ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสมถกรรมฐานและการพ้นทุกข์...


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสมถกรรมฐานและการพ้นทุกข์... 

การทำสมาธิในพุทธศาสนาที่สอนกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทยรวมถึงกลุ่มประเทศตะวันตกในปัจจุบันนี้  ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเลยก็ว่าได้  มีวิธีทำอยู่อย่างเดียว  คือ  วิปัสสนากรรมฐาน  และสำนักปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้นก็จะตั้งชื่อให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติว่า  สำนักวิปัสสนากรรมฐาน  และเรียกพระผู้สอนวิปัสสนากรรมฐานนั้นว่า  พระวิปัสสนาจารย์  โดยในเมืองไทยทั้งหมดจะนิยมทำวิปัสสนากรรมฐานกันมากจนไม่เคยได้ยินวัดใดสอนสมถกรรมฐานเลย

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะ(พระวิปัสสนาจารย์)เกือบทั้งหมดให้เหตุผลว่าวิปัสสนาเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดสามารถตัดกิเลสได้เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติได้  ส่วนสมถกรรมฐานนั้นไม่สามารถตัดกิเลสได้เป็นเพียงการใช้สมาธิกดทับกิเลสไว้เท่านั้นเหมือนเอาหินทับหญ้าไว้เวลานำเอาหินออกหญ้าก็กลับงอกงามเหมือนเดิม  ด้วยเหตุผลเหล่านี้พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายจึงมุ่งสอนวิปัสสนากันมากเพื่อละกิเลสเพื่อนิพพานกันทั้งหมด

เวลาสอนกรรมฐานวิปัสสนาจารย์จะเน้นหนักเสมอว่า  อย่ากำหนดอย่างเดียวนะเดี๋ยวจะถูกสมถะไม่ใช่วิปัสสนา  ต้องกำหนดรู้ทันขณะจิตกำหนดรูปกำหนดนามอย่าให้สติขาด  ใช้สติเป็นเชือกดึงจิตใช้ปัญญาตัดกิเลสให้ขาดไป ๆ  เกิดมาเท่าไรตัดให้ขาดไปเท่านั้นๆ ดังนี้

สมถกรรมฐานซึ่งท่านจะเน้นเสมอว่า  อย่าไปเล่นนะสมถะไปไม่ถึงไหนหรอก  ตัดกิเลสไม่ขาด  ไม่ถึงนิพพาน  ไม่สิ้นภพสิ้นชาติ  ยังอยู่ในวัฏฏสงสารต่อไป  ไปได้สูงแค่พรหมโลกแล้วก็เวียนกลับมาอีก  ส่วนวิปัสสนาทำให้กิเลสขาดนิพพานได้เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา  ส่วนสมถะเป็นของพวกฤาษีเขาเล่นกัน  อย่าไปเล่นเลย  และทั่วไปจะปฏิเสธการทำสมาธิแบบสมถะนี้เป็นส่วนใหญ่ 

แต่มีพระธุดงค์ไปตามป่าตามชายทุ่ง  พักอาศัยตามป่าช้าบ้าง  ป่าทึบบ้าง  (มิใช่พระธุดงค์ที่มาปักกลดข้างตึกหรือหลังบ้านของโยมในเมืองกรุงนะ)  พระเหล่านี้จะฝึกสมาธิต่อๆ กันมาจากปากของอาจารย์จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง  มักจะไม่มีเขียนเป็นตำราไว้จะเรียนกันแบบรับมาจากครูอาจารย์ผู้สอนและที่สำคัญยิ่งก็คือ  พระเหล่านี้มักจะเป็นผู้มีบารมีเดิมอยู่แล้วปฏิบัติกรรมฐานไปด้วยความมุ่งหวังมรรคผลเป็นสำคัญด้วยพลังจิตอันมุ่งมั่นไม่หวังลาภสักการะเป็นเครื่องตอบแทน  ท่านมักจะไม่ตั้งสำนักกรรมฐานเป็นจริงเป็นจังมากนัก(ในขณะปฏิบัติ)  

ท่านเหล่านี้ส่วนมากจะฝึกกสิณสมาธิทำฌานได้สูงสุดถึงฌาน ๘ ดังนั้นท่านเหล่านั้นจึงไม่ปฏิเสธวิธีการของสมถกรรมฐาน  เพราะสมถกรรมฐานทั้งหมด  คือ  บ่อเกิดแห่งฌานและสมาบัติทั้งหมด  อำนาจที่เกินเลยประสาทสัมผัสของมนุษย์ธรรมดาเกิดจาก  สมถกรรมฐานทั้งนั้น  เริ่มตั้งแต่  ฌาน ๔  อรูปฌาน ๔  นิโรธสมาบัติ  วิชชา ๘  อภิญญา ๖  ล้วนเกิดต่อจากการฝึกสมาธิด้วยวิธีการของสมถะทั้งนั้น  อีกอย่างหนึ่ง  คือ  สมถกรรมฐานนี้พระพุทธองค์ยกขึ้นมาแสดงก่อนวิปัสสนากรรมฐาน  เวลาตรัสเรื่องการทำสมาธิจะตรัสว่า  สมถะและวิปัสสนา  

ในพระไตรปิฎกเล่มที่  ๒๐  ตรัสว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกจิตให้นิ่งบริสุทธิ์ได้ที่เสียก่อนจะไปเจริญวิปัสสนาโดยตรงเป็นอฐานะ  แปลว่า  เป็นไปไม่ได้  เหมือนคนตาดีนั่งมองน้ำขุ่นย่อมไม่เห็นวัตถุใต้น้ำ  หรือเหมือนคนคิดจะสร้างตึกสัก  ๑๐  ชั้น  แต่คิดว่า  ตัวเองจะอยู่ชั้นที่  ๑๐  ชั้นเดียว  ดังนั้นจะสร้างเฉพาะชั้นที่ ๑๐  อย่างเดียวโดยไม่สร้างอีก ๙ ชั้น  มาเป็นฐานให้เสียก่อนก็เป็นอฐานะเช่นกัน  อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่เมืองไทยมีสำนักวิปัสสนากรรมฐานเต็มไปหมด  พระวิปัสสนาจารย์ก็เดินกันเต็มเมือง  แต่ผู้ที่ประกาศว่าบรรลุรู้แจ้งความจริงแล้วด้วยวิปัสสนาญาณจึงหาแทบไม่มีเลย  ถ้าเป็นการลงทุนก็ขาดทั้งทุนขาดทั้งกำไร

แต่อย่างไรก็ตามวิปัสสนาก็ยังมีคนปฏิบัติต่อไปได้ด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์เป็นหลัก  ไม่ใช่เพราะรู้แจ้งตามชื่อของสำนักวิปัสสนา

ปัญหาเรื่องสมถกรรมฐานถูกปฏิเสธไม่นำมาสอนกันในปัจจุบันนี้  อาจเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้การฝึกย่ำอยู่กับที่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร  เวลาเห็นคนนั่งวิปัสสนาครั้งใด  สิ่งที่หนีไม่พ้นและเป็นภาพที่ชินตาของผู้พบเห็นมาก  ก็คือ  การนั่งหลับทั้งผู้สอนและผู้ปฏิบัติตาม

การปฏิบัติโดยมุ่งหวังเพื่อตัดกิเลสรู้เท่าทันกิเลสเป็นสำคัญโดยที่สภาพจิตของตนเองยังไม่มีพลังเข้มแข็งพอ  จึงมีผลออกมาในลักษณะเช่นนี้  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้จะแสดงพระพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงเรื่องการเจริญวิปัสสนาโดยไม่ผ่านการฝึกจิตมาก่อนย่อมไม่อาจสำเร็จผลได้  ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ห้วงน้ำที่ขุ่นมัว  ไม่ใสสะอาด
เป็นโคลนตม  บุคคลผู้มีตาดี  ยืนอยู่บนฝั่งมองไม่เห็นหอยโข่ง
และหอยกาบบ้าง  ก้อนกรวดและถ้วยกระเบื้องบ้าง  ฝูงปลาที่
ว่ายไปและหยุดอยู่ในห้วงน้ำนั้นบ้าง  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  
เพราะน้ำขุ่นมัว  แม้ฉันใด  ภิกษุรูปนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน  
เป็นไปไม่ได้เลยที่จักรู้จักประโยชน์ตน  รู้ประโยชน์ผู้อื่น  
รู้ประโยชน์ทั้งสองหรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะ(วิปัสส-
นาญาณ)ที่ประเสริฐอันสามารถ  อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์ด้วยจิตที่ขุ่นมัว (ข้อนี้เป็นอฐานะคือเป็นไปไม่ได้)
ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะจิตขุ่นมัว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ห้วงน้ำใสที่ไม่ขุ่นมัวใสสะอาด
บุคคลผู้มีตาดียืนอยู่บนฝั่งพึงมองเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง
ก้อนกรวดและถ้วยกระเบื้องบ้าง  ฝูงปลาที่ว่ายไปและหยุดอยู่
ในห้วงน้ำนั้นบ้าง  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะน้ำใสไม่ขุ่นมัว
แม้ฉันใดภิกษุรูปนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน  เป็นไปได้ที่จักรู้ประ-
โยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น  รู้ประโยชน์ทั้งสองหรือจักทำให้แจ้ง
ซึ่งญาณทัสสนะ(วิปัสสนาญาณ)ที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว (ข้อนี้เป็นฐานะ คือ เป็น
ไปได้) ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะจิตไม่ขุ่นมัว

บัณฑิตกล่าวว่า  ต้นจันทน์เป็นไม้ที่เลิศกว่าต้นไม้ทุกชนิด  เพราะ
เป็นของอ่อนและใช้งานได้ดี  แม้ฉันใด  เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้สักอย่าง
ที่ได้เจริญทำให้มากแล้ว  เป็นของอ่อนและควรแก่การใช้งานเหมือน
จิตนี้  จิตที่ได้เจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นของอ่อนและควรแก่การ
ใช้งาน  (อํ.เอก. ๒๐ /๔๕-๔๗/ ๘-๙)

นอกจากนี้พระวิปัสสนาจารย์และผู้ปฏิบัติจำนวนมากได้ปฏิเสธการฝึกจิตด้วยวิธีสมถะ(วิธีฝึกให้จิตสงบ)นี้ในหลายลักษณะด้วยกัน  ซึ่งในที่นี้ได้แบ่งลักษณะของการปฏิเสธออกเป็น  ๔  ลักษณะ  คือ

๑. ลักษณะที่บอกว่า  วิปัสสนาทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญารู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะแล้วตัดได้อย่างฉับพลัน  กิเลสที่เกิดขึ้นมาในขณะใดผู้เจริญวิปัสสนาก็กำหนดตัดได้ในขณะนั้นๆ ไม่หลงไปตามกิเลสนั้น

ส่วนสมถะ(เช่นการเพ่งกสิณ)นั้น  ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดพลังสมาธิแล้วใช้สมาธินั้นกดทับกิเลสนิวรณ์ไว้เหมือนหินทับหญ้า  เมื่อสมาธิอ่อนกำลังกิเลสก็จะกลับงอกงามเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวตัดกิเลสไม่ขาด

มีพระพุทธพจน์ในฌานสูตร  ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงการทำสมาธิแบบสมถะที่ทำให้ได้ฌาณสมาธิแล้วใช้ฌานนั้นกดทับนิวรณ์ไว้แล้วทำให้ปัญญาผุดขึ้นมาพิจารณาขันธ์ ๕ ของตนและผู้อื่นให้เห็นความเป็นไปต่างๆ จนสามารถเห็นความจริงแล้วนำไปสู่การสิ้นกิเลสตัณหาและอาสวะทั้งปวงได้  ถ้าหากยังไม่สามารถสิ้นกิเลสได้ในชาตินี้ก็จะสิ้นได้ในภพที่ไปเกิดใหม่ได้แน่นอน

พระไตรปิฎกเล่ม  ๒๓  ข้อ ๒๔๐  หน้า ๔๑๓ (ฌานสูตร) ได้กล่าวถึงฌานทั้งหลายว่า  สามารถทำให้สิ้นกิเลสได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวว่าความสิ้นไป
แห่งอาสวะทั้งหลายมีได้เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง  
ทุติยฌานบ้าง  ตติยฌานบ้าง  จตตุถฌานบ้าง  อากาสา
นัญจายตนะบ้าง  วิญญานัญจายตนะบ้าง  อากิญจัญจา
ยตนะบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง

ก็ข้อที่เรากล่าวนั้น  เราอาศัยอะไรกล่าวไว้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ประพฤติ
ตนสงบจากความกำหนัดทั้งหลายแล้ว  บรรลุถึงปฐมฌาน  
เธอย่อมพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร
วิญญาณอันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น  โดยมีความเปลี่ยน
แปลงอยู่ตลอดเวลา(ไม่เที่ยง)  มีความเป็นทุกข์  เป็นโรค  
เป็นดังหัวฝีเป็นดังลูกศร  ไม่มีสุข  เป็นอาพาธ  เป็นของผู้อื่น  
เป็นของชำรุดว่างเปล่า  มิใช่ตัวตนเป็นอมตะ(อนัตตา)

เธอย่อมทำจิตหยุดนิ่งสงบอยู่กับการพิจารณาขันธ์ ๕
เหล่านั้น  ครั้นนั้น(อมตธาตุ)ว่า  การดับขันธ์ ๕ นั่นเป็นที่สงบ  
ประณีต  คือเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง  เป็นที่สละ
กิเลสทั้งปวงทิ้ง  เป็นความสิ้นไปแห่งตัณหา  เป็นความสิ้น
ความกำหนัดเป็นที่ดับสนิท (นิพพาน)

เธออยู่ในภาวะปฐมฌานนั้น  ย่อมถึงความสิ้น
ไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย  ถ้ายังไม่อาจทำอาสวะ
ทั้งหลายให้สิ้นทั้งหมดได้  เธอจะได้ไปเกิดเป็นพรหม
(อุปปาติกะ) แล้วจักดับสนิท(นิพพาน)ได้ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำสิ้นไปแล้ว  ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก  ด้วยความ
ยินดีเพลิดเพลินในปฐมฌานนั้นๆ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เปรียบเหมือนนักยิงธนู
หรือผู้ช่วยนักยิงธนูเพียรพยายามฝึกยิงหุ่นฟางหรือ
ก้อนดิน(จนชำนาญ) ต่อมาเป็นผู้ยิงได้ไกล
ยิงไม่พลาดและยิงทำลายสิ่งใหญ่ๆ ได้แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
กันนั่นเอง  สงบระงับจากกามทั้งหลายแล้ว...บรรลุถึง
ปฐมฌาน  เธอย่อมพิจารณาดูขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา
สัญญา  สังขาร  วิญญาณ(ของตนเอง) อันมีอยู่ในขณะ
ปฐมฌานนั้น  โดยเป็นของที่ไม่เที่ยง (เปลี่ยนแปลง)
เป็นทุกข์  มิใช่ตัวตน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวว่า  ความสิ้นไป
แห่งอาสวะทั้งหลายมีได้เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง  
ดังนี้นั้นเราอาศัยข้อนี้กล่าวไว้

ก็ข้อที่เรากล่าวว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ทั้งหลายมีได้  เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง ฯลฯ เพราะ
อาศัยตติยฌานบ้าง ฯลฯ  เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง ฯลฯ
เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง ฯลฯ  เพราะอาศัยอากาสา-
นัญจายตนะบ้าง  ฯลฯเพราะอาศัยวิญญานัญจายตนะ
บ้าง ฯลฯ  เพราะอาศัยอากิญจัญจายตนะบ้าง  ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

…ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เพราะล่วงเลยวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้ง
ปวง  บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยคำนึงถึงว่าอะไรๆ
หน่อยหนึ่งก็ไม่มีเป็นอารมณ์  เธอย่อมพิจารณาดูขันธ์ ๔
คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ของตนเองอันมีอยู่
ในขณะแห่งอากิญจัญญายตนฌานนั้นโดยความเป็น
ของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ว่างเปล่า  เป็นอนัตตา

เธอทำจิตให้หยุดนิ่งสงบอยู่กับการพิจารณา
ขันธ์ทั้ง ๔ เหล่านั้น  ครั้นแล้ว  ได้น้อมจิตไปเพื่อความ
ดับขันธ์ ๔ เหล่านั้น(อมตธาตุ)ว่า  การดับขันธ์ ๔ นั้น
เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง  เป็นที่สละกิเลส
ทั้งปวงทิ้ง  เป็นความสิ้นไปแห่งตัณหา  เป็นความสิ้น
ความกำหนัดเป็นที่ดับสนิท (นิพพาน)

เธออยู่ในภาวะอากิญจัญญายตนะฌานนั้น  
ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย  ถ้ายัง
ไม่อาจทำอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไปได้ทั้งหมด  เธอ
จะได้เกิดเป็นพรหม(อุปปาติกะ) จักดับสนิทได้(ปริ
นิพพาน)ในภพนั้น  ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นอีก
เพราะกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำสูญสิ้นไปแล้วด้วยความ
เพลิดเพลินยินดีในอากิญจัญญายตนฌานนั้นๆ...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายด้วยประการดังนี้แล  ฌานสมาบัติ
มีอยู่เท่าใด  การบรรลุธรรมก็มีได้เท่านั้น


--->>>   พระพุทธพจน์ทั้งหมดเหล่านี้  เป็นคำตอบได้ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า  ฌานสมาบัติสามารถบรรลุธรรมสิ้นกิเลสได้หรือไม่  จะเห็นได้ว่าผู้ได้รูปฌานจะใช้ฌานนั้นเป็นฐานให้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕  ส่วนผู้ได้อรูปฌานจะใช้อรูปฌานนั้นเป็นฐานใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๔ ของตนเองที่มีอยู่ในขณะนั้นเพื่อเห็นแจ้งรู้จริงสามารถสิ้นกิเลสได้แน่นอน  ดังนั้น  พระพุทธพจน์เหล่านี้จึงเป็นคำตอบของฝ่ายที่ปฏิเสธการทำสมาธิด้วยวิธีสมถะได้อย่างกระจ่างทีเดียวคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก

๒. ลักษณะที่บอกว่า  วิปัสสนาทำให้เกิดญาณเกิดปัญญา  กำหนดรูปนามในปัจจุบันขณะทำให้เห็นรูปนามเป็นปัจจุบันตลอดไปจนถึงได้ญาณ ๑๖ คือ มรรคญาณ  ผลญาณ  และปัจจเวกขณญาณ  อันสุดท้าย  ทำให้สิ้นกิเลสได้  สิ้นภพ  สิ้นชาติได้

ส่วนสมถะ(เช่นการเพ่งกสิณ)นั้นทำให้เกิดฌาน  แต่ไม่เกิดปัญญา  คือ ญาณ  ไปติดอยู่แค่ฌาณสมาธิไปได้แค่พรหมโลก  ไม่ถึงนิพพาน

ทัศนะนี้ปฏิเสธสมถะว่าทำให้ได้ฌานแต่ไม่ได้ปัญญา  มีภพที่ไปได้แค่พรหมโลก  ไม่ถึงนิพพาน  มีพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่ตอบปัญหาเรื่องนี้ได้ดี  คือ  พุทธพจน์ว่า

นัตถิ  ฌานัง  อะปัญญัสสะ  นัตถิ  ปัญญา  อะฌายิโน
แปลว่า  ฌานย่อมไม่มีกับคนที่ไม่มีปัญญา  ปัญญาย่อมไม่มีกับคนที่ไม่มีฌาน

หรือแปลโดยสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า
เมื่อมีฌานปัญญาจึงจะเกิด  ปัญญาจะไม่เกิดถ้าไม่มีฌาน  หรือจะแปลว่า  สมาธิไม่เกิดกับคนที่ไม่มีปัญญา  และปัญญาก็ไม่เกิดกับคนที่ไม่มีสมาธิดังนี้  ก็ได้

พระพุทธพจน์นี้ก็บ่งบอกชัดๆ อยู่แล้วว่า  เมื่อฝึกจิตจนเกิดฌานแล้วปัญญาจึงจะเกิดตามมา  และนอกจากนี้แล้ว  ยังมีพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก ว่า

เธอย่อมทำจิตหยุดนิ่งสงบอยู่กับการพิจารณา
ขันธ์ ๕ เหล่านั้น  ครั้นแล้วต่อจากนั้นเธอย่อมโน้มจิต
ไปเพื่อความดับขันธ์ ๕ เหล่านั้น(อมตธาตุ)ว่าการดับ
ขันธ์ ๕ นั่นเป็นที่สงบ  ประณีต  คือ  เป็นที่สงบระงับ
แห่งสังขารทั้งปวง  เป็นที่สละกิเลสทั้งปวงทิ้ง  เป็น
ความสิ้นไปแห่งตัณหา  เป็นความสิ้นความกำหนัด
เป็นที่ดับ(นิพพาน)

เธออยู่ในภาวะปฐมฌานนั้น  ย่อมถึงความสิ้น
ไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย  ถ้ายังไม่อาจทำอาสวะ
ทั้งหลายให้สิ้นทั้งหมดได้  เธอก็จะได้ไปเกิดเป็นพรหม
(อุปปาติกะ) แล้วจักดับสนิท(นิพพาน)ได้ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำสิ้นไปแล้ว  ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก
(เล่ม ๒๓/๒๔๐/๔๑๓)


--->>>  ในข้อนี้พระพุทธพจน์ที่แสดงไว้ทั้งหมดแสดงว่า  สมถกรรมฐานที่ทำให้ได้ฌานสมาบัติ  สามารถทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งความจริงได้  และทำให้สิ้นกิเลส  สิ้นตัณหาได้  และสามารถนิพพานได้  แม้บางท่านอาจยังไม่สามารถนิพพานในชาตินี้ได้  แต่ถ้าได้ฌาณสมาบัติแล้วตายไปก็จะนิพพานได้ในภพที่ไปเกิดไม่ต้องเวียนกลับมาเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป  ดังนั้นทัศนะที่สองที่ปฏิเสธสมถกรรมฐานนี้ก็เป็นความเห็นผิดๆ ไม่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

๓. ลักษณะที่บอกว่า  วิปัสสนาเป็นสายที่ตรงที่สุด  และเร็วกว่า  ส่วนสมถะนั้นเป็นสายอ้อมและช้ามาก  และส่วนมากจะบอกว่าวิปัสสนาดีกว่า  อย่าไปเล่นเลยสมถะดีไม่ดีอาจทำให้เสียสติเป็นบ้าได้อันตรายอย่าไปเล่น  วิปัสสนาดีกว่า  ตัดกิเลสได้และเกิดปัญญา

ข้อนี้ฝ่ายวิปัสสนาบอกว่า  วิปัสสนาดีกว่า  ตรงกว่า  เร็วกว่า  แสดงว่า  สำนักวิปัสสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ได้ผลิตพระอริยบุคคลคือผู้จบวิปัสสนาเป็นจำนวนมากแล้วนะซิ ?  เพราะวิปัสสนาแปลว่า  รู้แจ้งแทงตลอดมรรคผลนิพพาน  หรือแปลง่ายๆ ว่า  ผู้บรรลุธรรมนั่นเอง  ถ้าเร็วกว่า  ตรงกว่าจริงทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า  การเจริญวิปัสสนาโดยตรงเป็นอฐานะ  คือ เป็นไปไม่ได้  ส่วนที่ตำหนิฝ่ายสมถกรรมฐานว่า  จะทำให้เสียสติเป็นบ้าได้นั้น  ได้สถิติมาจากที่ไหน  เพราะที่ไหนๆ ก็มีแต่สำนักวิปัสสนาแล้วคนที่บ้ารู้ได้อย่างไรว่าบ้าเพราะสมถะ  ไม่ใช่บ้าเพราะวิปัสสนาหรือว่าบ้าเพราะความไม่เข้าใจ

--->>   ประการสำคัญที่สุด  คือ  สมถกรรมฐานนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นวิธีการแรกที่ยกขึ้นมาสอนในการฝึกจิตเพื่อรู้ธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน  (ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นขั้นที่สองที่สอนต่อจากสมถะ) ซึ่งวิธีการเหล่านี้พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิบัติมาทั้งนั้นจึงนำมาสอนพระสาวก  ถ้าเช่นนั้นพระพุทธองค์ก็คงเป็นคนบ้าไปแล้วซิ ?  และคำสอนเรื่องกรรมฐานนี้ก็เป็นคำสอนของคนบ้าไปแล้วนะซิ ?  ตกลงว่าระหว่างผู้ปฏิเสธกับพระพุทธองค์ใครเป็นบ้ากันแน่ ?

๔. ลักษณะที่บอกว่า  วิปัสสนาเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา  ส่วนสมถะเป็นเรื่องของฮินดูหรือเป็นของพวกฤาษีไม่ใช่ของพุทธศาสนา

คำสอนเรื่องสมถกรรมฐานนี้เป็นที่มาทางเดียวที่จะพิสูจน์คำสอนของพระพุทธองค์ได้ว่า  ฌานสมาบัติ  นิโรธสมาบัติ  วิชชา ๓  วิชชา ๘   อภิญญา ๖  ปรมัตถธรรม (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) ปฏิจจสมุปบาท  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยสมถกรรมฐาน  คำสอนของพระพุทธองค์จึงจะได้ชื่อว่า  เอหิปัสสิโก  ท้าให้มาพิสูจน์  สันทิฏฐิโก  จะเห็นประจักษ์ด้วยตัวของท่านเอง  และปัจจัตตัง  วิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตน  เป็นต้น

แล้วเพราะเหตุอะไรจึงโยนคำสอนของพระพุทธเจ้าไปให้ศาสนาอื่นที่เขาไม่เคยมีในคำสอนของเขาเลยบอกว่า  สมถะเป็นของฮินดู  ความจริงนั้นศาสนาฮินดูเขาสอนเรื่องโยคะ  โดยแบ่งออกเป็น ชฺญานโยคะ  กับภักติโยคะ  เพื่อบรรลุโมกษะจะได้เข้าไปรวมอยู่กับปรมาตมัน  จงเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ว่า  สมถะเป็นศัพท์ภาษาบาลี  ที่ใช้ในพระพุทธศาสนา  ส่วนศาสนาฮินดูเขาจะใช้ภาษาสันสกฤต  หรือฮินดี

--->>>   คำสอนเรื่องสมถกรรมฐานและเรื่องฌานสมาบัตินี้มีมากมายหลายแห่งมากที่แสดงไว้ในที่ต่างๆ อันแสดงว่า  เป็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาซึ่งมีสอนตั้งแต่หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีเป็นต้นมา  เป็นที่น่าแปลกใจผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจุดประสงค์นิพพานกับไม่รู้ว่า  สิ่งนี้เป็นของพระพุทธศาสนา  เวลาแสดงธรรมปาฐกถาท่านจะพูดเสมอว่า  การทำสมาธิในทางพระพุทธศาสนามี ๒ อย่างคือสมถะและวิปัสสนา  สมถกรรมฐานมีอารมณ์ ๔๐ อย่าง  คือ กสิณ ๑๐  อสุภะ ๑๐  อนุสติ ๑๐  พรหมวิหาร ๔  อรูปกรรมฐาน ๔  จตุธาตุววัฏฐาน ๑  อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑  รวมเป็น  ๔๐  อย่างเป็นต้น  คำสอนเหล่านี้ได้ยินจนชินหู  แต่แปลกใจว่า  เวลาพูดถึงสมถะโดยตรงกับถูกปฏิเสธว่า  สมถะ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา  ถ้าเป็นชาวบ้านตามชายแดนพูดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  แต่นี่กลับเป็นคำพูดของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาพูดเสียเองจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย 

ความเห็นต่างๆ  ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้  เป็นความเห็นที่มีคนพูดกันมากและจะได้ยินจนชินหูเลยก็ว่าได้  คนที่มีทัศนะเช่นว่านี้มิใช่จะมีจำนวนเพียงนิดหน่อย  แต่มีเป็นจำนวนมากทีเดียว

มีสำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มีชื่อเสียงมาก  ในการสอนวิปัสสนาถึงกับเขียนคำภาษิตในเชิงปฏิเสธสมถกรรมฐาน  ติดหน้าวัดไว้เลย  ว่า

อัปปนาสมาธิ          จิตสงบนิ่ง             ดิ่งถึงฌาน
ไม่เกิดญาณ            ได้อภิญญา           พาหลงใหล
อุปจารสมาธิ            มีนิมิต                 หลงติดใจ
ล้วนทำให้               หลงผิด               ติดอัตตา
ขณิกสมาธิ             คือสมาธิ              ชั่วขณะขณะ
ดุจวัชระ                 สายฟ้าแลบ          แพลบแพลบหนา
เพียรกำหนด           รูป-นามหนอ         ต่อเนื่องมา
ญาณปัญญา           เห็นเกิด-ดับซึ้ง       ถึงนิพพาน


คำภาษิตนี้ไม่ใช่พุทธพจน์  แต่เป็นคำกลอนของคนที่ไม่เข้าใจถึงวิธีการทำสมาธิในพระพุทธศาสนาได้แต่งไว้

--->>   ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น  ที่คนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในวงการพระพุทธศาสนาได้มีการพูดถึง  ซึ่งแสดงว่ายังไม่มีความชัดเจนในสิ่งที่เป็นหลักการและวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาอย่างถูกวิธีได้  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เข้าทำนองที่พระพุทธองค์ตรัสว่า  คนที่จะกล่าวตู่คัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  มี ๒ พวก  คือ

๑. คนที่ไม่ได้นับถือ  แล้วกล่าวตำหนิคัดค้านคำสอนด้วยความไม่ศรัทธา

๒. คนที่นับถือศรัทธาเป็นศาสนิกของพระองค์เอง  กล่าวตำหนิคัดค้านคำสอน  เพราะเรียนมาผิดแล้วพูดไปผิดๆ ตามความเข้าใจผิดนั้น  ก็ได้ชื่อว่ากล่าวตำหนิคัดค้านพระองค์ด้วยเช่นกัน  เพราะทำคำสอนของพระองค์ให้ผิดไปอันนี้พึงระวังให้มาก

ต่อไปจะได้บรรยายถึงหลักฐานของการทำสมาธิแบบสมถะที่ทำให้ได้ฌานสมาบัติแล้วนำไปสู่การหลุดพ้นได้อย่างไร  และจะเป็นการตอบปัญหาของทัศนะต่างๆ ที่เห็นว่า  การทำสมาธิแบบสมถะนี้ เป็นเรื่องเหลวไหล  ไม่ทำให้เกิดปัญญา  ไม่สามารถหลุดพ้นได้  รวมถึงอาจทำให้เสียสติเป็นบ้าได้

เพื่อให้มีการเรียนรู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้นแก่ผู้ที่ยังสับสนอยู่  และเพื่อความสบายใจของผู้ที่กำลังฝึกจิตด้วยวิธีการเพ่งกสิณหรือสมถกรรมฐานอื่นๆ ด้วยว่า  เมื่อปฏิบัติถูกต้อง หรือถ้าทำฌานให้เกิดได้จริงตามคำของคนที่ตำหนิแล้ว  ก็ขอให้เย็นใจได้ว่า  มีพระพุทธพจน์รับรองผลของการปฏิบัตินั้นไว้ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง  เช่น

ในมหามาลุงกยสูตร  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓  ข้อที่ ๑๓๓  หน้า ๑๔๗  เป็นต้นไป  ได้กล่าวถึงเรื่อง  ฌาน ๔  และอรูปฌาน ๓ ข้อ  (เพียงสมาบัติ ๗) ได้ชื่อว่า  เป็นมรรคและปฏิปทาเพื่อละกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕  ได้แน่นอน  โดยการใช้องค์ฌานในระดับต่างๆ เป็นฐานให้แล้วใช้จิตที่มีสภาวะปลอดจากนิวรณ์ทั้งหลายในขณะที่อยู่ในองค์ฌานนั้นแล้วน้อมจิตไปเพื่อพิจารณาขันธ์ ๕  ของตนเอง  ซึ่งเนื้อความในพระสูตร  พอสรุปได้ดังนี้

ถ้าผู้ใดได้ฌานขั้นต่ำ  คือ รูปฌานแต่ละขั้นก็จะใช้จิตพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ นั้น  ส่วนผู้ที่ได้อรูปฌานซึ่งได้ผ่านการกำหนดรูปไปแล้ว  ก็จะใช้จิตพิจารณาเพียงขันธ์ ๔  คือ  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เท่านั้น  ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  

ขันธ์ทั้งปวงเกิดขึ้นมาได้ด้วยองค์ประกอบเป็นปัจจัยหนุนให้เกิด  เป็นของว่างเปล่า  ล้วนต้องแตกสลาย  ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทุกข์นานัปการ  เป็นดุจโรค  เป็นดุจหัวฝี  เหมือนลูกศรที่คอยทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลา  เป็นต้น  แล้วน้อมจิตถอนออกจากความยึดติดในร่างกายและในจิตวิญญาณของตนเอง  แล้วน้อมไปนึกถึงการดับสนิทไม่ต้องเกิดอีก  คือ นิพพาน ว่าเป็นภาวะที่สงบนิ่ง  ละเอียด  ประณีต  ก็คือ  การดับสังขารร่างกายและจิตใจทั้งหมด  การสลัดกิเลสที่ยึดถือทั้งปวงทิ้ง  ความสูญสิ้นแห่งความต้องการ  ความหมดจากความกำหนัด  การดับสนิท (นิพพาน)

ผู้ที่ได้พิจารณาเห็นรูปนาม (ขันธ์) ของตนอยู่ในภาวะ(ฌาน) เช่นนี้แล้วย่อมสามารถทำให้อาสวะทั้งหลายให้สูญสิ้นไปได้  ถ้าหากยังไม่สามารถทำให้สิ้นไปได้จะได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส(สถานที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสถานที่อันใครๆ ไม่เคยไป  ส่วนผู้ที่ได้ไปแล้วก็จะไม่กลับมาอีก)  แล้วจะดับได้อย่างสนิท  คือ ปรินิพพานในภพนั้นเอง  เพราะกิเลสที่จะฉุดลงเบื้องต่ำได้สูญสิ้นไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ในอปรอัจฉราสังฆาตวรรค  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐  ข้อที่ ๓๘๒  หน้าที่ ๔๖  ได้พูดถึงผลแห่งจิตที่เป็นสมาธิแม้ได้ฌานชั่วขณะนิดหน่อยก็มีอานิสงค์มาก  ดังนี้ว่า

...พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้า
ภิกษุเจริญปฐมฌานแม้ชั่วขณะเท่าดีดนิ้วมือครั้งเดียว  
ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้อยู่ไม่ห่างจากฌาน  ทำตามคำสอน  
ปฏิบัติตามโอวาทของพระศาสดา  ฉันบิณฑบาตของ
ชาวบ้านอย่างไม่สูญเปล่า  ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภิกษุผู้
เจริญปฐมฌาณให้มากเลย

ถ้าภิกษุเจริญทุติยฌาน...ตติย...จตุตถฌานแม้ชั่ว
ดีดนิ้วมือครั้งเดียว ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้อยู่ไม่ห่างจากฌาน  
ทำตามคำสอน  ปฏิบัติตามโอวาทของพระศาสดา  ฉัน
บิณฑบาตของชาวบ้านอย่างไม่สูญเปล่า  ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงภิกษุผู้เจริญ...จตุตถฌาณให้มากเลย

ถ้าภิกษุผู้เจริญปฐวีกสิณ...  เจริญอาโปกสิณ...
เจริญเตโชกสิณ...  เจริญวาโยกสิณ...  เจริญนีลกสิณ...
เจริญปีตกสิณ...  เจริญโลหิตกสิณ...  เจริญโอทาตกสิณ...
เจริญอากาสกสิณ..  เจริญวิญญาณกสิณ...ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้อยู่ไม่ห่างจากฌาน  ทำตามคำสอน  
ปฏิบัติตามโอวาทของพระศาสดา  ฉันบิณฑบาตของ
ชาวบ้านอย่างไม่สูญเปล่า  ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภิกษุผู้เจริญ
ทำให้มากซึ่ง...วิญญาณกสิณเลย

ภิกษุผู้ได้ฌานล่วงเลยการกำหนดรูปไปแล้วดับ
ความแค้นเคืองใดๆ ได้แล้ว  ไม่นึกถึงความทรงจำอื่นๆ
ทั้งหมด  กำหนดอยู่ที่อากาศ  อากาสา...วิญญาณัญ...อา
กิญจัญ...เนวสัญญา...สัญญาเวทยิตนิโรธ...ภิกษุทั้งหลาย  
ภิกษุนี้เราเรียกว่า  ผู้อยู่ไม่ห่างจากฌาน  ทำตามคำสอน  
ปฏิบัติตามโอวาทของพระศาสดา  ฉันบิณฑบาตของ
ชาวบ้านอย่างไม่สูญเปล่า  ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภิกษุ
ผู้ทำสัญญาเวทยิตนิโรธให้มากเลย


อนึ่งในอาเนญชสูตร  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐  ข้อที่  ๑๑๗  หน้า ๓๕๙ ได้พูดถึงผลแห่งความแตกต่างระหว่างของบุคคลปุถุชนหรือฤาษีนอกพระพุทธศาสนาที่สำเร็จฌานสมาบัติ  กับพระสาวกของพระองค์ที่สำเร็จฌานสมาบัติว่า  มีความแตกต่างกัน  ดังนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้สำเร็จอรูปฌานขั้นกำหนด
อากาศ คือ อากาสานัญจายตนฌาน  ซึ่งล่วงผ่านรูปสัญญา
ไปแล้ว  ไม่มีความแค้นเคืองใจใดๆ ไม่นึกถึงความทรง
จำอื่นๆ เขาชอบใจ  ติดใจ  ปลื้มใจกับฌานนั้น  ดำรงอยู่
ในฌานนั้น  น้อมใจไปในฌานนั้น  ชอบอยู่กับฌานนั้น  
เป็นส่วนใหญ่  อย่างไม่เสื่อมคลาย  หลังจากตายแล้ว  
เขาจะได้เกิดร่วมกับพวกพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ  
มีอายุประมาณ  ๒๐,๐๐๐  กัป

คนปุถุชน(หรือฤาษี)ที่เกิดในชั้นอากาสานัญยตนะนั้น
เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว  จะไปเกิดในนรกบ้าง  เป็นสัตว์
เดรัจฉานบ้าง  เป็นเปรตบ้าง  ส่วนสาวกของพระผู้มี
พระภาคเจ้าดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากาสานัญจายตนะ
นั้นจนสิ้นอายุขัย  เมื่อกำหนดเวลาอายุนั้นหมดหมดไปแล้ว
จะปรินิพพาน(ดับอย่างสนิท)ในภพนั้นแล  
นี้แหละเป็นความแตกต่างกัน  ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ
คำสอนของพระพุทธเจ้ากับปุถุชน(ฤาษี)ผู้ไม่ได้สดับ  
ในเวลาที่ความเป็นไปและการเกิดยังมีอยู่


นอกจากนี้ในคัมภีร์ยังได้พูดถึง  ผู้ที่ได้อรูปฌานขั้นวิญญาณัญจายตนะ  ว่าจะมีอายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ กัป  และผู้ที่ได้ขั้นอากิญจัญญายตนะ  จะมีอายุประมาณ  ๖๐,๐๐๐  กัป  เมื่อสิ้นอายุแล้วปุถุชนหรือฤาษีจะกลับมาเกิดในนรกบ้าง  สัตว์เดรัจฉานบ้าง  เปรตบ้าง

หมายเลขบันทึก: 215532เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2014 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พระสูตรที่แสดงมาทั้งหมดนี้ พอที่จะทำให้คนซึ่งเข้าใจผิดคิดว่า สมถกรรมฐานหรือการได้ฌานจะทำให้ไม่สิ้นทุกข์แล้วกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้เข้าใจความจริงว่า ผู้ที่ได้ฌานในพระพุทธศาสนาแล้วแต่ยังมีอินทรีย์ทางปัญญาอ่อนอยู่ เมื่อตายไปแล้วอินทรีย์จะสมบูรณ์ได้ในภพต่อไปและนิพพาน(ดับสนิท)ได้ในภพที่ตนไปเกิดนั่นเอง โดยไม่ต้องวนกลับมาเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป ต่างจากนักพรตในศาสนาอื่นที่ไม่เคยได้ยินคำสอนทางปัญญาที่จะทำให้หลุดพ้นได้ เช่น หลักปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เป็นต้น จึงทำให้พวกเขาหลงยึดติดอยู่กับตัวตนเป็นอมตะยังหลงติดในกามภพ รูปภพ อรูปภพอยู่ ดังนั้น แม้จะได้ฌานสูงสุดแล้ว ก็ยังจะกลับมาท่องเที่ยวไปในวัฏฏะอันแสนจะยาวนานที่ใครๆ ไม่สามารถจะกลับไปหาจุดเริ่มต้นและตามดูจุดสุดท้ายได้พบในที่สุดก็จะต้องเป็นทุกข์ต่อไป

... การเพ่งกสิณเป็นหลักคำสอนของพระพุทธองค์ในลำดับแรกๆ ที่ทรงยกขึ้นมาวางไว้ให้สาวกได้ใช้เป็นหลักการในการฝึกจิตรวมใจเพื่อให้ได้สมาธิที่สูงสุดและมีพลังมาก ควรแล้วหรือที่ผู้ปฏิเสธซึ่งยังไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดจะรีบด่วนสรุปว่า นี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือเข้าใจว่าจะทำให้เสียสติได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์ก็คงไม่ตรัสรับรองผลไว้ดังพุทธพจน์ที่ยกมาให้ดูนี้

--->>> การที่เชื่ออะไรตามๆ กันมาโดยไม่ศึกษาค้นคว้าให้ละเอียดนี้เป็นข้อควรระวังอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธควรสังวรระวังให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธองค์ มิเช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นการปฏิเสธคำสอนของพระศาสดาตนเองไปโดยไม่รู้ตัว

 

**************************************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียง : กสิณ กรรมฐานที่ทรงพลัง ของ ดร.จรูญ วรรณกสิณานนท์

ผมอ่านแล้วพอจะจับใจความโดยรวมประมาณว่าจะตำหนิว่างั้นเถอะใช่ไหมครับ ผมมีอะไรจะค้านมากมายเลยครับแต่ว่ามันเยอะผมไม่อยากมาเสียเวลาชีวิตกับอะไรแบบนี้นักหรอกนะครับ

อธิบายง่ายๆนะครับ สมถกรรมฐาน คือเจริญสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน คือการเจริญสติ

ที่พระพุทธองกล่าวประมาณว่าต้องมีสติอย่างเดียวมันถึงพระนิพพานไม่ได้ ต้องมีสมาธิด้วย ข้อนี้ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเจริญสมาธิอย่างเดียวแล้วพ้นได้นิครับ การเจริญสมาธิเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้กิเลสนี้สิ้นไปได้ ขอถามหน่อยนะครับว่าถ้าเวลาเจริญสติแล้วไม่มีสมาธิเลยจะเจริญได้หรือครับ สมาธิสูงสติต่ำ ไม่ดี สติสูงสมาธิต่ำ ก็ไม่ดี ต้องให้มันสมดุลไปครับ(สมาธิเนี่ยก็สมถกรรมฐานนั่นหละครับ จะบอกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนนั้นไม่มีสมถะอยู่เลยแบบที่คุณเข้าใจนั้นก็แสดงว่าคุณไม่ได้เข้าใจสมถะจริงๆนั่นหละครับ) แหมชมเชยจังเลยนะครับไอการที่สมาธิสูงเนี่ย ไอสมาธิขนาดฌานเนี่ยมันสูงเกินไปครับ แล้วถ้าเวลาคุณอยู่ในฌาน(ผมก็ไม่เคยเข้าหรอกครับ)คุณไม่มีความรู้สึกตัวเลยหรือครับ ถ้าคุณไม่รู้สึกแล้วรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือฌานจริง ผมได้ยินว่ามันมีความสุข ที่รู้ว่ามีความสุขได้เพราะว่ามีสติแน่นอนครับ ถ้าไม่มีสติก็หลับสิครับแล้ว ต้องให้มันสมดุลกันครับถึงจะได้ผล สติคือความระลึกรู้ สมาธิคือความตั้งมั่นจดจ่อ(อะไรประมาณนี้มั้งครับไม่แน่ใจ) ถ้าเรารู้ตัวตลอดแล้วมันจะจดจ่อได้หรือครับ โน่นนี่นั่นมากระทบรู้หมดแต่ว่ามันไม่ได้จดจ่อนิครับ ถ้าเราจดจ่อแล้วเราจะรู้ในเรื่องที่เราไม่ได้จดจ่อหรือครับ นี่ไงครับเหตุผลว่าทำไมสมาธิระดับฌานมันถึงได้ไม่ดีต่อการเจริญวิปัสสนา

การเจริญวิปัสสนาเนี่ยทำเพื่อให้เห็นสัจจธรรม คือ ไตรลักษณ์ มี 3 คือ อนิจจัง ทุกขัง อนันตา แบบที่ได้ยินกันบ่อยๆนั่นหละครับ (-*-ไปๆมาๆมีเรื่องวุ่นๆผมชักจะลืมแล้วว่าจะบอกอะไรต่อ แต่ก็เอาเถอะครับ)

ถ้าหากว่าการเจริญสมถะจนได้ฌานสูงๆนั้นดีกว่าวิปัสสนาจริงแล้วทำไมครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านจึงได้สอนวิปัสสนากรรมฐานก่อนหละครับ

ปล.มาว่าพระกรรมฐานแบบนี้มันบาปนะครับ

พระพุทธองค์ท่านก้ไม่ได้ห้ามเจริญ สมถะนี่ครับ

พระอรหันต์ 4 ประเภท ก็มีทั้งที่ได้ฌานและไม่ได้ฌานนี่ครับ แล้วการเจริญพระกรรมฐานเนี่ยทำให้บ้าได้ด้วยหรือครับ(ผมไม่แน่ใจ)เคยแต่ได้ยินว่าคนบ้าเจริญพระกรรมฐานไม่ได้

แล้วที่เคยไปอ่านมาว่าจะเป็นพระโสดาบันได้ต้องได้อย่างน้อยปฐมฌาน ผมมีความคิดเห็นว่า มันไม่จริงนะครับ เพราะว่าพระโสดาบันละสังโยชน์ได้ 3 อย่างแรก ซึ่งมันก็ไม่มี อะไรเกี่ยวกับ ปฐมฌานนี่ครับ แล้วในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงสอนบุคคลต่างๆจนได้เป็นพระโสดาบัน เขาเหล่านั้นได้ปฐมฌานกันด้วยหรือครับ

สตินี่มีประโยชน์มากนะครับ ใครที่บอกว่า ภาพหรือนิมิตที่เกิดขึ้นเวลาปฏิบัตินั้นพิสูจน์ไม่ได้ นั้นไม่เป็นความจริงครับ ผมลองพิสูจน์มาแล้ว ยืนยันนั่งยันนอนยันยังได้เลยครับว่ามีวิธีพิสูจน์ ตอนเกิดครั้งแรกผมสติไม่พอมันไม่ยอมกำหนด กำหนดไม่ออก ก็ไม่เข้าใจตัวเอง แต่พอครั้งต่อมาเอาใหม่ตั้งใจแน่ๆว่าเห็นครั้งนี้ต้องกำหนดให้ได้ ปรากฏว่า ผมก็ลองดู กำหนดเห็นหนอ ที่อุณาโลม กำหนดไปได้ซัก 2 ครังก็หาย ผมก็กำหนดรู้หนอต่อทันทีหลังจากที่กำหนดเห็นหนอแล้วหาย (หลังจากนั้นรู้สึกว่ามันจะไม่มีมาอีกแล้วนะครับจำไม่ได้มันผ่านมานานแล้วทั้งนี้เพราะผมขี้เกียจปฏบัติ จึงจำไม่ได้แล้ว)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท