การเห็นกับวิปัสสนากรรมฐาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

การเห็นกับวิปัสสนากรรมฐาน


ถ้าพิจารณาด้วยหลักการทางภาษาศาสตร์ เมื่อวิปัสสนาแปลว่า “เห็นแจ้ง” ก็หมายความว่า วิปัสสนากรรมฐานต้องมีการเห็นเป็นหลักสำคัญเลย ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงใช้ศัพท์อื่นไปแล้ว นี่ว่ากันตามหลักการของภาษาล้วนๆ นอกจากชื่อจะบ่งแสดงให้เห็นว่า วิปัสสนาต้องมีการเห็นเป็นองค์ประกอบสำคัญ ยังมีพระสูตรเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนว่า วิปัสสนาต้องมีการเห็น


ธัมมจักรกัปปวัตนสูตรเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกมาสอนปัจจวัคคีย์ และน่าจะเป็นพระสูตรที่สำคัญมาก เพราะ พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้ว ด้วยวิธีการใด ในพระสูตรนี้พระองค์ได้ทรงกล่าวกับปัจจวัคคีย์ว่า ไม่ควรทรมาณ ตนเองให้ลำบาก และหมกมุ่นอยู่ในกาม เพราะไม่เป็นประโยชน์ ต่อจากนั้นพระองค์ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์มีดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณ/ความรู้จึงเกิดตามขึ้นมา ดังนี้


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด  ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด    ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?


-->>  จะเห็นได้ว่า พระองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงทำดวงตาให้เกิด หลังจากนั้นมาจึงทรงทำญาน/ความรู้ให้เกิด ทั้งดวงตาและญาน/ความรู้นั้นจะทำให้บรรลุพระนิพพานได้ หลังจากนั้น พระองค์ทรงอธิบายต่อถึงเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งรวมถึงมรรค 8 ด้วย หลังจากพระองค์ตรัสว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา     ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา      ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา      ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา      ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ


-->>  พระองค์ตรัสข้อความดังกล่าว 3 รอบ รอบแรกทรงกล่าวว่า พระองค์รู้จักอริสัจ 4 รอบที่สองทรงกล่าวว่า จะทำอะไรกับอริสัจ 4 และรอบที่สาม ทรงกล่าวว่า ได้ทำอะไรไปแล้วกับอริยสัจ 4 ซึ่งเมื่อกระทำแล้วพระองค์จึงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ข้อความในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ตรัสว่า ดวงตาของพระองค์เกิดขึ้น ลำดับญาณ/ความรู้จึงเกิดขึ้น ต่อจากนั้น ปัญญา วิทยา/วิชา และแสงสว่างจึงเกิดขึ้นมาตามลำดับ


ต่อจากนั้นมา พระสูตรนี้กล่าวว่า
ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน     ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.


-->>  จะเห็นได้ว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสธัมมจักรกัปปวัตรสูตรอยู่นั้น ปัจจวัคคีย์ก็ปฏิบัติธรรมตามไปด้วย เมื่อใจสงบเป็นหนึ่งเดียว/เอกัคคตารมณ์แล้ว พระโกณฑัญญะจึงมีดวงตาเกิดขึ้น และเห็น “ธรรม” ซึ่งผ่องใส ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เมื่อพระโกณฑัญญะเห็นธรรมแล้ว จึงกล่าวขอบรรพชาอุปสมบท


ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้วได้รู้ธรรม แจ่มแจ้งแล้ว      มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น.


-->>  จากธัมมจักกัปปวัฒนสูตรข้างต้น คำว่าดวงตานั้นต้องไม่ใช่ดวงตาที่เป็นตาเนื้อของพระพุทธเจ้าและปัจจวัคคีย์ เพราะ ตาเนื้อนั้นมนุษย์ทุกคนต้องมีมาตั้งแต่เกิดแล้ว แสดงว่า ดวงตาในพระสูตรนี้ต้องเป็นดวงตาชนิดอื่น

-->>  มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากที่อธิบายคำว่า “เห็น” ในพระสูตรนี้เป็นไปในทำนองว่า “เข้าใจ” หรืออธิบายคำว่า “เห็น” เป็นเพียงชื่อของปัญญา บางท่านก็กล่าวว่า เป็นสภาวธรรม โดยไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า เป็นสภาวธรรมอย่างไร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้อง คำว่าเห็นจะต้องอาศัยอายตนะตาเป็นเครื่องมือ ซึ่งตาหรือจักษุอื่นๆ ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม21 ขุททกนิกาย มหานิทเทส ดังนี้


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราย่อมเห็นหมู่สัตว์นี้ ไปในตัณหาในภพทั้งหลาย ดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายที่เลว ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ย่อม ร่ำไรใกล้ปากมัจจุ. สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
คำว่า เราย่อมเห็น ... ดิ้นรนอยู่ในโลก มีความว่า คำว่า ย่อมเห็น คือ ย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ด้วยมังสจักษุบ้าง ทิพยจักษุบ้าง ปัญญาจักษุบ้าง พุทธจักษุบ้าง สมันตจักษุบ้าง คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า ดิ้นรนอยู่ คือ เราย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู [ซึ่งหมู่สัตว์นี้] ดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่ายไปมา


-->>  จากพระสูตรดังกล่าวจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสก่อนว่า พระองค์เห็นหมู่สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา พระองค์ทรงใช้คำที่ต้องใช้ตาเป็นเครื่องมือแทบจะคลอบคลุมทั้งหมด คือ เห็น แลดู ตรวจดู พิจาณาดู ด้วยดวงตา 5 ประเภทคือ 1) มังสจักษุ/ตาเนื้อ 2) ทิพยจักษุ 3) ปัญญาจักษุ 4) พุทธจักษุ 5) สมันตจักษุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าและพระปัจจวัคคีย์นั้น ต้องเห็นด้วยทิพยจักษุ, ปัญญาจักษุ, พุทธจักษุ หรือสมันตจักษุ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะหลายอย่างแต่ต่างกรรมต่างวาระกัน


หลังจากทรงสอนธัมมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัจจวัคคีย์ไปแล้ว ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 คนดังกล่าวมีดวงตาเห็นธรรมในระยะเวลาไล่เลี่ยกันแต่ไม่พร้อมกัน กล่าวคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรมก่อน หลังจากนั้นพระวัปปะกับพระภัททิยะมีดวงตาเห็นธรรมต่อมา และคู่สุดท้ายที่มีดวงตาเห็นธรรมก็คือ พระมหานามะกับพระอัสสชิ แต่พระปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ยังไม่มีใครบรรลุพระอรหันต์ หลังจากนั้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอนัตตลักขณสูตร หลังจากได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว พระปัจจวัคคีย์จึงบรรลุพระอรหันต์ทั้ง 5 รูป


อนัตตลักขณสูตรเริ่มต้นด้วยคำสอนที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นอัตตาอย่างที่พระปัจจวัคคีย์ยังมีความเห็นความเชื่อเช่นนั้นอยู่ การที่พระปัจจวัคคีย์เห็นว่า ที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอัตตาจึงทำให้ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ดังนี้


ตรัสถาม ความเห็น ของพระปัญจวัคคีย์


พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉนรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?

ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.



-->>  ในข้อความข้างต้นนั้น มีคำว่า “ความเห็น” ซึ่งในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวันจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า opinion; view; viewpoint; idea; suggestion; assumption; belief; thought เป็นต้น ความเห็นในภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะเกิดมาจาก การเห็น การอ่าน การฟัง แล้วมาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดเป็นความเห็นขึ้นมา แต่ในพระสูตรดังกล่าวนี้ พระพุทธเจ้ามีพระสงค์จะทรงถามความเห็นที่เกิดจากการ “เห็น” จริงๆ จะสังเกตได้จากข้อความ ที่ว่า “ควรหรือจะตามเห็น” สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?


หลังจากที่ตรัสถามความเห็นของปัจวัคคีย์จนครบทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณแล้ว พระองค์ตรัสต่อไปว่า


ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่ สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.


.......................................................................................................................

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้นเมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.


-->>  ขอให้สังเกตข้อความในพระสูตรส่วนนี้ จำนวน 3 ข้อความนี้ “ยถาภูตญาณทัสสนะ”, “เห็นรูปนั้น”, “อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้”

คำว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แปลว่า การรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่กล่าวไปแล้วว่า พระองค์ทรงทำดวงตาให้เกิด หลังจากนั้นมาจึงทรงทำญาน/ความรู้ให้เกิด ดังนั้น การรู้เห็นในพระสูตรนี้จึงเกิดจาก “การเห็น” และ “การรู้” หรือเมื่อเห็นแล้วจึงรู้ และเป็นการรู้การเห็นตามความเป็นจริงด้วย ซึ่งสามารถยืนยันได้จากข้อความที่ต่อมาว่า เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณด้วยปัญญาอันชอบ


ข้อความที่ยืนยันได้อย่างชัดแจ้งที่สุดก็คือ ข้อความที่ว่า “อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้” ข้อความนี้แสดงว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์สั่งสอนอยู่นั้น พระปัจจวัคคีย์ได้ปฏิบัติธรรมตามไปด้วย ขณะที่หูได้ยินหรือกำลังฟังอยู่ ใจ/จิต/วิญญาณก็กระทำตามไปด้วย จึง “เห็น” ตามไปตามคำที่พระองค์สอน เมื่อทั้งฟังทั้งเห็นตามความเป็นจริง พระปัจจวัคีย์จึงบรรลุพระอรหันต์ทั้ง 5 รูป

จากหลักฐานจากพระไตรปิฎกและที่อธิบายมาข้างต้น โดยยกธัมมจักกัปปวัตนสูตรและอนัตตลักขณสูตรซึ่งเป็นพระสูตรแรกและพระสูตรที่สองที่พระพุทธเจ้านำมาทรงสอนปัจจวัคคีย์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในการปฏิบัติธรรมให้เพื่อ “รู้” และ “เข้าใจ” ในหัวข้อธรรมะต่างๆ ต้องมี “การเห็น” ด้วยตา คือ ตั้งแต่ตาเนื้อของร่างกายตลอดจนตาภายใน อย่างไรก็ดี เพื่อให้ข้อเขียนของผู้เขียนมีน้ำหนักแน่นขึ้นไปอีก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสำคัญอีกสองตัวอย่างดังนี้



ตัวอย่างแรก


ในพระไตรปิฎก เล่ม 19 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หัวข้อนีวรณสูตร พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงนิวรณ์ 5 กับโพชฌงค์ 7 นิวรณ์ 5 ก็รู้กันทั่วๆ ไปว่าเป็นเครื่องกั้นคุณความดี สำหรับโพชฌงค์ 7 นั้น เป็นหัวข้อธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ซึ่งก็แสดงว่ามีความสำคัญมากเลยทีเดียว


ในนีวรณสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า นิวรณ์ 5 ทำให้มืดเพราะจักษุไม่มี และญาณ/ความรู้ไม่มี แต่โพชฌงค์ 7 นั้น กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับนิวรณ์ 5 คือ ทำให้มีจักษุ ซึ่งก็หมายถึงมีการเห็นเกิดขึ้น และก็มีญาณ/ความรู้เกิดขึ้น ดังนี้


[501] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ 5 เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุกระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

[502] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ กระทำให้มีจักษุ กระทำให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญปัญญา ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน



ตัวอย่างที่สอง


ตัวอย่างแรกนั้น เป็นกระบวนการในการที่จะตรัสรู้ซึ่งก็ต้องมีการเห็น ญาณ/ความรู้จึงเกิดขึ้น พระสูตรต่อไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ยืนยันอีกว่า จะต้องมีการเห็น คือ มีจักษุเกิดขึ้น จักษุนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าตาเนื้อ


พระสูตรนี้กล่าวถึงความเป็นมาว่า มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อเวรัญชพราหมณ์ กล่าวหาว่า พระพุทธเจ้าทรงขาดสัมมาคารวะกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ซึ่งตามวัฒนธรรมประเพณีของอินเดียสมัยนั้น ผู้มีอายุน้อยกว่าต้องให้ความเคารพกับผู้มีอาวุโสกว่า


พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายเปรียบเทียบการกระทำของพระองค์กับการฟักไข่ ว่าไก่ที่ออกมาทีหลังๆ นั้น จะต้องเรียกไก่ที่ฟักตัวแรกว่าพี่ พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ก่อนคนอื่น และนำมาสอน คนอื่นก็ต้องให้ความเคารพกับพระองค์ หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ตรัสรู้วิชชา 3 วิชชาแรกก็คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การรู้จักระลึกชาติได้ แต่เป็นการระลึกชาติของตนเอง ต่อมาวิชชาที่สองคือ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้จักระลึกชาติของคนอื่นได้ ซึ่งมีข้อความบางส่วนดังนี้


เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้


-->>  จากข้อความดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงเห็นการเกิดของหมู่สัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าจักษุของมนุษย์ นี่ก็หมายถึงว่า ในการระลึกชาติของพระองค์เองก็ต้องเห็นในลักษณะนี้ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ เห็นเหมือนเราดูหนัง ไม่ใช่นึกเอาแบบมัวๆ ซัวๆ ไม่ได้เห็นเป็นภาพชัดเจน ในกรณีก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า สายปฏิบัติใดก็ตามที่ปฏิเสธการเห็น ก็ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้เลย


ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวถึงวิชชาสุดท้ายว่า


เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ


-->>  ข้อความที่ว่า “รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้” ก็เป็นหลักฐานสำคัญว่า ในการพิจารณาหัวข้อธรรมะขั้นละเอียดลึกซึ้งจนถึงการบรรลุพระอรหันต์ต้องใช้การเห็นเป็นสำคัญ พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ทั้งเห็นทั้งรู้ และก็ทั้งรู้ทั้งเห็น จะรู้อย่างเดียวโดยปราศจากการเห็นไม่ได้ เพราะ รู้อย่างนั้นไม่ใช่การรู้แจ้งเห็นจริง [1]

-->>  ในการตอบคำถามข้อนี้ ถ้าไม่นำเรื่องการเห็นของสายวิชชาธรรมกายเข้ามาตอบด้วย ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านไม่ค่อยเข้าใจดีนัก จึงขอนำการเห็นนิมิตกับการเห็นดวงปฐมมรรครวมถึงกายต่างๆ มาอธิบายดังนี้


-->  ขั้นตอนแรกของวิชชาธรรมกายนั้น วิทยากรจะสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรม “นึกให้เห็น” โดยมีการนำเอาดวงแก้วมาชูให้เห็นก่อน การเห็นครั้งแรกนี้เป็น “ภาพนิมิต” จึงไม่ใช่การเห็นด้วยตาภายใน แต่เป็นการจำดวงแก้วที่เห็นด้วยตาเนื้อ แล้วใช้จินตนาการ


การนึกให้เห็นดวงแก้วภาพนิมิตนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมจะนึกอย่างมีทิศทาง เพราะ ในการเห็นวัตถุของตาเนื้อนั้น จะต้องอาศัยแสงกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าตาของเรา ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นการจินตนาการก็เป็นการจินตนาการที่มีทิศทางในการเห็นกำกับ

แต่เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย “เห็น” ดวงปฐมมรรคนั้น เป็นการเห็นโดยรอบ คือ เห็นดวงปฐมมรรคซึ่งมีลักษณะคล้ายดวงแก้ว แต่ใหญ่กว่า ใสกว่าเหมือนกับมีตาอยู่รอบทั้งภายนอกและภายใน การเห็นดวงปฐมมรรคนี้ไม่มีทิศทางที่กำกับการเห็น เพราะเป็นการเห็นด้วยตาภายใน



-->>   สายปฏิบัติธรรมอื่นๆ ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการเห็นนิมิตกับการเห็นตามสายวิชชาธรรมกาย หลังจากนั้นไปแล้ว การเห็นของสายวิชชาธรรมกายจะมีหลักสูตรกำกับ เป็นระดับ เป็นขั้น เป็นตอน ไม่ใช่เห็นไปทั่วอย่างนิมิต เช่น เห็นป่าเขา ลำธาร ทะเล ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งก็ตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า “ปัจจัตตัง” คือ เป็นการเห็นด้วยตนเองของใครของมัน แต่การเห็นนั้น สอดคล้องกันเพราะมีหลักสูตรกำกับ ไม่ใช่ต่างคนต่างเห็นไปคนละเรื่อง คนละราวอย่างเช่นการเห็นนิมิต


นอกจากนั้นแล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเห็นดวงปฐมมรรคนั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้สึก โปร่ง โล่ง สบาย และจะเข้าใจว่า “ความสุขที่เกิดจากความสงบ” นั้นเป็นอย่างไร ขั้นตอนในส่วนนี้ พุทธวิชาการที่ศึกษาปริยัติธรรมแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ปฏิบัติธรรมเลย หรือปฏิบัติธรรมอย่างผิวเผิน หรือตีความไปว่า การปฏิบัติตัวของท่านทุกวันนั้น เป็นการปฏิบัติธรรม โดยไม่ได้ปฏิบัติสมถ/วิปัสสนากรรมฐาน จะไม่มีทางเข้าใจเป็นเด็ดขาด


-->>  โดยสรุป   การเห็นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงหัวข้อธรรมะในระดับสูง ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าปฏิเสธการเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ไม่จริง ก็เปรียบเสมือนกับคนที่มีตาพิการในโลกของเรานี้ ซึ่งไม่อาจจะเรียนรู้โลกได้ถูกต้อง เป็นจริงอย่างเช่นที่คนตาดีกระทำได้เลย ถ้าไม่อาศัยการเห็น ก็ไม่สามารถจะทำให้ใจ/จิต/วิญญาณ เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณได้ เมื่อใจ/จิต/วิญญาณไม่เบื่อหน่ายในขันธ์ห้า ความกำหนัด ก็ไม่สิ้นไป ใจ/จิต/วิญญาณก็ไม่สามารถพ้นภพสามไปได้ การบรรลุพระอรหันต์ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้


----------------------------------

เชิงอรรถ


[1]

จะเห็นว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนปัจจวัคคีย์ พระองค์ท่านไม่ได้บรรยายว่า พระองค์ตรัสรู้อย่างไร คือ ไม่ทรงสอนเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ พระองค์มาสอนเหตุการณ์ตอนตรัสรู้กับเวรัญชพราหมณ์


นั่นก็หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าจะสอนธรรมะข้อใด พระองค์ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่คนฟังจะเป็นผู้กำหนด เพราะ ไม่เช่นนั้นแล้ว การสอนธรรมะก็จะไม่บรรลุผล แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ฟังมาขอให้พระพุทธเจ้าสอนธรรมะข้อนั้นข้อนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงพิจารณาด้วยพระโพธิญาณของพระองค์เอง


ลักษณะดังกล่าวนั้น ก็ตรงกับทฤษฎีความเกี่ยวโยง (Relevance theory) ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงเมื่อมีโอกาส


ดร.มนัส โกมลฑา (Ph.D. Integrated Sciences)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
นครราชสีมา


 

หมายเลขบันทึก: 215535เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท