ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๙)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๙) 


พระนิพพาน  :  กระบวนการเหนือภาวะสัมพันธ์

หลักการของปฏิจจสมุปบาทจะเป็นตัวอธิบายความเป็นไปของสังขตธรรมทั้งมวล,  ดังนั้น  ส่วนที่ยังเหลืออยู่  คือ อสังขตธรรม.  ปัญหาเกิดขึ้นว่า  อสังขตธรรมดำรงอยู่อย่างไรโดยไม่เป็นตามหลักปฏิจจสมุปบาท.

คำอธิบายที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ   เนื่องจากการเป็นเหตุปัจจัยไม่มีอีกต่อไป, ดังนั้นภาวะของอสังขตธรรม คือ  นิพพานนั้น  จึงอยู่เหนือการปรุงแต่งใด ๆ  อีก.   ตามข้อยืนยันนี้ ไม่ได้หมายความว่า  ผู้ที่บรรลุถึงพระนิพพาน  คือผู้ที่อาศัยในโลกอื่นที่ปราศจากกระบวนการทางภาวะสัมพันธ์  เพียงแต่หมายความว่า  เป็นผู้ที่มีจิตใจที่ปราศจากการปรุงแต่งของความเป็นอัตตา   เช่น  ความกำหนัดยึดในสิ่งที่ถูกยึดว่าเป็นอัตตา เป็นต้น.  จิตใจที่ไร้จากการปรุงแต่งเช่นนี้  จึงดำเนินไปตามกระบวนการของธรรมชาติที่บริสุทธิ์  ข้อความในอุปยสูตร  แห่งสังยุตตนิกาย กล่าวอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน  ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ....ในเวทนาธาตุ....ในสัญญาธาตุ.....ในสังขารธาตุ....ในวิญญาณธาตุ  เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้  เพราละะความกำหนัดเสียได้  อารมณ์ย่อมขาดสูญ  ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี  วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งไม่งอกงาม  ไม่แต่งปฏิสนธิ  หลุดพ้นไป  เพราะหลุดพ้นไป  จึงดำรงอยู่  เพราะดำรงอยู่จึงยินดีพร้อม  เพราะยินดีพร้อม  จึงไม่สะดุ้ง  ย่อมดับรอบ  ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ก็อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำ  ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

ตามนัยดังกล่าว,  เราจึงต้องแยกระหว่างกระบวนการทางจิตของผู้เข้าถึงพระนิพพานนั้น  ที่ดำเนินไปโดยปราศจากปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยที่เกินธรรมชาติจากกระบวนการทางชีวภาพที่ยังคงต้องดำเนินไปเช่นสังขตธรรมทั่วไป   ผู้บรรลุพึงพระนิพพานดำรงอยู่ในกลไกของโลกเช่นผู้อื่น  แต่อยู่เหนือกระแสของโลก.

ดังนั้น  แม้ว่าอสังขตะเป็นผลที่เกิดจากมรรควิธี  แต่จริง ๆ  แล้ว  มรรคเป็นเพียงมรรคที่นำไปสู่ความเป็นนิพพานเท่านั้น.   มรรควิถีเป็นกระบวนการทางปฏิจจสมุปบาท  แต่จุดหมายกลับอยู่เหนือกระบวนการเช่นนั้น.

ในส่วนของหลักปฏิจจสมุปบาท มีข้อสรุปดังนี้

๑. สรรพสิ่งเคลื่อนไหวตามเหตุปัจจัย โดยที่ตัวเหตุปัจจัยก็เป็นผลจากเหตุปัจจัยอื่นอีก  ที่ผลักดันและขยายออกไป,  ความเคลื่อนไหวจึงเกิดขึ้น

๒. ปัจจัยที่เหมือนกันทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน.   ส่วนนี้ทำให้เกิดความสม่ำเสมอในธรรมชาติ  และเป็นนิยาม หรือทำนองของธรรมชาติ.

๓. การเป็นปัจจัยอาจแบ่งออกได้เป็น  ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นระบบเหตุผลบริสุทธิ์  กับส่วนที่เป็นผลมาจากเจตจำนงของมนุษย์.

๔. สังขตธรรมทั้งมวลเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  รวมไปถึงโลกของภาษาและอื่น ๆ

ถึงตอนนี้เราได้ศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นแกนของกลไกดังกล่าว.บางท่านอาจ
อธิบายแค่เพียงหลักปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว, ซึ่งอาจเป็นการเพียงพอโดยละส่วนที่เหลือในฐานะเป็นสิ่งที่ยอมรับก่อนแล้ว,  แต่ไม่ใช่โดยลำพังแต่หลักปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว.

จากการนำเสนอหลักการของปฏิจจสมุปบาทและวิถีของธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท  ทำให้เราได้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่งในการอธิบายหลักการทางบัญญัติ  ไม่ว่าในส่วนของภาษาและตรรกวิทยา,  ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า  หลักปฏิจจสมุปบาทมีบทบาทสำคัญในเรื่องเหล่านี้ที่เรายังมองไม่เห็น  เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ,  แต่ก็มีค่าที่เราจะได้เรียนรู้ไว้. จริง ๆ แล้ว  พระพุทธโฆษาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า  ในการเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นการยืนยันถึงการยอมรับสมมติทางภาษาและบัญญัติแห่งโลก  ข้อความนี้ไม่ได้ให้ความหมายตื้น ๆแต่เพียงการพูดและรับรู้ตามที่เขาพูดกัน,  แต่รวมไปถึงการเข้าใจแกนและปรัชญาของภาษาด้วย.  ภาษาบาลีในฐานะเป็นภาษาที่รักษาพุทธวจนะก่อตัวมาโดยพื้นฐานทางอภิปรัชญาที่เป็นหลักของพุทธศาสนาในฐานะเป็นจักรวาลของภาษา,  เช่นเดียวกับที่เราใช้หลักอภิปรัชญาของพุทธศาสนาอธิบายจักรวาลและสรรพสิ่ง.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215560เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท