ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๓)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๓) 

หลักการแห่งเหตุและผลตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ประเด็นทางอภิปรัชญาที่เราจะให้ความสนใจต่อหลักปฏิจจสมุปบาท คือ การวิพากษ์ถึงหลักแห่งการเป็นปัจจัย  ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเหตุและผล  ในการวิพากษ์ถึงเรื่องนี้ จำเป็นต้องอาศัยตัวอย่างที่เป็นประเด็นสำคัญของพุทธศาสนา  คือ เรื่องของชีวิตเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  นั่นเป็นเพียงส่วนที่พุทธศาสนาต้องการอธิบายเป็นอย่างมาก.  แต่ตัวปฏิจจสมุปบาท  ยังคงเป็นกฎสากลของเหตุการณ์ทั้งมวล.

หลักปฏิจจสมุปบาท  เป็นกฎแห่งเหตุและผล (Causal Theory), ซึ่งระบุว่าสิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง”  หรือ “A    เป็นปัจจัยให้เกิด  B”  กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า  “B  เป็นผลจาก  A,”  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาว่า  ความเป็นเหตุและผลมีความหมายแค่ไหน. เราหมายถึงการที่สิ่งหนึ่งเกิดหลังสิ่งหนึ่ง ,  หรือว่าเพียงเพราะการกระทำของสิ่งหนึ่งทำให้เกิดสิ่งหนึ่ง.  เพื่อทำให้เข้าใจประเด็นนี้ชัดเจนจะพิจารณาจุดนี้ใน ๒  ส่วนคือ  ความหมายของการเป็นปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง,และลักษณะการเป็นปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง

ก. ความหมายของการเป็นปัจจัย

ประเด็นที่เราให้ความสนใจ  ก็คือว่า  เมื่อกล่าวว่า A  เป็นปัจจัยให้เกิด B   เราให้ความหมายของคำว่า เป็นปัจจัยในขอบเขตแค่ไหน?  ท่านกำลังนั่งอ่านอยู่ในขณะนี้,  สิ่งนี้จำเป็นต้องเป็นผลของปัจจัยอะไรหรือไม่?   เราอาจคิดว่าการเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งหนึ่งมักจะเป็นการเกิดขึ้นตามลำดับเวลา  สมมติว่าเราขึ้นไปนั่งบนม้ากระดก, ทันทีที่เรานั่งลง  อีกฝากหนึ่งก็กระดกขึ้น  ในลักษณะที่เกิดพร้อมกันเช่นนี้  เป็นเหตุปัจจัยกันหรือไม่.  การมีไฟทำให้เกิดแสงสว่าง, แสงสว่างเป็นผลของไฟหรือไม่,  ในส่วนที่กว้างออกไป,  การที่เราตัดไม้ทำลายป่า  อาจทำให้เกิดน้ำท่วมโลกตามวิกฤตการณ์ตู้กระจก  เป็นหลักปัจจัยหรือไม่.

ในสัมโมหวิโนทนี,   อรรถกถาวิภังค์  กล่าวว่า  การเป็นปัจจัย  หมายถึง  เพราะอาศัยธรรมใด  ผลจึงเกิดขึ้น  เหตุนั้น  ธรรมนั้น  ชื่อว่า  ปัจจัย คำว่า  เพราะอาศัย มีความหมายว่า  เว้นจากธรรมนั้น  ผลก็มีมิได้  อธิบายว่า  เพราะไม่ประจักษ์ข้อนั้น.

ตามรูปศัพท์ คำว่า ปัจจัย  มีความหมายว่า

สิ่งที่เป็นผล ไปอาศัยสิ่งที่เป็นอยู่นั่น  หมายความว่า  ไม่ปฏิเสธธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นไป  เหตุนี้ ธรรมที่เป็นเหตุนั้น จึงชื่อว่า  ปัจจัย  มีคำอธิบายว่า  สิ่งที่เป็นผลใดไม่ปฏิเสธสิ่งที่เป็นเหตุ  ตั้งอยู่  หรือดำรงอยู่ก็ดี  ธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นปัจจัย แห่งธรรมนั้น เมื่อว่าโดยลักษณะ  ด้วยว่า สิ่งที่เป็นเหตุใดเป็นสภาพที่อุดหนุนเพื่อความตั้งอยู่หรือดำรงอยู่เพื่อความเกิดขึ้นของส่วนที่เป็นผล  ธรรมนั้นจึงถือเป็นปัจจัยของส่วนที่เป็นผล

ส่วนในอัฏฐสาลินี กล่าวถึงคำว่า  เหตุ  ว่ามี ๔  ความหมาย, คือ

๑..  เหตุเหตุ
โดยถือเหตุที่เป็นมูล  เช่น  โลภะ  โทสะ และโมหะ  เป็น เหตุเหตุ”  ของอกุศลกรรม. การกินข้าวทำให้ท้องอิ่ม.

๒.  ปัจจัยเหตุ  เหตุที่เป็นปัจจัย  เช่น  มหาภูตรูป  ๔  ถือ เป็น  ปัจจัยเหตุ”  ของการบัญญัติรูปขันธ์

๓.  อุตตมเหตุ  ถือเหตุที่เป็นหลักสำคัญ  ตัวอย่างในเรื่องนี้  เช่น กรรมที่แต่ละคนได้กระทำไว้ย่อมส่งผลให้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน.  กรรมที่แต่ละคนได้กระทำลงไปจึงเป็น อุตตมเหตุ”  ของการมีชีวิตที่แตกต่างกัน.

๔. สาธารณเหตุ  เป็นเหตุทั่วไป  หรือเหตุพื้นฐาน เช่น อวิชชาถือเป็นสาธารณเหตุของการทำชั่วทั้งหมด  หรือมหาภูตรูปสาธารณเหตุของรูปร่าง,ทรวดทรง,และกลิ่นสี เป็นต้น.

คำว่า  เหตุ”  ในความหมายนี้รวมถึงความเป็นปัจจัยด้วย.  ด้วยเหตุนี้เองทำให้คำว่า เหตุกับ ปัจจัย”   มีความหมายที่ใช้แทนกันได้. อย่างไรก็ตาม ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถือเอาคำว่า ปัจจัยเป็นหลัก.   เหตุเป็นเพียงลักษณะการเป็นปัจจัยประการหนึ่งเท่านั้น.   เราจะกล่าวถึงเรื่องนี้ข้างหน้า.

โดยลักษณะเช่นนี้  และจากการที่มองเห็นว่า  คำว่า  เป็นปัจจัยให้เกิด”  อาจยังไม่ครอบคลุมและชัดเจนเพียงพอ,  พระสารีบุตร,  อัครสาวกผู้ทรงปัญญาของพระพุทธองค์,  ได้ให้ความหมายของคำว่า  เป็นปัจจัยให้เกิด”  ในฐานะเป็นธัมมฐิติญาณว่า  การกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้เกิดจะมีความหมาย  ๙ อย่างคือ

๑. โดยภาวะทีทำให้เกิดขึ้น  (อุปปาทัฏฐิติ)   การยืนยันว่า A  เป็นปัจจัยให้เกิด B  มีความหมายตรงตัวว่า   A ทำให้   B  เกิดขึ้น.   ผู้เขียนบทความนี้,  บทความนี้จึงเกิดขึ้น.

๒.  โดยภาวะที่ทำให้เป็นไป (ปวัตตฐิติ)  ในบางครั้ง  อาจไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นโดยตรง,  แต่ทำให้ส่วนผลค่อย ๆ  เกิดขึ้น.  เช่น  นาย  ก.  ปล่อยข่าวลือเรื่องหนึ่ง,ข่าวลือค่อย ๆแพร่กระจายไป.  แม้ว่า  นาย ก.  ไม่ใช่ผู้ไปบอกข่าวนั้นเองทั้งหมดแต่เพราะเป็นผู้ทำให้ข่าวนั้นเป็นไป  นาย ก  คือ ผู้เป็นปัจจัยทำให้เกิดข่าวลือนั้น

๓.  โดยภาวะที่เป็นเครื่องหมาย (นิมิตตฐิติ) ในบางครั้ง  การเป็นปัจจัยอาจไม่ได้หมายถึงการทำให้ผลเกิดในทันทีทันใด  แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อผลใดๆ ขึ้นภายหลัง.  ส่วนนี้ เรียกว่า  เป็นนิมิต, เช่นที่ทรงตรัสว่า แสงเงินแสงทอง  เป็นสัญลักษณ์ของรุ่งอรุณฉันใด,  การมีมิตรดี,  การมีโยนิโสมนสิการก็เป็นนิมิตของการบรรลุพระนิพพาน  ฉะนั้น.

๔.โดยภาวะที่เป็นการประมวลมา (อายุหนัฏฐิติ)  ตัวอย่างในข้อนี้  ที่เห็นได้ชัด  ก็คือ  การสรุปความจริงสากลจากข้อเท็จจริงย่อย.  เราพบข้อเท็จจริงว่า นาย ก.   ข.  ค....และคนอื่น ๆ ตาย,  ดังนั้น เราจึงสรุปว่า  คนทุกคนต้องตาย.  ข้อสรุปเป็นผลมาจากข้ออ้างข้างต้น,   ซึ่งทำให้ประมวลเป็นข้อสรุปได้.

๕.  โดยสภาวะที่เป็นการประกอบร่วม (สัญโญคัฏฐิติ)  ตัวอย่างเห็นได้จากข้อสรุปที่เป็นผลรวมจากข้อเสนอแนะข้อแย้งเข้าด้วยกัน  ข้อเสนอและข้อแย้งเป็นปัจจัยให้เกิดข้อสรุป.

๖.  โดยภาวะที่มีการเกี่ยวข้องร่วม  (ปลิโพธัฏฐิติ)  การมีส่วนร่วม  เช่นการร่วมกันเขียนบทความ  เป็นต้น  แต่ละคนย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดบทความนั้นขึ้น

๗.  โดยสภาวะที่ทำให้เกิด  (สมุทยัฏฐิติ)  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  คือ  ตัณหา  ๓  ประการ คือ  กามตัณหา  ภวตัณหา  หรือวิภวตัณหา คือ ปัจจัยที่เป็นสมุทัยทำให้เกิดทุกข์

๘.  โดยภาวะที่เป็นมูล  (เหตุฏฐิติ)  ตัวอย่างเช่น  อกุศลมูลทั้ง  ๓  คือ  โลภะ โทสะ  โมหะ  คือ  เหตุของการทำความชั่ว.

๙. โดยภาวะที่เป็นปัจจัยอุดหนุน (ปัจจัยฏฐิติ)  การเป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจัยหนุน มุ่งถึงการมีส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้น  เช่น  สภาพแวดล้อม,  พันธุกรรม,  ทัศนะคติ  เป็นต้น.  ส่วนนี้แม้จะไม่ใช่เป็นตัวทำให้เกิด  หรือสร้างผลโดยตรง  แต่ก็มีส่วนแปรเปลี่ยนผลที่ตามมาได้.

กล่าวสรุปได้ว่า  โดยลักษณะ  ๙  อย่างนี้  ถือเป็น การเป็นปัจจัยให้เกิดผลตามมา.”  ข้อสรุปที่เราได้รับในตอนนี้ก็คือ  การสรุปว่าเป็นปัจจัยจึงหมายถึงการก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งในลักษณะ  ๙ ประการข้างต้นนี้

ตัวอย่างเช่น  การรับประทานอาหารบูดเมื่อวานนี้ทำให้เราท้องเสียวันนี้การรับประทานอาหารบูด”  ซึ่งเป็นผลมาจากเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้เกิด  การท้องเสีย”  การรับประทานอาหารบูดจึงเป็นตัวทำให้ท้องเสียเกิดขึ้น.  มีอาการท้องเสีย  เป็นสัญลักษณ์ของการท้องเสีย , นำการท้องเสียมาให้ มีส่วนในการทำให้ท้องเสีย  เกี่ยวข้องกับการทำให้ท้องเสีย,เป็นตัวทำให้เกิดท้องเสีย  เป็นมูล  และเป็นตัวอุดหนุนทำให้ท้องเสีย

ความหมายของการเป็นปัจจัย จึงสะท้อนรูปแบบว่า  เมื่อไหร่ก็ตาม มี A ,  B จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามมา.  ข้อนี้เป็น  ความจำเป็นต้องเกิดขึ้น .”  อย่างไรก็ตามในส่วนนี้เป็นเพียงการยืนยันจากภาวะปรกติ  และเนื่องจากว่าเป็นไปได้เช่นกัน ที่อาจมีเงื่อนไขอื่นเข้ามาร่วมด้วยที่ทำให้ผลแปรเปลี่ยนไป  หรือที่มีเหตุต่างกัน  แต่อาจก่อให้เกิดผลอันเดียวกันได้,ข้อนี้คือส่วนที่เรายอมรับในฐานะเป็นข้อที่ต้องเข้าใจ.

เพื่อให้ความหมายของการเป็นปัจจัยชัดเจนขึ้น,  จึงยังต้องรู้ลักษณะการเป็นปัจจัยของสิ่งนั้นด้วย,  พุทธศาสนาได้แบ่งลักษณะของการเป็นปัจจัยเป็น ๒๔ ประการ. เราจะรู้จักหลักการนี้ดีในฐานะเป็นปัจจัย  ๒๔  หรือปัฏฐาน.

หมายเลขบันทึก: 215576เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท