อธิปัญญาสิกขา: วิปัสสนากัมมัฏฐาน/ภาวนา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/
อธิปัญญาสิกขา: วิปัสสนากัมมัฏฐาน/ภาวนา


ปัญญาสิกขา คือ การเจริญปัญญาอันเห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสภาวะของสังขารที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) และในสภาวะของวิสังขารที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) คือ พระนิพพาน และอริยสัจ ๔ ตามธรรมชาติที่เป็นจริง



ที่มาของปัญญา

ความจริงการเจริญปัญญานั้น ย่อมเจริญได้ด้วยการได้ยิน ได้ฟังพระธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยาย และด้วยการอ่านคัมภีร์พระธรรมต่างๆ อันมีคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์หลัก และคัมภีร์พระอรรถกถาซึ่งอธิบายพระพุทธพจน์หรือพระธรรมที่พระอริยเจ้าได้แสดงไว้ดีแล้วเป็นต้น ชื่อว่า สุตมยปัญญา” แล้วคิดไตร่ตรองด้วยความรอบคอบด้วยตนเอง ชื่อว่า “จิตตามยปัญญา” ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ด้วยธรรมชาติที่ทำหน้าที่รู้ คือ สัญญาและวิญญาณ



ปัญญาอันเห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสภาวะของสังขารธรรม (สังขตธรรม) ทั้งปวง ด้วย “วิญญาณ”ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อย่างไร ชื่อว่า “วิปัสสนาปัญญา” นั้น ยังไม่สามารถเกื้อหนุนให้ถึงมรรคผลนิพพานได้ แต่เป็นอุปการะให้สามารถเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน/ภาวนาต่อไป เพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้ง ทั้งในสภาวะของสังขารธรรมทั้งปวง และทั้งในวิสังขารธรรมคือ พระนิพพานธาตุอันเป็นอสังขตธรรม และอริยสัจ ๔ ด้วย “ญาณ” จากการเจริญสมถวิปัสสนาภาวนา เป็น ภาวนามยปัญญา ชื่อว่า “โลกุตตรปัญญา” จึงจะเกื้อหนุนให้พระโยคาวจรนั้นบรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และ ที่เป็นบรมสุข ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้


พระพุทธโฆษจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านได้อธิบายเปรียบเทียบปัญญาที่รู้ด้วยสัญญาและวิญญาณ กับปัญญาที่เห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยญาณจากการเจริญสมถวิปัสสนาภาวนา ว่า


“ในข้อปฐมปุจฉาที่ถามว่า “อะไรชื่อว่าปัญญา” นั้น นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า วิปัสสนาญาณที่ประกอบด้วยกุศลจิต (พิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) นั้นแหละ ได้ชื่อว่า ปัญญา


ในข้อทุติยปุจฉาที่ถามว่า “ได้ชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถอะไร” วิสัชชนาว่า ได้ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่าให้รู้โดยประการ


อธิบายว่า กิริยาที่รู้ชอบ รู้ดี รู้พิเศษ โดยอาการต่าง ๆ นั้น ได้ชื่อว่า รู้โดยประการ
ถ้าจะว่าโดยธรรมชาติอันมีกิริยาให้รู้ นั้นมี ๓ คือ สัญญา ๑ วิญญาณ ๑ ปัญญา ๑ ทั้ง ๓ประการนี้ มีกิริยาให้รู้อารมณ์เหมือนกัน


แต่ว่า สัญญากับวิญญาณ ๒ ประการนั้น ไม่รู้พิเศษเหมือนปัญญา
“สัญญา” นั้นให้รู้แต่ว่า สิ่งนี้เขียว นี้ขาว นี้แดง นี้ดำ เพียงเท่านั้น ไม่รู้ถึงลักษณะ ๓ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา


ฝ่าย “วิญญาณ” นั้นให้รู้จักเขียว และ ขาว แดง ดำ ให้รู้ตลอดถึงลักษณะ ๓ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วย แต่ว่ามิอาจจะเกื้อหนุนให้ดำเนินขึ้นถึงอริยมรรคอริยผลได้


ส่วน “ปัญญา” นั้น ให้รู้พิเศษ ให้รู้จักเขียว ขาว แดง ดำ ให้รู้จักลักษณะ ๓ แล้ว เกื้อหนุนให้ดำเนินขึ้นถึงอริยมรรคอริยผล ให้สิ้นทุกข์สิ้นภัยในวัฏฏสงสารได้


แท้จริง ธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ สัญญา วิญญาณ และ ปัญญา นี้ เปรียบ เหมือนชน ๓ จำพวก คือ ทารกน้อย ๑ บุรุษชาวบ้าน ๑ ช่างเงิน ๑ ชน ๓ จำพวกนี้รู้จักกหาปณะไม่เหมือนกัน


ทารกน้อยนั้น ได้เห็นกหาปณะ ก็รู้แต่ว่าสิ่งนี้งาม วิจิตร อันนี้ยาว อันนี้สั้น อันนี้เหลี่ยมและกลม รู้แต่เพียงนั้น จะได้รู้ว่าสิ่งนี้โลกสมมุติว่าเป็นแก้ว เป็นเครื่องอุปโภคแห่งมนุษย์ทั้งปวง จะได้รู้ฉะนี้หามิได้


ฝ่ายบุรุษชาวบ้าน นั้น รู้ว่างานวิจิตร รู้ว่ายาวสั้นเหลี่ยม กลม และรู้แจ้งว่า สิ่งนี้โลกทั้งหลายสมมุติว่า เป็นแก้ว เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งปวง รู้แต่เท่านี้ จะได้รู้ว่ากหาปณะอย่างนี้เนื้อสูงเนื้อบริสุทธิ์ ไม่แปดปน อย่างนี้เป็นทองแดงทำเทียม อย่างนี้เนื้อเงินกึ่งทองแดงกึ่ง จะได้รู้ฉะนี้หามิได้


ส่วนช่างเงินนั้น รู้ตลอดไปสิ้นเสร็จทั้งปวง พอแลเห็นก็รู้ว่ากหาปณะนี้ทำในนิคมและบ้านชื่อโน้น ๆ ทำในนคร ชนบทโน้น ๆ ทำที่ภูเขา ฝั่งแม่น้ำโน้นอาจารย์ชื่อนั้น ๆ กระทำ นายช่างเงินรู้ตลอดไปฉะนี้ ด้วยกิริยาที่ได้เห็นรูปพรรณสัณฐานแห่งกหาปณะ บางคาบนั้นได้ยินแต่เสียงกหาปณะกระทบ ก็รู้ว่ากหาปณะนี้ทำที่นั้น ๆ ผู้นั้น ๆทำ บางคาบได้ดมกลิ่นหรือได้ลิ้มแต่รสก็รู้ ได้หยิบขึ้นชั่งด้วยมือก็รู้ นายช่างเงินรู้จักกหาปณะพิเศษกว่าทารกน้อยและบุรุษชาวบ้านผู้เขลาฉันใด ปัญญานี้ก็รู้พิเศษว่าสัญญาและวิญญาณ มีอุปไมยดังนั้น


นักปราชญ์พึงสันนิษฐาน ว่า ที่ชื่อว่า “ปัญญา” นั้น ด้วยอรรถว่า รู้ชอบ รู้ดี รู้พิเศษ โดยอาการต่าง ๆ ดังนี้.”
หมายเลขบันทึก: 215538เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท