ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๗)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๗) 

อริยสัจจ์ :   รูปแบบเบ็ดเสร็จของหลักปฏิจจสมุปบาท

หลาย ๆ คน  มักจะแยกหลักอริยสัจออกต่างหากจากหลักปฏิจจสมุปบาทเหตุผลในข้อนี้เกิดขึ้นเพราะว่า  หลักอริยสัจเป็นหลักการทางพุทธศาสนาที่ทุกคนคุ้นเคยกันมาก  และได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ  ส่วนหนึ่ง  อาจเกิดจากการที่หลักอริยสัจเป็นหลักการที่พระพุทธองค์ทรงนำมาประกาศเป็นครั้งแรก.

จริง ๆแล้ว  เราได้เห็นแล้วว่า  แกนของความเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเกิดจากการค้นพบหลักปฏิจจสมุปบาท.  เมื่อหลักปฏิจจสมุปบาทได้ถูกประมวลใหม่ภายใต้ชื่อเรียกว่า  หลักอริยสัจ,  หลักมัชฌิมาปฏิปทา  ที่ปรากฏในรูปของมรรค  ๘  จึงได้รับการเสนอเข้าอย่างกลมกลืนด้วยความฉลาดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ดังนั้นหลักอริยสัจจึงเท่ากับรูปแบบที่เบ็ดเสร็จของหลักปฏิจจสมุปบาท.

ในที่นี้  เราจะใช้เวลาส่วนหนึ่งพิจารณาหลักการสำคัญของหลักอริยสัจนี้.

ก. หลักการแห่งอริยสัจ

อริยสัจมีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะถือว่าเป็นความจริงอย่างประเสริฐ  หรือเป็นความจริงสูงสุด  พระ
พุทธองค์เคยตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  อริยสัจ  ๔  ประการเหล่านี้แลเป็นของแท้เสมอ  ไม่คลาดเคลื่อนไปได้  ไม่กลายเป็นอย่างอื่น จึงเรียกว่าอริยสัจ.

หลักอริยสัจเป็นหลักการที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ  ๔  ประการ ,  อาจแบ่งอริยสัจได้เป็น ๒ ประเภท  คือ  หลักสากลของอริยสัจ  และหลักอริยสัจประยุกต์.

ประเภทแรก เป็นตัวหลักการของหลักอริยสัจ  ซึ่งเน้นไปที่องค์ประกอบ ๔    ประการ คือ  ผล,  เหตุ,  จุดหมาย,  และวิธีการ   จริง ๆ แล้ว  ไม่ได้มีการแยกออกมาเช่นนี้อย่างเด่นชัด    เพียงแต่ได้มีการนำหลักสากลเช่นนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ เช่น  ในการวิเคราะห์ทุกข์,  การเกิดทุกข์  การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์.  หลักการข้างต้นนี้จึงอาจนำไปวิเคราะห์เพื่อหามูลเหตุของสิ่งที่ประจักษ์บางส่วน,รวมทั้งการวิเคราะห์หาจุดการแก้ปัญหา  และวิธีการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน.

ตามนัยข้างต้นนี้  แสดงว่า  หลักอริยสัจไม่ได้จำกัดที่การวิเคราะห์เรื่องของความทุกข์อย่างเดียว  แม้ว่านี้จะเป็นหัวใจสำคัญของหลักอริยสัจก็ตาม.  เราจึงได้หลักการอริยสัจ   ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญทางอภิปรัชญา.

ส่วนใหญ่ประเภทที่สอง เป็นหลักอริยสัจประยุกต์  เป็นการนำหลักการของหลักอริยสัจมาประยุกต์ใช้กับกรณีต่าง ๆ ที่ปรากฏอย่างเด่นชัดมากที่สุด  คือการวิเคราะห์ถึงความทุกข์แห่งชีวิตมนุษย์.   เนื้อหาของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแสดงความในส่วนนี้ได้ชัดเจน

ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แล  เป็นทุกขอริยสัจ  คือ  ความเกิด (ชาติ)   เป็นทุกข์  ความแก่  (ชรา)  เป็นทุกข์  ความเจ็บป่วย  (พยาธิ)  เป็นทุกข์  ความตาย (มรณะ)  เป็นทุกข์  การพบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์  การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์  ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์  โดยสรุป ก็คือ  การยึดมั่นในขันธ์  ๕  เป็นมูลเหตุของทุกข์  ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ  คือ ตัณหาที่เป็นมูลเหตุแห่งภพใหม่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน และติดใจ  คอยหลงไปกับอารมณ์นั้น ๆ   คือ  กามตัณหา ภวตัณหา  และวิภวตัณหา

ภิกษุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ  คือ  การที่ตัณหานั้นเองสำรอกดับไปหมดไม่มีเหลือ  การสละเสียได้  การสลัดออก พ้นไปได้  ไม่หน่วงเหนี่ยวพัวพันอยู่  ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ  อริยมรรคมีองค์  ๘ กล่าวคือ  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ

จะสังเกตเห็นได้ว่า  อริยสัจมีความแตกต่างจากหลักปฏิจจสมุปบาทตรงที่อริยสัจจะนำเสนอจุดหนึ่งในสายของปฏิจจสมุปบาท  อย่างละเอียด  โดยรวมสาเหตุ  จุดหมาย  และมรรควิถีไปด้วยพร้อมกัน  .  ในหนังสือพุทธวิถีแห่งสังคม,  ได้เสนอให้เห็นว่า  หลักอริยสัจยังสามารถเป็นกฎอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อีกด้วย.

วิเคราะห์หลักการแห่งอริยสัจ

เมื่อกลั่นเอาแกนหลักของอริยสัจ  ก็จะได้เป็น  ๒  กลุ่ม  คือ กลุ่มผลและเหตุและกลุ่มจุดหมายและวิธีการ  ทั้ง ๒  กลุ่ม  ได้บรรจุหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาใด ๆ  ที่เกิดขึ้น  เนื่องจากอริยสัจเป็นการแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบใหม่อย่างเบ็ดเสร็จ  ในหลักอริยสัจจึงเพิ่มเติมการแสวงหามรรคเข้ามาด้วย.  ในที่นี้ จะนำเสนอเรื่องการวิเคราะห์ความทุกข์ของมนุษย์ชาติเป็นหลัก.

หลักอริยสัจยืนยันว่า  ทุกข์เป็นผลที่เกิดมาจากเหตุคือตัณหา,  การดับทุกข์หรือตัณหานั้นเป็นจุดหมาย และมีมรรค  ๘  ประการเป็นวิธีการ.  ประเด็นสำคัญ  ๒  ประการ  ที่ระบุไว้ในหลักอริยสัจ  ก็คือ  แรงผลักดันมนุษย์ในการกระทำในฐานะเป็นตัวนำของกลุ่มผลและเหตุ  และมรรควิธีที่มนุษย์เลือกในฐานะเป็นตัวนำของกลุ่มจุดหมายและวิธีการ.  จะกล่าวถึงเรื่องนี้ในฐานะเป็นหัวใจของหลักอริยสัจ.

แรงผลักดันมนุษย์

หลักอริยสัจ  เป็นหลักที่ประยุกต์หลักปฏิจจสมุปบาท  เพื่ออธิบายหลักเหตุชักนำพฤติกรรมของมนุษย์  พุทธศาสนายืนยันชัดเจนว่า  ความต้องการ (หรือที่เรียกว่า  ตัณหา)   ที่เกิดขึ้นในจิตของมนุษย์  คือ พลังผลักดันและตัวริเริ่มให้มนุษย์กระทำพฤติกรรมต่าง ๆ  เพื่อบรรลุความต้องการของตน.  ความต้องการ,  หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่า  ตัณหา  จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำพฤติกรรม. ความต้องการที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลจากการได้รับการกระตุ้นจากภายนอก  เช่น  เห็นคนอื่นมี  หรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน จึงทำให้ต้องการ,  หรือจิตเป็นผู้สร้างความต้องการขึ้นมาเอง

ความต้องการที่เกิดขึ้นเป็นตัวสร้างความกระตืนรือร้น  โดยอาจแตกต่างออกไปตามปริมาณของความต้องการที่เข้าชักนำจิต  หรือควบคุมจิตของมนุษย์  ส่วนของผลจากการกระทำอาจดี  หรือชั่วก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเลือกกระทำตามพลังความอยากนั้นอย่างไรการควบคุม  หรือว่ารู้จักเลือกมรรควิธีที่ถูกต้อง.

ในแนวความคิดของพุทธศาสนา  ได้แบ่งแยกความต้องการออกเป็น ๓  ส่วน คือ  

กามตัณหา,  ภวตัณหา  และวิภวตัณหา.  ทั้ง ๓ ส่วนเป็นพลังความต้องการของจิตมนุษย์เหมือนกัน  แตกต่างกันเพียงมีความต้องการในรูปแบบที่แตกต่างกัน.

กามตัณหาเป็นความต้องการที่จะให้ได้สิ่งที่น่าชื่นชม  น่าปรารถนา  ที่ตนยังไม่มี หรือยังไม่เพียงพอ  (ตามอำนาจความต้องการนั้น.)   สิ่งที่มนุษย์ปรารถนาอาจเป็นวัตถุ,ตำแหน่ง,  ชื่อเสียง,  เกียรติยศ,  ความร่ำรวย,   คนรัก  หรือแม้แต่การจะครอบครองโลกทั้งสิ้นไว้    

ภวตัณหาเป็นความต้องการที่จะคงอยู่ในรูปแบบที่ตนเองเป็น  การไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือพ้นไปจากภาวะที่ตนต้องการนั้น  

ส่วนวิภวตัณหาเป็นความต้องการให้พ้นจากสภาพและสถานะที่ตนมี  หรือที่เป็นอยู่ด้วยความหมดอาลัยในสถานะนั้น

ความต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่นำไปสู่การกระทำที่เลวร้ายเสมอไป,  ทั้งนี้เพราะขึ้นอยู่กับว่า  ความอยากครอบงำจิตและผลักดันจิตไปอย่างมืดบอดหรือไม่,  เช่นคนที่ถูกถุงดำคลุมศีรษะ,   ปิดตา  ต้องการออกไปข้างนอกในคืนเดือนมืด,  หรือว่าคนที่ได้ศึกษาหนทางอย่างดี  การรู้จักความต้องการของตนและมีมรรควิธีที่ถูกต้องทำให้การกระทำตามความต้องการเป็นไปอย่างน่าพึงปรารถนา

อย่างไรก็ตาม หากตัดสินในแง่ความบีบคั้น  ตัณหาเป็นตัวทำให้เกิดความบีบคั้น  หรือที่พุทธศาสนาเรียกโดยชื่อรวมว่า  ทุกข์  จริงอยู่ว่า  ความบีบคั้นที่เกิดขึ้นอาจรุนแรง  หรือไม่รุนแรงก็ได้,  เช่น  เด็กนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐจะมีความรู้สึกบีบคั้นอย่างรุนแรง  เพราะความต้องการและถือว่านั่นคืออนาคตของตน.  ความบีบคั้นอาจไม่รุนแรงนักเมื่อเป็นกรณีธรรมดา เช่น เรา อยากไปทานอาหารที่อร่อย  ซึ่งแม้ไม่ได้ไป  เราก็ยังยินดีที่จะทอดไข่ทานเอง.

ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า  ถ้าเราจะไม่ให้ความบีบคั้นเกิดขึ้น  ก็ไม่ต้องมีความต้องการ, ไม่มีการวางแผน  ไม่ต้องพยายามกระนั้นหรือ? ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิด.  จริง ๆ แล้วโดยความสัมพันธ์กับหลักอนัตตา .  เราไม่จำเป็นต้องทำลายความต้องการ  เพียงแต่เรากระทำไปตามกระบวนการแห่งเหตุผลเท่านั้น.   มองในรูปแบบเช่นนี้ความต้องการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงขั้นตอนตามหลักปฏิจจสมุปบาท  กระบวนการของเหตุและผลเท่านั้นที่เป็นไป,  ไม่มีผู้ต้องการ  จึงไม่มีผู้ที่ได้รับความทุกข์และบีบคั้นนั้น.

มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า  อริมรรค  ๘  คือหลักการที่เป็นทางหรือมรรควิถีในการดำเนินไปตามพลังความต้องการที่เกิดขึ้น  หลักอริยมรรคประกอบด้วย  ๒  ด้านที่สำคัญ  ด้านแรก  เป็นทางของระบบการศึกษาของชีวิต  อีกด้านหนึ่ง เป็นกระบวนการจัดการภายในตนเอง.

ในด้านแรก  มัชฌิมาปฏิปทา  เป็นหลักการของการเรียนรู้  การควบคุมตนเองและการมีจิตใจที่มั่นคง  การเริ่มต้นด้วยความเห็นที่มีเหตุผล  การมีความดำริที่สอดคล้องกับเหตุผล  เป็นหลักของการเรียนรู้และเข้าใจโลกนี้อย่างถูกต้อง.  การรู้จักควบคุมคำพูด  การงาน  และอาชีพ  คือหลักการควบคุมตนเอง.  การมีความพยายาม   การรู้เท่าทันเหตุการณ์และการมีจิตใจที่แนวแน่คือหลักการทำให้จิตใจมั่นคง.ในด้านนี้  หลักมัชฌิมาปฏิปทาเป็นหลัก ปรัชญาการศึกษาของชีวิต

ในอีกด้านหนึ่ง  อริยสัจเป็นแนวทาง  การจัดการภายในตนเอง.เนื่องจากจิตของมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  อริยมรรคจึงให้ความสำคัญกับจิตมนุษย์มาก.จะเห็นได้ว่า  ในมรรค  ๘  ประการนั้น  จำนวน  ๕  ข้อเป็นการให้ความสำคัญกับจิตของมนุษย์ คือ  การเริ่มต้นด้วยความเห็นที่มีเหตุผล  การมีความดำริที่สอดคล้องกับเหตุผล   การมีความพยายาม   การมีความรู้เท่าทันเหตุการณ์   และการมีจิตใจที่แน่วแน่.  ที่เหลืออีก  ๒  ข้อ  สำหรับกายกรรม  และอีก  ๑ ข้อ  สำหรับวจีกรรม.   ถ้าปัจเจกชน มีจิตที่มีสภาวะที่น่าพึงปรารถนาแล้ว,  การกระทำและคำพูด  ที่เป็นพฤติกรรมก็น่าพึงปรารถนาตามไปด้วย.

ส่วนจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการกำจัดทุกข์,หลักอริยมรรคเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจที่มีเหตุผล โดยหลัก  ก็คือ  เข้าใจระบบปัจจัยสัมพันธ์  ด้วยผลและเหตุ,และจุดหมายและมรรควิถี.  การเริ่มต้นแค่นี้ก็เป็นนิมิต  ที่ทำให้เรามองเห็นได้ว่าทุกข์และความบีบคั้นของมนุษย์ชาติจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร.

ส่วนจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการกำจัดทุกข์,หลักอริยมรรคเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจที่มีเหตุผล โดยหลัก  ก็คือ  เข้าใจระบบปัจจัยสัมพันธ์  ด้วยผลและเหตุ,และจุดหมายและมรรควิถี.  การเริ่มต้นแค่นี้ก็เป็นนิมิต  ที่ทำให้เรามองเห็นได้ว่าทุกข์และความบีบคั้นของมนุษย์ชาติจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร.

อริยสัจจกับการอธิบายกระบวนการต่าง ๆ

จากหลักการของอริยสัจ  ซึ่งถือเป็นหลักสากลของอริยสัจ,  ทำให้เห็นได้ว่าด้วยหลักการนี้  เราสามารถนำไปใช้ในการคลี่คลายกระบวนการอื่นได้อีกหลายอย่าง  เช่นที่กล่าวแล้วในตอนต้น
นอกจากนี้  หลักอริยสัจ   ยังเป็นรูปแบบความคิดของพุทธศาสนา  ที่ใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างดีเยี่ยมด้วย,   เช่นเดียวกับที่เราได้รับจากหลักวิภาษวิธี.

อีกส่วนหนึ่งที่นับได้ว่ามีความสำคัญมาก  คือ  เป็นกระบวนการอธิบายเรื่องกรรมของมนุษย์ชาติ.  อริยสัจ  คือ   รูปแบบของหลักปฏิจจสมุปบาทที่จะอธิบายกฎเกณฑ์แห่งความสัมพันธ์โดยควบคู่ไปกับหลักกรรม.  เนื่องจากว่าการกระทำของมนุษย์ย่อมแฝงไปด้วยพลังความอยากนั้น.   ดังที่ได้กล่าวแล้ว  การกระทำจะเป็นเช่นไร  จึงขึ้นอยู่กับความอยากที่มีพลังในจิตที่บ่งการเจตนานั้น.

หมายเลขบันทึก: 215571เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก่งมากคนค้นพบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท