ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๔)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๔) 

ข. ลักษณะการเป็นปัจจัย

ประเด็นสำคัญที่พุทธศาสนาอธิบายในเรื่องเหตุและผล  ก็คือการแสดงลักษณะการเป็น
ปัจจัยอย่างละเอียด ตามหน้าที่หลัก, บทบาท  , และการมีส่วนช่วยให้เกิดผลตามมา.  เมื่อเรากล่าวว่า A เป็นปัจจัยให้เกิดB  เราหมายถึงการเป็นปัจจัยอย่างไร? A   ประการเดียวเป็นปัจจัยให้เกิด  B  อย่างเดียว  , หรือA หลายอย่างทำให้เกิด  B  อย่างเดียว,  A   ทำหน้าที่อย่างไรในการก่อให้เกิด  B.  ลักษณะการเป็นปัจจัย  มีดังนี้.

๑.  เป็นปัจจัยในฐานะเป็นเหตุหลัก  (เหตุปัจจัย) ในที่นี้  มุ่งเฉพาะตัวที่เป็นเหตุหลัก  ที่ทำให้เกิดผลตามมา  และส่วนผล  ก็กล่าวเฉพาะผลหลักที่ตามมา.ในการยืนยันว่า  A  เป็นปัจจัยให้เกิด  B  หมายความเพียงว่า  เหตุหลัก  คือ  A   ทำให้เกิดผลหลัก คือ  B  การกินอาหารบูดเป็นปัจจัยหลัก,  ซึ่งหมายความว่า  มี ปัจจัยอื่นเกิดขึ้นด้วย  เช่นร่างกายที่อ่อนแอ,  ทำให้เกิดอาการท้องเสีย  อันเป็นผลหลัก  ซึ่งอาจมีผลอื่นตามมาอีกมากมาย  เช่น  ทำให้อ่านหนังสือไม่ได้,  ต้องงดการเข้าร่วมประชุม  หรือการไปเที่ยว.

ในหลักปฏิจจสมุปบาท, นิยมใช้คำว่า  ปัจจัย”  (เป็นตัวสนับสนุนให้เกิด)มากกว่าใช้คำว่า  เป็นเหตุจริง ๆแล้ว อาจใช้คำทั้งสองนี้แทนกันได้  อย่างไรก็ตาม   เมื่อพิจารณาในแง่ของความละเอียดตามทฤษฎีแล้ว,  การเป็นเหตุเป็นเพียงปัจจัยประการหนึ่งเท่านั้น,  โดยทั่วไป  นิยมใช้คำว่าเหตุแทนคำว่าปัจจัยในฐานะ เป็นปัจจัยนำ”  ให้เกิดสิ่งที่เป็นผล.

๒. เป็นปัจจัย กระตุ้น  (อารัมมณปัจจัย)  ตัวอย่างของกรณีนี้ เช่น  นาย ก.  บังเอิญไปฟังเพลงเก่าเพลงหนึ่ง ที่ตนเคยฟังสมัยเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก,  ทำให้นาย ก.หวนรำลึกไปถึงความหลัง,  เพื่อน ๆ  และความสนุกสนานและอบอุ่นในสมัยนั้น  เสียงเพลงเป็นอารัมมณปัจจัย  คือ เป็นตัวกระตุ้นทำให้นายดำคิดถึงความหลัง.

๓. การเป็นปัจจัยโดยการเป็นตัวชักนำที่เป็นหลัก  (อธิปติปัจจัย)  สิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยของอีกสิ่งหนึ่งในฐานะเป็นตัวนำหลัก (อธิปติปัจจัย), สิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยของอีกสิ่งหนึ่งในฐานะเป็นตัวนำหลัก.  ตัวอย่าง เช่น  เลนิน เป็นผู้นำการปฏิวัติในรัสเซีย.  เลนินเป็นอธิปติปัจจัยในการปฏิวัติครั้งนี้,  ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่เพราะเลนินคนเดียวที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จ,  แต่เขาก็เป็นผู้นำ

๔. -   ๕  การเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และไม่มีช่วงเวลาคั่น (อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย)  การเป็นเหตุปัจจัยในข้อนี้เป็นไปโดยทันทีทันใด. ตัวอย่างเช่น  การกระดกของไม้กระดานอีกข้างหนึ่งเมื่อเรานั่งลงข้างนี้.  แสงสว่างจากการจุดไฟ. การนั่ง  และการจุดไฟเป็นอนันตรปัจจัย  และสมนันตรปัจจัยของการกระดกไม้อีกข้างหนึ่ง  และของแสงสว่างตามลำดับ

๖.  การเป็นปัจจัยโดยทำให้สิ่งอื่นเกิดร่วมไปด้วย (สหชาตปัจจัย)  การเป็นปัจจัยในข้อนี้เป็นรูปแบบของการเป็นคุณลักษณะ  หรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง,  เช่น  กระจกที่สามารถสะท้อนเงาได้ หรือแสงสว่างจากไฟ เป็นต้น.  ตัวอย่างอื่น  เช่น  มหาภูตรูป ถือเป็นสหชาตปัจจัยของอุปาทายรูป

๗.  การเป็นปัจจัยโดยการอิงและขึ้นอยู่กะกันและกัน (อัญญมัญญปัจจัย)  ทั้งสองสิ่งต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน  ท่านอุปมาไว้เหมือนไม้ ๓  ท่อนที่พิงกันอยู่  ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น  การตกลงแต่งงานเป็นครอบครัวเกิดมาจากการที่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ตกลงที่จะอยู่ร่วมกัน.

๘.  การเป็นปัจจัยโดยเป็นที่ตั้งอาศัย (นิสสยปัจจัย)   สิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยของอีกสิ่งหนึ่งในฐานะเป็นที่ตั้งและเป็นที่อาศัยเช่น  ลวดลายผ้าที่อาศํยผ้าจึงเกิดขึ้นได้ในกรณีนี้  คนเย็บเป็นเหตุปัจจัย  และมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย,   แต่เมื่อมองในแง่ของการเป็นที่อาศัยเกิดขึ้น,  ผ้าเป็นนิสสยปัจจัย

๙.การเป็นปัจจัยโดยการเป็นตัวเข้าไปสนับสนุนทำให้เกิดขึ้น (อุปนิสสยปัจจัย)  ในส่วนนี้แบ่งเป็น  ๓ ส่วน คือ

1.  การเป็นปัจจัยโดยฝังอยู่ในอารมณ์  (อารัมมณุปนิสสยปัจจัย)  หมายถึงสถานการณ์ที่เป็นตัวนำในขณะนั้น  เช่น  ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการตกน้ำ,  เมื่อใดเข้าไปใกล้น้ำ,  ทำให้เกิดความหวาดกลัว.  ผู้ที่รอดชีวิตจากการเคยประสบภัยจากตึกถล่มทำให้มีความหวาดกลัวที่จะเข้าไปในตึกสูง  ๆ อีก

2. การเป็นปัจจัยโดยเข้าไปมีผลเกี่ยวเนื่องกัน  (อนันตรุปนิสสยปัจจัย)ผลที่เกิดขึ้นจากส่วนแรก  ที่ยังตามมาถึงส่วนหลังอย่างต่อเนื่อง  เช่น ลักษณะการล้มของโดมิโน  เป็นต้น.

3.  การเป็นปัจจัยโดยสภาพภายนอกของสิ่งแวดล้อม  (ปกตุปินิสสยะ)ความหมายของเหตุการณ์ภายนอกหมายถึงสภาพเกื้อหนุนให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น  เช่น  ที่ความกดดันที่ระดับน้ำทะเล  ทำให้น้ำที่มีความร้อนถึง  ๑๐๐  องศา เดือดกลายเป็นไอ.ในส่วนของบุคคลได้แก่นิสสัยปรกติของแต่ละคน  หรืออิทธิพลของสภาพแวดล้อม.

๑๐.  การเป็นปัจจัยโดยเป็นตัวนำไปก่อน  (ปุเรชาตปัจจัย)  สิ่งที่เกิดขึ้นนำให้สิ่งที่เกิดตามมาทีหลังเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  นาย ก.  เดินทางเข้าไปในป่า  ได้ทำเครื่องหมายไว้,  ทำให้ผู้ที่เข้าไปทีหลัง สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น.

๑๑.  การเป็นปัจจัยโดยการเกิดภายหลังแต่ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนดำรงอยู่ได้ (ปัจฉาชาตปัจจัย)   ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น  สามีภรรยาคู่หนึ่งมีฐานะยากจน  แต่ลูกของสามีภรรยาคู่นี้ตั้งใจทำงานจนมีฐานะดีขึ้น  ทำให้พ่อแม่พลอยมีความสบายไปด้วย

๑๒.  การเป็นปัจจัยเพราะการมีความคุ้นเคย  (อาเสวนปัจจัย)  เช่นการอ่านหนังสือมามาก หรือได้รับการเตรียมตัวมาดี  ทำให้สามารถผ่านการทดสอบได้เร็วและไม่ลำบาก การอ่านหนังสือเป็นเหตุปัจจัย  แต่การอ่านมากเป็นอาเสวนปัจจัย.

๑๓.  การเป็นปัจจัยโดยการเป็นผู้กำหนด  (กรรมปัจจัย)  การจูงใจให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวชักนำในสิ่งนั้นเกิดขึ้นตามความจงใจนั้น  ตัวอย่างเช่นนาย ก.  ไปฆ่าคนตายด้วยความจงใจ,  ตำรวจมีความสงสัยจึงนำตัวมาสอบสวน.  แม้ว่านาย ก,  พยายามจะโกหกว่าไม่เป็นจริง, แต่เพราะเจตนาที่มีอยู่ทำให้แสดงอาการพิรุธออกมาด้วยเจตนาที่มีอยู่นั้น.

๑๔.  การเป็นปัจจัยโดยผลที่สะท้อนมา (วิปากปัจจัย)  ผลในลักษณะนี้เป็นรูปแบบของวิบาก  ที่ไม่ใช่ผลโดยตรงในขณะนั้น  ตัวอย่างเช่น  การตัดต้นไม้บนภูเขาของหมู่บ้านหนึ่งทำให้น้ำป่าไหลลงมาท่วมหมู่บ้านในกาลต่อมา.

๑๕.  การเป็นปัจจัยโดยการเป็นตัวหล่อเลี้ยง  (อาหารปัจจัย)  สิ่งหนึ่งที่ทำให้อีกสิ่งหนึ่งดำรงอยู่ได้ เช่น  อาหาร  และอากาศ  เป็นปัจจัยให้ชีวิตดำรงอยู่ได้.ในโลกของวัตถุ  เช่น  ไฟฟ้า  ทำให้เครื่องจักรไฟฟ้าสามารถทำงานได้,  น้ำมันทำให้รถวิ่งไปได้

๑๖.  การเป็นปัจจัยโดยภาวะหน้าที่ของตน (อินทรียปัจจัย)   ตัวอย่างเช่น ครูเป็นอินทรียปัจจัยทำให้นักเรียนมีความรู้  หรือตำรวจทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย

๑๗.  การเป็นปัจจัยในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วม(ฌานปัจจัย)  ในข้อนี้ค่อนข้างจะมีความหมายเฉพาะโดยถือว่าองค์ธรรม  ๗  ประการคือ  วิตก, วิจาร,  ปิติ,สุข,เอกัคคตา,  โสมนัส,  และอุเบกขา  คือ ฌานปัจจัยของการได้ฌาน.ในส่วนของโลกสามัญ  อาจหมายถึงการที่ผู้ใดผู้หนึ่งมีสภาพพื้นฐานทางการงานที่ดีทำให้มีความเอาใจใส่ที่จะทำงานด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน.  หรือกวี  ที่กำลังมีอารมณ์กวีเกิดขึ้นทำให้สามารถสร้างสรรค์งานทางกวีได้อย่างดีเยี่ยม.

๑๘.  การเป็นปัจจัยในฐานะเป็นทางออก  (มรรคปัจจัย)   ในทางตะวันตกถือว่า  ความประสาน  (Synthesis)  คือ ทางออกระหว่างความเสนอ(Thesis)กับความแก้(Anti-thesis)  ในทางพุทธศาสนาถือว่า  มรรค  ๘  คือ  มรรคปัจจัยสำหรับการบรรลุถึงพระนิพพาน

๑๙.  การเป็นปัจจัยโดยการเกิดร่วมกัน  (สัมปยุตปัจจัย)  เช่น ตามหลักทางวิทยาศาสตร์  ถือว่า  ไฮโดรเยน  จำนวน ๒  อะตอม  กับออกซิเยน  ๑  อะตอมทำให้เกิดน้ำได้ ๑  โมเลกุล  เป็นต้น   สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มีอยู่, น้ำก็เกิดไม่ได้.

๒๐.  การเป็นปัจจัยโดยที่ตัวเองไม่ได้มาตรฐาน  (วิปปยุตปัจจัย)   หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายความจริงนี้ได้ชัดเจน  การนำสารเคมีบางส่วนออกจากสารประกอบบางชนิดทำให้เกิดปฏิกิริยาได้สารประกอบชนิดอื่นแทน,ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขึ้น เช่น  แม่ทัพ ก  อยู่บัญชากองทัพ ทำให้ได้รับชัยชนะตลอดมา.  ต่อมาแม่ทัพผู้นี้ถูกย้ายไปประจำที่แห่งใหม่  ทำให้กองทัพเดิมนั้นรบแพ้ข้าศึก  การออกจากกองทัพของแม่ทัพ  ก.  ทำให้กองทัพพ่ายแพ้.

๒๑. การเป็นปัจจัยเพราะตัวเองยังคงอยู่  (อัตถิปัจจัย)  ตัวอย่างเช่น  ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดจากบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง.ตราบเท่าที่บริษัทนี้ยังคงอยู่  ทีมฟุตบอลก็ยังได้รับการสนับสนุนให้คงอยู่ได้.

๒๒.  การเป็นปัจจัยโดยการที่ตนเองไม่คงอยู่  (นัตกิปัจจัย)   ความหมายในข้อนี้  คือ การไม่มีอยู่ของตนเป็นปัจจัยให้ส่วนหลังเกิดขึ้น  เช่น  ไฟจากเทียนที่ดับไปโดยไปจุดเทียนอีกเล่มหนึ่งให้สว่างต่อไป.  หลักการเกิดดับเป็นสันตติของสังขตธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนาก็ถือเป็นนัตถิปัจจัยเช่นกัน.

๒๓.  การเป็นปัจจัยโดยการที่ตนไม่อยู่แล้ว (วิคตปัจจัย)  ในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า  วิคตปัจจัย  มีลักษณะเดียวกับนัตถิปัจจัย  จริง ๆ แล้ว  ไม่น่าจะซ้ำกันเช่นนั้นเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะแยกไว้ต่างหาก  คำว่า  วิคคต  ในที่นี้  ซึ่งหมายถึงว่า  ไปปราศแล้ว,คงไม่มีความหมายเท่ากับคำว่า   นตถิ   ซึ่งหมายถึงไม่มีอยู่ บรรจบ  บรรณรุจิอธิบายตัวอย่างเรื่องนี้ไว้ชัดเจน , ท่านกล่าวว่า  เปรียบเทียบได้กับเจ้านายที่พ้นอำนาจหน้าที่ไปนานแล้ว  แต่ก็ยังมีความสามารถสนับสนุนลูกจ้างให้ทำงานได้อยู่.

๒๔. การเป็นปัจจัยโดยการที่ตนกำลังอยู่ แต่ก็กำลังจะไม่อยู่  (อวิคตปัจจัย)พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าเป็นอย่างเดียวกับอัตถิปัจจัย,  ซึ่งก็อาจไม่สมเหตุสมผลนักคำว่า  อวิคต  ไม่ได้หมายถึงตัวเองกำลังดำรงอยู่อย่างเช่นที่เป็นอัตถิปัจจัยเฉพาะกำลังจะจากไป แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดผลบางอย่างได้. ตัวอย่างเช่น  ข้าราชการผู้มีอำนาจรู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะหมดอำนาจแล้ว  จึงให้มีการโยกย้ายคนที่ตัวเองเห็นว่ามีความสามารถให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อความก้าวหน้าของการทำงานต่อไป  ในกรณีนี้จะเห็นว่า  ถ้าข้าราชการผู้นี้ยังคงมีอำนาจก็อาจไม่ต้องโยกย้ายก่อนก็ได้.

ทั้งหมดนี้  คือรายละเอียดของลักษณะการเป็นปัจจัยทั้ง  ๒๔  ประการ ในที่นี้ได้พยายามสรุปให้เห็นชัดด้วยเหตุการณ์ภายนอก,ท่านผู้มีความสนใจในแง่ของหลักธรรม., หรือจิต, สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากแหล่งที่มา

ด้วยความละเอียดและคัมภีร์ภาพ,  พุทธศาสนาได้วิเคราะห์การเป็นปัจจัยออกเป็น  ๒๔  ลักษณะตามข้างต้น ดังนั้น  ในการยืนยันว่า A  เป็นปัจจัยให้เกิด  B  จึงหมายความว่า  A  เป็นแค่ปัจจัยในส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น.  โดยทั่วไปแล้วเรามักจะอ้างเหตุปัจจัยเป็นหลัก.  ตัวอย่างเช่น  นางสาว ข.  เย็บลายดอกไม้บนผ้า.เป็นการชัดเจนว่า นางสาว ข.  เป็นเหตุให้ภาพลายดอกไม้เกิดขึ้น.  แต่ยังมีปัจจัยส่วนอื่นอีกที่ทำให้ภาพนี้เกิดขึ้น เช่น  ด้าย,  แผ่นผ้า  , ความตั้งใจ,  อารมณ์ที่จะกระทำเช่นนั้น  บรรยากาศ,  และอื่น ๆ  ลักษณะแต่ละส่วนอาจเป็นตัวนำในกรณีต่าง ๆ กันออกไป,และทั้งหมดต่างก็เป็นปัจจัยต่อการเกิดผล.

หมายเลขบันทึก: 215575เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท