ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๒)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๒) 

ในที่นี้ จะได้นำการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทมาเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

๑. ปฏิจจสมุปบาทเพื่อการอธิบายปรากฏการณ์เกิดขึ้นและการดับทุกข์ของชีวิต  
ความสำคัญของหลักปฏิจจสมุปบาทต่อจุดมุ่งหมายในข้อนี้นับว่าสำคัญมากที่สุด  และรวมถึงได้รับการขยายเพิ่มเติมมากที่สุดด้วย  ทั้งนี้  เพราะพุทธศาสนาถือว่า  ปัญหาเรื่องความทุกข์เป็นปัญหาเร่งด่วนและเฉพาะหน้าที่สุดที่มนุษยชาติควรได้เรียนรู้ก่อน.  ข้อความดั้งเดิมในพระไตรปิฎก  โดยเฉพาะในนิทานวรรค แห่งสังยุตตนิกาย, จะอุทิศให้กับจุดหมายนี้.  ข้อนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมากนัก  เช่นดังที่กล่าวแล้ว,  พระพุทธองค์ต้องการใช้เวลาเพื่อเสนอวิธีการเช่นนี้แก่มนุษย์.

ในการอธิบายตามแนวนี้   มีตัวอย่างเช่น


เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงเกิดขึ้น  เพราะสังขารเป็นปัจจัย  วิญญาณจึงเกิดขึ้น  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  นามรูปจึงเกิดขึ้น  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  สฬายตนะจึงเกิดขึ้น   เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย  ผัสสะจึงเกิดขึ้น  เพราะผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาจึงเกิดขึ้น  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  ตัณหาจึงเกิดขึ้น  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  อุปาทานจึงเกิดขึ้น  เพราะอุปทานเป็นปัจจัย  ภพจึงเกิดขึ้น  เพราะภพเป็นปัจจัยชาติจึงเกิดขึ้น  เพราะชาติเป็นปัจจัย  ความโศก  การคร่ำครวญ  ทุกข์  โทมนัส และความคับแค้นใจจึงเกิดขึ้น

เพราะอวิชชาดับไป  สังขารจึงดับ  เพราะสังขารดับไป  วิญญาณจึงดับ....เพราะชาติดับไป  ความโศก  การคร่ำครวญ  ทุกข์โทมนัส...จึงดับ

การอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตตามหลักปฏิจจสมุปบาทข้างต้นนี้  ยังแตกแยกออกไปเป็นหลักหลายแนวทาง.

1. การอธิบายกระบวนการเกิดดับของชีวิต  ความพยายามในลักษณะเช่นนี้เห็นได้อย่าง
ชัดเจนที่สุด  ในงานของพระพุทธโฆษาจารย์  พระอรรถกถาจารย์ผู้เขียนคัมภีร์อรรถกถาจำนวนหลายเล่ม  และได้อธิบายความคิดเรื่องนี้ไว้อย่างเด่นชัดในหนังสือ ชื่อวิสุทธิมรรค”.

ตามแนวทางนี้  แม้จะมุ่งเน้นการแสดงการขจัดทุกข์ก็ตาม,  แต่เพราะแนวความคิดพื้นฐานจะเกิดจากการยึดและผูกพันกับระบบเวียนว่ายตายเกิด,  แนวการตีความหลักปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธโฆษาจารย์จึงปรากฏใน  ๒  แนวทาง.แนวทางแรก  เป็นการอธิบายสืบเนื่องของชีวิต  ระหว่างชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง.แนวความคิดส่วนนี้ของท่านค่อนข้างโดดเด่น.  ส่วนแนวทางที่  ๒ นั้น  เป็นการแสดงขบวนการขจัดทุกข์  ซึ่งอิงอยู่กับหลักการแรก.  แนวทางส่วนหนึ่งของท่านมีความชัดเจน  แต่ไม่โดดเด่นเช่นกับแนวทางแรก.

2.  การอธิบายกระบวนการเกิดดับแห่งความทุกข์ในขณะปัจจุบันของแต่ละปัจเจกบุคคล  แม้ว่า  หลักการเช่นนี้จะปรากฏชัดเจนในพระไตรปิฎกก็ตาม, แต่เพราะเป็นธรรมเนียมที่ได้รับมาจากความคิดของพระพุทธโฆษาจารย์  ทำให้การมองหลักปฏิจจสมุปบาทมักจะพัวพันและเน้นในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเป็นหลัก.การเริ่มต้นฝ่าด่านแห่งขนบธรรมเนียมแทรกซ้อนเหล่านั้นได้รับการเสนออย่างเด่นชัดโดยพุทธทาสภิกขุ  ในหนังสือชื่อ ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร”  พร้อม ๆ  กันนี้ท่านพุทธทาสได้พยายามแสดงให้เห็นว่า  ความหมายของปฏิจจสมุปบาทเพื่อชีวิตที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร  ในหนังสือเล่มดังกล่าว ท่านได้อธิบายกระบวนการของปฏิจจสมุปบาทที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชีวิตของเราในตอนนี้,  ท่านได้สรุปไว้ว่า

นี้คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ไม่คร่อมภพคร่อมชาติ  กับปฏิจจสมุปบาทที่คร่อมภพคร่อมชาติมันต่างกันอย่างนี้: ที่คร่อมภพคร่อมชาติไม่มีประโยชน์อะไร  ปฏิบัติไม่ได้,ไว้คุยโม้เป็นนักปราชญ์ที่ไม่รู้จักตัวเอง  ;  ส่วนปฏิจจสมุปบาทที่ปฏิบัติได้นั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้  ;  เราถือเอาตามนั้นแล้วดับทุกข์ได้ ไม่ข้องแวะกับ สัสสตทิฏฐิ  หรืออันตคาหิกทิฏฐิ ; ไม่มีอัตตาตัวตนในปฏิจจสมุปบาท  ;  เป็นอริโย, เป็นอัตถสัญหิโต,  เป็นของประเสริฐ  เต็มไปด้วยประโยชน์

ท่านได้ให้ข้อสังเกตแนวความคิดของพระพุทโฆษาจารย์ว่า  เป็นผู้นำเอาความคิดของพราหมณ์มาอธิบายพุทธศาสนา  ท่านกล่าวว่า  ทีนี้  มีหลายเรื่องที่ท่านอธิบายอะไร ๆ  ในพุทธศาสนา  กลับกลายไปเป็นแบบพราหมณ์อย่างนี้  มันมีอยู่หลายเรื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นเรื่องโลก  ท่านไม่ต้องการที่จะวิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์,  ท่านเพียงแต่กล่าวว่า

สมมติว่า  ถ้าข้าพเจ้าจะมุ่งวิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์จริง ๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็จะวิจารณ์ในแง่ว่า  คัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์นั้น  เป็นเพียงคัมภีร์ที่เพียงเอานิทานต่าง ๆ กับบทวิเคราะห์ศัพท์ทางปริยัติมาพอกหุ้มให้กับคัมภีร์วิมุตติมรรค,  ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้นเอง.

แนวการตีความของพุทธทาสภิกขุจึงเป็นการจุดประกายศตวรรษใหม่ของความหมายของปฏิจจสมุปบาท,  ที่เราสามารถใช้ได้กับสังคมทุกสมัย, ซึ่งมีแกนอยู่ที่ความเป็นอนัตตา  หรือที่ท่านเรียกว่า  “สุญญตา.

แม้ว่าจะมีการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทออกไปต่าง ๆ กันก็ตาม, แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะวิจารณ์ในที่นี้  เพราะแต่ละฝ่ายต่างยอมรับต่อหลักเหตุและผลตามหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นกัน  สิ่งที่เรากระทำในตอนนี้เพียงเสนอให้เห็นว่า  ได้มีการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ของสรรพสิ่งและมนุษย์อย่างไรได้บ้างเท่านั้น.

ปฏิจจสมุปบาทเพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ร่วมทางสังคม  วิธีการอธิบายในลักษณะนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในคัมภีร์ดั้งเดิม  เช่น ในจตุกกนิบาต  ได้กล่าวว่า

สมัยใด  พระราชา (ผู้มีอำนาจ หรือผู้รับผิดชอบในการใช้อำนาจรัฐในการปกครองในระบบใด ๆ ก็ตาม)  เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น   แม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม  เมื่อพวกข้าราชการ ไม่ตั้งอยู่ในธรรม  สมัยนั้น  แม้พวกพราหมณ์และคหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม  เมื่อพวกพราหมณ์และคหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม   สมัยนั้น  แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม  เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม  พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ  เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ  เมื่อหมู่ดาวนักษัตรก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ  คืนวันย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ...เดือนและวันหนึ่งย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ...ฤดูและปีย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ....ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ.....ลมย่อมพัดผิดทางไม่สม่ำเสมอ.........ฝนย่อมไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล.....

สมัยใด  พระราชา   (ผู้มีอำนาจ  หรือผู้รับผิดชอบในการใช้อำนาจของรัฐในการปกครองในระบบใด ๆ  ก็ตาม)   เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม  สมัยนั้น  แม้พวกข้าราชการก็ตั้งอยู่ในธรรม.....ฝนย่อมตกถูกต้องตามฤดูกาล

ตามข้อความข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า  ปัญหาการขาดความสมดุลย์ทางธรรมชาติหรือการเกิดขึ้นของปัญหาภาวะแวดล้อมต่าง ๆ  มีส่วนสัมพันธ์กับสาเหตุส่วนอื่นในฐานะเป็นปัจจัยร่วม,  ซึ่งอาจสรุปเป็น  ๒  ส่วน  คือ รัฐ  และสมาชิกของรัฐความล้มเหลวของผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นเหตุให้ข้าราชการและประชาชนในสังคมดำรงและดำเนินการต่อสิ่งแวดล้อมอย่างผิดพลาด.  ผลส่วนนี้ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามและความวิปริตของดินฟ้าอากาศ  และสภาพแวดล้อมทั้งมวล  ความสัมพันธ์นี้อาจเห็นได้ตามแผนภาพต่อไปนี้

ความล้มเหลวของรัฐ(นโยบาย  กฎหมาย  เป็นต้น)
V
V
ความไม่เอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่
V
V
การปฏิบัติไม่ถูกต้องของประชาชน (เพราะไร้แนวทางที่ถูกต้อง)
V
V
ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

ส่วนในเรื่องอื่น ๆ  เช่น ในมหานิทานสูตร แห่งทีฆนิกายมหาวรรค  ได้กล่าวถึงมูลเหตุความเลวร้ายทางสังคมว่า

ด้วยประการอย่างนี้แล  เพราะอาศัยเวทนาจึงทำให้เกิดตัณหา  เพราะอาศัยตัณหา ทำให้เกิดการแสวงหา  เพราะมีการแสวงหาทำให้ได้มา  เพราะได้มาทำให้เกิดความหมกหมุ่นฝังใจ  เพราะมีความหมกหมุ่นฝังใจ   ทำให้เกิดการถือครอง  เพราะมีการถือครอง ทำให้เกิดความหวงแหน  เพราะอาศัยความหวงแหน  ทำให้เกิดการป้องกัน  เพราะมีการป้องกัน จึงทำให้เกิดการถือไม้  มีด  การทะเลาะ  แก่งแย่งการด่าว่า.....

คำอธิบายในรูปแบบเช่นนี้  ยังปรากฏในที่ต่าง ๆ  อีกมากมาย  ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม.

การอธิบายวิวัฒนาการของโลก  ในข้อนี้อาศัยพื้นฐานจากข้อความดั้งเดิมว่า โลกสมุทัยจากข้อความที่ปรากฏว่า

ภิกษุ เราจะแสดงเหตุเกิด และความดับแห่งโลก  พวกเธอจงฟัง  และกำหนดให้ดี....
ภิกษุ อะไร คือ เหตุเกิดแห่งโลก  จักษุวิญญาณ  อาศัยจักษุและรูป  จึงเกิดขึ้น...
ภิกษุ  อะไร คือ  ความดับแห่งโลก..........

การอธิบายตามแนวนี้ค่อนข้างจะแปลกไปจากแนวทางอื่น ๆ   เพราะไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์ถึงวิวัฒนาการของโลกโดยตรง,  แต่เอาหลักการเดิมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางจิตใจมาอธิบาย.  ผลงานเช่นนี้อาศัยรากฐานจากงานของพระพุทธโฆษาจารย์เป็นหลัก,  และปรากฏในงานของพระอาจารย์รุ่นหลังอีกหลายเล่ม.ที่โดดเด่น เช่น ในหนังสือชื่อ  โลกบัญญัติ  โลกทีปกสาร  โลกทีปนี.

จริง ๆแล้ว  หากมองในแง่ของการวิเคราะห์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท,ข้อนี้ก็หาใช่เป็นสิ่งเลวร้าย  เพราะยังไม่ไปยึดอำนาจดลบันดาลจากภายนอก,เพียงแต่อาศัยข้อมูลในการอธิบายที่ยังจำกัดเท่านั้นเอง

ปฏิจจสมุปบาทเพื่ออธิบายเหตุการณ์เฉพาะเรื่อง  การอธิบายในส่วนนี้จะรวมทั้งเรื่องของชีวิตและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ. ในส่วนที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น  การอธิบายการเกิดแผ่นดินไหว  เป็นต้น.   ในมหาปรินิพพานสูตร  กล่าวว่า มหาปฐพีตั้งอยู่บนน้ำ  น้ำตั้งอยู่บนลม  สมัยที่ลมใหญ่พัด  เมื่อลมใหญ่พัดอยู่ย่อมยังน้ำไหว น้ำไหวแล้วย่อมยังแผ่นดินให้ไหว  แม้ว่าปัจจุบันนี้เราอาจจะมองว่าเพราะการเคลื่อนไหวของแผ่นดินภายในผิวโลกทำให้แผ่นดินไหว,  แต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า สภาพบรรยากาศที่ห้อหุ้มโลกเป็นปัจจัยทำให้แผ่นดินไหวได้เช่นกัน

ในแนวนี้ยังมีการนำไปอธิบายในเรื่องอื่นอีกมากมาย  ที่เราสามารถพบเห็นได้เสมอในหลักฐานชั้นดั้งเดิมของพุทธศาสนาและรวมที่เป็นหลักอธิบายเรื่องต่าง ๆ   ที่ปรากฏในแนวความคิดสมัยหลัง.

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการนำเสนอตัวอย่างการนำกฎของปฏิจจสมุปบาทไปอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ แม้ว่าแกนการนำเสนอเรื่องปฏิจจสมุปบาทมีจุดหมายสำคัญที่เรื่องการขจัดทุกข์เป็นหลักสำคัญ เนื่องจากเป็นหลักสากล  จึงเกี่ยวข้องกับกรณีอื่นๆ ด้วยและที่สำคัญที่สุด ก็คือ  การเป็นแกนอธิบายระบบของจักรวาล.

หมายเลขบันทึก: 215577เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท