจจัยกระทำแล้ว  ปรุงแต่งแล้ว จึงไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย  ภิกษุทั้งหลาย  ก็แลเพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว  ไม่เป็นแล้ว  อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว  ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว   มีอยู่  ฉะนั้น  การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว  เป็นแล้ว  อันปัจจัยกระทำแล้วปรุงแต่งแล้ว  จึงปรากฏ.


นั้นเป็นปรมัตถธรรม   ไม่ใช่เรื่องสมมติ  ไม่ใช่เรื่องบัญญัติแล้วพ้นไปแล้ว   เพราะฉะนั้นโปรดเข้าใจว่านั่นไม่ได้เรียกว่านิมิต  พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า  “ธรรมชาติที่ไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้ว...”


ที่สถิตอยู่ของพระนิพพาน  คือของธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผลแล้วที่ดับขันธ์  (คือดับรอบ)  เข้าปรินิพพาน  ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  สถานที่นั้น  พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า  “อายตนะ” พระพุทธเจ้าดำรัสเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องนิมิตทั้งสิ้น

นิมิตอีกคำหนึ่ง คือ สุบินนิมิต ความฝัน

สิ่งที่เห็นได้  สัมผัสได้ คือที่ชื่อว่า   “นิมิต”  ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้เป็น
อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา


ส่วนธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว   และอายตนะนิพพาน
เป็นปรมัตถธรรม   เป็นอสังขตธรรม  นั่นเป็นอมตธรรม   ชื่อว่าวิสังขารมีสังขารไปปราศแล้ว  หรือพ้นไปจากสังขารแล้ว มิใช่เรื่องนิมิต  จึงต้องทำความเข้าใจให้ดีโดยทางปฏิบัติภาวนา



กล่าวสรุปว่า การเห็นนิมิตนอกตัว   อาจจะถูกหลอกได้ง่าย ความเห็น  ความจำ   ความคิด  ความรู้ อาจเล่ห์ได้ง่าย  เห็นผิดพลาดได้ง่าย  เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติภาวนาที่เห็นนอกตัว   อย่างเช่น    พวกฤาษีชีไพร  หรือแม้แต่พระธิเบต มหายาน  ที่นิยมตั้งใจให้เห็นอยู่ที่กระหม่อม หรือเห็นที่หน้าผากก็มีโอกาสเห็นผิดจนได้  แต่ถ้าตั้งใจให้เข้ามาภายในตัว  โอกาสพิจารณาเห็นถูกยิ่งมากขึ้น   แต่ก็ไม่วายถูกปรุงแต่งมากมายหนักหนา  ก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน  รู้ไปไม่ตลอด รู้เรื่องธรรมกายแต่รู้ไม่ตลอด  เคยได้ยินว่า พวกพระธิเบตดั้งเดิมเขารู้ธรรมกายตลอดแต่หลัง ๆ มา ชักไม่ตลอด  นิมิตติดอยู่ที่หน้าผาก   เขาเรียกว่า  “ตาที่  ๓”



หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านมีประสบการณ์   ท่านทราบแน่ชัดเลยว่านิมิต  ได้แก่ปฏิภาคนิมิต  หรือแม้ตั้งแต่บริกรรมนิมิตก็เถอะ  ท่านให้เอาใจเข้ามารวมข้างในแล้ว   จิตไม่ปรุงแต่ง  เมื่อจิตไม่ปรุงแต่งแล้วกิเลสก็เบาบาง  เมื่อกิเลสเบาบาง  ธาตุธรรมเห็น  จำ คิด  รู้  ได้แก่  ธาตุ ละเอียดของขันธ์  ๕,  อายตนะ  ๑๒,  ธาตุ  ๑๘,  ก็จะซ้อนกันอยู่กลางของกลางกันและกันตามลำดับเป็นชั้น ๆ กันเข้าไปข้างในตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ความเห็น  จำ คิด  รู้  ก็เที่ยงขึ้น  ไปจนถึงคนที่ปฏิบัติภาวนาให้ใจจุดหยุดนิ่งแน่วแน่   ถึงได้ปฏิภาคนิมิต  หยุดนิ่งตรงนั้นจิตดวงเดิมก็จะตกศูนย์  ปล่อยนิมิตเดิมไป  จิตดวงใหม่ที่ผ่องใสก็จะปรากฏขึ้น  นั้นเป็นธรรมในธรรม   และกลางธรรมในธรรม  มีกายในกาย  เวทนาในเวทนา   จิตในจิต  และธรรมในธรรม  ต่อ ๆ ไปจนสุดละเอียด  และยิ่งเมื่อเราเข้าถึงกายละเอียด ๆ  ที่หนึ่ง  ก็ผ่องใสทั้งกาย  เวทนา  จิต  และธรรม



อาศัยใจของกาย  เวทนา  จิต  และธรรม   ที่ผ่องใสระดับนั้นเป็นพื้นฐานปฏิบัติให้ผ่องใสยิ่งขึ้นไปอีก   หยุดนิ่งกลางของกลาง  ดับหยาบไปหาละเอียดต่อไปอีก  เข้าสู่กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  ที่ละเอียด ๆ  ต่อ ๆ ไปอีก  จนสุดละเอียดถึงจะถึงธรรมกาย  ทีนี้เหมือนกับแว่นขยายซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ โฟกัสตรงกัน   เมื่อโฟกัสตรงกันตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  การเห็นอะไร ๆ จะแม่นยำ  แต่ที่ไม่แม่นยำ  ก็คือว่า  เคลื่อนศูนย์   เมื่อเคลื่อนศูนย์   จิตก็ปรุง  หลวงพ่อท่านบอกว่า  กลางของกลางนั่นแหละถูกพระแล้ว  ใครอยากเข้าถึงพระให้หยุด  หยุดให้หยุดกลางของหยุดดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไป   แต่ถ้าใครเอาใจออกนอกตัว  ก็ถูกถิ่นกำเลของมาร  เริ่มตั้งแต่จิตของเราออกไปยึดเกาะอารมณ์ภายนอก  แล้วก็ปรุงแต่อารมณ์นั้น ๆ  แต่เมื่อใจหยุดนิ่ง  ก็หยุดปรุง  นี่ธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้



เพราะฉะนั้น การเอาใจไปวางไปหยุดไปนิ่งตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือสองนิ้วมือนั้น  ถูกศูนย์กลางกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  จากสุดหยาบไปสุดละเอียด  ถึงธรรมกาย  ถึงพระนิพพานเลย  เพราะฉะนั้นบางคนนั่งภาวนา ๆ ไปจนจิตละเอียดขึ้นวูบหนึ่ง  เห็นธรรมกาย  เห็นพระนิพพานได้เลยก็มี  บางคนนั่งไปเห็นดวงธรรม  หยุดในหยุดกลางของหยุด  กลางดวงธรรม  เห็นธรรมกายใสสว่าง  ไม่ต้องผ่านกายมนุษย์ก็มี  ข้อนี้ไม่เป็นประมาณ

เพราะฉะนั้น  จึงขอสรุปไว้เท่านี้ก่อนว่า  ถ้าเอาใจออกนอกตัวนั้นเป็นถิ่นทำเลของมาร  การเห็นด้วยใจ  ความจำ  ความคิด  ความรู้จะทำหน้าที่ปรุงแต่งได้มากขึ้น  การเห็นอะไร ๆ   จึงไม่เที่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก้อ  มักจะผิดพลาดได้เสมอ  จึงต้องให้รวมใจหยุดในหยุดกลางของหยุด และดับหยาบไปหาละเอียดเป็นกายที่ใสละเอียด  ต่อ ๆ ไปจนสุดละเอียด  จิตก็จะหยุดปรุงแต่ง  ธาตุธรรม  เห็น จำ  คิด รู้  ก็จะซ้อนเป็นชั้น ๆ  กันเข้าไปข้างในตรงกันหมด  ณ กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ก็จะ เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  จากสุดหยาบถึงสุดละเอียด  จนถึงธรรมกาย  และเป็นธรรมกาย  และถึงอายตนะนิพพาน ให้ได้รู้เห็นทั้งสภาวะของสังขารธรรมและวิสังขารธรรม  ตามที่เป็นจริง   ให้เข้าใจจุดนี้ให้ดี  นี้คือผลดีของการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย  ที่ตั้ง  “ใจ” ไว้ที่ศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม



แท้ที่จริง  กระบวนการของจิต  เมื่อจิตดวงเดิมหยุดนิ่งตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  หยุดนิ่งถูกส่วน  ก็จะตกศูนย์จากศูนย์กลางกายฐานที่  ๗   ไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ ๖  ถ่ายทอดกรรมเดิม  ปรุงแต่งเป็นจิตดวงใหม่  (ซ้อนอยู่ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย)  ลอยเด่นขึ้นมาตรงศูนย์กลางกายฐานที่  ๗  เป็นธรรมชาติเกิดดับ ๆ  อยู่อย่างนี้นี่แหละ  ได้เห็นอนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา  ของกาย  เวทนา  จิต และธรรมของสัตว์โลก



เพราะฉะนั้น  จึงแนะนำให้เอาใจมาหยุดตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ  ซึ่งเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิมจริง ๆ และเป็นที่ตั้งถาวรของใจ   คือ ใจเปลี่ยนวาระตรงนี้  ปรุงแต่งตรงนี้  หยุดปรุงตรงนี้  เข้าถึงมรรคผลนิพพานก็เข้ากันตรงนี้  เพราะเข้าด้วยใจ  และ ด้วยธาตุธรรมละเอียด  มิได้เดินเข้าด้วยกายภายนอก  แต่เข้าด้วยใจ  ใจที่รับรู้ทางปริยัติเรียกว่า  “วิญญาณ” เป็นแกนกลาง  ส่วนเวทนา  สัญญา  สังขาร  ธรรมชาติอีก ๓  อย่างของใจ  อยู่ในกลางของกลางซึ่งกันและกันไปจนถึงวิญญาณ  รวมเรียกว่า “ใจ”



ใจนี้เมื่อถึงอรูปพรหมละเอียด   สุดละเอียดแล้วตกศูนย์  นี่แหละ  “วิญญาณดับ”  นั่นแหละ สุดละเอียดของวิญญาณของกายในภพ  ๓  จึงปรากฏ   “ธรรมกาย”  รู้ของธรรมกายไม่ใช่วิญญาณ  แต่เป็นญาณนี้แหละญาณหยั่งรู้ของธรรมกาย  เมื่อถึงธรรมกายแล้ว ดับหยาบไปหาละเอียดจนเป็นธรรมกายที่ละเอียด  ทีนี้แม่นยำนักเชียว  แต่ถ้าเคลื่อนศูนย์เมื่อไร  ก็หายแม่น  หรือว่าโอ้อวด  อยากจะอวด  อยากจะโก้อยากดัง  จิตถูกปรุงด้วยกิเลสก็เคลื่อนจากศูนย์ออกมาจากธรรมกายโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว   พวกที่ธรรมกายมัวหมอง   หรือไม่ก็ดับไปเลย  ไม่รู้เท่าทันกระบวนการของจิต  ไม่รู้เท่าทันกิเลส   จึงบอกกัน  ณ บัดนี้ว่า มาปฏิบัติธรรม  ณ  สถานที่แห่งนี้  ไม่มีการพยากรณ์กัน  เว้นแต่ครูกับศิษย์  ไม่มีการพยากรณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร   ข้างหลังจะเป็นอย่างไรไม่มีใครให้มาดูว่า   พ่อแม่ไปอยู่ไหนนะ  เราไม่พูด  ที่วัดนี้ไม่ทำ  และบอกต่อ ๆ  กันว่าอย่าทำ  เพราะใจที่ท่านเริ่มออกไปถิ่นทำเลของมารแล้ว  พอจิตปรุงปุ๊บ  เดี๋ยวก็หลงลาภสักการะ   เสร็จภาคมารเขาเท่านั้นแหละฉะนั้นจงจำไว้  เราปฏิบัติธรรมเพื่อกำจัดกิเลส



อีกอย่างหนึ่งโปรดทราบ  คือว่าแม้ธรรมกายช่วยอะไร ๆ ได้มากพอสมควร  แต่ทุกคนต้องช่วยตนเอง  มาศึกษามาปฏิบัติให้เป็นเองให้พอช่วยตนเองได้  เรื่องธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตัว  จงตั้งใจทำเองให้เป็นเอง  ให้เกิดเอง  ถ้าจะขอความช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์ขอให้เป็นเรื่องจำเป็นจริง ๆ  เพราะกิจสำคัญคือเรื่องกำจัดกิเลสใครเขามาขอให้ช่วยทำอะไร  ท่านจงอย่ารับทำให้ทั่วไป   เพราะมารเขาสอดละเอียดให้มีภาระมาก ๆ  เรื่องกายในมิใช่เรื่องธรรมดา  ผู้ที่ปฏิบัติถึงธรรมกายทั้งหลาย  อย่าเมตตามาก  อย่าไปตั้งสำนักรับทำอะไร ๆ ถ้าทีเมตตามาก  เกินอุเบกขา  ระวังจะกลายเป็นเมตตุ๊บ  คือหล่นตุ๊บลงได้ง่ายมาก  อย่าอยากดังทางนี้เลย  จงปฏิบัติภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสลูกเดียว  ให้เขาฝึกปฏิบัติเอง เพียงแต่ทำใจให้หยุดให้นิ่ง  “สัมมาอะระหัง”  ตรงกลางของกลาง  ก็ช่วยได้พอสมควรแล้ว  ช่วยตัวเองได้มาก  ถ้าใจหยุดนิ่งสนิทจนเห็นดวงใสแจ่มละก็ช่วยได้มากเลย  แม้โรคภัยไข้เจ็บก็หายได้มากทีเดียว  ถ้าทำวิชชาชั้นสูงยิ่งขึ้นไปอีกช่วยได้มากอีก



เพราะฉะนั้น  จงช่วยตัวเอง  และแนะนำผู้อื่นให้ฝึกปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมในธรรม  ถึงธรรมกายเอง  ก็จะสามารถช่วยตัวเองได้.



**************************************************************************

(นิตยสารธรรมกาย  เล่มที่  ๔๐)
จัดพิมพ์โดย
มูลนิธิและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี

หมายเลขบันทึก: 215519เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท