ลักษณะ กิจ ผล และ อาสันนการณ์คือเหตุใกล้แห่งปัญญา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ลักษณะ กิจ ผล และ อาสันนการณ์คือเหตุใกล้แห่งปัญญา

ลักษณะ กิจ ผล  และ อาสันนการณ์คือเหตุใกล้แห่งปัญญา



อนึ่ง
  พระพุทธโฆษาจารย์  ยังได้อธิบายถึง  ลักษณะ  กิจ ผล  และอาสันนาการณ์ คือ  เหตุใก้ลแห่งปัญญา ว่า


“ในข้อตติยปุจฉาที่ถามว่า  อะไรเป็น ลักษณะ  กิจ  ผล  และ  อาสันนการณ์  คือ  เหตุใกล้แห่งปัญญา  มีวิสัชนาว่า


ปัญญา  มีลักษณะให้ตรัสรู้ซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวง อธิบายว่า  อาการไม่เที่ยงไม่แท้  ที่ประกอบด้วยทุกข์  ที่ไม่เป็นแก่นสารใช่ตน  ใช่ของตน  นี่แหละ  เป็นสภาวะปกติแห่งรูปธรรม และนามธรรม  ขึ้นชื่อว่าเกิด  มาเป็นรูปธรรมนามธรรมแล้ว   ก็มีแต่ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ปราศจากแก่นสารนั้นเป็นปกติธรรมดา  เมื่อนามและรูปเป็น  อนิจิจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  อยู่โดยสภาวะปกติดังนี้ วิปัสสนาปัญญานั้นจะให้รู้วิปริต  คือจะให้รู้ว่าเที่ยงเป็นสุขเป็นแก่นสาร  เป็นตนเป็นของตน  นั้นหามิได้  วิปัสสนาปัญญานั้นให้รู้ชัดให้เห็นแจ่มแจ้งว่า  รูปธรรมนามธรรมนี้เป็นอนิจจัง  ไม่เที่ยง  ไม่แท้  โดยปกติธรรมดา  ประกอบด้วยทุกข์ต่าง ๆโดยปกติธรรมดา  เป็นอนัตตา  ใช่ตัวตน  ใช่ของแห่งตนโดยปกติธรรมดา  เพราะว่าวิปัสสนาปัญญานั้น  ให้รู้แจ้งรู้ชัดฉะนี้  จึงกล่าววิสัชชนาว่า  กิริยาที่ให้ตรัสรู้ซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมนามธรรมนี้แหละ  เป็นลักษณะแห่งวิปัสสนาปัญญา


ถ้าจะว่าโดยกิจ  วิปัสสนาปัญญานั้น  มีกิจอันขจัดเสียซึ่งมืด  คือ โมหะอันปกปิดไว้ซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง


อธิบายว่า  สัตว์ทั้งหลายแต่บรรดาที่เห็นผิด  เห็นว่าสัตว์เที่ยงโลกเที่ยงเห็นว่ามีความผาสุกสนุกสบาย  เห็นว่าเป็นตนเป็นของแห่งตนนั้น  เพราะอาศัยโมหะปิดป้องกำบัง  เมื่อโมหะบังเกิดกล้า  อกุศลมูลมองอยู่ในสันดานแล้วก็จะเห็นวิปริต  ที่ผิดจะกลับเห็นว่าชอบ  ที่ชั่วจะกลับเห็นว่าดี  นามรูปที่ไม่เที่ยงนั้นจะกลับเห็นเที่ยง  ที่ประกอบด้วยทุกข์นั้นจะกลับเห็นว่าเป็นสุข  ที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นจะกลับเห็นว่าเป็นแก่นสาร  ที่ใช่ตัวใช่ตนนั้นจะกลับเห็นว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุโมหะปกคลุมหุ้มห่อจิตสันดาน  โมหะอันทำให้มืดมนนอนธการเห็นปานนี้  จะขจัดไปได้นั้น  ต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญา   วิปัสสนาปัญญาบังเกิดแล้วกาลใด  ก็ให้สำเร็จกิจ  ขจัดมืดคือโมหะได้ในกาลนั้น



ถ้าจะว่าโดยผลนั้น  วิปัสสนาปัญญามีกิริยาให้สำเร็จ คือ  มิได้หลง


อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาปัญญาบังเกิดกล้าเชี่ยวแรงอยู่แล้ว  จิตสันดานแห่งพระโยคาวจรก็จะปราศจากความหลง  จะหนักแน่นแม่นยำอยู่ในกิริยาที่รู้ชัดรู้แจ้ง ว่า  นามและรูปเป็น  อนิจจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  มิได้กลับหลังคืนมาเลยเป็นอันขาด



ถ้าจะว่าโดยอาสันนการณ์ คือ เหตุที่ใกล้  เป็นอุปัตติเหตุให้วิปัสสนาปัญญาเกิดนั้น  มิใช่อื่นไกล  ได้แก่สมาธิ  สมาธินี่แลเป็นเหตุอันใกล้  สมาธิเกิดก่อนแล้ววิปัสสนาปัญญาจึงเกิด ภายหลัง  คำที่ว่า  สมาธิเป็นอาสันนการณ์เหตุใกล้ให้เกิดวิปัสสนาปัญญานั้น  สมควรแก่พระบาลีว่า  สมาหิโต  ยถาภูตํ  ปชานาติ  ปสฺสติ พระโยคาวจรจะเห็นแท้  รู้แน่นั้น  อาศัยจิตอันตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วกาลใด  ก็จะได้  วิปัสสนาปัญญาอันเห็นแท้รู้แน่ในกาลนั้น.”



-->> สรุปความว่า   ปัญญาอันเห็นแจ้งตลอดในสภาวะของสังขารคือธรรมชาติประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  (สังขตธรรม)  ทั้งปวง และ ในสภาวะของวิสังขารที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (อสังขตธรรม)  คือ พระนิพพานธาตุ  และในอริยสัจทั้ง ๔ ด้วย  “ญาณ”  จากการเจริญทั้งสมถะและ วิปัสสนากัมมัฏฐาน  เป็น “ภาวนามยปัญญา” ชื่อว่า  “โลกุตตรปัญญา”  นั้นเอง  ที่เกื้อหนุนให้พระโยคาวจรสามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน  ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง  และ  ที่เป็นบรมสุข  ตามระดับธรรมที่ปฏิบัติได้

หมายเลขบันทึก: 215540เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท